ความมหัศจรรย์ของนกนางนวลแกลบอาร์กติก
เคยเชื่อกันมานานว่า นกนางนวลแกลบอาร์กติกบินไปกลับทวีปอาร์กติกกับทวีปแอนตาร์กติกาเป็นระยะทาง 35,200 กิโลเมตร แต่การศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานมานี้พบว่า จริง ๆ แล้วนกชนิดนี้บินไกลกว่านั้นมาก
มีการติดอุปกรณ์ระบุพิกัดขนาดเล็กน้ำหนักเท่าคลิปหนีบกระดาษไว้กับนกจำนวนหนึ่ง อุปกรณ์พิเศษนี้ทำให้รู้ว่า นกนางนวลแกลบอาร์กติกบางตัวบินไปกลับโดยเฉลี่ยถึง 90,000 กิโลเมตรในการบินอพยพหนึ่งรอบ ซึ่งถือเป็นสัตว์อพยพย้ายถิ่นที่เดินทางไกลที่สุดเท่าที่เรารู้จักกัน นกตัวหนึ่งในจำนวนนั้นบินไกลถึง 96,000 กิโลเมตร! ทำไมระยะทางถึงไกลกว่าที่เคยมีการประมาณไว้ก่อนหน้านี้?
ไม่ว่านกนางนวลแกลบอาร์กติกจะเริ่มบินอพยพจากที่ไหน เส้นทางการบินของมันจะไม่เป็นเส้นตรง จากภาพประกอบจะเห็นว่า เส้นทางที่นกบินเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกโค้งไปมาเป็นรูปตัว S เพราะมันใช้ประโยชน์จากกระแสลมในเส้นทางนี้เพื่อช่วยในการบิน
ตลอดช่วงอายุ 30 ปีของนกนางนวลแกลบอาร์กติก พวกมันอาจเดินทางอพยพไปกลับเป็นระยะทางมากกว่า 2,400,000 กิโลเมตร ซึ่งเท่ากับระยะทางไปกลับโลกและดวงจันทร์สามหรือสี่รอบ! นักวิจัยบอกว่า “น่าทึ่งมากที่นกตัวเล็กซึ่งหนักแค่ 100 กรัมจะทำแบบนี้ได้” และที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ เมื่อนกนางนวลแกลบอาร์กติกบินอพยพไปถึงจุดหมาย ไม่ว่าจะเป็นขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้ ที่นั่นก็จะอยู่ในช่วงฤดูร้อน หนังสือ Life on Earth: A Natural History จึงบอกว่า พวกมัน “เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแสงอาทิตย์มากกว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก”