เรื่องราวชีวิตจริง
การสนใจคนอื่นทำให้ได้ประโยชน์ตลอดไป
“โบสถ์แองกลิคันไม่ได้สอนความจริง พยายามหาความจริงต่อไปนะ” พอยายของผมที่เป็นสมาชิกของโบสถ์แองกลิคันบอกแบบนี้ แม่ก็เริ่มหาศาสนาแท้ แต่แม่ไม่ยอมคุยกับพยานพระยะโฮวา แถมยังบอกผมด้วยว่าถ้าพยานฯ มาที่บ้านก็ให้ไปแอบ ตอนนั้นเราอยู่ที่โทรอนโต ประเทศแคนาดา แต่พอน้าของผมเริ่มศึกษากับพยานฯ ในปี 1950 แม่ก็ลองศึกษาด้วย ทั้งสองคนศึกษาที่บ้านของน้าและต่อมาก็รับบัพติศมา
พ่อของผมเป็นศาสนาจารย์ในโบสถ์ของคริสตจักรยูไนเต็ดแห่งแคนาดาที่อยู่แถวบ้าน ทุกวันอาทิตย์ตอนเช้าพ่อจะพาผมกับน้องสาวไปโบสถ์ พอไปถึงเราก็จะเข้าชั้นเรียนสำหรับเด็ก หลังจากนั้นตอน 11 โมงเราก็จะเข้าโบสถ์เพื่อนมัสการพระเจ้ากับพ่อ พอตอนบ่ายเราก็จะไปที่หอประชุมของพยานพระยะโฮวากับแม่ เราเห็นว่า 2 ศาสนาแตกต่างกันจริง ๆ
แม่เล่าเรื่องคัมภีร์ไบเบิลให้บ็อบกับมาริออน ฮัชเชสันฟัง เขาสองคนเป็นเพื่อนสนิทกับแม่มานาน หลังจากนั้นพวกเขาก็เข้ามาเป็นพยานฯ ด้วย บ็อบกับมาริออนพาผมกับลูกชาย 3 คนของพวกเขาไปเข้าร่วมการประชุมนานาชาติ 8 วันที่ชื่อว่าพระทัยประสงค์ของพระเจ้าที่นครนิวยอร์กในปี 1958 ตอนนี้ผมนึกย้อนหลังกลับไป ผมรู้เลยว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยที่พวกเขาต้องเอาผมไปด้วยอีกคนหนึ่ง แต่การประชุมครั้งนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตของผมเลย
การที่พี่น้องสนใจผมมีผลกับอนาคตของผม
ช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่น เรามีฟาร์ม และผมชอบเลี้ยงสัตว์ทั้งวัว หมู แกะ และไก่ ผมเลยอยากเป็นสัตวแพทย์ แม่ผมเล่าเรื่องนี้ให้ผู้ดูแลคนหนึ่งในประชาคมฟัง เขาเลยมาคุยกับผมแล้วชวนให้ผมคิดว่าตอนนี้เราอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” เขาถามว่าผมคิดว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยหลาย ๆ ปีจะมีผลยังไงกับสายสัมพันธ์ของผมกับพระยะโฮวา (2 ทธ. 3:1) ผมเลยตัดสินใจว่าผมจะไม่เข้ามหาวิทยาลัย
แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรดีหลังจากเรียนจบมัธยม ถึงตอนนั้นผมจะไปประกาศทุกเสาร์อาทิตย์ แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกชอบประกาศเท่าไหร่และไม่คิดว่าผมจะเป็นไพโอเนียร์ได้ ช่วงนั้นพ่อกับอาของผมซึ่งไม่เป็นพยานฯ สนับสนุนให้ผมทำงานเต็มเวลาในบริษัทประกันที่เป็นบริษัทใหญ่ในโทรอนโต อามีตำแหน่งสูงในบริษัท ผมก็เลยได้ไปทำงานที่นั่น
ผมต้องทำโอทีตลอดและใช้เวลาเยอะมากกับคนที่ไม่ใช่พยานฯ ผมก็เลยไม่ค่อยได้ไปประชุมไปประกาศ ตอนแรกผมอยู่กับปู่ที่ไม่ใช่พยานฯ แต่พอปู่ตาย ผมก็ต้องหาที่อยู่ใหม่
บ็อบกับมาริออนที่พาผมไปประชุมนานาชาติปี 1958 เป็นเหมือนพ่อแม่ของผม พวกเขาชวนผมให้ไปอยู่ด้วยและก็ช่วยให้ผมมีความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้น ในปี 1960 ผมก็ได้รับบัพติศมาพร้อมกับจอห์นลูกชายของพวกเขา แล้วจอห์นก็เริ่มเป็นไพโอเนียร์ พอผมเห็นอย่างนั้น ผมก็อยากรับใช้มากขึ้นด้วย พี่น้องในประชาคมเห็นว่าผมก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดผมก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับใช้โรงเรียนอบรมมนตรี a
ผมได้คู่ที่ยอดเยี่ยมและได้ทำสิ่งที่เพิ่งรู้ว่ามันดี
ในปี 1966 ผมแต่งงานกับแรนดี้ เบิร์จไพโอเนียร์ที่ขยันขันแข็งและอยากไปรับใช้ในที่ที่ต้องการผู้ประกาศมากกว่า ผู้ดูแลหมวดสนใจเราเป็นพิเศษและมาคุยกับเราว่าอยากไปช่วยที่ประชาคมในโอริลเลีย ออนแทรีโอไหม เราตอบตกลงและย้ายไปที่นั่นทันที
พอมาถึงโอริลเลีย ผมก็เริ่มเป็นไพโอเนียร์ประจำด้วย แรนดี้เป็นคนกระตือรือร้นในงานรับใช้มาก ผมก็เลยรู้สึกอย่างนั้นไปด้วย พอผมทำงานไพโอเนียร์อย่างเต็มที่ ผมก็รู้สึกมีความสุขมาก โดยเฉพาะตอนที่ใช้คัมภีร์ไบเบิลอธิบายให้เจ้าของบ้านฟังและเห็นพวกเขาเข้าใจความจริง เราดีใจมากที่ได้ช่วยสามีภรรยาคู่หนึ่งในโอริลเลียให้เปลี่ยนแปลงชีวิตและเข้ามารับใช้พระยะโฮวา
เรียนภาษาใหม่และเปลี่ยนความคิด
มีครั้งหนึ่งตอนไปโทรอนโต ผมได้เจอพี่น้องอาร์โนลด์ แม็คนามาราซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญในเบเธล เขาถาม
ว่าเราอยากเป็นไพโอเนียร์พิเศษไหม ผมตอบทันทีว่า “อยากครับ เราไปที่ไหนก็ได้ ยกเว้นควิเบกนะครับ” ตอนนั้นคนแคนาดาที่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยชอบคนแคนาดาที่พูดภาษาฝรั่งเศส และผมก็ได้ความคิดที่ไม่ดีแบบนั้นมาด้วย นอกจากนั้น ที่ควิเบกมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเพื่อจะแยกควิเบกออกจากแคนาดาพี่น้องอาร์โนลด์บอกผมว่า “ตอนนี้มีแค่ควิเบกที่เดียวที่สาขาจะส่งไพโอเนียร์พิเศษไป” ผมเลยบอกเขาทันทีว่าเราจะไปควิเบกก็ได้ เพราะผมรู้ว่าแรนดี้สนใจอยากไปรับใช้ที่นั่นอยู่แล้ว ต่อมาผมก็ได้รู้ว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเรา
เราได้เรียนภาษาฝรั่งเศส 5 อาทิตย์ หลังจากนั้นเราสองคนกับพี่น้องอีกคู่หนึ่งก็ถูกส่งไปที่เมืองริมูสกีซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมอนทรีออลไปประมาณ 540 กิโลเมตร เรารู้ว่าเรายังต้องเรียนภาษาฝรั่งเศสอีกเยอะ การประชุมครั้งหนึ่งทำให้ผมรู้ซึ้งเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมอ่านคำประกาศเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ที่กำลังจะมาถึง แต่แทนที่ผมจะบอกว่าเราจะมีตัวแทนมากมายที่เป็นคนออสเตรีย ผมกลับบอกว่าเราจะมีตัวแทนมากมายที่เป็นนกกระจอกเทศ
ที่ริมูสกีเรา 4 คนอยู่ในบ้านเดียวกันกับพี่น้องหญิงโสด 4 คนที่ขยันรับใช้มาก และก็อยู่กับครอบครัวฮิวเบอร์โดด้วยซึ่งมีลูกสาว 2 คน ครอบครัวฮิวเบอร์โดเช่าบ้านหลังใหญ่ที่มี 7 ห้องนอนและพวกเราไพโอเนียร์ทุกคนก็อยู่ด้วยกันที่นั่นและช่วยกันจ่ายค่าเช่า เราเรียกบ้านหลังนั้นว่าบ้านขาว เพราะบ้านนั้นเป็นสีขาวและก็มีเสาหน้าบ้านเป็นสีขาวด้วย เราสองคนเป็นไพโอเนียร์พิเศษ เราเลยต้องออกประกาศทั้งตอนเช้า ตอนบ่าย และตอนเย็นด้วย ปกติจะมี 12-14 คนอยู่ในบ้านหลังนั้นด้วยกัน เราเลยดีใจมากที่พวกเขาสลับกันไปรับใช้ด้วยกันกับเราตลอดแม้แต่ในตอนเย็นในหน้าหนาวที่อากาศหนาวมาก
เราสนิทกับไพโอเนียร์ที่อยู่ด้วยกันมากจนรู้สึกว่าเป็นครอบครัวเดียวกันจริง ๆ บางครั้งเราก็ก่อไฟและนั่งล้อมรอบกองไฟด้วยกัน หรือไม่อย่างนั้นเราก็จะมีวันพิเศษด้วยกันที่เราเรียกว่า “วันแห่งเกี๊ยว” ซึ่งเป็นวันที่เราทุกคนจะทำเกี๊ยวแบบโปแลนด์ด้วยกันแล้วก็ใส่ไส้ต่าง ๆ สารพัดไส้ นอกจากนั้น มีพี่น้องชายคนหนึ่งเป็นนักดนตรี เกือบทุกคืนวันเสาร์เราก็ร้องเพลงและเต้นด้วยกัน
เขตประกาศที่ริมูสกีดีมากเลย แค่ 5 ปีเราได้เห็นนักศึกษาหลายคนก้าวหน้าจนรับบัพติศมา และประชาคมของเราก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนมีผู้ประกาศถึง 35 คน เรามีความสุขมากจริง ๆ
เราได้รับการฝึกอย่างดีให้เป็นผู้ประกาศข่าวดีที่กระตือรือร้น เราเห็นว่าพระยะโฮวาช่วยเราในงานรับใช้จริง ๆ และพระองค์ก็ช่วยเราให้มีสิ่งที่จำเป็นต้องมีด้วย นอกจากนั้น เรายังได้เรียนที่จะรักคนที่พูดภาษาฝรั่งเศส เรารักทั้งภาษาของพวกเขาและรักวัฒนธรรมของพวกเขา และนี่ช่วยให้เรารักวัฒนธรรมอื่น ๆ ด้วย—2 คร. 6:13
แล้วอยู่ดี ๆ สาขาก็ขอให้เราย้ายไปที่เมืองทรากาดีที่อยู่ชายฝั่งตะวันออกของรัฐนิวบรันสวิก นี่เป็นการตัดสินใจที่ยากมากเพราะเราเพิ่งเซ็นสัญญาเช่าอพาร์ตเมนต์และผมก็เพิ่งเซ็นสัญญาที่จะสอนหนังสือพาร์ทไทม์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ไม่ใช่แค่นั้นนักศึกษาหลายคนของเราก็เพิ่งเป็นผู้ประกาศ และประชาคมของเราก็กำลังสร้างหอประชุมใหม่ด้วย
เราอธิษฐานตลอดทั้งเสาร์อาทิตย์เลยว่าเราจะย้ายไปดีไหม และเราก็ลองไปที่นั่นดูด้วย ทรากาดีไม่เหมือนกับที่ริมูสกีที่เราอยู่เลย แต่เราก็ตัดสินใจว่าถ้าพระยะโฮวาอยากให้เราไป เราก็จะไป เราทำตามที่พระองค์บอกและมลค. 3:10) แรนดี้มีความเชื่อเข้มแข็งมาก เธอเป็นคนที่เสียสละและเป็นคนตลกอารมณ์ดี การย้ายของเราก็เลยไม่ยากอย่างที่คิด
ลองดูว่าพระองค์จะช่วยเราให้จัดการกับเรื่องต่าง ๆ ยังไง (ประชาคมใหม่ที่เราย้ายไปมีผู้ดูแลแค่คนเดียวคือพี่น้องโรเบิร์ต รอส เขากับลินดาภรรยาของเขาย้ายมาเป็นไพโอเนียร์ที่นั่น แล้วพอมีลูกคนแรก พวกเขาก็ตัดสินใจอยู่ที่นั่นต่อ ถึงพวกเขาจะต้องดูแลลูกชายที่ยังเล็ก แต่เราก็ได้กำลังใจจากพวกเขา พวกเขาต้อนรับเรา ดูแลเราดีมาก และพวกเขาก็ขยันในงานรับใช้ด้วย
ได้พรมากมายจากการรับใช้ในทุกที่ที่มีความจำเป็น
หลังจากที่เราเป็นไพโอเนียร์ในทรากาดีได้ 2 ปี เราก็เจอเรื่องที่ไม่คาดคิดและน่าตื่นเต้น ผมได้รับเชิญให้เป็นผู้ดูแลหมวด เรารับใช้ในหมวดภาษาอังกฤษ 7 ปี จากนั้นเราก็ไปรับใช้ในหมวดภาษาฝรั่งเศสที่ควิเบก ผู้ดูแลภาคของเราที่ควิเบกชื่อเลองซ์ เครโปต์ เขามักจะชมที่ผมบรรยายได้ดี แต่พอชมเสร็จเขาก็ชอบถามว่า “คุณจะบรรยายในแบบที่ช่วยให้พี่น้องเอาไปใช้ได้จริงมากกว่านี้ได้ไหม?” b การที่เขาสนใจช่วยผมแบบนี้ทำให้ผมบรรยายในแบบที่ตรงกับความจำเป็นของประชาคมมากขึ้นและพี่น้องเข้าใจได้ง่ายขึ้น
หนึ่งในงานมอบหมายที่ผมประทับใจที่สุดก็คือ งานมอบหมายที่ผมได้รับในปี 1978 ตอนที่ผมเข้าร่วมการประชุมนานาชาติที่ชื่อ “ความเชื่อที่มีชัย” ซึ่งจัดขึ้นที่มอนทรีออล ตอนนั้นผมทำงานในแผนกบริการอาหาร พวกเราคิดว่าน่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 80,000 คนและเราก็ต้องเสิร์ฟอาหารในวิธีใหม่ด้วย ทุกอย่างใหม่หมดไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทำอาหาร เมนูอาหาร และวิธีเตรียมอาหาร เรามีตู้เย็นขนาดใหญ่ 20 ตู้แต่บางครั้งหลายตู้ก็เสีย ไม่ใช่แค่นั้นทั้ง ๆ ที่วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันประชุมอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่สนามกีฬาไม่อนุญาตให้เราเข้าไปเตรียมอะไรจนกว่าจะถึงตอนเที่ยงคืนเพราะก่อนหน้านั้นมีการแข่งขันกีฬา แถมเรายังต้องเปิดเตาอบตั้งแต่เช้ามืดเพื่อจะทำอาหารเช้า เราเหนื่อยมากแต่ก็ได้เรียนรู้หลายอย่างจากพี่น้องอาสาสมัคร เช่น การขยันทำงาน การมีความเป็นผู้ใหญ่ การมองเรื่องเครียด ๆ ให้เป็นเรื่องขำ ๆ พี่น้องที่ทำงานกับเราในตอนนั้นยังคงเป็นเพื่อนสนิทกับเราจนถึงทุกวันนี้ เรามีความสุขจริง ๆ ที่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งสำคัญในควิเบกซึ่งเป็นที่ที่มีการข่มเหงพยานพระยะโฮวาอย่างหนักในช่วงปี 1940-1960
ผมได้เรียนหลายอย่างจากเพื่อนผู้ดูแลในช่วงการประชุมใหญ่หลายครั้งที่มอนทรีออล มีอยู่ปีหนึ่งพี่น้องเดวิด สเปลนซึ่ง
ตอนนี้เป็นคณะกรรมการปกครองทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลการประชุม พอปีต่อมาผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลการประชุม เดวิดก็ช่วยผมเยอะมากหลังจากที่ผมกับแรนดี้ทำงานเยี่ยมหมวดมา 36 ปี ในปี 2011 ผมได้รับเชิญให้มาเป็นผู้สอนในโรงเรียนผู้ดูแลประชาคม ตลอด 2 ปีที่ทำงานนี้เราต้องเปลี่ยนที่นอนถึง 75 ที่แต่มันก็คุ้มค่า ตอนจบของแต่ละชั้นเรียนผู้ดูแลรู้สึกขอบคุณมากเพราะพวกเขาเห็นเลยว่าคณะกรรมการปกครองสนใจสภาพความเชื่อของผู้ดูแลจริง ๆ
ต่อมาผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สอนในโรงเรียนผู้ประกาศราชอาณาจักร นักเรียนโรงเรียนนี้มักจะรู้สึกเหนื่อยและกังวลเพราะมีตารางที่เต็มแน่นจริง ๆ พวกเขาต้องนั่งเรียนวันละ 7 ชั่วโมง ตอนเย็นทำการบ้านวันละ 3 ชั่วโมง และได้รับส่วนมอบหมาย 4-5 ส่วนต่อสัปดาห์ ผมกับผู้สอนอีกคนหนึ่งยังบอกนักเรียนเลยว่าพวกเขาทำไม่ได้แน่ถ้าพระยะโฮวาไม่ช่วย ผมยังจำได้ไม่ลืมว่าพวกนักเรียนรู้สึกทึ่งขนาดไหนที่เห็นว่าถ้าพวกเขาไว้วางใจพระยะโฮวา พวกเขาก็จะทำได้มากกว่าที่คิดไว้
การสนใจคนอื่นมีประโยชน์ตลอดไป
แม่ของผมสนใจและเอาใจใส่คนอื่นเสมอเลยทำให้นักศึกษาของแม่ก้าวหน้าและถึงกับช่วยพ่อให้เลิกต่อต้านความจริง สามวันหลังจากแม่ตาย พ่อทำให้พวกเราแปลกใจเพราะพ่อไปฟังคำบรรยายสาธารณะที่หอประชุม และตลอด 26 ปีต่อมาพ่อก็เข้าร่วมการประชุมไม่เคยขาดแม้พ่อจะไม่เคยรับบัพติศมา และถึงพ่อจะไม่ได้มาเป็นพยานฯ แต่ผู้ดูแลก็บอกผมว่าพ่อจะเป็นคนแรกที่มาถึงหอประชุมเสมอ
นอกจากนั้น สิ่งที่แม่ทำยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผมและน้องสาวทุกคนด้วย น้องสาวของผมทั้ง 3 คนและสามีรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ น้องสาว 2 คนรับใช้ที่สาขาโปรตุเกส และอีกคนหนึ่งรับใช้ที่สาขาเฮติ
ตอนนี้ผมกับแรนดี้รับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษที่เมืองแฮมิลตัน ออนแทรีโอ สมัยที่เราทำงานเยี่ยมหมวดเราชอบที่พี่น้องพาเราไปกลับเยี่ยมและไปศึกษารายศึกษาของพวกเขา แต่ตอนนี้เรามีความสุขมากที่เห็นนักศึกษาของเราเองก้าวหน้า และเมื่อเราสนิทกับพี่น้องในประชาคมใหม่ของเรามากขึ้น เราก็รู้สึกได้กำลังใจที่เห็นว่าพระยะโฮวาอยู่กับพวกเขาทั้งในยามทุกข์และยามสุข
เราสองคนซึ้งใจมากที่พี่น้องหลายคนสนใจเรา และเราก็เลยพยายามที่จะ “ห่วงใย [พี่น้อง] จริง ๆ” และสนับสนุนพวกเขาให้รับใช้พระยะโฮวาเต็มที่เท่าที่พวกเขาทำได้ (2 คร. 7:6, 7) ตัวอย่างเช่น มีอยู่ครอบครัวหนึ่ง คนที่เป็นภรรยาและลูกชายกับลูกสาวเป็นไพโอเนียร์ ผมก็เลยถามคนที่เป็นพ่อว่าเขาเคยคิดอยากจะเป็นไพโอเนียร์ไหม เขาตอบว่าเขาขอเป็นคนสนับสนุนไพโอเนียร์ทั้ง 3 คนในครอบครัวก็แล้วกัน ผมเลยถามเขากลับว่า “คุณจะสนับสนุนพวกเขาได้ดีกว่าพระยะโฮวาเหรอ?” ผมให้กำลังใจเขาที่จะเป็นไพโอเนียร์เพื่อจะมีความสุขเหมือนกับคนอื่น ๆ ในครอบครัวด้วย และอีก 6 เดือนต่อมาเขาก็เป็นไพโอเนียร์จริง ๆ
ผมกับแรนดี้จะยังคง “เล่า . . . ให้คนรุ่นต่อไปฟัง” เกี่ยวกับ “ผลงานที่มหัศจรรย์” ของพระยะโฮวา และเราหวังว่าพวกเขาจะมารับใช้พระองค์อย่างมีความสุขเหมือนกันกับเรา—สด. 71:17, 18
a ตอนนี้เราเรียกว่าผู้ดูแลการประชุมชีวิตและงานรับใช้
b อ่านเรื่องราวชีวิตจริงของพี่น้องเลองซ์ เครโปต์ในหอสังเกตการณ์ กุมภาพันธ์ 2020 หน้า 26-30