คุณรู้ไหม?
เพลงสำคัญขนาดไหนสำหรับชาวอิสราเอลในสมัยโบราณ?
ชาวอิสราเอลสมัยโบราณชอบเพลงมาก คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงบางคนที่เล่นเครื่องดนตรีและบางคนที่ร้องเพลง ในคัมภีร์ไบเบิลมีหนังสือหลายเล่มที่เป็นเพลงด้วย เช่น หนังสือสดุดี เพลงโซโลมอน และเพลงคร่ำครวญ อย่างที่บอกไว้ในหนังสือดนตรีในสมัยคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) เพลงมีส่วนสำคัญมากในชีวิตประจำวันของชาวอิสราเอลสมัยโบราณ
เพลงในชีวิตประจำวัน ชาวอิสราเอลเล่นเครื่องดนตรีและร้องเพลงเพื่อแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึก (อสย. 30:29) พวกผู้หญิงชาวอิสราเอลตีกลองแทมบูรินพร้อมกับเต้นรำและร้องเพลงอย่างมีความสุขตอนที่กษัตริย์ขึ้นครองบัลลังก์ ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ และตอนที่ทหารชาวอิสราเอลรบชนะ (วนฉ. 11:34; 1 ซม. 18:6, 7; 1 พก. 1:39, 40) ชาวอิสราเอลยังร้องเพลงไว้อาลัยเพื่อแสดงความโศกเศร้าด้วย (2 พศ. 35:25) หนังสือสารานุกรม ของแมกคลินทอกและสตรองก์จึงบอกว่า “ชาวฮีบรูชอบเล่นเครื่องดนตรีและร้องเพลงมาก”
เพลงในวังของกษัตริย์ กษัตริย์ของอิสราเอลชอบดนตรีมาก เช่น กษัตริย์ซาอูลเรียกดาวิดมาที่วังเพื่อเล่นพิณให้เขาฟัง (1 ซม. 16:18, 23) ต่อมาตอนที่ดาวิดเป็นกษัตริย์ เขาก็คิดค้นและประดิษฐ์เครื่องดนตรีหลายชนิด เขายังแต่งเพลงเพราะ ๆ มากมาย และตั้งวงดนตรีและนักร้องเพื่อเล่นในวิหารของพระยะโฮวา (2 พศ. 7:6; อมส. 6:5) นอกจากนี้ กษัตริย์โซโลมอนยังมีนักร้องชายหญิงที่วังของเขาด้วย—ปญจ. 2:8
เพลงในการนมัสการ วิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่ชาวอิสราเอลใช้ในการนมัสการพระยะโฮวาก็คือการร้องเพลงและเล่นเครื่องดนตรี ที่จริงมีนักดนตรีถึง 4,000 คนในวิหารของพระยะโฮวาที่กรุงเยรูซาเล็ม (1 พศ. 23:5) พวกเขาตีฉาบ เล่นเครื่องสาย เล่นพิณ และเป่าแตร (2 พศ. 5:12) แต่ไม่ใช่แค่พวกเขาเท่านั้นที่นมัสการพระยะโฮวาโดยใช้ดนตรี ชาวอิสราเอลหลายคนร้องเพลงตอนที่พวกเขาเดินทางไปฉลองเทศกาลประจำปีในกรุงเยรูซาเล็ม เพลงที่พวกเขาร้องมีชื่อว่าเพลงสำหรับเดินขึ้น (สด. 120-134) นอกจากนี้ ตามที่บอกไว้ในข้อเขียนของชาวยิว ชาวอิสราเอลร้องเพลงฮัลเลล a ในช่วงเทศกาลปัสกาด้วย
ทุกวันนี้เพลงก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนของพระยะโฮวาด้วย (ยก. 5:13) เราร้องเพลงเพื่อนมัสการพระยะโฮวา (อฟ. 5:19) เพลงทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันกับพี่น้องทั่วโลก (คส. 3:16) และเพลงทำให้เราเข้มแข็งเมื่อต้องเจอกับความทุกข์ (กจ. 16:25) การร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวาเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมมากที่แสดงว่าเรามีความเชื่อและรักพระองค์
a ชาวยิวเรียกสดุดีบท 113 ถึง 118 ว่าเพลงฮัลเลล ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา