ให้กำลังใจและช่วยเหลือผู้ป่วย
คนที่ป่วยหนักมักจะวิตกกังวล และถ้าต้องเข้าโรงพยาบาลก็จะยิ่งเครียดมากขึ้น วารสารทางการแพทย์เล่มหนึ่งรายงานว่า “การศึกษาวิจัยแสดงว่า เมื่อผู้ป่วยได้รับการเอาใจใส่ด้านอารมณ์และความเชื่อทางศาสนา สุขภาพจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” a
เพื่อสนองความจำเป็นนี้ พยานพระยะโฮวาจึงจัดโครงการให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจเพื่อนร่วมความเชื่อที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ดูแลในประชาคมท้องถิ่นจะไปเยี่ยมสมาชิกที่เจ็บป่วย แต่ถ้าพยานฯ ที่ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลที่ไกลบ้านล่ะจะทำอย่างไร? พยานพระยะโฮวามีคณะเยี่ยมผู้ป่วย (คยป) กระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ทั่วโลก ผู้ดูแลที่อยู่ในคณะนี้จะไปที่โรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมความเชื่อซึ่งมาจากต่างเมืองหรือต่างประเทศและให้กำลังใจญาติของเขา พยานฯ มีคณะเยี่ยมผู้ป่วยประมาณ 1,900 คณะใน 6 ทวีปและมีอาสาสมัครมากกว่า 28,000 คนที่ทำงานนี้ b
คณะเยี่ยมผู้ป่วยให้กำลังใจอย่างไร?
วิลเลียม ผู้ดูแลคนหนึ่งในคณะนี้บอกว่า “ผมได้ให้กำลังใจทั้งพยานฯ และญาติของเขาที่ไม่ใช่พยานฯ โดยอยู่เป็นเพื่อน คอยพูดคุยและรับฟังพวกเขา ผมช่วยให้พวกเขามั่นใจว่าพระยะโฮวาพระเจ้ารู้ว่าพวกเขาเจอปัญหาอะไรและพระองค์เป็นห่วง คนป่วยกับญาติ ๆ รู้สึกดีมากที่เราอธิษฐานให้พวกเขา”
หลายคนเห็นคุณค่าการเยี่ยมแบบนี้ ต่อไปนี้เป็นความรู้สึกของบางคนในสหรัฐที่มีอาสาสมัครเยี่ยมผู้ป่วยเกือบ 7,000 คน
พริสซิลลา บอกว่า “ขอบคุณมากนะคะที่มาเยี่ยมพ่อฉันที่โรงพยาบาลตอนที่พ่อเส้นเลือดในสมองแตก พ่อซึ้งใจมากที่พวกคุณมาหาและแปลกใจมากที่มีการเยี่ยมแบบนี้ด้วย ฉันคิดว่าการเยี่ยมของพวกคุณจะทำให้พ่ออาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว”
โอฟีเลีย ซึ่งแม่ของเธอป่วยและเสียชีวิตบอกกับตัวแทนที่มาเยี่ยมว่า “การเยี่ยมของพวกคุณมีความหมายกับแม่มาก! แม่รู้ว่าพระยะโฮวาส่งพวกคุณมา ขอบคุณมากค่ะสำหรับความรักความห่วงใยของพวกคุณ”
ผู้ป่วยคนหนึ่งรู้สึกเครียดและท้อแท้สิ้นหวังที่รู้ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่กี่วัน เจมส์ หนึ่งในคณะเยี่ยมผู้ป่วยใช้เวลาอยู่กับเขาและให้กำลังใจเขาโดยอ่านคัมภีร์ไบเบิลที่ฟีลิปปี 4:6, 7 เจมส์บอกว่า “พอผมไปหาเขาวันรุ่งขึ้น เขารับมือกับสถานการณ์ได้อย่างน่าทึ่ง ถึงจะอยู่ได้อีกไม่นาน แต่เขาก็สงบใจและมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะช่วยเขา กลายเป็นว่าเขาเป็นฝ่ายให้กำลังใจผม!”
คณะเยี่ยมผู้ป่วยให้ความช่วยเหลืออย่างไร?
พอลีน ซึ่งสามีเสียชีวิตในโรงพยาบาลที่อยู่ไกลบ้าน เธอเขียนมาว่า “ขอบคุณมากเลยค่ะที่ช่วยเหลือครอบครัวเราตอนที่กำลังแย่สุด ๆ พวกคุณมาหาเราที่โรงพยาบาลตอนเที่ยงคืนทั้ง ๆ ที่เช้าวันรุ่งขึ้นก็ต้องไปทำงาน แค่รู้ว่าพวกคุณจะมาเราก็อุ่นใจแล้ว ขอบคุณที่หาที่นอนให้พวกเราทั้ง 11 คนและคอยช่วยจนทุกอย่างเรียบร้อย ขอบคุณพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์ที่จัดเตรียมการช่วยเหลือที่ให้กำลังใจเราอย่างนี้”
นิกกี้ เกล และโรบินประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ไกลจากบ้านประมาณ 300 กิโลเมตร เมื่อคาร์ลอสที่ทำงานในคณะเยี่ยมผู้ป่วยได้รับแจ้งก็รีบไปรอทั้งสามคนที่โรงพยาบาล คาร์ลอสบอกว่า “ผมช่วยพวกเขาทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ นิกกี้ให้ผมอุ้มลูกหมาไว้ตอนที่เธอเข้าไปหาหมอ” หลังจากนั้น เคอร์ติส สมาชิกอีกคนของคณะฯ ก็มาถึงพร้อมกับภรรยา พวกเขาอยู่เป็นเพื่อนเด็กทั้งสามคนที่โรงพยาบาลหลายชั่วโมงจนพ่อแม่เดินทางมาถึง เพื่อนของครอบครัวนี้เล่าว่า “ทั้งสามคนรู้สึกอุ่นใจที่มีคนมาดูแล โรบินน้องสาวของนิกกี้ไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวา แต่เธอประทับใจมากที่ได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากคณะเยี่ยมผู้ป่วย”
a บทความ “Addressing Patients’ Emotional and Spiritual Needs” ในวารสาร The Joint Commission Journal on Quality and Patient Safety ธันวาคม 2003 ปีที่ 29 ฉบับที่ 12 หน้า 661
b ผู้ดูแลทุกคนที่ทำงานในคณะเยี่ยมผู้ป่วยก็ช่วยงานในประชาคมท้องถิ่นด้วย ทั้งงานสอนและงานประกาศ พวกเขาพร้อมจะทำงานทุกอย่างด้วยความเต็มใจโดยไม่รับค่าจ้าง—1 เปโตร 5:2