คำศัพท์เฉพาะที่พยานพระยะโฮวาใช้
เราขอบคุณที่คุณสนใจรายงานต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมของพยานพระยะโฮวา มีการเตรียมรายการคำศัพท์เฉพาะเพื่อช่วยในการเขียนและสะกดคำศัพท์ที่เกี่ยวกับองค์กรทางศาสนาของเรา ถ้าคุณมีคำถามเกี่ยวกับรายการคำศัพท์นี้ ขอติดต่อกับสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวา
การประชุม ดู: การประชุมหมวด
หอประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวา เป็นสถานที่นมัสการพระเจ้าขนาดใหญ่ที่พยานพระยะโฮวาเป็นเจ้าของ ซึ่งถูกใช้เพื่อจัดการประชุมขนาดใหญ่ที่มีหลายประชาคมมาประชุมด้วยกัน ที่นี่อาจถูกเรียกด้วยว่า “หอประชุมใหญ่”
ตื่นเถิด! วารสารที่จัดพิมพ์และแจกจ่ายโดยพยานพระยะโฮวา เริ่มมีการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1919 ซึ่งใช้ชื่อว่าเดอะโกลเดนเอจ (The Golden Age) จากนั้นในปี 1937 ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นคอนโซเลชัน (Consolation) ในฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 1946 ได้เปลี่ยนชื่อวารสารนี้เป็นตื่นเถิด! มีการเลือกใช้ชื่อตื่นเถิด! เพื่อเน้นให้ผู้อ่านรู้ว่าเราทุกคนกำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญมากตามที่คัมภีร์ไบเบิลได้บอกไว้ วารสารนี้มีการแจกจ่ายออกไปมากที่สุดในโลก
เบเธล เบเธลไลต์ ครอบครัวเบเธล “เบเธล” เป็นชื่อที่มาจากคำภาษาฮีบรูซึ่งมีความหมายว่า “บ้านของพระเจ้า” คำนี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกอาคารซึ่งพยานพระยะโฮวาใช้เพื่อให้การดูแลและสนับสนุนงานสอนคัมภีร์ไบเบิลในแต่ละประเทศหรือในภูมิภาคต่าง ๆ พยานฯที่ทำงานอยู่ในอาคารเหล่านี้ อยู่ในองค์กรทางศาสนาและถูกเรียกว่า “เบเธลไลต์” พวกเขาไม่ได้รับเงินเดือน ส่วนใหญ่แล้วจะมีการเรียกพวกเขาว่าเป็น “ครอบครัวเบเธล” เพราะพวกเขาเป็นเหมือนครอบครัว พวกเขาอยู่ด้วยกัน นมัสการพระเจ้าด้วยกัน และทำงานด้วยกันในอาคารต่าง ๆ แต่คำว่า “เบเธลไลต์” ก็ไม่ได้เป็นตำแหน่งทางศาสนาที่ใช้เรียกเพื่อยกย่องพวกเขา
คณะกรรมการสาขา เมื่อมีการตั้งสำนักงานสาขาขึ้นแห่งหนึ่ง ก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสาขาที่ประกอบด้วยผู้ดูแลสามคนหรือมากกว่านั้น เพื่อดูแลงานสอนคัมภีร์ไบเบิลในประเทศนั้นหรือหลาย ๆ ประเทศที่อยู่ภายใต้การดูแลของสาขานั้น
สำนักงานสาขา ศูนย์การบริหารงานท้องถิ่นของคณะกรรมการสาขา ซึ่งถูกใช้เพื่อสนับสนุนและดูแลงานทางศาสนาของพยานพระยะโฮวาในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือในหลาย ๆ ประเทศ บางครั้งก็มีการเรียกสั้น ๆ ด้วยว่า “สาขา”
พี่น้องชาย ผู้ชายที่รับบัพติศมาเป็นพยานพระยะโฮวาแล้ว มีการใช้คำนี้เพื่อเรียกคริสเตียนพยานพระยะโฮวาที่เป็นผู้ชายโดยรวม และใช้คำว่า “พี่น้อง” นำหน้าชื่อเมื่อพูดถึงผู้ชายที่เป็นพยานฯ (เช่น พี่น้องสมชาย) คำนี้ไม่ได้เป็นตำแหน่งทางศาสนาที่เรียกเพื่อเป็นการยกย่องพวกเขา และคำว่า “พี่น้อง” ยังใช้เพื่อเรียกพยานฯที่เป็นผู้หญิงด้วย (เช่น พี่น้องสมหญิง)
สังคมพี่น้องคริสเตียน คริสเตียนพยานพระยะโฮวาที่อยู่ทั่วโลก (ทั้งผู้ชายและผู้หญิง)—1 เปโตร 5:9
หมวด ประชาคมของพยานพระยะโฮวาหลาย ๆ ประชาคมที่ถูกกำหนดให้อยู่รวมกัน
การประชุมหมวด การประชุมวันเดียวที่ประชาคมของพยานพระยะโฮวาหลาย ๆ ประชาคมจะมาประชุมด้วยกันซึ่งจัดปีละสองครั้ง การประชุมหมวดเป็นการประชุมที่เปิดให้ทุกคนที่สนใจเข้าร่วมได้ และถูกเตรียมขึ้นเพื่อช่วยผู้คนให้รู้จักและใกล้ชิดกับพระเจ้าได้ ในการประชุมจะมีคำแนะนำที่ช่วยผู้ฟังทุกวัยให้ได้รับประโยชน์จากคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล มีการสาธิตสั้น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าจะเอาคำสอนจากคัมภีร์ไบเบิลมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ยังไง ในหลายประเทศ มีการจัดการประชุมนี้ในหอประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวา แต่บางครั้งก็มีการเช่าสถานที่เพื่อจัดการประชุมหรือให้ดูทางออนไลน์ ปกติแล้วการประชุมนี้จะจัดในช่วงวันสุดสัปดาห์ การประชุมทั้งหมดนี้เข้าร่วมได้ฟรีและไม่มีการเรี่ยไร
ผู้ดูแลหมวด ผู้ดูแลที่มีประสบการณ์ซึ่งทำงานภายใต้การดูแลจากสำนักงานสาขา เขา (กับภรรยา ถ้าแต่งงานแล้ว) จะเยี่ยมแต่ละประชาคมที่อยู่ในหมวดที่กำหนดไว้ปีละสองครั้ง นอกจากจะเยี่ยมให้กำลังใจแต่ละคนที่มาประชุมเป็นประจำกับประชาคมแล้ว เขายังให้กำลังใจและให้คำแนะนำกับผู้ดูแลและผู้ช่วยงานรับใช้ด้วย ผู้ดูแลหมวดจะเตรียมคำแนะนำที่เหมาะกับแต่ละประชาคมที่เขาเยี่ยม คำว่า “ผู้ดูแลหมวด” ไม่ได้เป็นตำแหน่งทางศาสนาที่เรียกเพื่อเป็นการยกย่องพวกเขา
ประชาคม กลุ่มของพยานฯที่มีการจัดระเบียบอย่างดี ซึ่งมาประชุมด้วยกันเพื่อนมัสการพระเจ้าเป็นประจำ คณะผู้ดูแลมีหน้าที่รับผิดชอบในการนำการประชุมส่วนต่าง ๆ และให้คำแนะนำที่มาจากคัมภีร์ไบเบิลกับประชาคม พวกเขายังให้คำแนะนำกับบางคนเป็นส่วนตัวด้วย การประชุมประชาคมเปิดให้ทุกคนที่สนใจเข้าร่วมได้ฟรีและไม่มีการเรี่ยไร
การประชุมใหญ่ ดู: การประชุมนานาชาติและ การประชุมภูมิภาค
ผู้ดูแล พยานฯผู้ชายที่มีความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่สอนและดูแลเอาใจใส่แต่ละคนในประชาคม ผู้ดูแลต้องมีคุณสมบัติตามที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลที่ 1 ทิโมธี 3:1-7; ทิตัส 1:5-9; ยากอบ 3:17, 18; และ 1 เปโตร 5:2 เสมอ ผู้ดูแลไม่ใช่ผู้รับใช้ที่ได้รับเงินเดือน และไม่ได้เป็นลูกจ้างที่ทำงานให้กับประชาคมหรือนิติบุคคลใด ๆ ของพยานพระยะโฮวา ผู้ดูแลส่วนใหญ่ทำงานอาชีพเพื่อดูแลตัวเองและครอบครัวของพวกเขา ผู้ดูแลไม่ได้เป็นนักบวช และไม่ได้มีการใช้คำนี้เพื่อแบ่งชนชั้นระหว่างพวกเขากับคนอื่น ๆ ในประชาคม คำว่า “ผู้ดูแล” ไม่ได้เป็นตำแหน่งทางศาสนาที่เรียกเพื่อเป็นการยกย่องพวกเขา
งานประกาศ งานประกาศและสอนคัมภีร์ไบเบิลที่พยานพระยะโฮวาไปตามบ้านและในที่สาธารณะตามคำสั่งของพระเยซูที่บอกให้พวกเขาประกาศ “ข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าไปทั่วโลก เพื่อให้คนทุกชาติมีโอกาสได้ยิน”—มัทธิว 24:14; 28:19
กิเลียด โรงเรียนกิเลียด คำที่ใช้เรียกสั้น ๆ ของโรงเรียนวอชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1943 เพื่อฝึกอบรมมิชชันนารี ปัจจุบันนี้เป็นหลักสูตรการเรียนพิเศษ 5 เดือนซึ่งฝึกอบรมพยานพระยะโฮวาที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม
คณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวา ผู้ดูแลกลุ่มเล็ก ๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลเอาใจใส่ความจำเป็นด้านการนมัสการพระเจ้าของพยานพระยะโฮวาที่อยู่ทั่วโลก ซึ่งมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า “คณะกรรมการปกครอง” พวกเขาดูแลการเตรียมหนังสือและสื่อต่าง ๆ ที่ช่วยอธิบายคัมภีร์ไบเบิล ถึงแม้คณะกรรมการปกครองจะนำหน้าในการดูแลงานที่พยานฯทำทั่วโลก แต่พวกเขาก็คิดเสมอว่ามีเพียงพระเยซูคนเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้นำของพยานพระยะโฮวา สำนักงานของคณะกรรมการปกครองตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาที่วอร์วิก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
การประชุมนานาชาติ การประชุมสามวันเพื่อการนมัสการพระเจ้าและการสอนคัมภีร์ไบเบิล พยานพระยะโฮวาจัดการประชุมนี้ในทุก ๆ สองหรือสามปีในเมืองต่าง ๆ ที่มีการกำหนดไว้ทั่วโลก พยานฯจากประเทศต่าง ๆ จะได้รับการเชิญให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการประชุม การประชุมนี้เปิดให้ทุกคนเข้าร่วมได้ฟรีและมีจุดประสงค์เพื่อช่วยทุกคนที่เข้าร่วมให้รู้จักและสนิทกับพระเจ้า และยังช่วยให้พยานพระยะโฮวาทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยทั่วไปแล้วจะมีการเช่าสถานที่ขนาดใหญ่เพื่อจัดการประชุมนี้ และจะจัดขึ้นในช่วงวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ การประชุมนี้เข้าร่วมได้ฟรีและไม่มีการเรี่ยไร
พระยะโฮวา ชื่อของพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุดและเป็นผู้สร้างทุกสิ่งตามที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล (สดุดี 83:18) เราจะไม่เรียกพยานพระยะโฮวาคนใดคนหนึ่งว่า “พระยะโฮวา”
พยานพระยะโฮวา คริสเตียนที่นมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าและสนับสนุนงานสอนคัมภีร์ไบเบิลในวิธีต่าง ๆ อย่างขยันขันแข็ง จุดประสงค์ของพวกเขาก็เพื่อประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า (มัทธิว 24:14) นอกจากชื่อนี้จะช่วยแยกพวกเขาออกจากกลุ่มศาสนาอื่นแล้ว ชื่อนี้ยังช่วยทำให้เห็นว่าพวกเขาอาสาทำงานทางด้านศาสนาเพื่อพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเขา ก่อนที่ใครจะมาเป็นพยานพระยะโฮวา เขาต้องมีความรู้ความเข้าใจคำสอนพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิลพอสมควร ต้องมีคุณสมบัติที่จะออกไปสอนคัมภีร์ไบเบิลร่วมกับประชาคมของพยานพระยะโฮวา และต้องรับบัพติศมาที่แสดงว่าเขาได้อุทิศตัวให้พระยะโฮวาพระเจ้าแล้ว คำว่า “พยานพระยะโฮวา” เป็นชื่อที่ใช้อย่างเป็นทางการ แต่บางครั้งก็ใช้คำว่า “พยานฯ” ได้ด้วย เช่น “พยานฯคนหนึ่ง”—อิสยาห์ 43:10
พระเยซูคริสต์ ลูกคนเดียวของพระเจ้า (ยอห์น 3:16) พยานพระยะโฮวามองพระเยซูว่าเป็นผู้นำของพวกเขาและพยายามเลียนแบบและทำตามตัวอย่างของท่านอย่างเต็มที่ พยานฯมองว่าท่านเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีชีวิตอยู่ เป็นพยานคนที่สำคัญที่สุดของพระยะโฮวา และพระยะโฮวาพระเจ้าจะใช้ท่านเพื่อช่วยผู้คนให้รอด—อิสยาห์ 9:6, 7; วิวรณ์ 1:5
หอประชุมราชอาณาจักรแห่งพยานพระยะโฮวา สถานที่นมัสการพระเจ้าในท้องถิ่นที่ใช้หนึ่งประชาคมหรือมากกว่านั้น บ่อยครั้งก็มีการเรียกด้วยว่า “หอประชุม” เราไม่ได้เรียกสถานที่นี้ว่า “โบสถ์”
การประชุมเพื่อระลึกถึงการเสียชีวิตของพระเยซู เป็นการระลึกถึงการตายของพระเยซูที่จัดขึ้นทุกปี ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปด้วยว่าการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า อาหารค่ำมื้อสุดท้ายขององค์พระผู้เป็นเจ้า การประชุมอนุสรณ์ การระลึกถึงการเสียชีวิตของพระเยซู พยานพระยะโฮวาถือว่านี่เป็นการประชุมที่สำคัญที่สุดในรอบปี และเป็นพิธีการทางศาสนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่พระเยซูสั่งให้ผู้ติดตามท่านทำ—ลูกา 22:19, 20
การประชุมกลางสัปดาห์ การประชุมประชาคมที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะจัดระหว่างสัปดาห์ การประชุมประกอบด้วยสามส่วนที่เรียกว่าการประชุมชีวิตและการรับใช้ การประชุมนี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้พยานฯทำงานรับใช้พระเจ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนกับการประชุมอื่น ๆ ที่จัดโดยพยานพระยะโฮวา ทุกคนจะเข้าร่วมที่หอประชุมหรือทางออนไลน์ได้ฟรีโดยไม่มีการเรี่ยไร
ผู้ช่วยงานรับใช้ พยานฯผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ทางความเชื่อซึ่งช่วยผู้ดูแลเอาใจใส่งานต่าง ๆ ของประชาคม เพื่อจะเป็นผู้ช่วยงานรับใช้ได้ เขาต้องมีคุณสมบัติตามที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลที่ 1 ทิโมธี 3:8-10, 12, 13 และทิตัส 2:6-8 ผู้ช่วยงานรับใช้เอาใจใส่งานหลายอย่างในประชาคม แต่ผู้ช่วยงานรับใช้ไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับงานที่เขาทำ และไม่ได้เป็นลูกจ้างที่ทำงานให้กับประชาคมหรือนิติบุคคลใด ๆ ของพยานพระยะโฮวา ผู้ช่วยงานรับใช้ส่วนใหญ่ทำงานอาชีพเพื่อดูแลตัวเองและครอบครัวของพวกเขา เมื่อผู้ช่วยงานรับใช้บางคนมีคุณสมบัติที่เหมาะสมก็จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแล คำว่า “ผู้ช่วยงานรับใช้” ไม่ได้เป็นตำแหน่งทางศาสนาที่เรียกเพื่อเป็นการยกย่องพวกเขา
มิชชันนารี พยานฯที่รับบัพติศมาแล้วซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาให้ไปทำงานในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก มิชชันนารีเต็มใจย้ายที่อยู่และอาจย้ายไปทำงานต่างประเทศเพื่อช่วยประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า—มัทธิว 24:14
คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ชื่อที่ใช้เรียกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (“ภาคพันธสัญญาเดิม”) และพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก (“ภาคพันธสัญญาใหม่”) ที่มีการแปลและจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา บางครั้งก็เรียกด้วยว่าฉบับแปลโลกใหม่
ไพโอเนียร์ ชื่อที่ใช้เรียกพยานฯที่รับบัพติศมาแล้วซึ่งตั้งใจใช้เวลาในตามที่มีการกำหนดไว้เพื่อทำงานสอนคัมภีร์ไบเบิล ปกติแล้วมีการใช้คำว่า “ไพโอเนียร์ประจำ” เพื่อเรียกคนที่ใช้เวลาเพื่อสอนคัมภีร์ไบเบิลปีละ 600 ชั่วโมง (เดือนละ 50 ชั่วโมง) และคำว่า “ไพโอเนียร์สมทบ” เพื่อเรียกบางคนที่ใช้เวลาเพื่อสอนคัมภีร์ไบเบิลเดือนละ 15 หรือ 30 ชั่วโมงหรือทำแบบนั้นต่อเนื่องหลายเดือน ไพโอเนียร์ไม่ได้รับเงินตอบแทนสำหรับการสอนคัมภีร์ไบเบิลและไม่ได้เป็นลูกจ้างที่ทำงานให้กับประชาคมหรือนิติบุคคลใด ๆ ของพยานพระยะโฮวา ไพโอเนียร์ส่วนใหญ่ทำงานอาชีพเพื่อดูแลตัวเอง คำว่า “ไพโอเนียร์” ไม่ได้เป็นตำแหน่งทางศาสนาที่เรียกเพื่อเป็นการยกย่องพวกเขา
การประกาศ ดู: งานประกาศ
การประชุมสาธารณะ การประชุมประชาคมที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ ปกติแล้วจะจัดในวันสุดสัปดาห์ ในการประชุมจะมีการบรรยาย 30 นาทีโดยใช้คัมภีร์ไบเบิลในการสอนสำหรับประชาชนทั่วไป หลังจากจบคำบรรยายแล้ว จะมีการศึกษาบทความจากวารสารหอสังเกตการณ์เพื่อถาม-ตอบเรื่องจากคัมภีร์ไบเบิลซึ่งใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง เหมือนกับการประชุมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวา ทุกคนจะเข้าร่วมที่หอประชุมหรือทางออนไลน์ได้ฟรีโดยไม่มีการเรี่ยไร
ผู้ประกาศ คนที่ทำงานประกาศและสอนคัมภีร์ไบเบิลร่วมกับประชาคมของพยานพระยะโฮวา เขาต้องมีความรู้ความเข้าใจและเชื่อในคำสอนพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิล และใช้ชีวิตตามหลักคำสอนของพระเจ้า ผู้ประกาศไม่ได้ทำงานสอนคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะได้รับเงินตอบแทน และไม่ได้เป็นลูกจ้างที่ทำงานให้กับประชาคมหรือนิติบุคคลใด ๆ ของพยานพระยะโฮวา คำว่า “ผู้ประกาศ” ไม่ได้เป็นตำแหน่งทางศาสนาที่ใช้เพื่อเป็นการยกย่องพวกเขา
การประชุมภูมิภาค การประชุมประจำปีที่จัดขึ้นสามวันซึ่งมีหลายประชาคมมาประชุมด้วยกันเพื่อนมัสการพระเจ้าในที่หนึ่งซึ่งมีการกำหนดไว้ การประชุมนี้เปิดให้ทุกคนเข้าร่วมได้ เนื้อหาในการประชุมจะช่วยผู้ฟังทุกวัยให้ได้รับประโยชน์จากคำแนะนำที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล มีการแสดงฉากเหตุการณ์สมมุติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล และการสาธิตแสดงให้เห็นว่าจะเอาคำแนะนำนั้นมาใช้ได้ยังไงบ้าง หลายครั้งจะมีการเช่าสถานที่ขนาดใหญ่เพื่อจัดการประชุมนี้ เช่น สนามกีฬาหรือศูนย์จัดการประชุม ส่วนการประชุมที่มีขนาดเล็กกว่าก็จะจัดที่หอประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวา โดยทั่วไปแล้ว การประชุมนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ ในปีก่อน ๆ การประชุมนี้มีการบันทึกวีดีโอไว้ล่วงหน้าและมีให้ดูได้ทางออนไลน์ เหมือนการประชุมอื่น ๆ ของพยานพระยะโฮวา การประชุมนี้เข้าร่วมได้ฟรีและไม่มีการเรี่ยไร
พี่น้องหญิง ผู้หญิงที่รับบัพติศมาเป็นพยานพระยะโฮวาแล้ว มีการใช้คำนี้เพื่อเรียกคริสเตียนพยานพระยะโฮวาที่เป็นผู้หญิงโดยรวม และใช้คำว่า “พี่น้อง” นำหน้าชื่อเมื่อพูดถึงผู้หญิงที่เป็นพยานฯ (เช่น พี่น้องสมหญิง) คำนี้ไม่ได้เป็นตำแหน่งทางศาสนาที่ใช้เรียกเพื่อเป็นการยกย่องพวกเธอ และคำว่า “พี่น้อง” ยังใช้เพื่อเรียกพยานฯที่เป็นผู้ชายด้วย (เช่น พี่น้องสมชาย)
หอสังเกตการณ์ประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวา ชื่อเต็มของวารสารหลักที่จัดพิมพ์และแจกจ่ายโดยพยานพระยะโฮวา และยังเรียกด้วยว่า หอสังเกตการณ์ ชื่อของวารสารมาจากแนวคิดที่ว่าวารสารนี้จะช่วยผู้อ่านให้ได้เห็นว่าความประสงค์ของพระเจ้ากำลังจะเกิดขึ้นจริงยังไง (มัทธิว 24:42) หอสังเกตการณ์ ฉบับสาธารณะเป็นวารสารที่แจกจ่ายให้กับคนที่สนใจได้อ่านฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วน หอสังเกตการณ์ ฉบับศึกษาจะใช้ในการอภิปรายถาม-ตอบซึ่งจัดขึ้นทุกสัปดาห์ในประชาคมต่าง ๆ ทั่วโลก มีการจัดพิมพ์วารสาร หอสังเกตการณ์ มาตั้งแต่ปี 1879 วารสารนี้มีการแจกจ่ายออกไปมากที่สุดในโลก
โปรดสังเกต: เมื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา โปรดใช้ชื่อที่ถูกต้องตามคำศัพท์เฉพาะที่อ้างอิงสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ดู: พยานพระยะโฮวา.