หนุ่มสาวถามว่า
ฉันควรรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการทำร้ายทางเพศ? (ตอน 2) ฟื้นฟูสภาพจิตใจ
รับมือกับความรู้สึกผิด
เหยื่อหลายคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศรู้สึกอับอายกับเรื่องที่เกิดขึ้น พวกเขาอาจถึงกับรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบ มาดูเรื่องของคาเรนซึ่งตอนนี้อายุ 19 ปี เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศตอนอายุระหว่าง 6-13 ปี เธอบอกว่า “สิ่งที่แย่ที่สุดที่ฉันต้องทนก็คือความรู้สึกผิด ฉันเอาแต่คิดว่า ‘ทำไมฉันปล่อยให้ตัวเองถูกทำร้ายนานขนาดนั้น?’”
ถ้าคุณรู้สึกแบบเดียวกันนี้ ขอให้พิจารณาเรื่องต่อไปนี้:
เด็กยังไม่พร้อมที่จะมีเซ็กซ์ทั้งด้านร่างกายและอารมณ์ความรู้สึก พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป้าหมายของการมีเซ็กซ์คืออะไรและจะมีผลอะไรตามมา เมื่อเด็กถูกทำร้ายทางเพศ นั่นไม่ใช่ความผิดของพวกเขา
เด็กมีแนวโน้มที่จะไว้ใจผู้ใหญ่และอาจถูกหลอกเพราะไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของผู้ใหญ่เจ้าเล่ห์ ซึ่งอาจทำให้เด็กถูกทำร้ายได้ง่าย หนังสือสิทธิของผู้บริสุทธิ์ (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “พวกที่ทำร้ายทางเพศก็เป็น ‘นักต้มตุ๋น’ ดี ๆ นี่เอง และเด็กไม่มีทางที่จะรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของคนพวกนี้”
เด็กอาจรู้สึกมีอารมณ์ทางเพศเมื่อถูกล่วงละเมิด ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับคุณ ขอจำไว้ว่า เป็นเรื่องธรรมชาติที่ร่างกายจะตอบสนองอย่างอัตโนมัติเมื่อถูกจับต้องแบบนั้น นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นฝ่ายยอมให้ถูกล่วงละเมิด หรือคุณต้องเป็นคนรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้น
ข้อเสนอแนะ: ลองคิดถึงเด็กสักคนที่คุณรู้จักซึ่งตอนนี้อายุเท่ากับตอนที่คุณถูกล่วงละเมิดทางเพศ และคิดดูว่า ‘ถ้าเด็กคนนั้นถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเรื่องยุติธรรมไหมที่เด็กต้องรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้น?’
คาเรนที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ตอนที่เธอเป็นพี่เลี้ยงเด็ก 3 คน มีเด็กคนหนึ่งอายุเกือบ 6 ขวบซึ่งอายุพอ ๆ กับคาเรนตอนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศครั้งแรก คาเรนบอกว่า “ฉันรู้แล้วว่าเด็กวัยนี้ถูกทำร้ายได้ง่าย ๆ มันถึงได้เกิดเรื่องแบบนี้กับฉัน ตอนที่ฉันอยู่ในวัยนี้”
ความจริงคือ ผู้กระทำผิดต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบกับการที่เขาล่วงละเมิดคุณ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “คนชั่วก็จะได้รับการกล่าวโทษจากความชั่วร้ายของเขา”—ยะเอศเคล 18:20, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
ประโยชน์ของการเล่าให้คนที่ไว้ใจได้ฟัง
การเล่าให้ผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ฟังถึงเรื่องที่คุณถูกล่วงละเมิดทางเพศจะช่วยให้สบายใจขึ้น คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “มิตรสหาย [เพื่อนแท้] ย่อมรักกันอยู่ทุกเวลา และพี่ชายน้องชายก็เกิดมาสำหรับช่วยกันในเวลาทุกข์ยาก”—สุภาษิต 17:17
เป็นที่เข้าใจได้ว่าคุณอาจรู้สึกสบายใจกว่าที่จะไม่ พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางทีความเงียบอาจเป็นเหมือนกำแพงที่คุณสร้างขึ้นเพื่อไม่ให้ตัวเองเจ็บปวดมากขึ้นอีก แต่ถ้าคิดดูดี ๆ ความเงียบที่เป็นเหมือนกำแพงไม่ได้ป้องกันคุณจากความเจ็บปวดเท่านั้น มันอาจกันคุณไว้จากการได้รับความช่วยเหลือด้วย
วัยรุ่นหญิงคนหนึ่งชื่อเจเน็ตรู้สึกว่าการเล่าเรื่องที่เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นช่วยให้สบายใจขึ้นมากจริง ๆ เธอบอกว่า “ตอนเด็ก ๆ ฉันถูกคนที่รู้จักและไว้ใจได้ล่วงละเมิดทางเพศ และฉันก็ทนมาเป็นปี ๆ แต่พอฉันเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้แม่ฟัง ฉันรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก”
เมื่อมองย้อนกลับไป เจเน็ตพอจะเข้าใจได้ว่าทำไมบางคนอาจไม่กล้าพูดถึงเรื่องนี้ เธอบอกว่า “มันเป็นเรื่องลำบากใจที่จะพูดถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่สำหรับฉัน การที่ต้องทนกับความเจ็บปวดนี้อยู่คนเดียวไม่ดีเลย มันดีกว่ากันเยอะที่จะเล่าให้คนที่ไว้ใจได้ฟังให้เร็วที่สุดแทนที่จะปล่อยเอาไว้”
“เวลาเยียวยารักษา”
การถูกล่วงละเมิดทางเพศอาจทำให้คุณเองเจ็บปวดและสับสน เช่น รู้สึกว่าตัวเองถูกย่ำยีและไร้ค่า หรือเป็นแค่ที่ระบายอารมณ์ทางเพศของคนอื่น ตอนนี้ เป็นโอกาสที่คุณจะไม่ต้องจมกับความรู้สึกแบบนั้นและรับประโยชน์จาก “เวลาเยียวยารักษา” (ท่านผู้ประกาศ 3:3, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) มีอะไรบ้างที่จะช่วยคุณได้?
เรียนคัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์ไบเบิลเต็มไปด้วยความคิดของพระเจ้าซึ่ง “มีพลังมาก . . . เพื่อจะทำลายสิ่งที่ฝังรากลึก” รวมถึงการหาเหตุผลผิด ๆ ว่าตัวเองไร้ค่าด้วย (2 โครินท์ 10:4, 5) ตัวอย่างเช่น ลองอ่านและพิจารณาข้อคัมภีร์ต่อไปนี้: ยะซายา 41:10; ยิระมะยา 31:3; มาลาคี 3:16, 17; ลูกา 12:6, 7; 1 โยฮัน 3:19, 20
อธิษฐาน เมื่อคุณรู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด ให้ ‘ฝากภาระไว้กับพระยะโฮวา’ โดยการอธิษฐาน (บทเพลงสรรเสริญ 55:22) คุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว!
ผู้ดูแลในประชาคม ผู้ชายคริสเตียนเหล่านี้ถูกฝึกให้ “เป็นเหมือนที่กำบังลม เป็นที่ลี้ภัยจากพายุ” (ยะซายา 32:2, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) พวกเขาจะช่วยคุณให้มองตัวเองอย่างสมดุลยิ่งขึ้นและก้าวเดินต่อไป
การคบหาที่ดี ลองสังเกตชายหญิงที่เป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตแบบคริสเตียนและดูว่าพวกเขาปฏิบัติต่อกันอย่างไร เมื่อเวลาผ่านไป คุณก็จะเห็นว่าเขาไม่ฉวยประโยชน์จากคนที่เขาบอกว่ารักโดยการล่วงละเมิดทางเพศ
วัยรุ่นหญิงคนหนึ่งชื่อทันย่าได้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นความจริง เพราะตอนเป็นเด็ก ผู้ชายหลายคนปฏิบัติต่อเธออย่างกับเป็นที่ระบายอารมณ์ทางเพศ เธอบอกว่า “ไม่ว่าฉันจะสนิทกับผู้ชายคนไหนก็ล้วนแต่ทำให้เจ็บปวดทั้งนั้น” แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทันย่าก็ได้มารู้ว่ายังมีผู้ชายดี ๆ ที่แสดงความรักแท้อยู่ เธอรู้ได้อย่างไร?
มุมมองของทันย่าเปลี่ยนไปเมื่อเธอคบหากับสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตแบบคริสเตียน เธอบอกว่า “ฉันเห็นจากการประพฤติของผู้ที่เป็นสามีว่าไม่ใช่ผู้ชายทุกคนจะล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง สามีปกป้อง ภรรยาของเขาซึ่งก็ตรงกับที่พระเจ้าตั้งใจไว้” a—เอเฟโซส์ 5:28, 29
a ถ้าคุณมีปัญหา เช่น ซึมเศร้าเรื้อรัง มีความผิดปกติในการกิน ทำร้ายตัวเอง ใช้สารเสพติด มีความผิดปกติในการนอนหลับ หรือคิดจะฆ่าตัวตาย คงดีกว่าที่จะไปหาแพทย์ที่เชี่ยวชาญ