ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เลียนแบบพระยะโฮวาโดยคิดถึงความรู้สึกคนอื่น

เลียนแบบพระยะโฮวาโดยคิดถึงความรู้สึกคนอื่น

“คน​ที่​เห็น​ใจ​คน​ต่ำต้อย​ก็​มี​ความ​สุข”—สดุดี 41:1

เพลง 130, 107

1. ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​รัก​กัน​อย่าง​ไร?

ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ทั่ว​โลก​เป็น​เหมือน​ครอบครัว​เดียว พวก​เขา​เป็น​พี่​น้อง​ที่​รัก​กัน (1 ยอห์น 4:16, 21) บาง​ครั้ง​พวก​เขา​ก็​เสีย​สละ​มาก​เพื่อ​กัน​และ​กัน แต่​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​พวก​เขา​แสดง​ความ​รัก​โดย​ทำ​สิ่ง​ดี​เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้​กัน เช่น พวก​เขา​จะ​ใช้​คำ​พูด​ดี ๆ ชม​กัน หรือ​ทำ​อะไร​ดี ๆ ให้​กัน เมื่อ​เรา​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​คน​อื่น เรา​ก็​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ผู้​เป็น​พ่อ​ใน​สวรรค์—เอเฟซัส 5:1

2. พระ​เยซู​เลียน​แบบ​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ไร?

2 พระ​เยซู​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​พ่อ​ของ​ท่าน​อย่าง​สมบูรณ์​แบบ ท่าน​ทำ​ดี​และ​อ่อนโยน​กับ​คน​อื่น​เสมอ ท่าน​บอก​ว่า “ทุก​คน​ที่​ทำ​งาน​หนัก​เหน็ด​เหนื่อย​และ​มี​ภาระ​มาก มา​หา​ผม​สิ แล้ว​ผม​จะ​ทำ​ให้​คุณ​สดชื่น​หาย​เหนื่อย” (มัทธิว 11:28, 29) ถ้า​เรา​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​โดย​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​และ “เห็น​ใจ​คน​ต่ำต้อย” เรา​ก็​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​มี​ความ​สุข​และ​เรา​ก็​จะ​มี​ความ​สุข​ด้วย (สดุดี 41:1) ใน​บทความ​นี้​เรา​จะ​ดู​กัน​ว่า​เรา​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ที่​แสดง​ว่า​เรา​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​ใน​ครอบครัว พี่​น้อง และ​คน​ใน​เขต​ประกาศ

คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​คน​ใน​ครอบครัว

3. สามี​จะ​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ภรรยา? (ดู​ภาพ​แรก)

3 สามี​ต้อง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี และ​แสดง​ว่า​เขา​รัก​และ​เป็น​ห่วง​ครอบครัว​ของ​เขา (เอเฟซัส 5:25; 6:4) คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า​สามี​ต้อง​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​และ​เข้าใจ​ภรรยา (1 เปโตร 3:7) สามี​ที่​เข้าใจ​ภรรยา​จะ​รู้​ว่า​แม้​เขา​มี​หลาย​อย่าง​ที่​ต่าง​กับ​ภรรยา​มาก แต่​ไม่​ใช่​ว่า​เขา​ดี​กว่า​ภรรยา (ปฐมกาล 2:18) เขา​ต้อง​เข้าใจ​ความ​รู้สึก คำนึง​ถึง​ศักดิ์ศรี และ​ให้​เกียรติ​เธอ ภรรยา​คน​หนึ่ง​ใน​แคนาดา​พูด​ถึง​สามี​ว่า “เขา​ใส่​ใจความ​รู้สึก​ฉัน​เสมอ ไม่​เคย​บอก​ว่า ‘คิด​อย่าง​นี้​ได้​ยัง​ไง?’ เขา​เป็น​ผู้​ฟัง​ที่​ดี และ​ตอน​ที่​ฉัน​คิด​อะไร​ไม่​ค่อย​ถูก​ต้อง เขา​จะ​ค่อย ๆ พูด​ค่อย ๆ ปรับ​ความ​คิด​ของ​ฉัน”

4. สามี​จะ​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ภรรยา​ตอน​ที่​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ผู้​หญิง​คน​อื่น?

4 สามี​ที่​รัก​ภรรยา​จะ​ที่​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ภรรยา​ตอน​ที่​เขา​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ผู้​หญิง​คน​อื่น เขา​จะ​ไม่​จีบ​ผู้​หญิง​อื่น​เล่น ๆ หรือ​สนใจ​คน​อื่น​ใน​แบบ​ที่​ไม่​เหมาะ​สม นอก​จาก​นั้น เขา​จะ​ไม่​ดู​เว็บไซต์​ที่​ไม่​ดี และ​จะ​ไม่​สนใจ​ผู้​หญิง​คน​อื่น​ใน​โซเชียล​มีเดีย​หรือ​ใน​อินเทอร์เน็ต (โยบ 31:1) เขา​ซื่อ​สัตย์​กับ​ภรรยา​ไม่​ใช่​แค่​เพราะ​เขา​รัก​เธอ แต่​เพราะ​รัก​พระ​ยะโฮวา​และ​เกลียด​สิ่ง​ชั่ว—อ่าน​สดุดี 19:14; 97:10

5. ภรรยา​จะ​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​สามี?

5 ถ้า​สามี​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​ผู้​นำ​ที่​แสดง​ความ​รัก มัน​ก็​ทำ​ให้​ภรรยา​รู้สึก​ว่า​ง่าย​ที่​จะ “นับถือ​สามี​จาก​ใจ” (เอเฟซัส 5:22-25, 33) และ​เมื่อ​ภรรยา​นับถือ​สามี เธอ​จะ​พยายาม​เข้าใจ​และ​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​เขา​ตอน​ที่​เขา​ยุ่ง​อยู่​กับ​งาน​ประชาคม​หรือ​ต้อง​จัด​การ​ปัญหา​อื่น ๆ สามี​คน​หนึ่ง​ใน​บริเตน​บอก​ว่า “บาง​ครั้ง ถ้า​ผม​มี​สี​หน้า​ท่า​ทาง​เปลี่ยน​ไป ภรรยา​จะ​ดู​ออก​ว่า​มี​อะไร​บาง​อย่าง​ทำ​ให้​ผม​ไม่​สบาย​ใจ เธอ​จะ​ใช้​หลักการ​ใน​สุภาษิต 20:5 ซึ่ง​บาง​ที​เธอ​อาจ​ต้อง​รอ​จังหวะ​ดี ๆ ที่​จะ ‘ตัก​ความ​คิด​ผม​ขึ้น​มา’ และ​ถึง​ตอน​นั้น​ผม​ก็​จะ​เล่า​ให้​เธอ​ฟัง​ถ้า​เป็น​เรื่อง​ที่​ผม​เล่า​ได้”

6. เรา​ทุก​คน​จะ​ช่วย​เด็ก ๆ ให้​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น​ได้​อย่าง​ไร? และ​เด็ก ๆ จะ​ได้​รับ​ประโยชน์​อะไร?

6 ถ้า​พ่อ​แม่​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​กัน​และ​กัน ลูก ๆ ก็​จะ​เลียน​แบบ นอก​จาก​นั้น พ่อ​แม่​ต้อง​สอน​ลูก​ให้​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น​ด้วย เช่น พวก​เขา​ต้อง​สอน​ลูก​ไม่​ให้​วิ่ง​ใน​หอ​ประชุม และ​สอน​ลูก​ตอน​ไป​กิน​เลี้ยง​สังสรรค์​ว่า​ต้อง​รอ​ให้​คน​ที่​อายุ​มาก​ไป​ตัก​ข้าว​ก่อน ทุก​คน​ใน​ประชาคม​สามารถ​สนับสนุน​พ่อ​แม่​ได้ ดัง​นั้น เรา​ควร​ชม​เมื่อ​เด็ก​ทำ​สิ่ง​ดี ๆ เช่น เปิด​ประตู​ให้​เรา นี่​จะ​ทำ​ให้​เด็ก​รู้สึก​ดี และ​เรียน​รู้​ว่า “การ​ให้​ทำ​ให้​มี​ความ​สุข​ยิ่ง​กว่า​การ​รับ”—กิจการ 20:35

คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​พี่​น้อง

7. พระ​เยซู​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​ชาย​หู​หนวก​คน​หนึ่ง​อย่าง​ไร? และ​เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​เรื่อง​นี้?

7 วัน​หนึ่ง​พระ​เยซู​เดิน​ทาง​ผ่าน​เขต​เดคาโปลิส มี​คน “พา​ผู้​ชาย​คน​หนึ่ง​ที่​หู​หนวก​และ​พูด​ไม่​ค่อย​ได้” มา​หา​ท่าน (มาระโก 7:31-35) ท่าน​ไม่​ได้​รักษา​เขา​ต่อ​หน้า​คน​มาก​มาย ทำไม? เพราะ​เขา​หู​หนวก เขา​เลย​อาจ​รู้สึก​อึดอัด​ถ้า​มี​คน​เยอะ ๆ พระ​เยซู​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​เขา ท่าน “พา​เขา​แยก​ออก​มา​จาก​ฝูง​ชน” พา​ไป​ใน​ที่​ที่​ไม่​มี​ใคร​และ​รักษา​เขา​ที่​นั่น ถึง​เรา​จะ​ทำ​การ​อัศจรรย์​ไม่​ได้ แต่​เรา​ก็​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​และ​ความ​จำเป็น​ของ​พี่​น้อง​ได้ เปาโล​เขียน​ว่า “ให้​เรา​สนใจ​กัน เรา​จะ​ได้​กระตุ้น​กัน​ให้​มี​ความ​รัก​และ​ทำ​ความ​ดี” (ฮีบรู 10:24) พระ​เยซู​เข้าใจ​ว่า​คน​หู​หนวก​คน​นี้​รู้สึก​อย่าง​ไร​และ​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​เขา ท่าน​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ให้​เรา​จริง ๆ

8, 9. เรา​จะ​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​เรา​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​พี่​น้อง​สูง​อายุ เจ็บ​ป่วย และ​พิการ? ขอ​ยก​ตัว​อย่าง

8 คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​พี่​น้อง​ที่​สูง​อายุ ป่วย และ​พิการ ลักษณะ​เด่น​ของ​ประชาคม​คริสเตียน​คือ​ทุก​คน​รัก​กัน ไม่​ใช่​การ​ทำ​ผล​งาน​ให้​ได้​มาก ๆ (ยอห์น 13:34, 35) ความ​รัก​ทำ​ให้​เรา​พยายาม​เต็ม​ที่​ที่​จะ​ช่วยเหลือ​พี่​น้อง​สูง​อายุ เจ็บ​ป่วย หรือ​พิการ เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ไป​ประชุม​และ​ไป​ประกาศ​ได้ เรา​เต็ม​ใจ​ช่วย​พวก​เขา​แม้​เรา​จะ​ไม่​สะดวก หรือ​มัน​อาจ​ทำ​ให้​เรา​รับใช้​ไม่​ได้​มาก​เหมือน​ปกติ หรือ​พี่​น้อง​เหล่า​นั้น​อาจ​ทำ​อะไร​ได้​ไม่​ค่อย​มาก (มัทธิว 13:23) ไมเคิล​ซึ่ง​นั่ง​รถ​เข็น​บอก​ว่า เขา​เห็น​ค่า​ครอบครัว​กับ​พี่​น้อง​จริง ๆ ที่​ช่วย​เขา ไมเคิล​บอก​ว่า “เพราะ​ทุก​คน​ช่วย ผม​เลย​ไป​ประชุม​ได้​แทบ​ทุก​ครั้ง ผม​ยัง​ไป​ประกาศ​เป็น​ประจำ​ได้​ด้วย ผม​ชอบ​ประกาศ​สาธารณะ​เป็น​พิเศษ​ครับ”

9 ใน​เบเธล​หลาย​แห่ง มี​พี่​น้อง​สูง​อายุ ป่วย หรือ​พิการ ผู้​ดู​แล​หลาย​คน​ที่​รัก​และ​เอา​ใจ​ใส่​พี่​น้อง​เหล่า​นี้​จะ​ดู​แล​ให้​พวก​เขา​สามารถ​ประกาศ​ทาง​จดหมาย​หรือ​โทรศัพท์​ได้ เช่น บิล​ซึ่ง​อายุ 86 เขียน​จดหมาย​ไป​หา​ผู้​คน​ใน​เขต​ที่​ห่าง​ไกล​มาก เขา​บอก​ว่า “เรา​ขอบคุณ​มาก​จริง ๆ สำหรับ​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ยัง​มี​โอกาส​ได้​ประกาศ​ทาง​จดหมาย” แนนซี​ซึ่ง​อายุ​เกือบ 90 ปี​แล้ว​บอก​ว่า “ฉัน​ไม่​ได้​มอง​ว่า​การ​เขียน​จดหมาย​เป็น​แค่​การ​สัก​แต่​ว่า​เขียน​อะไร ๆ ใส่​ซอง มัน​เป็น​งาน​รับใช้ ผู้​คน​ต้อง​รู้​ความ​จริง” เอเธล​ซึ่ง​เกิด​ใน​ปี 1921 บอก​ว่า “ความ​เจ็บ​ปวด​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​ฉัน บาง​วัน​แค่​จะ​แต่ง​ตัว​ก็​ยัง​แทบ​ไม่​ไหว” แต่​เธอ​ยัง​ชอบ​ประกาศ​ทาง​โทรศัพท์​และ​มี​ราย​เยี่ยม​ดี ๆ ด้วย บาร์บารา​อายุ 85 เล่า​ว่า “ฉัน​สุขภาพ​ไม่​ดี ไป​ประกาศ​เป็น​ประจำ​ไม่​ค่อย​ไหว การ​ประกาศ​ทาง​โทรศัพท์​ทำ​ให้​ฉัน​มี​โอกาส​ได้​คุย​กับ​ผู้​คน ฉัน​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​จริง ๆ ค่ะ” ใน​ช่วง​ไม่​ถึง​หนึ่ง​ปี พี่​น้อง​สูง​อายุ​ที่​มี​ค่า​เหล่า​นี้​กับ​พี่​น้อง​สูง​อายุ​อีก​หลาย​คน​ใน​เบเธล​แห่ง​หนึ่ง​มี​จำนวน​ชั่วโมง​การ​ประกาศ​รวม​กัน​ถึง 1,228 ชั่วโมง เขียน​จดหมาย 6,265 ฉบับ คุย​โทรศัพท์​กับ​ผู้​คน​มาก​กว่า 2,000 ครั้ง ให้​หนังสือ​และ​สื่อ​ต่าง ๆ เป็น​จำนวน​ถึง 6,315 ชิ้น! เรา​มั่น​ใจ​ได้​เลย​ว่า​พระ​ยะโฮวา​มี​ความ​สุข​มาก​ที่​พวก​เขา​พยายาม​ขนาด​นี้—สุภาษิต 27:11

10. เรา​จะ​ช่วย​พี่​น้อง​ให้​ได้​ประโยชน์​เต็ม​ที่​จาก​การ​ประชุม​ได้​อย่าง​ไร?

10 คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น​ที่​การ​ประชุม เมื่อ​เรา​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​พี่​น้อง พวก​เขา​จะ​ได้​ประโยชน์​จาก​การ​ประชุม​เต็ม​ที่ วิธี​หนึ่ง​ที่​เรา​ทำ​ได้​คือ​มา​ประชุม​ตรง​เวลา นี่​จะ​ช่วย​ไม่​ให้​พี่​น้อง​เสีย​สมาธิ​ใน​การ​ประชุม แต่​บาง​ครั้ง​ก็​อาจ​เกิด​เรื่อง​ไม่​คาด​คิด​ที่​ทำ​ให้​เรา​ต้อง​มา​สาย แต่​ถ้า​เรา​มา​สาย​บ่อย ๆ เรา​ต้อง​คิด​ว่า​มัน​อาจ​ส่ง​ผล​ต่อ​พี่​น้อง​อย่าง​ไร เรา​จะ​ปรับ​ปรุง​ตัว​ได้​ไหม​เพื่อ​แสดง​ว่า​เรา​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​พวก​เขา จำ​ไว้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​เยซู​เป็น​เจ้าภาพ​เชิญ​เรา​มา​ประชุม (มัทธิว 18:20) เรา​ต้อง​แสดง​ว่า​นับถือ​และ​ให้​เกียรติ​พระองค์​ทั้ง​สอง​โดย​ไม่​มา​สาย

11. ทำไม​พี่​น้อง​ที่​มี​ส่วน​ใน​การ​ประชุม​ต้อง​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่ 1 โครินธ์ 14:40?

11 ถ้า​เรา​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​พี่​น้อง เรา​จะ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ว่า “ให้​ทำ​ทุก​สิ่ง​อย่าง​เหมาะ​สม​และ​เป็น​ระเบียบ​เรียบร้อย” (1 โครินธ์ 14:40) พี่​น้อง​ที่​มี​ส่วน​ใน​การ​ประชุม​ควร​ทำ​ส่วน​จบ​ตรง​เวลา การ​ทำ​แบบ​นี้​แสดง​ว่า​เขา​ไม่​ใช่​แค่​คิด​ถึง​คน​ที่​ทำ​ส่วน​ต่อ​ไป​เท่า​นั้น แต่​ยัง​คิด​ถึง​พี่​น้อง​ทั้ง​ประชาคม​ด้วย คิด​ดู​สิ ถ้า​การ​ประชุม​จบ​เลย​เวลา​มัน​จะ​เป็น​อย่าง​ไร พี่​น้อง​บาง​คน​อยู่​ไกล​และ​ต้อง​ขับ​รถ​มา​ไกล บาง​คน​อาจ​ต้อง​ขึ้น​รถ​เมล์​หรือ​รถไฟ ส่วน​พี่​น้อง​บาง​คน​ก็​มี​สามี​หรือ​ภรรยา​ที่​ไม่​เป็น​พยาน​ฯ

12. ทำไม​ผู้​ดู​แล​สม​ควร​ได้​รับ​ความ​รัก​และ​ความ​นับถือ​จาก​เรา? (ดู​กรอบ “คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​พี่​น้อง​ที่​นำ​หน้า”)

12 ผู้​ดู​แล​ทำ​งาน​หนัก​ใน​ประชาคม​และ​ใน​เขต​ประกาศ พวก​เขา​สม​ควร​ได้​รับ​ความ​รัก​และ​ความ​นับถือ​จาก​เรา (อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:12, 13) คุณ​คง​เห็น​ค่า​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ทำ​มาก​แน่ ๆ คุณ​สามารถ​แสดง​ว่า​คุณ​เห็น​ค่า​พวก​เขา​ด้วย​การ​เต็ม​ใจ​เชื่อ​ฟัง​และ​ให้​ความ​ร่วม​มือ เพราะ “พวก​เขา​คอย​ดู​แล​พวก​คุณ​อยู่​เหมือน​กับ​คน​ที่​ต้อง​รายงาน​ต่อ​นาย”—ฮีบรู 13:7, 17

คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​คน​ที่​เรา​ประกาศ

13. เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​พระ​เยซู?

13 คำ​พยากรณ์​ของ​อิสยาห์​เกี่ยว​กับ​พระ​เยซู​บอก​ว่า “ต้น​อ้อ​ที่​ช้ำ​แล้ว เขา​จะ​ไม่​หัก ไส้​ตะเกียง​ที่​มี​ไฟ​ริบหรี่ เขา​จะ​ไม่​ดับ” (อิสยาห์ 42:3) พระ​เยซู​รัก​ผู้​คน ท่าน​เลย​เห็น​อก​เห็น​ใจ​พวก​เขา ท่าน​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ของ​คน​ที่​ท้อ​และ​หมด​แรง พวก​เขา​เป็น​เหมือน “ต้น​อ้อ​ที่​ช้ำ” หรือ “ไส้​ตะเกียง​ที่​มี​ไฟ​ริบหรี่” ท่าน​เลย​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​พวก​เขา อด​ทน​และ​อ่อนโยน​กับ​พวก​เขา แม้​แต่​เด็ก ๆ ก็​อยาก​อยู่​ใกล้​พระ​เยซู (มาระโก 10:14) เรา​ไม่​สามารถ​เข้าใจ​ผู้​คน​ได้​เหมือน​พระ​เยซู​และ​สอน​ไม่​ได้​ขนาด​ท่าน แต่​เรา​สามารถ​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​ใน​เขต​ทำ​งาน​ของ​เรา​ได้​โดย​คิด​ว่า​เรา​ควร​จะ​พูด​กับ​เขา​อย่าง​ไร ไป​หา​เขา​ตอน​ไหน และ​จะ​คุย​กับ​เขา​นาน​เท่า​ไร

14. ทำไม​ควร​คิด​ให้​ดี​ว่า​จะ​พูด​อย่าง​ไร?

14 พูด​อย่าง​ไร? หลาย​ล้าน​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้ “ถูก​ขูดรีด​และ​ถูก​ทอดทิ้ง” เพราะ​อยู่​ภาย​ใต้​ระบบ​ของ​โลก​ที่​มี​แต่​การ​คด​โกง​และ​ชั่ว​ร้าย ไม่​ว่า​จะ​เป็น​การ​ค้า การ​เมือง และ​ศาสนา​ต่าง ๆ (มัทธิว 9:36) ผล​ก็​คือ​หลาย​คน​รู้สึก​ไม่​ไว้​ใจ​ใคร​และ​สิ้น​หวัง ดัง​นั้น เวลา​เรา​พูด​กับ​พวก​เขา คำ​พูด​และ​น้ำ​เสียง​ของ​เรา​ควร​อ่อนโยน​และ​แสดง​ว่า​เป็น​ห่วง​เขา​จริง ๆ หลาย​คน​ชอบ​ฟัง​เรา ไม่​ใช่​แค่​เพราะ​เรา​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล​เก่ง แต่​เรา​สนใจ นับถือ และ​ให้​เกียรติ​เขา​จริง ๆ

15. เรา​จะ​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​คน​ใน​เขต​ประกาศ​อย่าง​ไร​บ้าง?

15 มี​หลาย​วิธี​ที่​เรา​จะ​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​คน​ใน​เขต​ประกาศ ตอน​ที่​เรา​ถาม​คำ​ถาม เรา​ต้อง​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​ฟัง เรา​ต้อง​นับถือ​และ​ให้​เกียรติ​เขา ไพโอเนียร์​คน​หนึ่ง​ประกาศ​ใน​เขต​ที่​ผู้​คน​ขี้อาย เขา​เลย​ไม่​ใช้​คำ​ถาม​ที่​ทำ​ให้​อึดอัด​และ​ไม่​รู้​ว่า​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร เช่น เขา​จะ​ไม่​ถาม​ว่า “คุณ​รู้​จัก​ชื่อ​พระเจ้า​ไหม?” หรือ “คุณ​รู้​ไหม​ว่า​รัฐบาล​ของ​พระเจ้า​คือ​อะไร?” แต่​จะ​พูด​ว่า “ผม​เรียน​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​พระเจ้า​มี​ชื่อ ผม​อยาก​ให้​คุณ​ดู​ได้​ไหม​ว่า​พระองค์​ชื่อ​อะไร?” วิธี​นี้​อาจ​ใช้​ไม่​ได้​ทุก​เขต​เพราะ​คน​เรา​แตกต่าง​กัน​และ​วัฒนธรรม​ก็​แตกต่าง​กัน แต่​เรา​ควร​ให้​เกียรติ​และ​นับถือ​คน​อื่น รวม​ทั้ง​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ผู้​คน​เสมอ เพื่อ​เรา​จะ​ทำ​แบบ​นั้น​ได้ เรา​ต้อง​รู้​จัก​พวก​เขา​อย่าง​ดี

16, 17. เรา​จะ​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​เจ้าของ​บ้าน​ได้​อย่าง​ไร (ก) ตอน​ที่​คิด​ว่า​จะ​ไป​หา​เขา​ตอน​ไหน? (ข) ตอน​ที่​คิด​ว่า​จะ​คุย​กับ​เขา​นาน​เท่า​ไร?

16 ไป​ตอน​ไหน? ตอน​ไป​ประกาศ​ตาม​บ้าน เจ้าของ​บ้าน​ไม่​คิด​ว่า​เรา​จะ​มา​หา​เพราะ​เขา​ไม่​ได้​เชิญ​เรา จึง​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​เรา​ต้อง​ไป​หา​เขา​ตอน​ที่​เขา​อาจ​พร้อม​จะ​คุย​มาก​กว่า (มัทธิว 7:12) เช่น คน​ใน​เขต​ของ​คุณ​ชอบ​นอน​ตื่น​สาย​ใน​วัน​เสาร์​หรือ​อาทิตย์​ไหม? ถ้า​เป็น​อย่าง​นั้น ช่วง​เสาร์​อาทิตย์​คุณ​อาจ​ต้อง​เริ่ม​งาน​รับใช้​โดย​ใช้​วิธี​อื่น​แทน เช่น ประกาศ​ตาม​ถนน ประกาศ​ใน​ที่​สาธารณะ และ​กลับ​เยี่ยม​คน​ที่​สะดวก​จะ​คุย

17 คุย​นาน​เท่า​ไร? ผู้​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​ยุ่ง​มาก ดัง​นั้น คุณ​อาจ​คุย​สั้น ๆ กับ​พวก​เขา​โดย​เฉพาะ​ครั้ง​แรก การ​คุย​สั้น ๆ ดี​กว่า​คุย​นาน​เกิน​ไป (1 โครินธ์ 9:20-23) เมื่อ​เจ้าของ​บ้าน​กำลัง​ยุ่ง​และ​เรา​ก็​แสดง​ให้​เขา​เห็น​ว่า​เรา​เข้าใจ คราว​หน้า​เขา​อาจ​พร้อม​จะ​คุย​กับ​เรา​ก็​ได้ ถ้า​เรา​แสดง​ผล​ที่​เกิด​จาก​พลัง​ของ​พระเจ้า เรา​ก็​เป็น “เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​พระเจ้า” และ​พระองค์​อาจ​ใช้​เรา​ช่วย​บาง​คน​ให้​เรียน​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​ได้—1 โครินธ์ 3:6, 7, 9

18. เมื่อ​เรา​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​คน​อื่น เรา​จะ​ได้​รับ​พร​อะไร?

18 ให้​เรา​พยายาม​เต็ม​ที่​ที่​จะ​คิด​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​ใน​ครอบครัว พี่​น้อง และ​คน​ใน​เขต​ประกาศ เมื่อ​เรา​ทำ​อย่าง​นั้น เรา​จะ​ได้​พร​มาก​มาย​ทั้ง​ใน​ตอน​นี้​และ​ตลอด​ไป สดุดี 41:1, 2 บอก​ว่า “คน​ที่​เห็น​ใจ​คน​ต่ำต้อย​ก็​มี​ความ​สุข พระ​ยะโฮวา​จะ​ช่วย​เขา​ใน​วัน​ที่​เขา​เจอ​หายนะ พระ​ยะโฮวา​จะ​ปก​ป้อง​เขา​และ​ช่วย​เขา​ให้​รอด​ชีวิต ผู้​คน​จะ​ประกาศ​ไป​ทั่ว​โลก​ว่า​เขา​มี​ความ​สุข”