27 ธันวาคม 2022
เยอรมนี
พยานพระยะโฮวายื่นฟ้องในเยอรมนีอีกครั้งเกี่ยวกับเอกสารสำคัญของแอนน์แมรี คุสเซโรว์
หลักฐานที่เพิ่งค้นพบพิสูจน์ว่าเอกสารของแอนน์แมรีเป็นสิทธิ์ของพยานพระยะโฮวา
ตามที่เคยรายงานบนเว็บไซต์ jw.org และหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การทหารบุนเดิสแวร์ เมืองเดรสเดิน ประเทศเยอรมนี ได้ปฏิเสธที่จะคืนเอกสารสำคัญของพี่น้องแอนน์แมรี คุสเซโรว์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับความจำนงของเธอ แต่หลักฐานใหม่ที่เพิ่งค้นพบยืนยันว่าพยานพระยะโฮวาเป็นผู้ได้สิทธิ์ครอบครองเอกสารเหล่านี้ องค์การของเราจึงดำเนินการยื่นฟ้องพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
พยานพระยะโฮวาพยายามเจรจากับพิพิธภัณฑ์มานานกว่า 7 ปีแล้วเพื่อจะทำข้อตกลงขอเอกสารสำคัญคืน แต่ก็ไม่เป็นผล องค์การของเราจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาล แต่คดีก็ถูกยกฟ้องในปี 2021 โดยศาลให้ความเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ได้ซื้อเอกสารเหล่านั้นด้วยเจตนาดี
ทรัพย์สินทางประวัติศาสตร์
ตอนที่แอนน์แมรีอายุ 26 ปี เธอเริ่มเก็บรวบรวมเอกสารสำคัญเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาในช่วงการสังหารหมู่โดยพวกนาซี เธอเก็บเอกสารเหล่านั้นไว้อย่างดีแม้การทำอย่างนี้จะอันตรายถึงชีวิต เธอเก็บมันไว้มากกว่า 65 ปีจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2005 สิ่งที่เธอเก็บรักษาไว้สำหรับลูกหลานและโดยเฉพาะสำหรับเพื่อนร่วมความเชื่อมีคุณค่ามากและผู้คนทั่วโลกถือว่าเป็นทรัพย์สินทางประวัติศาสตร์
แอนน์แมรีเก็บรวบรวมเอกสารสำคัญเหล่านี้เพราะเธออยากให้ผู้คนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งพยานพระยะโฮวาและคนทั่วไป ได้เรียนรู้จากความซื่อสัตย์ของคนในครอบครัวของเธอ เพราะอย่างนี้เธอจึงระบุว่าผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในการครอบครองเอกสารแต่เพียงผู้เดียว คือ องค์การพยานพระยะโฮวา แต่จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มีการทำตามความจำนงของเธอเลย
เรื่องราวของแอนน์แมรีและพี่น้องอีก 4 คนของเธออยู่ในภาพยนตร์สารคดีของประเทศอังกฤษปี 1991 ที่ชื่อว่า สามเหลี่ยมสีม่วง สารคดีเรื่องนี้นำเสนอสิ่งที่ครอบครัวคุสเซโรว์ต้องเจอ เพื่อให้เห็นว่าพวกนาซีข่มเหงพยานพระยะโฮวายังไงบ้างเมื่อพวกเขาไม่ยอมปฏิเสธความเชื่อหรือกล่าวคำปฏิญาณต่อฮิตเลอร์ แอนน์แมรีปรากฏตัวในสารคดีพร้อมกับเอกสารและรูปถ่ายที่มีค่าของเธอ
ในการสัมภาษณ์ไม่นานก่อนที่แอนน์แมรีจะเสียชีวิต เธอพูดถึงเหตุการณ์ตอนเจ้าหน้าที่เกสตาโปบุกมาจับเธอในอพาร์ตเมนต์และเธอเกือบต้องเสียเอกสารที่สำคัญไป เธอเล่าว่า “ฉันวางกระเป๋าเดินทางใบหนึ่งไว้ที่โถงทางเข้า ใต้กระเป๋านั้นมีจดหมายและเอกสารสำคัญทั้งหมด” เธอใส่แอปเปิลไว้เต็มกระเป๋าใหญ่ใบนั้นและหวังว่าพวกเจ้าหน้าที่จะไม่ดูที่ใต้กระเป๋า เธอบอกตัวเองว่า ถ้าแผนล่ม ‘อย่างน้อยเธอก็มีอะไรกินในคุกนะ’ แต่น่าดีใจที่แผนของเธอสำเร็จด้วยดี
ขายไปโดยไม่ได้รับอนุญาต
ไม่นานหลังจากที่แอนน์แมรีเสียชีวิต เอกสารสำคัญที่เธอรวบรวมไว้ได้หายไปจากบ้านของเธอ ต่อมาจึงได้รู้ว่าน้องชายคนหนึ่งของแอนน์แมรีที่เลิกเป็นพยานพระยะโฮวาแล้วได้ขายเอกสารเหล่านั้นให้กับพิพิธภัณฑ์ทั้งที่ไม่เคยได้รับอนุญาตจากแอนน์แมรีเลย และต่อมาชายคนนี้ก็เสียชีวิต
คนในครอบครัวคุสเซโรว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ต่างก็รู้ถึงความจำนงของแอนน์แมรี พวกเขาถึงกับช็อกเมื่อศาลตัดสินให้พิพิธภัณฑ์เก็บเอกสารสำคัญของแอนน์แมรีต่อไป ตั้งแต่นั้นมา คนในครอบครัวคุสเซโรว์และเพื่อน ๆ รวมทั้งพยานพระยะโฮวาคนอื่น ๆ ที่ถูกข่มเหงโดยนาซีก็ช่วยกันเขียนจดหมายหลายร้อยฉบับไปถึงพิพิธภัณฑ์และกระทรวงกลาโหมที่ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพื่อขอให้คืนเอกสารสำคัญให้กับพยานพระยะโฮวาตามความประสงค์ของแอนน์แมรี
เอกสารพิเศษ
ในเอกสารสำคัญที่แอนน์แมรีเก็บไว้ มีจดหมายอำลาของวิลเฮลม์น้องชายของเธอด้วย เขาเขียนจดหมายนี้ในวันที่ 26 เมษายน 1940 เขาเป็นพยานพระยะโฮวาและปฏิเสธที่จะเป็นทหารเพราะขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี พวกนาซีเลยลงโทษเขาด้วยการประหารชีวิต
จดหมายของวิลเฮลม์อ่านว่า “ถึงพ่อแม่ พี่ชาย และพี่สาวของผม รู้ใช่ไหมครับว่าทุกคนมีค่ากับผมมาก ผมรู้สึกแบบนี้ทุกครั้งที่ดูรูปครอบครัว บ้านเรารักและสามัคคีกันเสมอ แต่เราก็ต้องรักพระเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด ตามที่พระเยซูคริสต์ผู้นำของเราสั่งไว้ ถ้าเราซื่อสัตย์ภักดีต่อพระเจ้า พระองค์ก็จะให้รางวัลเรา” เขาถูกประหารด้วยการยิงเป้าในเช้าวันที่ 27 เมษายนตอนที่อายุ 25 ปี
ฟรานซ์และฮิลดา คุสเซโรว์ พ่อแม่ของแอนน์แมรีมีลูก 11 คน ฟรานซ์กับพวกลูกชายที่โตแล้วถูกจับเข้าคุกเพราะไม่ยอมเข้าร่วมสงคราม ส่วนลูก ๆ ที่ยังอายุน้อยไม่ยอมทำความเคารพฮิตเลอร์ เลยถูกแยกจากพ่อแม่และถูกส่งไปที่โรงเรียนดัดนิสัย และต่อมาก็ถูกครอบครัวอื่นรับไปเลี้ยง
ตอนที่โวล์ฟกัง น้องชายคนหนึ่งในครอบครัวคุสเซโรว์ถูกนำตัวไปอยู่ต่อหน้าศาลทหาร เขาพูดอย่างกล้าหาญว่า “ผมถูกเลี้ยงมาให้เป็นพยานพระยะโฮวาที่ทำตามคำสอนของพระเจ้าในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ ข้อกฎหมายที่ยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์ที่สุดที่พระเจ้าให้ไว้กับมนุษย์คือ ‘ให้รักพระเจ้ามากกว่าอะไรทั้งหมด และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง’ ส่วนข้ออื่นก็บอกว่า ‘อย่าฆ่าคน’ พระเจ้าที่สร้างเราเขียนคำสั่งทั้งหมดนี้ไว้ให้ต้นไม้หรือ?”
ในวันที่ 28 มีนาคม 1942 โวล์ฟกังที่อายุ 20 ปี ถูกตัดหัวด้วยเครื่องกิโยติน
ทำเพื่อความเชื่อ
แอนน์แมรีและครอบครัวของเธอต้องเจอกับความโหดร้ายแสนสาหัสเพราะพวกเขาเชื่อในพระเจ้าและไม่ยอมสนับสนุนรัฐบาลนาซี บางคนในครอบครัวถูกฆ่าเพราะไม่ยอมฆ่าคน ทั้งครอบครัวถูกจำคุกรวมกันทั้งหมดเป็นเวลา 47 ปี
เอกสารสำคัญของแอนน์แมรีทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าครอบครัวคุสเซโรว์เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมในเรื่องความเชื่อ ความเชื่อในพระเจ้าช่วยให้เราเข้มแข็งและรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์ได้แม้จะถูกข่มเหงหรือถูกขู่เอาชีวิต บทเรียนที่ได้รับจากเอกสารสำคัญเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และมีคุณค่าอย่างเต็มที่เมื่ออยู่ในพิพิธภัณฑ์ของพยานพระยะโฮวาเท่านั้น
พอล เกร์ฮาร์ด คุสเซโรว์ ลูกชายคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ของครอบครัวคุสเซโรว์ได้เสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2022 เขาเคยหวังว่าจะได้เห็นวันที่พิพิธภัณฑ์ทหารยอมทำตามความจำนงของพี่สาว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต่อสู้มาตลอดชีวิต เขาบอกว่า “พี่ชายของผมตายเพราะไม่ยอมเป็นทหาร ผมคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่เอกสารสำคัญเหล่านี้จะถูกเก็บในพิพิธภัณฑ์ทหาร ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม”
พยานพระยะโฮวาเห็นด้วยกับเรื่องนี้ การที่พิพิธภัณฑ์ไม่ยอมทำตามความจำนงที่ชัดเจนของแอนน์แมรีเป็นสิ่งที่ขัดกับจริยธรรมและไม่ยุติธรรมอย่างมาก ความจำนงของครอบครัวคุสเซโรว์ไม่ได้รับการยอมรับและนับถือในช่วงที่พรรคสังคมนิยมปกครองและตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในประเทศเยอรมนียุคปัจจุบัน
น่าเศร้าที่เอกสารสำคัญของแอนน์แมรีก็ไม่ได้รับการปฏิบัติด้วยความนับถือเช่นกัน เพราะจากจำนวนเอกสารมากกว่า 1,000 ชิ้น แต่มีเพียง 6 ชิ้นเท่านั้นที่ถูกนำมาจัดแสดง ส่วนที่เหลือถูกเก็บไว้ในห้องเก็บของของพิพิธภัณฑ์แทนที่จะเป็นประโยชน์กับผู้คนทั่วไป
เราอธิษฐานขอให้ศาลตัดสินให้พยานพระยะโฮวาได้รับเอกสารทั้งหมดกลับคืนมา เพราะพยานพระยะโฮวาเป็นผู้มีสิทธิ์โดยชอบธรรมทั้งในทางกฎหมายและจริยธรรม—ลูกา 18:7