ข้ามไปยังเนื้อหา

31 ธันวาคม 2021
ไทย

ครบรอบ 75 ปีวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับภาษาไทย

“จง​มี​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​ยะโฮวา​และ​ทำ​งาน​อย่าง​ขยัน​ขันแข็ง แล้ว​คุณ​จะ​ได้​ผู้​แปล”

ครบรอบ 75 ปีวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับภาษาไทย

วัน​ที่ 1 มกราคม 2022 เป็น​วัน​ที่​วารสาร​หอสังเกตการณ์​ ฉบับ​ภาษา​ไทย​ครบ​รอบ 75 ปี นับ​ตั้ง​แต่​มี​การ​พิมพ์​ฉบับ​แรก

เริ่ม​มี​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ใน​ประเทศ​ไทย​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 1931 การ​ประกาศ​ใน​ช่วง​แรก​ ๆ พี่​น้อง​ได้​แจก​จ่าย​สิ่ง​พิมพ์​ของ​เรา​หลาย​พัน​ฉบับ​ใน​ภาษา​จีน อังกฤษ และ​ญี่ปุ่น ตอน​นั้น​มี​แค่​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​ที่​ชื่อ การ​ป้องกัน เพียง​เล่ม​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​แปล​เป็น​ภาษา​ไทย

พี่​น้อง​ชาย​ชาว​ต่าง​ชาติ 3 คน​ที่​รับใช้​เป็น​ไพโอเนียร์​ใน​ประเทศ​ไทย​เห็น​ว่า​ต้อง​มี​สิ่ง​พิมพ์​ใน​ภาษา​ไทย​มาก​ขึ้น​เพื่อ​จะ​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​คน​ไทย​ได้ พี่​น้อง​วิลลี อุงกลาวเบ​จึง​เขียน​จดหมาย​ถึง​พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​เพื่อ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ แต่​พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​ตอบ​กลับ​มา​ว่า “จง​มี​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​ยะโฮวา​และ​ทำ​งาน​อย่าง​ขยัน​ขันแข็ง แล้ว​คุณ​จะ​ได้​ผู้​แปล”

เดือน​ธันวาคม 1939 พี่​น้อง​เคิร์ต กรูเบอร์​และ​พี่​น้อง​วิลลี อุงกลาวเบ ได้​ไป​ประกาศ​ทาง​ภาค​เหนือ​ของ​ประเทศ​ไทย ตอน​นั้น​พี่​น้อง​จอมใจ อินทพันธุ์​ซึ่ง​เป็น​ครู​ใหญ่​ของ​โรง​เรียน​สตรี​แห่ง​นิกาย​เพรสไบทีเรียน​ที่​เชียงใหม่ ได้​รับ​หนังสือ​ของ​เรา​ที่​เป็น​ภาษา​อังกฤษ​จาก​พี่​น้อง​ที่​ประกาศ พี่​น้อง​จอมใจ​เป็น​คน​มี​ความ​รู้​ดี​ทั้ง​ภาษา​ไทย​และ​ภาษา​อังกฤษ หลัง​จาก​ได้​อ่าน​เธอ​รู้​เลย​ว่า​ได้​พบ​ความ​จริง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​แล้ว

พี่​น้อง​จอมใจ อินทพันธุ์

จาก​นั้น​ไม่​นาน พี่​น้อง​จอมใจ​ก็​ลา​ออก​จาก​โรง​เรียน​และ​โบสถ์​ทั้ง​ ๆ ​ที่​ถูก​ต่อ​ต้าน และ​ได้​รับ​ข้อ​เสนอ​ที่​ดี​มาก​จาก​โรง​เรียน ใน​ที่​สุด​เธอ​ก็​รับ​บัพติศมา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา งาน​มอบหมาย​แรก​ของ​พี่​น้อง​จอมใจ​คือ​การ​แปล​หนังสือ ความ​รอด จาก​นั้น​เธอ​ได้​มา​เป็น​หนึ่ง​ใน​สมาชิก​รุ่น​แรก​ของ​ครอบครัว​เบเธล​ที่​กรุงเทพ​ฯ เธอ​ทำ​งาน​เป็น​ผู้​แปล​เพียง​คน​เดียว​ที่​รับใช้​ที่​นั่น​นาน​หลาย​ปี ใน​ที่​สุด​ก็​มี​ผู้​หญิง​คน​ไทย​อีก​สอง​สาม​คน​ตอบรับ​ความ​จริง​และ​มี​คุณสมบัติ​เหมาะ​ที่​จะ​ทำ​งาน​แปล

เมื่อ​เกิด​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง​ขึ้น​ทำ​ให้​งาน​แปล​ใน​ภาษา​ไทย​ต้อง​หยุด​ชะงัก แต่​พอ​สงคราม​จบ​ลง​พี่​น้อง​ก็​กลับ​มา​ทำ​งาน​แปล​ต่อ​ทันที มี​การ​แปล​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ฉบับ​เดือน​มกราคม 1947 เป็น​ภาษา​ไทย​ครั้ง​แรก และ​พิมพ์​ออก​มา 200 ฉบับ​โดย​ใช้​เครื่อง​โรเนียว​ใน​บ้าน​มิชชันนารี เรา​ใช้​วิธี​พิมพ์​แบบ​นี้​จน​ถึง​ปี 1952 ซึ่ง​ตอน​นั้น​มี​การ​แจก​จ่าย​วารสาร​หอสังเกตการณ์​ ถึง 500 ฉบับ​ต่อ​เดือน พี่​น้อง​เลย​เริ่ม​ใช้​โรง​พิมพ์​เอกชน​เพื่อ​พิมพ์​วารสาร​ของ​เรา พอ​ถึง​เดือน​กันยายน​ปี 1993 สำนักงาน​สาขา​ญี่ปุ่น​เริ่ม​พิมพ์​วารสาร​หอสังเกตการณ์​ และ​ตื่นเถิด! ฉบับ​ภาษา​ไทย​เพื่อ​ใช้​แจก​จ่าย​ทั่ว​โลก

พี่​น้อง​ใน​ทีม​แปล​ภาษา​ไทย​กับ​ภาษา​มือ​ไทย และ​ทีม​สนับสนุน​งาน​แปล

ปัจจุบัน​มี​พี่​น้อง​ประมาณ 80 คน​ที่​ทำ​งาน​แปล​ใน​สำนักงาน​สาขา​ประเทศ​ไทย​และ​สำนักงาน​แปล​ท้องถิ่น​อีก 2 แห่ง นอก​จาก​การ​แปล​วารสาร​หอสังเกตการณ์​ ใน​ภาษา​ไทย​แล้ว ยัง​มี​การ​แปล​วารสาร​นี้​ใน​ภาษา​อาข่า ลาฮู ลาว​และ​ภาษา​มือ​ไทย​อีก​ด้วย

ผู้​ประกาศ​มาก​กว่า 5,000 คน​ที่​อยู่​ใน​เขต​ของ​สำนักงาน​สาขา​ประเทศ​ไทย​รู้สึก​ขอบคุณ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ให้​มี​การ​แปล​วารสาร​หอสังเกตการณ์​ ใน​ภาษา​ของ​พวก​เขา—สุภาษิต 10:22