วันสำเร็จการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดรุ่นที่ 138
วันที่ 14 มีนาคม 2015 ที่ศูนย์การศึกษาของพยานพระยะโฮวาในแพตเทอร์สัน นิวยอร์ก นักเรียนโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดรุ่นที่ 138 ได้จบการศึกษา มีผู้เข้าร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้มากกว่า 14,000 คน ซึ่งรวมถึงคนที่ได้ชมการถ่ายทอดสัญญาณภาพผ่านวีดีโอด้วย รายการนี้เริ่มโดยเพลงบรรเลงที่เป็นเพลงใหม่ 4 เพลง และภายหลังก็มีการร้องเพลงเหล่านี้ระหว่างการประชุม a
เจฟฟรีย์ แจ็กสัน สมาชิกคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาทำหน้าที่เป็นประธานของการประชุมนี้ เขาเริ่มด้วยการพูดสนับสนุนให้นักเรียนไม่เพียงแต่เก็บสะสมความรู้ไว้ แต่ให้ใช้การฝึกอบรมที่พวกเขาได้รับนี้เพื่อประโยชน์ของคนอื่น—2 ทิโมธี 2:2
พี่น้องแจ็กสันยกตัวอย่างของโมเสส ครั้งหนึ่งเต็นท์ของโมเสสเคยเป็นศูนย์กลางของการนมัสการแท้ของชาติอิสราเอล แต่เมื่อเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์สร้างเสร็จ ที่นี่ก็กลายเป็นศูนย์กลางของการนมัสการแท้แทน และดูเหมือนว่าโมเสสไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในส่วนบริสุทธิ์ที่สุดของเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ มหาปุโรหิตเท่านั้นที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้ แต่ไม่ได้มีอะไรบ่งบอกว่าโมเสสไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เขาสนับสนุนอาโรนอย่างภักดีให้ทำงานมอบหมายใหม่เป็นมหาปุโรหิต (อพยพ 33:7-11; 40:34, 35) บทเรียนคืออะไร? พี่น้องแจ็กสันบอกว่า “ให้เห็นค่าสิทธิพิเศษที่คุณมี แต่ไม่เก็บสิทธิพิเศษนั้นไว้คนเดียว”
“คุณจะตกใจกลัวเสียงของใบไม้ไหม?” นี่เป็นหัวเรื่องคำบรรยายที่บรรยายโดยเคนเนท โฟลดีน ผู้ช่วยคณะกรรมการฝ่ายการสอนของคณะกรรมการปกครอง เขาบอกว่านักเรียนอาจเจอสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกกลัว เช่น ถูกข่มเหงหรือได้รับงานมอบหมายที่ยาก เขายกข้อความจากเลวีนิติ 26:36 แล้วแนะนำนักเรียนให้มองสถานการณ์แบบนั้นเป็นเหมือนใบไม้แห้ง ไม่ใช่สิ่งที่รับมือไม่ได้เลย จากนั้นพี่น้องโฟลดีนได้เน้นตัวอย่างของอัครสาวกเปาโลที่สามารถอดทนกับปัญหาต่าง ๆ มากมายเพราะเขาไว้วางใจพระยะโฮวา—2 โครินธ์ 1:8, 10
“คุณกำลังมองหาอะไร?” มาร์ก แซนเดอร์สัน สมาชิกคณะกรรมการปกครองเป็นผู้บรรยายส่วนนี้ เขาได้พิจารณาหลักการที่อยู่ในสุภาษิต 13:12 ที่บอกว่า “ความคาดหวังที่ถูกเลื่อนออกไปทำให้เสียใจ” น่าเศร้า หลายคนรู้สึกเสียใจไปตลอดชีวิตเพราะพวกเขาคาดหวังสิ่งที่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เช่น ชื่อเสียงหรือเงินทอง
ในสมัยของพระเยซู บางคนคาดหวังผิด ๆ เกี่ยวกับยอห์นผู้ให้บัพติศมา (ลูกา 7:24-28) ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจคาดหมายว่ายอห์นจะเป็นนักปรัชญาที่สอนเรื่องยาก ๆ และลึกซึ้ง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงผิดหวังเพราะยอห์นสอนแต่ความจริงที่เข้าใจง่าย บางคนอาจคิดว่ายอห์นต้องเป็นคนที่แต่งตัวดูดีหรือดูภูมิฐาน แต่เขากลับแต่งตัวธรรมดาเหมือนคนจนทั่ว ๆ ไป อย่างไรก็ตาม คนที่คิดว่ายอห์นเป็นผู้พยากรณ์ไม่ผิดหวัง เพราะยอห์นไม่ได้เป็นแค่ผู้พยากรณ์ แต่เขายังเป็นผู้เบิกทางของเมสสิยาห์ด้วย—ยอห์น 1:29
จากบทเรียนนี้ พี่น้องแซนเดอร์สันขอให้นักเรียนคาดหวังในสิ่งที่ถูกต้อง แทนที่จะคาดหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษในงานมอบหมาย พวกเขาควรคิดว่าจะใช้สิ่งที่ได้เรียนไปเพื่อประโยชน์ของคนอื่นอย่างไร พวกเขาทำอย่างนั้นได้โดยแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เรียนจากกิเลียด เสริมสร้างความเชื่อของพี่น้องชายหญิง และแสดงความรักต่อพวกเขา พี่น้องแซนเดอร์สันบอกว่า “พยายามเป็นคนรับใช้ที่ถ่อมตัวของพี่น้องชายหญิงและพยายามให้ดีที่สุดเพื่อทำตามสิ่งที่พระยะโฮวาต้องการ แล้วคุณจะไม่มีวันผิดหวัง”
“เลี้ยงดูคนหิวโหย” นี่เป็นหัวข้อคำบรรยายของเจมส์ คอทอน ผู้สอนในแผนกโรงเรียนตามระบอบของพระเจ้า พี่น้องคอทอนชี้ให้เห็นว่าทุกคนโหยหาความรัก อยากให้คนอื่นเห็นคุณค่า และต้องการเป็นที่ยอมรับ แม้แต่พระเยซูเองก็มีความต้องการแบบนั้น และพระยะโฮวาก็ให้สิ่งนี้กับพระเยซูโดยพูดกับท่านอย่างอบอุ่นตอนที่ท่านรับบัพติศมา—มัทธิว 3:16, 17
พระยะโฮวาให้เรามีความสามารถที่จะใช้คำพูดเพื่อให้กำลังใจคนอื่นได้ และพระองค์หวังว่าเราจะใช้ความสามารถนั้น (สุภาษิต 3:27) พี่น้องคอทอนกระตุ้นผู้ฟังว่า “ขอให้ฝึกมองหาสิ่งดี ๆ ในตัวผู้อื่น แล้วพูดชมเชยพวกเขา” การพูดชมเชยอย่างจริงใจจะช่วยเพื่อนร่วมความเชื่อของเราให้รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำมีค่า
“เสียสละอย่างเต็มที่” มาร์ก นูแมร์ ผู้ช่วยคณะกรรมการฝ่ายการสอนเป็นผู้บรรยายส่วนนี้ พี่น้องนูแมร์ใช้ตัวอย่างของอัครสาวกเปาโลและสนับสนุนนักเรียนให้พอใจไม่ใช่แค่การทำเท่าที่ถูกเรียกร้องให้ทำเท่านั้น แต่ให้เป็นเหมือนเปาโล แล้วพวกเขาจะพบความสุขที่แท้จริงเมื่อเสียสละตัวเองเพื่อช่วยคนอื่น—ฟีลิปปี 2:17, 18
แม้แต่เมื่อเจอเรื่องร้าย ๆ เปาโลก็ไม่ได้ยอมแพ้ เขาเป็นคนที่ทุ่มเทจนกระทั่งวันตาย เปาโลจึงเป็นคนที่เสียสละอย่างเต็มที่จริง ๆ เขาพูดได้อย่างเต็มปากว่า “ผมวิ่งแข่งจนถึงเส้นชัยแล้ว” (2 ทิโมธี 4:6, 7) พี่น้องนูแมร์กระตุ้นนักเรียนให้เลียนแบบเปาโลโดยทำงานมอบหมายสนับสนุนรัฐบาลของพระเจ้าอย่างภักดี
ประสบการณ์ ไมเคิล เบอร์เนตต์ ผู้สอนอีกคนหนึ่งของโรงเรียนกิเลียดเป็นผู้ทำส่วนนี้ ซึ่งเป็นการสาธิตจากประสบการณ์ของนักเรียนบางคนที่ได้ไปประกาศขณะอยู่ที่แพตเทอร์สัน
เป็นอีกครั้งที่นักเรียนหลายคนเห็นผลดีจากการตื่นตัวเมื่อเห็นโอกาสที่จะประกาศและพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแบ่งปันความจริงกับผู้คนในภาษาของพวกเขาเองซึ่งเป็น “ภาษาที่เข้าถึงหัวใจ” ตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งรู้ว่าเขตที่เขากำลังจะไปประกาศมีคนที่พูดภาษาสเปนอยู่เยอะ ดังนั้นก่อนที่จะเข้าเขตหนึ่งวัน เขาเรียนภาษาสเปนบางคำจากแอป JW Language และในวันที่ไปประกาศ เขาพบชายคนหนึ่งบนถนนที่พูดภาษาสเปน เขาจึงพูดภาษาสเปนที่ได้เรียนมานิดหน่อยกับชายคนนี้ การเริ่มบทสนทนานี้ทำให้นักเรียนสามารถศึกษาพระคัมภีร์กับชายคนนี้และสมาชิกอีก 4 คนในครอบครัวของเขาได้
สัมภาษณ์ ส่วนต่อไป วิลเลียม เทอร์เนอร์, จูเนียร์ ผู้ช่วยคณะกรรมการฝ่ายการรับใช้ของคณะกรรมการปกครอง สัมภาษณ์นักเรียน 4 คนว่าพวกเขามีประสบการณ์อะไรบ้างเมื่อมาที่กิเลียด รวมทั้งการฝึกอบรมที่พวกเขาได้รับจากโรงเรียนนี้
นักเรียนได้เล่าจุดต่าง ๆ จากหลักสูตรที่ทำให้พวกเขาได้รับกำลังใจ ตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งเล่าว่าเขาได้เรียนรู้จากเรื่องราวในลูกาบทที่ 10 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สาวก 70 คนของพระเยซูดีใจและมีความสุขเมื่อเห็นผลดีในงานประกาศของพวกเขา ถึงแม้พระเยซูเองก็ดีใจและมีความสุข แต่ท่านยังสอนสาวกว่าความสุขไม่ควรขึ้นอยู่กับผลที่ได้เท่านั้น แต่ควรเป็นเพราะได้รู้ว่าพระยะโฮวาพอใจความพยายามของพวกเขา นี่เตือนเราว่าความสุขที่แท้จริงขึ้นอยู่กับการที่ได้รู้ว่าพระยะโฮวาพอใจเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
พี่น้องเทอร์เนอร์ใช้คำพูดในฟีลิปปี 1:6 กับนักเรียน และขอให้พวกเขามั่นใจว่าพระยะโฮวา “ได้เริ่มงานที่ดี” ในหมู่พวกเขาและพระยะโฮวาจะอยู่กับพวกเขาต่อ ๆ ไป
“จดจ้องไปที่พระยะโฮวาเสมอ” แซมมูเอล เฮิร์ด สมาชิกคณะกรรมการปกครอง เป็นผู้บรรยายคำบรรยายสำคัญของรายการนี้ เขาช่วยให้รู้ว่า ถึงแม้เราจะไม่เห็นพระยะโฮวาจริง ๆ แต่เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะจดจ้องไปที่พระองค์เสมอ?
วิธีหนึ่งที่เราจะเห็นพระยะโฮวาได้คือ คิดใคร่ครวญเกี่ยวกับสิ่งที่พระองค์สร้างซึ่งสอนเราเกี่ยวกับพระองค์ นอกจากนั้น พระยะโฮวา “เปิดใจ [พวกเรา] ให้เห็น” (เอเฟซัส 1:18) ยิ่งเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลมากเท่าไร เราก็ยิ่งเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระยะโฮวา และยิ่งเราเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวา เราก็จะยิ่งรู้สึกใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้น
เราอยากจะสนใจเรื่องราวในหนังสือข่าวดีเป็นพิเศษด้วย เพราะคำพูดและสิ่งต่าง ๆ ที่พระเยซูทำซึ่งบันทึกในหนังสือข่าวดีจะช่วยเราให้นึกภาพพระยะโฮวาออก พระเยซูสะท้อนให้เห็นคุณลักษณะของพระเจ้าได้อย่างดีเยี่ยม จนท่านพูดได้ว่า “คนที่ได้เห็นผมก็ได้เห็นพระเจ้าผู้เป็นพ่อด้วย”—ยอห์น 14:9
พี่น้องเฮิร์ดสนับสนุนให้ผู้ฟังไม่ใช่แค่มองพระยะโฮวาผ่านตัวอย่างของพระเยซูเท่านั้นแต่เลียนแบบสิ่งที่ได้เห็นด้วย อย่างเช่น เหมือนที่พระเยซูทุ่มเทตัวเองเพื่อจะสอนคนอื่นเรื่องพระเจ้า เราเองก็อยากทำงานหนักเพื่อสอนคนอื่นเรื่องพระเจ้าเหมือนที่ได้เรียนมาเช่นกัน
จะมีผลอะไรหากเราจดจ้องไปที่พระยะโฮวาเสมอ? เราจะมีความมั่นใจเหมือนกับผู้เขียนหนังสือสดุดีที่เขียนว่า “ผมเห็นพระยะโฮวาอยู่ตรงหน้าผมเสมอ เพราะพระองค์อยู่ข้างขวามือผม ผมจะไม่กลัวเลย”—สดุดี 16:8
สรุป หลังจากนักเรียนได้รับประกาศนียบัตรแล้ว ตัวแทนนักเรียนคนหนึ่งขึ้นมาอ่านจดหมายแสดงความขอบคุณจากนักเรียนในชั้น จากนั้นพี่น้องแจ็กสันได้กล่าวสรุปโดยบอกนักเรียนที่จบการศึกษาว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าทุกอย่างที่พวกเขาสอนต้องเป็นเรื่องใหม่และลึกซึ้ง เพราะเรื่องที่เรียนมาส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่พี่น้องรู้อยู่แล้ว พี่น้องแจ็กสันยังพูดถึงเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วย แทนที่จะดึงความสนใจมาที่ตัวเองหรือเรื่องที่ได้รับการฝึกอบรมจากกิเลียดมา นักเรียนควรจะให้ความสนใจนั้นไปที่คัมภีร์ไบเบิลและหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล นอกจากนั้น พวกเขาไม่ควรทำให้คนที่อาจจะไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียนกิเลียดหมดกำลังใจ แต่นักเรียนควรให้กำลังใจเพื่อนร่วมความเชื่อโดยช่วยพวกเขาให้รับประโยชน์จากความรู้ต่าง ๆ ที่มาจากองค์การที่พวกเขาสามารถรับได้ ผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคนกลับไปด้วยความรู้สึกว่าได้รับกำลังใจและตั้งใจจะรับใช้พี่น้องชายหญิงของพวกเขาต่อ ๆ ไป