ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​บรรยาย​ที่​การ​ประชุม​ใหญ่ เมือง​ซีดาร์พอยท์ รัฐ​โอไฮโอ ปี 1919

1919 ร้อยปีที่แล้ว

1919 ร้อยปีที่แล้ว

ปี 1919 มหา​สงคราม (ภาย​หลัง​เรียก​ว่า สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1) ที่​กิน​เวลา​กว่า 4 ปี​ได้​สิ้น​สุด​ลง ชาติ​ต่าง ๆ เลิก​สู้​รบ​ตั้ง​แต่​ปลาย​ปี 1918 และ​ใน​วัน​ที่ 18 มกราคม 1919 การ​ประชุม​สันติภาพ​ปารีส​ได้​เริ่ม​ขึ้น การ​ประชุม​นี้​นำ​ไป​สู่​การ​ทำ​สนธิสัญญา​แวร์ซาย​ซึ่ง​เป็น​การ​ยุติ​สงคราม​ระหว่าง​ฝ่าย​สัมพันธมิตร​กับ​เยอรมนี​อย่าง​เป็น​ทาง​การ มี​การ​ลง​นาม​ใน​สนธิสัญญา​นี้​เมื่อ​วัน​ที่ 28 มิถุนายน 1919

นอก​จาก​นั้น สนธิสัญญา​แวร์ซาย​ทำ​ให้​มี​การ​ตั้ง​องค์การ​สันนิบาต​ชาติ โดย​มี​จุด​ประสงค์​เพื่อ “ส่ง​เสริม​ความ​ร่วม​มือ​ระหว่าง​ชาติ​และ​เพื่อ​บรรลุ​สันติภาพ​และ​ความ​ปลอด​ภัย​ระหว่าง​ชาติ” หลาย​ศาสนา​ใน​คริสต์​ศาสนจักร​สนับสนุน​องค์การ​นี้ สภา​สหพันธ์​แห่ง​คริสตจักร​ของ​พระ​คริสต์​ใน​อเมริกา​ยกย่อง​สันนิบาต​ชาติ​ว่า​เป็น “การ​แสดง​ออก​ทาง​การ​เมือง​บน​โลก​นี้​ของ​รัฐบาล​พระเจ้า” และ​สภา​นี้​ยัง​สนับสนุน​สันนิบาต​ชาติ​โดย​ส่ง​ตัว​แทน​เข้า​ประชุม​สันติภาพ​ปารีส​ด้วย ตัว​แทน​คน​หนึ่ง​บอก​ว่า​การ​ประชุม​นี้ “เป็น​ยุค​ใหม่​ของ​ประวัติศาสตร์​โลก”

ยุค​ใหม่​เริ่ม​ต้น​แล้ว​จริง ๆ แต่​ไม่​ได้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ประชุม​สันติภาพ​ครั้ง​นั้น ปี 1919 เป็น​การ​เริ่ม​ยุค​ใหม่​ของ​งาน​ประกาศ​ซึ่ง​พระ​ยะโฮวา​ช่วย​ประชาชน​ของ​พระองค์​ให้​ประกาศ​ได้​มาก​กว่า​ที่​เคย​เป็น​มา แต่​ก่อน​อื่น กลุ่ม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ต้อง​เจอ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ครั้ง​ใหญ่

การ​ตัดสิน​ใจ​ที่​ยาก​มาก

โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด

วัน​เสาร์​ที่ 4 มกราคม 1919 มี​การ​เลือก​ตั้ง​คณะ​กรรมการ​ประจำ​ปี​ของ​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แอนด์​แทร็กต์ ตอน​นั้น โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด​ที่​นำ​หน้า​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​พี่​น้อง​ชาย​อีก 7 คน​ยัง​อยู่​ใน​คุก​ที่​เมือง​แอตแลนตา รัฐ​จอร์เจีย สหรัฐ​อเมริกา สิ่ง​ที่​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​คือ ควร​เลือก​พี่​น้อง​ที่​ติด​คุก​กลับ​มา​อยู่​ใน​คณะ​กรรมการ​อีก หรือ​ควร​เลือก​คน​อื่น​มา​ทำ​หน้า​ที่​แทน

อีแวนเดอร์ เจ. โคเวิร์ด

ช่วง​ที่​อยู่​ใน​คุก เมื่อ​ได้​ยิน​ว่า​พี่​น้อง​บาง​คน​อยาก​เลือก​คน​อื่น​มา​เป็น​ประธาน พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​ซึ่ง​เป็น​ห่วง​อนาคต​ของ​องค์การ​ก็​เขียน​จดหมาย​ถึง​คน​ที่​เข้า​ร่วม​ประชุม​เพื่อ​เลือก​ตั้ง เสนอ​ให้​อี​แวนเดอร์ เจ. โค​เวิร์ด​เป็น​ประธาน เขา​บอก​ใน​จดหมาย​ว่า​พี่​น้อง​อี​แวน​เดอร์​เป็น​คน “เยือกเย็น” “สุขุม” และ “ภักดี​ต่อ​ผู้​เป็น​นาย” พี่​น้อง​หลาย​คน​ไม่​เห็น​ด้วย​และ​อยาก​ให้​รอ​อีก 6 เดือน​แล้ว​ค่อย​เลือก​ใหม่ ทีม​กฎหมาย​ที่​คอย​ช่วย​พี่​น้อง​ที่​ติด​คุก​ก็​เห็น​ด้วย การ​ประชุม​ตอน​นั้น​ตึงเครียด​มาก

ริชาร์ด เอช. บาร์เบอร์

ริชาร์ด เอช. บาร์เบอร์​อธิบาย​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​ต่อ​จาก​นั้น​ว่า​เป็น​เหมือน​การ ‘ราด​น้ำมัน​ลง​บน​น้ำ​เชี่ยว’ ซึ่ง​หมาย​ถึง​การ​พยายาม​ไกล่เกลี่ย​ความ​ขัด​แย้ง ตอน​ที่​ตึงเครียด​กัน​อยู่​นั้น​พี่​น้อง​คน​หนึ่ง​พูด​ขึ้น​มา​ว่า “ผม​ไม่​ได้​เป็น​ทนาย เรื่อง​ตัว​บท​กฎหมาย​ผม​ไม่​รู้​หรอก​ครับ แต่​เรื่อง​กฎ​ของ​ความ​ภักดี ผม​ก็​พอ​จะ​รู้​บ้าง พระเจ้า​อยาก​ให้​เรา​เป็น​คน​ภักดี ผม​มั่น​ใจ​เต็ม​ร้อย​ว่า ตอน​นี้​ไม่​มี​อะไร​ที่​จะ​บอก​ว่า​เรา​ภักดี​ต่อ​พระองค์​ได้​ดี​ไป​กว่า​การ​เลือก​พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​มา​เป็น​ประธาน​อีก​ครั้ง”—สด. 18:25

อเล็กซานเดอร์ เอช. แมกมิลแลน

ภาย​หลัง อเล็กซานเดอร์ เอช. แมกมิลแลน​ที่​ติด​คุก​ใน​ช่วง​นั้น​ด้วย​เล่า​ว่า ใน​วัน​ถัด​มา​พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​เคาะ​ผนัง​ห้อง​ขัง​เรียก​เขา​และ​บอก​ว่า “ยื่น​มือ​มา” แล้ว​ก็​เอา​โทรเลข​ใส่​มือ​เขา พอ​เห็น​ข้อ​ความ​สั้น ๆ นั้น พี่​น้อง​แมกมิลแลน​ก็​เข้าใจ​ทันที​ว่า​เป็น​ผล​การ​เลือก​ตั้ง ข้อ​ความ​นั้น​คือ “รัทเทอร์ฟอร์ด ไวซ์ แวน บาร์เบอร์ แอนเดอร์สัน บูล​ลี และ​สปิล ประธาน สาม​คน​แรก ผู้​บริหาร รัก​ทุก​คน” นี่​หมาย​ความ​ว่า​คณะ​กรรมการ​ชุด​เดิม​ถูก​เลือก​กลับ​มา​ทั้ง​หมด และ​คณะ​ผู้​บริหาร​ก็​ยัง​เป็น​โจเซฟ รัทเทอร์ฟอร์ด​และ​วิลเลียม แวน แอมเบิร์ก​เหมือน​เดิม ดัง​นั้น พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​ยัง​คง​เป็น​ประธาน​ต่อ​ไป

ถูก​ปล่อย​ตัว

กลุ่ม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ซื่อ​สัตย์​พยายาม​ล่า​ราย​ชื่อ​เพื่อ​ขอ​ให้​ปล่อย​ตัว​พี่​น้อง 8 คน​นั้น​ออก​จาก​คุก กลุ่ม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​กล้า​หาญ​ได้​ลาย​เซ็น​มา​มาก​กว่า 700,000 ชื่อ แต่​ยัง​ไม่​ทัน​ยื่น​คำ​ร้อง พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​และ​พี่​น้อง​ที่​มี​หน้า​ที่​สำคัญ​อีก 7 คน​ก็​ถูก​ปล่อย​ตัว​เมื่อ​วัน​พุธ​ที่ 26 มีนาคม 1919

พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​พูด​กับ​คน​ที่​มา​ต้อนรับ​ว่า “ผม​เชื่อ​มั่น​ว่า การ​ผ่าน​เรื่อง​ร้าย ๆ ครั้ง​นี้​มา​ก็​เพื่อ​เตรียม​เรา​ให้​พร้อม​สำหรับ​เรื่อง​ที่​หนัก​กว่า . . . ที่​พวก​คุณ​ต่อ​สู้​ไม่​ใช่​เพื่อ​ช่วย​พี่​น้อง​ออก​จาก​คุก​เท่า​นั้น แต่​เพื่อ​จุด​ประสงค์​ที่​แท้​จริง​ของ​การ​ต่อ​สู้​นี้ นั่น​คือ เพื่อ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​สรรเสริญ และ​คน​ที่​มี​ส่วน​ร่วม​จะ​ได้​รับ​พร​แน่นอน”

เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​การ​พิจารณา​คดี​ทำ​ให้​เห็น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​กำลัง​ชี้​นำ วัน​ที่ 14 พฤษภาคม 1919 ศาล​อุทธรณ์​ตัดสิน​ว่า “จำเลย​ใน​คดี​นี้​ถูก​ตัดสิน . . . อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม จึง​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​กลับ​คำ​พิพากษา” ก่อน​หน้า​นี้ พี่​น้อง​ทั้ง​แปด​คน​ถูก​ตัดสิน​ว่า​มี​ความ​ผิด​ร้ายแรง​ทาง​อาญา ซึ่ง​แม้​จะ​ได้​รับ​การ​อภัยโทษ​หรือ​ลด​โทษ​แล้ว​ก็​ยัง​มี​ประวัติ​อาชญากร​ติด​ตัว แต่​การ​กลับ​คำ​ตัดสิน​นี้​ได้​ลบ​ความ​ด่าง​พร้อย​ทั้ง​หมด​ออก​ไป ผล​คือ หลัง​จาก​ถูก​ปล่อย​ตัว พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด *ยัง​มี​คุณสมบัติ​ตาม​กฎหมาย​ที่​จะ​แก้​ต่าง​ให้​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​ศาล​สูง​ของ​สหรัฐ​อีก​หลาย​ครั้ง

มุ่ง​มั่น​ประกาศ​ต่อ​ไป

พี่​น้อง​แมกมิลแลน​เล่า​ว่า “เรา​ไม่​ได้​นั่ง​ขี้​เกียจ เอา​แต่​รอ​ให้​ผู้​เป็น​นาย​รับ​ไป​สวรรค์​โดย​ไม่​ทำ​อะไร​เลย เรา​รู้​ว่า​ต้อง​มุ่ง​มั่น​ทำ​สิ่ง​ที่​ผู้​เป็น​นาย​ต้องการ​ให้​เรา​ทำ​จริง ๆ”

แต่​ใน​ตอน​นั้น พี่​น้อง​ที่​สำนักงาน​ใหญ่​ก็​ยัง​ทำ​งาน​ที่​เคย​ทำ​มา​หลาย​ปี​ไม่​ได้ เพราะ​ช่วง​ที่​พี่​น้อง​หลาย​คน​ติด​คุก แท่น​พิมพ์​ถูก​ทำลาย​หมด เรื่อง​นี้​น่า​ท้อ​ใจ​จริง ๆ และ​บาง​คน​สงสัย​ว่า​งาน​ประกาศ​เสร็จ​สิ้น​แล้ว​หรือ​เปล่า

ยัง​มี​ใคร​อยาก​ฟัง​ข่าว​เรื่อง​รัฐบาล​ของ​พระเจ้า​อีก​ไหม? เพื่อ​ตอบ​คำ​ถาม พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​ตัดสิน​ใจ​ให้​มี​คำ​บรรยาย​และ​เชิญ​คน​ทั่ว​ไป​มา​ฟัง พี่​น้อง​แมกมิลแลน​บอก​ว่า “ถ้า​ไม่​มี​ใคร​มา​ฟัง ก็​แสดง​ว่า​เรา​ทำ​งาน​ประกาศ​เสร็จ​แล้ว”

โฆษณา​ใน​หนังสือ​พิมพ์​เกี่ยว​กับ​คำ​บรรยาย​ของ​พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​เรื่อง “ความ​หวัง​สำหรับ​มนุษยชาติ​ที่​ระทม​ทุกข์” ที่​เมือง​ลอสแอนเจลิส รัฐ​แคลิฟอร์เนีย ปี 1919

เมื่อ​ถึง​วัน​อาทิตย์​ที่ 4 พฤษภาคม 1919 พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​ซึ่ง​กำลัง​ป่วย​หนัก​ก็​บรรยาย​เรื่อง “ความ​หวัง​สำหรับ​มนุษยชาติ​ที่​ระทม​ทุกข์” ที่​เมือง​ลอสแอนเจลิส รัฐ​แคลิฟอร์เนีย มี​ผู้​ฟัง​ประมาณ 3,500 คน อีก​หลาย​ร้อย​คน​ต้อง​กลับ​ไป​เพราะ​คน​แน่น​เต็ม​พื้น​ที่​แล้ว วัน​ต่อ​มา​มี​อีก 1,500 คน​มา​ฟัง​คำ​บรรยาย ตอน​นี้​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​คำ​ตอบ​แล้ว​ว่า​ยัง​มี​คน​มาก​มาย​อยาก​ฟัง​ข่าว​ดี

สิ่ง​ที่​พี่​น้อง​ทำ​หลัง​จาก​นั้น​เป็น​การ​วาง​แบบ​แผน​สำหรับ​งาน​ประกาศ​มา​จน​ถึง​ปัจจุบัน

พร้อม​สำหรับ​การ​เติบโต​ใน​อนาคต

หอสังเกตการณ์ (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 1 สิงหาคม 1919 ประกาศ​ว่า​ต้น​เดือน​กันยายน​จะ​มี​การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​เมือง​ซีดาร์พอยต์ รัฐ​โอไฮโอ นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ยัง​หนุ่ม​จาก​รัฐ​มิสซูรี​ที่​ชื่อ​คลาเรนซ์ บี. บีทตี​บอก​ว่า “ทุก​คน​รู้สึก​ว่า​ต้อง​ไป​ให้​ได้” การ​ประชุม​นี้​มี​ผู้​เข้า​ร่วม​มาก​กว่า 6,000 คน​ซึ่ง​เกิน​กว่า​ที่​คาด​ไว้​มาก สิ่ง​ที่​น่า​ตื่นเต้น​อีก​อย่าง​คือ มี​ผู้​รับ​บัพติศมา​มาก​กว่า 200 คน​ที่​ทะเลสาบ​อิรี

ปก​วารสาร​เดอะ โกลเดน เอจ ฉบับ​แรก 1 ตุลาคม 1919

ใน​วัน​ที่ 5 กันยายน 1919 ซึ่ง​เป็น​วัน​ที่​ห้า​ของ​การ​ประชุม ระหว่าง​ที่​พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​บรรยาย​เรื่อง “ถึง​ผู้​ร่วม​ทำ​งาน” เขา​ประกาศ​ว่า​จะ​มี​การ​ออก​วารสาร​ใหม่​ชื่อ​เดอะ โกลเดน เอจ * วารสาร​นี้​จะ “บอก​เหตุ​การณ์​สำคัญ ๆ ใน​ปัจจุบัน​และ​อธิบาย​ตาม​หลัก​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​ทำไม​เหตุ​การณ์​เหล่า​นั้น​ถึง​เกิด​ขึ้น”

มี​การ​สนับสนุน​ให้​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ทุก​คน​ใช้​วารสาร​ใหม่​ใน​การ​ประกาศ​อย่าง​กล้า​หาญ ข้อ​ความ​ตอน​หนึ่ง​ใน​จดหมาย​แนะ​นำ​วิธี​ประกาศ​บอก​ว่า “ขอ​ให้​ทุก​คน​ที่​รับ​บัพติศมา​แล้ว​จำ​ไว้​ว่า นี่​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​จะ​ทำ​งาน​รับใช้​พระเจ้า และ​ขอ​ให้​ใช้​โอกาส​นี้​ประกาศ​ให้​มาก​ที่​สุด​ให้​โลก​รู้” มี​คน​มาก​มาย​เข้า​ร่วม​ใน​การ​ประกาศ และ​ใน​เดือน​ธันวาคม ผู้​ประกาศ​รัฐบาล​ของ​พระเจ้า​ที่​ขยัน​ขันแข็ง​มี​ราย​บอกรับ​วารสาร​ใหม่​รวม​กัน​มาก​กว่า 50,000 ราย

พี่​น้อง​ที่​บรุกลิน นิวยอร์ก กับ​รถ​บรรทุก​ที่​มี​วารสาร​เดอะ โกลเดน เอจ วาง​อยู่​เต็ม

ปลาย​ปี 1919 พระ​ยะโฮวา​จัด​ระเบียบ​ประชาชน​ของ​พระองค์​อีก​ครั้ง พวก​เขา​ได้​รับ​กำลัง​ที่​จะ​รับใช้​พระองค์ นอก​จาก​นั้น คำ​พยากรณ์​สำคัญ ๆ หลาย​เรื่อง​เกี่ยว​กับ​สมัย​สุด​ท้าย​เกิด​ขึ้น​จริง การ​ทดสอบ​และ​การ​ถลุง​คน​ของ​พระเจ้า​ตาม​ที่​บอก​ใน​มาลาคี 3:1-4 เกิด​ขึ้น​จริง​อย่าง​ครบ​ถ้วน ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ถูก​ปล่อย​จาก​การ​เป็น​เชลย​ของ “บาบิโลน​ใหญ่” และ​พระ​เยซู​ได้​แต่ง​ตั้ง “ทาส​ที่​ซื่อ​สัตย์​และ​สุขุม” * (วว. 18:2, 4; มธ. 24:45) ตอน​นี้​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​พร้อม​แล้ว​ที่​จะ​ทำ​งาน​ต่าง ๆ ที่​พระ​ยะโฮวา​ตั้งใจ​ให้​พวก​เขา​ทำ

^ วรรค 13 พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​เป็น​ทนาย​และ​ผู้​พิพากษา ซึ่ง​ทำ​ให้​เขา​เป็น​ที่​รู้​จัก​ว่า “ผู้​พิพากษา​รัทเทอร์ฟอร์ด”

^ วรรค 22 ปี 1937 เปลี่ยน​ชื่อ​เป็น​คอนโซเลชัน และ​ปี 1946 เปลี่ยน​ชื่อ​เป็น​ตื่นเถิด!