จากปก | เมื่อคนที่คุณรักตายจากไป
ปลอบโยนคนที่โศกเศร้า
คุณเคยรู้สึกแบบนี้ไหม คุณเห็นญาติหรือเพื่อนสนิทเศร้าเสียใจเพราะการจากไปของคนที่เขารัก คุณอยากช่วย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร? บางครั้งเราอาจไม่แน่ใจว่าจะพูดหรือทำอะไรดี เราเลยอยู่เฉย ๆ ไม่พูดหรือทำอะไรสักอย่าง แต่ที่จริงมีหลายวิธีที่ดีและมีประโยชน์ที่เราอาจทำได้
สิ่งที่คุณน่าจะทำมากที่สุดก็คืออยู่กับเขา และอาจพูดเพียงสั้น ๆ ว่า “เสียใจด้วยนะ” ในหลายวัฒนธรรม ผู้คนอาจแสดงความห่วงใยด้วยการกอดหรือบีบแขนเบา ๆ ถ้าผู้ที่กำลังโศกเศร้าอยากพูดอะไร ก็ควรฟังเขาด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องไม่ลืมคือ การทำอะไรบางอย่างเพื่อครอบครัวของผู้สูญเสีย อาจช่วยทำงานที่พวกเขาทำไม่ได้ในตอนนั้น เช่น ทำอาหาร เอาใจใส่เด็ก ๆ หรือช่วยงานต่าง ๆ ในงานศพถ้าพวกเขาอยากให้ช่วย การทำสิ่งเหล่านี้อาจมีประโยชน์มากกว่าคำพูดด้วยซ้ำ
จากนั้น คุณอาจรู้สึกอยากพูดถึงผู้ตาย โดยพูดถึงลักษณะนิสัยที่ดีหรือช่วงเวลาที่คุณเคยมีความสุขด้วยกัน การพูดคุยเรื่องแบบนี้อาจทำให้ผู้สูญเสียถึงกับยิ้มได้ ตัวอย่างเช่น แพมซึ่งสูญเสียสามีที่ชื่อเอียนไปเมื่อ 6 ปีก่อนพูดว่า “บางครั้งก็มีคนพูดให้ฉันฟังเกี่ยวกับสิ่งดี ๆ ที่เอียนเคยทำเพื่อพวกเขา ซึ่งบางเรื่องฉันก็ไม่เคยรู้มาก่อน พอฟังแล้วก็รู้สึกปลื้มใจจริง ๆ”
* ผู้สูญเสียหลายคนรู้สึกขอบคุณจริง ๆ ที่มีโอกาสระบายความโศกเศร้าที่ยังฝังลึกอยู่ในใจแม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม
นักวิจัยหลายคนบอกว่า ผู้สูญเสียหลายคนได้รับความช่วยเหลือมากมายเฉพาะในช่วงแรก ๆ เท่านั้น แต่พอเพื่อน ๆ เริ่มกลับไปวุ่นวายกับชีวิตของตัวเอง ไม่ช้าพวกเขาก็ลืมไปว่าผู้สูญเสียยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ ดังนั้น ถ้าเพื่อนของคุณสูญเสียคนที่เขารัก ก็ขอให้พยายามติดต่อกับเขาเป็นประจำหลังจากการสูญเสียนั้นให้เรามาดูตัวอย่างของเด็กสาวชาวญี่ปุ่นที่ชื่อคาโอริ เธอแทบจะหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตเพราะเธอเพิ่งเสียแม่ไปได้แค่ 15 เดือนพี่สาวก็มาตายจากไปอีกคน แต่ยังดีที่เธอได้รับกำลังใจเสมอจากเพื่อนที่รักและห่วงใยเธอจริง ๆ เพื่อนคนหนึ่งที่ชื่อริตสุโกะ ซึ่งอายุแก่กว่าคาโอริมากได้เสนอตัวที่จะเป็นเพื่อน แต่คาโอริบอกว่า “พูดก็พูดเถอะ ฉันไม่ได้ดีใจเลย เพราะฉันไม่อยากให้ใครมาแทนที่แม่ฉัน แล้วฉันก็ไม่คิดว่าจะมีใครมาแทนที่ท่านได้ แต่เพราะคุณแม่ริตสุโกะเอาใจใส่ดูแลฉันดีมาก ๆ ไม่นานฉันก็สนิทกับท่านมากขึ้น ทุกสัปดาห์ เราออกไปสอนศาสนาด้วยกัน ไปประชุมคริสเตียนด้วยกัน ท่านชวนฉันไปดื่มน้ำชา เอาอาหารมาให้ เขียนจดหมายเขียนการ์ดให้ฉันหลายต่อหลายครั้ง คุณแม่ริตสุโกะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี แล้วฉันก็ได้ซึมซับความคิดแบบเดียวกับท่านด้วย”
คุณแม่ของคาโอริจากเธอไป 12 ปีแล้ว ตอนนี้เธอกับสามีเป็นผู้เผยแผ่ศาสนาแบบเต็มเวลา คาโอริพูดว่า “คุณแม่ริตสุโกะยังคงรักและห่วงใยฉัน ทุกครั้งที่ฉันกลับบ้าน ฉันจะไปหาท่าน แล้วท่านก็เล่าเรื่องดี ๆ ให้ฟัง ซึ่งทำให้ฉันรู้สึกสดชื่นและมีกำลังใจ”
อีกคนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือแบบต่อเนื่องก็คือพอลี ซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาในไซปรัส พอลีมีสามีชื่อซอโซส เขาเป็นคนใจดีและเป็นคริสเตียนผู้ดูแลที่วางตัวอย่างในเรื่องการเอาใจใส่ดูแลพี่น้อง เขามักจะเชิญพี่น้องที่เป็นลูกกำพร้าและแม่ม่ายมาที่บ้านเพื่อพูดคุยและกินอาหารด้วยกัน (ยากอบ 1:27) แต่น่าเสียดายที่ซอโซสอายุสั้น เขาเพิ่งอายุ 53 แต่ก็มาตายเพราะโรคเนื้องอกในสมอง พอลีบอกว่า “สามีที่แสนดีจากฉันไปแล้ว เราอยู่กินกันมาถึง 33 ปี”
หลังจากงานศพ เธอกับแดเนียลลูกชายคนเล็กวัย 15 ก็ย้ายไปอยู่ที่แคนาดา เธอกับลูกไปร่วมการประชุมกับพยานพระยะโฮวาที่นั่น พอลีเล่าว่า “เพื่อน ๆ ในประชาคมใหม่นี้ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชีวิตที่ผ่านมาของฉัน พวกเขาไม่รู้ว่าฉันต้องเจอความยากลำบากอะไรบ้าง แต่พวกเขาก็เข้ามาหาเรา พูดกับเราอย่างกรุณา และให้ความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์มาก ความช่วยเหลือแบบนี้มีค่ามากจริง ๆ โดยเฉพาะช่วงที่ลูกชายฉันต้องการพ่อมากที่สุด ผู้ดูแลในประชาคมรักและเอ็นดูแดเนียลมาก แล้วก็มีอยู่คนหนึ่งที่ชอบมาชวนแดเนียลเสมอเวลาจะออกไปเล่นฟุตบอลหรือเมื่อมีการสังสรรค์กัน” ตอนนี้พอลีกับลูกผ่านวันร้าย ๆ ไปได้ด้วยดี
แน่นอนว่า มีหลายวิธีที่เราอาจทำได้เพื่อช่วยเหลือและปลอบโยนคนที่โศกเศร้า แต่คัมภีร์ไบเบิลยังปลอบโยนเราด้วยความหวังที่น่าตื่นเต้นซึ่งรออยู่ข้างหน้า
^ วรรค 6 บางคนถึงกับกาเครื่องหมายไว้ในปฏิทินเพื่อจะไม่ลืมและจะได้ปลอบใจญาติหรือเพื่อน ๆ ที่สูญเสียคนที่เขารักเมื่อถึงวันครบรอบการตาย หรือใกล้จะถึงวันนั้น