มีผู้ออกแบบไหม?
อวัยวะสำหรับยึดเกาะของปลาเหาฉลาม
ปลาเหาฉลามคือปลาดูดชนิดหนึ่งที่สามารถทำให้ตัวเองไปเกาะติดกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในทะเล และจากนั้นก็แยกตัวออกมาได้ง่าย ๆ โดยไม่ทำความเสียหายกับสิ่งมีชีวิตที่มันเกาะอยู่ นักวิจัยรู้สึกทึ่งกับความสามารถนี้ของมัน
ลองคิดดู ปลาเหาฉลามชอบเกาะกับปลากระเบน ปลาฉลาม เต่า วาฬ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในทะเล ทั้งพื้นผิวที่เป็นผิวหนังและเปลือกแข็ง ปลาเหาฉลามกินปรสิตและอาหารที่เหลือจากสิ่งมีชีวิตที่มันเกาะ ในขณะเดียวกัน มันไม่ต้องออกแรงว่ายน้ำและมันยังได้รับการปกป้องอีกด้วย นักวิจัยกำลังศึกษาอวัยวะสำหรับยึดเกาะของปลาเหาฉลาม เพื่อดูว่ามันเกาะติดได้ง่าย ๆ และเหนียวแน่นได้ยังไงบนพื้นผิวที่แตกต่างกัน
ปลาเหาฉลามเกาะอยู่บนตัวฉลามวาฬ
แผ่นยึดเกาะของปลาเหาฉลามที่เป็นรูปวงรีจะติดอยู่บนหัวของมัน ขอบของแผ่นยึดเกาะนี้จะหนาและนุ่มทำให้เกาะได้แน่น ภายในแผ่นยึดเกาะมีลักษณะเป็นซี่เรียงตัวในแนวขวางคล้ายบานเกล็ด เมื่อซี่เหล่านั้นตั้งขึ้นก็จะสัมผัสกับผิวหนังของสิ่งมีชีวิตที่มันยึดเกาะ นี่ทำให้เกิดแรงเสียดทาน การทำงานร่วมกันของแผ่นยึดเกาะและแรงเสียดทานนี้ ทำให้ปลาเหาฉลามยึดเกาะได้แน่นขึ้น ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตที่มันยึดเกาะจะว่ายน้ำเร็วขนาดไหนหรือเปลี่ยนทิศทางกะทันหันก็ตาม
เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ประทับใจแผ่นยึดเกาะของปลาเหาฉลาม พวกเขาจึงออกแบบวัสดุที่คล้ายกันซึ่งเป็นอุปกรณ์รูปวงรีที่สามารถยึดติดกับพื้นผิวหลายชนิดได้ เมื่อนักวิจัยพยายามดึงอุปกรณ์นั้นออกก็ทำให้เกิดแรงต้านเท่ากับน้ำหนักของอุปกรณ์นี้ 100 เท่า
เทคโนโลยีที่ลอกเลียนแบบแผ่นยึดเกาะของปลาเหาฉลามสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายรูปแบบ นี่รวมถึงการใช้เป็นเครื่องมือติดตามสำหรับสัตว์ทะเล ใช้ศึกษาใต้ทะเลลึก และใช้เพื่อให้อุปกรณ์หรือแสงไฟที่อยู่ใต้ผิวน้ำยึดติดอยู่ได้กับสะพานหรือเรือ
คุณคิดยังไง? อวัยวะยึดเกาะของปลาเหาฉลามเกิดจากวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?