บทความศึกษา 8
คำแนะนำของคุณ “ทำให้ชื่นใจ” ไหม?
“เพื่อนที่ให้คำแนะนำอย่างจริงใจ เป็นเหมือนน้ำมันและเครื่องหอมที่ทำให้ชื่นใจ”—สภษ. 27:9
เพลง 102 “ช่วยคนที่อ่อนแอ”
ใจความสำคัญ *
1-2. พี่น้องชายคนหนึ่งได้บทเรียนอะไรเกี่ยวกับการให้คำแนะนำ?
หลายปีก่อน ผู้ดูแล 2 คนไปเยี่ยมพี่น้องหญิงคนหนึ่งที่บ้าน เธอขาดประชุมไปช่วงหนึ่ง ตอนที่คุยกับพี่น้องหญิงคนนั้น ผู้ดูแลคนหนึ่งเปิดคัมภีร์ไบเบิลหลายข้อที่เน้นเรื่องการมาประชุม ผู้ดูแลคนนี้คิดว่าพี่น้องหญิงต้องได้กำลังใจแน่ ๆ แต่ตอนที่พวกเขากำลังออกจากบ้านไป พี่น้องหญิงก็พูดกับผู้ดูแลว่า “พวกคุณไม่รู้เลยสักนิดว่าฉันกำลังเจออะไร” ผู้ดูแล 2 คนนี้แนะนำพี่น้องโดยไม่ได้ถามด้วยซ้ำว่าเธอกำลังเจอปัญหาอะไรหรือชีวิตของเธอเป็นยังไง พี่น้องหญิงเลยรู้สึกว่าคำแนะนำของผู้ดูแลไม่มีประโยชน์อะไรเลย
2 ผู้ดูแลคนนั้นพูดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “แวบแรกที่ผมได้ยิน ผมคิดว่าพี่น้องหญิงคนนี้ไม่นับถือผม แต่ผมก็คิดขึ้นได้ว่าผมสนใจแต่จะเปิดข้อคัมภีร์ดี ๆ ไม่ได้ถามเธอเลยว่า ‘คุณเป็นยังไงบ้าง?’ ‘มีอะไรที่ผมจะช่วยคุณได้บ้าง?’” ผู้ดูแลคนนั้นได้บทเรียนที่สำคัญ ทุกวันนี้เขากลายเป็นผู้ดูแลที่เห็นใจคนอื่นและช่วยพี่น้องได้เยอะจริง ๆ
3. ใครให้คำแนะนำได้บ้าง?
3 ถ้าในประชาคมมีพี่น้องบางคนที่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำ คนที่ทำหน้าที่แนะนำก็ต้องเป็นผู้ดูแลเพราะพระเจ้ามอบหมายให้พวกเขาเลี้ยงฝูงแกะของพระองค์ แต่บางครั้งพี่น้องคนอื่นก็สามารถให้คำแนะนำกัน และกันได้ เช่น เพื่อนก็ให้คำแนะนำจากพระคัมภีร์กับเพื่อนได้ (สด. 141:5; สภษ. 25:12) หรือพี่น้องหญิงที่อายุมากกว่าก็อาจ “แนะนำผู้หญิงสาว ๆ” ในเรื่องต่าง ๆ ที่บอกไว้ในทิตัส 2:3-5 นอกจากนั้น พ่อแม่ก็ต้องแนะนำสั่งสอนลูกบ่อย ๆ ด้วย ถึงบทความนี้จะเน้นที่ผู้ดูแล แต่เราทุกคนจะได้ประโยชน์ถ้าเรามาดูว่าเราต้องให้คำแนะนำแบบไหน ผู้ฟังถึงจะอยากทำตามและสามารถทำตามได้จริง และคำแนะนำแบบไหนจะ “ทำให้ชื่นใจ”—สภษ. 27:9
4. เราจะคุยอะไรกันในบทความนี้?
4 ในบทความนี้เราจะดู 4 คำถามด้วยกัน (1) คุณให้คำแนะนำเพราะอะไร? (2) จำเป็นต้องให้คำแนะนำจริง ๆ ไหม? (3) ใครควรให้คำแนะนำ? และ (4) อะไรจะช่วยเราให้คำแนะนำที่ได้ผลจริง?
คุณให้คำแนะนำเพราะอะไร?
5. อะไรจะช่วยผู้ดูแลให้คำแนะนำแบบที่พี่น้องยอมรับได้ง่ายขึ้น? (1 โครินธ์ 13:4, 7)
5 ผู้ดูแลรักพี่น้องมาก บางครั้งผู้ดูแลก็แสดงว่ารักพี่น้องโดยแนะนำคนที่ “กำลังก้าวไปผิดทาง” (กท. 6:1) แต่ก่อนที่ผู้ดูแลจะคุยกับพี่น้องคนนั้น เขาน่าจะดูสิ่งที่เปาโลพูดเกี่ยวกับความรัก เปาโลบอกว่า “ความรักอดกลั้นและเมตตากรุณา . . . ยอมทนรับทุกอย่าง เชื่ออยู่เสมอ หวังอยู่เสมอ อดทนได้ทุกอย่าง” (อ่าน 1 โครินธ์ 13:4, 7) การคิดใคร่ครวญข้อคัมภีร์เหล่านี้จะทำให้ผู้ดูแลได้ตรวจสอบตัวเองว่าเขาแนะนำพี่น้องเพราะอะไร และจะช่วยให้เขาสามารถแนะนำพี่น้องด้วยความรักได้จริง ๆ ถ้าพี่น้องคนนั้นสัมผัสได้ว่าผู้ดูแลรักและเป็นห่วงเขาจริง ๆ เขาก็จะยอมรับคำแนะนำได้ง่ายขึ้น—รม. 12:10
6. เปาโลเป็นตัวอย่างที่ดียังไง?
6 อัครสาวกเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีมากให้กับผู้ดูแล เช่น ตอนที่พี่น้องในเธสะโลนิกาจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำ เปาโลก็ไม่ลังเลที่จะเขียนจดหมายไปแนะนำพวกเขา แต่ก่อนอื่นเปาโลชมพวกเขาว่าพวกเขารับใช้อย่างซื่อสัตย์ ทำงานด้วยความรักและอดทนจริง ๆ นอกจากนั้น เปาโลยังบอกว่าเขาเข้าใจสภาพการณ์ของพี่น้องเหล่านั้นว่าไม่ง่ายเลยและรู้ด้วยว่าพวกเขาต้องอดทนการข่มเหงหนักขนาดไหน (1 ธส. 1:3; 2 ธส. 1:4) เปาโลถึงกับบอกว่าพี่น้องเหล่านั้นเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนอื่น (1 ธส. 1:8, 9) คำชมของเปาโลต้องทำให้พวกเขาได้กำลังใจแน่นอนและแสดงให้เห็นเลยว่าเปาโลรักพวกเขามาก นี่เลยทำให้คำแนะนำในจดหมาย 2 ฉบับที่เปาโลเขียนถึงพี่น้องในเธสะโลนิกาเป็นคำแนะนำที่ได้ผลจริง—1 ธส. 4:1, 3-5, 11; 2 ธส. 3:11, 12
7. ทำไมบางคนไม่ยอมรับคำแนะนำ?
7 ถ้าเราไม่ได้ให้คำแนะนำโดยใช้วิธีที่ถูกต้อง ผลจะเป็นยังไง? ผู้ดูแลที่มีประสบการณ์มากคนหนึ่งบอกว่า “ที่พี่น้องบางคนไม่ยอมรับคำแนะนำ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวคำแนะนำ แต่เพราะคนที่ให้คำแนะนำไม่ได้แนะนำด้วยความรัก” เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? พี่น้องจะยอมรับคำแนะนำได้ง่ายกว่า ถ้าเราให้คำแนะนำด้วยความรักไม่ใช่ใส่อารมณ์
จำเป็นต้องให้คำแนะนำจริง ๆ ไหม?
8. ตอนที่ผู้ดูแลคิดจะแนะนำพี่น้อง เขาควรถามตัวเองยังไง?
8 ผู้ดูแลต้องไม่รีบแนะนำพี่น้อง ก่อนที่เขาจะแนะนำใคร เขาต้องถามตัวเองว่า ‘ผมต้องคุยกับเขาจริง ๆ ไหม? ผมแน่ใจใช่ไหมว่าเขาทำผิดจริง ๆ? สิ่ง ที่เขาทำมันผิดหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไหมหรือว่าเขาแค่คิดไม่เหมือนกันกับผม?’ ผู้ดูแลที่ฉลาดจะไม่ “ปากไว” (สภษ. 29:20) ถ้าผู้ดูแลไม่แน่ใจว่าเขาควรแนะนำพี่น้องไหม เขาอาจจะลองถามผู้ดูแลอีกคนหนึ่งว่าคิดเหมือนกันไหมว่าพี่น้องคนนั้นทำผิดหลักการและจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจริง ๆ—2 ทธ. 3:16, 17
9. เราเรียนอะไรจากคำแนะนำของเปาโลเกี่ยวกับการแต่งตัว? (1 ทิโมธี 2:9, 10)
9 ให้เราดูตัวอย่างนี้ด้วยกัน ถ้าผู้ดูแลคิดจะแนะนำพี่น้องเรื่องการแต่งตัว เขาอาจจะถามตัวเองว่า ‘ผมมีเหตุผลจากคัมภีร์ไบเบิลไหมที่จะแนะนำเขา?’ และเพื่อที่ผู้ดูแลจะไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองในการตัดสินใจ เขาอาจจะไปถามผู้ดูแลอีกคน หรือพี่น้องชายหรือพี่น้องหญิงที่มีความคิดเป็นผู้ใหญ่ และเขาสองคนอาจจะดูคำแนะนำของเปาโลด้วยกันเรื่องการแต่งตัว (อ่าน 1 ทิโมธี 2:9, 10) เปาโลให้หลักการกว้าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาบอกว่าคริสเตียนควรจะแต่งตัวแบบที่เหมาะสม สุภาพเรียบร้อย และไม่ทำให้พระยะโฮวาเสียชื่อเสียง เปาโลไม่ได้มีรายการยาวเหยียดว่าควรจะใส่อะไรไม่ควรจะใส่อะไร เขารู้ว่าพี่น้องมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะแต่งตัวยังไงตามความชอบของตัวเองถ้าไม่ขัดกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล ดังนั้น เมื่อผู้ดูแลจะตัดสินใจว่าจะต้องแนะนำพี่น้องหรือเปล่า เขาก็จะดูว่าพี่น้องคนนั้นแต่งตัวแบบที่เหมาะสมและให้เกียรติพระยะโฮวาไหม
10. เราต้องจำอะไรในเรื่องการตัดสินใจของคนอื่น?
10 เราต้องจำไว้ว่าพี่น้องที่มีความคิดเป็นผู้ใหญ่ 2 คนอาจจะตัดสินใจไม่เหมือนกันก็ได้ และไม่ได้หมายความว่าคนหนึ่งถูกคนหนึ่งผิด พวกเขาอาจจะถูกทั้งคู่ก็ได้ ดังนั้น เราต้องไม่บังคับให้พี่น้องคิดเหมือนกับเรา—รม. 14:10
ใครควรให้คำแนะนำ?
11-12. ถ้าจำเป็นต้องให้คำแนะนำ ผู้ดูแลควรถามตัวเองยังไง? และทำไม?
11 ถ้ารู้แล้วว่าต้องให้คำแนะนำ เรื่องต่อไปที่ผู้ดูแลต้องคิดถึงก็คือ แล้วใครล่ะจะเป็นคนแนะนำ? เช่น ก่อนที่ผู้ดูแลจะไปคุยกับพี่น้องหญิงที่แต่งงานแล้วหรือเด็ก ผู้ดูแลน่าจะคุยกับหัวหน้าครอบครัวนั้นก่อน * และบางทีหัวหน้าครอบครัวนั้นอาจอยากเป็นคนจัดการเรื่องนั้นเอง หรือหัวหน้าครอบครัวอาจจะขออยู่ด้วยตอนที่ผู้ดูแลแนะนำคนในครอบครัวของเขา นอกจากนั้น อย่างที่บอกใน ข้อ 3 บางครั้งอาจจะดีกว่าที่ผู้ ดูแลจะขอให้พี่น้องหญิงที่อายุมากกว่าเป็นคนไปแนะนำพี่น้องหญิงที่อายุน้อยกว่า
12 นอกจากนั้น ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคิดถึงด้วย ผู้ดูแลอาจถามตัวเองว่า ‘ผมต้องเป็นคนไปแนะนำพี่น้องเองไหม หรือว่ามีคนอื่นที่เหมาะกว่า?’ ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องไปคุยกับพี่น้องที่คิดว่าตัวเองไม่มีค่า ดีกว่าที่จะให้ผู้ดูแลที่เคยเป็นแบบนั้นเป็นคนไปคุย เพราะผู้ดูแลที่เคยมีประสบการณ์คล้ายกับพี่น้องจะเข้าใจพี่น้องได้ดีกว่าและพี่น้องก็จะยอมรับคำแนะนำจากเขาได้ง่ายกว่า แต่ผู้ดูแลทุกคนมีหน้าที่ที่จะให้กำลังใจและช่วยพี่น้องให้ทำตามสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอก ดังนั้น ถ้าเห็นว่าพี่น้องจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องให้คำแนะนำถึงแม้ว่าจะไม่มีผู้ดูแลคนไหนที่มีประสบการณ์คล้ายกับพี่น้องคนนั้น
อะไรจะช่วยเราให้คำแนะนำที่ได้ผลจริง?
13-14. ทำไมถึงสำคัญที่ผู้ดูแลต้องฟังพี่น้อง?
13 ฟังพี่น้อง ตอนที่ผู้ดูแลคิดจะแนะนำพี่น้อง เขาน่าจะถามตัวเองว่า ‘ชีวิตพี่น้องคนนั้นเป็นยังไง? เขาเจออะไรอยู่? เขากำลังเจอปัญหาอะไรที่ผมไม่รู้ไหม? ตอนนี้เขาต้องการอะไรมากที่สุด?’
14 คนที่จะให้คำแนะนำคนอื่นควรทำตามยากอบ 1:19 ที่บอกว่า “ทุกคนต้องไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ” ผู้ดูแลอาจจะคิดว่าเขารู้ทุกอย่างแล้ว แต่เป็นอย่างนั้นจริงไหม? สุภาษิต 18:13 เตือนว่า “คนที่ตอบก่อนได้ยินข้อเท็จจริง ก็ทำเรื่องโง่และน่าอับอาย” ดังนั้น ดีที่สุดที่ผู้ดูแลจะเข้าไปคุยกับพี่น้องคนนั้น และขอให้เขาช่วยเล่าว่าเรื่องราวเป็นยังไง ผู้ดูแลควรตั้งใจฟังก่อนที่จะพูดอะไรออกไป ขอให้นึกถึงผู้ดูแลที่พูดถึงในตอนต้นของบทความ เขาได้เรียนบทเรียนสำคัญมาก เขาได้รู้ว่าแทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาพูดสิ่งที่เตรียมมากับพี่น้องหญิงคนนั้น เขาควรถามเธอก่อนว่า “คุณเป็นยังไงบ้าง?” “มีอะไรที่ผมจะช่วยคุณได้บ้าง?” ถ้าผู้ดูแลใช้เวลาเพื่อจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับพี่น้อง เขาจะให้กำลังใจและช่วยพี่น้องได้ดีกว่า
15. ผู้ดูแลจะเอาคำแนะนำในสุภาษิต 27:23 มาใช้ยังไง?
15 รู้จักพี่น้องให้ดีขึ้น อย่างที่ได้บอกไปแล้ว ถ้าผู้ดูแลอยากให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องจริง ๆ เขาต้องไม่ใช่แค่อ่านข้อคัมภีร์ไม่กี่ข้อแล้วก็ให้คำแนะนำนิดหน่อย พี่น้องต้องสัมผัสได้ว่าผู้ดูแลรักและเป็นห่วงพวกเขา เข้าใจพวกเขา และอยากช่วยพวกเขาจริง ๆ (อ่านสุภาษิต 27:23) ผู้ดูแลเลยต้องพยายามสนิทกับพี่น้องให้มากขึ้น
16. อะไรจะช่วยผู้ดูแลให้คำแนะนำที่ได้ผลจริง?
16 อย่าให้พี่น้องรู้สึกว่าผู้ดูแลจะเข้ามาคุยก็ต่อเมื่อเขามีธุระจะคุยหรือมาให้คำแนะนำเท่านั้น แต่ผู้ดูแล ต้องพูดคุยกับพี่น้องเป็นประจำ ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบว่าพี่น้องมีปัญหาอะไรบ้าง ผู้ดูแลที่มีประสบการณ์คนหนึ่งบอกว่า “ถ้าทำแบบนั้น พี่น้องจะสนิทกับคุณ และถ้าคุณแนะนำอะไร มันก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว” นอกจากนั้น พี่น้องจะยอมรับคำแนะนำของผู้ดูแลได้ง่ายขึ้นด้วย
17. ตอนไหนที่ผู้ดูแลต้องอดทนและอ่อนโยนเป็นพิเศษ?
17 อดทนและอ่อนโยน ตอนแรกพี่น้องบางคนอาจไม่อยากทำตามคำแนะนำจากพระคัมภีร์ แต่ถ้าเขาเห็นว่าคุณอ่อนโยนและอดทนกับเขา เขาก็อาจยอมรับคำแนะนำของคุณ ดังนั้น ถ้าพี่น้องไม่ยอมรับหรือไม่ทำตามคำแนะนำของคุณทันที ก็อย่าเพิ่งหงุดหงิด คัมภีร์ไบเบิลมีคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซูว่า “ต้นอ้อที่ช้ำแล้ว เขาจะไม่หัก ไส้ตะเกียงที่มีไฟริบหรี่ เขาจะไม่ดับ” (มธ. 12:20) ดังนั้น คุณอาจจะอธิษฐานเผื่อพี่น้องที่คุณแนะนำ ให้พี่น้องคนนั้นเข้าใจว่าทำไมต้องได้รับคำแนะนำ และขอพระยะโฮวาช่วยคนนั้นให้เอาคำแนะนำไปใช้ พี่น้องอาจต้องการเวลาคิดใคร่ครวญคำแนะนำที่คุณให้กับเขา ถ้าผู้ดูแลอดทนและอ่อนโยน พี่น้องก็จะสนใจที่คำแนะนำไม่ใช่วิธีแนะนำ และมันจะทำให้เขารับคำแนะนำได้ง่ายขึ้นด้วย ที่สำคัญผู้ดูแลต้องให้คำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลเสมอ
18. (ก) เราควรจำอะไรไว้เกี่ยวกับการให้คำแนะนำ? (ข) อย่างที่เห็นในรูปและคำอธิบายในกรอบ พ่อแม่ควรทำอะไร?
18 เรียนรู้จากความผิดพลาด เราทุกคนไม่สมบูรณ์แบบก็เลยทำตามคำแนะนำในบทความนี้ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ (ยก. 3:2) เมื่อไหร่ที่เราทำผิดพลาด เราก็ควรเรียนจากเรื่องนั้น และถ้าพี่น้องสัมผัสได้ว่าเรารักเขา พอเราพูดหรือทำอะไรที่ทำให้เขาไม่พอใจ เขาก็จะเต็มใจให้อภัยเราได้ง่ายขึ้น—ดูกรอบ “ คำแนะนำสำหรับพ่อแม่”
เราได้เรียนอะไร?
19. เราจะทำให้พี่น้องชื่นใจได้ยังไง?
19 เราได้เห็นแล้วว่าการให้คำแนะนำไม่ใช่เรื่องง่าย เราทุกคนไม่สมบูรณ์แบบและคนที่ได้รับคำแนะนำก็ไม่สมบูรณ์แบบด้วย ขอให้จำหลักการต่าง ๆ ในบทความนี้ไว้ให้ดี เมื่อคุณให้คำแนะนำ คุณทำเพราะคุณรักพี่น้อง และให้คำแนะนำก็ต่อเมื่อจำเป็นจริง ๆ รวมถึงคิดให้ดีว่าใครควรเป็นคนให้คำแนะนำ และก่อนที่จะให้คำแนะนำ ให้คุณถามเขาก่อนว่าเขาเป็นยังไง และตั้งใจฟังด้วยเพื่อจะเข้าใจว่าเขากำลังเจอปัญหาอะไร ให้คุณมองเรื่องต่าง ๆ แบบที่เขามอง ให้แสดงความอ่อนโยนและพยายามสนิทกับพี่น้องมากขึ้น ต้องจำไว้ว่าเป้าหมายสำคัญก็คือ เราอยากให้คำแนะนำที่ได้ผลจริง แต่ไม่ใช่แค่นั้น เราอยาก “ทำให้ชื่นใจ” ด้วย—สภษ. 27:9
เพลง 103 ผู้ดูแลเป็นของขวัญจากพระเจ้า
^ วรรค 5 การให้คำแนะนำใครสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราต้องทำแบบนั้น เราต้องทำยังไงคนฟังถึงจะได้ประโยชน์และได้กำลังใจ บทความนี้จะช่วยผู้ดูแลโดยเฉพาะให้รู้ว่าเมื่อเขาต้องให้คำแนะนำ เขาควรทำแบบไหน ผู้ฟังถึงจะรับได้ง่ายและสามารถเอาไปใช้ได้
^ วรรค 11 ดูบทความ “เข้าใจเรื่องอำนาจในประชาคม” ในหอสังเกตการณ์ กุมภาพันธ์ 2021