คุณกำลังคิดเหมือนพระยะโฮวาไหม?
“ให้เปลี่ยนแปลงตัวเองโดยเปลี่ยนความคิดของคุณใหม่”—โรม 12:2
1, 2. เราเรียนรู้อะไรเมื่อเราก้าวหน้ามากขึ้น? ขอยกตัวอย่าง
ลองนึกภาพว่ามีคนให้ของขวัญเด็กคนหนึ่ง พ่อแม่บอกเด็กคนนั้นว่า “ขอบคุณสิลูก” แล้วลูกก็ขอบคุณ ที่เขาทำแบบนั้นก็เพราะเชื่อฟังที่พ่อแม่บอก แต่พอลูกโตขึ้น เขาก็เริ่มเข้าใจความคิดของพ่อแม่ว่าทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องขอบคุณคนอื่นที่ทำดีกับเขา แล้วในที่สุดมันก็กระตุ้นให้ตัวเขาเองอยากขอบคุณ เพราะตอนนี้เขาเรียนที่จะคิดเหมือนพ่อแม่แล้วว่าต้องเป็นคนสำนึกบุญคุณ
2 พวกเราก็เหมือนกัน ตอนที่เราเริ่มเรียนความจริง เรารู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเชื่อฟังคำสั่งพื้นฐานของพระยะโฮวา แต่พอเราก้าวหน้ามากขึ้น เราก็ได้รู้ความคิดของพระองค์มากขึ้น เช่น พระองค์ชอบอะไรไม่ชอบอะไร และพระองค์มองเรื่องต่าง ๆ อย่างไร ถ้าเราให้ความคิดของพระยะโฮวามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกและการกระทำของเรา เราจะคิดเหมือนพระองค์
3. ทำไมอาจเป็นเรื่องยากที่จะคิดเหมือนพระยะโฮวา?
3 แม้เราชอบฝึกที่จะคิดเหมือนพระยะโฮวา แต่บางครั้งก็อาจทำได้ยากเพราะเราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ เช่น เรารู้ว่าพระองค์คิดอย่างไรกับ
เรื่องศีลธรรมที่ดี เรื่องเงิน เรื่องเลือด การประกาศ และเรื่องอื่น ๆ แต่เราอาจไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมพระองค์ถึงคิดอย่างนั้น แล้วเราจะฝึกคิดเหมือนพระยะโฮวามากขึ้นได้อย่างไร? การทำแบบนี้ช่วยเราอย่างไรให้ทำสิ่งที่ถูกต้องทั้งตอนนี้และในวันข้างหน้า?เราจะคิดเหมือนพระยะโฮวาได้อย่างไร
4. เพื่อจะ ‘เปลี่ยนความคิดของเราใหม่’ เราต้องทำอะไร?
4 อ่านโรม 12:2 ในข้อคัมภีร์นี้เปาโลพูดถึงสิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะคิดเหมือนพระยะโฮวา เขาบอกว่าเราต้อง “เลิกเลียนแบบคนในโลกนี้” และอย่างที่เราได้เรียนในบทความก่อน นี่หมายถึงการไม่ยอมให้ความคิดแบบโลกเข้ามาในหัวเรา แต่ไม่ใช่แค่นั้น เปาโลยังบอกด้วยว่าเราต้อง ‘เปลี่ยนความคิดของเราใหม่’ เพื่อจะทำแบบนั้นได้ เราต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เข้าใจความคิดของพระเจ้า คิดใคร่ครวญความคิดของพระองค์ และพยายามเต็มที่ที่จะคิดเหมือนพระองค์
5. การอ่านและการศึกษาต่างกันอย่างไร?
5 การศึกษาส่วนตัวไม่ใช่การอ่านผ่าน ๆ หรือขีดเส้นใต้หาคำตอบ เราต้องคิดว่าเรื่องที่เราอ่านสอนอะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา พระองค์ทำอะไร และพระองค์คิดอะไร เราต้องพยายามเข้าใจว่าทำไมพระยะโฮวาบอกให้เราทำแบบนี้หรือไม่ให้ทำแบบนั้น นอกจากนั้น เราต้องคิดด้วยว่ามีอะไรที่เราต้องเปลี่ยนบ้าง ทั้งความคิดและการกระทำของเรา ถึงมันอาจเป็นไปไม่ได้ที่เราจะคิดใคร่ครวญทุกจุดเหล่านี้ในการศึกษาแต่ละครั้ง แต่การศึกษาส่วนตัวต้องใช้เวลา และครึ่งหนึ่งของการศึกษาส่วนตัวแต่ละครั้งน่าจะเป็นการคิดใคร่ครวญ—สดุดี 119:97; 1 ทิโมธี 4:15
6. จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อเราคิดใคร่ครวญเรื่องต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล?
6 ถ้าเราคิดใคร่ครวญเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ มันจะทำให้เกิดสิ่งที่น่าทึ่งมาก ๆ สิ่งนั้นคืออะไร? มันคือการที่เราได้ “ตรวจดูจนแน่ใจ” และเชื่อมั่นว่าความคิดของพระยะโฮวาสมบูรณ์แบบ เราจะเริ่มเข้าใจว่าพระองค์มองเรื่องต่าง ๆ อย่างไร และเราก็เห็นด้วยกับความคิดของพระองค์ จากนั้น เราก็เปลี่ยนความคิดของเราใหม่และเริ่มคิดแบบใหม่ ตอนนี้เราจะคิดเหมือนพระยะโฮวามากขึ้นเรื่อย ๆ
ความคิดมีผลต่อการกระทำ
7, 8. (ก) พระยะโฮวาคิดอย่างไรกับทรัพย์สมบัติ? (ดูภาพแรก) (ข) ถ้าเรามองทรัพย์สมบัติแบบพระยะโฮวามอง อะไรจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเราเสมอ?
7 ความคิดของเรามีผลต่อการกระทำของเราด้วย (มาระโก 7:21-23; ยากอบ 2:17) เพื่อจะเข้าใจชัดเจนขึ้นเราจะดูบางตัวอย่างด้วยกัน ตัวอย่างแรกเกี่ยวข้องกับการเกิดของพระเยซู ซึ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าพระยะโฮวาคิดอย่างไรกับทรัพย์สมบัติ พระองค์เลือกโยเซฟและมารีย์ให้เลี้ยงดูพระเยซู แม้พวกเขาไม่ใช่คนรวย (เลวีนิติ 12:8; ลูกา 2:24) ตอนที่พระเยซูเกิด มารีย์ “เอาผ้าพันทารกไว้แล้วให้นอนในรางหญ้า เพราะตอนนั้นไม่มีห้องพักเหลือให้พวกเขาเข้าพักได้” (ลูกา 2:7) ถ้าพระยะโฮวาอยากให้พระเยซูเกิดในที่ที่ดีกว่านี้ก็ทำได้แน่นอน แต่พระองค์อยากให้พระเยซูเติบโตมาในครอบครัวที่ให้การนมัสการพระองค์สำคัญที่สุด นี่คือสิ่งสำคัญมากสำหรับพระยะโฮวา
8 เรื่องราวตอนพระเยซูเกิดสอนเราว่า พระยะโฮวามองทรัพย์สมบัติอย่างไร พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกได้สิ่งที่พวกเขาคิดว่าดีที่สุดถึงแม้มันจะมีผลเสียต่อสายสัมพันธ์ของลูกกับพระยะโฮวา แต่เราเห็นชัดเจนว่าฮีบรู 13:5
พระองค์ถือว่าความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด คุณเองคิดเหมือนพระยะโฮวาในเรื่องนี้ไหม? สิ่งที่คุณทำจะบอกว่าคุณคิดอย่างไร—อ่าน9, 10. เราจะแสดงอย่างไรว่าเราคิดเหมือนพระยะโฮวาในเรื่องการทำให้คนอื่นทิ้งความเชื่อ?
9 ตัวอย่างที่ 2 เกี่ยวข้องกับวิธีที่พระยะโฮวามองคนที่ทำให้คนอื่นทิ้งความเชื่อ ทำบาป หรือเลิกรับใช้พระองค์ พระเยซูบอกว่า “ถ้าใครทำให้คนต่ำต้อยที่เชื่อในตัวผมทิ้งความเชื่อไป เอาหินโม่ก้อนใหญ่มาถ่วงคอเขา แล้วโยนลงไปในทะเลก็ดีกว่า” (มาระโก 9:42) นี่เป็นเรื่องร้ายแรงมาก เรารู้ว่าพระเยซูเป็นเหมือนพระยะโฮวาพ่อของท่าน เราเลยแน่ใจว่าพระยะโฮวาจะรู้สึกไม่พอใจมากเหมือนกันถ้ามีใครทำให้คนอื่นเลิกรับใช้พระองค์—ยอห์น 14:9
10 เรามองเรื่องนี้เหมือนพระยะโฮวากับพระเยซูมองไหม? สิ่งที่เราทำแสดงให้เห็นอะไร? เช่น เราอาจชอบแต่งตัวบางสไตล์ แต่ถ้ามันทำให้บางคนในประชาคมรู้สึกไม่ดีหรือมีความคิดที่ผิดศีลธรรม เราจะทำอย่างไร? ถ้าเรารักพี่น้องเราจะแต่งตัวแบบนั้นไหม?—1 ทิโมธี 2:9, 10
11, 12. การฝึกควบคุมตัวเองและการเกลียดสิ่งที่พระยะโฮวาเกลียดจะช่วยป้องกันเราอย่างไร?
11 ตัวอย่างที่ 3 เกี่ยวข้องกับการที่พระยะโฮวาเกลียดความชั่ว (อิสยาห์ 61:8) ที่จริง พระองค์รู้ว่าบางครั้งเราทำสิ่งที่ดีได้ยากเพราะเราไม่สมบูรณ์แบบ แต่พระองค์ก็อยากให้เราคิดเหมือนพระองค์และเกลียดสิ่งที่พระองค์เกลียด (อ่านสดุดี 97:10) ถ้าเราคิดใคร่ครวญว่าทำไมพระยะโฮวาเกลียดสิ่งชั่ว มันจะช่วยให้เราคิดเหมือนพระองค์ และช่วยให้เราเข้มแข็งเพื่อจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี
12 นอกจากนั้น การฝึกที่จะเกลียดสิ่งชั่ว ยังช่วยให้เราดูออกว่าอะไรผิดแม้คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกตรง ๆ เช่น มีการผิดศีลธรรมแบบหนึ่งที่เรียกว่าการเต้นบนตักซึ่งกำลังมีมากขึ้นในทุกวันนี้ บางคนรู้สึกว่ามันไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์ก็เลยคิดว่าการทำแบบนี้ไม่ได้ผิดอะไร * แต่จริง ๆ แล้วพระยะโฮวาคิดอย่างไรในเรื่องนี้? จำไว้ว่าพระองค์เกลียดความชั่วทุกอย่าง ดังนั้น เราต้องไม่ยุ่งกับอะไรก็ตามที่ชั่วโดยรู้จักควบคุมตัวเองมากขึ้นและเกลียดสิ่งที่พระองค์เกลียด—โรม 12:9
คิดไว้ก่อนว่าจะตัดสินใจอย่างไร
13. ทำไมเราควรคิดตั้งแต่ตอนนี้ว่าพระยะโฮวามองเรื่องต่าง ๆ อย่างไร?
13 ตอนที่เราศึกษาส่วนตัว เราต้องคิดว่าพระยะโฮวามองเรื่องต่าง ๆ อย่างไร เพราะมันจะช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างฉลาด แล้วถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจทันที เราก็จะพร้อมและรู้ว่าต้องทำอย่างไร (สุภาษิต 22:3) ให้เรามาดูบางตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคัมภีร์ไบเบิล
14. เราเรียนอะไรได้จากที่โยเซฟพูดกับภรรยาของโปทิฟาร์?
14 ตอนที่ภรรยาโปทิฟาร์ยั่วยวนโยเซฟ เขาปฏิเสธทันที นี่แสดงว่าโยเซฟคิดใคร่ครวญเรื่องนี้มาก่อนแล้ว เขารู้ว่าพระยะโฮวามองว่าคู่สมรสต้องซื่อสัตย์ต่อกัน (อ่านปฐมกาล 39:8, 9) เขาบอกภรรยาโปทิฟาร์ว่า “จะให้ผมทำเรื่องชั่ว ๆ อย่างนี้ได้ยังไง? มันเป็นการทำบาปต่อพระเจ้า” นี่แสดงให้เห็นว่าเขาคิดเหมือนพระ ยะโฮวา แล้วเราล่ะ? เราจะทำอย่างไรถ้าเพื่อนในที่ทำงานมาจีบเรา? หรือเราจะทำอย่างไรถ้ามีคนส่งข้อความลามกหรือรูปโป๊มาให้เราทางมือถือ? * ถ้าเราค้นคว้าไว้แล้วว่าพระยะโฮวาคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น คิดให้เหมือนพระองค์ และตัดสินใจไว้แล้วว่าถ้าเจอแบบนี้เราจะทำอย่างไร มันก็จะง่ายขึ้นที่เราจะซื่อสัตย์ภักดีต่อพระยะโฮวาเสมอ
15. เราจะซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาเสมอเหมือนชาวฮีบรู 3 คนนั้นได้อย่างไร
15 อีกตัวอย่างหนึ่งคือชาวฮีบรู 3 คนที่ชื่อชัดรัค เมชาค และอาเบดเนโก ตอนที่กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์สั่งให้พวกเขากราบไหว้รูปเคารพทองคำที่กษัตริย์สร้างขึ้น พวกเขาไม่ยอมทำ คำตอบที่ชัดเจนแสดงว่าพวกเขาคิดมาก่อนแล้วว่าอาจเกิดอะไรขึ้นบ้างถ้าพวกเขายังคงซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาต่อไป (อพยพ 20:4, 5; ดาเนียล 3:4-6, 12, 16-18) แล้วเราล่ะ? เราจะทำอย่างไรถ้าเจ้านายขอให้บริจาคเงินจัดงานฉลองเกี่ยวกับศาสนาเท็จ แทนที่จะรอให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นก่อน ดีกว่าที่จะคิดตั้งแต่ตอนนี้ว่าพระยะโฮวาคิดอย่างไร และพอเราเจอสถานการณ์นั้นจริง ๆ มันก็ง่ายกว่าที่เราจะพูดและทำสิ่งที่ถูกต้องเหมือนกับชาวฮีบรู 3 คนนั้น
16. การเข้าใจความคิดของพระยะโฮวาอย่างชัดเจนจะช่วยเราให้พร้อมอย่างไรเมื่อต้องเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน?
16 การคิดใคร่ครวญความคิดของพระยะโฮวายังช่วยให้เราซื่อสัตย์ภักดีต่อพระองค์เสมอเมื่อเราเจ็บป่วยฉุกเฉิน แน่นอนว่าเราตัดสินใจไว้แล้วว่าจะไม่เติมเลือด ไม่ว่าจะเป็นเลือดครบส่วนหรือส่วนประกอบหลัก 4 อย่างของเลือด (กิจการ 15:28, 29) แต่การรักษาบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเลือดซึ่งคริสเตียนแต่ละคนต้องตัดสินใจเองโดยอาศัยหลักการในคัมภีร์ไบเบิลล่ะ เวลาไหนเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะตัดสินใจเรื่องนี้? จะเป็นตอนที่เราอยู่โรงพยาบาล แล้วอาจมีอาการปวดมากและถูกกดดันให้รีบตัดสินใจไหม? ไม่ใช่เวลานั้นแน่ ๆ! แต่เวลาที่เหมาะคือตอนนี้ที่เราจะค้นคว้าและกรอกเอกสารทางการแพทย์ให้ครบถ้วน เช่น หนังสือมอบอำนาจและแสดงความจำนงเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล (ไม่รับการถ่ายเลือด) ซึ่งเราต้องบอก ชัดเจนว่าเราต้องการอะไร นอกจากนั้น เราต้องคุยกับหมอให้เรียบร้อยก่อนด้วย *
17-19. ทำไมการเรียนรู้ความคิดของพระยะโฮวาในเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่ตอนนี้ถึงสำคัญ? ขอยกตัวอย่าง
17 ตัวอย่างสุดท้ายเป็นตัวอย่างของพระเยซู ตอนที่เปโตรแนะนำอย่างไม่ฉลาดว่า “อาจารย์ สงสารตัวเองเถอะ” พระเยซูตอบเปโตรไปทันที นี่แสดงให้เห็นว่าท่านคิดใคร่ครวญเรื่องนี้มาเยอะว่าพระยะโฮวาอยากให้ท่านทำอะไร และท่านคงคิดใคร่ครวญเรื่องคำพยากรณ์เกี่ยวกับชีวิตและการตายของท่าน การคิดใคร่ครวญเรื่องทั้งหมดนี้ทำให้พระเยซูมีกำลังที่จะซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาเสมอและให้ชีวิตของท่านเป็นเครื่องบูชาไถ่กับเราทุกคน—อ่านมัทธิว 16:21-23
18 ทุกวันนี้ พระยะโฮวาอยากให้เราเป็นเพื่อนกับพระองค์และทุ่มเททำงานประกาศข่าวดีอย่างเต็มที่ (มัทธิว 6:33; 28:19, 20; ยากอบ 4:8) แต่ก็อาจมีบางคนที่เจตนาดีพยายามทำให้เราท้อใจเหมือนที่เปโตรทำกับพระเยซู เช่น เจ้านายอาจเสนองานที่ได้เงินเยอะขึ้น แต่คุณอาจต้องทำงานเยอะขึ้นด้วยซึ่งมันทำให้คุณไปประชุมหรือไปประกาศได้น้อยลง หรือถ้าคุณยังเรียนหนังสืออยู่ แล้วครูที่โรงเรียนเสนอโอกาสให้คุณไปเรียนที่อื่นแต่ทำให้ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ คุณจะทำอย่างไร? ตอนที่คุณเจอสถานการณ์แบบนั้น คุณยังต้องใช้เวลาอธิษฐาน ค้นคว้า และคุยกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลก่อนตัดสินใจไหม? อย่ารอให้ต้องเจอกับสถานการณ์แบบนั้นก่อน แล้วค่อยมาทำสิ่งเหล่านี้ ดีกว่าที่คุณจะรู้ตั้งแต่ตอนนี้ว่าพระยะโฮวาคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้และคิดให้เหมือนพระองค์ แล้วพอคุณเจอเข้าจริง ๆ คุณก็จะไม่รู้สึกว่าสิ่งนั้นมันล่อใจคุณ และคุณรู้ว่าจะต้องทำอะไรเพราะได้ตัดสินใจไว้แล้วว่าจะใช้ชีวิตเพื่อรับใช้พระยะโฮวา
19 คุณอาจคิดถึงสถานการณ์อื่น ๆ ที่ทดสอบความซื่อสัตย์ภักดีแบบไม่ทันตั้งตัว ถึงอย่างนั้น เราคงเตรียมตัวไม่ได้ทุกเรื่องแน่ ๆ แต่ถ้าเราใช้เวลาศึกษาส่วนตัวและคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับความคิดของพระยะโฮวาไว้ก่อน เราก็จะนึกเรื่องที่เคยเรียนออกและรู้ว่าควรทำอย่างไรในสถานการณ์นั้น ๆ ดังนั้น ตอนที่เราศึกษาส่วนตัว เราควรดูว่าพระยะโฮวาคิดอย่างไรในเรื่องต่าง ๆ พยายามมองเหมือนที่พระองค์มอง และคิดว่าการทำอย่างนี้จะช่วยเราตัดสินใจอย่างฉลาดอย่างไรตั้งแต่ตอนนี้และในวันข้างหน้า
ความคิดของพระยะโฮวาและอนาคตของคุณ
20, 21. (ก) ในโลกใหม่เราจะมีอิสระแบบไหนซึ่งทำให้มีความสุข? (ข) เราต้องทำอะไรเพื่อชีวิตเราจะมีความสุขในตอนนี้?
20 เราทุกคนอยากให้โลกใหม่มาเร็ว ๆ พวกเราส่วนใหญ่จะได้อยู่ตลอดไปในโลกที่เป็นสวนอุทยาน เมื่อรัฐบาลของพระเจ้ามาปกครองเราจะมีอิสระจริง ๆ เราจะไม่ต้องเจอความเจ็บปวดและความทุกข์อีกต่อไปเหมือนอย่างที่เราเจอในตอนนี้ และเราก็ยังเลือกสิ่งที่ชอบและอยากทำได้
21 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะมีอิสระแบบไม่จำกัด คนที่อ่อนน้อมถ่อมตนจะยังต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยอาศัยกฎหมายของพระยะโฮวาและความคิดของพระองค์ ซึ่งจะทำให้มีความสุขมากและชีวิตจะมีแต่ความสงบสุข (สดุดี 37:11) แต่ก่อนที่จะถึงเวลานั้น ตอนนี้เราก็สามารถมีความสุขได้ถ้าเราคิดเหมือนพระยะโฮวา
^ วรรค 12 การเต้นบนตักคือการเต้นที่นักเต้นนั่งอยู่บนตักของลูกค้าและเต้นแบบยั่วยวน นักเต้นอาจแต่งตัวเกือบเปลือย ผู้ดูแลในประชาคมจะมองว่าเรื่องนี้เป็นการผิดศีลธรรมทางเพศและต้องมีการตั้งคณะกรรมการตัดสินความหรือไม่นั้นต้องดูเป็นกรณีไป คริสเตียนที่เคยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ควรขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแล—ยากอบ 5:14, 15
^ วรรค 14 เซ็กซ์ติงคือการส่งข้อความลามก รูปโป๊ หรือคลิปลามกทางโทรศัพท์มือถือ ผู้ดูแลจะมองว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการตัดสินความหรือไม่ต้องดูเป็นกรณีไป ตำรวจเคยตั้งข้อหาคนที่เกี่ยวข้องกับเซ็กซ์ติงว่าเป็นผู้ล่วงละเมิดทางเพศแม้คนนั้นเป็นวัยรุ่นด้วยซ้ำ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ให้อ่านบทความ “หนุ่มสาวถามว่า ฉันควรรู้อะไรเกี่ยวกับ “เซ็กซ์ติง” (Sexting)?” ในเว็บไซต์ jw.org (ไปที่คำสอนของคัมภีร์ไบเบิล > วัยรุ่น) หรืออ่านบทความ “ช่วยลูกวัยรุ่นรู้เท่าทันพิษภัยของเซ็กซ์ทิง” ในตื่นเถิด! พฤศจิกายน 2013 หน้า 4-5
^ วรรค 16 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยคุณในเรื่องนี้ได้ ให้ดูคำแนะนำต่าง ๆ เช่น จากหนังสือทำอย่างไรให้พระเจ้ารักเราเสมอ หน้า 246-249