ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จากปก

การขจัดอุปสรรคทางภาษา—เบื้องหลังการทำงาน

การขจัดอุปสรรคทางภาษา—เบื้องหลังการทำงาน

“บางครั้งมีคนพูดว่าไม่มีงานไหนยากและซับซ้อนมากเท่ากับงานแปล”—“สารานุกรมภาษาแห่งเคมบริดจ์” (ภาษาอังกฤษ)

ก่อนจะเริ่มงานแปล พยานพระยะโฮวาจะวางแผน ค้นคว้าหาข้อมูลอย่างละเอียด และเขียนออกมาเป็นบทความ จากนั้น แผนกการเขียนที่สำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กจะตรวจสอบข้อความทั้งหมดอย่างละเอียดเพื่อให้ถูกต้องแม่นยำ ทันสมัย และถูกหลักไวยากรณ์ *

จากนั้นแผนกการเขียนจะส่งบทความไปให้ทีมแปลทั่วโลกหลายร้อยทีม พวกเขาส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่และทำงานในพื้นที่ที่มีการพูดภาษาที่กำลังแปลอยู่ พวกเขาแปลหนังสือเป็นภาษาของตัวเอง ผู้แปลต้องเข้าใจทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาที่แปลเป็นอย่างดี

ผู้แปลทำงานกันยังไง?

แกแรนต์ผู้แปลภาษาหนึ่งที่ใช้ในอังกฤษอธิบายว่า “ผมทำงานแปลเป็นทีม การร่วมมือกันอย่างดีเป็นสิ่งสำคัญ เราจะช่วยกันหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการแปล เราไม่ได้สนใจแค่คำแต่ต้องดูเป็นกลุ่มคำ เราคิดอย่างรอบคอบเกี่ยวกับความหมายจริง ๆ และดูเจตนารมย์ของผู้เขียน เราเตือนตัวเองเสมอว่าบทความนี้เขียนขึ้นเพื่อใคร”

เป้าหมายของผู้แปลคืออะไร?

“เราอยากให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรื่องนี้เขียนขึ้นในภาษาของเขาเอง ไม่ใช่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แปลมา เราเลยพยายามใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาติ เมื่อทำอย่างนั้น เราจะดึงความสนใจของผู้อ่านไว้ได้ เขาก็จะอ่านต่อไปเหมือนกำลังกินอาหารอร่อยที่เคี้ยวง่าย”

การอาศัยอยู่ในเขตภาษาท้องถิ่นมีประโยชน์อะไรบ้าง?

“การคลุกคลีกับคนท้องถิ่นช่วยเราให้แปลในแบบที่พวกเขาจะเข้าใจดี ที่เวลส์ คนส่วนใหญ่พูดภาษาเวลส์ เราได้ยินภาษาที่พวกเขาพูดกันทุกวัน นอกจากนั้น เราได้ทดลองว่าคำศัพท์และคำพูดที่เราใช้ในงานแปลเป็นธรรมชาติ เข้าใจง่าย และน่าสนใจสำหรับคนในท้องถิ่นหรือไม่ การทำแบบนี้ช่วยให้เราถ่ายทอดความหมายจริง ๆ ของต้นฉบับได้”

งานของคุณมีการจัดระบบยังไง?

“ทีมแปลหนึ่งจะได้รับมอบหมายให้แปลงานต่าง ๆ ตอนแรก ทุกคนในทีมจะอ่านต้นฉบับเพื่อเข้าใจเจตนารมย์ของเนื้อหาและมองให้ออกว่าผู้อ่านเป้าหมายคือใครและเข้าใจแนวของเรื่อง เราจะถามตัวเองว่า ‘จุดประสงค์ของบทความนี้คืออะไร? ใจความสำคัญและเป้าหมายคืออะไร? ฉันคาดหมายว่าจะเรียนอะไรจากเรื่องนี้?’ ขั้นตอนเหล่านี้ช่วยให้ทีมแปลได้คิดถึงแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อพวกเขาแปล”

“ขั้นต่อไปทุกคนในทีมจะคุยกันและเรียนรู้จากกันและกัน เราต้องแน่ใจว่าเข้าใจเนื้อหาจริง ๆ และแปลออกมาให้มีสไตล์เดียวกับต้นฉบับ เราตั้งใจจะให้ผู้อ่านได้รับการกระตุ้นแบบเดียวกับผู้อ่านในภาษาต้นฉบับ”

สมาชิกในทีมทำงานด้วยกันยังไง?

“เป้าหมายของเราคืออยากให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องที่อ่านทันที เพื่อจะเป็นอย่างนั้นได้ เราจะอ่านออกเสียงข้อความที่แปลแล้วหลาย ๆ รอบ”

“ผู้แปลจะพิมพ์วรรคหนึ่งในภาษาเป้าหมาย ซึ่งทุกคนในทีมจะเห็นที่จอคอมพิวเตอร์ พวกเราจะตรวจดูว่าไม่มีแนวคิดไหนหายไปหรือเพิ่มเข้ามา และจะดูว่าข้อความนั้นเป็นธรรมชาติ สะกดถูกต้อง และถูกหลักไวยากรณ์ไหม จากนั้น จะให้คนหนึ่งอ่านออกเสียงวรรคนั้น ถ้าอ่านสะดุด เราจะดูด้วยกันว่าเป็นเพราะอะไร เมื่อแปลเสร็จทั้งบทความแล้ว ก็จะมีการอ่านออกเสียงอีกครั้ง แล้วเราจะคอยดูว่าจุดไหนมีปัญหาที่ต้องแก้ไข”

นี่ไม่ใช่งานง่าย ๆ เลยนะ!

“ใช่ครับ พอตกเย็นเราเหนื่อยมาก เราก็เลยจะดูงานแปลอีกครั้งในตอนเช้าเมื่อเราสดชื่น หลายสัปดาห์ต่อมา แผนกการเขียนจะส่งต้นฉบับที่แก้ไขแล้วมาให้เรา เราก็จะอ่านงานแปลอีกครั้งและปรับแก้งานแปลตามต้นฉบับ”

คุณใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์อะไรบ้าง?

“คอมพิวเตอร์ทำงานแทนผู้แปลที่เป็นมนุษย์ไม่ได้ แต่พยานพระยะโฮวาได้พัฒนาโปรแกรมที่ช่วยให้งานแปลง่ายขึ้น โปรแกรมหนึ่งคือพจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์หรือวลีที่ใช้บ่อย อีกโปรแกรมหนึ่งจะช่วยเราให้ค้นหาทุกสิ่งที่เคยแปลมาแล้ว และดูว่าเคยมีการแปลสำนวนยาก ๆ ยังไง”

คุณรู้สึกยังไงกับงานของคุณ?

“เรามองว่างานนี้เป็นเหมือนของขวัญสำหรับประชาชน และเราอยากห่อของขวัญนี้ให้สวย ๆ เราตื่นเต้นที่มีโอกาสช่วยให้บทความในวารสารหรือหน้าเว็บไซต์ประทับใจผู้อ่านและทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น”

ผลประโยชน์ที่ยั่งยืนตลอดไป

ทั่วโลก หลายร้อยล้านคนได้ประโยชน์จากการอ่านสิ่งพิมพ์ของพยานพระยะโฮวาในภาษาของเขาเอง สติปัญญาที่ใช้ได้จริงพบได้ในหนังสือและวีดีโอของพยานพระยะโฮวา รวมทั้งเว็บไซต์ jw.org ซึ่งอาศัยความรู้จากคัมภีร์ไบเบิลด้วย ที่จริง ในหนังสือศักดิ์สิทธิ์นั้น พระเจ้าที่ชื่อพระยะโฮวาบอกเราว่าพระองค์อยากบอกข่าวสารของพระองค์กับผู้คนจาก “ทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกภาษา”—วิวรณ์ 14:6 *

^ วรรค 4 บทความต้นฉบับถูกเตรียมเป็นภาษาอังกฤษ

^ วรรค 25 เชิญเข้าไปที่ www.pr418.com เพื่อดูหนังสือ ไฟล์เสียง และวีดีโอในภาษาของคุณและภาษาอื่น ๆ อีกหลายร้อยภาษา