บทความศึกษา 20
จะปลอบโยนคนที่เคยถูกทำร้ายทางเพศได้อย่างไร?
“พระเจ้าที่คอยให้กำลังใจในทุกสถานการณ์ . . . ให้กำลังใจเราทุกครั้งที่เจอความยากลำบาก”—2 คร. 1:3, 4
เพลง 134 ลูกเป็นของขวัญจากพระเจ้า
ใจความสำคัญ *
1-2. (ก) ตัวอย่างอะไรที่แสดงว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่คนเราต้องการการปลอบโยนและสามารถปลอบโยนคนอื่นได้ด้วย? (ข) เด็กบางคนเจออะไรที่ทำให้เจ็บปวดมาก?
ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนคืออยากได้รับการปลอบโยน และคนเราก็สามารถปลอบโยนคนอื่นได้ดีด้วย เช่น เมื่อเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งวิ่งเล่นแล้วหกล้มหัวเข่าถลอก เขาวิ่งร้องไห้ไปหาพ่อแม่ ถึงพ่อแม่จะทำให้แผลหายไม่ได้ แต่พวกเขาจะปลอบลูก ถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้น เช็ดน้ำตาให้ลูก โอ๋ลูก และก็กอดลูก บางทีพ่อแม่อาจทำแผลให้ด้วย ไม่นานลูกก็หยุดร้องไห้และอาจถึงกับวิ่งเล่นเหมือนเดิม แล้วต่อมาแผลนั้นก็หาย
2 แต่บางครั้งเด็กอาจเจอความเจ็บปวดมากกว่านั้นหลายเท่า เด็กบางคนอาจถูกทำร้ายทางเพศ บางคนอาจเจอแบบนั้นแค่ครั้งเดียว แต่บางคนอาจถูกทำร้ายหลายครั้งนานหลายปี ไม่ว่าจะอย่างไร การถูกทำร้ายทางเพศทำให้เกิดบาดแผลทางอารมณ์ที่ฝังลึก บางครั้งคนทำผิดอาจถูกจับและถูกลงโทษ แต่บางครั้งคนเหล่านั้นอาจดูเหมือนรอดตัวไปได้ และถึงแม้คนทำผิดจะถูกลงโทษทันที แต่เด็กที่ถูกทำร้ายอาจยังคงรู้สึกเจ็บปวดและทุกข์ทรมานใจจนโตเป็นผู้ใหญ่
3. จาก 2 โครินธ์ 1:3, 4 พระยะโฮวาอยากให้แกะของพระองค์ได้รับอะไร? เราจะคุยกันเกี่ยวกับคำถามอะไร?
3 ถ้าพี่น้องคนหนึ่งถูกทำร้ายทางเพศตอนเป็นเด็กและยังคงรู้สึกเจ็บปวดและทุกข์ใจ อะไรจะช่วยเขาได้? (อ่าน 2 โครินธ์ 1:3, 4) เราแน่ใจว่าพระยะโฮวาอยากให้ผู้รับใช้ซึ่งเป็นแกะของพระองค์ได้รับความรักและการปลอบโยนที่จำเป็น ดังนั้น เราจะคุยกันเกี่ยวกับ 3 คำถามต่อไปนี้ (1) ทำไมคนที่เคยถูกทำร้ายทางเพศจำเป็นต้องได้รับการปลอบโยน? (2) ใครจะปลอบโยนเขา? และ (3) เราจะปลอบโยนเขาได้อย่างไร?
ทำไมเขาจำเป็นต้องได้รับการปลอบโยน?
4-5. (ก) ทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่จะรู้ว่าเด็กต่างจากผู้ใหญ่? (ข) การถูกทำร้ายทางเพศมีผลอย่างไรกับความไว้ใจที่เด็กมีต่อคนอื่น?
4 ผู้ใหญ่บางคนที่ถูกทำร้ายทางเพศตอนเป็นเด็กอาจจำเป็นต้องได้รับการปลอบโยนแม้เหตุการณ์เลวร้ายจะผ่านมาหลายปีแล้ว ทำไม? เพื่อจะเข้าใจเรื่องนี้ เราต้องรู้ก่อนว่าเด็กต่างจากผู้ใหญ่มาก เมื่อถูกทำร้ายทางเพศ ผลกระทบที่เกิดกับเด็กต่างกันมากกับผู้ใหญ่ ลองมาดูบางตัวอย่างด้วยกัน
5 ความไว้ใจและการสนิทกับคนที่เลี้ยงดูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก มันทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและทำให้เขาไว้ใจทุกคนที่รักเขา (สด. 22:9) แต่น่าเศร้า การทำร้ายทางเพศส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่บ้านและคนที่ทำร้ายก็คือคนในครอบครัวหรือคนที่สนิทกับครอบครัว เมื่อเด็กถูกทำร้ายทางเพศจากคนที่เขาไว้ใจ มันก็ยากที่เด็กจะไว้ใจใครได้อีกแม้จะผ่านไปหลายปี
6. ทำไมการทำร้ายทางเพศเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและเกิดผลเสียมาก?
6 เด็กไม่สามารถปกป้องตัวเองได้และการทำร้ายทางเพศเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและเกิดผลเสียมาก การบังคับขืนใจเด็กให้ทำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศก่อนที่เด็กจะพร้อมทั้งด้านความคิด ร่างกาย และอารมณ์ อาจทำให้เกิดผลเสียกับเด็กมาก เพราะเด็กยังไม่พร้อมสำหรับเรื่องนี้จนกว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ การถูกทำร้ายทางเพศอาจทำให้เด็กมีความคิดผิด ๆ ในเรื่องเพศ และทำให้เขารู้สึกไม่มีค่าและไม่ไว้ใจใคร
7. (ก) ทำไมเด็กถึงถูกหลอกมาทำร้ายทางเพศได้ง่าย ๆ และคนที่ทำร้ายเด็กอาจหลอกเด็กอย่างไร? (ข) การโกหกแบบนั้นมีผลกับเด็กอย่างไร?
7 เด็กยังไม่รู้จักคิดหาเหตุผลแบบผู้ใหญ่ ไม่รู้ว่าอะไรคืออันตรายที่ต้องหลีกเลี่ยง (1 คร. 13:11) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่เด็กบางคนจะถูกล่อลวงมาทำร้ายทางเพศ คนที่ตั้งใจทำร้ายเด็กอาจโกหกหลายอย่างที่เป็นอันตรายกับเด็กมาก เช่น เขาอาจบอกว่าเรื่องนี้เป็นความผิดของตัวเด็กเอง หรืออาจบอกให้เก็บเรื่องนี้เป็นความลับ เขาอาจบอกว่าไม่มีใครฟังและไม่มีใครเชื่อที่เด็กพูด หรืออาจบอกว่าคนที่รักกันก็ต้องทำแบบนี้ เด็กอาจเข้าใจผิดแบบนั้นนานหลายปีจนกว่าจะรู้ว่าทั้งหมดเป็นเรื่องโกหก และเมื่อโตขึ้น เด็กอาจยังรู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองสกปรก ไม่มีค่าพอที่จะได้รับความรักและการปลอบโยนจากใคร
8. ทำไมเรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาปลอบโยนคนที่เคยถูกทำร้ายได้?
8 ทั้งหมดนี้ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมคนที่ถูกทำร้ายทางเพศถึงยังคงเจ็บปวดและทุกข์ทรมานใจนานหลายปี การทำร้ายเด็กทางเพศเป็นอาชญากรรมที่ชั่วร้ายเลวทรามจริง ๆ! การที่เรื่องนี้เกิดขึ้นทั่วโลกแสดงว่าเราอยู่ในสมัยสุดท้ายที่ผู้คน “ไม่มีความรักตามธรรมชาติ” และ ‘คนชั่วจะยิ่งชั่วร้ายขึ้นเรื่อย ๆ’ (2 ทธ. 3:1-5, 13, เชิงอรรถ) ซาตานมันใช้วิธีที่สกปรกจริง ๆ! และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่มนุษย์กำลังทำสิ่งที่ซาตานต้องการ แต่พระยะโฮวาแข็งแกร่งและยิ่งใหญ่กว่าซาตานกับคนที่ทำตามมัน พระองค์รู้มาตลอดว่าซาตานทำอะไร เราเลยมั่นใจได้ว่าพระองค์รู้ว่าเราเป็นทุกข์ขนาดไหนและจะปลอบโยนเราอย่างที่จำเป็นต้องได้รับ เป็นพรสำหรับเราจริง ๆ ที่ได้รับใช้ “พระเจ้าที่คอยให้กำลังใจในทุกสถานการณ์ พระองค์ให้กำลังใจเราทุกครั้งที่เจอ ความยากลำบาก เราจึงให้กำลังใจคนที่เจอความยากลำบากทุกรูปแบบได้ เหมือนที่เราเองได้รับกำลังใจจากพระเจ้า” (2 คร. 1:3, 4) แต่พระยะโฮวาจะใช้ใครมาปลอบโยน?
ใครจะปลอบโยนเขาได้?
9. ตามที่บอกในสดุดี 27:10 พระยะโฮวาจะทำอย่างไรกับเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่?
9 คนที่เคยถูกทำร้ายทางเพศแต่พ่อแม่ไม่ได้ปกป้อง และคนที่เคยถูกคนใกล้ชิดทำร้ายทางเพศจำเป็นต้องได้รับการปลอบโยนเป็นพิเศษ ดาวิดผู้เขียนหนังสือสดุดีรู้ว่าพระยะโฮวาปลอบโยนเราได้ดีที่สุดและไว้ใจได้มากที่สุด (อ่านสดุดี 27:10) ดาวิดเชื่อว่าพระยะโฮวาจะเป็นพ่อของคนที่ไม่ได้รับการดูแลจากคนในครอบครัว พระยะโฮวาเป็นแบบนั้นได้อย่างไร? พระองค์ใช้ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ซึ่งเป็นพี่น้องของเรานั่นเอง พี่น้องร่วมความเชื่อเป็นเหมือนครอบครัวเรา เช่น พระเยซูเรียกคนที่นมัสการพระยะโฮวาร่วมกับท่านว่าเป็นพี่เป็นน้องและเป็นแม่ของท่าน—มธ. 12:48-50
10. อัครสาวกเปาโลพูดถึงงานของเขาที่เป็นผู้ดูแลอย่างไร?
10 ลองดูตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าพี่น้องในประชาคมเป็นเหมือนครอบครัว อัครสาวกเปาโลเป็นผู้ดูแลที่ซื่อสัตย์และทำงานหนัก เขาเป็นตัวอย่างที่ดีให้พี่น้อง เขาถึงกับได้รับการดลใจให้บอกคนอื่นว่าให้เลียนแบบเขาเหมือนที่เขาเลียนแบบพระคริสต์ (1 คร. 11:1) ขอสังเกตสิ่งที่เปาโลพูดถึงงานของเขาฐานะผู้ดูแลว่า “เราปฏิบัติกับพวกคุณด้วยความอ่อนโยนเหมือนแม่ลูกอ่อนทะนุถนอมลูกของตัวเอง” (1 ธส. 2:7) ผู้ดูแลที่รักและห่วงใยพี่น้องในทุกวันนี้ก็สามารถทำอย่างนั้นได้โดยใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อปลอบโยนคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้วยคำพูดที่อบอุ่นและอ่อนโยน
11. อะไรแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ผู้ดูแลเท่านั้นที่ปลอบโยนคนอื่นได้?
11 เฉพาะผู้ดูแลเท่านั้นไหมที่ปลอบโยนคนที่เคยถูกทำร้ายทางเพศได้? ไม่ใช่ จริง ๆ แล้วเราทุกคนมีหน้าที่ “ให้กำลังใจกันเสมอ” (1 ธส. 4:18) พี่น้องหญิงที่มีความเป็นผู้ใหญ่และมีความเชื่อเข้มแข็งอาจช่วยได้ มากในการให้กำลังใจพี่น้องหญิงที่จำเป็นต้องได้รับการปลอบโยน เป็นเรื่องที่เหมาะมากที่พระยะโฮวาเปรียบตัวพระองค์เองเป็นเหมือนแม่ที่ปลอบโยนลูก (อสย. 66:13) คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างมากมายของผู้หญิงที่ปลอบโยนคนที่กำลังทุกข์ใจ (โยบ 42:11) พระยะโฮวาดีใจที่เห็นพี่น้องหญิงคริสเตียนในทุกวันนี้ปลอบใจพี่น้องหญิงที่กำลังต่อสู้กับความรู้สึกเจ็บปวด ในบางกรณี ผู้ดูแลหนึ่งหรือสองคนอาจขอพี่น้องหญิงคนหนึ่งเป็นส่วนตัวให้ช่วยพี่น้องหญิงที่เคยถูกทำร้าย พี่น้องหญิงคนนั้นควรมีความเป็นผู้ใหญ่และมีความเชื่อเข้มแข็ง *
เราจะปลอบโยนเขาได้อย่างไร?
12. เราไม่ควรทำอะไร?
12 เมื่อเราพยายามจะช่วยพี่น้อง เราไม่ควรถามเรื่องส่วนตัวที่พวกเขาไม่อยากพูดถึง (1 ธส. 4:11) แต่เราสามารถทำอะไรได้เพื่อช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือและการปลอบโยน? ให้เราดู 5 วิธีจากคัมภีร์ไบเบิลที่เราเอาไปใช้ได้
13. จาก 1 พงศ์กษัตริย์ 19:5-8 ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาทำอะไรให้เอลียาห์? และเราจะเลียนแบบได้อย่างไร?
13 ลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเขา ตอนที่ผู้พยากรณ์เอลียาห์หนีเอาชีวิตรอดจากคนที่ต้องการฆ่าเขา เขารู้สึกทุกข์ใจมากจนอยากตาย พระยะโฮวาส่งทูตสวรรค์องค์หนึ่งไปหาเอลียาห์ ทูตสวรรค์ให้สิ่งที่จำเป็นกับเขาตอนนั้นพอดีนั่นคืออาหารร้อน ๆ และบอกให้เอลียาห์ลุกขึ้นมากิน (อ่าน 1 พงศ์กษัตริย์ 19:5-8) เรื่องนี้ทำให้เราเห็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่เราเอาไปใช้ได้ บางครั้ง การทำอะไรง่าย ๆ ให้คนที่ทุกข์ใจก็อาจช่วยได้มาก เช่น อาจพาไปกินข้าวหรือทำกับข้าวให้กิน ให้ของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ เขียนการ์ดหรือส่งข้อความให้กำลังใจ เพียงเท่านี้ก็ทำให้พี่น้องคนนั้นรู้ว่าเรารักและเป็นห่วงเขามาก ถ้าเรารู้สึกไม่สบายใจที่จะคุยเรื่องส่วนตัวของเขาหรือเรื่องที่ทำให้เขาสะเทือนใจ เราอาจแสดงว่าเป็นห่วงเขาได้โดยทำสิ่งดี ๆ เหล่านี้เพื่อเขา
14. เราได้เรียนอะไรจากเรื่องราวของเอลียาห์?
14 ทำให้คนที่ทุกข์ใจรู้สึกปลอดภัยและสบายใจ เรายังได้อีกบทเรียนหนึ่งจากเรื่องราวของเอลียาห์ พระยะโฮวาทำการอัศจรรย์โดยช่วยให้เอลียาห์สามารถเดินทางไกลไปที่ภูเขาโฮเรบได้ บางทีเอลียาห์อาจรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในภูเขาโฮเรบที่ห่างไกลซึ่งเป็นที่ที่พระยะโฮวาทำสัญญากับประชาชนของพระองค์เมื่อหลายร้อยปีก่อน เขาอาจรู้สึกปลอดภัยเพราะมันไกลจากคนที่อยากจะฆ่าเขา เราได้บทเรียนอะไร? ถ้าเราอยากปลอบโยนคนที่เป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายทางเพศ อย่างแรก เราต้องทำให้เขารู้สึกปลอดภัย เช่น ผู้ดูแลควรจำไว้ว่าพี่น้องหญิงบางคนที่รู้สึกเจ็บปวดอาจรู้สึกปลอดภัยและสบายใจกว่าถ้าได้คุยกันที่บ้าน ส่วนบางคนอาจรู้สึกสบายใจกว่าถ้าได้คุยกันที่หอประชุม
15-16. การเป็นผู้ฟังที่ดีหมายถึงอะไรบ้าง?
15 เป็นผู้ฟังที่ดี คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำที่ชัดเจนว่า “ทุกคนต้องไวในการฟัง ช้าในการพูด” (ยก. 1:19) เราเป็นผู้ฟังที่ดีไหม? เราอาจรู้สึกว่าการเป็นผู้ฟังที่ดีมันก็แค่ฟังคนหนึ่งพูด มองหน้าเขาโดยไม่ต้องพูดอะไร แต่จริง ๆ ไม่ใช่แค่นั้น ให้เรามาดูตัวอย่างของเอลียาห์ ในที่สุด เขาก็พูดเรื่องที่รู้สึกแย่ให้พระยะโฮวาฟังและพระองค์ก็ตั้งใจฟังจริง ๆ พระองค์เข้าใจดีว่าเอลียาห์กลัวและรู้สึกโดดเดี่ยวขนาดไหน เขาคิดว่าทุกอย่าง ที่เขาทำไม่มีประโยชน์อะไรเลย พระยะโฮวารักและเป็นห่วงเอลียาห์ พระองค์ช่วยเขาให้รับมือกับความรู้สึกเหล่านี้ พระองค์แสดงให้เห็นว่าฟังเอลียาห์จริง ๆ—1 พก. 19:9-11, 15-18
16 ตอนที่ฟัง เราจะแสดงอย่างไรว่าเรารักและเห็นอกเห็นใจเขา? บางครั้งคำพูดที่อบอุ่นและคิดอย่างรอบคอบไม่กี่คำอาจทำให้เขาเห็นว่าเรารู้สึกอย่างไร คุณอาจบอกว่า “ฉันเสียใจจริง ๆ ที่เธอเจอเรื่องแบบนี้ ไม่ควรมีเด็กคนไหนต้องเจอแบบนี้เลย” บางทีคุณอาจถามเขาหนึ่งหรือสองคำถามเพื่อให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจเพื่อนที่กำลังทุกข์ใจจริง ๆ คุณอาจถามว่า “ขอโทษนะ เธอช่วยอธิบายให้ฉันฟังอีกทีได้ไหม?” หรือ “เมื่อกี๊ที่เธอพูด ฉันเข้าใจว่า . . . ฉันเข้าใจถูกไหม?” คำพูดแบบนี้ทำให้เขามั่นใจว่าคุณกำลังตั้งใจฟังและพยายามจริง ๆ ที่จะเข้าใจเขา—1 คร. 13:4, 7
17. ทำไมเราควรอดทนและ “ช้าในการพูด”?
17 นอกจากนั้น ให้ “ช้าในการพูด” ด้วย ตอนที่เขาระบายให้คุณฟัง อย่าเพิ่งพูดแทรกและรีบให้คำแนะนำหรือแก้ไขความคิดของเขา ขอให้ฟังอย่างอดทน ตอนที่เอลียาห์ระบายความรู้สึกให้พระยะโฮวาฟัง เขาเครียดมากและโอดครวญกับพระองค์ หลังจากพระองค์ทำให้เอลียาห์มีความเชื่อเข้มแข็งขึ้นแล้ว เขาก็ยังโอดครวญและพูดประโยคเดิมอีก (1 พก. 19:9, 10, 13, 14) บทเรียนคืออะไร? บางครั้งคนที่ทุกข์ใจอาจระบายความรู้สึกโดยพูดเรื่องเดิมหลายครั้ง แต่เราจะอดทนฟังเหมือนพระยะโฮวา และแทนที่จะพยายามให้คำแนะนำ เราจะแสดงความรักและเห็นอกเห็นใจ—1 ปต. 3:8
18. การอธิษฐานกับคนที่ทุกข์ใจช่วยปลอบโยนเขาได้อย่างไร?
18 อธิษฐานจากหัวใจกับคนที่รู้สึกเจ็บปวด คนที่เศร้ามาก ๆ อาจอธิษฐานไม่ไหว เขาอาจคิดว่าไม่มีค่าพอที่จะอธิษฐานถึงพระยะโฮวา ถ้าเราอยากปลอบโยนเขา เราอาจอธิษฐานกับเขาและพูดชื่อเขาในยก. 5:16
คำอธิษฐาน เราอาจบอกพระยะโฮวาว่าเรากับพี่น้องทุกคนในประชาคมรักเขามาก เราอาจขอพระองค์ช่วยเขาให้รู้สึกสงบใจและสบายใจขึ้น คำอธิษฐานแบบนี้แหละที่ปลอบโยนได้มากจริง ๆ—19. อะไรช่วยเราให้พูดให้กำลังใจคนอื่นได้?
19 เลือกคำพูดที่ให้กำลังใจและช่วยให้รู้สึกดีขึ้น คุณต้องคิดก่อนพูด การพูดแบบไม่คิดทำให้เจ็บปวด แต่คำพูดดี ๆ จะช่วยเยียวยารักษาและทำให้รู้สึกดีขึ้น (สภษ. 12:18) ดังนั้น ให้อธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยเราใช้คำพูดที่อ่อนโยน ให้กำลังใจ และทำให้เขารู้สึกดีขึ้น จำไว้ว่าไม่มีคำพูดไหนมีพลังเท่ากับคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นถ้อยคำของพระยะโฮวา—ฮบ. 4:12
20. พี่น้องที่เคยถูกทำร้ายทางเพศอาจคิดว่าตัวเองเป็นแบบไหน? เราอยากให้พวกเขารู้อะไร?
20 พี่น้องบางคนที่เคยถูกทำร้ายทางเพศอาจถูกหลอกให้เชื่อว่าเขาสกปรก ไม่มีค่า ไม่มีใครรัก และไม่ดีพอที่จะมีใครมารัก มันเป็นคำโกหกที่เลวร้ายมาก! ให้คุณใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยให้เขาคิดว่าเขามีค่ามากในสายตาพระยะโฮวา (ดูกรอบ “ ข้อคัมภีร์ที่ให้การปลอบโยน”) ขอให้คิดถึงตอนที่ทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาให้กำลังใจผู้พยากรณ์ดาเนียลเมื่อเขารู้สึกอ่อนแอและทุกข์ใจมาก พระยะโฮวาอยากให้ดาเนียลผู้รับใช้ที่รักของพระองค์รู้ว่าเขามีค่ามาก (ดนล. 10:2, 11, 19) พี่น้องของเราที่ทุกข์ใจก็มีค่าสำหรับพระยะโฮวาเหมือนกัน
21. ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ทำผิดและไม่กลับใจ? ตอนนี้เราควรตั้งใจทำอะไร?
21 เมื่อเราปลอบโยนคนอื่น เราต้องทำให้เขารู้ว่าพระยะโฮวารักเขามาก นอกจากนั้น เราต้องไม่ลืมว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแห่งความยุติธรรม ไม่มีอะไรเล็ดลอดสายตาพระองค์ไปได้ พระองค์รู้ว่าใครถูกทำร้ายทางเพศแม้คนอื่นจะไม่รู้ และพระองค์จะทำให้แน่ใจว่าทุกคนที่ทำร้ายคนอื่นและไม่กลับใจจะต้องถูกลงโทษ (กดว. 14:18) แต่ตอนนี้ ขอให้เราทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแสดงให้คนที่ตกเป็นเหยื่อเห็นว่าเรารักเขา นอกจากนั้น เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจจริง ๆ ที่รู้ว่าพระยะโฮวาจะเยียวยาความเจ็บปวดของทุกคนที่เคยถูกซาตานกับโลกนี้ทำร้าย อีกไม่นานจะไม่มีใครจดจำและนึกถึงความเจ็บปวดที่ผ่านมาอีกเลย—อสย. 65:17
เพลง 109 รักสุดหัวใจ
^ วรรค 5 คนที่ถูกทำร้ายทางเพศตอนเป็นเด็กอาจต้องทนกับหลายสิ่งหลายอย่างแม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านไปหลายปีแล้ว บทความนี้จะช่วยเราให้เข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงรู้สึกอย่างนั้น ใครบ้างที่จะปลอบโยนคนเหล่านั้น และสุดท้ายเราจะคุยกันเกี่ยวกับบางวิธีที่จะปลอบโยนพวกเขาได้
^ วรรค 11 การที่พี่น้องที่เคยถูกทำร้ายทางเพศควรไปพบจิตแพทย์หรือไม่เป็นเรื่องส่วนตัว