ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

โรคภูมิแพ้อาหารและโรคภูมิแพ้อาหารแฝงต่างกันอย่างไร?

โรคภูมิแพ้อาหารและโรคภูมิแพ้อาหารแฝงต่างกันอย่างไร?

เอมิลี: “ฉันวางช้อนลงทันทีและเริ่มรู้สึกผะอืดผะอม คันปาก ลิ้นบวม มึนหัว หายใจไม่ออก แล้วลมพิษก็ขึ้นมาที่แขนกับคอ ฉันพยายามจะไม่ตกใจเกินไปแต่ก็รู้ว่าต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด!”

สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว การกินอาหารทำให้มีความสุข แต่บางคนรู้สึกว่าอาหารบางอย่างเป็น “ศัตรู” เพราะแพ้อาหารเหมือนเอมิลีที่พูดถึงก่อนหน้านี้ อาการของเอมิลีหนักมากและเรียกกันว่าโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง แต่ส่วนใหญ่แล้ว น่าดีใจที่โรคภูมิแพ้อาหารอาการจะไม่ค่อยรุนแรง

ช่วงปีหลัง ๆ มานี้มีรายงานว่า ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาหารและโรคภูมิแพ้อาหารแฝงมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่งานวิจัยบางชิ้นบอกว่า คนที่คิดว่าตัวเองแพ้อาหารนั้นจริง ๆ แล้วมีไม่กี่คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้จริง ๆ

โรคภูมิแพ้อาหารคืออะไร?

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์นำโดย ดร. เจนนิเฟอร์ เจ. ชไนเดอร์ เชเฟน ตีพิมพ์รายงานในวารสารแพทยสมาคมแห่งอเมริกา ว่า “โรคภูมิแพ้อาหารไม่มีคำนิยามที่แน่นอนในระดับสากล” แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่า อาการแพ้อาหารเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน

สิ่งที่กระตุ้นให้แพ้อาหารคือโปรตีนในอาหารนั้น ระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดว่าโปรตีนนั้นเป็นอันตราย เมื่อโปรตีนดังกล่าวเข้ามาในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างแอนติบอดีชนิดหนึ่งที่เรียกว่าอิมมูโนโกลบูลิน อี (IgE) เพื่อไปจับกับโปรตีนนั้นและทำลายฤทธิ์ของสิ่งที่คิดว่าเป็นผู้บุกรุก เมื่อกินอาหารที่แพ้อีกครั้ง แอนติบอดีที่ถูกสร้างก่อนหน้านี้จะกระตุ้นให้มีการปล่อยสารเคมีหลายอย่างออกมา รวมถึงฮีสตามีน

ในสภาวะปกติ ฮีสตามีนมีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน แต่เพราะสาเหตุบางอย่างซึ่งยังไม่เป็นที่เข้าใจชัดเจน สารที่เกิดจากแอนติบอดีอิมมูโนโกลบูลิน อี และสารอื่น ๆ ที่ฮีสตามีนหลั่งออกมาทำให้เกิดอาการแพ้แบบต่าง ๆ ในตัวคนที่ไวต่อโปรตีนบางชนิดในอาหาร

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เวลาคุณกินอาหารที่ไม่เคยกินมาก่อนคุณถึงไม่เป็นอะไรในครั้งแรก แต่ครั้งต่อไปที่คุณกิน คุณก็แพ้อาหารนั้นซะแล้ว

โรคภูมิแพ้อาหารแฝงคืออะไร?

โรคภูมิแพ้อาหารแฝงคล้ายกับโรคภูมิแพ้อาหาร คือร่างกายมีอาการไม่พึงประสงค์หลังกินอาหารบางชนิดเข้าไป แต่ต่างจากโรคภูมิแพ้อาหาร (ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันโดยตรง) โรคภูมิแพ้อาหารแฝงก่อปัญหากับระบบทางเดินอาหารและไม่เกี่ยวกับแอนติบอดี เช่น บางคนอาจมีปัญหาเรื่องการย่อยอาหารเพราะมีภาวะขาดเอนไซม์ หรือเพราะสารเคมีบางอย่างที่อยู่ในอาหารทำให้อาหารนั้นย่อยยาก ตัวอย่างหนึ่งคือ ภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ (lactose intolerance) เกิดจากการที่ลำไส้ไม่สามารถผลิตเอนไซม์ย่อยน้ำตาลชนิดหนึ่งในนมได้

แม้โรคภูมิแพ้อาหารแฝงไม่เกี่ยวกับแอนติบอดี แต่ร่างกายก็เกิดปฏิกิริยากับอาหารนั้นได้ตั้งแต่กินครั้งแรก ปริมาณที่กินเข้าไปเป็นปัจจัยสำคัญด้วย กินนิดหน่อยไม่เป็นไร ยิ่งกินมากยิ่งแพ้มาก แต่ถ้าแพ้อาหารประเภทนั้นมาก แค่กินเข้าไปนิดหน่อยก็อาจถึงตายได้

มีอาการอย่างไร?

ถ้าแพ้อาหาร คุณอาจมีอาการคัน ลมพิษ หลอดลมตีบ ตาบวม ลิ้นบวม คลื่นไส้ อาเจียร หรือท้องเสีย และในกรณีรุนแรงคือ ความดันเลือดของคุณอาจลดลงกะทันหัน เวียนหัว เป็นลม และแม้แต่หัวใจหยุดเต้น การแพ้แบบรุนแรงอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและถึงตายได้

อาหารทุกชนิดทำให้เกิดการแพ้ได้ แต่อาหารที่ทำให้แพ้รุนแรงส่วนใหญ่ก็มีไม่กี่ชนิด เช่น นม ไข่ ปลา สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง และข้าวสาลี ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไรก็เป็นโรคภูมิแพ้อาหารได้ งานวิจัยหลายชิ้นบอกให้รู้ว่าโรคภูมิแพ้อาหารเป็นโรคทางพันธุกรรม ถ้าพ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายแพ้อาหาร ลูกก็มีแนวโน้มสูงว่าจะแพ้อาหารด้วย เด็กหลายคนเมื่อโตขึ้นก็อาจจะหายจากอาการแพ้อาหารได้

โดยทั่วไปแล้ว อาการของโรคภูมิแพ้อาหารแฝงเห็นไม่ค่อยชัดเจนเท่าคนที่แพ้อาหารอย่างรุนแรง โรคภูมิแพ้อาหารแฝงจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะ เป็นตะคริว ปวดหัว ผื่นคัน เหนื่อย ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว อาหารที่ทำให้เป็นโรคนี้มีหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์จากนม ข้าวสาลี กลูเตน (โปรตีนชนิดหนึ่งในข้าวสาลี) แอลกอฮอล์ และยีสต์

การวินิจฉัยและการรักษา

ถ้าคุณคิดว่าตัวเองอาจเป็นโรคภูมิแพ้อาหารหรือโรคภูมิแพ้อาหารแฝง คุณคงอยากไปตรวจกับหมอที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ การคาดเดาและเลิกกินอาหารบางอย่างเองอาจเป็นอันตรายเพราะคุณอาจเลิกกินอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

วิธีรักษาที่ยอมรับกันทั่วไปของการแพ้อาหารขั้นรุนแรงคือเลิกกินอาหารที่กระตุ้นภูมิแพ้ไปเลย * แต่ถ้าคุณเป็นโรคภูมิแพ้อาหารและภูมิแพ้อาหารแฝงไม่มาก คุณก็อย่าไปกินอาหารที่แพ้บ่อย ๆ และกินแค่นิดหน่อยก็พอ แต่คนที่แพ้อาหารจะถูกสั่งให้หลีกเลี่ยงอาหารนั้นไปเลย หรือไม่ก็ช่วงหนึ่ง ขึ้นอยู่กับกว่าเขาแพ้รุนแรงขนาดไหน

ถ้าคุณเป็นโรคภูมิแพ้อาหารหรือโรคภูมิแพ้อาหารแฝง คุณก็สบายใจได้เมื่อรู้ว่าหลายคนที่เป็นโรคนี้สามารถรับมือได้และยังคงมีความสุขกับการกินอาหารอร่อย ๆ ที่มีประโยชน์และหลากหลาย

^ วรรค 19 หมอจะแนะนำให้คนไข้ที่แพ้อาหารรุนแรงพกหลอดบรรจุอะดรีนาลิน (อิพิเนฟริน) ติดตัวซึ่งเขาจะฉีดสารนี้ได้เองในกรณีฉุกเฉิน ผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำว่าควรให้เด็กที่แพ้อาหารสวมกำไลข้อมือหรือพกเอกสารที่บอกให้ครูหรือคนดูแลรู้ว่าเขาแพ้อะไร