ทำไมพยานพระยะโฮวาไม่รับการถ่ายเลือด?
ความเข้าใจผิด ๆ โดยทั่วไป
หลายคนพูดว่า พยานพระยะโฮวาไม่รับยารักษาโรคหรือการรักษาจากแพทย์
ความจริงคือ เราหาการรักษาทางการแพทย์ที่ดีที่สุดสำหรับตัวเราเองและครอบครัว เมื่อเจ็บป่วยเราไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้การรักษาหรือทำการผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือด เราดีใจจริง ๆ ที่เห็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ แม้ว่าตอนแรกมีการพัฒนาวิธีการรักษาโดยไม่ใช้เลือดเพื่อช่วยคนไข้ที่เป็นพยานฯ แต่ตอนนี้การรักษาด้วยวิธีนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อทุกคน ในหลายประเทศคนไข้อาจตัดสินใจว่าจะไม่รับเลือดเพราะกลัวอันตรายที่มากับการถ่ายเลือด เช่น โรคติดต่อต่าง ๆ ความผิดปกติด้านระบบภูมิคุ้มกัน และความผิดพลาดของมนุษย์
หลายคนพูดว่า พยานพระยะโฮวาเชื่อเรื่องการรักษาโรคโดยความเชื่อ
ความจริงคือ เราไม่ได้รักษาโรคโดยความเชื่อ
หลายคนพูดว่า การรักษาโดยไม่ใช้เลือดมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
ความจริงคือ โดยทั่วไป การรักษาโดยไม่ใช้เลือดเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า a
หลายคนพูดว่า แต่ละปีมีพยานพระยะโฮวาหลายคนเสียชีวิตเพราะไม่รับการถ่ายเลือด ซึ่งรวมถึงเด็กด้วย
ความจริงคือ คำกล่าวอ้างนี้ไม่มีมูลความจริงแม้แต่นิด แพทย์ทำการผ่าตัดที่ซับซ้อนโดยไม่ใช้เลือดอยู่บ่อย ๆ เช่น ผ่าตัดคนที่เป็นโรคหัวใจ โรคกระดูก และการปลูกถ่ายอวัยวะ b คนไข้ที่ไม่ได้รับการถ่ายเลือดซึ่งรวมถึงเด็กด้วยมักฟื้นตัวเร็วกว่าหรือพอ ๆ กันกับคนที่รับการถ่ายเลือด c ไม่ว่าในกรณีใด ไม่มีใครสามารถรับรองว่าการถ่ายเลือดจะช่วยชีวิตคนไข้ได้จริง หรือถ้าไม่รับการถ่ายเลือดคนไข้จะต้องเสียชีวิต
ทำไมพยานพระยะโฮวาไม่รับการถ่ายเลือด?
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาไม่ใช่เหตุผลทางการแพทย์ ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่บอกชัดเจนว่า เราต้องละเว้นจากเลือด (เยเนซิศ 9:4; เลวีติโก 17:10; พระบัญญัติ 12:23; กิจการ 15:28, 29) เราไม่รับเลือดเพราะเราเชื่อฟังพระเจ้าและนับถือพระองค์ในฐานะผู้ประทานชีวิต เพราะพระเจ้าถือว่าชีวิตของคนก็คือเลือด—เลวีติโก 17:14
เปลี่ยนความคิด
เมื่อก่อนวงการแพทย์ส่วนใหญ่มองว่าการรักษาโดยไม่ใช้เลือดนั้นเป็นไปไม่ได้เลยและมองว่าเป็นการคิดฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ แต่ไม่กี่ปีมานี้ความคิดแบบนี้ได้เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น บทความหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารเพื่อการศึกษาด้านการแพทย์ในปี 2004 บอกว่า “เทคนิคหลายอย่างที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการรักษาคนไข้ที่เป็นพยานพระยะโฮวาจะกลายเป็นมาตรฐานในการรักษาคนไข้ในวันข้างหน้า” d บทความหนึ่งในนิตยสาร Heart, Lung and Circulation ของปี 2010 บอกว่า แพทย์ควรทำ ‘การผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือด’ กับคนไข้ทุกคนไม่ใช่เฉพาะกับพยานพระยะโฮวาเท่านั้น
ปัจจุบัน แพทย์หลายพันคนทั่วโลกกำลังใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อลดการเสียเลือดเมื่อต้องทำการผ่าตัดที่ซับซ้อนโดยไม่ใช้เลือด แม้แต่ในประเทศกำลังพัฒนาก็ใช้การรักษาวิธีอื่นแทนการถ่ายเลือดและคนไข้หลายคนที่ไม่ใช่พยานพระยะโฮวาก็ขอรับการรักษาด้วยวิธีนี้
a Transfusion and Apheresis Science ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 หน้า 349
b The Journal of Thoracic and Cardiovascular Surgery ปีที่ 134 ฉบับที่ 2 หน้า 287-288; Texas Heart Institute Journal ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 หน้า 563; Basics of Blood Management หน้า 2; และ Continuing Education in Anaesthesia, Critical Care & Pain ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 หน้า 39
c The Journal of Thoracic and Cardiovascular Surgery ปีที่ 89 ฉบับที่ 6 หน้า 918; และ Heart, Lung and Circulation ปีที่ 19 หน้า 658
d Continuing Education in Anaesthesia, Critical Care & Pain ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 หน้า 39