บทความศึกษา 48
มีสติอยู่เสมอตอนที่ถูกทดสอบความภักดี
“ขอให้มีสติในทุกสถานการณ์”—2 ทธ. 4:5
เพลง 123 ทำตามระเบียบขององค์การพระเจ้าด้วยความภักดี
ใจความสำคัญ a
1. การมีสติหมายถึงอะไร? (2 ทิโมธี 4:5)
ถ้ามีบางอย่างทำให้เรารู้สึกแย่หรือไม่สบายใจ นั่นอาจเป็นการทดสอบความภักดีของเราว่าเราจะยังไว้วางใจพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์อยู่ไหม แล้วเราควรทำยังไง? เราต้องมีสติ ตื่นตัว และมีความเชื่อที่มั่นคง (อ่าน 2 ทิโมธี 4:5) การมีสติหมายถึงมีใจสงบ พยายามคิดอย่างมีเหตุผล และมองเรื่องต่าง ๆ อย่างที่พระยะโฮวามอง ถ้าเราทำแบบนั้น เราจะควบคุมอารมณ์ได้ และอารมณ์ความรู้สึกจะไม่มีผลต่อความคิดของเรา
2. เราจะคุยเรื่องอะไรกันในบทความนี้?
2 ในบทความที่แล้ว เราได้คุยกันเกี่ยวกับ 3 อย่างนอกประชาคมที่อาจทำให้เราไม่ไว้วางใจและภักดีต่อพระยะโฮวากับองค์การของพระองค์ ในบทความนี้เราจะมาดู 3 อย่างในประชาคมที่อาจทดสอบความภักดีของเรา คือ (1) ตอนที่เรารู้สึกว่าพี่น้องพูดหรือทำไม่ดีกับเรา (2) ตอนที่เราถูกสั่งสอน และ (3) ตอนที่เรารู้สึกยากที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงในองค์การ ให้เรามาดูว่าถ้าเราเจอเรื่องเหล่านี้ เราจะยัง “มีสติ” และภักดีต่อพระยะโฮวากับองค์การของพระองค์ได้ยังไง?
ตอนที่เรารู้สึกว่าพี่น้องพูดหรือทำไม่ดีกับเรา
3. ถ้ามีพี่น้องพูดไม่ดีหรือทำไม่ดีกับเรา เราอาจรู้สึกยังไง?
3 คุณเคยเจอพี่น้องหรือแม้แต่ผู้ดูแลพูดไม่ดีหรือทำไม่ดีกับคุณไหม? จริง ๆ แล้วพวกเขาคงไม่ได้ตั้งใจทำให้คุณเจ็บ (รม. 3:23; ยก. 3:2) แต่บางครั้งมันอาจทำให้คุณรู้สึกแย่มาก คุณอาจคิดแต่เรื่องนั้นจนนอนไม่หลับ แล้วก็เริ่มสงสัยว่า ‘ถ้าพี่น้องทำกันแบบนี้ นี่จะใช่องค์การของพระเจ้า จริง ๆ ไหม?’ แต่คุณอย่าลืมว่าซาตานอยากให้เราคิดอย่างนี้แหละ เพราะความคิดอย่างนี้จะทำให้เราห่างจากพระยะโฮวาและไม่ไว้วางใจองค์การของพระองค์ (2 คร. 2:11) ถ้าเราเจอเรื่องแบบนี้ เราควรทำยังไง?
4. โยเซฟทำยังไงตอนที่พวกพี่ ๆ ทำไม่ดีกับเขา? และเราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของเขา? (ปฐมกาล 50:19-21)
4 อย่าเก็บความโกรธ ตอนที่โยเซฟเป็นวัยรุ่น พวกพี่ ๆ ทำกับเขาไม่ดีมาก ๆ พวกเขาเกลียดโยเซฟ และพี่บางคนอยากฆ่าโยเซฟด้วยซ้ำ (ปฐก. 37:4, 18-22) ในที่สุด พวกพี่ ๆ ก็ขายโยเซฟไปเป็นทาส โยเซฟต้องทนความลำบากถึง 13 ปี นั่นอาจทำให้เขาเริ่มสงสัยว่าพระยะโฮวารักเขารึเปล่าหรือพระองค์ทิ้งเขาแล้วไหม แต่เรารู้ว่าโยเซฟไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาไม่ได้คิดในแง่ลบ เขาไม่ได้เก็บความโกรธหรือรู้สึกเจ็บใจไม่หาย เขามีใจสงบ มีสติ และคิดอย่างมีเหตุผล นอกจากนั้น ถึงเขามีโอกาสที่จะแก้แค้น เขาก็ไม่ได้ทำอย่างนั้น เขาให้อภัยและแสดงความรักกับพวกพี่ ๆ ทุกคน (ปฐก. 45:4, 5) ที่โยเซฟทำแบบนั้นได้ก็เพราะเขาไม่ได้เอาแต่มองที่ปัญหาของเขา แต่เขามองที่ภาพใหญ่ เขาพยายามคิดว่าพระยะโฮวาอยากให้เขาทำอะไร (อ่านปฐมกาล 50:19-21) บทเรียนสำหรับเราคืออะไร? ถ้าพี่น้องพูดหรือทำไม่ดีกับคุณ อย่าโมโหพระยะโฮวาหรือสงสัยว่าพระองค์ทิ้งคุณรึเปล่า แต่ให้คิดว่าพระองค์กำลังช่วยคุณยังไงให้อดทนได้ นอกจากนั้น ให้คุณพยายามให้อภัยพี่น้องคนนั้นและแสดงความรักกับเขา “เพราะความรักปิดคลุมบาปไว้มากมาย”—1 ปต. 4:8
5. มิคิวแอสทำยังไงตอนที่รู้สึกว่าพี่น้องทำไม่ดีกับเขา?
5 ให้เรามาดูตัวอย่างของพี่น้องมิคิวแอส bที่เป็นผู้ดูแลในอเมริกาใต้ เพื่อนผู้ดูแลบางคนทำบางอย่างที่แย่มาก ๆ กับเขา เขาเล่าว่า “ผมไม่เคยรู้สึกเครียดขนาดนี้มาก่อน ผมรู้สึกแย่สุด ๆ ผมนอนไม่หลับ ผมร้องไห้เพราะไม่รู้จะทำยังไงดี” แต่มิคิวแอสก็พยายามควบคุมอารมณ์ เขาสงบใจและมีสติ เขาอธิษฐานถึงพระยะโฮวาบ่อยมาก ขอพระองค์ให้พลังบริสุทธิ์และกำลังกับเขาเพื่อจะอดทนได้ และเขายังหาข้อมูลจากหนังสือขององค์การด้วยว่ามีอะไรที่จะช่วยเขาได้ บทเรียนสำหรับเราคืออะไร? ถ้าคุณรู้สึกว่าพี่น้องพูดหรือทำบางอย่างไม่ดีกับคุณ ให้พยายามใจเย็น ๆ พยายามควบคุมอารมณ์ อย่าเพิ่งคิดลบ พี่น้องคนนั้นอาจเจอเรื่องอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาทำแบบนั้นกับคุณ ให้คุณอธิษฐานถึงพระยะโฮวา ขอพระองค์ให้ช่วยคุณมองเรื่องนั้นในมุมมองของคนนั้นและเข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น การทำแบบนี้อาจช่วยคุณให้คิดได้ว่าพี่น้องไม่ได้ตั้งใจทำให้คุณเจ็บ และช่วยให้คุณมองข้ามและให้อภัยเขาได้ง่ายขึ้น (สภษ. 19:11) ให้จำไว้ว่าพระยะโฮวาเห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับคุณและพระองค์จะให้กำลังเพื่อคุณจะอดทนได้—2 พศ. 16:9; ปญจ. 5:8
ตอนที่เราถูกสั่งสอน
6. ทำไมถึงสำคัญที่จะมองว่าพระยะโฮวารักเราพระองค์ถึงสั่งสอนเรา? (ฮีบรู 12:5, 6, 11)
6 ตอนที่เราถูกพระยะโฮวาสั่งสอนเราอาจรู้สึกเจ็บมาก แต่ถ้าเราคิดวนเวียนอยู่แค่ว่าเรารู้สึกแย่ขนาดไหน เราอาจจะไม่ยอมรับการสั่งสอน รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม หรือรู้สึกว่าเราถูกสั่งสอนแรงเกินไป ผลก็คือเราจะไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่สำคัญมาก นั่นก็คือการมองว่าพระยะโฮวารักเรา พระองค์ถึงสั่งสอนเรา (อ่านฮีบรู 12:5, 6, 11) ถ้าเราปล่อยให้อารมณ์ ความรู้สึกมีผลกับความคิดของเรา เราก็กำลังเปิดช่องให้ซาตานเล่นงานเรา มันอยากให้เราไม่ยอมรับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ มันอยากให้เราห่างจากพระยะโฮวาและห่างจากพี่น้องในประชาคม ถ้าคุณกำลังได้รับการสั่งสอน คุณควรทำยังไง?
7. (ก) อย่างที่เราเห็นในภาพ หลังจากที่เปโตรได้รับการสั่งสอนจากพระยะโฮวาแล้ว พระองค์ใช้เขายังไงบ้าง? (ข) คุณได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของเปโตร?
7 ยอมรับการสั่งสอนแล้วเปลี่ยนแปลงตัวเอง พระเยซูสั่งสอนเปโตรต่อหน้าอัครสาวกคนอื่นหลายครั้ง (มก. 8:33; ลก. 22:31-34) เปโตรต้องรู้สึกอายแน่ ๆ แต่เขาก็ยังคงภักดีต่อพระเยซู เปโตรยอมรับการสั่งสอนและเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง พระยะโฮวาก็เลยให้รางวัลที่เขาภักดีและให้หน้าที่รับผิดชอบสำคัญหลายอย่างกับเขาในประชาคม (ยน. 21:15-17; กจ. 10:24-33; 1 ปต. 1:1) เราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของเปโตร? เราจะทำให้ตัวเราเองและคนอื่นได้ประโยชน์ถ้าเราไม่ได้คิดแค่ว่าเราอายขนาดไหนตอนที่ได้รับการสั่งสอน ให้เรายอมรับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา แล้วเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้าเราทำแบบนั้น พระยะโฮวาก็จะใช้เรามากขึ้น และเราก็จะเป็นประโยชน์กับพี่น้อง
8-9. หลังจากเบอร์นาโด้ได้รับการสั่งสอน ตอนแรกเขารู้สึกยังไง? แต่อะไรช่วยเขาให้มีความคิดที่ถูกต้อง?
8 ขอให้คิดถึงตัวอย่างของพี่น้องเบอร์นาโด้จากโมซัมบิก เขาถูกปลดออกจากการเป็นผู้ดูแล ตอนแรกเขารู้สึกยังไง? เขาบอกว่า “ผมโกรธมากเพราะผมไม่ชอบที่ได้รับการสั่งสอนแบบนี้” เขากังวลว่าพี่น้องในประชาคมจะมองเขายังไง เขายอมรับว่า “ผมต้องใช้เวลา 2-3 เดือนกว่าจะมีความคิดที่ถูกต้องและไว้วางใจพระยะโฮวากับองค์การของพระองค์อีกครั้ง” แล้วอะไรช่วยเบอร์นาโด้ให้มีความคิดที่ถูกต้อง?
9 เบอร์นาโด้พยายามปรับความคิดของตัวเอง เขาบอกว่า “ตอนที่ผมเป็นผู้ดูแล ผมใช้ฮีบรู 12:7 เพื่อช่วยคนอื่นให้มีความคิดที่ถูกต้องต่อการสั่งสอนของพระยะโฮวา ตอนนี้ผมก็เลยถามตัวเองว่า ‘ใครบ้างที่ต้องเอาข้อคัมภีร์นี้มาใช้? ผู้รับใช้ของพระเจ้าทุกคนรวมทั้งตัวผมด้วยไม่ใช่เหรอ?’ จากนั้นเบอร์นาโด้ก็พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อจะกลับมาไว้วางใจ พระยะโฮวาและองค์การของพระองค์อีกครั้ง เขาอ่านคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นและคิดใคร่ครวญมากขึ้น นอกจากนั้น ถึงเขาจะกังวลว่าพี่น้องจะมองเขายังไง เขาก็ยังทำงานรับใช้กับพี่น้องและออกความคิดเห็นในการประชุม ในที่สุดเขาก็ได้กลับมาเป็นผู้ดูแลอีก ถ้าคุณเป็นเหมือนเบอร์นาโด้ที่กำลังได้รับการสั่งสอน อย่าเอาแต่คิดว่าคุณอายขนาดไหน แต่ให้ยอมรับคำแนะนำ แล้วเปลี่ยนแปลงตัวเอง c (สภษ. 8:33; 22:4) ถ้าทำแบบนั้นคุณก็จะมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะให้รางวัลที่คุณภักดีต่อพระองค์และองค์การของพระองค์
ตอนที่เรารู้สึกยากที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงในองค์การ
10. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์การทดสอบความภักดีของชาวอิสราเอลบางคนยังไง?
10 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์การอาจทดสอบความภักดีของเรา ถ้าเราไม่ระวังเราอาจจะยอมให้เรื่องนี้มาทำให้เราห่างจากพระยะโฮวาได้ เช่น ขอให้คิดถึงกฎหมายของโมเสสที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชาติอิสราเอลซึ่งเป็นองค์การของพระเจ้าในสมัยนั้น ก่อนจะมีกฎหมายนี้หัวหน้าครอบครัวทำหน้าที่เป็นเหมือนปุโรหิตของครอบครัว คนที่เป็นพ่อจะสร้างแท่นบูชาและถวายเครื่องบูชาแทนสมาชิกคนอื่นในครอบครัว (ปฐก. 8:20, 21; 12:7; 26:25; 35:1, 6, 7; โยบ 1:5) แต่พอมีกฎหมายของโมเสส หัวหน้าครอบครัวจะไม่ได้ทำสิทธิพิเศษนี้อีกต่อไป พระยะโฮวาแต่งตั้งปุโรหิตที่มาจากตระกูลของอาโรนให้ทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชาแทน ถ้าหัวหน้าครอบครัวคนไหนที่ไม่ใช่ลูกหลานของอาโรนยังขืนทำหน้าที่ปุโรหิต เขาจะต้องถูกประหาร d (ลนต. 17:3-6, 8, 9) การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้โคราห์ ดาธาน อาบีรัม และหัวหน้าอีก 250 คนต่อต้านโมเสสกับอาโรนรึเปล่า? เราไม่รู้ (กดว. 16:1-3) แต่ไม่ว่าจะยังไง โคราห์กับพรรคพวกของเขาก็ไม่ได้ภักดีต่อพระยะโฮวา ดังนั้น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในองค์การเกิดขึ้นซึ่งมีผลต่อคุณโดยตรง คุณจะทำยังไง?
11. เราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของคนในตระกูลโคฮาท?
11 ให้ความร่วมมือกับการเปลี่ยนแปลงในองค์การ ในช่วงที่ชาวอิสราเอลเดินทางในที่กันดาร ตระกูลโคฮาทได้ทำงานมอบหมายหนึ่งที่สำคัญมาก นั่นคือ ทุกครั้งที่ชาวอิสราเอลต้องย้ายค่ายพัก คนในตระกูลโคฮาทบางคนจะได้หามหีบสัญญาของพระยะโฮวาต่อหน้าชาวอิสราเอลทั้งชาติ เป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ! (กดว. 3:29, 31; 10:33; ยชว. 3:2-4) แต่พอชาวอิสราเอลเข้าไปในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายหีบนั้นบ่อย ๆ ดังนั้น ในสมัยที่โซโลมอนเป็นกษัตริย์ คนในตระกูลโคฮาทบางคนเลยได้รับมอบหมายให้เป็นนักร้อง บางคนก็เป็นคนเฝ้าประตู ส่วนบางคนก็เป็นผู้ดูแลที่เก็บของ (1 พศ. 6:31-33; 26:1, 24) แต่ไม่มีที่ไหนในคัมภีร์ไบเบิลที่บอกว่าพวกเขาบ่นหรือเรียกร้องที่จะทำงานที่มีหน้ามีตากว่านี้เพราะพวกเขาเป็นตระกูลที่เคยทำหน้าที่สำคัญมาก่อน บทเรียนสำหรับเราคืออะไร? ไม่ว่าองค์การจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ขอให้คุณให้ความร่วมมือและเต็มใจสนับสนุนไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะส่งผลต่อคุณโดยตรงหรือเปล่า ให้มีความสุขกับงาน มอบหมายที่คุณได้รับไม่ว่าจะเป็นงานอะไร จำไว้ว่างานมอบหมายที่คุณได้รับไม่ใช่ตัวกำหนดคุณค่าของคุณ พระยะโฮวามองว่าการเชื่อฟังของคุณมีค่ามากกว่างานมอบหมาย—1 ซม. 15:22
12. ซาอีน่ารู้สึกยังไงตอนที่ถูกเปลี่ยนงานมอบหมาย?
12 ให้เรามาดูตัวอย่างของซาอีน่าซึ่งเป็นพี่น้องหญิงจากตะวันออกกลาง เธอรักงานที่เบเธลมาก หลังจากที่ทำงานในเบเธลมากกว่า 23 ปี เธอก็ถูกเปลี่ยนงานมอบหมายให้ไปทำงานในเขตประกาศ เธอเล่าว่า “ฉันช็อคไปเลย ฉันรู้สึกไร้ค่าและเอาแต่ถามตัวเองว่า ‘ฉันทำอะไรผิด?’” เธอยิ่งรู้สึกแย่ตอนที่พี่น้องบางคนในประชาคมบอกเธอว่า “เธอคงไม่ดีพอล่ะมั้ง องค์การก็เลยไม่ให้เธอทำงานในเบเธลต่อ” ซาอีน่าเสียใจไปพักใหญ่ เธอร้องไห้ทุกคืน แต่เธอก็บอกว่า “ฉันไม่เคยสงสัยเลยว่าพระยะโฮวากับองค์การของพระองค์รักฉันหรือเปล่า” ซาอีน่าทำยังไงเพื่อให้ตัวเองมีใจสงบและมีความคิดที่ถูกต้อง?
13. ซาอีน่าเอาชนะความรู้สึกในแง่ลบได้ยังไง?
13 ซาอีน่าสามารถเอาชนะความรู้สึกในแง่ลบได้ เธอทำยังไง? เธออ่านบทความขององค์การที่ตรงกับปัญหาของเธอ เช่น บทความในหอสังเกตการณ์ 1 กุมภาพันธ์ 2001 เรื่อง “คุณสามารถรับมือกับความท้อแท้ได้!” บทความนั้นบอกว่ามาระโกซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลคงรู้สึกแย่ตอนที่เขาถูกเปลี่ยนงานมอบหมาย ซาอีน่าบอกว่า “ตัวอย่างของมาระโกเป็นเหมือนยาที่ช่วยเยียวยาความท้อแท้ของฉัน” และซาอีน่ายังพยายามสนิทกับเพื่อน ๆ เสมอ เธอไม่ได้แยกตัวอยู่คนเดียวและไม่ได้จมอยู่กับความรู้สึกสงสารตัวเอง เธอรู้ว่าพลังบริสุทธิ์ชี้นำการตัดสินใจต่าง ๆ ในองค์การและพี่น้องที่นำหน้าในองค์การและในประชาคมก็รักเธอมาก และเธอก็รู้ด้วยว่าองค์การของพระเจ้าจะต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อให้งานของพระยะโฮวาสำเร็จได้
14. พี่น้องวลาโด้ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอะไรขององค์การ? และอะไรช่วยเขาให้รับมือได้?
14 วลาโด้ผู้ดูแลที่อายุ 73 จากสโลวีเนียรู้สึกเครียดมากตอนที่องค์การให้มีการรวมประชาคมและหอประชุมที่เขาเคยไปก็ต้องถูกปิดลง เขาบอกว่า “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องสั่งปิดหอประชุมสวย ๆ ของเราด้วย ผมเสียใจมากเพราะเราเพิ่งปรับปรุงหอประชุม เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ผมเป็นช่างไม้และก็เป็นคนทำเฟอร์นิเจอร์ไม้บางชิ้นในหอประชุมด้วย แล้วไหนจะเรื่องการรวมประชาคมอีก คนสูงอายุอย่างเราต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่าง มันไม่ใช่ง่าย ๆ เลย” อะไรช่วยให้วลาโด้สนับสนุนการชี้นำขององค์การ? เขาบอกว่า “การยอมรับการเปลี่ยนแปลงขององค์การทำให้ได้พรเสมอ การเปลี่ยนแปลงที่เราเจอตอนนี้ช่วยเตรียมเราให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่าในอนาคต” ตอนนี้คุณกำลังรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการรวมประชาคมหรือถูกเปลี่ยนงานมอบหมายไหม? ขอให้มั่นใจว่าพระยะโฮวาเข้าใจว่าคุณรู้สึกยังไง และเมื่อคุณสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้และยังคงภักดีต่อพระยะโฮวากับองค์การของพระองค์เสมอ คุณจะได้รับพรแน่นอน—สด. 18:25
“มีสติในทุกสถานการณ์”
15. เมื่อเราเจอเรื่องที่รับมือได้ยากในประชาคม เราจะทำยังไงเพื่อจะมีสติในทุกสถานการณ์?
15 ยิ่งใกล้ถึงจุดจบของโลกชั่ว เราก็ยิ่งคาดหมายได้เลยว่าเราจะเจอเรื่องที่รับมือได้ยากในประชาคม และมันก็อาจทดสอบความภักดีของเราต่อพระยะโฮวา ดังนั้น ขอให้เรามีสติในทุกสถานการณ์ ถ้าคุณรู้สึกว่ามีพี่น้องพูดหรือทำไม่ดีกับคุณ อย่าเก็บความโกรธหรือรู้สึกเจ็บใจไม่หาย และถ้าคุณกำลังได้รับการสั่งสอน อย่าสนใจแค่ว่าคุณอายขนาดไหน ให้ยอมรับคำแนะนำแล้วเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเมื่อองค์การของพระยะโฮวามีการเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลต่อคุณโดยตรง ขอให้เต็มใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นและเชื่อฟังการชี้นำ
16. คุณจะไว้วางใจพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์ต่อ ๆ ไปได้ยังไง?
16 เมื่อความภักดีของคุณถูกทดสอบ คุณยังคงสามารถไว้วางใจพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์ได้ และเพื่อจะทำอย่างนั้นต่อ ๆ ไป คุณต้องมีสติซึ่งหมายถึงการมีใจสงบ พยายามคิดอย่างมีเหตุผล และมองเรื่องต่าง ๆ อย่างที่พระยะโฮวามอง ให้อ่านเรื่องราวของผู้รับใช้พระเจ้าในสมัยคัมภีร์ไบเบิลที่รับมือกับปัญหาคล้าย ๆ กับคุณและคิดใคร่ครวญตัวอย่างของพวกเขา ให้อธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา และอย่าแยกตัวจากพี่น้องในประชาคม ถ้าคุณทำแบบนี้ ไม่ว่าคุณจะเจอสถานการณ์อะไรในชีวิต ซาตานจะไม่สามารถทำให้คุณห่างจากพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์ได้เลย—ยก. 4:7
เพลง 126 ให้ตื่นตัว มั่นคง และเข้มแข็ง
a บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าไม่ง่ายที่จะภักดีต่อพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์ โดยเฉพาะถ้ามีบางอย่างเกิดขึ้นในประชาคมที่ทำให้เรารู้สึกแย่หรือไม่สบายใจ ในบทความนี้เราจะมาดู 3 อย่างที่อาจเกิดขึ้นและจะดูว่าเราต้องทำอะไรเพื่อจะภักดีต่อพระยะโฮวากับองค์การของพระองค์ต่อ ๆ ไป
b บางชื่อเป็นชื่อสมมุติ
c มีคำแนะนำเพิ่มเติมที่ดีมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทความ “คุณเคยรับใช้มาแล้วไหม? คุณจะรับใช้อีกได้ไหม?” ในหอสังเกตการณ์ 15 สิงหาคม 2009 หน้า 30
d กฎหมายของโมเสสบอกว่าถ้าหัวหน้าครอบครัวอยากจะฆ่าสัตว์เป็นอาหาร เขาต้องเอาสัตว์ตัวนั้นไปฆ่าตรงที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าบ้านของเขาอยู่ไกลมาก เขาก็ไม่ต้องไป—ฉธบ. 12:21