อธิบายข้อคัมภีร์
กันดารวิถี 6:24-26—“ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอำนวยพรและทรงพิทักษ์รักษาท่าน”
“ขอให้พระยะโฮวาอวยพรและคุ้มครองคุณ ขอให้พระยะโฮวาพอใจคุณและทำดีกับคุณ ขอให้พระยะโฮวามองดูคุณด้วยความกรุณา และให้คุณมีสันติสุข”—กันดารวิถี 6:24-26, ฉบับแปลโลกใหม่
“ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอำนวยพรและทรงพิทักษ์รักษาท่าน ขอให้พระพักตร์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าทอแสงเหนือท่าน ขอพระองค์ทรงเมตตากรุณาท่าน ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงโปรดปรานท่านและประทานสันติสุขแก่ท่าน”—กันดารวิถี 6:24-26, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
ความหมายของกันดารวิถี 6:24-26
ข้อความนี้เรียกกันว่า คำอวยพรของปุโรหิต หรือคำอวยพรของอาโรน ซึ่งเป็นมหาปุโรหิตคนแรกของอิสราเอล (อพยพ 28:1) แต่จริง ๆ แล้วนี่เป็นคำอวยพรของพระเจ้า (กันดารวิถี 6:22, 23) พระเจ้าพูดกับโมเสสว่า “ให้บอกอาโรนกับลูกชายอย่างนี้ ‘พวกเจ้าจะต้องอวยพรชาวอิสราเอลตามแบบนี้’” แล้วพระองค์ก็พูดตามที่บันทึกในกันดารวิถี 6:24-26 ปุโรหิตที่ซื่อสัตย์เชื่อฟังคำสั่งนี้ของพระเจ้าและพวกเขายกย่องชื่อพระยะโฮวา a ในข้อ 27 บอกว่า “อาโรนกับลูกชาย [พวกปุโรหิต] จะต้องพูดถึงชื่อของเราให้ชาวอิสราเอลได้ยิน และเราจะอวยพรพวกเขา”
“ขอให้พระยะโฮวาอวยพรและคุ้มครองคุณ” พระยะโฮวาอวยพรคนที่นมัสการพระองค์โดยปกป้อง ชี้นำ และช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จ (สุภาษิต 10:22) ในต้นฉบับภาษาเดิม คำว่า “คุณ” ในกันดารวิถี 6:24-26 อยู่ในรูปเอกพจน์ นี่อาจแสดงว่าพระเจ้าไม่ได้ต้องการอวยพรอิสราเอลทั้งชาติเท่านั้น แต่ต้องการอวยพรประชาชนแต่ละคนด้วย
“ขอให้พระยะโฮวาพอใจคุณและทำดีกับคุณ” คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับแปลส่วนแรกของประโยคนี้ว่า “ขอพระเจ้าทรงให้พระพักตร์ของพระองค์ทอแสงแก่ท่าน” ซึ่งในภาษาเดิมการพูดแบบนี้หมายถึงขอให้พระเจ้าพอใจและยอมรับคนนั้น b ประโยคนี้อาจแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ขอองค์พระผู้เป็นเจ้ายิ้มให้คุณ” (กันดารวิถี 6:25, ฉบับนิวอินเตอร์เนชันแนลรีดเดอร์ส) พระยะโฮวาทำดีกับประชาชนของพระองค์โดยเมตตากรุณาและเห็นอกเห็นใจพวกเขา—อิสยาห์ 30:18
“ขอให้พระยะโฮวา cมองดูคุณด้วยความกรุณา และให้คุณมีสันติสุข” การที่พระยะโฮวา “มองดู” ผู้นมัสการพระองค์หมายถึงพระองค์สังเกตดูพวกเขาด้วยความรักและให้พวกเขามีสันติสุข หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งอธิบายว่า “คำภาษาฮีบรูที่แปลว่าสันติสุข (ชาโลม) ไม่ได้หมายถึงแค่ไม่มีความขัดแย้ง แต่หมายถึงอยู่ดีมีสุขในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกายและความเชื่อ”
เพื่อจะได้รับพรที่พูดถึงในข้อคัมภีร์เหล่านี้ ชาวอิสราเอลต้องเชื่อฟังพระยะโฮวา (เลวีนิติ 26:3-6, 9) และเมื่อพวกเขาเชื่อฟัง พระยะโฮวาก็ทำตามที่พระองค์สัญญาอย่างที่เห็นได้ในช่วงการปกครองของกษัตริย์บางองค์ของพวกเขา เช่น โซโลมอนและเฮเซคียาห์—1 พงศ์กษัตริย์ 4:20, 25; 2 พงศาวดาร 31:9, 10
ถึงแม้คริสเตียนไม่ต้องท่องจำและพูดคำอวยพรนี้กับคนอื่น แต่พวกเขาก็แสดงความรู้สึกแบบเดียวกันได้ตอนที่อธิษฐานเพื่อคนอื่นหรือให้กำลังใจเพื่อนคริสเตียน (1 เธสะโลนิกา 5:11, 25) พระยะโฮวาไม่เคยเปลี่ยน พระองค์อยากอวยพรและปกป้องผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระองค์เสมอ คริสเตียนแท้เลยมีสันติสุขได้ เพราะรู้ว่าพระยะโฮวาพอใจพวกเขา
ท้องเรื่องของกันดารวิถี 6:24-26
หนังสือกันดารวิถี 10 บทแรกบันทึกคำสั่งที่พระเจ้าให้กับชาวอิสราเอลตอนที่พวกเขาตั้งค่ายอยู่ใกล้ภูเขาซีนายระหว่างเดินทางไปแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา ช่วงที่ตั้งค่ายอยู่ที่นั่นประมาณ 1 ปี พระยะโฮวารวบรวมพวกเขาให้เป็นชาติและให้กฎหมายชุดหนึ่งกับพวกเขาที่เรียกว่า สัญญาเกี่ยวกับกฎหมาย
พระยะโฮวายังสั่งโมเสสด้วยว่าอาโรนกับพวกลูกชายที่ถูกเลือกให้เป็นปุโรหิตจะต้องอวยพรชาวอิสราเอลยังไง (กันดารวิถี 6:22, 23) ตั้งแต่นั้น อาโรนกับลูกหลานของเขาก็อวยพรชาตินี้ด้วยคำพูดที่พระยะโฮวาสั่งไว้ในกันดารวิถี 6:24-26 และต่อมาก็กลายเป็นธรรมเนียมที่ปุโรหิตจะกล่าวคำอวยพรนี้ที่วิหารหลังการถวายเครื่องบูชาครั้งสุดท้ายของแต่ละวัน
ดูวีดีโอนี้เพื่อจะเข้าใจภาพรวมของหนังสือกันดารวิถี
a ยะโฮวาเป็นชื่อของพระเจ้าซึ่งแปลมาจากภาษาฮีบรู เพื่อจะรู้ว่าทำไมคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับใช้คำว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าแทนชื่อของพระเจ้า ดูบทความ “พระยะโฮวาเป็นใคร?”
b นี่ตรงข้ามกับอีกสำนวนหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลที่บอกว่า พระยะโฮวาหันหน้าหนีหรือเมินหน้าหนีจากชาวอิสราเอลเมื่อพวกเขาทำสิ่งที่พระองค์ไม่พอใจ—อิสยาห์ 59:2; มีคาห์ 3:4
c คัมภีร์ไบเบิลฉบับ NIV ฉบับศึกษา บอกว่า การใช้ชื่อพระเจ้าซ้ำหลายครั้งในข้อคัมภีร์เหล่านี้ “เป็นการเน้นและให้น้ำหนักกับคำพูดใน [ข้อ 27]” แต่บางคนอ้างว่าการใช้ชื่อพระเจ้า 3 ครั้งในข้อเหล่านี้สนับสนุนคำสอนที่ว่าพระเจ้าเป็นตรีเอกานุภาพ แต่คำอ้างนี้ไม่ถูกต้อง แม้แต่หนังสืออ้างอิงเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งที่สนับสนุนคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพก็ยังยอมรับว่า การใช้ชื่อพระเจ้า 3 ครั้งที่นี่ “ไม่ได้หมายความว่าปุโรหิตที่กล่าวคำอวยพรหรือคนที่ได้รับพรเชื่อว่าพระเจ้าเป็นตรีเอกานุภาพ สำหรับพวกเขาการใช้ชื่อพระเจ้าซ้ำ 3 ครั้งก็เพื่อให้คำอวยพรฟังสละสลวยและครบถ้วนเท่านั้น” (The Pulpit Commentary, เล่ม 2 หน้า 52) ดูข้อมูลเพิ่มเติมในบทความ “พระเจ้าเป็นตรีเอกานุภาพไหม?”