เรื่องราวชีวิตจริง
ผมไม่เคยหยุดเรียนรู้
ผมรู้สึกเป็นสิทธิพิเศษมากที่มีพระยะโฮวาเป็น “ครูองค์ยิ่งใหญ่” (อสย. 30:20) พระองค์สอนผู้รับใช้ของพระองค์โดยทางคัมภีร์ไบเบิล สิ่งที่พระองค์สร้างอย่างน่ามหัศจรรย์ และองค์การของพระองค์ รวมทั้งยังใช้พี่น้องทั้งชายและหญิงเพื่อช่วยเราด้วย ถึงแม้ผมจะอายุเกือบร้อยปีแล้ว ผมก็ยังได้รับประโยชน์จากการสอนของพระยะโฮวาโดยวิธีเหล่านี้ ผมจะเล่าให้คุณฟังว่ามันเป็นแบบนั้นได้ยังไง
ผมเกิดในปี 1927 ในเมืองเล็ก ๆ ใกล้เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา คุณพ่อกับคุณแม่มีลูก 5 คนคือเจทา ดอน ผม คาร์ล และจอย พวกเราทุกคนตั้งใจรับใช้พระยะโฮวาสุดหัวใจ พี่เจทาเข้าโรงเรียนกิเลียดชั้นเรียนที่ 2 ในปี 1943 ส่วนดอน คาร์ล และจอยเข้าเบเธล บรุกลิน ที่นิวยอร์กในปี 1944 1947 และ 1951 ตามลำดับ ตัวอย่างที่ดีของพี่ ๆ น้อง ๆ รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ทำให้ผมอยากรับใช้พระยะโฮวามากขึ้น
ครอบครัวเราได้เรียนความจริง
พ่อกับแม่ของผมเป็นคนที่ชอบอ่านคัมภีร์ไบเบิลมาก ทั้งสองคนรักพระเจ้าและสอนลูก ๆ ให้รักพระเจ้าเหมือนกัน แต่พ่อก็หมดความนับถือต่อโบสถ์หลังจากไปเป็นทหารในยุโรปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากพ่อกลับมาบ้านได้อย่างปลอดภัย แม่รู้สึกดีใจมาก แม่บอกกับพ่อว่า “คาร์ล เราไปโบสถ์เหมือนอย่างที่เราเคยไปดีไหม?” พ่อตอบว่า “ผมเดินไปส่งคุณได้นะ แต่ผมไม่เข้าไปหรอก” แม่ก็ถามว่า “อ้าว ทำไมล่ะ?” พ่อตอบว่า “ตอนที่ผมเป็นทหาร ผมเห็นบาทหลวงที่นับถือศาสนาเดียวกันแต่อยู่คนละฝั่ง ต่างฝ่ายต่างก็อวยพรให้พวกของตัวเองชนะ แล้วอย่างนี้พระเจ้าจะอยู่ฝ่ายไหนล่ะ?”
ต่อมาตอนที่แม่อยู่ที่โบสถ์ มีพยานฯ 2 คนมาที่บ้านของเรา พวกเขาเสนอหนังสือคู่มือการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลชื่อความสว่าง (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งเป็นหนังสือชุด 2 เล่มที่อธิบายเกี่ยวกับหนังสือวิวรณ์ พ่อก็สนใจและตกลงรับหนังสือนั้นไว้ พอแม่กลับมาบ้านและเห็นหนังสือนี้ เธอก็เริ่มอ่าน มีอยู่วันหนึ่งแม่เห็นโฆษณาในหนังสือพิมพ์ชวนคนที่สนใจให้มาศึกษาหนังสือความสว่าง ด้วยกัน เธอเลยตัดสินใจว่าจะไป พอแม่ไปถึงบ้านหลังหนึ่งก็มีผู้หญิงสูงอายุคนหนึ่งมาเปิดประตู แม่ยื่นหนังสือความสว่าง ที่ถือมาด้วยให้ผู้หญิงคนนั้นดูและถามว่า “พวกคุณศึกษากันที่นี่ไหม?” ผู้หญิงคนนั้นตอบว่า “ใช่จ้ะ เข้ามาก่อนสิ” แล้วอาทิตย์ถัดไปแม่ก็พาพวกเราที่เป็นลูก ๆ ไปด้วย และตั้งแต่นั้นเราก็เริ่มไปศึกษาด้วยกันเป็นประจำ
ในการศึกษาครั้งหนึ่ง ผู้นำขอให้ผมอ่านสดุดี 144:15 ที่บอกว่าคนที่นมัสการพระยะโฮวาก็มีความสุข ข้อคัมภีร์นี้ทำให้ผมประทับใจมากและยังมีอีก 2 ข้อด้วยคือ 1 ทิโมธี 1:11 ที่บอกว่าพระยะโฮวาเป็น “พระเจ้าผู้มีความสุข” และเอเฟซัส 5:1 ที่กระตุ้นให้พวกเรา “เลียนแบบพระเจ้า” ผมเลยได้รู้ว่าควรจะมีความสุขกับการรับใช้ พระยะโฮวาพระเจ้าผู้สร้างและควรขอบคุณพระองค์ที่ผมได้รับเกียรติให้รับใช้พระองค์ นี่เลยเป็นสองสิ่งที่ผมพยายามทำตลอดทั้งชีวิต
ประชาคมที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากบ้านออกไปประมาณ 32 กิโลเมตรในเมืองชิคาโก ถึงจะไกลขนาดนั้นเราก็ไป และนี่ทำให้ผมมีความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลเพิ่มมากขึ้น ผมจำได้ว่ามีครั้งหนึ่งที่การประชุม พี่เจทายกมือออกความคิดเห็นแล้วผู้นำก็เรียกเธอ พอผมได้ฟังพี่เจทาออกความคิดเห็น ผมก็คิดว่า “เรื่องนี้ผมก็รู้เหมือนกัน ผมก็น่าจะยกมือตอบได้เหมือนกันนะ” ผมเลยเริ่มเตรียมออกความคิดเห็นด้วยตัวเอง และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นความเชื่อของผมเริ่มเข้มแข็งขึ้นเหมือนกับพี่ ๆ น้อง ๆ ของผม และในที่สุดผมก็รับบัพติศมาในปี 1941
เรียนจากพระยะโฮวาที่การประชุมใหญ่
ผมยังจำเหตุการณ์ตอนที่เราไปประชุมใหญ่ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอในปี 1942 ได้ดี ตอนนั้นมีพี่น้องจากอีกมากกว่า 50 ที่ที่เชื่อมต่อสัญญาณเข้ามาฟังการประชุมกับเราผ่านทางโทรศัพท์ มีครอบครัวเรากับอีกหลายครอบครัวที่นอนในเต็นท์ใกล้ ๆ กับสถานที่จัดการประชุม ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และคนที่ต่อต้านพยานพระยะโฮวาก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตอนเย็นจะมีกลุ่มพี่น้องชายเอารถมาจอดล้อมรอบบริเวณที่ตั้งเต็นท์กันและหันหน้ารถออกไปข้างนอก พวกเขาจะเปิดไฟหน้าทิ้งไว้และให้มีคนหนึ่งอยู่ในรถแต่ละคันเพื่อคอยเฝ้ายามตอนกลางคืน ถ้าสมมุติว่ามีคนร้ายเข้ามา พี่น้องชายจะสาดไฟสูงและบีบแตรเพื่อจะเรียกพี่น้องคนอื่นให้มาช่วย ผมคิดเลยว่า “คนของพระยะโฮวาเตรียมพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์จริง ๆ” ผมก็เลยอุ่นใจ หลับได้สบาย และพวกเราก็ไม่ได้เจอปัญหาอะไร
หลายปีผ่านไป พอผมนึกย้อนกลับไปคิดถึงการประชุมครั้งนั้น ผมเห็นเลยว่าแม่ไม่ได้กังวลหรือกลัวเลย แม่วางใจในพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์อย่างเต็มที่ ผมจะไม่มีวันลืมตัวอย่างที่ดีของแม่เลย
ไม่นานก่อนการประชุมครั้งนั้น แม่สมัครเป็นไพโอเนียร์ประจำ แม่ก็เลยสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับคำบรรยายต่าง ๆ ที่พูดถึงการรับใช้เต็มเวลา ระหว่างทางกลับบ้านแม่บอกว่า “แม่อยากจะเป็นไพโอเนียร์ต่อนะ แต่จะให้เป็นไพโอเนียร์แล้วทำงานบ้านเยอะอย่างที่ทำอยู่ในตอนนี้ก็คงไม่ไหว” แม่เลยขอให้พวกเราช่วย แล้วพวกเราก็ยินดี แม่ก็เลยมอบหมายให้พวกเราแต่ละคนช่วยทำความสะอาดคนละห้องหรือ 2 ห้องก่อนที่จะกินข้าวเช้าด้วยกัน และพอพวกเราออกไปโรงเรียน แม่ก็จะคอยตรวจดูว่าบ้านสะอาดเรียบร้อยดีไหม แล้วหลังจากนั้นแม่ก็จะค่อยออกไปประกาศ แม่เป็นคนที่ยุ่งมากแต่ก็ไม่เคยละเลยลูก ๆ ตอนที่พวกเรากลับมาบ้านเพื่อจะกินข้าวเที่ยงหรือตอนที่พวกเรากลับบ้านหลังจากเลิกเรียน แม่ก็จะอยู่รอรับพวกเราเสมอ มีบางวันหลังจากที่เราเลิกเรียน เราจะออกไปประกาศกับแม่ด้วย ซึ่งนี่ช่วยให้เราเข้าใจว่างานของไพโอเนียร์เป็นยังไง
เริ่มรับใช้เต็มเวลา
ผมเริ่มเป็นไพโอเนียร์ตอนอายุ 16 ถึงตอนนั้นพ่อผมยังไม่ได้เป็นพยานฯ แต่เขาก็คอยถามไถ่ตอนที่ผมไปรับใช้ เย็นวันหนึ่งผมเล่าให้พ่อฟังว่าพยายามแค่ไหนก็ยังไม่เจอคนที่สนใจจะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลด้วยเลย ผมหยุดไปนิดหนึ่งแล้วก็ถามพ่อว่า “พ่ออยากศึกษาคัมภีร์ไบเบิลด้วย
กันไหม?” พ่อผมหยุดคิดแป๊บนึง แล้วเขาก็ตอบตกลง ใช่แล้วครับ นักศึกษาคนแรกของผมก็คือพ่อผมนี่แหละ ผมรู้สึกว่านี่เป็นสิทธิพิเศษจริง ๆเราศึกษาหนังสือ “ความจริงจะทำให้ท่านเป็นอิสระ” (ภาษาอังกฤษ) ด้วยกัน พอศึกษาไปได้เรื่อย ๆ ผมก็เริ่มเห็นว่าพ่อเองก็ช่วยผมให้เป็นทั้งนักศึกษาและครูสอนคัมภีร์ไบเบิลที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ในเย็นวันหนึ่งที่เรานั่งศึกษาด้วยกัน หลังจากที่อ่านวรรคหนึ่งจบ พ่อก็พูดขึ้นมาว่า “พ่อรู้นะว่าหนังสือมันบอกอย่างนี้ แต่ลูกรู้ได้ยังไงว่าหนังสือนี้พูดถูก?” ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าจะตอบพ่อยังไง ผมก็เลยบอกว่า “ผมยังตอบพ่อไม่ได้นะครับตอนนี้ แต่เดี๋ยวศึกษากันครั้งหน้า ผมจะหาคำตอบมาครับ” แล้วผมก็ทำอย่างนั้น ผมเจอข้อคัมภีร์หลายข้อที่สนับสนุนเรื่องที่เรากำลังศึกษากันอยู่ ตั้งแต่นั้นมาผมก็พยายามฝึกค้นคว้าเพื่อจะเตรียมการศึกษาให้ดีขึ้น นี่ทำให้ทั้งตัวผมและพ่อมีความเชื่อที่เข้มแข็งมากขึ้น พ่อเริ่มเอาสิ่งที่ได้เรียนไปใช้ และในที่สุดก็รับบัพติศมาในปี 1952
เรียนรู้ต่อไปในงานมอบหมายใหม่
ผมออกจากบ้านตอนอายุ 17 ซึ่งตอนนั้นพี่เจทา aก็เป็นมิชชันนารีและพี่ดอนก็ไปรับใช้ที่เบเธล พี่ 2 คนรักงานมอบหมายของตัวเองมาก ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นที่ดีมากสำหรับผม ผมเลยเขียนใบสมัครสำหรับทั้งเบเธลและโรงเรียนกิเลียด และผมก็มอบเรื่องนี้ให้กับพระยะโฮวาเป็นผู้ตัดสิน แล้วในที่สุด ผมก็ได้รับเชิญให้เข้าเบเธลในปี 1946
ตลอดหลายปีที่รับใช้ในเบเธล ผมได้รับงานมอบหมายหลายอย่างก็เลยมีโอกาสที่ได้เรียนเรื่องใหม่ ๆ หลายเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ที่จริงตลอด 75 ปีที่อยู่ในเบเธล ผมได้เรียนรู้วิธีพิมพ์หนังสือ ทำบัญชี และเรียนด้านงานขนส่ง แต่ที่สำคัญที่สุด ผมชอบการสอนเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลที่เสริมความเชื่อ ซึ่งเบเธลจัดเตรียมให้โดยผ่านทางการนมัสการตอนเช้าและคำบรรยายสำหรับครอบครัวเบเธล
นอกจากนั้น ผมยังได้เรียนรู้จากคาร์ลน้องชายของผมด้วย คาร์ลเข้ามารับใช้ที่เบเธลในปี 1947 เขาเป็นทั้งนักศึกษาและครูสอนคัมภีร์ไบเบิลที่เก่งมาก ผมมักจะไปถามเขาตอนที่ผมได้ส่วนมอบหมายบรรยาย ผมบอกเขาว่าผมหาข้อมูลไว้เยอะเลยแต่ไม่รู้จะนำเสนอยังไง คาร์ลถามผมแค่คำถามเดียวว่า “พี่โจเอล เรื่องหลักของคำบรรยายพี่คืออะไร?” ผมเข้าใจที่เขาพูดทันที ผมก็เลยใช้เฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหลักของคำบรรยาย ส่วนข้อมูลที่เหลือก็ไม่ได้เอามาใช้ ผมไม่เคยลืมสิ่งที่น้องสอนผมเลย
เพื่อจะมีความสุขกับงานที่เบเธลได้ เราต้องเข้าร่วมในงานรับใช้อย่างเต็มที่ และถ้าเราทำแบบนั้น มันก็จะทำให้เราเจอประสบการณ์ที่ให้กำลังใจจริง ๆ เช่น มีประสบการณ์หนึ่งที่ผมยังจำได้ไม่ลืม เย็นวันหนึ่งเราไปรับใช้ในเขตบรองซ์ นครนิวยอร์ก ผมกับพี่น้องชายคนหนึ่งไปเยี่ยมผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยรับหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ไว้ เราคุยกับผู้หญิงคนนั้นว่า “เย็นนี้ผมกับเพื่อนกำลังช่วยหลายคนให้ได้เรียนเรื่องที่ให้กำลังใจจากคัมภีร์ไบเบิลครับ” ผู้หญิงคนนั้นก็เลยบอกว่า “เกี่ยวกับไบเบิลใช่ไหม? เข้ามาก่อนสิ” พอเราได้เข้าไปคุย เราก็มีโอกาสเปิดคัมภีร์ไบเบิลหลายข้อเกี่ยวกับรัฐบาลของพระเจ้าและเรื่องโลกใหม่ ปรากฏว่าเรื่องที่เราคุยกันทำให้ผู้หญิงคนนั้นประทับใจมาก เพราะสัปดาห์ต่อมาตอนที่เรากลับไปเยี่ยม เธอก็ชวนเพื่อน ๆ ให้มาฟังด้วย ในที่สุดผู้หญิงคนนี้กับสามีก็ได้เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา
เรียนจากภรรยาของผม
ผมมองหาคู่ชีวิตมานานเกือบ 10 ปี และในที่สุดผมก็ได้เจอกับเธอ อะไรช่วยให้ผมเจอภรรยาที่ดีนะเหรอ? ผมอธิษฐานถึงพระยะโฮวาและคิดว่าอยากทำอะไรด้วยกันกับภรรยาหลังจากแต่งงาน
หลังจากการประชุมใหญ่ปี 1953 ที่สนามกีฬาแยงกี้ ผมได้เจอกับแมรี อันโยล แมรีเข้าโรงเรียนกิเลียดชั้นเรียนที่ 2 รุ่นเดียวกับพี่เจทาและเป็นคู่มิชชันนารีด้วยกัน แมรีเล่าให้ผมฟังอย่างกระตือรือร้นเรื่องงานมอบหมายในหมู่เกาะในแคริบเบียนและเรื่องนักศึกษาของเธอตอนที่เธอรับใช้ที่นั่นนานหลายปี ยิ่งรู้จักกันผมก็ยิ่งเห็นเลยว่าเราสองคนมีเป้าหมายที่จะรับใช้เต็มเวลาเหมือนกัน เราตกหลุมรักกันและแต่งงานกันในเดือนเมษายน 1955 แมรีเป็นของขวัญจากพระยะโฮวาและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผมมาก ๆ แมรีเต็มใจรับงานมอบหมายทุกอย่างที่ได้รับ เป็นคนขยัน ชอบดูแลคนอื่น และให้การปกครองของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเสมอ (มธ. 6:33) หลังจากที่เราแต่งงานกัน เราก็รับใช้ในงานเยี่ยมหมวดประมาณ 3 ปี และในปี 1958 เราทั้งคู่ก็ได้รับเชิญให้เข้าไปรับใช้ที่เบเธล
ผมได้เรียนหลายอย่างจากแมรี เช่น นับตั้งแต่ที่เราแต่งงานกัน เราตั้งเป้าว่าจะอ่านคัมภีร์ไบเบิลด้วยกันครั้งละประมาณ 15 ข้อ แล้วเราก็จะออกความเห็นเกี่ยวกับข้อคัมภีร์ที่เราได้อ่านและคิดว่าจะเอามาใช้ในชีวิตยังไง แมรีมักจะเล่าถึงสิ่งที่เธอได้เรียนจากโรงเรียนกิเลียดและในงานมิชชันนารี การคุยกันแบบนี้ช่วยให้ผมยิ่งเข้าใจคัมภีร์ไบเบิล ปรับปรุงความสามารถในการบรรยาย และรู้วิธีให้กำลังใจพี่น้องหญิง—สภษ. 25:11
แมรีที่รักของผมตายในปี 2013 ผมรอคอยจะได้เจอเธอในโลกใหม่ จนกว่าจะถึงตอนนั้น ผมตั้งใจที่จะเรียนรู้ต่อ ๆ ไปและไว้วางใจพระยะโฮวาสุดหัวใจ (สภษ. 3:5, 6) ผมได้กำลังใจและมีความสุขทุกครั้งที่คิดว่าในโลกใหม่คนของพระยะโฮวาจะทำอะไรบ้าง ตอนนั้นเราจะได้เรียนเรื่องใหม่ ๆ จากพระยะโฮวาครูองค์ยิ่งใหญ่ของเราและได้เรียนเกี่ยวกับพระองค์มากขึ้นอีก ผมไม่รู้จะขอบคุณยังไงที่พระยะโฮวาสอนทุกอย่างให้กับผมถึงตอนนี้ และสำหรับความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์
a ดูเรื่องราวชีวิตจริงของพี่น้องเจทา ซุเนลในหอสังเกตการณ์ 1 มีนาคม 2003 หน้า 23-29