บทความศึกษา 50
เพลง 135 พระยะโฮวาพูดอย่างอบอุ่นว่า “ลูกของเรา ขอให้ฉลาดขึ้น”
พ่อแม่จะช่วยลูกให้มีความเชื่อเข้มแข็งได้ยังไง
“ตรวจดูจนแน่ใจว่าอะไรคือสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้เราทำซึ่งเป็นสิ่งที่ดี สมบูรณ์ และทำให้พระองค์พอใจ”—รม. 12:2
จุดสำคัญ
คำแนะนำที่ใช้ได้จริงสำหรับพ่อแม่เพื่อจะช่วยให้ลูกมีความเชื่อมากขึ้นในพระยะโฮวาและคัมภีร์ไบเบิล
1-2. พ่อแม่ควรรู้สึกยังไงเมื่อลูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อ?
หลายคนยอมรับว่าการเป็นพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจเพื่อดูแลลูก ถ้าคุณมีลูกที่ยังเล็ก เราขอชมเชยที่คุณทุ่มเทเพื่อช่วยลูกให้สนิทกับพระยะโฮวา (ฉธบ. 6:6, 7) แต่พอลูกเริ่มโตขึ้น เขาอาจเริ่มสงสัยและถามคุณเกี่ยวกับความเชื่อและมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล
2 ตอนแรกคุณอาจจะกังวลที่ลูกตั้งคำถามหรืออาจคิดว่าความเชื่อของเขาอ่อนแอลงหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้วเด็กที่กำลังโตต้องตั้งคำถามเพื่อที่จะทำให้ตัวเองมั่นใจได้ (1 คร. 13:11) ดังนั้น คุณไม่ต้องกลัว ให้มองว่าที่ลูกตั้งคำถามเรื่องความเชื่อเป็นโอกาสที่จะช่วยให้เขาพัฒนาความสามารถในการคิดหาเหตุผล
3. เราจะคุยอะไรกันในบทความนี้?
3 ในบทความนี้เราจะมาดูว่าพ่อแม่จะช่วยลูกยังไงให้ (1) สร้างความมั่นใจในพระเจ้าและคัมภีร์ไบเบิล (2) เห็นค่ามาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลที่บอกว่าอะไรถูกอะไรผิด และ (3) ปกป้องความเชื่อของตัวเอง นอกจากนั้น เราจะดูด้วยว่าทำไมถึงเป็นเรื่องดีที่ลูกตั้งคำถาม และดูว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่พ่อแม่จะทำกับลูกได้ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ได้คุยกันเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ
สร้างความมั่นใจในพระเจ้าและคัมภีร์ไบเบิล
4. ลูกอาจตั้งคำถามอะไร? และทำไมเขาอาจตั้งคำถามแบบนั้น?
4 พ่อแม่รู้ว่าความเชื่อไม่ใช่สิ่งที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกได้ ขนาดตัวคุณเองก็ไม่ได้เกิดมาแล้วมีความเชื่อในพระยะโฮวาทันที ลูกคุณก็เหมือนกัน พอลูกเริ่มโตเขาอาจสงสัยว่า ‘ผมจะรู้ได้ยังไงว่าพระเจ้ามีจริง? ผมเชื่อสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกได้จริง ๆ เหรอ?’ ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนให้เราทุกคนใช้ “ความสามารถในการคิดหาเหตุผล” และ “ตรวจดูทุกสิ่งให้แน่ใจ” (รม. 12:1; 1 ธส. 5:21) แล้วคุณจะช่วยลูกให้สร้างความมั่นใจในความเชื่อของเขาได้ยังไง?
5. พ่อแม่จะช่วยลูกสร้างความมั่นใจในคัมภีร์ไบเบิลได้ยังไง? (โรม 12:2)
5 สนับสนุนลูกให้หาหลักฐานด้วยตัวเอง (อ่านโรม 12:2) ตอนที่ลูกของคุณตั้งคำถาม ให้ใช้โอกาสนี้เพื่อสอนเขาให้หาคำตอบโดยใช้เครื่องมือค้นคว้าขององค์การ เช่น คู่มือค้นคว้าสำหรับพยานพระยะโฮวา คุณอาจให้เขาดูในหัวข้อ “คัมภีร์ไบเบิล” แล้วไปที่ “ได้รับการดลใจจากพระเจ้า” เขาจะได้เห็นหลักฐานว่าคัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่หนังสือธรรมดา ๆ ที่มนุษย์เขียนขึ้นมา แต่เป็น “คำสอนของพระเจ้า” (1 ธส. 2:13) นอกจากนั้น เขาอาจค้นคว้าเกี่ยวกับเมืองนีนะเวห์ในสิ่งพิมพ์ขององค์การเราได้ ในอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนบอกว่าเมืองนีนะเวห์ไม่มีอยู่จริง แต่พอมาถึงทศวรรษ 1850 ก็มีการค้นพบซากปรักหักพังของเมืองนี้ซึ่งนี่เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าเรื่องราวที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเป็นความจริง (ศฟย. 2:13-15) ถ้าลูกอยากรู้ว่าการที่เมืองนีนะเวห์ถูกทำลายทำให้คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริงได้ยังไง คุณอาจบอกให้เขาอ่านบทความ “คุณรู้ไหม?” ในหอสังเกตการณ์ เดือนพฤศจิกายน 2021 เมื่อลูกของคุณได้เปรียบเทียบสิ่งที่เขาได้เรียนจากสิ่งพิมพ์ขององค์การกับสิ่งที่เขาได้เรียนจากสารานุกรมหรือแหล่งที่เชื่อถือได้อื่น ๆ ลูกของคุณก็จะยิ่งมั่นใจในสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกมากขึ้น
6. พ่อแม่จะฝึกลูกให้ใช้ความสามารถในการคิดหาเหตุผลได้ยังไง? ขอยกตัวอย่าง (ดูภาพด้วย)
6 ฝึกลูกให้ใช้ความสามารถในการคิดหาเหตุผล พ่อแม่มีหลายโอกาสที่จะคุยกับลูกเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลหรือความเชื่อในพระเจ้า ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะได้คุยกันตอนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ หรือตอนไปเยี่ยมสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวา ถ้าคุณไปที่พิพิธภัณฑ์ คุณอาจชวนลูกให้ดูเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หรือชิ้นส่วนวัตถุโบราณที่จะช่วยให้เขา มั่นใจมากขึ้นว่าคัมภีร์ไบเบิลมีรายละเอียดที่ถูกต้องแม่นยำ คุณรู้ไหมว่ามีชื่อของพระยะโฮวาเขียนไว้บนศิลาจารึกของชาวโมอับซึ่งมีอายุประมาณ 3,000 ปี? ศิลาจารึกของชาวโมอับที่เป็นของจริงตอนนี้มีจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนั้น ยังมีศิลาจารึกของชาวโมอับที่เป็นแบบจำลองซึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ “คัมภีร์ไบเบิลและชื่อของพระเจ้า” ที่สำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาที่วอร์วิก นิวยอร์ก ศิลาจารึกของชาวโมอับเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ากษัตริย์เมชาของโมอับกบฏต่อชาติอิสราเอลซึ่งเป็นอย่างที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ (2 พก. 3:4, 5) พอลูกของคุณได้เห็นกับตาของตัวเองว่าคัมภีร์ไบเบิลพูดความจริงและถูกต้องแม่นยำ ความเชื่อของเขาก็จะเข้มแข็งขึ้น—เทียบกับ 2 พงศาวดาร 9:6
7-8. (ก) เราเรียนอะไรได้จากรูปแบบต่าง ๆ ที่สวยงามในธรรมชาติ? ขอยกตัวอย่าง (ดูภาพด้วย) (ข) คำถามอะไรที่จะช่วยลูกของคุณให้มั่นใจมากขึ้นว่ามีพระเจ้าผู้สร้างทุกสิ่ง?
7 สนับสนุนลูกให้สังเกตธรรมชาติ ตอนที่คุณไปเที่ยวชนบทหรือกำลังทำสวนอยู่ ลองชวนลูกให้สังเกตรูปแบบต่าง ๆ ที่เห็นได้ในธรรมชาติ ทำไมการทำแบบนี้ถึงเป็นประโยชน์? การสังเกตรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เห็นหลักฐานว่าสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติต้องมีผู้ออกแบบที่มีสติปัญญาและฉลาดมาก ตัวอย่างเช่น รูปแบบวงก้นหอย นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษารูปแบบนี้มานานหลายปีแล้ว นักชีวฟิสิกส์คนหนึ่งที่ชื่อนิโคลา ฟาเมลีบอกว่า เมื่อคุณนับจำนวนเส้นโค้งรูปก้นหอยที่อยู่ในธรรมชาติ คุณจะสังเกตเห็นชุดตัวเลขหนึ่งโดยเฉพาะ ชุดตัวเลขนี้ถูกเรียกว่าลำดับฟีโบนักชี รูปแบบวงก้นหอยเห็นได้ในธรรมชาติหลายอย่าง เช่น กาแล็กซี เปลือกหอยงวงช้าง ใบไม้บางชนิด และดอกทานตะวัน a
8 ตอนลูกเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เขาอาจได้เรียนเกี่ยวกับอีกรูปแบบหนึ่งที่เห็นได้ในธรรมชาติ เช่น เกล็ดหิมะแต่ละเกล็ดจะมีลักษณะพิเศษที่แตกเป็นแขนงย่อยเล็กลงเรื่อย ๆ คุณลักษณะแบบนี้ถูกเรียกว่าสาทิสรูป ซึ่งเป็นคำที่ใช้เพื่อบอกรูปทรงที่เป็นแบบเดิมเสมอ เป็นรูปแบบที่ซ้ำ ๆ กันหลายขนาดเรียงซ้อนกัน เราเห็นรูปแบบนี้ในธรรมชาติอื่น ๆ อีกมากมายด้วย แต่ใครล่ะที่เป็นผู้สร้างและออกแบบรูปแบบที่สวยงามเหล่านี้? ยิ่งลูกของคุณคิดถึงคำถามแบบนี้ เขาก็จะยิ่งมั่นใจมากขึ้นว่ามีพระเจ้าผู้สร้างทุกสิ่ง (ฮบ. 3:4) และพอมีโอกาสคุณก็อาจจะถามลูกได้ว่า “ถ้าพระเจ้าสร้างตัวเรา พระองค์ก็ต้องมีคำแนะนำดี ๆ ให้เราใช่ไหมว่า เราต้องทำยังไงถึงจะมีความสุขในชีวิต?” แล้วคุณก็บอกลูกว่าพระองค์ให้คำแนะนำดี ๆ เหล่านั้นในคัมภีร์ไบเบิล
เห็นค่ามาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลที่บอกว่าอะไรถูกอะไรผิด
9. อะไรอาจเป็นสาเหตุที่ลูกสงสัยมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่าอะไรถูกอะไรผิด?
9 ถ้าลูกของคุณสงสัยเกี่ยวกับมาตรฐานในคัมภีร์ไบเบิลว่าอะไรถูกอะไรผิด ลองพยายามหาว่าที่เขาสงสัยแบบนั้นเป็นเพราะอะไร เขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกจริง ๆ ไหม? หรือเป็นเพราะมีคนอื่นมาพูดกับเขาแล้วเขาไม่รู้ว่าจะอธิบายหรือพูดปกป้องความเชื่อของตัวเองยังไง? ไม่ว่าจะเป็นในกรณีไหน คุณสามารถช่วยลูกของคุณให้เห็นค่ามาตรฐานในคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นได้โดยการศึกษาหนังสือชีวิตที่มีความสุขตลอดไป bกับเขา
10. คุณจะช่วยลูกให้สนิทกับพระยะโฮวาด้วยตัวเขาเองได้ยังไง?
10 ช่วยลูกให้สนิทกับพระยะโฮวาด้วยตัวเขาเอง ตอนที่คุณศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับลูก ให้พยายามช่วยลูกให้แสดงความรู้สึกและความคิดของเขาออกมาโดยใช้ตัวอย่างและคำถามที่อยู่ในหนังสือชีวิตที่มีความสุขตลอดไป (สภษ. 20:5) เช่น บท 8 บอกว่าพระยะโฮวาเป็นเพื่อนที่ดีของเรา พระองค์คอยเป็นห่วงและคอยเตือนเรา หลังจากที่คุณอ่าน 1 ยอห์น 5:3 กับลูกแล้ว คุณอาจถามเขาว่า “ถ้าพระยะโฮวาเป็นเพื่อนที่ดีขนาดนี้ เราควรมองคำแนะนำของพระองค์ยังไง?” นี่อาจเป็นคำถามง่าย ๆ แต่มันจะช่วยให้ลูกมองว่าที่พระยะโฮวาให้มีกฎบางอย่างก็เป็นเพราะพระองค์รักเรา—อสย. 48:17, 18
11. คุณจะช่วยลูกให้เห็นค่าหลักการในคัมภีร์ไบเบิลได้ยังไง? (สุภาษิต 2:10, 11)
11 คุยกับลูกว่าการเอาหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้เป็นประโยชน์กับเรายังไง ตอนที่คุณอ่านคัมภีร์ไบเบิลหรืออ่านข้อคัมภีร์ประจำวันกับลูก ให้คุยกันว่าหลักการในคัมภีร์ไบเบิลช่วยครอบครัวของคุณยังไง เช่น ลูกเห็นไหมว่าการเป็นคนขยันและซื่อสัตย์เป็นประโยชน์ยังไง? (ฮบ. 13:18) นอกจากนั้น คุณอาจจะเน้นกับลูกว่าการเอาหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ช่วยให้มีความสุขและมีสุขภาพที่ดีขึ้น (สภษ. 14:29, 30) การคุยกันแบบนี้จะช่วยให้ลูกเห็นค่าหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น—อ่านสุภาษิต 2:10, 11
12. พ่อคนหนึ่งช่วยลูกชายให้เห็นค่าหลักการในคัมภีร์ไบเบิลยังไง?
12 สตีฟเป็นพ่อที่อยู่ในฝรั่งเศส เขามีลูกชายวัยรุ่นที่ชื่ออีธาน เขากับภรรยาพยายามช่วยลูกชายให้เห็นว่าพระยะโฮวาตั้งกฎต่าง ๆ ขึ้นมาก็เพราะพระองค์รักเรา สตีฟบอกว่า “เราจะถามลูก อย่างเช่น ‘ทำไมพระยะโฮวาถึงอยากให้เราเชื่อฟังหลักการข้อนี้? แล้วมันแสดงยังไงว่าพระองค์รักเรา? ถ้าเราไม่ทำตามจะเป็นยังไง?’” การคุยกันในลักษณะนี้ช่วยอีธานให้เห็นเลยว่ามาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องอะไรถูกอะไรผิดเป็นประโยชน์กับเขาจริง ๆ สตีฟยังบอกต่ออีกว่า “เราตั้งใจจะช่วยลูกให้เห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลมีสติปัญญาที่เหนือกว่าสติปัญญาของมนุษย์หลายเท่า”
13. พ่อแม่จะฝึกลูกให้เอาหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ได้ยังไง? ขอยกตัวอย่าง
13 ฝึกลูกให้ใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิล สมมุติว่าครูที่โรงเรียนอาจบอกให้ลูกของคุณอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง แต่หนังสือนั้นอาจมีตัวละครที่ทำสิ่งไม่ดีหลาย อย่าง เช่น ทำผิดศีลธรรมทางเพศหรือชอบใช้ความรุนแรง แถมในหนังสือนั้นยังเขียนในแบบที่ทำให้รู้สึกว่าการทำสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรและน่าทำตามด้วยซ้ำ คุณอาจใช้โอกาสนั้นสอนลูกให้คิดว่าพระยะโฮวารู้สึกยังไงกับคนเหล่านั้นที่ทำไม่ดี (สภษ. 22:24, 25; 1 คร. 15:33; ฟป. 4:8) นี่อาจจะช่วยลูกให้พร้อมที่จะประกาศกับครูหรือเพื่อนที่โรงเรียนได้ตอนที่เขาต้องนำเสนอหน้าชั้นเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่เขาอ่าน
ฝึกลูกให้พร้อมจะปกป้องความเชื่อ
14. อะไรอาจเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับวัยรุ่นที่เป็นพยานฯ? และทำไม?
14 บางครั้งวัยรุ่นที่เป็นพยานฯ อาจไม่กล้าพูดปกป้องความเชื่อของตัวเอง และอาจยิ่งกลัวเป็นพิเศษตอนที่เรียนทฤษฎีวิวัฒนาการ เพราะอะไร? เพราะครูอาจพูดเหมือนมันเป็นข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ คุณจะช่วยลูกยังไงให้ปกป้องความเชื่ออย่างมั่นใจ?
15. อะไรจะช่วยให้วัยรุ่นคริสเตียนมั่นใจมากขึ้นในสิ่งที่เขาเชื่อ?
15 ช่วยลูกให้มั่นใจมากขึ้นในสิ่งที่เขาเชื่อ ลูกของคุณไม่จำเป็นต้องอายที่เชื่อว่ามีพระเจ้าผู้สร้าง (2 ทธ. 1:8) เพราะอะไร? เพราะนักวิทยาศาสตร์หลายคนก็เชื่อว่าชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ และพวกเขาเห็นชัดเจนเลยว่าสิ่งมีชีวิตในโลกมีความสลับซับซ้อนและถูกออกแบบอย่างยอดเยี่ยม พวกเขาก็เลยไม่ยอมรับทฤษฎีวิวัฒนาการที่สอนกันในโรงเรียน สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยลูกของคุณได้ก็คือ เขาต้องเสริมความมั่นใจให้ตัวเองโดยดูว่าอะไรทำให้พี่น้องคนอื่น ๆ เชื่อว่าชีวิตเกิดขึ้นโดยมีผู้ออกแบบ c
16. พ่อแม่จะฝึกลูกให้พร้อมที่จะปกป้องความเชื่อเรื่องมีพระเจ้าผู้สร้างได้ยังไง? (1 เปโตร 3:15) (ดูภาพด้วย)
16 ฝึกลูกให้พร้อมปกป้องความเชื่อเรื่องพระเจ้าผู้สร้าง (อ่าน 1 เปโตร 3:15) คุณอาจใช้บทความในเว็บไซต์ jw.org คุยกับลูก เช่น บทความชุด “หนุ่มสาวถามว่า—มีพระเจ้าสร้างหรือวิวัฒนาการ?” แล้วคุณก็อาจคุยกับลูกว่า การหาเหตุผลแบบไหนที่ลูกรู้สึกว่าช่วยคนอื่นให้ยอมรับว่ามีพระเจ้าผู้สร้าง คุณอาจบอกลูกว่าไม่จำเป็นต้องเถียงกับเพื่อนร่วมชั้น แต่ให้ใช้การหาเหตุผลแบบง่าย ๆ กับคนที่อยากคุยกับเรา เช่น เพื่อนนักเรียนคนหนึ่งอาจบอกว่า “เราเชื่อเฉพาะสิ่งที่มองเห็นเท่านั้น เราไม่เคยเห็นพระเจ้านี่ จะเชื่อได้ยังไงว่าพระองค์มีอยู่จริง?” ลูกอาจจะตอบเขาว่า “ถ้านายเดินเที่ยวในป่า แล้วเห็นบ่อน้ำอันหนึ่งที่สร้างอย่างดีและยังใช้งานได้ นายคิดว่ามันจะเกิดขึ้นมาเองไหม? ขนาดบ่อน้ำยังเกิดขึ้นมาเองไม่ได้ ต้องมีคนสร้างมันขึ้นมา จักรวาลที่สลับซับซ้อนกว่านั้นเยอะก็ยิ่งต้องมีผู้ที่สร้างมันขึ้นมาใช่ไหม?”
17. พ่อแม่จะช่วยลูกยังไงให้มองหาโอกาสที่จะพูดเรื่องคัมภีร์ไบเบิลกับคนอื่น? ขอยกตัวอย่าง
17 สนับสนุนลูกให้มองหาโอกาสที่จะพูดเรื่องคัมภีร์ไบเบิลกับคนอื่น (รม. 10:10) คุณอาจเปรียบการคุยเรื่องคัมภีร์ไบเบิลเป็นเหมือนการเรียนเล่นเครื่องดนตรีสักชิ้นหนึ่ง คนที่หัดเล่นใหม่ ๆ อาจจะต้องฝึกเล่นเพลงง่าย ๆ ไปก่อนจนกว่าจะเล่นเครื่องดนตรีนั้นได้คล่อง เหมือนกันวัยรุ่นคริสเตียนก็ต้องฝึกพูดเรื่องคัมภีร์ไบเบิลแบบง่าย ๆ ก่อน เช่น เขาอาจถามเพื่อนนักเรียนว่า “นายรู้ไหมว่าพวกวิศวกรเวลาเขาจะประดิษฐ์อะไรขึ้นมาสักอย่าง เขามักจะเลียนแบบธรรมชาติ? เรามีวีดีโออันหนึ่งอยากให้นายดู” หลังจากเปิดวีดีโอเรื่องหนึ่งจากวีดีโอชุดมีผู้ออกแบบไหม? เขาอาจบอกเพื่อนว่า “ถ้าใคร ๆ รู้สึกทึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์สิ่งของพวกนี้ได้ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเลียนแบบธรรมชาติ แล้วผู้ที่สร้างสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติก็ยิ่งต้องเก่งมากกว่านั้นไม่รู้กี่เท่าใช่ไหม?” การพูดคุยกันง่าย ๆ แบบนี้ก็อาจกระตุ้นความสนใจของเพื่อนนักเรียนและอาจทำให้เขาอยากรู้มากขึ้นอีก
ช่วยลูกให้มีความเชื่อเข้มแข็งต่อ ๆ ไป
18. พ่อแม่จะช่วยลูกให้มีความเชื่อเข้มแข็งต่อ ๆ ไปได้ยังไง?
18 โลกทุกวันนี้มีแต่คนที่ไม่เชื่อในพระยะโฮวา (2 ปต. 3:3) ดังนั้น ตอนที่พ่อแม่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับลูก ขอให้สนับสนุนลูกให้ค้นคว้าเรื่องที่จะช่วยให้เขามั่นใจมากขึ้นในคัมภีร์ไบเบิลและมาตรฐานของพระยะโฮวา ให้คุณช่วยลูกให้พัฒนาความสามารถในการคิดหาเหตุผลโดยสนับสนุนเขาให้สังเกตความมหัศจรรย์ในสิ่งต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาสร้าง ช่วยลูกให้เข้าใจคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่เกิดขึ้นจริงไปแล้ว และที่สำคัญให้อธิษฐานกับลูกและอธิษฐานเพื่อลูกบ่อย ๆ เมื่อคุณทำแบบนั้น คุณก็มั่นใจได้เลยว่าพระยะโฮวาจะอวยพรที่คุณพยายามช่วยลูกให้มีความเชื่อเข้มแข็ง—2 พศ. 15:7
เพลง 133 นมัสการพระยะโฮวาตั้งแต่เด็ก
a สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ดูวีดีโอสิ่งทรงสร้างที่น่าพิศวงเผยให้เห็นความล้ำเลิศของพระเจ้า—รูปแบบ ในเว็บไซต์ jw.org
b ถ้าลูกของคุณศึกษาหนังสือชีวิตที่มีความสุขตลอดไป จบแล้ว คุณอาจทบทวนหนังสือนี้กับเขาอีกครั้งโดยใช้ตอน 3 และ 4 ซึ่งพูดถึงมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลว่าอะไรถูกอะไรผิด
c ดูบทความ “เหตุใดเราจึงเชื่อว่ามีพระผู้สร้าง” ในตื่นเถิด! กันยายน 2006 และจุลสารต้นกำเนิดชีวิต—ห้าคำถามที่น่าคิด และสำหรับตัวอย่างเพิ่มเติม ดูวีดีโอชุดมุมมองเรื่องต้นกำเนิดของชีวิต ในเว็บไซต์ jw.org
d คำอธิบายภาพ เด็กพยานฯ คนหนึ่งเปิดวีดีโอชุดมีผู้ออกแบบไหม? ให้เพื่อนนักเรียนที่ชอบเรื่องโดรน