ไมลส์ นอร์ทโอเวอร์ | เรื่องราวชีวิตจริง
พระยะโฮวาอวยพรงานจากมือของผม
พ่อแม่ของผมสนับสนุนงานขององค์การพระยะโฮวาเสมอ เช่น เมื่อเบเธลลอนดอนอยากจะผลิตนมสำหรับสมาชิกครอบครัวเบเธล พ่อก็ยกลูกวัวพันธุ์เจอร์ซีย์เพียงตัวเดียวที่เรามีให้กับเบเธล เราพูดเล่นกันตลอดว่าเราส่งสมาชิกคนแรกของ “ครอบครัว” เข้าเบเธลแล้วนะ ตัวอย่างที่ดีของพ่อกับแม่ทำให้ผมอยากให้ทั้งชีวิตกับพระยะโฮวา และไม่อยากปล่อย ‘ให้มือว่างงาน’ (ปัญญาจารย์ 11:6, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) ที่จริง พระยะโฮวาเปิดโอกาสให้ผมได้ใช้มือรับใช้พระองค์ในวิธีที่คาดไม่ถึง และพระองค์ก็อวยพรความพยายามของผมด้วย ขอให้ผมเล่าเรื่องนี้ให้คุณฟัง
ผมมีพี่สาวหนึ่งคนและพี่ชายหนึ่งคน พ่อกับแม่เช่าบ้านหลังเล็ก ๆ ในฟาร์มแถบชานเมืองที่อยู่ใกล้ ๆ เมืองบิสเตอร์ประเทศอังกฤษ พออายุ 19 ผมก็เป็นไพโอเนียร์ตามพวกพี่ ๆ ต่อมา ผมถูกแต่งตั้งให้เป็นไพโอเนียร์พิเศษรับใช้ที่สกอตแลนด์ พอถึงปี 1970 ผมถูกเชิญให้ไปรับใช้ที่เบเธลลอนดอน ตอนนั้นผมอายุ 23 ตอนอยู่เบเธลผมได้ “รู้จัก” ภาษามือ และการได้รู้จักภาษามือทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปเลย ผมมีเป้าหมายใหม่และเป้าหมายนี้ก็ทำให้ชีวิตผมมีความสุขและได้รับพรมากมาย
เรียนภาษามือ
เบเธลมอบหมายให้ผมสมทบกับประชาคมมิลล์ฮิลล์ของพยานพระยะโฮวา ที่นั่นมีพี่น้องหูหนวกหลายคน ผมไม่อยากให้พี่น้องหูหนวกรู้สึกว่าผมเป็นคนแปลกหน้า ผมเลยไปนั่งกับพวกเขาตอนประชุม
ตอนนั้นในอังกฤษยังไม่มีประชาคมภาษามือ พี่น้องหูหนวกเลยต้องเข้าร่วมการประชุมในภาษาอังกฤษ แล้วจะมีพี่น้องหูดีช่วยแปลให้ โดยการแปลของพวกเขาจะเป็นแบบคำต่อคำตามหลักไวยากรณ์ของภาษาอังกฤษ และช่วงนั้นพี่น้องหูหนวกก็ค่อย ๆ สอนภาษามือให้ผมอย่างอดทน พอได้เรียนภาษามือกับคนหูหนวกผมก็ได้รู้ว่าภาษามือมีหลักไวยากรณ์และการเรียงประโยคไม่เหมือนภาษาอังกฤษเลย สำหรับพวกเขาแล้วภาษาอังกฤษเป็นเหมือนภาษาต่างประเทศ พอรู้อย่างนี้ผมก็ยิ่งรักและประทับใจพี่น้องหูหนวกที่พวกเขาเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำแม้จะไม่ค่อยเข้าใจ และผมก็ตั้งใจว่าจะขยันเรียนภาษามือให้เก่งขึ้น
ภาษาทางการของคนหูหนวกคือภาษามืออังกฤษ หรือ บีเอสแอล (BSL) พอเวลาผ่านไป พี่น้องที่เป็นผู้แปลในการประชุมก็เริ่มใช้ภาษามืออังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่พัฒนาขึ้นเพื่อคนหูหนวกจริง ๆ แทนการแปลแบบเดิมที่แปลไปพูดไป นี่ทำให้พี่น้องหูหนวกเข้าใจและได้ประโยชน์มากขึ้นจากการประชุม และยังเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องหูดีมากขึ้นด้วย ตอนนี้พอมองย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ผมได้เห็นว่าพระยะโฮวาอวยพรงานในเขตภาษามือมากจริง ๆ ผมอยากเล่าให้ฟังว่ามีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ อะไรบ้างที่พระยะโฮวาเปิดโอกาสให้ผมได้มีส่วนร่วม
ภาษามือเติบโตขึ้น
ปี 1973 ซึ่งก็คือหนึ่งปีหลังจากที่ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแล พี่น้องชายหูหนวกคนหนึ่งที่ชื่อไมเคิล อีเกอร์ส บอกผมว่าเราน่าจะจัดการประชุมภาษามืออังกฤษ ผมขออนุมัติเรื่องนี้จากสาขา แล้วสาขาก็อนุญาต ผมกับผู้ดูแลอีกคนหนึ่งก็เลยจัดการประชุมภาษามืออังกฤษทุกเดือนที่เมืองเดปท์ฟอร์ด ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอน
ผลตอบรับดีเกินคาด! พยานฯ หูหนวกหลายคนจากลอนดอน และจากเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษมาเข้าร่วมการประชุมภาษามืออังกฤษที่จัดขึ้นครั้งแรกนี้ ในที่สุดพี่น้องหูหนวกทั้งชายและหญิงรวมถึงผู้สนใจก็ได้รับการสอนและได้ประโยชน์จากคัมภีร์ไบเบิลในภาษาของพวกเขาเอง หลังจบการประชุม เราจะคุยกัน เล่าประสบการณ์ และกินของว่างด้วยกันนิดหน่อย และผมยังมีโอกาสให้กำลังใจพี่น้องหูหนวกบางคนด้วย
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการจัดการประชุมภาษามือในเมืองอื่น ๆ ด้วย เช่น เบอร์มิงแฮมและเชฟฟิลด์ มีพี่น้องหูดีหลายคนที่สนใจอยากเรียนภาษามืออังกฤษมาเข้าร่วมประชุมด้วย และพี่น้องเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยขยายงานรับใช้ของภาษามือออกไปทั่วประเทศ
เจอคู่ชีวิต
ปี 1974 ผมเจอพี่น้องหญิงที่น่ารักคนหนึ่งชื่อสเตลลา บาร์เกอร์ส สเตลลารับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษในประชาคมหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ เบเธล เราคบกันและแต่งงานในปี 1976 หลังจากนั้นผมกับสเตลลาก็รับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษด้วยกัน ประชาคมของเราอยู่ที่เมืองแฮคนีย์ ทางเหนือของลอนดอน และสเตลลาก็รับใช้ด้วยกันกับผมในเขตภาษามือ พอมองย้อนกลับไป ผมพูดได้เต็มปากเลยว่าการเป็นไพโอเนียร์ด้วยกันหลังแต่งงานเป็นการเริ่มต้นชีวิตคู่ที่ดีมาก ๆ
หลังจากนั้นไม่นาน ผมกับสเตลลาก็ถูกเชิญให้รับใช้เป็นอาสาสมัครเดินทางไปกลับของเบเธล เรายุ่งมาก เพราะผมเป็นผู้ดูแลหมวดสมทบ ต้องเป็นครูโรงเรียนพระราชกิจสำหรับผู้ดูแล และต้องช่วยดูแลการแปลภาษามือในการประชุมภูมิภาคภาษาอังกฤษด้วย ถึงจะเหนื่อยแต่เราก็มีความสุขและสดชื่น—มัทธิว 11:28-30
ปี 1979 ผมมีลูกชายคนแรกชื่อไซมอน และในปี 1982 ผมก็มีลูกชายคนที่สองชื่อมาร์ก พวกเรามีความสุขมากที่ได้เป็นพ่อแม่แต่ก็มีหน้าที่รับผิดชอบที่มากขึ้นด้วย แล้วเราจัดระเบียบชีวิตยังไง? ผมกับสเตลลาตกลงกันว่าถ้าผมต้องไปทำงานมอบหมายที่อยู่ไกลจากบ้าน เราจะไปด้วยกันทั้งครอบครัวและหาเวลาไปเที่ยวด้วยกัน เราอยากให้ลูกได้เห็นว่าการรับใช้พระยะโฮวาทำให้มีความสุข แล้วผลเป็นยังไง? พอลูก ๆ โตขึ้นพวกเขาไม่ได้แค่เรียนภาษามือแต่ยังรับใช้เป็นไพโอเนียร์ด้วย เมื่อ 40 ปีที่แล้วพ่อแม่ของผมส่งลูกวัว “เข้าเบเธล” ตอนนี้ไซมอนกับมาร์กลูกของเราก็ได้เข้าเบเธลด้วย เราตื่นเต้นมาก!
ความก้าวหน้าอีกขั้นของพี่น้องหูหนวก
จนถึงทศวรรษ 1990 ในอังกฤษก็ยังไม่มีผู้ดูแลที่เป็นคนหูหนวกเลย มีแต่ผู้ช่วยงานรับใช้ ผู้ดูแลที่เป็นคนหูดีที่ใช้ภาษามือไม่ได้จึงปรึกษากันว่ามีพี่น้องชายหูหนวกที่เป็นผู้ช่วยงานรับใช้คนไหนที่ “มีความสามารถที่จะสอน” และมีคุณสมบัติเป็นผู้ดูแลได้ (1 ทิโมธี 3:2) แล้วพวกเขาก็คิดถึงเบอร์นาร์ด ออสติน ที่อยู่ในประชาคมภาษาอังกฤษ เบอร์นาร์ดเป็นคนที่รักพี่น้องจริง ๆ และพี่น้องก็ให้ความนับถือเขามาก ผมดีใจที่ได้รู้ว่าเบอร์นาร์ดถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแล ที่จริง เขาเป็นผู้ดูแลที่เป็นคนหูหนวกคนแรกในประเทศอังกฤษ
แล้วในปี 1996 ก็มีเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์เกิดขึ้น สาขาอนุมัติให้ตั้งประชาคมภาษามือแห่งแรกขึ้นในอังกฤษ ประชาคมนี้ตั้งอยู่ที่เมืองอีลิ่ง ทางฝั่งตะวันตกของลอนดอน แล้วหลังจากนั้นก็มีความก้าวหน้าอื่น ๆ ตามมา
ได้รับประโยชน์จากการประชุมคริสเตียนทุกรายการ
ช่วงหนึ่งระหว่างปี 1980 ถึง 1999 ผมทำงานให้แผนกการรับใช้ของเบเธลโดยทำจากที่บ้าน หน้าที่ของผมคือตอบคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาษามือ บางครั้งพี่น้องก็เขียนมาถามสาขาว่า พวกเขาจะช่วยคนหูหนวกให้เข้าใจคำบรรยายภาษาอังกฤษได้ยังไง ไม่ว่าจะเป็นคำบรรยายสำหรับการประชุมประชาคม การประชุมหมวด หรือการประชุมใหญ่ ตอนแรกองค์การยังไม่มีการจัดเตรียมให้มีผู้แปลภาษามือในการประชุมใหญ่ และยังไม่มีสิ่งพิมพ์สำหรับคนหูหนวกด้วย หลายครั้งผมต้องให้กำลังใจทั้งพี่น้องหูดีและหูหนวกว่าให้อดทนรอพระยะโฮวาต่อไป
พระยะโฮวาอวยพรความอดทนของเรา ไม่นานสาขาก็จัดให้มีล่ามแปลภาษามือทั้งในการประชุมประชาคมและการประชุมใหญ่ที่จัดในภาษาอังกฤษ ไม่ใช่แค่นั้น คนหูหนวกยังได้นั่งข้างหน้าด้วย พวกเขาเลยสามารถเห็นผู้บรรยายและล่ามแปลภาษามือได้ชัดเจน ตอนนี้พี่น้องหูหนวกได้รู้ว่าพระยะโฮวารักพวกเขามากจริง ๆ และพวกเขามีค่าในครอบครัวของพระองค์
วันที่ 1 เมษายน 1995 มีการจัดการประชุมพิเศษภาษามือขึ้นครั้งแรกที่หอประชุมใหญ่ในเมืองดัดลีย์ เขตเวสต์มิดแลนส์ ผมช่วยพี่น้องเดวิด เมอร์รีที่เคยเป็นผู้ดูแลหมวดจัดการประชุมใหญ่ครั้งนี้ พี่น้องหูหนวกบางคนต้องเดินทางหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อมาเข้าร่วมการประชุม อย่างเช่น บางคนมาจากสกอตแลนด์ที่อยู่ทางเหนือ และบางคนมาจากคอร์นวอลล์ที่อยู่ทางใต้ฝั่งตะวันตก ผมยังจำบรรยากาศตอนนั้นได้ดี ทุกคนตื่นเต้นกันมากและการประชุมครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน
ปี 2001 สาขาขอให้ผมกับพี่น้องเมอร์รีช่วยจัดการประชุมใหญ่ของปี 2002 ในภาษามืออังกฤษ นี่เป็นงานใหญ่มาก มีหลายอย่างที่เราต้องทำแต่พระยะโฮวาก็อวยพรความพยายามของพี่น้องอาสาสมัครทุกคน และการประชุมใหญ่ครั้งนั้นก็ผ่านไปได้อย่างดีและน่าประทับใจ หลังจากนั้น ผมได้รับสิทธิพิเศษให้ดูแลการประชุมหมวดและการประชุมใหญ่ของภาษามืออังกฤษอีกหลายปี จนกระทั่งพระยะโฮวาได้แต่งตั้งพี่น้องหนุ่มบางคนให้ทำงานนี้ต่อจากผม
วีดีโอสำหรับคนหูหนวก
ในปี 1998 พวกเราตื่นเต้นกันมาก เพราะองค์การได้ออกสิ่งพิมพ์ภาษามืออังกฤษฉบับแรก นั่นคือ จุลสารพระผู้สร้างทรงเรียกร้องอะไรจากเรา?—วีดีโอเทป พวกเราใช้วีดีโอเทปนี้นำการศึกษากับหลายคนที่สนใจ
ที่การประชุมใหญ่ปี 2002 มีการแปลเพลงราชอาณาจักรเป็นภาษามืออังกฤษเป็นครั้งแรก ตอนนี้พี่น้องหูหนวกสามารถ “ร้องเพลง” เพราะ ๆ ไปพร้อม ๆ กับล่าม และยังจับจังหวะที่น่าตื่นเต้นของดนตรีได้ด้วย ผมยังจำได้ว่ามีผู้ดูแลหูหนวกคนหนึ่งตื้นตันจนร้องไห้ออกมาตอนที่เขา “ร้องเพลงไปพร้อม ๆ กับพี่น้อง” เป็นครั้งแรก!
การประชุมใหญ่ปี 2002 ยังมีเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่งด้วยคือ ประชาคมภาษามือลอนดอนถูกเชิญให้ผลิตละครภาษามือ แต่เราไม่มีประสบการณ์ แล้วเราจะทำได้ยังไง? พระยะโฮวาช่วยเราอีกครั้ง ครั้งนี้พระองค์ช่วยให้เราเจอพี่น้องที่มีความรู้เกี่ยวกับการถ่ายทำและตัดต่อวีดีโอ พอถ่ายทำเสร็จวีดีโอก็ออกมาดีมาก ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ในช่วงปี 2003 ถึง 2008 ผมได้รับงานมอบหมายพิเศษที่เบเธล คือให้ดูแลการผลิตวีดีโอละครสำหรับใช้ในการประชุมใหญ่ภาษามืออังกฤษ
ผมกับสเตลลาดีใจที่ได้อยู่เบเธลกับลูก ๆ แต่งานของผมหนักมาก เราต้องฝึกซ้อมและถ่ายทำกันนานหลายสัปดาห์ พอถ่ายทำเสร็จทั้งนักแสดงและทีมงานต่างก็เหนื่อยล้าและหมดแรง แต่พอได้เห็นผลงาน พวกเราก็หายเหนื่อย! เรามีความสุขที่ได้ทำให้เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลมีชีวิตขึ้นมาและนี่ช่วยให้พี่น้องหูหนวกเข้าใจชัดเจนขึ้น หลายคนถึงกับร้องไห้ด้วยความประทับใจ
ของขวัญจากพระยะโฮวายังไม่หมดเพียงเท่านี้ ปี 2015 เราได้รับวารสารหอสังเกตการณ์ฉบับศึกษาภาษามืออังกฤษในรูปแบบวีดีโอ และในปี 2019 ก็มีการออกหนังสือมัทธิวในรูปแบบวีดีโอด้วย ตอนนี้เรามีพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกครบชุดแล้ว ส่วนภาคภาษาฮีบรูพี่น้องกำลังแปลอย่างขยันขันแข็ง พี่น้องหูหนวกรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวามากจริง ๆ
ในฐานะประชาชนของพระยะโฮวา เราเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวที่สะท้อนความรักและความไม่ลำเอียงของพระเจ้าพ่อในสวรรค์ของเรา (กิจการ 10:34, 35) ผมกับครอบครัวรู้สึกทึ่งที่ได้เห็นว่าองค์การของพระยะโฮวาใช้ทั้งเวลา กำลัง และทรัพยากรมากมายเพื่อช่วยคนทุกชนิด ซึ่งรวมถึงคนหูหนวกและคนตาบอดด้วย a
ความตั้งใจและความพยายามของเราคุ้มค่ามากจริง ๆ ตอนนี้ในประเทศอังกฤษมีประชาคมภาษามืออังกฤษหลายแห่งแล้ว การได้มีส่วนทำให้ “จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ” เติบโตทำให้ผมมีความสุขมาก (เศคาริยาห์ 4:10) แน่นอน พระยะโฮวาเป็นผู้ที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สำเร็จได้ พระองค์ชี้นำองค์การและเตรียมผู้รับใช้ของพระองค์ให้พร้อมประกาศข่าวดีกับคนทุกชนิด และทำให้เมล็ดแห่งความจริงเติบโตในหัวใจของคนที่เต็มใจตอบรับความจริง