บทความศึกษา 40
“รักษาสิ่งที่ฝากไว้กับคุณให้ดี”
“ทิโมธีลูกรัก ขอให้รักษาสิ่งที่ฝากไว้กับคุณให้ดี”—1 ทธ. 6:20
เพลง 29 ใช้ชีวิตให้สมชื่อของเรา
ใจความสำคัญ *
1-2. จาก 1 ทิโมธี 6:20 ทิโมธีได้รับอะไร?
เรามักจะฝากของมีค่าไว้กับคนอื่น เช่น เราฝากเงินของเราไว้ที่ธนาคาร และเราก็หวังว่าเงินของเราจะได้รับการดูแลอย่างดี ไม่หายหรือไม่ถูกใครขโมยไป เราก็เลยเข้าใจว่าการฝากของมีค่าไว้กับคนอื่นมันเป็นอย่างไร
2 อ่าน 1 ทิโมธี 6:20 อัครสาวกเปาโลย้ำกับทิโมธีว่าทิโมธีได้รับสิ่งที่มีค่าซึ่งนั่นก็คือความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับความประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ และเขายังได้รับสิทธิพิเศษให้ “ประกาศถ้อยคำของพระเจ้า” และ “ทำหน้าที่ของผู้ประกาศข่าวดี” (2 ทธ. 4:2, 5) เปาโลบอกให้ทิโมธีรักษาสิ่งที่ฝากไว้กับเขาให้ดี พวกเราในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน พระยะโฮวาฝากหรือให้สิ่งที่มีค่ากับเรา สิ่งเหล่านี้คืออะไร? และทำไมเราต้องรักษามันไว้ให้ดี?
ได้รับความจริงที่มีค่า
3-4. ทำไมความจริงในคัมภีร์ไบเบิลถึงมีค่ามาก?
3 พระยะโฮวารักเรามาก พระองค์เลยให้ความรู้ที่ถูกต้องซึ่งอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลกับเรา ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลมีค่ามาก เพราะความจริงเหล่านี้ช่วยให้รู้ว่าเราต้องทำอย่างไรเพื่อจะสนิทกับพระยะโฮวา และยังช่วยให้รู้ว่าอะไรทำให้ชีวิตเรามีความสุขจริง ๆ เมื่อเราเชื่อและทำตามความจริงที่ได้เรียน เราก็ไม่เป็นทาสคำสอนผิด ๆ และไม่ใช้ชีวิตแบบผิดศีลธรรมอีกต่อไป—1 คร. 6:9-11
4 อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลมีค่ามากก็คือ พระยะโฮวาเปิดเผยความจริงเหล่านี้ให้กับคนถ่อมที่ “เต็มใจตอบรับความจริง” เท่านั้น (กจ. 13:48) คนเหล่านี้ยอมรับว่าทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุมเป็นกลุ่มคนที่พระยะโฮวาใช้ให้สอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลกับพวกเราในทุกวันนี้ (มธ. 11:25; 24:45) เราไม่มีทางที่จะเข้าใจความจริงเหล่านี้ ได้ด้วยความสามารถของเราเอง ไม่มีอะไรมีค่ามากกว่าการที่เราได้เข้าใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิลอีกแล้ว—สภษ. 3:13, 15
5. พระยะโฮวาให้อะไรกับเราอีก?
5 อีกอย่างหนึ่งที่พระยะโฮวาให้เราก็คือสิทธิพิเศษในการสอนความจริงเกี่ยวกับพระองค์และความประสงค์ของพระองค์ (มธ. 24:14) สิ่งที่เราสอนมีค่ามาก เพราะมันช่วยให้ผู้คนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวพระยะโฮวา และทำให้พวกเขามีโอกาสได้รับชีวิตตลอดไป (1 ทธ. 4:16) ไม่ว่าเราทำได้มากหรือทำได้น้อย เราก็กำลังมีส่วนในการทำงานสำคัญที่สุดที่ทำกันในตอนนี้ (1 ทธ. 2:3, 4) เป็นเกียรติจริง ๆ ที่เราได้เป็นเพื่อนร่วมงานของพระเจ้า—1 คร. 3:9
รักษาสิ่งที่พระเจ้าฝากคุณไว้
6. เกิดอะไรขึ้นกับคนที่ไม่เห็นค่าสิทธิพิเศษที่ได้เป็นเพื่อนร่วมงานกับพระเจ้า?
6 มีบางคนในสมัยของทิโมธีไม่ได้เห็นค่าสิทธิพิเศษที่ได้เป็นเพื่อนร่วมงานกับพระเจ้า ตัวอย่างเช่น ดามาสรักโลกนี้ เขาเลยทิ้งสิทธิพิเศษที่ได้รับใช้กับเปาโล (2 ทธ. 4:10) ฟีเจลัสกับเฮอร์โมเกเนสทิ้งงานรับใช้เพราะพวกเขากลัวถูกข่มเหงเหมือนกับที่เปาโลเจอ (2 ทธ. 1:15) ส่วนฮีเมเนอัส อเล็กซานเดอร์ และฟีเลทัสกลายเป็นคนทรยศพระเจ้าและทิ้งความจริง (1 ทธ. 1:19, 20; 2 ทธ. 2:16-18) พวกเขาทุกคนเคยมีความเชื่อเข้มแข็งและรักพระยะโฮวา แต่พวกเขาไม่ได้เห็นค่าสิทธิพิเศษที่พระองค์ให้พวกเขา พวกเขาเลยทิ้งความจริงไป
7. ซาตานใช้วิธีอะไรบ้างเพื่อทำให้เราทิ้งสิ่งมีค่าที่พระเจ้าให้กับเรา?
7 ซาตานพยายามทำให้เราทิ้งสิ่งมีค่าที่พระยะโฮวาให้ไว้กับเราอย่างไร? ให้มาดูบางวิธีที่ซาตานใช้ มันใช้สื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี หนัง อินเทอร์เน็ต และหนังสือต่าง ๆ เพื่อทำให้เรารักพระยะโฮวาน้อยลงเรื่อย ๆ และไม่เชื่อฟังพระองค์ทีละเล็กทีละน้อย และมันใช้คนรอบ ๆ ตัวเรากดดันหรือข่มเหงให้เรากลัวและเลิกประกาศ นอกจากนั้น มันยังพยายามทำให้เราทิ้งความจริงโดยหลอกให้เราฟัง “สิ่งที่เรียกกันผิด ๆ ว่า ‘ความรู้’” ซึ่งมาจากคนที่ทรยศพระเจ้า—1 ทธ. 6:20, 21
8. คุณได้เรียนอะไรจากประสบการณ์ของแดเนียล?
8 ถ้าเราไม่ระวัง เราก็อาจจะค่อย ๆ ทิ้งความจริงได้ ขอเรามาดูตัวอย่างของแดเนียล *ที่ชอบเล่นวีดีโอเกมมาก เขาบอกว่า “ผมเริ่มเล่นเกมตอนอายุ 10 ขวบ ตอนแรกเกมที่ผมเล่นก็ไม่มีอะไรที่ไม่ดี แต่พอไป ๆ มา ๆ ผมก็เริ่มเล่นเกมที่รุนแรง มีผีปีศาจและเวทมนตร์คาถา” ในที่สุดเขาก็เล่นเกมวันละ 15 ชั่วโมง แดเนียลเล่าต่อว่า “ลึก ๆ ผมก็รู้ว่าเกมที่ผมเล่นและเวลาที่ผมใช้ มันทำให้ผมค่อย ๆ ห่างจากพระยะโฮวา แต่ตอนนั้นผมไม่สน ผมคิดว่าคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องนี้มันใช้ไม่ได้กับผมหรอก” ถ้าเราไม่ระวัง ความบันเทิงก็อาจทำให้เราไม่ได้รักษาสิ่งมีค่าที่พระยะโฮวาให้กับเราไว้ และในที่สุดมันก็อาจทำให้เราทิ้งความจริงไปเลยก็ได้
เราจะยึดมั่นกับความจริงได้อย่างไร?
9. จาก 1 ทิโมธี 1:18, 19 เปาโลเปรียบเทียบทิโมธีว่าเป็นเหมือนอะไร?
9 อ่าน 1 ทิโมธี 1:18, 19 เปาโลเปรียบเทียบทิโมธีเหมือนกับทหาร และเปาโลบอกให้ทิโมธี “สู้ต่อไปในสงครามเพื่อความถูกต้อง” ซึ่งสงครามนี้ไม่ใช่สงครามจริง ๆ แล้วคริสเตียนเป็นเหมือนกับทหารที่สู้ในสงครามอย่างไร? และเราต้องทำอะไรเพื่อจะเป็นทหารของพระคริสต์? ให้เรามาดู 5 บทเรียนที่เราได้จากตัวอย่างที่เปาโลใช้ บทเรียนเหล่านี้จะช่วยให้เรายึดมั่นกับความจริงเสมอ
10. ความเลื่อมใสพระเจ้าคืออะไร? และทำไมเราต้องมีความเลื่อมใสพระเจ้า?
10 มีความเลื่อมใสพระเจ้ามากขึ้น ทหารที่ดีจะเป็นคนภักดี เขาจะต่อสู้เพื่อปกป้องคนที่เขารักและสิ่งที่เขามองว่ามีค่า เปาโลบอกให้ทิโมธีพยายามมีความเลื่อมใสพระเจ้ามากขึ้น ความเลื่อมใสพระเจ้าคือการแสดงความนับถือและภักดีต่อพระเจ้า (1 ทธ. 4:7) ยิ่งเรารักและเลื่อมใสพระเจ้ามากขึ้น เราก็จะยิ่งอยากยึดมั่นกับความจริงมากขึ้น—1 ทธ. 4:8-10; 6:6
11. ทำไมเราต้องมีวินัยและควบคุมตัวเอง?
11 มีวินัยและควบคุมตัวเอง ถ้าทหารอยากจะพร้อมรบ เขาต้องมีวินัยกับตัวเอง ทิโมธีก็พร้อมที่จะสู้กับอิทธิพลที่ไม่ดีของซาตานเพราะเขาทำตามคำแนะนำที่เปาโลบอกให้สู้กับความต้องการผิด ๆ ปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีต่าง ๆ และใช้เวลากับพี่น้อง เพื่อจะทำอย่างนั้นได้เขาต้องมีวินัยและควบคุมตัวเอง (2 ทธ. 2:22) ตอนนี้เราก็กำลังทำสงครามเหมือนกัน เรากำลังต่อสู้กับความต้องการผิด ๆ ถ้าเราอยากจะเอาชนะมันได้ เราต้องมีวินัยและควบคุมตัวเอง (รม. 7:21-25) นอกจากนั้น ตอนที่เราพยายามทิ้งลักษณะนิสัยเก่าและปลูกฝังลักษณะนิสัยใหม่ เราก็ต้องมีวินัยและควบคุมตัวเอง (อฟ. 4:22, 24) และตอนที่เรารู้สึกเหนื่อยมาทั้งวัน เราก็อาจจะต้องเข็นตัวเองให้ไปประชุม—ฮบ. 10:24, 25
12. เราต้องทำอะไรเพื่อจะใช้คัมภีร์ไบเบิลได้เก่งขึ้น?
12 ทหารต้องใช้อาวุธให้เก่ง และเพื่อจะทำอย่างนั้นได้ เขาก็ต้องฝึกเป็นประจำ คล้ายกันเราก็ต้องใช้คัมภีร์ไบเบิลให้เก่งด้วย และเราเรียนรู้วิธีใช้คัมภีร์ไบเบิลให้เก่งได้จากการประชุม (2 ทธ. 2:15) แต่ถ้าเราอยากช่วยคนอื่นให้เชื่อว่าความจริงในคัมภีร์ไบเบิลเป็นประโยชน์กับเขา ตัวเราเองต้องศึกษาส่วนตัวเป็นประจำ เราต้องให้คัมภีร์ไบเบิลเสริมความเชื่อเรา แต่เพื่อจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องไม่ใช่แค่อ่านคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น เราต้องคิดใคร่ครวญสิ่งที่ได้อ่านและค้นหนังสือและสื่อต่าง ๆ เพื่อจะเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างถูกต้อง (1 ทธ. 4:13-15) เมื่อเราทำอย่างนั้น เราก็จะใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อสอนคนอื่นได้ แต่การสอนไม่ใช่แค่การอ่านให้คนอื่นฟังเฉย ๆ เราต้องช่วยให้เขาเข้าใจความหมายของข้อคัมภีร์นั้นและ รู้ว่าจะเอาเรื่องนั้นไปใช้อย่างไร ถ้าเรามีตารางศึกษาส่วนตัวและทำตามนั้นเป็นประจำ เราก็จะใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อสอนคนอื่นได้เก่งขึ้น—2 ทธ. 3:16, 17
13. ทำไมเราต้องมองให้ออกว่าอะไรถูกอะไรผิดอย่างที่บอกไว้ในฮีบรู 5:14?
13 มองให้ออก ทหารต้องมองให้ออกว่าอันตรายอยู่ตรงไหน แล้วเขาก็จะหลบให้พ้นเพื่อตัวเองจะไม่ได้รับอันตราย เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะมองให้ออกว่าอะไรที่จะมีผลเสียกับเรา และพอรู้แล้วเราก็ต้องหลีกเลี่ยงมัน (สภษ. 22:3; อ่านฮีบรู 5:14) ตัวอย่างเช่น เราต้องเลือกความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจอย่างฉลาด รายการทีวีและหนังมักจะมีฉากผิดศีลธรรมให้เห็นบ่อย ๆ เราจะไม่ดูรายการแบบนั้นเพราะมันจะทำให้เราค่อย ๆ รักพระยะโฮวาน้อยลง เรารู้ว่าพระยะโฮวาเกลียดการผิดศีลธรรม และคนที่ทำผิดศีลธรรมมีแต่จะทำให้ตัวเองและคนอื่นได้รับความเสียหาย—อฟ. 5:5, 6
14. การที่แดเนียลมองออกว่าอะไรดีไม่ดีช่วยเขาอย่างไร?
14 แดเนียลที่พูดถึงก่อนหน้านี้เริ่มมองออกว่าเกมที่รุนแรง มีผีปีศาจและเวทมนตร์คาถาเป็นสิ่งที่ไม่ดีและทำให้เขามีปัญหา เขาก็เลยค้นคว้าจากห้องสมุดวอชเทาเวอร์ เพื่อดูว่าเขาจะทำอย่างไรดี ผลเป็นอย่างไร? เขาเลิกเล่นเกมที่ไม่ดี เลิกเป็นสมาชิกของเกมออนไลน์ และยังเลิกยุ่งกับคนที่เล่นเกมพวกนั้นด้วย แดเนียลบอกว่า “แทนที่จะเอาแต่เล่นเกม ผมเอาเวลาไปทำอะไร ๆ ข้างนอก และใช้เวลากับเพื่อนในประชาคม” ตอนนี้แดเนียลรับใช้เป็นไพโอเนียร์และเป็นผู้ดูแลด้วย
15. ทำไมเรื่องโกหกถึงอันตราย?
15 เหมือนกับทิโมธี เราต้องมองให้ออกด้วยว่าข้อมูลผิด ๆ ที่มาจากคนทรยศพระเจ้าเป็นอันตราย (1 ทธ. 4:1, 7; 2 ทธ. 2:16) ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะแพร่เรื่องโกหกเกี่ยวกับพี่น้องของเราหรืออาจทำให้เราเริ่มสงสัยองค์การของพระยะโฮวา เรื่องโกหกแบบนี้ทำให้ความเชื่อของเราอ่อนแอลงได้ เราต้องไม่เชื่อเรื่องโกหกแบบนี้ เพราะอะไร? เพราะเรื่องโกหกเหล่านี้มาจาก “คนที่คิดผิดเพี้ยนและไม่ยอมเข้าใจความจริง” เป้าหมายของพวกเขาก็คือ อยากให้เกิดการ “โต้แย้งและโต้เถียง” (1 ทธ. 6:4, 5) พวกเขาอยากให้เราเชื่อคำใส่ร้ายของพวกเขาและอยากให้เราไม่ไว้ใจพี่น้อง
16. เราต้องระวังอะไรที่อาจทำให้เราวอกแวก?
16 ไม่วอกแวก ทิโมธีเป็น “ทหารที่ดีของพระคริสต์เยซู” เขาต้องจดจ่ออยู่กับการรับใช้แทนที่จะสนใจเรื่องวัตถุสิ่งของหรือเรื่องอื่นในชีวิตมากเกินไป (2 ทธ. 2:3, 4) เราก็เหมือนกัน เราต้องไม่ปล่อยให้การอยากได้วัตถุสิ่งของมาทำให้เราวอกแวกไปจากงานรับใช้ “ความหลงใหลในทรัพย์สมบัติ” อาจทำให้เรารักพระยะโฮวาน้อยลง เริ่มไม่เห็นค่าคัมภีร์ไบเบิล และไม่ค่อยอยากพูดเรื่องคัมภีร์ไบเบิลให้คนอื่นฟัง (มธ. 13:22) เราต้องทำให้ชีวิตของเราเรียบง่ายและใช้เวลากับกำลังของเราเพื่อ “ทำให้การปกครองของพระเจ้า . . . เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต”—มธ. 6:22-25, 33
17-18. เราต้องทำอะไรเพื่อจะรักษาความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาเอาไว้?
17 เตรียมตัวเองให้พร้อมเพื่อจะรับมือได้ทันที ทหารต้องคิดล่วงหน้าว่าเขาจะทำอะไรเพื่อป้องกันตัวเอง ถ้าเราอยากจะรักษาสิ่งมีค่าที่พระยะโฮวาให้ไว้กับเรา เราก็ต้องคิดล่วงหน้าว่าจะทำอะไรเมื่อเจออันตราย แล้วพออันตรายมาจริง ๆ เราก็จะลงมือได้ทันที
18 ให้เรามาดูตัวอย่างนี้ด้วยกัน ตอนที่เราขึ้นเครื่องบิน พนักงานต้อนรับจะบอกว่าทางออกประตูฉุกเฉินอยู่ตรงไหน ทำไมเขาต้องบอกอย่างนั้น? ก็เพราะว่าถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น ผู้โดยสารก็จะหนีได้ทันที คล้ายกันเราก็ต้องคิดล่วงหน้าว่า “ทางออก” ของเราคืออะไร เช่น เราต้องคิดก่อนว่าจะทำอย่างไรถ้าเราดูหนัง ดูทีวี หรือเล่นอินเทอร์เน็ต แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีภาพโป๊ ฉากที่ผิดศีลธรรมหรือรุนแรง หรือข้อมูลของคนที่ทรยศพระเจ้า ถ้าเราคิดล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่าจะทำอะไร เราก็จะลงมือได้ทันทีและไม่ได้รับผลเสียจากสิ่งที่ทำลายความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา และยังเป็นคนที่สะอาดในสายตาของพระองค์ได้—สด. 101:3; 1 ทธ. 4:12
19. ถ้าเรารักษาสิ่งมีค่าที่พระยะโฮวาให้กับเรา เราจะได้พรอะไร?
19 เราต้องรักษาสิ่งมีค่าที่พระยะโฮวาให้กับเรา ซึ่งก็คือความจริงในคัมภีร์ไบเบิลและสิทธิพิเศษที่ได้สอนความจริงกับคนอื่น ถ้าเราทำอย่างนั้น เราจะมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่สะอาด มีชีวิตที่มีความหมาย และมีความสุขที่ได้ช่วยคนอื่นให้รู้จักพระยะโฮวา ด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์ เราสามารถรักษาสิ่งที่พระองค์ฝากไว้กับเราได้แน่นอน—1 ทธ. 6:12, 19
เพลง 127 ฉันควรเป็นคนแบบไหน?