เรื่องราวชีวิตจริง
พระยะโฮวา ‘ทำให้ชีวิตผมราบรื่น’
วัยรุ่นคนหนึ่งมาถามผมว่า “ลุงชอบข้อคัมภีร์ข้อไหนมากที่สุดครับ?” ผมตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่า “สุภาษิตบท 3 ข้อ 5 และ 6 ไง ข้อนั้นบอกว่า ‘ขอให้วางใจพระยะโฮวาสุดหัวใจ และอย่าพึ่งความเข้าใจของตัวเอง คิดถึงพระองค์เสมอไม่ว่าจะทำอะไร แล้วพระองค์จะทำให้ชีวิตราบรื่น’” ใช่แล้วครับ พระยะโฮวา ‘ทำให้ชีวิตผมราบรื่น’ จริง ๆ อยากรู้ไหมครับว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง
พ่อแม่ช่วยผมให้เดินในทางที่ถูกต้อง
พ่อแม่ของผมเรียนความจริงหลังปี 1920 ตอนนั้นพวกเขายังไม่ได้แต่งงานกัน ผมเกิดในปี 1939 ที่ประเทศอังกฤษ ผมไปประชุมกับพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วผมก็สมัครเข้าโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าด้วย ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ผมเป็นนักเรียนตอนนั้นผม 6 ขวบเอง ตัวนิดเดียว เลยต้องยืนบนกล่องเพื่อจะสูงกว่าโต๊ะบรรยาย ผมตื่นเต้นมากเพราะมองไปทางไหนก็มีแต่คนที่เป็นผู้ใหญ่เต็มไปหมด
ตอนไปประกาศ พ่อจะพิมพ์บัตรเล็ก ๆ ที่มีข้อความสั้น ๆ ง่าย ๆ ให้ผมเอาไว้ไปยื่นให้เจ้าของบ้านอ่าน ตอน 8 ขวบเป็นครั้งแรกที่ผมไปคุยกับเจ้าของบ้านเอง ตอนนั้นผมยื่นบัตรให้กับเจ้าของบ้าน เขาก็อ่าน แถมยังขอหนังสือ “จงให้พระเจ้าเป็นองค์สัตย์จริง” ด้วย ผมดีใจมากแล้วก็รีบวิ่งกลับไปบอกพ่อ ผมชอบไปประกาศและไปประชุมมากเลยครับ มันทำให้ผมอยากรับใช้เต็มเวลา
หลังจากที่พ่อบอกรับวารสารหอสังเกตการณ์ ให้ผมทุกเดือน ผมก็เริ่มรักคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมชอบอ่านหอฯ มาก พอเล่มใหม่มาเมื่อไหร่ผมก็อ่านทันทีเลยครับ ผมไว้ใจพระยะโฮวามากขึ้นเรื่อย ๆ จนอุทิศตัวให้กับพระองค์
ในปี 1950 ครอบครัวของเราไปประชุมใหญ่การเพิ่มพูนแห่งระบอบของพระเจ้าที่นิวยอร์ก หัวเรื่องการประชุมของวันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคมก็คือ “วันมิชชันนารี” วันนั้นพี่น้องแครีย์ บาร์เบอร์ที่ต่อมารับใช้เป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครองบรรยายคำบรรยายรับบัพติศมา พอเขาถามผู้รับบัพติศมา 2 คำถาม ผมก็ยืนขึ้นแล้วก็ตอบว่า “ใช่!” ตอนนั้นผมอายุแค่ 11 แต่ผมก็รู้ว่าผม
กำลังทำสิ่งที่สำคัญมาก ตอนจะรับบัพติศมา ผมกลัวมากเพราะผมยังว่ายน้ำไม่เป็น อาเป็นคนพาผมมาที่สระแล้วเขาก็บอกกับผมว่าไม่ต้องกลัว เดี๋ยวทุกอย่างจะโอเค ตอนที่อยู่ในสระ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมากครับ เท้าของผมยังไม่ทันแตะพื้นสระเลยด้วยซ้ำผมก็รับบัพติศมาเสร็จแล้ว พี่น้องคนหนึ่งเป็นคนจุ่มตัวผมแล้วก็ส่งไปให้อีกคนหนึ่งดึงผมขึ้นจากสระ วันนั้นเป็นวันสำคัญมากในชีวิตของผม ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระยะโฮวาก็ทำให้ชีวิตของผมราบรื่นเลือกที่จะไว้ใจพระยะโฮวา
ตอนที่ผมเรียนจบ ผมอยากเป็นไพโอเนียร์ แต่ครูก็กดดันให้ผมเรียนในมหาวิทยาลัย ผมก็เลยเรียนต่อ แต่หลังจากที่เรียนได้ไม่นาน ผมก็ได้รู้ว่าผมจะพยายามตั้งใจเรียนและยังเข้มแข็งในความจริงไปพร้อม ๆ กันไม่ได้ ผมเลยตัดสินใจที่จะลาออก ผมอธิษฐานคุยเรื่องนี้กับพระยะโฮวา แล้วผมก็เขียนจดหมายบอกกับอาจารย์ว่าผมขอลาออกตอนจบปี 1 ตอนที่ผมออกจากมหาวิทยาลัย ผมไว้ใจพระยะโฮวาเต็มที่และก็เริ่มรับใช้เป็นไพโอเนียร์ทันที
ผมเริ่มรับใช้เต็มเวลาในเดือนกรกฎาคมปี 1957 ที่เมืองเวลลิงโบโร่ ผมถามเบเธลลอนดอนว่ามีพี่น้องไพโอเนียร์ที่มีประสบการณ์คนไหนบ้างที่ผมจะไปรับใช้คู่กับเขาได้ ผมได้รับใช้กับพี่น้องเบิร์ต ไวเซย์ เขาสอนผมหลายอย่างเลยครับ เขาเป็นพี่น้องที่ขยันประกาศมากแล้วก็ช่วยให้ผมมีตารางรับใช้ที่ดี ในประชาคมของเรามีแค่ผม พี่น้องเบิร์ต แล้วก็พี่น้องหญิงสูงอายุอีก 6 คน การที่ผมได้เตรียมและมีส่วนในการประชุมทุกครั้งทำให้ผมไว้ใจพระยะโฮวามากขึ้น และพอผมได้ตอบบ่อย ๆ ผมก็เลยมีโอกาสเยอะมากที่จะได้พูดถึงความเชื่อของตัวเอง
ผมต้องติดคุกอยู่ช่วงสั้น ๆ เพราะไม่ยอมเป็นทหาร พอผมออกมาก็ได้เจอกับไพโอเนียร์พิเศษคนหนึ่งที่ชื่อบาร์บารา แล้วเราก็แต่งงานกันในปี 1959 เราพร้อมที่จะไปรับใช้ที่ไหนก็ได้ที่ได้รับมอบหมาย ที่แรกที่เราไปก็คือเมืองแลงคาเชียร์ที่อยู่ตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ ในเดือนมกราคมปี 1961 ผมถูกเชิญให้เข้าโรงเรียนพระราชกิจที่เบเธลลอนดอนเป็นเวลา 1 เดือน พอเรียนจบ ผมตกใจมากที่ถูกมอบหมายให้ทำงานเดินหมวด ผมได้รับการฝึกอบรมจากผู้ดูแลหมวดที่มีประสบการณ์ในเมืองเบอร์มิงแฮมเป็นเวลา 2 อาทิตย์และบาร์บาราก็ได้เข้าด้วย หลังจากนั้นผมก็ได้รับมอบหมายให้กลับไปเดินหมวดที่แลงคาเชียร์และเชสเชียร์
ไว้ใจพระยะโฮวามีผลดีเสมอ
ในเดือนสิงหาคมปี 1962 ตอนที่เรากำลังลาพักร้อนอยู่ เราได้รับจดหมายจากเบเธล ในนั้นมีใบสมัครโรงเรียนกิเลียดด้วย หลังจากที่เราอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราก็กรอกใบสมัครแล้วก็รีบส่งไปที่เบเธล ห้าเดือนต่อมาเราก็เดินทางไปที่บรุกลิน นิวยอร์กเพื่อเข้าโรงเรียนกิเลียดชั้นเรียนที่ 38 ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ใช้เวลา 10 เดือน
โรงเรียนกิเลียดไม่ได้สอนเราแค่เรื่องคัมภีร์ไบเบิลและองค์การเท่านั้น แต่ยังสอนเกี่ยวกับพี่น้องทั่วโลกด้วย ตอนนั้นเราอายุแค่ 20 กว่า ๆ แต่ก็ได้เรียนหลายอย่างจากพี่น้องที่อยู่ในชั้นเรียน ผมได้ทำงานมอบหมายของเบเธลกับพี่น้องเฟรด รัสก์ซึ่งเป็นผู้สอนในโรงเรียนกิเลียดคนหนึ่ง ผมรู้สึกเป็นสิทธิพิเศษมากเลยครับที่ได้ทำงานกับเขาทุกวัน เรื่องหนึ่งที่เขาเน้นมากก็คือ ทุกครั้งที่เราให้คำแนะนำใคร เราต้องมั่นใจว่าคำแนะนำนั้นถูกต้องซึ่งหมายความว่าคำแนะนำนั้นต้องมาจากหลักการในคัมภีร์ไบเบิล ในช่วงที่เรียนมีพี่น้องที่มีประสบการณ์หลายคนมาบรรยายให้เราฟัง เช่น พี่น้องนาธาน นอร์ พี่น้องเฟรเดอริก แฟรนซ์ แล้วก็มีพี่น้องคาร์ล ไคลน์ด้วย และเรายังได้เรียนจากความถ่อมของพี่น้องอเล็กซานเดอร์ แมกมิลแลน เขามาบรรยายและช่วยให้เราเห็นว่าพระยะโฮวาชี้นำคนของพระองค์ให้ผ่านการทดสอบยังไงในช่วงปี 1914 ถึงช่วงต้นปี 1919
เปลี่ยนงานมอบหมาย
พอใกล้เรียนจบ พี่น้องนอร์ก็บอกเราสองคนว่าเราจะถูกมอบหมายให้ไปรับใช้ในประเทศบุรุนดีในแอฟริกา พอได้ยินอย่างนั้น เราก็รีบไปที่ห้องสมุดของเบเธล เราพยายามไปค้นดูในหนังสือประจำปี ว่าในประเทศบุรุนดีมีพี่น้องกี่คน แต่เราก็ไม่เจอเลย เราต้องไปในทวีปที่เราแทบจะไม่รู้จักและในเขตที่ไม่เคยมีใครไปประกาศมาก่อน ตอนแรกเรากังวลมากเลยครับ แต่พอเราอธิษฐาน เราก็รู้สึกสบายใจขึ้น
งานมอบหมายที่บุรุนดีเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับเรา มีหลายอย่างเลยที่เราไม่คุ้นเคยทั้งอากาศ ทั้งวัฒนธรรม และก็ภาษา เราต้องเรียนภาษาฝรั่งเศส และเรายังมีปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น เรื่องที่พัก แต่หลังจากที่เราไปถึงได้ 2 วัน พี่น้องแฮร์รี อาร์นอตต์ นักเรียนกิเลียดชั้นเดียวกันกับเราก็แวะมาเยี่ยมเราก่อนที่เขาจะกลับไปทำงานมอบหมายที่แซมเบีย เขาช่วยเราหาอพาร์ตเมนต์ และในที่สุดที่นั่นก็เป็นบ้านมิชชันนารีหลังแรกของเรา แต่ไม่นานหลังจากที่เราอยู่ที่นั่น พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลก็ต่อต้านเราทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา พอเราเริ่มมีความสุขกับการรับใช้ที่นั่น พวกเจ้าหน้าที่ก็มาบอกกับเราว่าเราจะอยู่ที่นั่นต่อไปไม่ได้ถ้าเราไม่มีใบอนุญาตทำงาน เรารู้สึกเสียใจจริง ๆ ที่เราต้องออกจากบุรุนดี เราต้องย้ายไปอีกประเทศหนึ่งคือยูกันดา
ตอนที่ไปยูกันดา เรากังวลมากเพราะไม่มีวีซ่า แต่เราก็ไว้ใจพระยะโฮวา พี่น้องแคนาดาที่รับใช้อยู่ที่นั่นช่วยคุยกับเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองให้เรา และเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้เราอยู่ที่นั่นต่อ 2-3 เดือนจนกว่าจะได้วีซ่า เราเห็นเลยว่าพระยะโฮวาช่วยเราจริง ๆ
ยูกันดาไม่เหมือนกับบุรุนดีเลย ถึงที่นั่นจะมีพยานฯ แล้ว แต่ทั้งประเทศก็มีพยานฯ แค่ 28 คนเท่านั้น ตอนที่ไปประกาศ เราเจอหลายคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ แต่ที่นั่นมีภาษาพื้นเมืองเยอะมาก ต่อมาเรารู้ว่าเพื่อจะช่วยคนที่นั่นให้ก้าวหน้าในความจริงได้ เราต้องเรียนภาษาพื้นเมืองอย่างน้อยซักภาษาหนึ่ง เราเริ่มประกาศที่เมืองกัมปาลา คนส่วนใหญ่ที่นั่นพูดภาษาลูกันดา เราก็เลยตัดสินใจเรียนภาษานี้ ถึงจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะพูดเก่งแต่มันช่วยให้งานประกาศเกิดผลดีกว่าเดิมเยอะจริง ๆ เราเข้าใจนักศึกษามากขึ้นและรู้ว่าต้องสอนอะไรพวกเขา และนักศึกษาก็กล้าเล่าความรู้สึกให้เราฟังว่าเขารู้สึกยังไงกับสิ่งที่ได้เรียน
เดินทางไปหลายที่
นอกจากเราจะมีความสุขที่ได้ช่วยหลายคนให้เรียนรู้ความจริงแล้ว เรายังมีความสุขมากที่ได้รับสิทธิพิเศษที่เราไม่ได้คิดมาก่อน เราได้รับใช้เป็นผู้ดูแลหมวด สาขาเคนยาให้เราเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อจะดูว่าจะส่งไพโอเนียร์พิเศษไปเปิดเขตที่ไหนบ้าง หลายครั้งเราเจอชาวบ้านที่ไม่เคยเจอพยานฯ มาก่อน พวกเขามีน้ำใจมาก พวกเขาต้อนรับเราและถึงกับทำกับข้าวให้เราด้วย
มีครั้งหนึ่งผมนั่งรถไฟ 2 วันจากกัมปาลาไปที่มอมบาซาประเทศเคนยา แล้วก็ต่อเรือไปหมู่เกาะเซเชลส์ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 1965 จนถึงปี 1972 บาร์บาราก็ไปเยี่ยมหมวดที่เซเชลส์กับผมด้วย ตอนแรกที่นั่นมีผู้ประกาศแค่ 2 คน จากนั้นก็กลายเป็นกลุ่ม แล้วก็เป็นประชาคม และผมก็ได้เดินทางไปเยี่ยมพี่น้องที่เอริเทรีย เอธิโอเปีย และซูดานด้วย
หลังจากที่มีการรัฐประหารที่ยูกันดา สถานการณ์ทางการเมืองที่นั่นก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หลายปีต่อจากนั้นเป็นช่วงที่ลำบากมาก และผมได้เรียนรู้ว่าต้องเชื่อฟังคำสั่งที่บอกว่า “อะไรที่เป็นของซีซาร์ก็ให้กับซีซาร์” (มก. 12:17) ตอนนั้นคนต่างชาติทุกคนที่อยู่ที่ยูกันดาต้องไปลงทะเบียนที่สถานีตำรวจที่ใกล้บ้านที่สุด เราก็ทำทันที 2-3 วันต่อมาผมกับเพื่อนมิชชันนารีขับรถผ่านเมืองกัมปาลาแล้วก็ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบโบกให้หยุด เราสองคนหัวใจเต้นแรงมาก พวกเขาหาว่าเราเป็นสายลับแล้วก็พาเราไปที่สถานีตำรวจ เราพยายามอธิบายว่าเราเป็นมิชชันนารีไม่ได้ทำอะไรผิดและก็ลงทะเบียนแล้ว แต่พวกเขาก็ไม่ฟังเลย แล้วเราก็ถูกพาตัวไปที่สถานีตำรวจใกล้บ้านมิชชันนารี แต่พอไปถึง เราดีใจมากที่เจอกับตำรวจที่เราเคยเจอตอนที่ลงทะเบียนก่อนหน้านี้ เขาจำเราได้ แล้วก็สั่งให้ปล่อยเรา
ในช่วงนั้นพวกทหารตั้งด่านเต็มไปหมด และตอนที่เราเจอด่านเรารู้สึกเครียดมาก โดยเฉพาะตอนที่พวกทหารที่กำลังเมาอยู่โบกให้เราหยุด ทุกครั้งที่เราเจอด่านเราจะอธิษฐาน มันช่วยให้เราสงบใจ แล้วเราก็ผ่านด่านพวกนั้นได้อย่างปลอดภัยตลอด เราเสียใจมากที่ในปี 1973 มิชชันนารีทุกคนต้องออกจากประเทศยูกันดา
เราได้รับงานมอบหมายใหม่อีกแล้วครับ ตอนนี้เราต้องไปประเทศโกตดิวัวร์ที่อยู่ในแอฟริกาตะวันตก เราต้องปรับตัวหลายอย่างเลยครับ เราต้องเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ต้องกลับไปพูดภาษาฝรั่งเศสตลอดเวลาอีกครั้ง แล้วก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนมิชชันนารีคนอื่น ๆ ที่มาจากหลาย ๆ ประเทศด้วย นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งครับที่เราเห็นว่าพระยะโฮวาช่วยคนถ่อมและคนที่หัวใจดีที่นั่นให้ฟังความจริงและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เราสองคนเห็นชัดเลยว่าพระยะโฮวาช่วยให้ชีวิตของเราราบรื่น
แล้วอยู่ดี ๆ บาร์บาราก็ตรวจเจอว่าเป็นโรคมะเร็ง มันทำให้เราต้องกลับไปรักษาตัวที่ยุโรปอยู่หลายครั้ง แต่พอถึงปี 1983 เราก็เริ่มรู้ว่าเราคงรับใช้ต่อไปที่แอฟริกาไม่ไหวแล้ว เราสองคนเสียใจมาก
ชีวิตที่เปลี่ยนไป
แล้วเราก็กลับไปรับใช้ที่เบเธลลอนดอน อาการของบาร์บาราแย่ลง แล้วเธอก็จากผมไป ครอบครัวเบเธลช่วยผมเยอะมากเลยครับ โดยเฉพาะมีสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ช่วยผมให้ปรับตัวและยังไว้ใจพระยะโฮวาต่อไปได้ แล้วผมก็ได้เจอกับแอน พี่น้องที่ทำงานอาสาสมัครไปกลับเบเธล เธอเคยเป็นไพโอเนียร์พิเศษและเธอก็รักพระยะโฮวามาก เราแต่งงานกันในปี 1989 แล้วเราก็รับใช้ที่เบเธลด้วยกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ตั้งแต่ปี 1995 ถึง 2018 ผมรู้สึกเป็นสิทธิพิเศษมากที่ได้ทำงานรับใช้เป็นตัวแทนจากสำนักงานใหญ่ (ที่เมื่อก่อนเรียกว่าผู้ดูแลโซน) ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเกือบ 60 ประเทศ ทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมที่ต่าง ๆ ผมได้เจอกับพี่น้องหลายคนที่ทำให้ผมเห็นหลักฐานว่าพระยะโฮวาดูแลผู้รับใช้ของพระองค์จริง ๆ ไม่ว่าชีวิตของพวกเขาจะเป็นยังไง
ในปี 2017 ผมได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมที่แอฟริกาอีกครั้ง ผมดีใจมากเลยครับที่ได้พาแอนไปบุรุนดีเป็นครั้งแรก เราสองคนทึ่งมากกับความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในเขตนี้ ตอนนี้เบเธลตั้งอยู่บนถนนที่ผมเคยไปประกาศในช่วงปี 1964 ทั่วทั้งประเทศมีผู้ประกาศมากกว่า 15,500 คน
ตอนที่ได้รับตารางการเยี่ยมของปี 2018 ผมดีใจมากเลยครับเพราะว่าหนึ่งในประเทศที่เราต้องไปเยี่ยมก็คือโกตดิวัวร์ พอเราไปถึงอาบิดจันเมืองที่ใหญ่ที่สุดของที่นั่น ผมก็รู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน พอเราไปถึงเบเธล ผมก็ดูรายชื่อและเบอร์โทรของพี่น้องเบเธล แล้วผมก็เห็นว่าคนที่พักอยู่ห้องข้าง ๆ ผมชื่อว่าโซซู ผมจำได้ว่าเขาเคยรับใช้เป็นผู้ดูแลนคร *ที่อาบิดจัน แต่ผมเดาผิด นั่นมันไม่ใช่เขา แต่เป็นลูกชายของเขาต่างหากที่ชื่อว่าโซซูเหมือนกัน
พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่รักษาสัญญาจริง ๆ ความลำบากและปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตผมสอนผมว่า ถ้าเราไว้ใจพระยะโฮวา พระองค์ก็จะทำให้ชีวิตของเราราบรื่น ตอนนี้เราอยากจะเดินอยู่ในทางนี้ต่อ ๆ ไป ทางที่จะพาเราไปถึงโลกใหม่ที่มีอนาคตที่สดใสรออยู่ข้างหน้า—สภษ. 4:18
^ วรรค 33 ปัจจุบันไม่มีผู้ดูแลนครแล้ว