ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คำแนะนำสำหรับครอบครัว | การเลี้ยงลูก

ช่วยลูกให้ก้าวสู่วัยแรกรุ่นอย่างมั่นใจ

ช่วยลูกให้ก้าวสู่วัยแรกรุ่นอย่างมั่นใจ

ปัญหา

คุณรู้สึกเหมือนกับว่าเพิ่งอุ้มลูกอยู่เมื่อวาน แต่มาวันนี้เขากำลังจะเป็นวัยรุ่น ที่จริง เขายังเป็นเด็กอยู่ แต่กำลังจะก้าวผ่านวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ โดยข้ามจุดเปลี่ยนผ่านที่เรียกว่า วัยแรกรุ่น

คุณจะช่วยลูกชายหรือลูกสาวอย่างไรให้พร้อมรับมือกับช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ที่อาจทำให้เขารู้สึกสับสนและบางทีก็น่าตกใจด้วย?

สิ่งที่คุณควรรู้

วัยแรกรุ่นถึงเวลาก็มาเอง เด็กบางคนอาจเริ่มเข้าสู่วัยนี้ตอนอายุแค่ 8 ขวบ แต่บางคนก็อาจเริ่มในช่วงอายุ 14-15 ก็ได้ หนังสือปล่อยวางด้วยรักและเชื่อใจ (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “วัยแรกรุ่นมีช่วงเวลาที่กว้างมาก”

วัยแรกรุ่นอาจทำให้ขาดความมั่นใจ เด็กวัยรุ่นอาจมีความรู้สึกไวมากเพราะกังวลว่าคนอื่นจะมองเขาอย่างไร จาเรด *เด็กหนุ่มคนหนึ่งเล่าว่า “ผมเป็นห่วงว่ารูปร่างหน้าตาผมจะดูดีไหม กิริยาท่าทางผมเป็นยังไงบ้าง และเวลามีคนอื่นอยู่ด้วย ผมนึกสงสัยว่าพวกเขาจะคิดว่าผมเป็นตัวประหลาดหรือเปล่า” แล้วความมั่นใจก็อาจหมดไปทันทีถ้าสิวเห่อขึ้นมา เคลลีสาวน้อยวัย 17 บอกว่า “ฉันรู้สึกว่าหน้าตาฉันยับเยินมาก! จำได้ว่าฉันเอาแต่ร้องไห้แล้วก็เรียกตัวเองว่า ยัยหน้าสิว”

วัยแรกรุ่นเจอเรื่องวุ่น ๆ ที่ไม่ธรรมดา เรื่องนี้เป็นปัญหามากโดยเฉพาะกับเด็กผู้หญิงที่อาจถูกเพื่อนล้อเพราะพวกเธอเริ่มมีหน้าอกหรือสะโพกผาย หนังสือคู่มือสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกวัยทีน (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “พวกเธออาจเป็นที่หมายตาของเด็กหนุ่มรุ่นพี่ที่กำลังอยากลองหาประสบการณ์ทางเพศ”

วัยแรกรุ่นไม่ได้หมายถึงเป็นผู้ใหญ่ หนังสือสุภาษิต 22:15 บอกว่า “ความโง่ฝังลึกในใจเด็ก” เด็กที่อยู่ในวัยแรกรุ่นก็เหมือนกัน พวกเขาอาจตัวโตขึ้น แต่ตามที่หนังสือคุณกับลูกวัยรุ่น (ภาษาอังกฤษ) กล่าวไว้ ร่างกายที่ดูโตขึ้น “ไม่ได้บอกคุณเลยว่าเขาสามารถตัดสินใจได้อย่างฉลาด รู้จักรับผิดชอบ รู้จักควบคุมตัวเอง หรือ [มี] คุณลักษณะอื่น ๆ แบบที่ผู้ใหญ่มี”

สิ่งที่คุณทำได้

พูดก่อนที่ลูกจะเข้าสู่วัยแรกรุ่น บอกให้ลูกรู้ว่าเขาจะเจอกับการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการมีประจำเดือน (ลูกสาว) และอาการฝันเปียก (ลูกชาย) การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปเหมือนกับการเข้าสู่วัยแรกรุ่น แต่มันจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจทำให้ลูกตั้งตัวไม่ติดและถึงกับตกใจด้วยซ้ำ ขณะที่พูดเรื่องนี้กับลูก ให้พูดในแง่บวก ชี้ให้เห็นว่าการเข้าสู่วัยแรกรุ่นมีประโยชน์ เพราะนี่เป็นช่วงที่ร่างกายเตรียมความพร้อมก่อนจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: สดุดี 139:14

พูดให้ชัดเจน เด็กหนุ่มชื่อจอห์นบอกว่า “ตอนที่พ่อแม่ ‘บรรยาย’ ให้ผมฟัง ท่านพูดแบบอ้อม ๆ ผมอยากให้ท่านพูดมาตรง ๆ เลย” อะลานาสาววัย 17 ก็รู้สึกแบบนั้นด้วย เธอบอกว่า “แม่บอกให้ฉันรู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรกับตัวฉัน แต่ฉันอยากให้แม่ช่วยแนะนำว่า ฉันจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ให้ดีขึ้นได้อย่างไร” บทเรียนคืออะไร? พ่อแม่อาจรู้สึกกระดากปากที่จะพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นเมื่อลูกเข้าสู่วัยแรกรุ่น—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: กิจการ 20:20

ใช้คำถามที่ชวนคิดชวนคุย พ่อแม่อาจชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยพูดถึงประสบการณ์ของคนอื่น เช่น ถามลูกสาวว่า “เพื่อน ๆ ในชั้นเริ่มคุยกันเรื่องมีประจำเดือนหรือยัง?” “เด็กผู้ชายล้อเด็กผู้หญิงที่เริ่มมีหน้าอกไหม?” คุณอาจถามลูกชายว่า “เพื่อน ๆ แซวเด็กที่ดูเหมือนโตช้ากว่าคนอื่นไหม?” เมื่อเด็กวัยรุ่นเริ่มเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าเพื่อน ๆ เจอการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง นั่นอาจทำให้ลูกกล้าพูดเรื่องของตัวเองและอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ของเขา เมื่อลูกพูดกับคุณ ขอให้ทำอย่างที่คัมภีร์ไบเบิลแนะไว้ คือ “ไวในการฟัง ช้าในการพูด”—ยากอบ 1:19

ช่วยลูกวัยรุ่นให้มี “สติปัญญากับความสุขุมรอบคอบ” (สุภาษิต 3:21) การเข้าสู่วัยแรกรุ่นไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์เท่านั้น แต่ในช่วงนี้ลูกวัยรุ่นของคุณจะได้ฝึกการคิดหาเหตุผลด้วย ซึ่งจะช่วยพวกเขาให้ตัดสินใจได้อย่างฉลาดเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น พ่อแม่ควรใช้เวลาช่วงนี้ให้เป็นประโยชน์โดยการปลูกฝังค่านิยมที่ดีไว้ในตัวลูก—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: ฮีบรู 5:14

อย่าถอดใจ เด็กหนุ่มสาวหลายคนอาจรู้สึกเขินและไม่กล้าพูดเรื่องนี้กับพ่อแม่ แต่อย่ายอมให้ลูกหลอกได้ หนังสือคุณกับลูกวัยรุ่น บอกว่า “เด็กวัยรุ่นที่แกล้งทำเป็นไม่สนใจ ทำหน้าเบื่อหน่าย ทำท่ารังเกียจ หรือแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน อาจจำคำพูดคุณได้ทุกคำ”

^ วรรค 8 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ