บทความศึกษา 44
ศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ไบเบิลให้ครบทุกด้าน
“เข้าใจความจริงครบทุกด้าน ทั้งความกว้าง ความยาว ความสูง และความลึก”—อฟ. 3:18
เพลง 95 แสงที่สว่างขึ้นเรื่อย ๆ
ใจความสำคัญ a
1-2. อะไรคือวิธีที่ดีที่สุดที่จะอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิล? ขอยกตัวอย่าง
สมมุติว่าคุณคิดจะซื้อบ้านหลังหนึ่ง คุณอยากดูอะไรก่อนที่จะซื้อบ้านหลังนั้น? คุณจะตัดสินใจซื้อเพราะเห็นแค่รูปของบ้านหลังนั้นไหม? คุณไม่ทำแบบนั้นแน่ ๆ คุณคงจะไปดูบ้านหลังนั้นให้เห็นกับตา เดินดูรอบ ๆ บ้านทั้งด้านในและด้านนอก เข้าไปดูทุกห้อง และสำรวจทุกซอกทุกมุม คุณอาจถึงกับไปคุยกับคนที่รู้ว่าบ้านหลังนี้สร้างขึ้นมายังไง แน่นอนว่าคุณคงอยากดูบ้านหลังนั้นอย่างละเอียด
2 เราก็ทำแบบเดียวกันได้ตอนที่เราอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิล นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งเปรียบคัมภีร์ไบเบิลเหมือน “อาคารหลังใหญ่ที่สูงมากและมีฐานรากที่ลึกมาก ๆ” แล้วเราจะรู้จักคัมภีร์ไบเบิลให้ดีขึ้นได้ยังไง? ถ้าคุณอ่านแบบรีบ ๆ ร้อน ๆ คุณก็จะได้เรียนแค่ “เรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับคำสอนของพระเจ้า” เท่านั้น (ฮบ. 5:12) ดังนั้น เหมือนที่คุณเข้าไปดูด้านในของบ้านอย่างละเอียด คุณก็ต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างละเอียดเพื่อจะเข้าใจเต็มที่ วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือให้ดูว่าส่วนต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวข้องกันยังไง และไม่ใช่แค่พยายามเข้าใจความจริงที่คุณเชื่อ แต่คุณต้องพยายามเข้าใจเหตุผลว่าทำไมคุณถึงเชื่อแบบนั้นด้วย
3. อัครสาวกเปาโลกระตุ้นให้คริสเตียนทำอะไร? และทำไมเขาถึงบอกให้ทำแบบนั้น? (เอเฟซัส 3:14-19)
3 เพื่อจะเข้าใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิลให้ครบทุกด้าน เราต้องศึกษาเรื่องที่ลึกซึ้งในคัมภีร์ไบเบิล อัครสาวกเปาโลกระตุ้นพี่น้องคริสเตียนในสมัยของเขาให้ขยันศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะ “เข้าใจความจริงครบทุกด้าน ทั้งความกว้าง ความยาว ความสูง และความลึก” แล้วพวกเขาก็จะ “ตั้งมั่นคงและยึดอยู่กับ” ความเชื่อ (อ่านเอเฟซัส 3:14-19) เราเองก็ต้องทำ แบบนั้นเหมือนกัน ให้เรามาดูกันว่าเราจะศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะเข้าใจเต็มที่และเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นได้ยังไง
ศึกษาเรื่องที่ลึกซึ้งในคัมภีร์ไบเบิล
4. เราต้องทำอะไรเพื่อจะสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น? ขอยกตัวอย่าง
4 เราไม่ควรพอใจกับการมีแค่ความรู้พื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น แต่เราควรอยากเรียน “แม้แต่สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า” ซึ่งพลังบริสุทธิ์ของพระองค์จะช่วยให้เราเข้าใจได้ (1 คร. 2:9, 10) ถ้าอย่างนั้น คุณอยากศึกษาส่วนตัวเกี่ยวกับสิ่งที่จะช่วยให้คุณสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้นไหม? เช่น คุณอาจอยากค้นคว้าว่าพระยะโฮวาแสดงความรักต่อผู้รับใช้ของพระองค์ในอดีตยังไง และนี่แสดงให้เห็นยังไงว่าพระองค์ก็รักคุณเหมือนกัน หรือคุณอาจอยากค้นคว้าเรื่องการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเกี่ยวกับการนมัสการในสมัยอิสราเอลโบราณ และสิ่งเหล่านั้นเทียบได้กับอะไรในการนมัสการของคริสเตียนในปัจจุบัน หรือคุณอาจอยากศึกษาคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซูอย่างละเอียดว่ามันเป็นจริงยังไงตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่บนโลก
5. มีเรื่องอะไรในคัมภีร์ไบเบิลที่คุณอยากค้นคว้ามากขึ้นตอนที่ศึกษาส่วนตัว?
5 มีการถามพี่น้องบางคนที่ขยันศึกษาส่วนตัวว่าพวกเขาอยากศึกษาเรื่องอะไรในคัมภีร์ไบเบิลให้ลึกซึ้งขึ้น คุณจะเห็นบางหัวเรื่องที่พวกเขาพูดถึงได้ ในกรอบ “ เรื่องที่คุณจะศึกษาส่วนตัวได้” คุณจะสนุกกับการศึกษาค้นคว้าเรื่องเหล่านี้โดยใช้คู่มือค้นคว้าสำหรับพยานพระยะโฮวา การศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้งจะทำให้ความเชื่อของคุณเข้มแข็งและจะทำให้คุณ “พบความรู้เกี่ยวกับพระเจ้า” (สภษ. 2:4, 5) ต่อไปให้เรามาดูบางเรื่องที่ลึกซึ้งในคัมภีร์ไบเบิลที่เราจะศึกษาค้นคว้าได้
คิดให้ลึกซึ้งเกี่ยวกับความประสงค์ของพระเจ้า
6. (ก) การวางแผนกับการมีเป้าหมายต่างกันยังไง? (ข) ทำไมเราถึงบอกได้ว่าความประสงค์ของพระยะโฮวาเกี่ยวกับมนุษย์และโลกเป็นความประสงค์ “ตลอดกาล”? (เอเฟซัส 3:11)
6 เราจะดูกันว่าคัมภีร์ไบเบิลพูดยังไงเกี่ยวกับความประสงค์ของพระยะโฮวา ก่อนอื่นเราจะคุยกันว่าการวางแผนกับการมีเป้าหมายต่างกันยังไง ถ้าเราวาง แผนก็หมายความว่าเรากำหนดเส้นทางไว้แน่นอนแล้ว แต่ถ้ามีอะไรมาขวางเส้นทางที่เราอยากไป แผนของเราก็อาจล่ม แต่ถ้าเรามีเป้าหมาย เราก็ไม่จำเป็นต้องเจาะจงว่าจะใช้เส้นทางไหนเพื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง และถ้ามีอะไรมาขวางเส้นทางที่เราอยากไป เราจะสามารถเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่นเพื่อจะไปให้ถึงจุดหมายได้ เราดีใจที่พระยะโฮวาเปิดเผยให้เรารู้ว่าพระองค์มีเป้าหมายอะไรและพระองค์บอก “ความประสงค์ตลอดกาล” ของพระองค์ไว้ในคัมภีร์ไบเบิล (อฟ. 3:11) ไม่ว่าพระยะโฮวาจะใช้วิธีไหน เป้าหมายและความประสงค์ของพระองค์จะเป็นจริงเสมอเพราะพระองค์ “ทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่พระองค์ต้องการ” (สภษ. 16:4) และผลจากสิ่งที่พระองค์ทำจะคงอยู่ตลอดไป แล้วความประสงค์ของพระยะโฮวาคืออะไร? และพระองค์ปรับเปลี่ยนอะไรบ้างเพื่อทำให้ความประสงค์ของพระองค์เป็นจริง?
7. หลังจากที่มนุษย์คู่แรกกบฏ พระยะโฮวาปรับเปลี่ยนยังไงเพื่อให้ความประสงค์ของพระองค์เป็นจริง? (มัทธิว 25:34)
7 พระยะโฮวาบอกมนุษย์คู่แรกว่าความประสงค์ของพระองค์คืออะไร พระองค์บอกพวกเขาว่า “ให้เกิดลูกหลานมากมายและเพิ่มจำนวนให้เต็มโลก ให้มีอำนาจเหนือแผ่นดินและมีอำนาจเหนือ . . . สัตว์ทุกชนิดที่อยู่บนแผ่นดิน” (ปฐก. 1:28) แต่เพราะอาดัมกับเอวากบฏ มนุษย์ทุกคนบนโลกเลยกลายเป็นคนบาป ถึงจะเป็นอย่างนั้น ความประสงค์ของพระยะโฮวาก็ไม่ได้ล้มเหลว พระองค์ปรับเปลี่ยนเพื่อจะทำให้ความประสงค์ของพระองค์เป็นจริง ทันทีหลังจากที่มนุษย์คู่แรกกบฏ พระยะโฮวาก็ตั้งใจว่าจะให้มีรัฐบาลสวรรค์ซึ่งจะทำให้ความประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับมนุษย์และโลกเป็นจริงอย่างที่พระองค์ต้องการตั้งแต่แรก (อ่านมัทธิว 25:34) และเมื่อถึงเวลาที่พระยะโฮวากำหนดไว้ พระองค์ก็ส่งพระเยซูลูกชายที่พระองค์รักมากมาบนโลกเพื่อสอนผู้คนเกี่ยวกับรัฐบาลนี้และสละชีวิตเป็นค่าไถ่เพื่อจะช่วยให้เราหลุดพ้นจากบาปและความตาย ต่อมาพระเยซูฟื้นขึ้นจากตายและกลับไปสวรรค์เพื่อจะปกครองเป็นกษัตริย์ในรัฐบาลนี้ แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่เราจะเรียนได้เกี่ยวกับความประสงค์ของพระยะโฮวา
8. (ก) เรื่องหลักของคัมภีร์ไบเบิลคืออะไร? (ข) อย่างที่บอกไว้ในเอเฟซัส 1:8-11 ความประสงค์สูงสุดของพระยะโฮวาคืออะไร? (ดูภาพด้วย)
8 เรื่องหลักของคัมภีร์ไบเบิลคือพระยะโฮวาทำให้ชื่อของพระองค์เป็นที่เคารพนับถืออยู่เสมอ ซึ่งพระองค์ทำอย่างนั้นโดยใช้รัฐบาลที่พระเยซูปกครองทำให้ความประสงค์เกี่ยวกับโลกเป็นจริง ความประสงค์ของพระยะโฮวาไม่มีวันเปลี่ยนแปลง พระยะโฮวารับประกันว่าทุกอย่างที่พระองค์ตั้งใจไว้จะสำเร็จแน่นอน (อสย. 46:10, 11, เชิงอรรถ;ฮบ. 6:17, 18) เมื่อถึงเวลา คนที่เชื่อฟังและสมบูรณ์แบบซึ่งเป็นลูกหลานของอาดัมกับเอวาจะ “มีชีวิตอยู่ตลอดไป” ในโลกที่จะเปลี่ยนเป็นสวนอุทยาน (สด. 22:26) แต่ความประสงค์ของพระยะโฮวาไม่ได้มีแค่นี้ ความประสงค์สูงสุดของพระองค์ก็คือพระองค์จะทำให้ผู้รับใช้ของพระองค์ทั้งในสวรรค์และโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน และทั้งหมดจะภักดีและยอมอยู่ใต้อำนาจพระยะโฮวาซึ่งเป็นผู้ปกครององค์สูงสุดของพวกเขา (อ่านเอเฟซัส 1:8-11) คุณรู้สึกทึ่งใช่ไหมที่เห็นพระยะโฮวาทำให้ความประสงค์ของพระองค์เป็นจริงในวิธีที่ยอดเยี่ยม?
คิดให้ลึกซึ้งเกี่ยวกับอนาคตของคุณ
9. การอ่านคัมภีร์ไบเบิลทำให้เราได้เห็นอนาคตไกลขนาดไหน?
9 ลองนึกถึงคำพยากรณ์ที่พระยะโฮวาพูดในสวนเอเดนที่ปฐมกาล 3:15 b ข้อนั้นพูดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ จะทำให้ความประสงค์ของพระยะโฮวาเป็นจริง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นกินเวลานานหลายพันปี เช่น ลูกหลานของอับราฮัมต้องสืบเชื้อสายต่อ ๆ กันมาจนถึงพระเยซูคริสต์ (ปฐก. 22:15-18) และในปี ค.ศ. 33 เท้าของพระเยซูคริสต์ก็ฟกช้ำอย่างที่บอกไว้ในคำพยากรณ์ (กจ. 3:13-15) และสิ่งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นตามคำพยากรณ์ก็คือหัวของซาตานจะถูกบดขยี้ ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในอีกมากกว่า 1,000 ปีข้างหน้า (วว. 20:7-10) นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลยังบอกว่าจะมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นจนถึงตอนที่ความเป็นศัตรูกันระหว่างซาตานกับพรรคพวกของมันและองค์การของพระยะโฮวาจะสิ้นสุดลง
10. (ก) อีกไม่นานจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? (ข) เราจะเตรียมตัวให้พร้อมได้อย่างไร? (ดูเชิงอรรถ)
10 ลองคิดถึงเหตุการณ์ที่จะส่งผลต่อคนทั้งโลกซึ่งคัมภีร์ไบเบิลได้บอกล่วงหน้าไว้ ก่อนอื่นชาติต่าง ๆ จะประกาศว่า “สงบสุขและปลอดภัยแล้ว!” (1 ธส. 5:2, 3) และ “ทันที” หลังจากนั้น รัฐบาลของชาติต่าง ๆ จะโจมตีศาสนาเท็จทั้งหมด ซึ่งเป็นตอนที่ความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่เริ่มต้น (วว. 17:16) ต่อจากนั้น อาจมีเหตุการณ์เหนือธรรมชาติที่แสดงว่า “‘ลูกมนุษย์’ มาบนเมฆในท้องฟ้าด้วยอำนาจและรัศมีแรงกล้า” (มธ. 24:30) พระเยซูจะพิพากษามนุษย์โดยแยกพวกเขาออกจากกันเหมือนผู้เลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ (มธ. 25:31-33, 46) ในช่วงนั้น ซาตานไม่ได้อยู่เฉย ๆ มันยังพยายามต่อต้านพระยะโฮวา มันเกลียดผู้รับใช้ของพระองค์มาก มันจะกระตุ้นกลุ่มชาติต่าง ๆ ที่ร่วมมือกันซึ่งคัมภีร์ไบเบิลเรียกว่าโกกแห่งแผ่นดินมาโกกให้โจมตีคนของพระยะโฮวา (อสค. 38:2, 10, 11) แล้วในช่วงใดช่วงหนึ่ง ผู้ถูกเจิมที่ยังเหลืออยู่จะถูกรวบรวมให้ไปสวรรค์เพื่อไปเข้าร่วมกับพระเยซูและกองทัพสวรรค์ แล้วมาสู้ในสงครามอาร์มาเกดโดนซึ่งเป็นฉากสุดท้ายของความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ c (มธ. 24:31; วว. 16:14, 16) จากนั้น การปกครองช่วง 1,000 ปีของพระเยซูก็จะเริ่มต้น—วว. 20:6
11. ความหวังว่าจะมีชีวิตตลอดไปมีความหมายยังไงสำหรับคุณ? (ดูภาพด้วย)
11 ตอนนี้ให้ลองนึกภาพเลย 1,000 ปีนั้นไป คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระยะโฮวา “ใส่ความคิดเรื่องการมีชีวิตตลอดไปไว้ในใจ [เรา]” (ปญจ. 3:11) เรื่องนี้มีความหมายยังไงสำหรับคุณและความสัมพันธ์ที่คุณมีต่อพระยะโฮวา? หนังสือเข้าไปใกล้ชิดกับพระยะโฮวา หน้า 319 มีข้อความที่น่าสนใจว่า “เมื่อเรามีชีวิตอยู่ได้เป็นร้อยเป็นพันปีหรือแม้แต่หลายล้านปี เราจะได้รู้จักพระองค์มากกว่าตอนนี้เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าประทับใจเกี่ยวกับพระองค์ที่เรายังไม่รู้ . . . ชีวิตตลอดไปในโลกใหม่จะเป็นชีวิตที่ดียอดเยี่ยมจริง ๆ และที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเสมอ” ต่อไปให้เรามาดูกันว่าเราจะศึกษาค้นคว้าเรื่องอะไรได้อีก
มองขึ้นไปบนสวรรค์
12. เราจะมองขึ้นไปบนสวรรค์ได้ยังไง? ขอยกตัวอย่าง
12 คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกรายละเอียดมากเกี่ยวกับที่ประทับของพระยะโฮวาซึ่ง “อยู่ในที่สูงส่ง” (อสย. 33:5) แต่คัมภีร์ไบเบิลก็เปิดเผยให้เรารู้เรื่องที่น่าประทับใจเกี่ยวกับพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์ส่วนที่อยู่ในสวรรค์ (อสย. 6:1-4; ดนล. 7:9, 10; วว. 4:1-6) เช่น เราได้อ่านเกี่ยวกับสิ่งที่เอเสเคียลเห็นตอนที่ “ฟ้าสวรรค์เปิดออกและ [เขา] ได้เห็นนิมิตหลายอย่างจากพระเจ้า”—อสค. 1:1
13. อย่างที่บอกในฮีบรู 4:14-16 คุณรู้สึกยังไงกับบทบาทหน้าที่ของพระเยซูในสวรรค์?
13 นอกจากนั้น ให้คิดถึงบทบาทหน้าที่ของพระเยซูในสวรรค์ด้วย ตอนนี้ท่านเป็นกษัตริย์ของเราและเป็นมหาปุโรหิตที่เห็นอกเห็นใจเรา ท่านทำให้เป็นไปได้ที่ เราจะอธิษฐานต่อหน้า “บัลลังก์ของพระเจ้าผู้มีความกรุณาที่ยิ่งใหญ่” เพื่อขอให้พระองค์เมตตาตอนที่ “เราต้องการความช่วยเหลือ” (อ่านฮีบรู 4:14-16) ขอให้เราคิดใคร่ครวญทุกวันว่าพระยะโฮวากับพระเยซูที่อยู่ในสวรรค์ได้ทำอะไรเพื่อเรามาแล้วบ้างและกำลังทำอะไรเพื่อเราอยู่ในตอนนี้ เมื่อเรารู้ว่าพระองค์ทั้งสองรักเรามาก มันควรกระตุ้นให้เราขยันทำงานรับใช้และกระตือรือร้นในการนมัสการพระองค์—2 คร. 5:14, 15
14. วิธีที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เราทำได้เพื่อขอบคุณพระยะโฮวาและพระเยซูคืออะไร? (ดูภาพด้วย)
14 วิธีที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เราจะขอบคุณพระยะโฮวากับพระเยซูก็คือ พยายามช่วยคนอื่นให้มาเป็นพยานของพระยะโฮวาและเป็นสาวกของพระเยซู (มธ. 28:19, 20) เปาโลก็ทำแบบนั้นด้วย เขารู้ว่าความต้องการของพระยะโฮวาคือ “ให้คนทุกชนิดรอดและได้รับความรู้ที่ถูกต้องเรื่องความจริง” (1 ทธ. 2:3, 4) เปาโลขยันประกาศข่าวดีกับผู้คนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เขาทำแบบนั้น “เพื่อจะช่วยคนให้รอดได้บ้างไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน”—1 คร. 9:22, 23
มีความสุขกับการศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ไบเบิล
15. อย่างที่บอกไว้ในสดุดี 1:2 อะไรจะทำให้เรามีความสุข?
15 ผู้เขียนหนังสือสดุดีอธิบายว่าคนที่มีความสุขและทำอะไรก็สำเร็จคือคนที่ “ชื่นชอบกฎหมายของพระยะโฮวา” และ “ใคร่ครวญกฎหมายของพระองค์ทั้งกลางวันและกลางคืน” (สด. 1:1-3; เชิงอรรถ) ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งที่ชื่อโจเซฟ รอเทอร์แฮมอธิบายเกี่ยวกับข้อคัมภีร์นี้ว่า “คนเราควรอยากจะได้คำแนะนำจากพระเจ้ามากถึงขนาดลงมือค้นหา เรียนรู้ และใช้เวลาเพื่อคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับคำแนะนำนั้น” เขายังบอกอีกว่า “ถ้ามีวันไหนผ่านไปโดยที่คนเราไม่ได้อ่านคัมภีร์ไบเบิล วันนั้นก็ผ่านไปแบบไร้ประโยชน์” คุณก็จะมีความสุขกับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้โดยค้นคว้าศึกษาอย่างละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และดูว่าส่วนต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวข้องกันยังไง การเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลทุกด้านทำให้มีความสุขจริง ๆ
16. เราจะคุยเรื่องอะไรในบทความหน้า?
16 ความจริงที่ยอดเยี่ยมที่พระยะโฮวาสอนเราในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ ในบทความหน้าเราจะคุยกันเกี่ยวกับความจริงที่ลึกซึ้งอีกเรื่องหนึ่งคือวิหารโดยนัยที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาซึ่งเปาโลพูดถึงในจดหมายที่เขาเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรู ขอให้การเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้คุณมีความสุขมาก
เพลง 94 ขอบคุณพระองค์ที่ให้คำสอนเรา
a เราสนุกกับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้ มันทำให้ชีวิตเรามีความสุข และยังทำให้เราสนิทกับพระยะโฮวาพ่อของเราในสวรรค์มากขึ้นด้วย ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าเราจะศึกษาค้นคว้าเพื่อจะเข้าใจความจริงครบทุกด้านได้ยังไง
b ดูบทความ “คำพยากรณ์เก่าแก่ที่มีผลกับคุณ” ในหอสังเกตการณ์ กรกฎาคม 2022
c เพื่อจะรู้ว่าต้องเตรียมตัวยังไงให้พร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่จะส่งผลต่อคนทั้งโลกในอีกไม่นาน ให้ดูหนังสือราชอาณาจักรของพระเจ้าปกครองแล้ว! หน้า 230