เคล็ดลับที่ทำให้มีความสุข
รู้จักให้อภัย
“ตอนเป็นเด็ก ฉันได้ยินเสียงทะเลาะกันและเสียงกรี๊ดบ่อย ๆ” ผู้หญิงชื่อแพทริเซียเล่าต่อว่า “ฉันไม่เคยเรียนรู้เรื่องการให้อภัย แม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วแต่เวลามีคนมาทำให้โกรธ ฉันก็มักคิดวนไปวนมาถึงเรื่องนั้นอยู่หลายวันจนนอนไม่หลับ” เห็นได้ชัดว่าความโกรธและความเจ็บใจทำให้ชีวิตไม่มีความสุขและยังทำให้เสียสุขภาพด้วย ที่จริง มีงานวิจัยมากมายที่ทำให้รู้ว่าคนที่ไม่ให้อภัยอาจ . . .
-
ปล่อยให้ความโกรธและความขมขื่นส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งทำให้ตัวเองต้องโดดเดี่ยวและเหงา
-
โกรธง่าย หงุดหงิด หรือถึงกับซึมเศร้า
-
มองแต่ข้อผิดพลาดจนทำให้ชีวิตไม่มีความสุข
-
รู้สึกผิดที่ตัวเองไม่ได้ทำตามหลักคำสอนของศาสนา
-
มีความเครียดมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และอาการเจ็บปวดอื่น ๆ เช่น ข้ออักเสบ และปวดหัว *
การให้อภัยคืออะไร? การให้อภัยหมายถึง การยกโทษให้คนที่ทำผิด ไม่เก็บความโกรธไว้หรือคิดแค้นเคือง และไม่คิดแก้แค้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเห็นด้วยกับความผิดนั้น หรือมองว่าเป็นเรื่องเล็ก หรือมองข้ามไปโดยถือว่าเรื่องนั้นไม่เคยเกิดขึ้น จริง ๆ แล้ว การให้อภัยคือการที่เราคิดอย่างดีแล้วว่าเราเลือกที่จะให้อภัย เพราะเรารักคนอื่นเราจึงถือว่าสันติสุขเป็นเรื่องสำคัญ และเพราะเราต้องการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนนั้นไว้
การให้อภัยยังแสดงถึงความเข้าใจด้วย คนที่ให้อภัยคนอื่นเข้าใจว่าทุกคนมีข้อผิดพลาดหรือทำบาปกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะทางคำพูดหรือการกระทำ (โรม 3:23) คัมภีร์ไบเบิลก็บอกอย่างนั้นด้วยว่า “ถ้าใครมีสาเหตุจะบ่นคนอื่น ก็ขอให้ทนกันและกัน และให้อภัยกันอย่างใจกว้างต่อไป”—โคโลสี 3:13
ดังนั้น จึงพูดได้ว่าการให้อภัยเป็นส่วนสำคัญของความรัก เพราะ “ความรักผูกพันผู้คนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโคโลสี 3:14) ที่จริง ข้อมูลจากเว็บไซต์มาโยคลินิกบอกว่า การให้อภัยจะทำให้ . . .
อย่างแท้จริง” (-
มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น รวมถึงเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ รักและสงสารคนที่ทำผิดต่อเรา
-
รู้สึกสบายใจที่รู้ว่าได้ทำตามคำสอนของศาสนา
-
ความกังวล ความเครียด และความเกลียดชังน้อยลง
-
มีอาการของโรคซึมเศร้าน้อยลง
ให้อภัยตัวเอง วารสารเกี่ยวกับสุขภาพชื่อ Disability & Rehabilitation บอกไว้ว่า การให้อภัยตัวเอง “อาจเป็นเรื่องยากที่สุด” แต่ “สำคัญที่สุดต่อสุขภาพ” ทั้งทางร่างกายและจิตใจ คุณจะให้อภัยตัวเองได้อย่างไร?
-
ไม่คาดหมายความสมบูรณ์แบบจากตัวเอง แต่ยอมรับความจริงที่ว่า คุณก็เหมือนเราทุกคนที่ทำผิดพลาดไปบ้าง—ปัญญาจารย์ 7:20
-
เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง เพื่อจะไม่ทำผิดซ้ำอีก
-
อดทนกับตัวเอง ลักษณะนิสัยที่ไม่ดีบางอย่างอาจแก้ไขไม่ได้ในชั่วข้ามคืน—เอเฟซัส 4:23, 24
-
คบหากับเพื่อนที่ให้กำลังใจ คิดบวก และใจดี แต่ก็จริงใจกับคุณ—สุภาษิต 13:20
-
ถ้าคุณทำให้คนอื่นเสียใจ ก็ให้ยอมรับและรีบไปขอโทษ ถ้าคุณสร้างสันติสุขกับคนอื่น คุณก็จะรู้สึกสงบใจ—มัทธิว 5:23, 24
คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลดีจริง ๆ!
หลังจากได้เรียนคัมภีร์ไบเบิล แพทริเซียที่พูดถึงก่อนหน้านี้เรียนรู้ที่จะให้อภัย เธอเขียนว่า “ฉันรู้สึกสบายใจ เพราะฉันไม่เก็บความโกรธไว้เหมือนเมื่อก่อน ความโกรธเคยเป็นเหมือนยาพิษในชีวิตของฉัน แต่ตอนนี้ฉันไม่ทุกข์ใจอีกต่อไป และไม่ได้ทำให้ใครทุกข์ใจเพราะฉันด้วย คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลทำให้เรามั่นใจว่าพระเจ้ารักเรา และอยากให้เราได้รับสิ่งที่ดีที่สุด”
ผู้ชายคนหนึ่งชื่อรอนบอกว่า “ผมควบคุมความคิดและการกระทำของคนอื่นไม่ได้ แต่ผมควบคุมตัวเองได้ ถ้าผมอยากมีสันติสุข ผมต้องไม่เก็บความเจ็บใจไว้ ผมพยายามมองว่าสันติสุขและความเจ็บใจเป็นเหมือนทิศเหนือกับทิศใต้ ผมจะอยู่ทั้ง 2 ทิศในเวลาเดียวกันไม่ได้ ตอนนี้ผมไม่รู้สึกผิดแต่รู้สึกสบายใจ”
^ วรรค 8 แหล่งที่มา: Mayo Clinic และเว็บไซต์ Johns Hopkins Medicine และวารสารทางจิตวิทยาชื่อ Social Psychiatry and Psychiatric Epidemiology