มีผู้ออกแบบไหม?
เปลือกหุ้มของด้วงเกราะเหล็ก
ด้วงเกราะเหล็ก (Phloeodes diabolicus) อาศัยอยู่บริเวณตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ นักวิจัยพบว่าด้วงชนิดนี้สามารถทนต่อแรงกดทับได้มากถึง 39,000 เท่าของน้ำหนักตัวมันเอง และถึงแม้ด้วงชนิดนี้จะถูกรถทับมันก็ไม่ตาย ทำไมด้วงเกราะเหล็กถึงสามารถรับน้ำหนักมากขนาดนี้ได้?
เปลือกหุ้มด้านบนและด้านล่างของตัวด้วงจะประกบกันที่ด้านข้างลำตัวของมัน เปลือกหุ้มนี้มีรอยต่ออยู่ 3 แบบ แบบแรกจะแข็งแรงมากและไม่ยุบเมื่อถูกกดทับ นี่ช่วยปกป้องอวัยวะภายในของมัน รอยต่อแบบที่สองไม่แข็งแรงเท่าแบบแรก จึงทำให้ยืดหยุ่นได้มากกว่า ส่วนแบบที่สามทำให้เปลือกของด้วงยืดหยุ่นได้จนมันสามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในเปลือกไม้หรือซ่อนตัวในร่องหินได้
นอกจากนั้น ตลอดรอยต่อที่อยู่กลางหลังของตัวด้วงจะมีลักษณะเหมือนตัวต่อจิ๊กซอว์ที่ยื่นออกมาประกบกัน โดยส่วนที่ยื่นออกมานั้นเรียกว่าเบลด เบลดมีลักษณะเป็นชั้น ๆ ที่ยึดติดกันด้วยโปรตีน และเมื่อถูกบีบอัดก็จะเกิดรอยแตกเล็ก ๆ ในโปรตีนเหล่านั้น แต่ในที่สุดมันจะกลับมาติดกันและทำให้เบลดสามารถรับน้ำหนักได้โดยที่ไม่แตกออกจากกัน
นักวิจัยบอกว่า เปลือกของด้วงชนิดนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบโครงสร้างที่ต้องรับน้ำหนักหรือแรงกระแทกให้ปลอดภัยมากขึ้น เช่น ยานพาหนะ สะพาน และอาคาร
คุณคิดยังไง? เปลือกของด้วงเกราะเหล็ก เกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?