เหตุการณ์ที่น่าจดจำสำหรับผู้รับใช้พระเจ้า!
การออกคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษาไทย
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2015 มีเหตุการณ์ที่น่าจดจำสำหรับผู้รับใช้พระเจ้า นั่นคือ การออกคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษาไทย
ตอนนี้ผู้รับใช้พระเจ้าในประเทศไทยจะใช้ฉบับแปลโลกใหม่ ร่วมกับฉบับแปลอื่นที่เคยใช้กันมานาน แต่ทำไมถึงต้องมีฉบับนี้ล่ะ? ใครอยู่เบื้องหลังงานแปลนี้? และเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าฉบับแปลโลกใหม่ เชื่อถือได้จริง?
ทำไมถึงมีฉบับแปลมากมาย?
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลใหม่ ๆ ออกมามากมาย ทำให้มีคัมภีร์ไบเบิลในบางภาษาเป็นครั้งแรก แต่บางภาษาซึ่งมีคัมภีร์ไบเบิลอยู่แล้วก็ยังมีการแปลออกมาอีก ทำไมล่ะ? ซะกะเอะ คุโบะ และ วอลเตอร์ สเปกต์กล่าวไว้ในหนังสือฉบับแปลมีมากเกินไปไหม? (ภาษาอังกฤษ) ว่า “การแปลคัมภีร์ไบเบิลไม่มีวันจบสิ้น ต้องมีฉบับแปลใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ทันกับความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลที่ก้าวหน้าขึ้น และทันกับการเปลี่ยนแปลงของภาษา”
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับภาษาเดิมที่ใช้ในการเขียนพระคัมภีร์ คือ ภาษาฮีบรู ภาษาอาราเมอิก และภาษากรีก แถมยังมีการค้นพบสำเนาต้นฉบับของคัมภีร์ไบเบิลที่เก่ากว่าและถูกต้องกว่าสำเนาที่ผู้แปลเคยใช้กัน ดังนั้น การแปลคัมภีร์ไบเบิลในสมัยนี้จึงถูกต้องแม่นยำยิ่งกว่าเมื่อก่อน!
เดกลัน เฮย์ส ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศเขียนไว้ว่า “คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือขายดีที่สุดมาตลอดทุกปี” และบางครั้งความต้องการที่จะรักษายอดจำหน่ายของหนังสือขายดีที่สุด ทำให้ผู้ผลิตยอมลดความสำคัญของความถูกต้องแม่นยำ ผู้ผลิตคัมภีร์ไบเบิลฉบับหนึ่งถึงกับตัดข้อความที่เขารู้สึกว่า “น่าเบื่อ” ออกไปตามอำเภอใจ คัมภีร์ไบเบิลอีกฉบับหนึ่งถึงกับเปลี่ยนคำหรือวลีที่อาจทำให้ผู้อ่านยุคใหม่รับไม่ได้
อย่างเช่น มีการเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา-พระมารดา” เพื่อเอาใจผู้อ่านบางคนปิดบังชื่อพระเจ้า
เรื่องที่ดูเหมือนเป็นปัญหามากที่สุดก็คือ ชื่อของพระยะโฮวาพระเจ้า (นักวิชาการบางคนแปลชื่อพระเจ้าว่า “ยาห์เวห์”) คัมภีร์ไบเบิลฉบับเก่าแก่หลายฉบับมีชื่อพระเจ้าที่เขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัวซึ่งอาจเขียนทับศัพท์ได้ว่า ยฮวฮ หรือ จฮฟฮ และชื่อของพระเจ้าก็มีมากถึงเกือบ 7,000 ครั้งในส่วนที่เรียกกันว่าพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม (อพยพ 3:15; สดุดี 83:18) นี่แสดงว่าพระเจ้าผู้สร้างตัวเราตั้งใจที่จะให้ผู้นมัสการพระองค์รู้จักและใช้ชื่อของพระองค์!
แต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน ความกลัวเรื่องโชคลางทำให้ชาวยิวเลิกออกเสียงชื่อพระเจ้า แล้วต่อมาความคิดที่ไม่ถูกต้องแบบนี้ก็ส่งผลต่อศาสนาคริสเตียนด้วย (กิจการ 20:29, 30; 1 ทิโมธี 4:1) ดังนั้น ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลหลายคนจึงมักจะใช้ตำแหน่ง “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แทนชื่อพระเจ้า และคัมภีร์ไบเบิลที่มีอยู่ในทุกวันนี้ก็แทบจะไม่มีชื่อของพระเจ้าหลงเหลืออยู่เลย คัมภีร์ไบเบิลภาษาอังกฤษสมัยใหม่บางฉบับถึงกับตัดคำว่า “ชื่อ” ที่พูดถึงในยอห์น 17:6 ออกไป ข้อนั้นพระเยซูพูดว่า “ผมช่วยพวกเขาให้รู้จักชื่อของพระองค์แล้ว” แต่พระคัมภีร์ฉบับข่าวดี (ภาษาอังกฤษ) แปลข้อความนี้ว่า “ผมช่วยพวกเขาให้รู้จักพระองค์แล้ว”
ทำไมถึงรังเกียจชื่อพระเจ้าล่ะ? ลองมาดูข้อความที่ลงในวารสารชื่อ เอกสารที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้แปลคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) พิมพ์โดยสหสมาคมพระคริสตธรรมสากล (ยูบีเอส) ซึ่งดูแลการแปลคัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่ที่มีอยู่ทั่วโลก บทความหนึ่งในวารสารนี้กล่าวว่า “เนื่องจาก ยฮวฮ เป็นชื่อเฉพาะอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น ตามหลักการแปลแล้ว การถอดเสียงก็น่าจะเป็นวิธีที่สมเหตุสมผลที่สุด” แต่บทความนั้นยังเตือนว่า “มีความเป็นจริงบางอย่างที่ต้องคำนึงถึงด้วย”
แล้ว “ความเป็นจริง” ที่ว่านั้นสมเหตุสมผลแค่ไหน? ตามที่กล่าวในวารสารนี้ นักวิชาการบางคนให้เหตุผลว่า “ถ้าเราใส่ชื่ออย่างเช่น ยาห์เวห์ คนก็อาจเข้าใจผิด . . . คิดว่า ‘ยาห์เวห์’ เป็นพระเจ้าของคนต่างประเทศ หรือเป็นชื่อของพระเจ้าองค์ใหม่ที่ไม่เคยมีใครรู้จัก ไม่ใช่พระเจ้าที่พวกเขารู้จักดีอยู่แล้ว” แต่คัมภีร์ไบเบิลก็สอนเสมอว่า พระยะโฮวาพระเจ้าต่างกันอย่างมากกับพระต่าง ๆ ซึ่งคนที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนพากันกราบไหว้—อิสยาห์ 43:10-12; 44:8, 9
นักวิชาการบางคนอ้างว่า พวกเขาก็แค่เอาตำแหน่ง “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ไปใส่แทนชื่อของพระเจ้าตามธรรมเนียมที่เคยทำกันมานานแล้ว แต่พระเยซูตำหนิว่านั่นเป็นการไม่ให้เกียรติพระเจ้า (มัทธิว 15:6) นอกจากนี้ แนวคิดเรื่องการเอาตำแหน่งมาแทนชื่อพระเจ้าก็ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ พระเยซูคริสต์เองก็มีหลายตำแหน่ง เช่น “โฆษกของพระเจ้า” และ “กษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย” (วิวรณ์ 19:11-16) ถ้าอย่างนั้นเราควรเอาตำแหน่งมาแทนชื่อพระเยซูไหม?
อีกบทความหนึ่งในวารสารเล่มนั้นยังอ้างอีกว่า “โดยปกติแล้ว ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้รูปคำ ‘Jehovah’ (เจโฮวา)” ทำไมล่ะ? เพราะ “นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าการออกเสียงตามแบบดั้งเดิมก็คือ ‘Yahweh’ (ยาห์เวห์)” แต่เราไม่รู้ว่าชื่อของพระเจ้าออกเสียงอย่างไรจริง ๆ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะมาเถียงกันในเรื่องนี้ แล้วทำไมคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษาไทยจึงใช้ชื่อ “ยะโฮวา”? ให้เรามาดูตัวอย่างต่อไปนี้ ชื่อที่เรารู้จักในคัมภีร์ไบเบิล เช่น อิสยาห์, เยเรมีย์, และเยซู ไม่ได้ออกเสียงใกล้เคียงกับภาษาฮีบรูดั้งเดิมเลย (เยชายาฮู, ยิรเมยาห์, และเยโฮชูอา) เช่นเดียวกัน ชื่อ “ยะโฮวา” เป็นชื่อที่ใช้กันมานานในภาษาไทย ดังนั้น การไม่ยอมใช้ชื่อนี้จึงดูเหมือนเป็นเรื่องของอคติหรือเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่เรื่องหลักวิชาการ
แต่ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องหลักวิชาการเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ที่ปรึกษาคนหนึ่งของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากลในอินเดีย ได้เขียนถึงผลที่เกิดจากการลบชื่อพระเจ้าออกจากฉบับที่เคยมีชื่อของพระองค์อยู่ โดยกล่าวว่า “ชาวฮินดูไม่สนใจว่าพระเจ้ามีตำแหน่งอะไร แต่เขาอยากรู้ว่าพระเจ้าชื่ออะไร เมื่อไม่รู้ชื่อพระองค์ พวกเขาก็ไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์กับพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของชื่อนั้นได้” ที่จริง ทุกคนที่อยากรู้จักพระเจ้าก็คิดแบบนี้ด้วย การรู้จักชื่อพระเจ้าเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจว่า พระองค์ไม่ใช่พลังที่ไร้ตัวตน แต่เป็นบุคคลที่เราสามารถรู้จักได้ (อพยพ 34:6, 7) ด้วยเหตุนี้ คัมภีร์ไบเบิลจึงบอก ว่า “ทุกคนที่อ้อนวอนโดยออกชื่อของพระยะโฮวาจะรอด” (โรม 10:13) ผู้นมัสการพระเจ้าจึงต้องใช้ชื่อพระเจ้า!
ฉบับแปลที่ให้เกียรติพระเจ้า
ในปี 1950 มีเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์เกิดขึ้นคือ มีการจัดพิมพ์พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษาอังกฤษออกมาเป็นครั้งแรก และตลอดช่วง 10 ปี หลังจากนั้น มีการพิมพ์พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู หรือส่วนที่มักจะเรียกกันว่าพันธสัญญาเดิมออกมาเป็นตอน ๆ ด้วย พอถึงปี 1961 ก็มีการออกฉบับแปลโลกใหม่ ครบชุดในเล่มเดียวเป็นภาษาอังกฤษ ที่สำคัญคือฉบับแปลโลกใหม่ นี้ใส่ชื่อพระเจ้า “ยะโฮวา” ไว้ในภาคพันธสัญญาเดิมทั้งหมดเกือบ 7,000 ครั้ง และสิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของฉบับแปลนี้ก็คือ มีการใส่ชื่อพระเจ้าถึง 237 ครั้งกลับเข้าไปในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก หรือ “พันธสัญญาใหม่”
การนำชื่อพระเจ้ากลับมาไว้ที่เดิมนอกจากจะเป็นการให้เกียรติพระเจ้าแล้ว ยังทำให้เรามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับแปลมัทธิว 22:44 ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสแก่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า” แต่ข้อนี้ใครกำลังพูดกับใคร? ฉบับแปลโลกใหม่ แปลมัทธิว 22: 44 ว่า “พระยะโฮวาพูดกับผู้เป็นนายของผม” โดยยกข้อความมาอย่างถูกต้องจากหนังสือสดุดี 110:1 นี่ทำให้ผู้อ่านแยกได้อย่างชัดเจนว่าพระยะโฮวาพระเจ้ากำลังพูดกับลูกของพระองค์
ใครอยู่เบื้องหลังงานแปลนี้?
ฉบับแปลโลกใหม่ จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ ตัวแทนตามกฎหมายของพยานพระยะโฮวา พวกเขาพิมพ์และแจกจ่ายคัมภีร์ไบเบิลไปทั่วโลกมากกว่า 100 ปีแล้ว และคณะกรรมการการแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ก็ได้มอบฉบับแปลโลกใหม่ ให้กับพยานพระยะโฮวา และเนื่องจากสมาชิกของคณะกรรมการนั้นไม่ต้องการสร้างความเด่นดังให้กับตัวเอง พวกเขาจึงขอไม่ให้เปิดเผยชื่อของตนแม้แต่หลังจากที่พวกเขาตายไปแล้ว—1 โครินธ์ 10:31
ทำไมจึงเรียกพระคัมภีร์เล่มนี้ว่าฉบับแปลโลกใหม่? คำนำของฉบับที่พิมพ์ในปี 1950 อธิบายว่าชื่อนี้แสดงถึงความมั่นใจที่ว่า มนุษย์กำลัง “อยู่ที่หน้าประตูทางเข้าโลกใหม่” ตามคำสัญญาในหนังสือ 2 เปโตร 3:13 และตามที่คณะกรรมการชุดนั้นเขียนไว้ ช่วงนี้เป็น “ช่วงที่กำลังจะเปลี่ยนจากโลกเก่าเข้าสู่โลกใหม่ที่มีแต่ความถูกต้องชอบธรรม” สิ่งสำคัญก็คือ การแปลคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้ “ความจริงที่บริสุทธิ์ของคำสอนของพระเจ้า” ฉายแสงออกไป
ฉบับแปลที่ถูกต้อง
ฉบับแปลโลกใหม่ ให้ความสำคัญกับความถูกต้องแม่นยำเป็นอันดับแรก ผู้แปลฉบับภาษาอังกฤษแปลจากต้นฉบับภาษาฮีบรู ภาษาอาราเมอิก และภาษากรีก โดยอาศัยข้อความจากฉบับที่ดีที่สุดที่มีอยู่ * นอกจากนี้ ผู้แปลยังพยายามคิดอย่างรอบคอบเพื่อจะแปลข้อความเก่าแก่เหล่านั้นให้ตรงตาม ความหมายเดิมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็ใช้ภาษาที่คนรุ่นใหม่เข้าใจได้ง่าย
ไม่แปลกที่นักวิชาการบางคนชมเชยฉบับแปลโลกใหม่ ในเรื่องความซื่อสัตย์และความถูกต้อง ศาสตราจารย์เบนจามิน เคดาร์ นักวิชาการด้านภาษาฮีบรูในอิสราเอล พูดไว้เมื่อปี 1989 ว่า “เมื่อผมทำงานวิจัยทางภาษาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูและงานแปลต่าง ๆ ผมมักจะอ้างถึงพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่งที่เรียกกันว่าฉบับแปลโลกใหม่ ทุกครั้งที่ทำอย่างนี้ ผมก็ยิ่งมั่นใจว่าฉบับแปลนี้เป็นผลงานที่เกิดจากความมุ่งมั่นพยายามที่จะเข้าใจข้อความในต้นฉบับเพื่อถ่ายทอดออกมาอย่างถูกต้องแม่นยำที่สุดเท่าที่จะทำได้”
การแปลเป็นภาษาอื่น ๆ
นอกจากนี้ พยานพระยะโฮวายังผลิตฉบับแปลโลกใหม่ สำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการผลิตทั้งแบบบางส่วนและแบบครบชุดออกมาอีกมากกว่า 120 ภาษา และเพื่อสนับสนุนโครงการนี้ จึงมีการคิดค้นวิธีแปลแบบใหม่ที่นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในการศึกษาค้นคว้าคำศัพท์ต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ มีการตั้งแผนกที่เรียกว่าแผนกบริการการแปลขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้แปล และคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาก็ดูแลงานแปลทุกขั้นตอนผ่านทางคณะกรรมการฝ่ายการเขียน แล้วงานแปลนี้ทำกันอย่างไร?
ก่อนอื่น มีการเลือกคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วกลุ่มหนึ่งให้ทำงานแปลด้วยกัน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้แปลทำงานเป็นทีม แทนที่จะต่างคนต่างแปล ผลงานที่ออกมามักจะดีกว่าและสมดุลกว่า (สุภาษิต 11:14) โดยปกติแล้ว สมาชิกแต่ละคนในทีมเป็นผู้แปลที่เคยแปลสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวามาแล้ว จากนั้น ทีมแปลก็จะได้รับการอบรมอย่างดีเกี่ยวกับหลักพื้นฐานในการแปลคัมภีร์ไบเบิล และใช้โปรแกรมต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นเพื่องานนี้
ทีมแปลได้รับการอบรมให้แปลคัมภีร์ไบเบิลอย่างถูกต้องแม่นยำและใช้ภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย พวกเขาควรแปลตรงตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกัน ต้องไม่บิดเบือนความหมายของต้นฉบับ แล้วจะแปลแบบนี้ได้อย่างไรล่ะ? ลองดูคัมภีร์ไบเบิลฉบับที่เพิ่งออกใหม่นี้สิ ในตอนแรก ทีมแปลจะเลือกคำภาษาไทยที่มีความหมายตรงกับคำศัพท์หลัก ๆ ทั้งหมดในพระคัมภีร์ที่ใช้ในฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าระบบการแปลของว็อชเทาเวอร์ จะแสดงคำในพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกันและมีความหมายเหมือนกัน และยังแสดงให้เห็นว่าคำนั้น ๆ ในภาษาอังกฤษแปลมาจากคำอะไรในภาษากรีกหรือฮีบรู แล้วผู้แปลก็จะรู้ว่าคำภาษากรีกหรือฮีบรูเหล่านี้แปลในที่อื่น ๆ อย่างไร ทั้งหมดนี้ช่วยให้การแปลคำศัพท์ในพระคัมภีร์ทำได้ง่ายขึ้น เมื่อทีมตกลงกันแล้วว่าจะใช้คำไหน พวกเขาก็เริ่มแปลคัมภีร์ไบเบิล นอกจากนี้ การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยให้ผู้แปลเห็นคำที่เลือกไว้ขณะที่แปลแต่ละข้อ
การแปลไม่ใช่แค่การเอาคำศัพท์ชุดหนึ่งไปแทนที่คำที่จะแปล แต่ก่อนจะลงมือ ผู้แปลต้องคิดอย่างรอบคอบว่าคำที่เลือกใช้ในภาษาไทยถ่ายทอดแง่คิดของพระคัมภีร์ได้ถูกต้องตรงตามท้องเรื่องไหม ไวยากรณ์และการเรียงประโยคถูกต้องและฟังดูเป็นธรรมชาติไหม ไม่ต้องบอกก็รู้ว่างานนี้ยากขนาดไหน ฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษาไทยถ่ายทอดคำสอนของพระเจ้าในแบบที่อ่านง่าย เข้าใจได้ชัดเจน และตรงตามต้นฉบับดั้งเดิม *
เราขอสนับสนุนคุณให้ตรวจสอบคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ด้วยตัวคุณเอง คุณจะขอคัมภีร์ไบเบิลได้จากผู้จัดพิมพ์วารสารนี้ หรือขอจากประชาคมของพยานพระยะโฮวาที่อยู่ใกล้บ้านคุณก็ได้ คุณสามารถอ่านด้วยความมั่นใจว่า พระคัมภีร์ฉบับนี้ถ่ายทอดคำสอนของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ในภาษาของคุณเอง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พออ่านไปได้สักพัก คุณก็จะเห็นด้วยว่าการออกคัมภีร์ไบเบิลฉบับใหม่นี้เป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำสำหรับผู้รับใช้พระเจ้าจริง ๆ!
^ วรรค 24 สำหรับฉบับพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรก ต้นฉบับภาษากรีกที่ใช้คือพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ภาษากรีกแรกเดิม โดยเวสต์คอตต์และฮอร์ต ส่วนต้นฉบับที่ใช้แปลพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูคือพระคัมภีร์บิบลิอา เฮบรายกา ของอาร์. คิตเทล นอกจากนี้ คัมภีร์ไบเบิลฉบับปรับปรุง 2013 ยังใช้สำเนาพาไพรัสในยุคแรก ๆ ซึ่งคาดว่ามีอายุย้อนไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 2 และที่ 3 และยังดูข้อความที่มีการศึกษาค้นคว้าใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย อย่างเช่น ของเนสต์เลและอลันด์ และของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากล
^ วรรค 30 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักในการแปลคัมภีร์ไบเบิลและลักษณะเด่นของฉบับภาษาไทย โปรดดูภาคผนวก ก 1 และ ก 2 ของฉบับแปลโลกใหม่