เรื่องราวชีวิตจริง
ผม “ยอมปรับตัวเป็นคนทุกชนิด”
“ถ้าคุณรับบัพติศมาเมื่อไหร่ผมจะทิ้งคุณ!” พ่อขู่แม่แบบนี้เมื่อปี 1941 ถึงพ่อจะขู่ แต่แม่ก็ตัดสินใจรับบัพติศมา แล้วพ่อก็ทิ้งแม่ไปจริง ๆ ตอนนั้นผมเพิ่ง 8 ขวบ
ผมสนใจความจริงตั้งแต่ก่อนจะเกิดเรื่องนี้แล้ว แม่ได้รับหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลและผมก็ชอบมากโดยเฉพาะรูปภาพ พ่อไม่อยากให้แม่สอนผมเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเรียน แต่ผมอยากรู้และคอยถามแม่หลายอย่าง แล้วพอพ่อไม่อยู่บ้าน แม่ก็จะสอนคัมภีร์ไบเบิลผม ผมก็เลยตัดสินใจอุทิศตัวให้พระยะโฮวา ผมรับบัพติศมาที่เมืองแบลคพูล ประเทศอังกฤษในปี 1943 ตอนอายุ 10 ขวบ
เริ่มรับใช้พระยะโฮวา
ตั้งแต่นั้นมา ผมกับแม่ไปประกาศด้วยกันเป็นประจำ เราใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ใหญ่และหนักประมาณ 4 กิโลครึ่ง ลองนึกภาพเด็กผู้ชายตัวเล็ก ๆ พยายามหิ้วเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่หนักขนาดนั้นดูสิ!
พออายุ 14 ผมอยากเป็นไพโอเนียร์ แม่บอกว่าผมควรบอกผู้รับใช้เดินทาง (ปัจจุบันคือผู้ดูแลหมวด) เขาแนะนำให้ผมฝึกอาชีพอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ผมเป็นไพโอเนียร์ได้ ผมฝึกงานนั้นตามที่เขาบอกอยู่ 2 ปี แล้วผมก็ถามผู้ดูแลหมวดอีกคนหนึ่งเรื่องที่ผมอยากเป็นไพโอเนียร์ เขาตอบว่า “เอาเลย”
เดือนเมษายน 1949 ผมกับแม่เอาเฟอร์นิเจอร์ในบ้านเราให้คนอื่นไปบ้าง ขายไปบ้าง แล้วเราก็
ย้ายไปเริ่มงานไพโอเนียร์ที่เมืองมิดเดิลตันใกล้กับเมืองแมนเชสเตอร์ ผ่านไป 4 เดือนมีพี่น้องชายคนหนึ่งมาเป็นไพโอเนียร์คู่กับผม สำนักงานสาขาแนะนำให้พวกเราย้ายไปประชาคมใหม่ในเมืองอีร์ลัม ส่วนแม่อยู่อีกประชาคมหนึ่งและเป็นไพโอเนียร์คู่กับพี่น้องหญิงอีกคนผมอายุแค่ 17 แต่ผมกับเพื่อนไพโอเนียร์ต้องรับผิดชอบนำส่วนการประชุมต่าง ๆ เพราะมีพี่น้องชายไม่พอในประชาคมใหม่นี้ ต่อมา ผมย้ายไปประชาคมบักซ์ตันซึ่งมีพี่น้องน้อยและต้องการความช่วยเหลือ ประสบการณ์ที่ผมได้มาทำให้ผมพร้อมสำหรับงานมอบหมายต่อจากนั้น
ปี 1951 ผมสมัครเข้าโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด เดือนธันวาคม 1952 ผมได้รับหมายเรียกให้เป็นทหาร ผมยื่นคำร้องขอยกเว้นไม่เป็นทหารเนื่องจากผมรับใช้เต็มเวลา แต่ศาลปฏิเสธคำร้องและตัดสินจำคุก 6 เดือน ตอนอยู่ในคุก ผมได้รับจดหมายเชิญให้เข้าโรงเรียนกิเลียดชั้นเรียนที่ 22 และในเดือนกรกฎาคม ปี 1953 ไม่นานหลังออกจากคุก ผมลงเรือจอร์จิก เพื่อเดินทางไปนิวยอร์ก
พอไปถึง ผมได้เข้าร่วมการประชุมสมาคมโลกใหม่ปี 1953 จากนั้นผมเดินทางไปโรงเรียนกิเลียดซึ่งอยู่ที่เมืองเซาท์แลนซิง นิวยอร์ก ผมเพิ่งออกจากคุกก็เลยแทบไม่มีเงิน พอลงจากรถไฟก็ต้องต่อรถเมล์ไปเซาท์แลนซิง ทั้ง ๆ ที่ค่ารถเมล์ถูกมาก แต่ผมยังต้องขอยืมเงินจากผู้โดยสารคนอื่น
งานมอบหมายในต่างประเทศ
ที่โรงเรียนกิเลียด พวกเราได้รับการฝึกอบรมที่ดีมากที่ช่วยให้เรา “ยอมปรับตัวเป็นคนทุกชนิด” (1 คร. 9:22) ผมกับพอล บรูน และเรย์มอนด์ ลีช ได้รับมอบหมายไปประเทศฟิลิปปินส์ แต่พวกเราต้องรอวีซ่าอยู่หลายเดือน พอได้วีซ่าแล้วเราก็ลงเรือไปเมืองรอตเทอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากนั้นพวกเรานั่งเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผ่านคลองสุเอซ แล้วก็ข้ามมหาสมุทรอินเดียไปมาเลเซียและก็ฮ่องกง หลังจากอยู่กลางทะเล 47 วัน พวกเราก็ขึ้นฝั่งที่กรุงมะนิลาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 1954
พวกเราต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่ ประเทศใหม่ และภาษาใหม่ ตอนแรก ๆ เรา 3 คนได้รับมอบหมายให้อยู่ประชาคมหนึ่งในเมืองเกซอนซิตี้ที่พี่น้องหลายคนพูดภาษาอังกฤษได้ ผ่านไป 6 เดือนแล้วพวกเราก็ยังพูดภาษาตากาล็อกได้ไม่กี่คำ แต่งานมอบหมายต่อจากนั้นจะทำให้พวกเราเปลี่ยนไป
วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 1955 ตอนที่พวกเรากลับจากการประกาศ ผมกับพี่น้องลีชได้จดหมายที่บอกว่าพวกเราได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลหมวด ตอนนั้นผมอายุแค่ 22 แต่งานมอบหมายใหม่นี้จะสอนผมให้ “ยอมปรับตัวเป็นคนทุกชนิด”
ตัวอย่างเช่น ครั้งแรกที่ผมบรรยายสาธารณะในฐานะผู้ดูแลหมวด ผมต้องบรรยายหน้าร้านค้าของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในฟิลิปปินส์ตอนนั้นการบรรยายสาธารณะต้องบรรยายในที่สาธารณะจริง ๆ! พอไปเยี่ยมประชาคมไหน ผมก็ต้องไปบรรยายตามศาลาบ้าง ในตลาดบ้าง ที่ว่าการเมืองบ้าง บางทีก็ในสนามบาส ในสวนสาธารณะ บ่อยครั้งก็ตามมุมถนน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เมืองซานปาโบล ฝนตกหนักจนผมบรรยายกลางแจ้งไม่ได้ ผมบอกพี่น้องชายที่ดูแลประชาคมว่าผมจะบรรยายในหอประชุม หลังจากนั้น พวกเขามาถามว่าจะรายงานว่านี่เป็นการประชุมสาธารณะได้หรือเปล่าเพราะเราไม่ได้ประชุมกันในที่สาธารณะ
ผมได้พักที่บ้านของพี่น้องตลอด ถึงจะเป็นบ้านธรรมดา ๆ แต่ก็สะอาดดี หลายครั้งที่นอนของผมคือเสื่อบาง ๆ ที่ปูบนพื้นไม้ ที่อาบน้ำก็อยู่นอกตัวบ้าน ชาวบ้านก็เห็นตอนผมอาบน้ำ ผมเลยต้องหัดอาบน้ำให้เรียบร้อยหน่อย เวลาจะไปไหนผมก็ขึ้นรถเมล์และนั่งเรือไปตามเกาะ ตลอดการรับใช้หลายปีผมไม่เคยมีรถเป็นของตัวเอง
ผมเรียนภาษาตากาล็อกแต่ไม่ได้ไปสมัครเรียนที่ไหน ผมเรียนจากการฟังพี่น้องประกาศและฟังการประชุม พี่น้องเต็มใจช่วยสอนผม ผมรู้สึกขอบคุณพวกเขาที่อดทนกับผมและบอกผมอย่างตรงไปตรงมา
เวลาผ่านไป งานมอบหมายใหม่ ๆ ทำให้ผมต้องปรับตัวมากขึ้นอีก พี่น้องนาธาน นอร์มาเยี่ยมเราในปี 1956 ตอนนั้นเป็นการประชุมใหญ่ระดับชาติ ผมได้รับมอบหมายให้เป็นคนติดต่อสื่อต่าง ๆ ผมไม่มีประสบการณ์แต่ก็เรียนรู้จากคนอื่น ๆ หลังจาก
นั้นไม่ถึงปี เราก็จัดการประชุมใหญ่ระดับชาติอีก คราวนี้ผมเป็นผู้ดูแลการประชุม พี่น้องเฟรเดอริก แฟรนซ์จากสำนักงานใหญ่มาเยี่ยมเรา และผมก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากเขา ตอนที่พี่น้องแฟรนซ์บรรยายสาธารณะ เขาใส่ชุดประจำชาติฟิลิปปินส์ที่เรียกว่าบารอง ตากาล็อก พี่น้องฟิลิปปินส์เห็นแล้วก็ชอบมาก เรื่องนี้สอนให้ผมเต็มใจปรับตัวให้เข้ากับผู้คนพอเป็นผู้ดูแลภาค ผมจำเป็นต้องปรับตัวมากขึ้นอีก ช่วงนั้นเราฉายภาพยนตร์เรื่องความสุขแห่งสมาคมโลกใหม่ ส่วนใหญ่แล้วเราจะฉายกลางแจ้งตามที่สาธารณะซึ่งจะมีแมลงเยอะมาก พอแมลงเห็นแสงจากเครื่องฉายมันก็จะบินเข้าไปติดอยู่ข้างใน พอฉายเสร็จก็ต้องทำความสะอาดกันยกใหญ่ การจะฉายภาพยนตร์แต่ละรอบนั้นไม่ง่ายเลย แต่น่าดีใจที่เห็นผู้คนมาดูและเรียนรู้เรื่ององค์การนานาชาติของพระยะโฮวา
ในบางพื้นที่ พวกนักบวชคาทอลิกกดดันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอนุญาตให้เราจัดการประชุมใหญ่ หรือถ้าเราจัดการประชุมไม่ไกลจากโบสถ์ พวกเขาก็จะตีระฆังโบสถ์เพื่อกลบเสียงบรรยาย แต่ผู้คนก็ยังเรียนเรื่องพระเจ้าต่อไป และตอนนี้หลายคนในพื้นที่เหล่านั้นก็รับใช้พระยะโฮวา
งานมอบหมายใหม่และการปรับตัวมากขึ้น
ปี 1959 ผมได้รับมอบหมายให้รับใช้ที่สำนักงานสาขา ผมได้เรียนรู้หลายอย่างและได้ประสบการณ์มากมายที่นั่น ผ่านไปช่วงหนึ่ง มีคำขอให้ผมเป็นผู้ดูแลโซนและเดินทางไปเยี่ยมประเทศอื่น ๆ และครั้งหนึ่งผมได้เจอกับแจเนต ดูมอนด์ที่เป็นมิชชันนารีในประเทศไทย เราเขียนจดหมายติดต่อกันระยะหนึ่ง ต่อมาเราก็แต่งงานกัน เรารับใช้พระยะโฮวาด้วยกันอย่างมีความสุขมา 51 ปีแล้ว
ผมมีความสุขมากที่ได้ไปเยี่ยมประชาชนของพระยะโฮวาใน 33 ประเทศ ผมเห็นคุณค่างานมอบหมายหลายอย่างก่อนหน้านี้มากจริง ๆ งานเหล่านั้นช่วยให้ผมได้เรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกับคนจากต่างพื้นเพและต่างวัฒนธรรม การเยี่ยมประเทศต่าง ๆ ช่วยให้ผมเข้าใจชัดเจนว่าพระยะโฮวารักคนทุกชนิดจริง ๆ—กจ. 10:34, 35
เรายังต้องปรับตัวต่อไป
ผมกับแจเนตมีความสุขที่ได้รับใช้พี่น้องในฟิลิปปินส์ ตอนนี้เราก็ยังรับใช้ที่สำนักงานสาขาในเมืองเกซอนซิตี้ ทุกวันนี้มีผู้ประกาศมากกว่าเมื่อ 60 ปีก่อนถึง 10 เท่า แต่ถึงจะผ่านมาหลายสิบปี ผมก็ยังต้องพร้อมจะปรับตัวตามที่พระยะโฮวาขอ เช่น การเปลี่ยนแปลงในองค์การเมื่อเร็ว ๆ นี้ทำให้เราต้องเต็มใจปรับเปลี่ยนมากขึ้นอีก
เราทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อทำตามการชี้นำของพระยะโฮวา การทำอย่างนี้ทำให้ชีวิตเรามีความสุข เราพยายามปรับตัวตามที่จำเป็นเพื่อจะรับใช้พี่น้อง และไม่ว่าพระยะโฮวาต้องการให้ทำอะไร เราตั้งใจไว้แล้วว่าจะ “ยอมปรับตัวเป็นคนทุกชนิด”