บทความศึกษา 2
เรียนจากน้องชายของพระเยซู
“ผมยากอบ ทาสของพระเจ้าและของพระเยซูคริสต์ผู้เป็นนาย”—ยก. 1:1
เพลง 88 โปรดสอนให้รู้จักแนวทางของพระองค์
ใจความสำคัญ *
1. ยากอบโตมาในครอบครัวแบบไหน?
ยากอบน้องชายของพระเยซูโตมาในครอบครัวที่มีความเชื่อเข้มแข็ง * พ่อแม่ของเขาคือโยเซฟกับมารีย์รักพระยะโฮวามากและให้การนมัสการพระองค์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ไม่เพียงเท่านั้น ยากอบยังมีพี่ชายที่จะได้เป็นเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ด้วย ยากอบอยู่ในครอบครัวที่ดีจริง ๆ
2. อะไรทำให้ยากอบน่าจะชื่นชมและนับถือพระเยซูพี่ชายของเขา?
2 ยากอบน่าจะชื่นชมและนับถือพระเยซูพี่ชายของเขามาก (มธ. 13:55) เพราะอะไรเราถึงบอกแบบนั้น? เพราะพระเยซูรู้พระคัมภีร์ดีมาก ตอนที่ท่านอายุ 12 ท่านเคยทำให้พวกอาจารย์ในกรุงเยรูซาเล็มทึ่งมาแล้ว (ลก. 2:46, 47) นอกจากนั้น ยากอบอาจเคยทำงานไม้ด้วยกันกับพระเยซูพี่ชายของเขาด้วย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ยากอบก็ยิ่งต้องรู้จักพี่ชายดี พี่น้องนาธาน เอช. นอร์ชอบพูดว่า “การทำงานกับคนอื่นจะช่วยให้คุณรู้จักเขาดีขึ้น” * ยากอบน่าจะเห็น “พระเยซูเติบโตและเฉลียวฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ ท่านเป็นที่ชื่นชอบของพระเจ้าและของคนทั่วไปมากขึ้นทุกที” (ลก. 2:52) เราอาจคิดว่ายากอบน่าจะเป็นสาวกคนแรกของพระเยซู แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย
3. ยากอบเป็นยังไงช่วงที่พระเยซูรับใช้บนโลก?
3 ช่วงที่พระเยซูรับใช้บนโลก ยากอบยังไม่มาเป็นสาวก (ยน. 7:3-5) ที่จริงเขาอาจเป็นคนหนึ่งในครอบครัวของพระเยซูที่บอกว่าพระเยซู “เสียสติไปแล้ว” (มก. 3:21) และตอนที่พระเยซูตายบนเสาทรมาน ไม่มีตรงไหนบอกเลยว่ายากอบอยู่กับมารีย์แม่ของเขาในตอนนั้น—ยน. 19:25-27
4. เราจะคุยเรื่องอะไรในบทความนี้?
4 ต่อมา ยากอบได้มาเป็นสาวกของพระเยซูและเป็นผู้ดูแลที่ได้รับความนับถือในประชาคมคริสเตียน ในบทความนี้เราจะดูบทเรียน 2 เรื่องที่ได้จากยากอบคือ (1) ทำไมเราต้องถ่อมตัวเสมอ? (2) เราจะสอนคัมภีร์ไบเบิลให้เก่งได้ยังไง?
ถ่อมตัวเสมอเหมือนยากอบ
5. ยากอบเปลี่ยนไปยังไงหลังจากที่พระเยซูมาปรากฏตัวให้เขาเห็น?
5 ยากอบเป็นสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูตั้งแต่เมื่อไหร่? หลังจากที่พระเยซูตายไปแล้ว “ท่านได้มาปรากฏตัวให้ยากอบเห็นแล้วก็อัครสาวกทั้งหมด” (1 คร. 15:7) การพบกันครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตของยากอบไปเลย ตอนที่พวกอัครสาวกจะได้รับพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าที่ห้องชั้นบนในกรุงเยรูซาเล็ม ยากอบก็อยู่ที่นั่นด้วย (กจ. 1:13, 14) ต่อมา ยากอบได้มาเป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรก (กจ. 15:6, 13-22; กท. 2:9) และก่อนปี ค.ศ. 62 ยากอบได้รับการดลใจให้เขียนจดหมายถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิม ซึ่งจดหมายนั้นยังคงเป็นประโยชน์กับเราจนถึงทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะมีความหวังในสวรรค์หรือบนโลก (ยก. 1:1) โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ในศตวรรษแรกบอกว่า ยากอบถูกตัดสินประหารชีวิตตามคำสั่งของมหาปุโรหิตอานาเนียที่เป็นลูกชายของอันนาส ยากอบซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาจนจบชีวิตบนโลก
6. ยากอบไม่เหมือนกับผู้นำศาสนาในสมัยของเขายังไง?
6 ยากอบเป็นคนถ่อม ทำไมเราถึงบอกแบบนั้น? ให้เรามาดูว่ายากอบไม่เหมือนกับผู้นำศาสนาในสมัยของเขายังไงบ้าง พอยากอบเห็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าพระเยซูเป็นลูกของพระเจ้า เขาก็ถ่อมและยอมรับทันที ไม่เหมือนกับพวกปุโรหิตใหญ่ในกรุงเยรูซาเล็มเลย พวกเขารู้ว่าพระเยซูเป็นคนปลุกลาซารัสให้ฟื้นขึ้นจากตาย แต่แทนที่พวกเขาจะยอมรับว่าพระยะโฮวาส่งพระเยซูมา พวกเขากลับพยายามที่จะฆ่าท่านและจะฆ่าลาซารัสด้วย (ยน. 11:53; 12:9-11) นอกจากนั้น ตอนที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากตาย พวก ปุโรหิตใหญ่ก็พยายามปิดเรื่องนี้เอาไว้ไม่ให้ประชาชนรู้ (มธ. 28:11-15) เราเห็นชัดเจนเลยว่าพวกปุโรหิตใหญ่เป็นคนหยิ่ง พวกเขาเลยไม่ยอมรับเมสสิยาห์
7. ทำไมเราต้องไม่เป็นคนหยิ่ง?
7 บทเรียนคือ เราต้องไม่หยิ่งแต่เต็มใจให้พระยะโฮวาสอน เหมือนกับที่โรคบางโรคทำให้หลอดเลือดหัวใจแข็งซึ่งทำให้หัวใจเต้นไม่ปกติ ความหยิ่งก็จะทำให้ใจเราแข็งกระด้างและไม่ฟังพระยะโฮวา เราเห็นเรื่องนี้จากพวกฟาริสีที่หยิ่งมาก ใจพวกเขาแข็งกระด้าง ถึงพวกเขาจะเห็นหลักฐานที่ชัดเจนหลายอย่างว่าพระเยซูได้รับพลังบริสุทธิ์จากพระเจ้าและเป็นลูกของพระองค์ แต่พวกเขาก็ไม่ยอมรับท่าน (ยน. 12:37-40) ความหยิ่งอันตรายมากเพราะทำให้พวกเขาไม่ได้รับชีวิตตลอดไป (มธ. 23:13, 33) ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่พวกเราในทุกวันนี้จะฟังคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลและเปลี่ยนความคิด นิสัย และการตัดสินใจของเราให้เป็นไปตามการชี้นำของพลังบริสุทธิ์ (ยก. 3:17) เราเห็นว่ายากอบเป็นคนถ่อม เขาเต็มใจให้พระยะโฮวาสอน และต่อจากนี้เราจะเห็นว่าเพราะเขาเป็นคนถ่อมนี่แหละ เขาเลยสอนได้เก่งมาก
สอนเก่งเหมือนยากอบ
8. อะไรจะช่วยให้เราสอนเก่ง?
8 ยากอบไม่ได้มีการศึกษามากมายอะไร ผู้นำศาสนาคงมองเขาเหมือนกับที่มองเปโตรและยอห์นว่า “เป็นคนธรรมดาไม่มีการศึกษา” (กจ. 4:13) แต่ยากอบเป็นคนที่สอนเก่งมาก เรารู้อย่างนี้ได้จากตอนที่เราอ่านหนังสือที่เขาเขียน ถึงเราเองจะเรียนมาน้อย แต่เราก็สามารถสอนเก่งเหมือนยากอบได้ถ้าเราให้พลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาช่วยและได้รับการฝึกจากองค์การของพระองค์ ตอนนี้ให้เรามาดูว่ายากอบสอนเก่งยังไง และเราได้บทเรียนอะไรจากเขา
9. วิธีสอนของยากอบเป็นยังไง?
9 ยากอบไม่ได้ใช้คำยาก ๆ หรืออธิบายซับซ้อน นี่ทำให้คนที่ฟังยากอบรู้ว่าพวกเขาต้องทำอะไรและ จะทำยังไง อย่างเช่น ตอนที่ยากอบบอกว่าคริสเตียนต้องเต็มใจอดทนกับความไม่ยุติธรรมโดยที่ไม่รู้สึกแย่กับเรื่องนั้นมากเกินไป เขาก็สอนง่าย ๆ ยากอบบอกว่า “เราถือว่าคนที่อดทนก็มีความสุข พวกคุณเคยได้ยินเรื่องความอดทนของโยบและรู้ว่าตอนจบพระยะโฮวาให้อะไรกับเขาบ้าง นั่นแสดงว่าพระยะโฮวาเมตตาและมีความเห็นอกเห็นใจจริง ๆ” (ยก. 5:11) สังเกตว่าตอนที่ยากอบสอน เขาใช้พระคัมภีร์เป็นหลักเพื่อช่วยให้ผู้ฟังรู้ว่าถ้าพวกเขาซื่อสัตย์กับพระยะโฮวาเหมือนกับโยบ พวกเขาจะได้รับรางวัล และยากอบอธิบายเรื่องนี้ในแบบที่เข้าใจง่าย ๆ และใช้คำง่าย ๆ วิธีที่ยากอบสอนทำให้คนที่ฟังเขาสนใจที่พระยะโฮวาไม่ใช่สนใจที่ตัวเขา
10. เราจะเลียนแบบยากอบได้ยังไงตอนที่สอนคัมภีร์ไบเบิล?
10 บทเรียนคือ เราต้องสอนแบบง่าย ๆ และใช้คัมภีร์ไบเบิลเสมอ ตอนที่สอนคัมภีร์ไบเบิล เราไม่ควรพยายามทำให้นักศึกษาประทับใจที่เรารู้เยอะ แต่ให้เน้นว่าพระยะโฮวาฉลาดและรักเขามากขนาดไหน (รม. 11:33) เราจะทำแบบนั้นได้โดยใช้คัมภีร์ไบเบิลเสมอ ตัวอย่างเช่น แทนที่เราจะบอกนักศึกษาว่าถ้าเป็นเรา เราจะทำแบบนี้หรือทำแบบนั้น แต่เราจะช่วยนักศึกษาให้คิดถึงตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลและช่วยให้เขาเข้าใจว่าพระยะโฮวาคิดและรู้สึกยังไงในเรื่องนั้น เมื่อเราทำอย่างนี้ นักศึกษาจะเอาสิ่งที่เรียนไปใช้เพราะอยากทำให้พระยะโฮวาพอใจ ไม่ใช่อยากทำให้เราพอใจ
11. คริสเตียนบางคนในสมัยของยากอบมีปัญหาอะไร? และยากอบให้คำแนะนำพวกเขายังไง? (ยากอบ 5:13-15)
11 ยากอบมองตามความเป็นจริง ในจดหมายของยากอบ เราได้เห็นว่าเขารู้ว่าพี่น้องร่วมความเชื่อเจอปัญหาอะไร เขาเลยให้คำแนะนำที่ชัดเจนว่าพวกเขาควรทำยังไง เช่น คริสเตียนบางคนพอได้คำแนะนำมาก็ไม่ได้รีบทำตามทันที (ยก. 1:22) ส่วนบางคนก็ลำเอียงเข้าข้างคนรวย (ยก. 2:1-3) บางคนก็พูดถึงคนอื่นในแง่ไม่ดี (ยก. 3:8-10) แต่ยากอบก็ไม่ได้หมดหวังในตัวพี่น้องเหล่านี้ เขาให้คำแนะนำที่อ่อนโยนแต่ตรงไปตรงมา และยังแนะนำให้พวกเขาไปขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลด้วย—อ่านยากอบ 5:13-15
12. เราจะมองนักศึกษาในแง่บวกได้ยังไง?
12 บทเรียนคือ เราต้องมองตามความเป็นจริงและมองคนอื่นในแง่บวกเสมอ นักศึกษาของเราอาจทำตามคำแนะนำได้ยาก เขาอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเลิกนิสัยเก่า ๆ ที่ไม่ดีและมีนิสัยที่ดีแบบคริสเตียน (ยก. 4:1-4) เราต้องเป็นเหมือนยากอบ คือต้องกล้าบอกนักศึกษาว่ามีอะไรที่เขาต้องเปลี่ยนบ้างและต้องมองนักศึกษาในแง่บวกเสมอ เราต้องเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาชักนำคนถ่อมมาหาพระองค์ และพระองค์จะช่วยพวกเขาเปลี่ยนตัวเองได้—ยก. 4:10
13. อย่างที่บอกในยากอบ 3:2 ยากอบยอมรับอะไร?
13 ยากอบมองตัวเองอย่างถูกต้อง ยากอบไม่ได้คิดว่าการเป็นน้องชายของพระเยซูหรือการได้รับงานมอบหมายพิเศษทำให้เขาเป็นคนสำคัญหรืออยู่เหนือพี่น้องคนอื่น ๆ เขาเรียกเพื่อนร่วมความเชื่อว่า “พี่น้องที่รัก” (ยก. 1:16, 19; 2:5) ยากอบไม่พยายามทำให้พี่น้องคนอื่นรู้สึกว่าเขาสมบูรณ์แบบ แต่เขาถ่อมตัวและบอกว่า “เราทุกคนผิดพลาดกันอยู่บ่อย ๆ”—อ่านยากอบ 3:2
14. ทำไมเราต้องยอมรับว่าเราเองก็ทำผิดพลาดเหมือนกัน?
14 บทเรียนคือ เราต้องจำไว้ว่าเราทุกคนเป็นคน บาป อย่าคิดว่าเราดีกว่านักศึกษาของเรา เพราะถ้าเราทำให้นักศึกษาคิดว่าเราไม่เคยทำอะไรผิดพลาดเลย เขาก็จะคิดว่าคงไม่มีทางทำตามที่พระเจ้าบอกได้ แต่ถ้าเรายอมรับว่าบางครั้งเราก็รู้สึกไม่ง่ายที่จะทำตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลและบอกนักศึกษาด้วยว่าพระยะโฮวาช่วยเรายังไงให้ทำได้ เราก็จะช่วยให้นักศึกษาเห็นว่าเขาก็สามารถรับใช้พระยะโฮวาได้เหมือนกัน
15. ยากอบใช้ตัวอย่างแบบไหน? (ยากอบ 3:2-6, 10-12)
15 ยากอบใช้ตัวอย่างที่เข้าถึงหัวใจ เรารู้ว่าที่ยากอบสอนเก่งก็เพราะพลังบริสุทธิ์ช่วยเขาแน่ ๆ แต่ไม่ใช่แค่นั้น เขาคงพยายามศึกษาว่าพระเยซูพี่ชายของเขาใช้ตัวอย่างยังไงและเลียนแบบท่าน ตัวอย่างในจดหมายของยากอบเป็นตัวอย่างที่ง่ายและทำให้ผู้ฟังรู้ว่าเขาควรทำอะไร—อ่านยากอบ 3:2-6, 10-12
16. ทำไมเราต้องใช้ตัวอย่างที่เข้าถึงหัวใจ?
16 บทเรียนคือ เราต้องใช้ตัวอย่างที่เข้าถึงหัวใจ ถ้าเราใช้ตัวอย่างที่เหมาะ นักศึกษาจะไม่ใช่แค่ฟังผ่าน ๆ แต่เขาจะนึกภาพออกด้วย และนี่จะช่วยให้เขาจำความจริงสำคัญในคัมภีร์ไบเบิลได้ พระเยซูใช้ตัวอย่างเก่งมากและยากอบก็เลียนแบบพี่ชายของเขา ให้เรามาดูตัวอย่างหนึ่งที่ยากอบใช้ และดูว่าทำไมตัวอย่างนี้ถึงดีมาก
17. ทำไมตัวอย่างที่อยู่ในยากอบ 1:22-25 ถึงดีมาก?
17 อ่านยากอบ 1:22-25 ยากอบใช้ตัวอย่างเรื่องกระจก ตัวอย่างนี้มีหลายจุดที่ดีมาก ตอนแรกเขาคิดเกี่ยวกับเรื่องที่จะสอน เขาจะสอนว่าถ้าเราอยากได้ประโยชน์จากการอ่านพระคัมภีร์ เราต้องไม่ใช่แค่อ่านเท่านั้นแต่ต้องทำตามด้วย แล้วยากอบก็เลือกตัวอย่างผู้ชายที่ส่องกระจก ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายมาก มันทำให้ผู้ฟังรู้ว่าไม่ฉลาดเลยถ้าคนนั้นส่องกระจกแล้วเห็นว่าเสื้อผ้าหน้าผมของตัวเองมีอะไรที่ไม่เรียบร้อยแต่เขาไม่ยอมจัดการ เราก็เหมือนกันถ้าเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลแล้วเห็นว่ามีนิสัยอะไรบางอย่างที่เราต้องเปลี่ยนแต่เราไม่ยอมเปลี่ยน เราก็เป็นคนไม่ฉลาด
18. ตอนที่ใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเราต้องทำอะไร 3 อย่าง?
18 ตอนที่คุณใช้ตัวอย่าง ให้คุณเลียนแบบยากอบ โดยทำ 3 อย่างต่อไปนี้ (1) เลือกตัวอย่างที่เข้ากับเรื่องที่จะสอน (2) เลือกตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่าย ๆ และ (3) ใช้ตัวอย่างที่ช่วยให้ผู้ฟังรู้ว่าเขาต้องทำอะไร ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะใช้ตัวอย่างอะไรก็ให้ค้นดูในดัชนีสรรพหนังสือของวอชเทาเวอร์ (ภาษาอังกฤษ หัวข้อ Illustrations) แล้วคุณก็จะเห็นตัวอย่างเยอะแยะมากมายที่คุณจะเอาไปใช้ได้ แต่ขอให้จำไว้ว่าตัวอย่างก็เป็นเหมือนกับไมโครโฟน ไมโครโฟนจะทำให้เสียงของคุณดังขึ้น ตัวอย่างเปรียบเทียบก็จะทำให้บทเรียนที่คุณต้องการจะสอนชัดขึ้น ดังนั้นคุณต้องใช้ตัวอย่างเพื่อขยายจุดสำคัญเท่านั้นไม่ใช่ขยายเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่สำคัญ จำไว้ว่าที่เราอยากจะสอนเก่งไม่ใช่เพราะเราอยากจะให้คนอื่นมาสนใจเรา แต่เป็นเพราะว่าเราอยากจะช่วยให้หลายคนได้เข้ามาอยู่ในครอบครัวที่มีความสุขของพระยะโฮวา
19. เราจะแสดงยังไงว่าเรารักพี่น้องของเรา?
19 ถึงเราจะไม่ได้มีพี่ชายที่สมบูรณ์แบบเหมือนกับพระเยซู แต่เราก็มีสิทธิพิเศษได้รับใช้พระยะโฮวาด้วยกันกับพี่น้องของเราที่เป็นครอบครัวใหญ่ ให้เราแสดงความรักโดยใช้เวลากับพวกเขา เรียนจากพวกเขา และรับใช้ด้วยกันกับพวกเขา ถ้าเราพยายามคิด ทำ และสอนเหมือนกับยากอบ เราก็ทำให้พระยะโฮวาได้รับเกียรติ และเราก็จะช่วยคนที่มีหัวใจดีให้เข้ามาสนิทกับพ่อในสวรรค์ที่รักเรา
เพลง 114 “ขอให้อดทนรอ”
^ ยากอบโตมาในบ้านเดียวกับพระเยซู เขาเลยรู้จักลูกชายของพระเจ้าคนนี้ดีกว่าใคร ในบทความนี้เราจะได้เรียนเกี่ยวกับชีวิตและคำสอนของยากอบน้องชายของพระเยซูซึ่งเป็นเสาหลักของประชาคมคริสเตียนรุ่นแรก
^ ในบทความนี้เราจะเรียกยากอบว่าเป็นน้องชายของพระเยซู แม้ว่าจริง ๆ แล้ว เขาจะเป็นน้องคนละพ่อกับท่าน และยากอบคนนี้เป็นคนที่เขียนหนังสือยากอบ
^ นาธาน เอช. นอร์เป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครอง เขาจบชีวิตบนโลกในปี 1977
^ คำอธิบายภาพ ยากอบยกตัวอย่างของเปลวไฟเล็ก ๆ เพื่อทำให้ผู้คนเข้าใจว่าการพูดไม่ดีอันตรายขนาดไหน ตัวอย่างแบบนี้ทำให้คนเข้าใจได้ง่าย ๆ