คุณรู้ไหม?
คนในสมัยคัมภีร์ไบเบิลนับปีและเดือนกันยังไง?
ในสมัยที่ชาวอิสราเอลอยู่ในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา เดือนแรกของปีตามปฏิทินทางโลกหรือปีที่ใช้กันทั่วไปตรงกับช่วงการไถดินและหว่านพืชซึ่งตรงกับเดือนกันยายน/ตุลาคมในปัจจุบัน
ปฏิทินจันทรคติมี 12 เดือน แต่ละเดือนจะมี 29 หรือ 30 วันเลยทำให้ปีจันทรคติสั้นกว่าปีสุริยคติ และเพื่อให้ปีปฏิทิน 2 อย่างนี้มีช่วงเวลาที่ตรงกันจึงมีการเพิ่มวันหรือเพิ่มเดือนในปีจันทรคติเป็นบางครั้งบางคราว เช่น ในช่วงปลายปี นี่เลยทำให้ช่วงเวลาต่าง ๆ ในปฏิทินจันทรคติตรงกับช่วงการทำการเกษตรในรอบปี เช่น การไถดิน หว่านพืช และเก็บเกี่ยว
แต่พอถึงสมัยของโมเสส พระยะโฮวากำหนดปีตามปฏิทินทางศาสนาขึ้น และพระองค์บอกพวกเขาว่าเดือนแรกของปีต้องเริ่มต้นด้วยเดือนอาบีบซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเดือนนิสาน เดือนนี้ตรงกับเดือนมีนาคมหรือเมษายนของปีปัจจุบัน (อพย. 12:2; 13:4) ในเดือนนิสานมีการฉลองอย่างหนึ่งซึ่งชาวอิสราเอลจะถวายผลแรกของข้าวบาร์เลย์ให้กับพระยะโฮวา—อพย. 23:15, 16
นักวิชาการที่ชื่อเอมิล ชูเรอร์เขียนไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาวยิวในสมัยพระเยซูคริสต์ (175 ก่อน ค.ศ.–ค.ศ. 135 ) (ภาษาอังกฤษ) ว่า “การคำนวณว่าปีไหนควรเพิ่มเดือนเข้าไปไม่ใช่เรื่องยาก ปกติแล้วชาวยิวจะฉลองปัสกาในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงในเดือนนิสาน (14 นิสาน) วันนั้นจะต้องอยู่หลังวันวสันตวิษุวัต aเสมอ . . . พอถึงปลายปีพวกเขาจะคำนวณว่าวันที่ 14 นิสานของปีถัดไปจะมาก่อนช่วงวันวสันตวิษุวัตไหม ถ้ามาก่อน พวกเขาจะเพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน [เป็นเดือนที่ 13]”
พยานพระยะโฮวาใช้วิธีเดียวกันนี้เพื่อกำหนดวันประชุมอนุสรณ์ซึ่งจัดขึ้นในเดือนมีนาคมหรือเมษายนตรงกับวันที่ 14 เดือนนิสานตามปฏิทินฮีบรู จะมีการแจ้งวันประชุมอนุสรณ์ให้พยานพระยะโฮวาทั่วโลกทราบล่วงหน้า b
แล้วชาวอิสราเอลรู้ได้ยังไงว่าเมื่อไหร่จะสิ้นเดือน และเมื่อไหร่จะขึ้นเดือนใหม่? ทุกวันนี้เรารู้เรื่องนี้ได้ไม่ยากเพราะเราดูจากปฏิทินหรือดูจากมือถือได้ แต่ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลเรื่องนี้ไม่ง่ายเลย
คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าผู้คนในสมัยโนอาห์กำหนดให้ 1 เดือนมี 30 วันเสมอ (ปฐก. 7:11, 24; 8:3, 4) แต่ในสมัยของชาติอิสราเอล 1 เดือนไม่ได้มี 30 วันเสมอไป ในปฏิทินฮีบรูวันแรกของเดือนคือวันที่เห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรกหลังจากคืนเดือนมืด เลยทำให้ 1 เดือนในปฏิทินฮีบรูอาจมี 29 หรือ 30 วันก็ได้ตามการโคจรของดวงจันทร์
ครั้งหนึ่งดาวิดกับโยนาธานบอกว่า “พรุ่งนี้เป็นวันขึ้นเดือนใหม่” (1 ซม. 20:5, 18) นี่แสดงว่าตอนนั้นซึ่งเป็นศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสต์ศักราช ผู้คนคำนวณเรื่องเดือนกันอยู่แล้ว แล้วชาวยิวทั่วไปจะรู้ได้ยังไงว่าเมื่อไหร่จะเป็นวันขึ้นเดือนใหม่? หนังสือมิชนาห์ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายสืบปากและธรรมเนียมของชาวยิวให้เบาะแสบางอย่าง หนังสือนั้นบอกว่าหลังจากที่ชาวยิวกลับมาจากการเป็นเชลยที่บาบิโลน ศาลแซนเฮดริน (ศาลสูงของชาวยิว) มีธรรมเนียมจะประชุมกันในวันที่ 30 ของเดือนที่มีการฉลองเทศกาลของชาวยิว ซึ่งใน 1 ปีจะมี 7 เดือน พวกเขาจะประชุมกันเพื่อตัดสินว่าเดือนถัดไปจะเริ่มต้นในวันไหน แล้วศาลแซนเฮดรินอาศัยอะไรในการกำหนดวันขึ้นเดือนใหม่?
ในตอนค่ำก่อนที่ศาลแซนเฮดรินจะประชุมกัน พวกเขาจะให้ยามไปประจำอยู่ที่เนินเขาต่าง ๆ รอบกรุงเยรูซาเล็มเพื่อเฝ้าดูเสี้ยวแรกของดวงจันทร์ ถ้ายามสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรกได้ พวกเขาก็จะรีบแจ้งกับศาลแซนเฮดริน และถ้ามียามมารายงานมากพอว่าเห็นดวงจันทร์ ศาลแซนเฮดรินก็จะประกาศว่าวันนั้น
เป็นวันขึ้นเดือนใหม่ แต่ถ้ามีเมฆหรือหมอกเยอะจนไม่เห็นดวงจันทร์ล่ะ? พวกเขาก็จะประกาศว่าเดือนนั้นมี 30 วันตามปกติ และวันถัดไปเป็นวันขึ้นเดือนใหม่หนังสือมิชนาห์อธิบายว่าศาลแซนเฮดรินประกาศวันขึ้นเดือนใหม่โดยให้มีการจุดไฟบนภูเขามะกอกใกล้กรุงเยรูซาเล็ม แล้วก็จะมีการจุดไฟตามเนินเขาต่าง ๆ ทั่วอิสราเอลเพื่อแพร่กระจายข่าวนี้ออกไป สมัยต่อมามีการใช้วิธีส่งคนไปแจ้งข่าวแทน นี่ทำให้ชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม และชาวยิวที่อยู่ทั่วอิสราเอล รวมถึงชุมชนชาวยิวในประเทศต่าง ๆ รู้ว่าวันไหนคือวันขึ้นเดือนใหม่ นี่ทำให้พวกเขาสามารถฉลองเทศกาลต่าง ๆ ได้พร้อมกัน
ตารางปฏิทินฮีบรูในกรอบนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับเดือน เทศกาล และฤดูกาลต่าง ๆ ของชาวอิสราเอลมากขึ้น