เออร์มา เบนติโวกลิ | เรื่องราวชีวิตจริง
รับใช้พระเจ้าผู้ให้ “ของดี ๆ ทุกอย่าง”
ตอนที่เสียงเตือนภัยทางอากาศดังขึ้น แม่รีบอุ้มน้องชายของฉันและคว้าแขนฉันวิ่งเข้าไปในสวนที่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อหลบใต้ต้นไม้ ตอนนั้นฉันอายุแค่ 6 ขวบ
เมื่อระเบิดสงบลง แม่พาฉันไปตามหาเพื่อนสนิทของแม่ แต่เราก็ต้องตกใจเมื่อรู้ว่าเธอเสียชีวิตระหว่างการโจมตีนั้น สองสามวันต่อมาการโจมตีทางอากาศก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง พ่ออุ้มฉันขึ้นจักรยานแล้วปั่นหนีออกจากตัวเมืองให้เร็วที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้
ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศอิตาลีอย่างมากและตัวฉันเองก็ยังจำภาพในตอนนั้นได้ชัดเจน แต่สิ่งที่มีผลกับชีวิตของฉันไม่ใช่สงคราม แต่เป็นคนที่อยู่รอบตัวฉันตั้งแต่เด็ก ซึ่งพวกเขารักพระยะโฮวาและรับใช้พระองค์สุดหัวใจ
ความจริงของขวัญที่ยอดเยี่ยม
ในฤดูหนาวปี 1936 ไม่กี่เดือนก่อนที่ฉันจะเกิด พ่อของฉันทำงานดูแลรางรถไฟกับผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อวินเซนโซ อาร์ตูซี วินเซนโซยังไม่ได้รับบัพติศมาเป็นพยานฯ แต่เขารักความจริงในคัมภีร์ไบเบิลมาก ระหว่างที่พวกเขาตักหิมะออกจากรางรถไฟด้วยกัน วินเซนโซจะเล่าให้พ่อฉันฟังเกี่ยวกับเรื่องที่เขาได้เรียน
พอได้ฟังเรื่องที่วินเซนโซเล่า พ่อรู้เลยว่านี่เป็นความจริง พ่อกับบางคนในเมืองฟาเอนซาก็อยากจะเรียนรู้มากขึ้น ช่วงนั้นพยานฯ ไม่สามารถจัดการประชุมสาธารณะได้เพราะถูกพวกฟาสซิสต์ต่อต้าน และหลายคนถูกจับเพราะมีหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล ตอนนั้นมีพยานฯ บางคนติดคุก พ่อกับเพื่อนเลยต้องนัดเจอกันในบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ในแถบชนบทซึ่งอยู่ไกลจากบ้านอื่น ๆ เพื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิลและศึกษาหนังสือที่พวกเขามี ในช่วงเย็นพ่อจะให้เราทุกคนในครอบครัวศึกษาคัมภีร์ไบเบิลด้วยกันสัปดาห์ละครั้ง
ตัวอย่างที่ดีที่เป็นเหมือนของขวัญ
ในปี 1943 พยานฯ ส่วนใหญ่ที่ติดคุกเพราะทำกิจกรรมทางศาสนาได้ถูกปล่อยตัว หนึ่งในนั้นคือมารีอา ปิซซาโต ซึ่งเป็นพี่น้องหญิงโสด บ้านของมารีอาอยู่ทางภาคเหนือของอิตาลี ระหว่างเดินทางกลับบ้านเธอได้แวะมาที่บ้านของเรา มารีอาทำงานที่สำคัญคือช่วยให้พี่น้องพยานฯ ได้รับหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ และยังช่วยให้พี่น้องติดต่อกับสำนักงานสาขาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งตอนนั้นดูแลงานในอิตาลีได้ ถึงภายนอกจะดูบอบบางแต่มารีอาเป็นคนที่เข้มแข็งและกล้าหาญ หลังสงครามจบลงเธอจะแวะมาที่ฟาเอนซาเป็นครั้งคราวและเราตื่นเต้นดีใจทุกครั้งที่เธอแวะมา
พี่น้องหญิงอีกคนหนึ่งที่ฉันจำได้ดีคืออัลบีนา คูมีนติ ตอนฉันเป็นวัยรุ่น พี่น้องหญิงสูงอายุที่เป็นม่ายคนนี้พักอยู่ในตึกที่เราใช้ประชุมกัน เธอเป็นคอลพอร์เทอร์ (ผู้ประกาศข่าวดีเต็มเวลา) ในอิตาลีในช่วงต้นทศวรรษ 1920 อัลบีนาเล่าเรื่องน่าตื่นเต้นในงานรับใช้หลายอย่างให้ฉันฟัง
อัลบีนามีหนังสือเก่า ๆ และสิ่งของอื่น ๆ ขององค์การด้วย วันหนึ่งฉันเห็นเข็มกลัดที่เป็นรูปไม้กางเขนและมงกุฎที่พวกนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลใช้กัน (ชื่อที่ใช้เรียกพยานพระยะโฮวาในตอนนั้น) พอเห็นอย่างนั้น ฉันก็แปลกใจและอดขำไม่ได้ เพราะรู้ว่าไม้กางเขนมาจากพวกนอกรีต อัลบีนาเลยพูดสิ่งหนึ่งที่ฉันยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ เธอยกคำพูดจากเศคาริยาห์ 4:10 ว่า “อย่าดูถูกจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ”
คำพูดนี้ให้บทเรียนที่สำคัญกับฉัน ถึงแม้กลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในยุคแรก ๆ จะยังไม่เข้าใจความจริงอย่างเต็มที่ แต่ฉันก็ควรให้ความนับถือพวกเขา และตอนนั้นหนังสือที่อธิบายความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลภาษาอิตาลีก็ไม่ได้มีครบทุกเล่ม พี่น้องเลยต้องใช้เวลาเพื่อจะตามให้ทันกับความเข้าใจใหม่ ๆ ที่มีการปรับเปลี่ยน และพระยะโฮวาเห็นค่าความพยายามของพวกเขา ฉันเองก็ต้องทำอย่างนั้นด้วย
ถึงฉันกับอัลบีนาจะอายุต่างกันมาก แต่ฉันก็ชอบพูดคุยกับเธอ อัลบีนา มารีอา และพี่น้องหญิงอีกหลายคนกระตือรือร้นและรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์แม้ต้องเจอกับข้อท้าทายหลายอย่าง พวกเธอเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับฉัน ฉันมีความสุขมากที่ได้รู้จักและเป็นเพื่อนกับพวกเธอ
งานรับใช้ที่เบเธลเป็นเหมือนของขวัญ
ฤดูร้อนปี 1955 ฉันเดินทางไปที่โรมเพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ “ราชอาณาจักรที่มีชัย” ตอนนั้นฉันได้ไปเยี่ยมชมเบเธลพร้อมกับตัวแทนที่มาจากหลายประเทศด้วย ฉันคิดในใจว่า ‘คงจะดีมาก ๆ ถ้าได้รับใช้ที่นี่!’
ฉันรับบัพติศมาวันที่ 18 ธันวาคม 1955 ตอนนั้นฉันยังเรียนไม่จบ แต่ก็มีเป้าหมายที่จะทำงานรับใช้เต็มเวลา พอถึงปี 1956 ที่การประชุมใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งจัดขึ้นในเมืองเจนัว ฉันได้ยินคำประกาศที่บอกว่าต้องการอาสาสมัครไปรับใช้ที่เบเธล แต่ตัวแทนจากสาขาบอกว่าต้องการอาสาสมัครที่เป็นพี่น้องชายมากกว่าพี่น้องหญิง
ต่อมา ฉันได้คุยกับผู้ดูแลหมวดที่ชื่อปิเอโร กัตตี aเกี่ยวกับเป้าหมายของฉัน ผู้ดูแลหมวดที่กระตือรือร้นคนนี้บอกว่า “ผมจะเสนอให้คุณรับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษ”
แล้วฉันก็ได้รับจดหมายฉบับหนึ่งจากสาขา ฉันคิดว่าจะถูกแต่งตั้งให้เป็นไพโอเนียร์ แต่ไม่ใช่เลย จดหมายนั้นเป็นใบสมัครให้ไปรับใช้ที่เบเธล!
ฉันเริ่มรับใช้ที่เบเธลในเดือนมกราคมปี 1958 ตอนนั้นครอบครัวเบเธลมีพี่น้องประมาณ 12 คน ฉันได้รับมอบหมายให้ช่วยผู้แปล 2 คน มีงานหลายอย่างที่ต้องทำและฉันก็ไม่มีประสบการณ์ในการแปลเลย แต่เพราะพระยะโฮวาช่วย ฉันเลยรักงานมอบหมายนี้มาก
หลังจากทำงานแปลได้เกือบ 2 ปีก็มีการปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับงานแปล และฉันก็ถูกมอบหมายให้เป็นไพโอเนียร์ในเขตงาน ฉันตกใจมากเพราะเบเธลเป็นเหมือนบ้านของฉันไปแล้ว แต่ต่อมาฉันก็มองว่างานมอบหมายใหม่ที่ได้รับเป็นเหมือนของขวัญอีกอย่างหนึ่งจากพระยะโฮวา
คู่หูที่กระตือรือร้นเป็นเหมือนของขวัญ
วันที่ 1 กันยายน 1959 ฉันเริ่มรับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษที่เมืองเครโมนา คู่ไพโอเนียร์ของฉันชื่อดอริส เมเยอร์ เธอย้ายมาจากเดนมาร์ก ดอริสอายุมากกว่าฉันนิดหน่อย แต่มีประสบการณ์ในงานไพโอเนียร์มานานซึ่งฉันอยากจะเลียนแบบเธอ ดอริสเป็นคนที่กล้าหาญ ไม่กลัวอะไรและตั้งใจรับใช้ คุณลักษณะเหล่านี้จำเป็นมากเพราะในเขตนี้มีแค่เราสองคนเท่านั้นที่เป็นพยานฯ
ดอริสมาถึงเครโมนาก่อนฉัน และเธอก็เช่าอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งเพื่อจัดการประชุม แต่ไม่ทันไรบาทหลวงคาทอลิกก็รู้เรื่องงานรับใช้ของเรา เขาไม่พอใจมากและตอนที่เขาเทศน์เขาได้เตือนประชาชนว่าให้ระวังพวกเราไว้
มีวันหนึ่งพวกเจ้าหน้าที่ให้เราไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ ตำรวจไม่ได้จับเรา แต่บอกว่าดอริสเป็นคนต่างชาติ เธอต้องออกจากเมืองเครโมนา ในที่สุดดอริสกลับไปที่เดนมาร์กและยังรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์
หลังจากนั้นไม่นาน พี่น้องหญิงโสดอีกคนหนึ่งชื่อบรูนิลเด มาร์คี ก็ถูกมอบหมายให้มาที่เมืองเครโมนา บรูนิลเดเป็นคนอ่อนโยน คิดในแง่บวกและรักงานประกาศมาก เราเริ่มการศึกษาได้หลายราย บางคนก็ก้าวหน้าอย่างดีด้วย
ฉันขอบคุณพระยะโฮวาที่ให้ฉันมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในงานประกาศที่เมืองเครโมนา ตอนนี้ที่เครโมนามี 5 ประชาคมแล้ว!
เรื่องยินดีที่คาดไม่ถึง
หลังจากรับใช้ที่เครโมนาได้เกือบ 2 ปี ฉันก็ได้รับโทรศัพท์จากสาขา สาขาบอกว่ามีงานแปลมากมายที่ต้องทำสำหรับการประชุมใหญ่ 6 วันที่ชื่อ “เหล่าผู้นมัสการที่เป็นเอกภาพ” ซึ่งจะจัดในเดือนกรกฎาคม 1961 ฉันถูกเชิญให้กลับไปรับใช้ที่เบเธล ฉันดีใจมากจนกระโดดตัวลอย และในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1961 ฉันก็กลับไปทำงานที่เบเธล
เราทำงานกันหนักมาก แต่ก็รู้สึกว่าเป็นสิทธิพิเศษที่ได้มีส่วนร่วมในการผลิตสิ่งพิมพ์ที่อธิบายคัมภีร์ไบเบิล ตอนนั้นฉันรู้สึกว่าแต่ละเดือนผ่านไปเร็วมากและในที่สุดก็ถึงวันประชุมใหญ่
ในการประชุมครั้งนั้น ฉันได้ยินคำประกาศที่บอกว่าจะมีการแปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก เป็นภาษาอิตาลี ฉันคิดว่า ‘ยังมีงานอีกมากเลยที่ต้องทำ’ และฉันก็คิดไม่ผิด ฉันได้รับมอบหมายให้อยู่เบเธลต่อ ที่จริงตอนนี้ฉันก็ยังอยู่ที่เบเธลและรับใช้มามากกว่า 60 ปีแล้ว
ของขวัญอื่น ๆ ที่มีค่าจากพระยะโฮวา
ของขวัญอีกอย่างหนึ่งที่มีค่าสำหรับฉันตลอดหลายปีก็คือการเป็นโสด ไม่ใช่ว่าฉันไม่คิดถึงการแต่งงาน ที่จริงมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ฉันกังวลเกี่ยวกับการเป็นโสด ฉันเลยอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเพราะพระองค์รู้จักฉันดีกว่าใคร ฉันอธิษฐานขอพระองค์ช่วยให้รู้ว่าฉันควรจะแต่งงานหรือเป็นโสดดี
ข้อคัมภีร์ที่มัทธิว 19:11, 12 และ 1 โครินธ์ 7:8, 38 ให้กำลังใจฉันมาก และฉันขอบคุณพระยะโฮวาที่ช่วยให้ฉันเห็นค่าการเป็นโสดและไม่กังวลเรื่องนี้อีกต่อไป ฉันไม่เสียใจเลยที่ตัดสินใจแบบนี้ และฉันดีใจที่ได้ใช้ความเป็นโสดเพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดกับพระยะโฮวา
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฉันได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของงานในแผนกแปล องค์การของพระยะโฮวาได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และ “น้ำนมของชาติต่างๆ” (อิสยาห์ 60:16) การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้พี่น้องทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ในปี 1985 ได้มีการพิมพ์วารสารหอสังเกตการณ์ ภาษาอังกฤษและภาษาอิตาลีออกมาในเวลาพร้อม ๆ กัน ทุกวันนี้มีบทความและวีดีโอต่าง ๆ หลายภาษาบนเว็บไซต์ jw.org และส่วนใหญ่ก็ออกมาพร้อม ๆ กับภาษาอังกฤษ เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาช่วยให้ประชาชนของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกันและได้รับอาหารที่เสริมความเชื่อตามเวลาที่เหมาะสม
พระยะโฮวาดีกับฉันมากจริง ๆ พระองค์ให้ฉันมีความสุขกับงานรับใช้ที่เกิดผลตอนเป็นไพโอเนียร์พิเศษ พระองค์ให้ฉันได้รับใช้ที่เบเธลสมใจ ให้ฉันมีเพื่อนต่างวัยที่มาจากหลายประเทศ ไม่ใช่แค่นั้น พระองค์ยังช่วยให้ฉันได้เห็นแม่เข้ามาเป็นผู้รับใช้ที่รับบัพติศมาของพระองค์ตอนที่แม่อายุ 68 ปี ฉันรอคอยที่จะได้เจอแม่และคนอื่น ๆ ในครอบครัวอีกครั้งตอนที่พวกเขาถูกปลูกให้ฟื้นขึ้นมาจากตาย—ยอห์น 5:28, 29
ฉันแทบอดใจรอไม่ไหวตอนที่พระองค์บอกว่าจะ “สร้างทุกสิ่งขึ้นใหม่” (วิวรณ์ 21:5) ฉันอยากรู้ว่าในอนาคตพระยะโฮวาจะทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อผู้รับใช้ของพระองค์ยังไง และฉันมั่นใจว่าพระเจ้าจะยังให้ “ของดี ๆ และสมบูรณ์ทุกอย่าง” กับพวกเราเสมอ—ยากอบ 1:17
a เรื่องราวชีวิตจริงของพี่น้องปิเอโร กัตตี อยู่ในหอสังเกตการณ์ 15 กรกฎาคม 2011 หน้า 20-23