บทความศึกษา 31
“ขอให้มั่นคงไว้ อย่าหวั่นไหว”
“พี่น้องที่รัก ขอให้มั่นคงไว้ อย่าหวั่นไหว”—1 คร. 15:58
เพลง 122 ขอให้มั่นคงไว้ อย่าหวั่นไหว
ใจความสำคัญ a
1-2. คริสเตียนเป็นเหมือนตึกสูงยังไง? (1 โครินธ์ 15:58)
ในปี 1978 มีการสร้างตึกสูง 60 ชั้นในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลายคนที่เห็นสงสัยว่าตึกนี้จะอยู่รอดได้ไหมถ้าเกิดแผ่นดินไหว แล้วคนที่ออกแบบตึกทำยังไงเพื่อให้ตึกทนรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในกรุงโตเกียวได้? วิศวกรได้ออกแบบตึกนี้ให้แข็งแรงแต่ก็ยืดหยุ่นพอที่จะดูดซับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวและไม่ทำให้ตึกพังลงมา แล้วคริสเตียนในทุกวันนี้เป็นเหมือนกับตึกนั้นยังไง?
2 คริสเตียนต้องเป็นคนสมดุลโดยต้องมีทั้งความหนักแน่นมั่นคงและความยืดหยุ่น เขาต้องยึดมั่นในเรื่องกฎหมายและมาตรฐานของพระยะโฮวาอย่างไม่หวั่นไหว (อ่าน 1 โครินธ์ 15:58) เขา “พร้อมจะเชื่อฟัง” และไม่ยอมอะลุ่มอล่วย แต่เมื่อเจอสถานการณ์ที่จำเป็น เขาก็ต้องยืดหยุ่นและ “มีเหตุผล” (ยก. 3:17) คริสเตียนที่พยายามจะเป็นคนสมดุลจะไม่เป็นคนยืนกรานเกินไปหรือยอมไปซะทุกเรื่อง ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าเราจะหนักแน่นมั่นคงได้ยังไง แล้วเราจะดู 5 วิธีที่ซาตานใช้เพื่อพยายามทำลายความตั้งใจของเราที่จะหนักแน่นมั่นคงเสมอ นอกจากนั้น เราจะดูด้วยว่าเราจะไม่ทำตามสิ่งที่ซาตานต้องการได้ยังไง
เราจะหนักแน่นมั่นคงได้ยังไง?
3. พระยะโฮวาได้ให้กฎหมายอะไรไว้ที่กิจการ 15:28, 29?
3 พระยะโฮวาเป็นผู้มีสิทธิ์สูงสุดที่จะตั้งกฎหมาย และกฎหมายที่พระองค์ให้ก็เข้าใจได้ชัดเจนเสมอ (อสย. 33:22) เช่น คณะกรรมการ ปกครองในศตวรรษแรกพูดถึง 3 เรื่องที่คริสเตียนต้องหนักแน่นมั่นคงคือ (1) นมัสการพระยะโฮวาเท่านั้น ไม่นมัสการรูปเคารพ (2) นับถือความศักดิ์สิทธิ์ของเลือด และ (3) ทำตามมาตรฐานด้านศีลธรรมของคัมภีร์ไบเบิลเสมอ (อ่านกิจการ 15:28, 29) แล้วคริสเตียนในทุกวันนี้จะหนักแน่นมั่นคงใน 3 เรื่องนี้ได้ยังไง?
4. เราต้องทำอะไรเพื่อจะนมัสการพระยะโฮวาเพียงผู้เดียว? (วิวรณ์ 4:11)
4 เรานมัสการพระยะโฮวาเท่านั้น ไม่นมัสการรูปเคารพ พระยะโฮวาสั่งให้ชาวอิสราเอลนมัสการพระองค์ผู้เดียว (ฉธบ. 5:6-10) และตอนที่พระเยซูถูกมารซาตานล่อใจ ท่านก็บอกชัดเลยว่าเราต้องนมัสการพระยะโฮวาเท่านั้น (มธ. 4:8-10) ดังนั้น เราจะไม่ไหว้รูปเคารพ และเราจะไม่นมัสการมนุษย์คนไหนด้วย เช่น เราจะไม่เทิดทูนหรือคลั่งไคล้ใครจนเหมือนกับเขาเป็นพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นพวกหัวหน้าศาสนา นักการเมือง ดารา นักร้อง หรือนักกีฬาดัง ๆ แต่เราจะอยู่ฝ่ายพระยะโฮวาและนมัสการเฉพาะพระองค์ซึ่งเป็นพระเจ้าผู้ “สร้างทุกสิ่ง”—อ่านวิวรณ์ 4:11
5. ทำไมเราต้องเชื่อฟังกฎหมายของพระยะโฮวาในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและเลือด?
5 เราเชื่อฟังกฎหมายของพระยะโฮวาในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและเลือด เพราะอะไร? เพราะเลือดหมายถึงชีวิตซึ่งเป็นของขวัญที่มีค่าจากพระยะโฮวา (ลนต. 17:14) ตอนที่พระยะโฮวาอนุญาตให้มนุษย์กินเนื้อสัตว์ได้เป็นครั้งแรก พระองค์ก็บอกว่าไม่ให้กินเลือด (ปฐก. 9:4) และต่อมาพระองค์ก็ให้มีการเขียนคำสั่งนี้อย่างชัดเจนในกฎหมายของโมเสส (ลนต. 17:10) พอมาถึงสมัยคริสเตียนยุคแรกพระยะโฮวาก็ชี้นำคณะกรรมการปกครองให้สั่งคริสเตียนทุกคนว่า “ให้งดเว้น . . . จากเลือด” (กจ. 15:28, 29) เราในทุกวันนี้จะเชื่อฟังและหนักแน่นมั่นคงในเรื่องนี้ตอนที่เราต้องตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล b
6. เราต้องทำอะไรเพื่อจะทำตามมาตรฐานของพระยะโฮวาในเรื่องศีลธรรม?
6 เราทำตามมาตรฐานด้านศีลธรรมของพระยะโฮวาเสมอ (ฮบ. 13:4) อัครสาวกเปาโลแนะนำให้เรา “กำจัดแนวโน้มแบบโลกซึ่งอยู่ในอวัยวะ” ของเรา ซึ่งหมายถึงเราต้องพยายามสุดความสามารถที่จะกำจัดความต้องการแบบผิด ๆ เราต้องไม่ดูและไม่ทำอะไรก็ตามที่จะทำให้เราทำผิดศีลธรรมทางเพศ (คส. 3:5; โยบ 31:1) และถึงเราจะถูกล่อใจ เราก็จะเลิกคิดเรื่องนั้นทันทีและไม่ทำอะไรที่จะทำลายสายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา
7. เราควรตั้งใจจะทำอะไร? และทำไม?
7 พระยะโฮวาอยากให้เรา “เต็มใจเชื่อฟัง” (รม. 6:17) เราต้องจำไว้ว่ากฎหมายและคำแนะนำของพระองค์ทุกข้อดีที่สุดสำหรับเราเสมอ เราจะไม่เลือกเชื่อฟังแค่บางข้อ (อสย. 48:17, 18; 1 คร. 6:9, 10) เราพยายามทำให้พระยะโฮวาพอใจ และเราคิดเหมือนกับผู้เขียนหนังสือสดุดีที่บอกว่า “ผมตั้งใจจะทำตามข้อกำหนดของพระองค์ ตลอดชีวิตจนกว่าผมจะตาย” (สด. 119:112) แต่ซาตานพยายามทำลายความตั้งใจของเรา มันทำยังไงบ้าง?
ซาตานพยายามทำลายความตั้งใจของเรายังไง?
8. ซาตานใช้การข่มเหงยังไงเพื่อทำลายความตั้งใจของเรา?
8 การข่มเหง ซาตานใช้การทำร้ายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเพื่อทำลายความตั้งใจของเรา เป้าหมายของมันก็คือมันอยากจะ “ขย้ำกิน” เราซึ่งหมายถึงมันอยากทำลายสายสัมพันธ์ที่เรามีกับพระยะโฮวา (1 ปต. ) คริสเตียนยุคแรกเจอการข่มขู่ ถูกทำร้ายร่างกาย และถูกฆ่าเพราะพวกเขาตั้งใจแน่วแน่ที่จะอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา ( 5:8กจ. 5:27, 28, 40; 7:54-60) ทุกวันนี้ซาตานก็ยังใช้การข่มเหงอยู่ เราเห็นเรื่องนี้ได้จากการที่พี่น้องในรัสเซียและในประเทศอื่น ๆ ถูกรัฐบาลปฏิบัติอย่างเลวร้าย และพี่น้องในที่อื่น ๆ ก็ถูกต่อต้านและถูกข่มเหงด้วยเหมือนกัน
9. พี่น้องคนหนึ่งเจอการกดดันยังไง?
9 การกดดัน นอกจากการข่มเหงแบบตรง ๆ แล้ว ซาตานใช้ “กลอุบาย” อย่างอื่นด้วย (อฟ. 6:11) ให้เรามาดูตัวอย่างของพี่น้องชายคนหนึ่งที่ชื่อบ็อบซึ่งต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดใหญ่ เขาบอกกับหมอหลายคนแล้วว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็ไม่รับการถ่ายเลือดแน่นอน หมอผ่าตัดตกลงทำตามการตัดสินใจของเขา แต่คืนก่อนการผ่าตัดหลังจากที่ครอบครัวของบ็อบกลับบ้านไปหมดแล้ว วิสัญญีแพทย์ได้มาหาเขาตอนกลางคืนและบอกกับเขาว่าถึงหมอจะไม่เติมเลือดให้เขา แต่จะมีการเตรียมเลือดไว้รอในกรณีฉุกเฉิน หมอคงคิดว่าถ้าครอบครัวไม่ได้อยู่ด้วยใกล้ ๆ บ็อบอาจจะเปลี่ยนใจ แต่บ็อบก็ยังยืนยันอย่างหนักแน่นมั่นคง เขาบอกว่าเขาจะไม่เติมเลือดเด็ดขาดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
10. ทำไมการคิดหาเหตุผลแบบคนในโลกถึงอันตราย? (1 โครินธ์ 3:19, 20)
10 การคิดหาเหตุผลแบบคนในโลก ถ้าเราคิดแบบคนทั่วไปในโลก เราก็อาจเริ่มไม่สนใจพระยะโฮวาและมาตรฐานของพระองค์ (อ่าน 1 โครินธ์ 3:19, 20) คนทั่วไปชอบ “ความฉลาดของโลกนี้” คนในเมืองเปอร์กามัมและธิยาทิรามองว่าการผิดศีลธรรมและการนมัสการรูปเคารพเป็นเรื่องธรรมดา และคริสเตียนบางคนในเมืองนั้นก็ได้รับอิทธิพลจากพวกเขา พระเยซูก็เลยเตือนสองประชาคมนั้นแรง ๆ ที่พวกเขายอมให้มีการทำผิดศีลธรรมทางเพศ (วว. 2:14, 20) ทุกวันนี้เราก็เจอความกดดันให้ยอมรับความคิดแบบผิด ๆ ของคนทั่วไปในโลก คนในครอบครัว ญาติ หรือเพื่อน ๆ อาจพูดโน้มน้าวให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเชื่อเข้มงวดเกินไปและไม่ต้องสนใจทำตามกฎหมายของพระเจ้าก็ได้ เช่น พวกเขาอาจบอกว่าการทำตามมาตรฐานด้านศีลธรรมในคัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่เรื่องสำคัญแถมยังล้าสมัย
11. เราต้องระวังที่จะไม่ทำอะไร?
11 บางครั้งอาจเป็นไปได้ที่เรารู้สึกว่าคำแนะนำของพระยะโฮวายังไม่ชัดพอ เราเลยอาจอยากทำ “เลยขอบเขตที่เขียนบอกไว้” (1 คร. 4:6) พวกหัวหน้าศาสนาในสมัยพระเยซูก็ทำผิดแบบนั้นแหละ พวกเขาตั้งกฎเพิ่มขึ้นอีกนอกเหนือจากกฎหมายของโมเสส เหมือนเอาของหนักมาให้คนอื่นแบกไว้ (มธ. 23:4) พระยะโฮวาให้คำแนะนำที่ชัดเจนกับเราผ่านทางคัมภีร์ไบเบิลและผ่านทางองค์การของพระองค์อยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มคำแนะนำอะไรเข้าไป (สภษ. 3:5-7) ดังนั้น เราไม่ควรเลยขอบเขตที่เขียนบอกไว้หรือตั้งกฎเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวให้พี่น้องทั้ง ๆ ที่คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอก
12. ซาตานใช้ “คำหลอกลวงเหลวไหล” ยังไง?
12 คำหลอกลวง ซาตานใช้ “คำหลอกลวงเหลวไหล” และ “แนวคิดต่าง ๆ ของโลก” เพื่อทำให้ผู้คนแตกแยกและชักนำพวกเขาไปผิดทาง (คส. 2:8) ในสมัยศตวรรษแรก สิ่งเหล่านี้ได้แก่ปรัชญาต่าง ๆ ของมนุษย์ คำสอนของพวกยิวที่ไม่ได้เป็นไปตามพระคัมภีร์ และคำสอนที่ว่าคริสเตียนยังต้องทำตามกฎหมายของโมเสส สิ่งเหล่านี้เป็นคำหลอกลวงเพราะมันทำให้ผู้คนไม่สนใจพระยะโฮวาผู้ให้สติปัญญาแท้ ทุกวันนี้ซาตานก็ใช้สื่อต่าง ๆ และโซเชียลมีเดียเพื่อแพร่ทฤษฎีสมคบคิดและข่าวปลอมที่มาจากพวกผู้นำทางการเมือง เราเห็นเรื่อง นี้ชัดเจนในช่วงการระบาดของโควิด-19 c พยานพระยะโฮวาฟังคำแนะนำขององค์การ พวกเราเลยไม่กังวลเกินไปเหมือนคนอื่นที่หลงเชื่อข่าวปลอม—มธ. 24:45
13. ทำไมเราต้องระวังสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เขว?
13 สิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เขว เราต้องจดจ่อกับสิ่งที่ “สำคัญกว่า” (ฟป. 1:9, 10) สิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เขวมักจะทำให้เสียเวลา เสียกำลังมาก และทำให้เราไม่จดจ่อกับสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่า เรื่องธรรมดา ๆ ในชีวิต เช่น การกิน การดื่ม การพักผ่อนหย่อนใจ งานอาชีพอาจกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราเขวได้ถ้าเราเอาแต่ทุ่มเทกับเรื่องเหล่านี้มากเกินไป (ลก. 21:34, 35) นอกจากนั้น ทุกวันมีข่าวในสื่อต่าง ๆ มากมายนับไม่ถ้วนทั้งเรื่องการเมืองและความขัดแย้งทางสังคม เราต้องทำให้แน่ใจว่าเราไม่สนใจเรื่องเหล่านี้มากเกินไป ไม่อย่างนั้นเราอาจเริ่มเลือกข้างในใจ ซาตานใช้ทั้ง 5 วิธีที่พูดถึงไปแล้วเพื่อทำลายความตั้งใจของเราที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง ให้เรามาดูกันว่าเราจะหนักแน่นมั่นคงและไม่ทำตามสิ่งที่ซาตานต้องการได้ยังไง
เราต้องทำอะไรเพื่อจะหนักแน่นมั่นคงเสมอ?
14. สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราหนักแน่นมั่นคงอยู่ฝ่ายพระยะโฮวาต่อ ๆ ไปคืออะไร?
14 คิดว่าทำไมคุณถึงอุทิศตัวให้พระยะโฮวาและรับบัพติศมา คุณตัดสินใจทำแบบนั้นเพราะคุณอยากอยู่ฝ่ายพระยะโฮวาใช่ไหม? ดังนั้น ให้ลองคิดดูว่าตอนนั้นอะไรช่วยคุณให้มั่นใจว่าคุณพบความจริงแล้ว คุณได้รู้จักพระยะโฮวา นับถือและรักพระองค์เหมือนเป็นพ่อในสวรรค์ของคุณ คุณมีความเชื่อมากขึ้นซึ่งกระตุ้นให้คุณกลับใจ คุณเลิกทำสิ่งที่พระยะโฮวาเกลียดและใช้ชีวิตอย่างที่พระองค์พอใจ และเมื่อคุณเห็นว่าพระยะโฮวาให้อภัยคุณแล้ว คุณก็ยิ่งสบายใจ (สด. 32:1, 2) คุณเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน และเริ่มเล่าสิ่งดี ๆ ที่คุณได้เรียนในคัมภีร์ไบเบิลให้คนอื่นฟัง หลังจากนั้นคุณก็อุทิศตัวและรับบัพติศมา และตอนนี้คุณก็กำลังเดินอยู่ บนทางซึ่งนำไปถึงชีวิต และตั้งใจว่าจะไม่ออกจากทางนี้—มธ. 7:13, 14
15. ทำไมการศึกษาส่วนตัวและคิดใคร่ครวญถึงเป็นประโยชน์?
15 ศึกษาส่วนตัวและคิดใคร่ครวญ ถ้าต้นไม้ต้นไหนมีรากลึก มันจะไม่โค่นล้มเมื่อเจอพายุ เหมือนกันถ้าเรามีความเชื่อเข้มแข็ง เราก็จะหนักแน่นมั่นคงไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อต้นไม้โตขึ้น มันจะหยั่งรากลึกลงไปในดินและแผ่ขยายรากออกไป คล้ายกันเมื่อเราศึกษาส่วนตัวและคิดใคร่ครวญ ความเชื่อของเราก็จะยิ่งเข้มแข็ง และเราจะยิ่งมั่นใจว่าแนวทางของพระยะโฮวาดีที่สุด (คส. 2:6, 7) ตอนที่เราศึกษาส่วนตัว ให้พยายามคิดว่าการสอน การชี้นำ และการปกป้องจากพระยะโฮวาช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ในอดีตยังไง ตัวอย่างเช่น เอเสเคียลเห็นนิมิตเรื่องวิหาร และเขาสนใจเป็นพิเศษตอนที่ทูตสวรรค์วัดวิหารนั้น นิมิตนี้ทำให้เอเสเคียลเข้มแข็งและได้กำลังใจ และทำให้เรารู้ว่าเราต้องทำอะไรบ้างเพื่อรักษามาตรฐานของพระยะโฮวาเรื่องการนมัสการบริสุทธิ์ d (อสค. 40:1-4; 43:10-12) ดังนั้น ถ้าเราใช้เวลาศึกษาส่วนตัวและคิดใคร่ครวญความรู้ที่ลึกซึ้งในคัมภีร์ไบเบิล เราก็จะได้ประโยชน์
16. การมีใจมั่นคงช่วยบ็อบยังไง? (สดุดี 112:7)
16 ทำให้ใจของคุณมั่นคง กษัตริย์ดาวิดบอกว่าเขาจะไม่เลิกรักพระยะโฮวา เขาร้องเพลงว่า “พระเจ้าของผม ใจผมมั่นคง” (สด. 57:7) ใจเราก็มั่นคงและวางใจพระยะโฮวาเต็มร้อยได้เหมือนกัน (อ่านสดุดี 112:7) ให้เรามาดูตัวอย่างของบ็อบอีกครั้งว่าอะไรช่วยเขาให้หนักแน่นมั่นคงได้ ตอนที่หมอบอกเขาว่าจะมีการเตรียมเลือดไว้รอในกรณีฉุกเฉิน เขาตอบหมอไปทันทีว่าถ้าหมอทำแบบนั้น เขาจะออกจากโรงพยาบาลเดี๋ยวนั้นเลย ในเวลาต่อมาบ็อบพูดถึงเหตุการณ์นั้นว่า “ตอนนั้นผมไม่ต้องเสียเวลาคิดเลยครับ และผมก็ไม่กลัวด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผม”
17. เราได้เรียนอะไรจากประสบการณ์ของบ็อบ? (ดูภาพด้วย)
17 การที่บ็อบหนักแน่นมั่นคงได้เป็นเพราะเขาตัดสินใจไว้นานแล้วก่อนจะเข้าโรงพยาบาลว่าเขาจะเชื่อฟังพระยะโฮวา สิ่งที่เขาทำก็คือ อย่างแรก เขาตั้งใจทำให้พระยะโฮวาพอใจ จากนั้น อย่างที่ 2 เขาอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับหนังสือต่าง ๆ ขององค์การอย่างละเอียดเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและเลือด และอย่างที่ 3 เขามั่นใจว่าการทำตามการชี้นำของพระยะโฮวาจะให้ประโยชน์กับเขาทั้งตอนนี้และตลอดไป ถ้าเราทำแบบเขา เราเองก็มีใจที่มั่นคงได้ไม่ว่าเราจะเจอปัญหาหรือความยากลำบากอะไรก็ตาม
18. ตัวอย่างของบาราคสอนเรายังไงให้ไว้วางใจพระยะโฮวา? (ดูภาพหน้าปก)
18 ไว้วางใจพระยะโฮวา ให้เรามาดูกันว่าการไว้วางใจการชี้นำของพระยะโฮวาช่วยบาราคยังไงให้เอาชนะศัตรูได้ พระยะโฮวาให้บาราคพาทหารไปสู้กับกองทัพชาวคานาอันที่มีอาวุธครบมือ ตอนนั้นกองทัพอิสราเอลไม่มีโล่หรือหอกแม้แต่อันเดียว (วนฉ. 5:8) ผู้พยากรณ์หญิงเดโบราห์บอกบาราคให้ลงจากภูเขาทาโบร์ไปสู้กับแม่ทัพสิเสราที่มีทหารและรถศึกถึง 900 คัน แม้บาราครู้ว่ารถศึกเหล่านั้นจะได้เปรียบเมื่อรบในที่ราบแต่เขาก็เชื่อฟัง ตอนที่ทหารของบาราคลงไปสู้ตรงที่ราบ พระยะโฮวาก็ให้มีฝนตกลงมาอย่างหนักจนรถศึกของพวกคานาอันจมลงไปในโคลน และพระองค์ก็ช่วยให้บาราคเอาชนะได้ (วนฉ. 4:1-7, 10, 13-16) พระยะโฮวาก็จะช่วยให้เราชนะด้วยถ้าเราไว้วางใจพระองค์และคำแนะนำของพระองค์ที่ให้ผ่านทางองค์การ—ฉธบ. 31:6
ตั้งใจที่จะหนักแน่นมั่นคงเสมอ
19. ทำไมคุณถึงอยากหนักแน่นมั่นคงเสมอ?
19 เพราะเรามีชีวิตอยู่ในโลกของซาตาน เราเลยต้องพยายามต่อ ๆ ไปที่จะหนักแน่นมั่นคง (1 ทธ. 6:11, 12; 2 ปต. 3:17) ให้เราตั้งใจที่จะไม่ยอมแพ้การข่มเหง การกดดัน การคิดหาเหตุผลแบบคนในโลก คำหลอกลวง และสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เขว (อฟ. 4:14) ให้เราหนักแน่นมั่นคงต่อ ๆ ไป รักพระยะโฮวา และเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์อย่างไม่หวั่นไหว นอกจากนั้น เราต้องเป็นคนมีเหตุผลด้วย ในบทความหน้าเราจะคุยกันว่าพระยะโฮวากับพระเยซูเป็นตัวอย่างที่ดีมากยังไงในเรื่องการเป็นคนมีเหตุผล
เพลง 129 เราจะอดทนต่อ ๆ ไป
a ตั้งแต่สมัยของอาดัมกับเอวา ซาตานพยายามทำให้มนุษย์คิดว่าเขาควรตัดสินใจเองว่าอะไรถูกอะไรผิด ทุกวันนี้ซาตานก็อยากให้เราไม่สนใจกฎหมายของพระยะโฮวาและการชี้นำขององค์การ บทความนี้จะช่วยให้เราไม่คิดเหมือนคนในโลกของซาตานที่อยากคิดเองตัดสินใจเอง และจะช่วยให้เราหนักแน่นมั่นคงที่จะอยู่ฝ่ายพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป
b ดูข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่คริสเตียนจะเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าเรื่องเลือดในบท 39 ของหนังสือชีวิตที่มีความสุขตลอดไป
c ดูบทความ “คุณจะไม่หลงเชื่อข้อมูลผิด ๆ ได้ยังไง?” ในเว็บไซต์ jw.org
d ดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบท 13 และ 14 ของหนังสือการนมัสการที่บริสุทธิ์ของพระยะโฮวาได้รับการฟื้นฟู!