ทำไมพยานพระยะโฮวาไม่ฉลองเทศกาลวันหยุดบางอย่าง?
พยานพระยะโฮวาใช้อะไรในการตัดสินใจว่าจะฉลองเทศกาลวันหยุดหรือไม่?
เมื่อต้องตัดสินใจว่าจะฉลองเทศกาลวันหยุดหรือไม่ พยานพระยะโฮวาจะค้นดูคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลก่อน ถ้าเทศกาลหรือการฉลองไหนขัดกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิลอย่างชัดเจน พวกเขาก็จะไม่เข้าร่วม แต่ถ้าไม่ขัดกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล พยานฯแต่ละคนต้องตัดสินใจเอง เพราะพวกเขา “พยายามอยู่เสมอที่จะไม่ทำผิดต่อพระเจ้าหรือต่อมนุษย์ เพื่อจะไม่มีอะไรรบกวนความรู้สึกผิดชอบชั่วดี”—กิจการ 24:16
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคำถามที่พยานพระยะโฮวาถามตัวเองก่อนจะตัดสินใจฉลองเทศกาลวันหยุดอย่างใดอย่างหนึ่ง a
เทศกาลวันหยุดนั้นมีต้นตอมาจากคำสอนที่ขัดกับคัมภีร์ไบเบิลไหม?
หลักการในคัมภีร์ไบเบิล: “พระยะโฮวาจึงสั่งว่า ‘ดังนั้น ออกมาจากพวกเขาและแยกอยู่ต่างหาก เลิกแตะต้องสิ่งที่ไม่สะอาด’”—2 โครินธ์ 6:15-17
เพื่อจะแยกออกมาจากคำสอนที่พระเจ้าถือว่าไม่สะอาดหรือไม่ถูกต้องตามที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ พยานพระยะโฮวาจึงไม่ฉลองเทศกาลวันหยุดต่อไปนี้
เทศกาลวันหยุดที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหรือการนมัสการพระอื่น พระเยซูบอกว่า “คุณต้องนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าของคุณ และรับใช้พระองค์ผู้เดียว” (มัทธิว 4:10) พยานพระยะโฮวาทำตามคำสั่งนี้ พวกเขาจึงไม่ฉลองวันคริสต์มาส วันอีสเตอร์ หรือวันแรงงาน เพราะมีต้นตอเกี่ยวกับการนมัสการพระอื่น และพยานฯจะไม่เข้าร่วมเทศกาลวันหยุดอีกหลายอย่าง เช่น
ควันซา สารานุกรม Encyclopedia of Black Studies บอกว่าชื่อนี้ “มาจากคำว่า มาตุนดา ยา ควันซา ในภาษาสวาฮิลี ซึ่งแปลว่า ‘ผลแรก’ และบ่งบอกว่าเทศกาลนี้มีต้นตอมาจากงานฉลองการเก็บเกี่ยวพืชผลครั้งแรก ๆ ที่บันทึกในประวัติศาสตร์ของชาวแอฟริกา” บางคนจึงมองว่าเทศกาลนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่สารานุกรม Encyclopedia of African Religion บอกว่าเทศกาลควันซาคล้ายกับอีกเทศกาลหนึ่งของชาวแอฟริกาที่มีการถวายผลแรกจากการเก็บเกี่ยว “แก่เทพเจ้าและบรรพบุรุษเพื่อเป็นการขอบคุณ” และ “เทศกาลนี้ยังเกี่ยวข้องกับการแสดงความขอบคุณและสำนึกบุญคุณสำหรับพรต่าง ๆ ที่มาจากบรรพบุรุษเหมือนกับเทศกาลควันซาของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาด้วย”
เทศกาลไหว้พระจันทร์ หรือเทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง พจนานุกรม Holidays, Festivals, and Celebrations of the World Dictionary บอกว่าเทศกาลนี้จัดขึ้น “เพื่อยกย่องบูชาเทพธิดาแห่งดวงจันทร์” และมีพิธีกรรมที่ “ผู้หญิงในบ้านจะมาคำนับเทพธิดาโดยคุกเข่าและก้มลงจนหน้าผากแตะพื้น อย่างที่ภาษาจีนเรียกว่า เคาเทา”—สารานุกรม Religions of the World—A Comprehensive Encyclopedia of Beliefs and Practices
โนรูส (เนารูซ) “ในยุคแรก ๆ เทศกาลนี้มาจากความเชื่อตามหลักศาสนาโซโรอัสเตอร์ เป็นการฉลองวันที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดวันหนึ่งในปฏิทินโซโรอัสเตอร์โบราณ ... เพื่อต้อนรับภูติแห่งเที่ยงวัน [ราพิทวิน] ที่ถูกภูติแห่งฤดูหนาวไล่ไปอยู่ใต้ดินในช่วงฤดูหนาว ซึ่งตามประเพณีโซโรอัสเตอร์ เทศกาลนี้จะฉลองกันตอนเที่ยงตรงของวันโนรูส”—องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
ชับ ยัลดา เป็นการฉลองวันที่กลางคืนยาวที่สุดในรอบปี ซึ่งหนังสือเกี่ยวกับลัทธิซูฟีของศาสนาอิสลาม (Sufism in the Secret History of Persia) อธิบายว่า การฉลองนี้ “เกี่ยวข้องกับการนมัสการเทพมิทรา” ซึ่งเป็นเทพแห่งแสง และยังเชื่อกันด้วยว่าเกี่ยวข้องกับการนมัสการเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ของชาวโรมันและกรีก b
วันขอบคุณพระเจ้า มีต้นตอมาจากการฉลองฤดูเก็บเกี่ยวสมัยโบราณเพื่อให้เกียรติแก่เทพเจ้าหลายองค์เหมือนกับเทศกาลควันซา แต่เมื่อเวลาผ่านไป “ประเพณีโบราณนี้ก็กลายเป็นเทศกาลของชาวคริสต์ที่ฉลองกันเพื่อขอบคุณพระเจ้า”—หนังสือ A Great and Godly Adventure—The Pilgrims and the Myth of the First Thanksgiving
เทศกาลวันหยุดที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องโชคลางหรือโชคลาภ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าคนที่ “ตั้งโต๊ะวางของถวายให้เทพแห่งโชคลาภ” เป็นคนที่ “ละทิ้งพระยะโฮวา” (อิสยาห์ 65:11) ดังนั้น พยานพระยะโฮวาจะไม่ฉลองเทศกาลวันหยุดต่อไปนี้
อีวาน คูปาลา หนังสือ The A to Z of Belarus บอกว่า “คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ในวัน [อีวาน คูปาลา] ธรรมชาติจะปล่อยพลังพิเศษออกมา ซึ่งสามารถควบคุมได้ถ้ามีความกล้าและมีโชค” เดิมทีวันนี้เป็นเทศกาลของชาวนอกรีตที่ฉลองวันครีษมายัน (วันที่กลางวันยาวที่สุดในรอบปี) แต่สารานุกรม Encyclopedia of Contemporary Russian Culture บอกว่า “หลังจากคนเหล่านี้รับเชื่อเข้ามาเป็นคริสเตียน เทศกาลนี้ก็ถูกรวมเข้ากับเทศกาลของคริสตจักร [วันสมโภชนักบุญยอห์นแบปติสบังเกิด]”
ตรุษจีน (ตรุษเกาหลี) เป็นการฉลองปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ หนังสือ Mooncakes and Hungry Ghosts—Festivals of China บอกว่า “ในช่วงนี้ของแต่ละปี ผู้คนจะให้ความสำคัญกับครอบครัว เพื่อน และญาติ ๆ มากเป็นพิเศษ มีการอวยชัยให้พร การเซ่นไหว้เทพเจ้าและวิญญาณ เพื่อจะมีโชคมีลาภไปตลอดทั้งปี” สารานุกรม Encyclopedia of New Year’s Holidays Worldwide อธิบายว่าวันปีใหม่ของชาวเกาหลีก็เหมือนกัน “มีการไหว้บรรพบุรุษ การทำพิธีปัดรังควานและพิธีอื่น ๆ เพื่อจะมีโชคดีในปีใหม่ และการทำนายโชคชะตาสำหรับปีที่กำลังมาถึง”
เทศกาลวันหยุดที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องวิญญาณอมตะ คัมภีร์ไบเบิลบอกชัดเจนว่าชีวิตจบสิ้นตอนที่คนเราตาย (เอเสเคียล 18:4) พยานพระยะโฮวาจึงไม่ฉลองเทศกาลวันหยุดต่อไปนี้ เพราะเป็นการส่งเสริมความเชื่อเรื่องวิญญาณอมตะ
วันวิญญาณในแดนชำระ (วันระลึกถึงผู้ตาย, วันแห่งความตาย) สารานุกรม New Catholic Encyclopedia บอกว่า วันนี้เป็นวัน “ระลึกถึงคนดีทุกคนที่ล่วงลับ” สารานุกรมนี้ยังบอกด้วยว่า “ในยุคกลาง ผู้คนเชื่อว่าวิญญาณที่อยู่ในแดนชำระอาจปรากฏตัวเป็นผี แม่มด คางคก และอื่น ๆ เพื่อแก้แค้นคนที่ทำผิดต่อพวกเขาตอนที่ยังมีชีวิตอยู่”
เทศกาลเช็งเม้งและเทศกาลสารทจีน ทั้งสองเทศกาลเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับและเซ่นไหว้ภูตผีที่หิวโหย หนังสือ Celebrating Life Customs Around the World—From Baby Showers to Funerals บอกว่า ช่วงเทศกาลเช็งเม้ง “จะมีการเซ่นไหว้ด้วยอาหาร เครื่องดื่ม และเผากระดาษเงินกระดาษทองไปให้คนตาย เพื่อไม่ให้อดอยากและมีเงินใช้” หนังสือเล่มนี้ยังบอกด้วยว่า “ในเดือนเทศกาลสารทจีน โดยเฉพาะในคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวง [เชื่อกันว่า] วิญญาณคนตายจะติดต่อกับมนุษย์ได้ง่ายที่สุดและเฮี้ยนที่สุด จึงต้องมีเทศกาลนี้เพื่อเอาใจคนตายและให้เกียรติบรรพบุรุษ”
เทศกาลชูซ็อก หนังสือเกี่ยวกับประเพณีเกาหลีชื่อ The Korean Tradition of Religion, Society, and Ethics บอกว่า เทศกาลนี้มีพิธี “เซ่นไหว้วิญญาณคนตายด้วยอาหารและเหล้า” ซึ่งแสดงถึง “ความเชื่อที่ว่าวิญญาณยังอยู่ต่อไปหลังจากร่างกายตายแล้ว”
เทศกาลวันหยุดที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์หรือเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “อย่าให้ใครเป็นผู้ทำนายโชคชะตา ใช้เวทมนตร์ ถือโชคลาง และทำตัวเป็นพ่อมด อย่าให้มีคนทำคาถาอาคม ปรึกษาคนทรงหรือหมอดู และอย่าติดต่อคนตาย เพราะพระยะโฮวาเกลียดคนที่ทำอย่างนี้” (เฉลยธรรมบัญญัติ 18:10-12) เนื่องจากพยานพระยะโฮวาไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ทุกรูปแบบ รวมทั้งโหราศาสตร์ (การทำนายโชคชะตาแบบหนึ่ง) พวกเขาจึงไม่ฉลองวันฮัลโลวีน หรือเทศกาลต่อไปนี้
วันปีใหม่ของชาวทมิฬและชาวสิงหล สารานุกรม Encyclopedia of Sri Lanka บอกว่า “พิธีกรรมตามธรรมเนียมของการฉลองนี้ ... มีกิจกรรมทางโหราศาสตร์ที่เกี่ยวกับการทำนายดวงชะตาหรือหาฤกษ์ยามด้วย”
สงกรานต์ สารานุกรม Food, Feasts, and Faith—An Encyclopedia of Food Culture in World Religions อธิบายว่า ชื่อเทศกาลนี้มาจากคำภาษาสันสกฤต ... ที่แปลว่า ‘เคลื่อนที่’ หรือ ‘เปลี่ยนแปลง’ เทศกาลสงกรานต์จึงเป็นการฉลองวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในจักรราศี”
การฉลองที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการตามกฎหมายของโมเสส แต่ยกเลิกไปหลังจากพระเยซูตาย คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระคริสต์ทำให้กฎหมายของโมเสสสิ้นสุดลง” (โรม 10:4) คริสเตียนยังได้ประโยชน์จากหลักการของกฎหมายที่พระเจ้าให้กับชาวอิสราเอลผ่านทางโมเสส แต่พวกเขาไม่ฉลองเทศกาลตามกฎหมายนั้นแล้ว โดยเฉพาะเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับการมาของเมสสิยาห์ เพราะคริสเตียนเชื่อว่าเมสสิยาห์มาแล้ว คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่เงาของสิ่งที่จะมีมา แต่ของจริงมาทางพระคริสต์” (โคโลสี 2:17) เมื่อคิดถึงเหตุผลนี้และคิดถึงต้นตอของหลายเทศกาลที่ไม่สอดคล้องกับหลักพระคัมภีร์ พยานพระยะโฮวาจึงไม่ฉลองเทศกาลต่อไปนี้
ฮานุกกาห์ เป็นเทศกาลที่ตั้งขึ้นเพื่อฉลองการอุทิศวิหารของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มเป็นครั้งที่สอง แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระเยซูมาเป็นมหาปุโรหิต ที่ “เต็นท์ [หรือ วิหาร] ที่ยิ่งใหญ่กว่าและสมบูรณ์กว่า เป็นเต็นท์ที่มนุษย์ไม่ได้สร้างและไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าสร้างไว้บนโลก” (ฮีบรู 9:11) สำหรับคริสเตียนแล้ว วิหารโดยนัยนี้มาแทนที่วิหารของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม
รอช ฮาชานาห์ เป็นวันปีใหม่หรือวันแรกของปีในปฏิทินยิว ในสมัยโบราณมีการถวายเครื่องบูชาพิเศษให้พระเจ้าในช่วงเทศกาลนี้ (กันดารวิถี 29:1-6) แต่พระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นเมสสิยาห์ ได้ทำให้ “การถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาและของถวายต่าง ๆ ถูกยกเลิกไป” การถวายเครื่องบูชาเหล่านั้นจึงไม่มีประโยชน์อีกแล้วในสายตาของพระเจ้า—ดาเนียล 9:26, 27
เทศกาลวันหยุดนั้นสนับสนุนการผสมผสานความเชื่อไหม?
หลักการในคัมภีร์ไบเบิล: “คนที่เชื่อจะมีอะไรเหมือนกับคนที่ไม่เชื่อ? วิหารของพระเจ้าจะมีรูปเคารพได้หรือ?”—2 โครินธ์ 6:15-17
พยานพระยะโฮวาพยายามอยู่อย่างสันติกับคนอื่นและยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิ์เลือกว่าจะเชื่ออะไร แต่พวกเขาไม่เข้าร่วมเทศกาลหรือการฉลองที่สนับสนุนการผสมผสานความเชื่อ เช่น
เทศกาลที่ยกย่องบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญทางศาสนา ซึ่งสนับสนุนให้คนต่างความเชื่อมาทำกิจกรรมทางศาสนาด้วยกัน ตอนที่พระเจ้าพาชาติอิสราเอลเข้าไปในแผ่นดินใหม่ซึ่งมีคนที่นับถือศาสนาอื่นอาศัยอยู่ พระองค์สั่งว่า “พวกเจ้าอย่าทำสัญญากับพวกเขาหรือกับพระต่าง ๆ ของพวกเขา ... เพราะเจ้าจะไปนมัสการพระของพวกเขา และนั่นจะเป็นกับดักที่ดักเจ้า” (อพยพ 23:32, 33) ดังนั้น พยานพระยะโฮวาจะไม่ฉลองวันหยุดหรือเทศกาลต่อไปนี้
ลอยกระทง เป็นเทศกาลของชาวไทย สารานุกรม Encyclopedia of Buddhism บอกว่า “ประชาชนจะทำกระทงจากใบไม้หรือดอกไม้ ปักธูปเทียนไว้ในกระทง แล้วนำไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง เชื่อกันว่ากระทงนั้นจะนำทุกข์โศกโรคภัยต่าง ๆ ไป แต่ที่จริงเทศกาลนี้ตั้งขึ้นเพื่อบูชาพระพุทธบาทหรือรอยเท้าศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้า”
วันสารภาพบาปแห่งชาติ ข้าราชการคนหนึ่งให้ความเห็นไว้ในหนังสือพิมพ์ The National ของปาปัวนิวกินีว่า คนที่เข้าร่วมเทศกาลนี้ “ยอมรับหลักความเชื่อพื้นฐานของชาวคริสต์” และการฉลองนี้ “สนับสนุนให้คนในประเทศใช้หลักการของคริสเตียน”
วันวิสาขบูชา พจนานุกรม Holidays, Festivals, and Celebrations of the World Dictionary บอกว่า “วันนี้เป็นวันสำคัญที่สุดของชาวพุทธ เป็นวันที่ระลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า”
การฉลองที่เป็นประเพณีทางศาสนาซึ่งไม่สอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล พระเยซูบอกพวกผู้นำศาสนาว่า “พวกคุณเองนั่นแหละที่ทำให้คำสอนของพระเจ้าไม่มีความหมายเพราะธรรมเนียมของพวกคุณ” (มัทธิว 15:6, 9) เมื่อคิดถึงคำเตือนนี้ พยานพระยะโฮวาจึงไม่ฉลองเทศกาลทางศาสนาหลายอย่าง เช่น
เทศกาลเอพิฟานี (วันสามกษัตริย์, เทศกาลทิมกัต, ลอส เรเยส มาโกส) เป็นการฉลองวันที่โหร 3 คนมาเยี่ยมพระเยซู หรือฉลองการบัพติศมาของพระเยซู สารานุกรม The Christmas Encyclopedia บอกว่าเทศกาลนี้ “เป็นการนำเทศกาลฤดูใบไม้ผลิของคนนอกศาสนามาฉลองในแบบของคริสเตียน ซึ่งแต่เดิมเป็นการยกย่องเทพเจ้าแห่งสายน้ำ แม่น้ำ และลำธาร” สารานุกรมอีกเล่มหนึ่งชื่อ Encyclopedia of Society and Culture in the Ancient World อธิบายว่าเทศกาลทิมกัตซึ่งมีลักษณะคล้ายกันก็ “มาจากธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่”
วันสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ เป็นการฉลองซึ่งมาจากความเชื่อที่ว่าแม่ของพระเยซูได้ขึ้นสวรรค์โดยไม่เหลือร่างกายทิ้งไว้บนโลก สารานุกรม Religion and Society—Encyclopedia of Fundamentalism บอกว่า “ความเชื่อนี้ไม่มีการสอนในคริสตจักรยุคแรก และไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิล”
วันสมโภชแม่พระปฏิสนธินิรมล สารานุกรม New Catholic Encyclopedia บอกว่า “พระคัมภีร์ไม่มีคำสอนเรื่องการปฏิสนธินิรมล [ของมารีย์] โดยตรง แต่คริสตจักรคิดคำสอนนี้ขึ้นเอง”
เทศกาลมหาพรต (เทศกาลเข้าสู่ธรรม) เป็นช่วงเวลาของการสำนึกบาปและอดอาหาร สารานุกรม New Catholic Encyclopedia อธิบายว่า เทศกาลนี้เริ่มฉลองกัน “ในศตวรรษที่ 14” หลังจากคัมภีร์ไบเบิลเขียนเสร็จ 200 กว่าปี และ “ธรรมเนียมการรับเถ้าของสัตบุรุษในวันพุธรับเถ้า (วันแรกของเทศกาลมหาพรต) เป็นธรรมเนียมที่เริ่มถือปฏิบัติกันตั้งแต่การประชุมสภาสงฆ์แห่งเบเนเวนโตในปี 1091”
เมสเคล (มาสคาล) เป็นเทศกาลของชาวเอธิโอเปีย ซึ่งสารานุกรม Encyclopedia of Society and Culture in the Medieval World อธิบายว่า จัดขึ้นเพื่อฉลอง “การค้นพบกางเขนแท้ (คือไม้กางเขนที่พระคริสต์ถูกตรึง) ด้วยการร้องรำทำเพลงรอบกองไฟ” แต่พยานพระยะโฮวาไม่ใช้ไม้กางเขนในการนมัสการ
เทศกาลวันหยุดนั้นตั้งขึ้นเพื่อยกย่องมนุษย์ องค์การ หรือสัญลักษณ์ของชาติไหม?
หลักการในคัมภีร์ไบเบิล: “พระยะโฮวาพูดว่า ‘คนที่ไว้ใจมนุษย์ คนที่วางใจในกำลังของมนุษย์ และคนที่ทิ้งพระยะโฮวาจะถูกแช่ง’”—เยเรมีย์ 17:5
พยานพระยะโฮวาแสดงความขอบคุณเพื่อนมนุษย์และถึงกับอธิษฐานเพื่อคนอื่น แต่พวกเขาไม่เข้าร่วมงานฉลองหรือเทศกาลต่อไปนี้
เทศกาลที่ยกย่องผู้ปกครองประเทศหรือบุคคลสำคัญ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เลิกวางใจในมนุษย์ได้แล้ว เพราะเมื่อไรที่เขาหยุดหายใจเขาก็ตาย เขาจะช่วยอะไรได้” (อิสยาห์ 2:22) ดังนั้น พยานพระยะโฮวาจะไม่ฉลองวันหยุดบางอย่าง เช่น วันเกิดของกษัตริย์หรือราชินี
การฉลองธงชาติ พยานพระยะโฮวาไม่ฉลองวันธงชาติ เพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “อย่ายุ่งเกี่ยวกับรูปเคารพ” (1 ยอห์น 5:21) ทุกวันนี้หลายคนไม่ถือว่าธงชาติเป็นรูปเคารพหรือวัตถุบูชา แต่นักประวัติศาสตร์คาร์ลตัน เจ. เอช. เฮซ เขียนว่า “ธงชาติเป็นสัญลักษณ์แห่งศรัทธาและเป็นวัตถุบูชาที่สำคัญที่สุดของลัทธิชาตินิยม”
การฉลองนักบุญ เมื่อผู้ชายที่เกรงกลัวพระเจ้าหมอบลงทำความเคารพอัครสาวกเปโตร คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เปโตรจับตัวเขาให้ลุกขึ้นและพูดว่า ‘ลุกขึ้นเถอะ ผมเป็นคนธรรมดาเหมือนคุณนั่นแหละ’” (กิจการ 10:25, 26) เนื่องจากเปโตรและอัครสาวกคนอื่น ๆ ทุกคนไม่ยอมรับการยกย่องให้เกียรติแบบพิเศษหรือการกราบไหว้บูชา พยานพระยะโฮวาจึงไม่เข้าร่วมกิจกรรมหรือการฉลองที่จัดขึ้นเพื่อให้เกียรติแก่นักบุญ เช่นการฉลองต่อไปนี้
วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย สารานุกรม New Catholic Encyclopedia บอกว่า เทศกาลนี้ “เป็นการเลี้ยงฉลองเพื่อให้เกียรติแก่นักบุญทั้งหลาย ... ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าการฉลองนี้เริ่มต้นมาอย่างไร”
การฉลองแม่พระแห่งกัวดาลูป สารานุกรม The Greenwood Encyclopedia of Latino Literature บอกว่า เทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อยกย่อง “นักบุญอุปถัมภ์ของเม็กซิโก” ซึ่งบางคนเชื่อว่าคือมารีย์มารดาของพระเยซู และนางเคยปรากฏแก่ชาวนายากจนคนหนึ่งเมื่อปี 1531
วันฉลองชื่อ หนังสือ Celebrating Life Customs Around the World—From Baby Showers to Funerals บอกว่า “วันนี้เป็นวันฉลองของนักบุญและคนที่มีชื่อเดียวกับนักบุญนั้นซึ่งอาจได้ชื่อนี้มาตอนที่เขาบัพติศมาหรือตอนที่เข้ามารับเชื่อ” หนังสือนี้บอกด้วยว่า “วันนี้เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง”
การฉลองที่เกี่ยวกับการเมืองหรือการปฏิรูปสังคม คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “การหวังพึ่งพระยะโฮวา ดีกว่าการวางใจมนุษย์” (สดุดี 118:8, 9) เพราะพยานพระยะโฮวาหวังพึ่งพระเจ้าและไม่วางใจมนุษย์ให้แก้ปัญหาในสังคม พวกเขาจึงไม่ฉลองวันเยาวชน หรือวันสตรีสากล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการปฏิรูปสังคม และด้วยเหตุผลเดียวกัน พวกเขาไม่ฉลองวันเลิกทาส หรือวันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน แต่พวกเขารอให้รัฐบาลของพระเจ้ามาแก้ปัญหาเรื่องเชื้อชาติและความไม่เท่าเทียมในสังคม—โรม 2:11; 8:21
การฉลองนั้นยกย่องชาติหนึ่งหรือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งเป็นพิเศษไหม?
หลักการในคัมภีร์ไบเบิล: “พระเจ้าไม่ลำเอียง พระองค์ยอมรับทุกคนที่เกรงกลัวพระองค์และทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติไหนก็ตาม”—กิจการ 10:34, 35
พยานพระยะโฮวาหลายคนรักประเทศบ้านเกิดของตัวเอง แต่พวกเขาไม่เข้าร่วมการฉลองที่ยกย่องชาติหรือกลุ่มชาติพันธุ์ไหนเป็นพิเศษ เช่น
การฉลองที่ยกย่องให้เกียรติกองทัพ พระเยซูไม่สนับสนุนสงครามและท่านบอกสาวกว่า “ให้รักศัตรูของคุณและอธิษฐานเผื่อคนที่ข่มเหงคุณ” (มัทธิว 5:44) ดังนั้น พยานพระยะโฮวาจะไม่เข้าร่วมการฉลองที่ยกย่องให้เกียรติทหาร และไม่ฉลองวันหยุดต่อไปนี้
วันแอนแซก (Anzac) พจนานุกรม Historical Dictionary of Australia บอกว่า “Anzac ย่อมาจาก Australian and New Zealand Army Corps (กองกำลังทหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์)” และต่อมา “วันแอนแซกค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นวันระลึกถึงคนที่เสียชีวิตในสงคราม”
วันทหารผ่านศึก (วันรำลึกวีรชน, วันรำลึกถึงผู้พลีชีพเพื่อชาติ) สารานุกรม Encyclopædia Britannica บอกว่าวันนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ “ทหารผ่านศึกและผู้เสียชีวิตในสงครามของประเทศ”
การฉลองที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือเอกราชของชาติ พระเยซูพูดถึงสาวกของท่านว่า “พวกเขาไม่ได้เป็นคนของโลก เหมือนที่ผมไม่ได้เป็นคนของโลก” (ยอห์น 17:16) พยานพระยะโฮวาชอบเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของแต่ละประเทศ แต่พวกเขาไม่เข้าร่วมการเฉลิมฉลองของชาติต่าง ๆ เช่น
วันชาติออสเตรเลีย สารานุกรม Worldmark Encyclopedia of Cultures and Daily Life บอกว่า วันนี้เป็นการระลึกถึง “วันที่กองทหารอังกฤษชูธงชาติอังกฤษในปี 1788 และประกาศว่าออสเตรเลียเป็นอาณานิคมแห่งใหม่”
วันกาย ฟอกส์ พจนานุกรม A Dictionary of English Folklore อธิบายว่า วันนี้เป็น “วันที่ทั้งชาติเฉลิมฉลองการล้มแผนของกาย ฟอกส์และกลุ่มผู้สมคบคิดชาวคาทอลิก ที่วางแผนระเบิดสภาขุนนาง [ของอังกฤษ] และลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเจมส์ที่ 1 เมื่อปี 1605”
วันประกาศอิสรภาพ (วันชาติ) พจนานุกรม Merriam-Webster’s Unabridged Dictionary บอกว่า ในหลายประเทศ วันนี้เป็น “วันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ประชาชนร่วมเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบการประกาศอิสรภาพของชาติ”
เทศกาลนั้นมีการฉลองแบบเลยเถิดและผิดศีลธรรมไหม?
หลักการในคัมภีร์ไบเบิล: “ที่ผ่านมา พวกคุณใช้ชีวิตตามใจผู้คนในโลกมามากพอแล้ว ตอนนั้นพวกคุณประพฤติไร้ยางอาย ปล่อยตัวไปกับความต้องการผิด ๆ ดื่มเหล้ามากเกินไป กินเลี้ยงเฮฮากันจนสุดเหวี่ยง แข่งกันดื่ม และไหว้รูปเคารพที่น่าเกลียด”—1 เปโตร 4:3
เมื่อคิดถึงหลักการข้อนี้ พยานพระยะโฮวาจึงไม่เข้าร่วมเทศกาลที่มีการกินดื่มจนเมาและปาร์ตี้อย่างสุดเหวี่ยง พยานพระยะโฮวาชอบสนุกกับเพื่อน ๆ แต่ถ้ามีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พวกเขาก็จะไม่ดื่มมากเกินไป พวกเขาพยายามทำตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ไม่ว่าคุณจะกิน จะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม ให้คุณทำทุกสิ่งแบบที่จะทำให้พระเจ้าได้รับการยกย่องสรรเสริญ”—1 โครินธ์ 10:31
ดังนั้น พยานพระยะโฮวาจะไม่เข้าร่วมเทศกาลคาร์นิวาลหรืองานฉลองอื่น ๆ ที่สนับสนุนการประพฤติตัวแบบที่คัมภีร์ไบเบิลตำหนิ รวมทั้งเทศกาลปูริม ของชาวยิว เพราะถึงแม้เทศกาลนี้เคยเป็นการฉลองวันที่ชาวยิวได้รับการช่วยให้รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตศักราช แต่หนังสือ Essential Judaism บอกว่า ตอนนี้เทศกาลปูริม “เรียกได้ว่าเป็นงานมาร์ดิกราส์หรือคาร์นิวาลของชาวยิวไปแล้ว” เพราะ “มีทั้งการแต่งกายแฟนซี (ผู้ชายมักจะแต่งเป็นหญิง) ฉลองกันแบบสุดเหวี่ยง ดื่มจนเมา และส่งเสียงอึกทึกครึกโครม”
พยานพระยะโฮวายังรักครอบครัวไหมแม้พวกเขาไม่ฉลองเทศกาลวันหยุดบางอย่าง?
รักแน่นอน เพราะคัมภีร์ไบเบิลสอนให้ทุกคนรักและนับถือคนในครอบครัวแม้จะมีความเชื่อไม่เหมือนกัน (1 เปโตร 3:1, 2, 7) แต่เมื่อพยานพระยะโฮวาเลิกฉลองเทศกาลหรือวันหยุดบางอย่าง ญาติบางคนอาจไม่พอใจ เสียใจ หรือถึงกับรู้สึกว่าพยานฯไม่รักครอบครัวแล้ว ดังนั้น พยานพระยะโฮวาหลายคนจึงพยายามทำให้ญาติ ๆ มั่นใจว่าพวกเขายังรักครอบครัว และค่อย ๆ อธิบายเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมอย่างใจเย็น พยานฯยังหาโอกาสไปเยี่ยมครอบครัวในช่วงอื่นที่ไม่ใช่เทศกาลด้วย
พยานพระยะโฮวาห้ามคนอื่นไม่ให้ฉลองเทศกาลวันหยุดบางอย่างไหม?
ไม่ พวกเขาเชื่อว่าแต่ละคนต้องตัดสินใจเอง (โยชูวา 24:15) พยานพระยะโฮวา “ให้เกียรติคนทุกชนิด” ไม่ว่าเขาจะมีความเชื่อทางศาสนาแบบไหน—1 เปโตร 2:17