บทความศึกษา 9
ให้พระยะโฮวาช่วยให้คุณสบายใจ
“เมื่อผมวิตกกังวล พระองค์ก็ปลอบผมและทำให้ผมสบายใจขึ้น”—สด. 94:19
เพลง 44 คำอธิษฐานของคนทุกข์ใจ
ใจความสำคัญ *
1. อะไรอาจทำให้กังวลและเครียด? ความกังวลและความเครียดอาจมีผลอย่างไรกับเรา?
คุณเคยกังวลหรือเครียดมาก ๆ ไหม? * คุณอาจกังวลหรือเครียดเพราะคำพูดหรือการกระทำของคนอื่น หรือไม่ก็เพราะคำพูดหรือการกระทำของคุณเอง เช่น คุณอาจทำผิดพลาดและกังวลว่าพระยะโฮวาจะไม่ยกโทษให้คุณ และที่แย่กว่านั้นคือ คุณอาจคิดว่าการที่คุณกังวลและเครียดมาก ๆ แสดงว่าคุณขาดความเชื่อและเป็นคนไม่ดี แต่เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไหม?
2. คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างของใครบ้างที่แสดงว่า ถ้าเรากังวลหรือเครียดไม่ได้หมายความว่าเราขาดความเชื่อ?
2 ให้เราดูตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลด้วยกัน ฮันนาห์แม่ของผู้พยากรณ์ซามูเอลมีความเชื่อเข้มแข็ง แต่เธอเครียดมากเพราะคนในครอบครัวทำไม่ดีกับเธอ (1 ซม. 1:7) อัครสาวกเปาโลมีความเชื่อเข้มแข็งแต่ในใจเขาก็เต็มไปด้วย “ความกังวลเกี่ยวกับทุก ๆ ประชาคม” (2 คร. 11:28) กษัตริย์ดาวิดมีความเชื่อเข้มแข็งและพระยะโฮวาก็รักและพอใจเขามาก (กจ. 13:22) แต่ดาวิดทำผิดร้ายแรงซึ่งทำให้เขาเครียดหนักมาก (สด. 38:4) พระยะโฮวาช่วยให้ผู้รับใช้ 3 คนนี้สบายใจขึ้น มาดูกันว่าเราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างเหล่านี้
เราเรียนอะไรจากฮันนาห์ผู้ซื่อสัตย์?
3. คำพูดของบางคนทำให้เราเครียดได้อย่างไร?
3 เราอาจเครียดเวลาคนอื่นพูดหรือทำไม่ดีกับเรา ยิ่งถ้าเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติเราก็ยิ่งเจ็บ เรากังวลและเครียดเพราะกลัวว่าความสัมพันธ์กับคนนั้นจะแย่ลง บางทีคนที่พูดไม่คิดทำให้เราเจ็บเหมือนถูกแทง (สภษ. 12:18) หรือบางทีก็มีคนตั้งใจใช้คำพูดเป็นอาวุธทำร้ายเรา พี่น้องวัยรุ่นคนหนึ่งเคยเจอเรื่องแบบนี้ เธอบอกว่า “2-3 ปีก่อน ฉันโดนคนที่คิดว่าเป็นเพื่อนที่ดีโพสต์ใส่ร้ายฉันในเน็ต ฉันทั้งเจ็บทั้งเครียด นึกไม่ออกเลยว่าทำไมเธอถึงแทงข้างหลังฉันแบบนี้” ถ้าคุณโดนเพื่อนสนิทหรือญาติทำให้เจ็บละก็ คุณเรียนจากตัวอย่างของฮันนาห์ได้
4. ฮันนาห์ต้องสู้กับปัญหาหนักอะไร?
4 ฮันนาห์ต้องสู้กับปัญหาหนัก ตลอดหลายปีเธอมีลูกไม่ได้ (1 ซม. 1:2) ในวัฒนธรรมอิสราเอล ใครเป็นหมันแสดงว่าคนนั้นถูกสาปแช่ง นี่ทำให้ฮันนาห์อายมาก (ปฐก. 30:1, 2) นอกจากนั้น สิ่งที่ทำให้ปัญหาหนักขึ้นคือ เปนินนาห์ภรรยาอีกคนมีลูกให้สามีเธอได้ เปนินนาห์มองว่าฮันนาห์เป็นคู่แข่งและ “เอาแต่เยาะเย้ยฮันนาห์ ทำให้ฮันนาห์ทุกข์ใจมาก” (1 ซม. 1:6) ตอนแรก ฮันนาห์เครียดจนรับไม่ไหว เธอเสียใจ “ร้องไห้และไม่ยอมกินอาหาร” เธอ “ทุกข์ใจมาก” จริง ๆ (1 ซม. 1:7, 10) แล้วอะไรช่วยให้เธอสบายใจขึ้น?
5. การอธิษฐานช่วยฮันนาห์อย่างไร?
5 ฮันนาห์อธิษฐานระบายความรู้สึกกับพระยะโฮวา หลังจากอธิษฐานเธอก็เล่าให้มหาปุโรหิตเอลีฟัง เอลีบอกเธอว่า “ขอให้กลับไปอย่างสบายใจเถอะ เธออธิษฐานขออะไรจากพระเจ้าของอิสราเอลก็ขอให้ได้อย่างนั้น” ผลคือ “เธอก็กลับไปและกินอาหาร และหน้าตาก็ไม่เศร้าอีกต่อไป” (1 ซม. 1:17, 18) การอธิษฐานช่วยให้ฮันนาห์สงบใจ
6. เราได้เรียนอะไรจากฮันนาห์และจากฟีลิปปี 4:6, 7 เกี่ยวกับการอธิษฐาน?
6 เราจะสงบใจได้ถ้าอธิษฐานบ่อย ๆ ฮันนาห์ใช้เวลานานคุยกับพ่อในสวรรค์ (1 ซม. 1:12) เราก็อธิษฐานยาว ๆ คุยกับพระยะโฮวาบอกเรื่องที่เรากังวล กลัว หรือเครียด รวมทั้งจุดอ่อนของเราได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาสละสลวย ศัพท์สูง หรือเรียงประโยคถูกต้องตามหลักภาษา ถึงบางครั้งเราจะสะอึกสะอื้นระบายสิ่งที่เครียด แต่พระยะโฮวาไม่เคยรำคาญและไม่เคยเหนื่อยเกินกว่าจะฟังเรา นอกจากอธิษฐานเกี่ยวกับปัญหา เราต้องไม่ลืมสิ่งที่บอกในฟีลิปปี 4:6, 7 (อ่าน) ในข้อนี้เปาโลเน้นให้เราอธิษฐานขอบคุณ เรามีหลายเหตุผลที่จะขอบคุณพระยะโฮวาได้ เช่น ขอบคุณสำหรับชีวิต สิ่งสวยงามที่พระองค์สร้าง ความรักที่มั่นคงและความหวังยอดเยี่ยมที่พระองค์ให้เรา แต่ยังมีอะไรอีกที่เราเรียนจากฮันนาห์ได้?
7. ฮันนาห์กับสามีทำอะไรเป็นประจำ?
7 ถึงจะมีปัญหา แต่ฮันนาห์ก็ไปเมืองชิโลห์กับสามีเพื่อนมัสการพระยะโฮวาเป็นประจำ (1 ซม. 1:1-5) ที่จริง ตอนมหาปุโรหิตเอลีให้กำลังใจและให้ความหวังว่าพระยะโฮวาจะตอบคำอธิษฐานของฮันนาห์ เธออยู่ที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์—1 ซม. 1:9, 17
8. การประชุมช่วยเราอย่างไร? ขออธิบาย
8 เราจะสงบใจได้ถ้าไปประชุมเป็นประจำ คำอธิษฐานเปิดการประชุมมักมีการขอให้พลังบริสุทธิ์อยู่กับคนที่มาประชุม สันติสุขหรือความสงบใจเป็นส่วนหนึ่งของผลที่เกิดจากพลังนี้ (กท. 5:22) ถึงแม้เรากำลังเครียด แต่ถ้าเราไปประชุม นั่นก็เป็นการเปิดโอกาสให้พระยะโฮวาและพี่น้องช่วยเราให้สงบใจและมีกำลังใจ การอธิษฐานและการประชุมเป็นวิธีสำคัญที่พระยะโฮวาช่วยให้เราสบายใจขึ้น (ฮบ. 10:24, 25) แต่เรายังเรียนจากตัวอย่างของฮันนาห์ได้อีก
9. สภาพการณ์อะไรของฮันนาห์ที่ยังไม่เปลี่ยน? แต่อะไรที่เปลี่ยนไป?
9 ปัญหาที่ทำให้ฮันนาห์เครียดไม่ได้หมดทันที เมื่อกลับจากนมัสการที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์แล้ว เธอก็ยังต้องอยู่ในครอบครัวเดียวกับเปนินนาห์ คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าเปนินนาห์เปลี่ยนไปหรือไม่ ดังนั้น เป็นไปได้ว่าฮันนาห์ยังต้องทนกับคำพูดเจ็บ ๆ ของเปนินนาห์เหมือนเดิม แต่ฮันนาห์สงบใจได้แล้ว ตั้งแต่เธอฝากปัญหาไว้กับพระยะโฮวาและมั่นใจว่าพระองค์ฟังคำอธิษฐาน เธอก็เลิกกังวลเลิกเครียดและกลับมาสงบใจอีกครั้ง เธอให้พระยะโฮวาช่วยเธอให้สบายใจขึ้น ต่อมา พระยะโฮวาถึงกับตอบคำอธิษฐานโดยอวยพรให้เธอมีลูกอีกหลายคน!—1 ซม. 1:19, 20; 2:21
10. เราเรียนอะไรจากตัวอย่างของฮันนาห์?
10 เราจะสงบใจได้ถึงแม้ปัญหาที่ทำให้กังวลยังไม่หมดไป แม้เราอธิษฐานอย่างจริงจังมากมายหลายครั้งและไปประชุมเป็นประจำแล้ว ปัญหาบางอย่างก็อาจยังมีอยู่ แต่ตัวอย่างของฮันนาห์สอนเราว่า ไม่มีอะไรจะมาขัดขวางพระยะโฮวาไม่ให้ช่วยเราให้สบายใจขึ้น พระยะโฮวาไม่มีวันลืมเราและไม่ช้าก็เร็วพระองค์จะให้รางวัลเราถ้าเราซื่อสัตย์ต่อพระองค์—ฮบ. 11:6
เราเรียนอะไรจากอัครสาวกเปาโล?
11. อะไรทำให้เปาโลรู้สึกกังวลและเครียด?
11 เปาโลมีหลายเรื่องที่ทำให้กังวลและเครียด เช่น เปาโลรักพี่น้อง เขาจึงกังวลมากเมื่อรู้ว่าพี่น้องเจอปัญหา (2 คร. 2:4; 11:28) ในการทำงานฐานะอัครสาวก เปาโลโดนพวกผู้ต่อต้านเฆี่ยนตีทำร้ายและจับโยนเข้าคุก นอกจากนั้น เขายังต้องทนความลำบากหลายอย่าง เช่น ความขัดสน นั่นคงทำให้เขากังวลและเครียดมากด้วย (ฟป. 4:12) ในชีวิตการรับใช้ เปาโล เจอภัยเรือแตกอย่างน้อย 3 ครั้ง คิดดูสิว่าเขาจะเครียดขนาดไหนถ้าต้องเดินทางโดยเรืออีก (2 คร. 11:23-27) แล้วอะไรช่วยเปาโล?
12. อะไรช่วยให้เปาโลกังวลน้อยลง?
12 เปาโลกังวลเพราะเป็นห่วงพี่น้องที่เจอปัญหา แต่เขาไม่ได้พยายามแก้ปัญหาทั้งหมดของพี่น้องด้วยตัวเอง เขาเจียมตัวและรู้ว่าทำทุกอย่างเองไม่ได้ เขาจึงขอให้คนอื่นช่วยดูแลพี่น้องในประชาคมนั้น เช่น เขามอบหมายผู้ชายที่ไว้ใจได้อย่างทิโมธีและทิตัสให้ช่วย สิ่งที่ทั้งสองทำต้องช่วยลดความกังวลให้เปาโลแน่ ๆ—ฟป. 2:19, 20; ทต. 1:1, 4, 5
13. ผู้ดูแลจะเลียนแบบเปาโลได้อย่างไร?
13 ขอให้คนอื่นช่วย เหมือนเปาโล ผู้ดูแลที่สนใจพี่น้องมักจะกังวลเมื่อพี่น้องในประชาคมเจอปัญหา แต่ผู้ดูแลคนเดียวอาจไม่สามารถช่วยทั้งประชาคมได้ ถ้าเขาเจียมตัวและยอมรับว่าทำทุกอย่างเองไม่ได้ เขาก็จะแบ่งงานให้พี่น้องชายที่มีคุณสมบัติและฝึกคนหนุ่ม ๆ ให้ช่วยดูแลฝูงแกะของพระเจ้า—2 ทธ. 2:2
14. เปาโลไม่กลัวอะไร? และเราเรียนอะไรจากตัวอย่างของเขา?
14 ยอมรับว่าคุณจำเป็นต้องได้รับกำลังใจ เปาโลถ่อมตัว เขาจึงรู้ว่าตัวเองต้องการกำลังใจจากเพื่อน เห็นได้ชัดว่า เขาไม่กลัวจะถูกมองว่าอ่อนแอถ้าเขารับความช่วยเหลือจากเพื่อน เขาเขียนถึงฟีเลโมนว่า “ผมมีความสุขและมีกำลังใจมากเมื่อได้ยินเกี่ยวกับความรักของคุณ” (ฟม. 7) เปาโลพูดถึงเพื่อนร่วมทำงานรับใช้หลายคนว่าช่วยให้กำลังใจเขาได้มากในช่วงที่เครียด (คส. 4:7-11) ถ้าเราถ่อมตัวและยอมรับว่าจำเป็นต้องได้รับกำลังใจ พี่น้องก็จะดีใจที่ได้ช่วยเรา
15. เปาโลทำอะไรตอนที่เขาเครียดมาก?
15 พึ่งคำของพระเจ้า เปาโลรู้ว่าพระคัมภีร์ช่วยให้เขามีกำลังใจได้ (รม. 15:4) และพระคัมภีร์ยังให้สติปัญญาเพื่อรับมือกับปัญหาทุกอย่างด้วย (2 ทธ. 3:15, 16) ตอนถูกกักตัวครั้งที่ 2 ที่กรุงโรม เปาโลรู้ว่าใกล้จะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว เขาทำอะไรเพื่อรับมือกับความเครียด? เขาขอให้ทิโมธีมาหาเร็ว ๆ และเอา “พวกม้วนหนังสือ” มาให้ด้วย (2 ทธ. 4:6, 7, 9, 13) ทำไม? ม้วนหนังสือเหล่านั้นน่าจะเป็นพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่เปาโลใช้ศึกษาส่วนตัวได้ ถ้าเราเลียนแบบเปาโลโดยศึกษาส่วนตัวเป็นประจำ พระยะโฮวาก็จะใช้คัมภีร์ไบเบิลช่วยให้เราสบายใจขึ้นไม่ว่าเราจะเจอปัญหาอะไร
เราเรียนอะไรจากกษัตริย์ดาวิด?
16. ดาวิดรู้สึกอย่างไรหลังจากทำผิดร้ายแรง?
16 ดาวิดทำผิดร้ายแรง เขาเป็นชู้กับบัทเชบา วางแผนกำจัดสามีของเธอ และพยายามปกปิดความผิดนั้น (2 ซม. 12:9) ตอนแรกดาวิดไม่ใส่ใจความรู้สึกผิด ผลคือไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์กับพระยะโฮวาแย่ลงเท่านั้น แต่ร่างกายก็ป่วยและจิตใจก็เต็มไปด้วยความเครียด (สด. 32:3, 4) อะไรช่วยดาวิดรับมือกับความเครียดเพราะความผิดที่ทำไป? และอะไรช่วยเราถ้าเราทำผิดร้ายแรง?
17. สดุดี 51:1-4 แสดงอย่างไรว่าดาวิดกลับใจอย่างแท้จริง?
17 อธิษฐานขอให้พระเจ้ายกโทษ ดาวิดกลับมาหาพระยะโฮวาโดยอธิษฐานถึงพระองค์ เขากลับใจอย่างแท้จริงและสารภาพผิด (อ่านสดุดี 51:1-4) ในที่สุดเขาก็สงบใจและมีความสุขได้ (สด. 32:1, 2, 4, 5) ถ้าคุณทำผิดร้ายแรง อย่าพยายามปกปิด แต่ให้อธิษฐานสารภาพความผิดทั้งหมดกับพระยะโฮวา แล้วคุณจะรู้สึกดีขึ้นและไม่กังวลมากอีกต่อไป แต่ถ้าคุณอยากให้ความสัมพันธ์กับพระยะโฮวากลับมาดีเหมือนเดิม คุณต้องทำมากกว่าอธิษฐาน
18. ดาวิดยอมรับการสั่งสอนอย่างไร?
18 ยอมรับการสั่งสอน เมื่อพระยะโฮวาส่งผู้พยากรณ์นาธันไปเปิดโปงความผิดของดาวิด ดาวิดไม่ได้แก้ตัวและไม่ได้ทำให้ความผิดดูเบาลง เขายอมรับทันทีว่าเขาทำผิดต่อสามีของบัทเชบา แต่ไม่ใช่แค่นั้น เขายอมรับว่าที่ร้ายแรงที่สุดคือเขาทำผิดต่อพระเจ้าด้วย ดาวิดยอมรับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา และพระองค์ก็ยกโทษให้เขา (2 ซม. 12:10-14) ถ้าเราทำผิดร้ายแรง เราต้องไปคุยกับคนที่พระยะโฮวาแต่งตั้งให้ดูแลเรา (ยก. 5:14, 15) นอกจากนั้น เราต้องไม่พยายามแก้ตัว ยิ่งเรายอมรับการสั่งสอนและทำ ตามเร็วเท่าไร เราก็จะยิ่งสงบใจและมีความสุขเร็วขึ้นเท่านั้น
19. เราควรตั้งใจทำอะไร?
19 ตั้งใจไม่ทำผิดซ้ำอีก กษัตริย์ดาวิดรู้ว่าถ้าไม่อยากทำผิดซ้ำอีกเขาต้องให้พระยะโฮวาช่วย (สด. 51:7, 10, 12) หลังจากพระยะโฮวายกโทษให้แล้ว ดาวิดตั้งใจไม่คิดเรื่องที่ไม่ดีแบบนั้นอีก นี่ทำให้เขาสงบใจอีกครั้ง
20. เราแสดงอย่างไรว่าเห็นค่าการอภัยจากพระยะโฮวา?
20 เราแสดงว่าเห็นค่าการอภัยจากพระยะโฮวาโดยอธิษฐานขอให้พระองค์ยกโทษ ยอมรับการสั่งสอน และพยายามไม่ทำผิดซ้ำอีก การทำอย่างนี้ช่วยให้เราสงบใจ เจมส์ที่ทำผิดร้ายแรงยอมรับว่านี่เป็นความจริง เขาบอกว่า “พอสารภาพกับผู้ดูแล ผมโล่งใจเหมือนยกภูเขาออกจากอกและเริ่มสงบใจได้อีกครั้ง” เรามีกำลังใจจริง ๆ ที่รู้ว่า “พระยะโฮวาอยู่ใกล้คนที่หัวใจแตกสลาย พระองค์คอยช่วยคนที่เศร้าเสียใจ”—สด 34:18
21. เราจะให้พระยะโฮวาช่วยให้เราสบายใจขึ้นได้อย่างไร?
21 ขณะที่สมัยสุดท้ายใกล้จะถึงจุดจบ เราจะเจอเรื่องที่ทำให้กังวลและเครียดมากขึ้น ถ้าคุณกังวล ให้คุณรีบขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ขยันศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เรียนจากตัวอย่างของฮันนาห์ เปาโล และดาวิด ขอพระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ช่วยให้คุณรู้สาเหตุของปัญหาและเข้าใจว่าทำไมคุณถึงเครียด (สด. 139:23) ให้พระองค์ช่วยคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่คุณแทบจะควบคุมไม่ได้หรือควบคุมไม่ได้เลย ถ้าทำอย่างนั้น คุณจะเป็นเหมือนผู้เขียนหนังสือสดุดีที่ร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวาว่า “เมื่อผมวิตกกังวล พระองค์ก็ปลอบผมและทำให้ผมสบายใจขึ้น”—สด 94:19
เพลง 4 ‘พระยะโฮวาเลี้ยงดูฉันเหมือนผู้เลี้ยงแกะ’
^ วรรค 5 เราทุกคนเคยกังวลและเครียดกับปัญหาที่เราเจอ บทความนี้จะดูตัวอย่างของผู้รับใช้พระยะโฮวา 3 คนในสมัยคัมภีร์ไบเบิลที่กังวลและเครียด และจะดูว่าพระยะโฮวาช่วยแต่ละคนให้สบายใจขึ้นอย่างไร
^ วรรค 1 อธิบายคำศัพท์ ความกังวลและความเครียดอาจมีสาเหตุจากปัญหาการเงิน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาส่วนตัว นอกจากนั้น เราอาจกังวลและเครียดเพราะความผิดพลาดในอดีตหรือปัญหาที่เราคิดว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต