จดหมายเหตุของเรา
องค์การทางวัฒนธรรมที่สอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิล
กลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งต่อมาเรียกว่าพยานพระยะโฮวา พยายามประกาศข่าวดีให้กับชาวเม็กซิโกที่มีน้ำใจต้อนรับแขกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1917 หลายสิบปีต่อมาก็มีหลายร้อยคนที่จริงใจเข้ามานมัสการพระยะโฮวา แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลเม็กซิโกเริ่มมีปัญหากับสถานที่ที่เราใช้เพื่อประชุมกันและบริเวณที่เราทำงานประกาศ
ตอนนั้น กฎหมายของเม็กซิโกระบุว่า กิจกรรมทางศาสนาและการนมัสการทุกอย่างต้องทำในอาคารที่รัฐเป็นเจ้าของเท่านั้น เราเลยมีปัญหาเพราะเราจัดประชุมใหญ่ในที่สาธารณะ จัดประชุมประจำสัปดาห์ตามบ้านส่วนตัวของพยานพระยะโฮวา และเราเดินประกาศตามบ้านและตามถนน
เพื่อจะทำตามกฎหมายของประเทศ ในปี 1943 เราได้จดทะเบียนเป็นองค์การทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการศึกษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน นี่เป็นองค์การที่ไม่แสวงหากำไร และการจดทะเบียนเป็นลายลักษณ์อักษรทำให้เรามีสิทธิ์ต่าง ๆ ในฐานะองค์การทางวัฒนธรรม ไม่ใช่องค์การศาสนา เราเลยทำกิจกรรมทุกอย่างได้โดยไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าภายในหรือภายนอกอาคารที่รัฐเป็นเจ้าของ
เนื่องจากกิจกรรมของเรามีลักษณะที่ส่งเสริมการศึกษาและวัฒนธรรมอยู่แล้ว เราเลยมีคุณสมบัติตามกฎหมายที่จะจดทะเบียนเป็นองค์การทางสังคมและวัฒนธรรม (โรม 13:1) และเราอยากช่วยผู้คนโดยสอนความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลให้พวกเขา (อิสยาห์ 48:17, 18) ไม่นาน เราก็เห็นว่าพระยะโฮวาอวยพรองค์การนี้และงานของเราก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งพยานพระยะโฮวาหลายคนในทุกวันนี้ก็ยังจำเรื่องราวในตอนนั้นได้ดี
ปรับเปลี่ยนวิธีประกาศ
แน่นอนว่า งานสำคัญที่สุดของเราในเม็กซิโกคืองานประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำงาน เหมือนที่อัครสาวกเปาโลเคยทำ (1 โครินธ์ 9:20-23) เช่น ตอนที่เปาโลประกาศกับชาวเมืองเอเธนส์ที่อาเรโอปากัส เขาไม่ได้ยกข้อความจากพระคัมภีร์โดยตรง (กิจการ 17:22-31) ดังนั้น เวลาเราไปประกาศ เราเลยไม่พกคัมภีร์ไบเบิลไปด้วย และเราจะไม่อ้างถึงข้อความจากพระคัมภีร์ในการประกาศครั้งแรก
อีซาเบลเล่าว่า “เราจะแนะนำตัวว่าเป็นตัวแทนจากสมาคมส่งเสริมการศึกษาและวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ฉันจะใช้บทความในตื่นเถิด! ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องพระคัมภีร์” แล้วถ้าเจ้าของบ้านสนใจเรื่องพระคัมภีร์ล่ะ? ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็จะพูดเรื่องพระคัมภีร์กับเขา ออโรราบอกว่า “เนื่องจากเราไม่เอาคัมภีร์ไบเบิลไปด้วย เราเลยต้องจำข้อคัมภีร์ไว้หลาย ๆ ข้อ” และเจ้าของบ้านก็ตอบรับดีมาก เมื่อเราคุยกับเขาโดยใช้คัมภีร์ไบเบิลของเขาเอง
ปกป้องงานประกาศตามบ้าน
เราต้องเตรียมพร้อมเสมอเพื่อจะตอบใครก็ตามที่กล่าวหาว่าเรากำลังทำงานที่ผิดกฎหมาย (ฟีลิปปี 1:7) เอกสารรับรองที่รัฐบาลออกให้ช่วยเราได้มาก a มาเรียเล่าว่า “เราจะพกบัตรประจำตัวที่มีลายเซ็นของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศติดตัวไว้ตลอด” ซามูเอลบอกว่า “เวลาเจ้าหน้าที่มาห้ามเราและถามว่ากำลังทำอะไร เราก็จะยื่นบัตรให้เขาดู”
บัตรประจำตัวช่วยเรารับมือการต่อต้านได้ เฮซุสที่เคยรับใช้ในรัฐฮาลิสโกบอกว่า “ในปี 1974 บาทหลวงคนหนึ่งปลุกระดมฝูงชนให้ก่อม็อบ แล้วพวกเขาก็มาจับตัวผมกับพยานฯสามีภรรยาคู่หนึ่งไปให้เจ้าหน้าที่เทศบาล พวกเขาคิดว่าจะหยุดเราได้ แต่พอเรายื่นบัตรประจำตัวให้เจ้าหน้าที่ดู ทุกคนก็อึ้งไปเพราะทำอะไรเราไม่ได้ การมีบัตรนี้ช่วยเราได้มาก ทำให้เราสามารถช่วยคนสนใจในเขตนั้นได้ต่อไป และตอนนี้ในเมืองนั้นก็มีหลายประชาคม”
การเรียนคัมภีร์ไบเบิลและชั้นเรียนเขียนอ่าน
เนื่องจากเราเป็นสมาคมที่ส่งเสริมการศึกษา เราเลยจัดชั้นเรียนสอนอ่านเขียนฟรีให้กับคนทั่วไป b อาเรียลบอกว่า “ชั้นเรียนนี้เหมาะกับเวลาพอดี สมัยนั้นหลายคนไม่ได้ไปโรงเรียน แต่พวกเขาก็อยากอ่านคัมภีร์ไบเบิล เราสอนให้เขาอ่านและเขียน หลังจากนั้นไม่นานหลายคนก็เริ่มเรียนคัมภีร์ไบเบิลกับเราด้วย”
รูธเล่าว่า “พอพวกเขาเริ่มอ่านออก พวกเขาก็เป็นนักศึกษาที่ก้าวหน้าเร็วมาก การรู้หนังสือทำให้พวกเขารู้สึกประสบความสำเร็จและมีความสุข หลังจากนั้นเราก็ได้เห็นพวกเขาสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น”
พยานพระยะโฮวาจดทะเบียนเป็นสมาคมเพื่อสังคมและวัฒนธรรมตั้งแต่ปี 1943 จนถึง 1993 ในช่วงนั้นเราได้ช่วยมากกว่า 127,000 คนให้อ่านออกเขียนได้และอีกมากกว่า 37,000 คนให้อ่านและเขียนได้คล่องขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลก็ชมเชยเราที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนรู้หนังสือ (โรม 13:3) ยกตัวอย่าง ในปี 2010 พวกเขามอบรางวัลให้เราเพราะเรา “ทุ่มเทความพยายามหลายสิบปีเพื่อสอนประชาชนให้อ่านออกเขียนได้ และช่วยให้ชาวเม็กซิโกนับแสนคนมีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในรัฐเมฮิโกและทั่วประเทศ”
การประชุม
เนื่องจากเราจดทะเบียนเป็นสมาคม สถานที่ประชุมของเราเลยต้องจัดเป็นแบบห้องเรียนและเรียกชื่อว่า ห้องประชุมเพื่อการศึกษาด้านวัฒนธรรม เราใช้ห้องเหล่านี้เพื่อประชุมประชาคมและสอนอ่านเขียนให้ประชาชน
อังเกลบอกว่า “ห้องเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในบ้านของพี่น้อง และหลายครอบครัวก็ไม่ค่อยมีเงิน ผมชื่นชมพวกพี่น้องมาก พวกเขาเต็มใจอยู่รวมกันในห้องเล็ก ๆ เพื่อจะจัดส่วนหนึ่งของบ้านเป็นที่ประชุมและห้องเรียนของเรา”
พวกพี่น้องต้องเสียสละมาก อังเกลพูดถึงการประชุมประชาคมในสมัยนั้นว่า “บางครั้งมีคนมาร่วมประชุมเยอะมาก จนพวกเราหลายคนต้องไปยืนอยู่ข้างนอก เวลาจะออกความเห็นก็ค่อยโผล่หน้ามาตรงหน้าต่าง แต่เราก็มีความสุขทุกครั้งที่มาประชุม”
เพื่อจะไม่มีปัญหากับเจ้าหน้าที่ เราเลยแค่ทำปากขมุบขมิบตอนร้องเพลงและไม่อธิษฐานเสียงดังที่การประชุม เอ็ดมุนโดเล่าว่า “ช่วงคำบรรยายทางวัฒนธรรม ซึ่งสมัยนี้เรียกว่า บรรยายสาธารณะ ผู้บรรยายจะเน้นคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลที่ผู้ฟังสามารถเอาไปใช้ในชีวิต แล้วทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตและค่านิยมที่ดีขึ้น” มานูเอลยกตัวอย่างให้ฟังว่า “ถ้าจะอ้างถึงวิวรณ์บท 21 ข้อ 3 และ 4 เราก็จะพูดประมาณว่า หนังสือ 66 21 3 และ 4” โมยเซซพูดเสริมว่า “นี่หมายความว่าเราต้องจำลำดับหนังสือแต่ละเล่มในไบเบิลให้ได้ ถึงจะหาข้อคัมภีร์ได้”
บทเรียนจากประวัติศาสตร์ของเราในเม็กซิโก
จริง ๆ แล้ว งานขององค์การที่ทำในเม็กซิโกก็ไม่ต่างอะไรกับงานในประเทศอื่น ๆ ถึงแม้การนมัสการของเราจะมีข้อจำกัดหรืออุปสรรค แต่พระยะโฮวาก็อวยพรอย่างเห็นได้ชัด ตอนที่เราจดทะเบียนเป็นสมาคมในปี 1943 ในเม็กซิโกมีผู้ประกาศ 1,565 คน ต่อมาในปี 1993 เราได้รับการรับรองเป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในปีนั้นจำนวนผู้ประกาศโดยเฉลี่ยเพิ่มเป็น 366,177 คน และหลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ จนมีจำนวนเฉลี่ยสูงถึง 864,633 คนในปี 2021 เราได้บทเรียนอะไรจากประวัติศาสตร์ส่วนนี้?
ปรับเปลี่ยนเมื่อมีอุปสรรค การที่เราพร้อมปรับเปลี่ยนทำให้งานของเราในเม็กซิโกได้รับการยอมรับตามกฎหมายมานานถึง 50 ปี มาริโอบอกว่า “บางครั้งผมก็สงสัยว่าทำไมเราถึงประกาศประชุมแบบเดียวกับพี่น้องในประเทศอื่นไม่ได้ แต่ผมก็ไม่เคยได้ยินพี่น้องวิพากษ์วิจารณ์การชี้นำขององค์การ เราเชื่อเสมอว่าพระยะโฮวาคอยชี้นำประชาชนของพระองค์ เราเลยเต็มใจเชื่อฟังทุกอย่าง”
ให้งานของพระยะโฮวาสำคัญที่สุด กัวดาลูปบอกว่า “เรายุ่งอยู่กับงานสอนคนให้เป็นสาวกจนไม่มีเวลากังวลเรื่องอื่นเลย เรามีความสุขที่ได้รับใช้พระยะโฮวา นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา”
ใกล้ชิดเพื่อนคริสเตียนเสมอ แอนนิตาบอกว่า “ถึงแม้เวลาประชุมกันเราจะทำบางอย่างไม่ได้ เช่น ร้องเพลงราชอาณาจักร แต่เราก็ร้องที่บ้านได้ เราชอบอยู่กับพี่น้องและใช้เวลาด้วยกันบ่อย ๆ เวลาเรามาเจอกัน เราก็จะคุยกันเกี่ยวกับความเชื่อและเรื่องที่ให้กำลังใจ”
ฟลอเรนติโนสรุปสั้น ๆ ว่า “พอมองย้อนกลับไป ผมเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุผลของมันและสอนบทเรียนดี ๆ ให้กับเรา ผมเห็นชัดเลยว่า ไม่ว่าเราจะเจอการต่อต้านหนักแค่ไหน พระยะโฮวาก็คอยชี้นำและดูแลเราเสมอ”
a เราขอบัตรนี้เพื่อใช้ในการระบุตัวเท่านั้น ตามหลักพระคัมภีร์แล้วคริสเตียนไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายเพื่อจะบอกความจริงในคัมภีร์ไบเบิลกับคนอื่น ปัจจุบันพยานพระยะโฮวาแต่ละคนไม่ได้พยายามขอเอกสารรับรองหรือการจดทะเบียนแบบนั้นแล้ว
b จากการคำนวณอย่างเป็นทางการ ในช่วงทศวรรษ 1940 และ 1950 ครึ่งหนึ่งของประชากรในเม็กซิโกไม่สามารถอ่านและเขียนได้
ครอบครัวพยานฯในชิวาวา เม็กซิโก ยืนอยู่หน้าสถานที่ประชุม ป้ายเขียนในภาษาสเปนว่า “ห้องประชุมเพื่อการศึกษาด้านวัฒนธรรม” ปี 1952
พยานฯกลุ่มหนึ่งที่สำนักงานสาขาในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ป้ายเขียนในภาษาสเปนว่า “หอสังเกตการณ์ สมาคมเพื่อสังคม” ปี 1947
พยานฯ 2 คน เสนอหอสังเกตการณ์ ภาษาสเปน ในเขตชนบทของฮิดาลโก เม็กซิโก ปี 1959
รัฐบาลออกบัตรประจำตัวให้พยานฯ และบัตรนี้ช่วยได้มากตอนที่ไปประกาศ
ปี 2010 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของเม็กซิโกมอบรางวัลให้พยานพระยะโฮวา ที่พยายามสอนผู้คนให้อ่านออกเขียนได้
การที่พยานฯได้จดทะเบียนเป็นองค์การทางวัฒนธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้สามารถจัดการประชุมใหญ่ได้ เช่น การประชุมทางวัฒนธรรมนานาชาติ ในปี 1969