บทความศึกษา 52
ช่วยคนอื่นให้อดทนปัญหาและความยากลำบากได้
“อย่ากีดกันสิ่งดี ๆ ไว้จากคนที่สมควรได้รับ ในเมื่อลูกมีกำลังที่จะช่วยเขาได้”—สภษ. 3:27
เพลง 103 ผู้ดูแลเป็นของขวัญจากพระเจ้า
ใจความสำคัญ a
1. พระยะโฮวามักจะตอบคำอธิษฐานของผู้รับใช้ของพระองค์ยังไง?
คุณรู้ไหมถ้ามีใครอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา พระองค์อาจจะใช้คุณเพื่อเป็นคำตอบให้คนนั้นก็ได้? ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ดูแล ผู้ช่วยงานรับใช้ ไพโอเนียร์ หรือผู้ประกาศ และไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ ผู้ชายหรือผู้หญิง พระองค์ก็ใช้คุณได้ พระยะโฮวาชอบใช้ผู้ดูแลและผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ เพื่อ “ให้กำลังใจ” คนที่ขอความช่วยเหลือ (คส. 4:11) ถ้าพระยะโฮวาใช้เราให้ทำแบบนั้น เราก็มีความสุขและรู้สึกเป็นสิทธิพิเศษที่ได้รับใช้พระองค์และรับใช้พี่น้อง และเราก็ทำแบบนั้นได้ด้วยในช่วงโรคระบาด และตอนที่พี่น้องต้องเจอภัยพิบัติหรือการข่มเหง
ช่วยคนอื่นในช่วงโรคระบาด
2. ทำไมอาจไม่ง่ายที่เราจะช่วยพี่น้องในช่วงโรคระบาด?
2 เป็นเรื่องไม่ง่ายที่เราจะช่วยพี่น้องในช่วงโรคระบาด เช่น เราอยากไปหาเพื่อนหรืออยากชวนพี่น้องที่ไม่ค่อยมีเงินมากินข้าวกับเราที่บ้าน แต่เราก็ทำไม่ได้เพราะมันเสี่ยง หรือเราอาจอยากช่วยคนอื่น แต่ตัวเราเองก็มีปัญหาเรื่องเงินหรือคนในครอบครัวก็กำลังป่วยอยู่ ถึงจะเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะช่วยพี่น้องแต่เราก็ยังอยากช่วยพวกเขา และพระยะโฮวาก็ดีใจที่เห็นเราพยายามทำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (สภษ. 3:27; 19:17) ตอนนี้ให้เรามาดูด้วยกันว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะช่วยพี่น้อง
3. เราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของผู้ดูแลในประชาคมของเดซี่? (เยเรมีย์ 23:4)
3 สิ่งที่ผู้ดูแลทำได้ ถ้าคุณเป็นผู้ดูแล ให้พยายามรู้จักและสนิทกับพี่น้องทุกคน (อ่านเยเรมีย์ 23:4) เดซี่ bพี่น้องหญิงที่พูดถึงในบทความ ก่อนบอกว่า “ก่อนหน้านี้ผู้ดูแลกลุ่มการประกาศมักจะออกประกาศกับฉันและพี่น้องคนอื่น ๆ ในกลุ่มเป็นประจำ เรามักจะทำอะไร ๆ ด้วยกันบ่อย ๆ” นี่เลยทำให้ผู้ดูแลสามารถช่วยเดซี่ได้ง่ายขึ้นตอนที่มีการระบาดของโควิด-19 และตอนที่บางคนในครอบครัวของเธอเสียชีวิตเพราะโควิด
4. ทำไมผู้ดูแลถึงช่วยเดซี่ได้? และมีบทเรียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?
4 เดซี่บอกว่า “ฉันสนิทกับพวกผู้ดูแล ฉันเลยรู้สึกสบายใจที่จะเล่าให้พวกเขาฟังว่าฉันรู้สึกยังไงและกังวลเรื่องอะไร” บทเรียนสำหรับผู้ดูแลคืออะไร? ให้บำรุงเลี้ยงพี่น้องตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด พยายามเป็นเพื่อนและสนิทกับพวกเขา และถ้าเกิดโรคระบาดจนทำให้คุณไม่สามารถไปหาพี่น้องได้ ให้พยายามติดต่อกับพวกเขาด้วยวิธีอื่น เดซี่บอกว่า “ในวันเดียวมีผู้ดูแลหลายคนโทรหาฉันหรือไม่ก็ส่งข้อความมาให้กำลังใจฉันหลายรอบ ข้อคัมภีร์ที่พวกเขาส่งมากินใจฉันมาก แม้ฉันจะรู้จักข้อคัมภีร์พวกนั้นดีอยู่แล้ว”
5. ผู้ดูแลจะรู้ได้ยังไงว่าพี่น้องต้องการอะไร?
5 แล้วคุณจะรู้ได้ยังไงว่าพี่น้องต้องการอะไร? วิธีหนึ่งก็คือให้คอยถามโดยไม่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด (สภษ. 20:5) พี่น้องมีอาหารพอกินไหม? มียาและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ หรือเปล่า? พวกเขาอาจเสี่ยงที่จะต้องตกงานหรือถึงกับไม่มีบ้านอยู่ไหม? พวกเขาอยากให้คุณช่วยติดต่อเพื่อจะรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไหม? พี่น้องหลายคนให้สิ่งของจำเป็นกับเดซี่ แต่สิ่งที่ช่วยเธอมากที่สุดให้รับมือกับความยากลำบากได้ก็คือการที่ผู้ดูแลแสดงความรักกับเธอ และให้กำลังใจเธอจากคัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยเธอให้มีความเชื่อเข้มแข็ง เดซี่บอกว่า “ผู้ดูแลหลายคนอธิษฐานกับฉันค่ะ ถึงฉันจะจำไม่ค่อยได้ว่าพวกเขาพูดอะไร แต่ฉันจำได้แม่นเลยว่าตอนนั้นฉันรู้สึกยังไง มันเหมือนกับพระยะโฮวากำลังบอกฉันว่า ‘เจ้าไม่ได้สู้อยู่ตามลำพังนะ เราอยู่กับเจ้า’”—อสย. 41:10, 13
6. พี่น้องแต่ละคนในประชาคมจะช่วยกันและกันได้ยังไง? (ดูภาพ)
6 สิ่งที่พี่น้องทำได้ แน่นอนว่าเราคงคาดหมายว่าผู้ดูแลจะเป็นคนหลักในการให้กำลังใจพี่น้อง แต่พระ ยะโฮวาก็อยากให้เราทุกคนให้กำลังใจกันและช่วยเหลือกัน (กท. 6:10) แค่เราทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับพี่น้องที่กำลังเจ็บป่วยเพื่อแสดงว่าเรารักเขา มันก็ช่วยเขาได้มากจริง ๆ เด็ก ๆ สามารถส่งการ์ดหรือวาดรูปเพื่อเป็นกำลังใจให้พี่น้องได้ ส่วนวัยรุ่นก็อาจช่วยทำธุระหรือไปซื้อของให้พี่น้องได้เหมือนกัน แล้วถ้ามีพี่น้องคนไหนป่วย เราทำอาหารและส่งไปให้เขาได้ ตอนที่มีโรคระบาดทุกคนในประชาคมอยากได้กำลังใจ ดังนั้น ถ้าเราอยู่คุยกับพี่น้องหลังประชุมนานสักหน่อยไม่ว่าจะเป็นการประชุมแบบเจอตัวกันหรือทางออนไลน์ พี่น้องก็จะดีใจมาก ผู้ดูแลเองก็อยากได้กำลังใจด้วย พี่น้องบางคนเขียนโน้ตขอบคุณให้ผู้ดูแลที่คงยุ่งมากเป็นพิเศษในช่วงการระบาด เมื่อเราแต่ละคน “คอยให้กำลังใจกันและเสริมสร้างกันให้เข้มแข็ง” ทุกคนในประชาคมก็จะมีความสุขมากจริง ๆ—1 ธส. 5:11
ช่วยพี่น้องที่เจอภัยพิบัติ
7. ภัยพิบัติอาจทำให้ชีวิตคนเราเป็นยังไง?
7 ภัยพิบัติอาจทำให้ชีวิตคนเราเปลี่ยนไปภายในพริบตา หลายคนอาจหมดเนื้อหมดตัว บ้านพังจนเหลือแต่ซาก หรือแม้แต่สูญเสียคนที่พวกเขารัก พี่น้องของเราก็อาจจะเจอเหตุการณ์ร้าย ๆ แบบนี้ด้วย แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยพวกเขา?
8. ผู้ดูแลกับหัวหน้าครอบครัวจะทำอะไรได้บ้างก่อนจะเกิดภัยพิบัติ?
8 สิ่งที่ผู้ดูแลทำได้ พวกคุณที่เป็นผู้ดูแล ขอให้ช่วยพี่น้องเตรียมพร้อมก่อนจะเกิดภัยพิบัติ ทำให้แน่ใจว่าทุกคนในประชาคมรู้ว่าควรทำยังไงเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยและจะติดต่อผู้ดูแลได้ยังไง มากาเร็ตซึ่งพูดถึงในบทความก่อนบอกว่า “ในส่วนความจำเป็นของประชาคม ผู้ดูแลเตือนเราว่าช่วงไฟป่ายังไม่จบ ถ้าเจ้าหน้าที่สั่งให้อพยพหรือถ้าเราเห็นสถานการณ์มันเลวร้ายขึ้น เราต้องหนีทันที” คำแนะนำนี้เหมาะกับเวลาจริง ๆ เพราะ 5 สัปดาห์ถัดมามีไฟป่าที่รุนแรงมากเกิดขึ้น นอกจากนั้น หัวหน้าครอบครัวอาจใช้ช่วงการนมัสการประจำครอบครัวคุยกันว่าแต่ละคนจะทำอะไรเมื่อเกิดภัยพิบัติ ถ้าคุณกับลูก ๆ เตรียมตัวอย่างดี เวลาเกิดภัยพิบัติคุณก็จะไม่กังวลมากเกินไปและมีใจสงบ
9. ผู้ดูแลจะทำอะไรได้บ้างตั้งแต่ก่อนจะเกิดภัยพิบัติและหลังภัยพิบัติ?
9 ถ้าคุณเป็นผู้ดูแลกลุ่ม คุณต้องแน่ใจว่าคุณมีเบอร์โทรศัพท์กับที่อยู่ล่าสุดของพี่น้อง อย่ารอให้เกิดเรื่องก่อนแล้วค่อยทำ แล้วพอเกิดภัยพิบัติก็ให้คุณติดต่อพี่น้องทุกคนในกลุ่มทันทีเพื่อดูว่าแต่ละคนต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง จากนั้นให้ส่งข้อมูลเหล่านี้ให้ผู้ประสานงานคณะผู้ดูแลทันที แล้วเขาก็จะติดต่อกับผู้ดูแลหมวด ถ้าผู้ดูแลทั้งหมดทำงานร่วมมือกันอย่างดี พวกเขาก็จะช่วยพี่น้องได้มาก ขอให้คิดถึงตัวอย่างของมากาเร็ต หลังจากเกิดไฟป่าผู้ดูแลหมวดต้องทำงานต่อเนื่องถึง 36 ชั่วโมงโดยไม่ได้นอนเลยเพื่อติดต่อกับผู้ดูแลแต่ละประชาคม พวกเขาได้ช่วยพี่น้องถึง 450 คนที่ต้องออกจากบ้านให้มีที่พัก—2 คร. 11:27
10. ทำไมผู้ดูแลต้องมองว่าการบำรุงเลี้ยงพี่น้องถึงเป็นเรื่องสำคัญ? (ยอห์น 21:15)
10 นอกจากนั้น ผู้ดูแลต้องบำรุงเลี้ยงพี่น้องด้วย พวกเขาให้กำลังใจพี่น้องโดยใช้คัมภีร์ไบเบิลและช่วยพี่น้องให้รับมือกับความกังวล (1 ปต. 5:2) เมื่อเกิดภัยพิบัติ ก่อนอื่นผู้ดูแลต้องทำให้แน่ใจว่าพี่น้องทุกคนปลอดภัย มีอาหาร เสื้อผ้า และที่พัก แต่พอเวลาผ่าน ไปนานหลายเดือน พี่น้องก็ยังต้องการกำลังใจดี ๆ จากคัมภีร์ไบเบิลและสิ่งที่ช่วยให้พวกเขารับมือกับความกังวลได้ (อ่านยอห์น 21:15) แฮโรลด์ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการสาขาและได้เดินทางไปให้กำลังใจพี่น้องหลายคนที่เจอภัยพิบัติเล่าว่า “เรื่องนี้ต้องใช้เวลา ถึงชีวิตของพวกเขาอาจค่อย ๆ เริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว แต่พวกเขาก็อาจยังไม่ลืมเหตุการณ์ที่พวกเขาเจอ และพวกเขาอาจยังนึกถึงคนที่พวกเขารักที่ต้องตายจากไป หรือนึกถึงสิ่งของบางอย่างที่สำคัญมากสำหรับพวกเขา ความเศร้าเสียใจอาจหวนกลับมาเป็นระยะ ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาขาดความเชื่อ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเป็นแบบนี้”
11. ครอบครัวที่เจอภัยพิบัติต้องได้รับความช่วยเหลือยังไงต่อ ๆ ไป?
11 ผู้ดูแลควรเอาคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ที่ว่า “ร้องไห้กับคนที่ร้องไห้” (รม. 12:15) ผู้ดูแลต้องช่วยพี่น้องที่เจอภัยพิบัติให้มั่นใจว่าพระยะโฮวายังรักพวกเขาเสมอและพี่น้องทุกคนก็รักพวกเขา ผู้ดูแลจะช่วยให้แต่ละครอบครัวกลับมาทำกิจกรรมของคริสเตียนเป็นปกติ เช่น อธิษฐาน ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ไปประชุมและประกาศ นอกจากนั้น ผู้ดูแลจะสนับสนุนคนที่เป็นพ่อแม่ให้ช่วยลูก ๆ ให้สนใจสิ่งที่ภัยพิบัติไม่สามารถทำลายได้ เช่น พ่อแม่อาจบอกลูก ๆ ให้รู้ว่าพระยะโฮวายังคงเป็นเพื่อนของพวกเขาและพระองค์จะอยู่กับพวกเขาเสมอ ให้พ่อแม่บอกลูก ๆ ว่าพวกเขาอยู่ในองค์การที่ยอดเยี่ยมที่มีพี่น้องที่คอยรักและพร้อมจะช่วยเหลือพวกเขาเสมอ—1 ปต. 2:17
12. พี่น้องจะช่วยอะไรได้บ้างเมื่อเกิดภัยพิบัติ? (ดูภาพ)
12 สิ่งที่พี่น้องทำได้ ถ้าเกิดภัยพิบัติไม่ไกลจากที่ที่คุณอยู่ ให้ถามผู้ดูแลว่าคุณจะช่วยอะไรได้บ้าง คุณอาจเสนอจะให้ที่พักชั่วคราวกับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ หรือพี่น้องที่มาช่วยบรรเทาทุกข์ และคุณอาจส่งอาหารหรือสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ ได้ด้วย แต่ถ้ามีภัยพิบัติเกิดขึ้นในที่ที่ไกลเกินกว่าที่คุณจะไปช่วยได้ คุณก็สามารถอธิษฐานเผื่อพี่น้องและบริจาคเงินเพื่องานทั่วโลก (2 คร. 1:8-11; 8:2-5) หรือถ้าคุณสามารถเดินทางไปยังเขตที่เกิดภัยพิบัติ ให้ถามผู้ดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และถ้ามีการอนุมัติให้คุณไปก็จะมีการฝึกอบรมคุณเพื่อที่คุณจะช่วยได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ช่วยพี่น้องที่เจอการข่มเหง
13. พี่น้องที่อยู่ในประเทศที่งานของเราถูกสั่งห้ามเจอปัญหาอะไรบ้าง?
13 พี่น้องที่อยู่ในประเทศที่งานของเราถูกสั่งห้ามอาจถูกข่มเหงอย่างหนักซึ่งทำให้ชีวิตของพวกเขาลำบากมาก นอกจากนั้น พวกเขายังเจอปัญหาเรื่องเงิน ความเจ็บป่วย และคนที่พวกเขารักเสียชีวิต แต่เนื่องจากพวกเขาอยู่ในประเทศที่งานของเราถูกสั่งห้าม ผู้ดูแลอาจไม่สามารถเดินทางไปให้กำลังใจพี่น้องได้ พี่น้องอันเดรซึ่งเป็นผู้ดูแลที่พูดถึงในบทความก่อนก็เจอแบบนั้น มีพี่น้องหญิงคนหนึ่งในกลุ่มการประกาศเดียวกับเขาแทบไม่มีเงินใช้ แล้วเธอก็เจออุบัติเหตุทางรถยนต์และต้องผ่าตัดหลายครั้งและไม่สามารถที่จะทำงานได้ แม้เธอจะอยู่ในประเทศที่งานของเราถูกสั่งห้ามและอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 พี่น้องก็พยายามช่วยเหลือเธอ พระยะโฮวารู้ว่าเธอต้องการอะไรและพระองค์คอยดูแลเธออยู่
14. ผู้ดูแลจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการวางใจพระยะโฮวาได้ยังไง?
14 สิ่งที่ผู้ดูแลทำได้ พี่น้องอันเดรอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาช่วยและพยายามทำสิ่งที่เขาทำได้ แล้วพระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของเขายังไง? เนื่องจากอันเดรไปหาพี่น้องไม่ได้ พระองค์เลยกระตุ้นให้พี่น้องคนอื่นมาช่วยพี่น้องหญิงคนนี้ พี่น้องบางคนพาเธอไปหาหมอตามนัด ส่วนบางคนก็ให้เงินช่วยเหลือเธอ พอพี่น้องเหล่านี้ออกความพยายาม แสดงความกล้าหาญ และเป็นหนึ่งเดียวกัน พระยะโฮวาก็อวยพรพวกเขา (ฮบ. 13:16) พวกคุณที่เป็นผู้ดูแลที่อยู่ในประเทศที่งานของเราถูกสั่งห้าม ให้คุณขอพี่น้องคนอื่นช่วยในสิ่งที่คุณทำไม่ได้ (ยรม. 36:5, 6) และที่สำคัญ ให้คุณวางใจพระยะโฮวา พระองค์จะช่วยคุณให้สามารถเอาใจใส่พี่น้องเป็นอย่างดีได้
15. ตอนที่เราถูกข่มเหง เราจะเป็นหนึ่งเดียวกันกับพี่น้องได้ยังไง?
15 สิ่งที่พี่น้องทำได้ ในช่วงที่ถูกสั่งห้าม เราอาจเจอกันได้แค่กลุ่มเล็ก ๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือให้พี่น้องทุกคนรักกัน คนที่คุณต้องสู้ก็คือซาตาน ไม่ใช่มาสู้กันเอง ให้มองข้ามข้อผิดพลาดของพี่น้อง และถ้าคุณมีเรื่องไม่เข้าใจกันก็ให้รีบเคลียร์ (สภษ. 19:11; อฟ. 4:26) ให้พยายามเป็นฝ่ายริเริ่มที่จะช่วยเหลือกัน (ทต. 3:14) ในตัวอย่างของพี่น้องหญิงคนนั้นที่เจออุบัติเหตุ พอพี่น้องช่วยกันดูแลเธอ ทุกคนก็ได้รับประโยชน์ พี่น้องในกลุ่มการประกาศนั้นรักกันและสนิทกันมากขึ้นเหมือนเป็นครอบครัวจริง ๆ—สด. 133:1
16. อย่างที่บอกไว้ในโคโลสี 4:3, 18 เราจะช่วยพี่น้องที่ถูกข่มเหงได้ยังไง?
16 พี่น้องของเราหลายแสนคนรับใช้พระยะโฮวาในประเทศที่รัฐบาลสั่งห้ามงานของพวกเรา บางคนต้องติดคุกเพราะความเชื่อ เราสามารถอธิษฐานเผื่อพวกเขาและเผื่อครอบครัวของพวกเขาได้ นอกจากนั้น มีพี่น้องหลายคนที่เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยพี่น้องเหล่านั้นทั้งทางด้านความเชื่อ ร่างกาย และทางกฎหมาย เราก็อธิษฐานเผื่อพวกเขาได้ด้วย c (อ่านโคโลสี 4:3, 18) คำอธิษฐานของคุณมีพลังมากกว่าที่คุณคิด—2 ธส. 3:1, 2; 1 ทธ. 2:1, 2
17. คุณสามารถเตรียมตัวยังไงได้บ้างตั้งแต่ตอนนี้เพื่อรับมือกับการข่มเหง?
17 คุณกับครอบครัวสามารถเตรียมตัวได้ตั้งแต่ตอนนี้เพื่อจะรับมือกับการข่มเหง (กจ. 14:22) อย่าเอาแต่คิดว่าจะมีเรื่องแย่ ๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง ให้สนใจว่าคุณกับลูกจะสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้นได้ยังไง เมื่อไหร่ที่คุณกังวล ให้อธิษฐานระบายความรู้สึกกับพระองค์ (สด. 62:7, 8) ให้ทั้งครอบครัวของคุณคุยกันว่ามีเหตุผลอะไรบ้างที่คุณจะวางใจพระยะโฮวาได้ d และเหมือนกับที่คุณเตรียมลูกให้พร้อมจะรับมือกับภัยพิบัติ คุณก็เตรียมลูกให้พร้อมรับมือกับการข่มเหงได้เหมือนกัน ลูกจะกล้าหาญและไม่กลัวเพราะคุณสอนเขาให้วางใจพระยะโฮวา
18. มีอนาคตอะไรรอเราอยู่?
18 สันติสุขของพระเจ้าทำให้อุ่นใจและรู้สึกปลอดภัย (ฟป. 4:6, 7) สันติสุขนี้ทำให้เราสงบใจได้แม้เจอโรคระบาด ภัยพิบัติ หรือการข่มเหง พระยะโฮวาให้ผู้ดูแลที่ขยันขันแข็งดูแลเอาใจใส่และบำรุงเลี้ยงเรา และพระองค์อยากให้เราทุกคนมีโอกาสช่วยเหลือกันและกัน สันติสุขที่เรามีตอนนี้จะช่วยเรารับมือกับความยากลำบากที่หนักกว่าในอนาคต และถึงกับช่วยเราให้รับมือได้ในช่วง “ความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่” (มธ. 24:21) ในตอนนั้นเราต้องมีสันติสุขเสมอและช่วยพี่น้องให้ทำแบบเดียวกัน หลังจากช่วงเวลานั้น เราจะไม่ต้องเจอปัญหาและความกังวลอีกต่อไป เราจะได้สิ่งที่พระยะโฮวาอยากให้เรามีมาตลอด นั่นคือเราจะมีสันติสุขแท้ตลอดไป—อสย. 26:3, 4
เพลง 109 รักสุดหัวใจ
a หลายครั้งพระยะโฮวาใช้ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ให้ช่วยคนที่กำลังเจอปัญหาและความยากลำบาก พระองค์จะใช้คุณด้วยเพื่อให้กำลังใจพี่น้อง ให้เรามาดูว่าเราจะช่วยพี่น้องของเราได้ยังไงบ้าง
b บางชื่อเป็นชื่อสมมุติ
c สำนักงานสาขาและสำนักงานใหญ่จะไม่รับฝากจดหมายไปถึงพี่น้องที่ติดคุก
d ดูบทความ “เตรียมพร้อมสำหรับการข่มเหงตั้งแต่ตอนนี้” ในหอสังเกตการณ์ กรกฎาคม 2019
e คำอธิบายภาพ พี่น้องคู่หนึ่งเอาอาหารมาให้ครอบครัวหนึ่งที่อยู่ในที่พักชั่วคราวเพราะเจอภัยพิบัติ