บทความศึกษา 25
ผู้ดูแล ขอให้คุณเลียนแบบกิเดโอน
“ผมไม่มีเวลาพอจะเล่าต่อเกี่ยวกับกิเดโอน”—ฮบ. 11:32
เพลง 124 ภักดีเสมอไม่เปลี่ยนแปลง
ใจความสำคัญ a
1. อย่างที่บอกไว้ใน 1 เปโตร 5:2 ผู้ดูแลมีสิทธิพิเศษอะไร?
ผู้ดูแลในทุกวันนี้ได้รับมอบหมายจากพระยะโฮวาให้ดูแลแกะที่มีค่าของพระองค์ ผู้ดูแลที่ซื่อสัตย์เหล่านี้เห็นค่าสิทธิพิเศษที่ได้รับใช้พี่น้อง และพวกเขาพยายามที่จะเป็น “คนเลี้ยงแกะที่จะดูแล [พี่น้อง] จริง ๆ” (ยรม. 23:4; อ่าน 1 เปโตร 5:2) เราดีใจมากที่มีผู้ดูแลแบบนี้ในประชาคมของเรา
2. ผู้ดูแลบางคนอาจเจออะไรบ้าง?
2 ตอนที่ผู้ดูแลทำหน้าที่รับผิดชอบของพวกเขา พวกเขาอาจเจอเรื่องที่ไม่ง่ายหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือผู้ดูแลต้องทำงานหนักจริง ๆ เพื่อจะดูแลพี่น้องในประชาคม โทนี่ซึ่งเป็นผู้ดูแลในสหรัฐต้องเรียนรู้ที่จะเป็นคนเจียมตัวมากขึ้นตอนที่จะรับงานในประชาคม เขาบอกว่า “ตอนที่โควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ ๆ ผมพยายามทำงานหนักมากขึ้นเพื่อจะจัดการประชุมและการประกาศ แต่ไม่ว่าผมจะทำมากขนาดไหนมันก็ยังมีงานอีกเยอะที่ต้องทำ เลยทำให้ผมอ่านคัมภีร์ไบเบิล ศึกษาส่วนตัว และอธิษฐานน้อยลง” อีเลียร์ซึ่งเป็นผู้ดูแลจากประเทศคอซอวอเจอเรื่องยากอีกแบบหนึ่ง ตอนที่เขาอยู่ในเขตที่มีสงคราม เขารู้สึกยากที่จะทำตามคำแนะนำขององค์การ เขาบอกว่า “ตอนที่สำนักงานสาขามอบหมายให้ผมไปช่วยพี่น้องที่อยู่ในเขตอันตราย ผมรู้สึกกลัว มันยากจริง ๆ ที่จะแสดงความกล้าหาญ ผมคิดว่าคำแนะนำขององค์การมันไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่” ทิมซึ่งเป็นมิชชันนารีในประเทศแถบเอเชียรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากมากที่เขาจะทำงานทุกอย่างให้เสร็จได้ในแต่ละวัน เขาบอกว่า “บางครั้งผมรู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรงทั้งกายทั้งใจ” อะไรจะช่วยผู้ดูแลที่ต้องเจอเรื่องคล้าย ๆ กันนี้ให้รับมือได้?
3. เราทุกคนได้ประโยชน์อะไรจากตัวอย่างของผู้วินิจฉัยกิเดโอน?
3 ผู้ดูแลสามารถเรียนได้หลายอย่างจากผู้วินิจฉัยกิเดโอน (ฮบ. 6:12; 11:32) กิเดโอนได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้ดูแลและปกป้องคนของพระองค์ (วนฉ. 2:16; 1 พศ. 17:6) ผู้ดูแลในทุกวันนี้ก็เป็นเหมือนกิเดโอน พระยะโฮวามอบหมายให้พวกเขาดูแลคนของพระองค์ในช่วงที่ยากลำบากนี้ (กจ. 20:28; 2 ทธ. 3:1) พวกเขาสามารถเรียนจากตัวอย่างของกิเดโอนได้ในเรื่องความเจียมตัว ความถ่อม การเชื่อฟัง และความอดทน แต่ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ดูแลหรือไม่ เราก็ได้ประโยชน์จากเรื่องราวของกิเดโอนด้วย เราสามารถเรียนรู้ที่จะเห็นค่าผู้ดูแลของเรามากขึ้น และสนับสนุนพวกเขาที่ทำงานหนักเพื่อเราในประชาคม—ฮบ. 13:17
ตอนที่คุณรู้สึกว่ายากที่จะเป็นคนถ่อมและเจียมตัว
4. กิเดโอนแสดงความถ่อมและเจียมตัวยังไง?
4 กิเดโอนเป็นคนถ่อมและเจียมตัว b ตอนที่พระยะโฮวาให้ทูตสวรรค์มาบอกกิเดโอนว่าเขาถูกเลือกให้ช่วยชาวอิสราเอลให้รอดจากชาวมีเดียนที่แข็งแกร่ง กิเดโอนพูดด้วยความถ่อมว่า “วงศ์ตระกูลของผมก็เล็กที่สุดในตระกูลมนัสเสห์ แถมผมยังไม่ใช่คนโดดเด่นอะไรในบ้านของพ่อด้วย” (วนฉ. 6:15) กิเดโอนรู้สึกว่าเขาไม่เหมาะที่จะทำหน้าที่ที่พระเจ้ามอบหมายให้เขา แต่พระองค์รู้ว่าเขาทำได้ และเขาก็สามารถทำงานมอบหมายได้สำเร็จจริง ๆ เพราะพระยะโฮวาช่วยเขา
5. อะไรอาจทำให้ยากที่ผู้ดูแลจะเป็นคนถ่อมและเจียมตัว?
5 ผู้ดูแลพยายามเต็มที่ที่จะเป็นคนถ่อมและเจียมตัว (มคา. 6:8; กจ. 20:18, 19) พวกเขาจะไม่อวดความสามารถของตัวเองหรืออวดความสำเร็จ และเมื่อพวกเขาทำอะไรผิดพลาด พวกเขาก็จะไม่จมอยู่กับความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าเพราะทำงานออกมาไม่ดี ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็อาจไม่ง่ายที่ผู้ดูแลจะถ่อมและเจียมตัว ตัวอย่างเช่น เขาอาจรับงานมอบหมายเยอะมาก แต่พอต่อมาก็รู้สึกว่ายากที่จะทำให้เสร็จได้ทั้งหมด หรือเขาอาจได้รับคำชมจากคนอื่นหรือถูกคนอื่นว่า ถ้าผู้ดูแลเจอสถานการณ์แบบนั้น พวกเขาจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของกิเดโอน?
6. ผู้ดูแลจะเรียนอะไรได้จากความเจียมตัวของกิเดโอน? (ดูภาพด้วย)
6 ขอความช่วยเหลือ คนที่เจียมตัวจะรู้ขีดจำกัดของตัวเอง กิเดโอนก็เป็นแบบนั้น เพราะเขาเป็นคนเจียมตัว เขาเลยขอความช่วยเหลือจากคนอื่น (วนฉ. 6: 27, 35; 7:24) ผู้ดูแลที่ฉลาดจะทำเหมือนกัน โทนี่ซึ่งพูดถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “ผมมีนิสัยชอบรับงานเกินกว่าที่ตัวเองจะทำไหวเพราะผมถูกเลี้ยงดูมาแบบนี้ ผมเลยตัดสินใจเอาเรื่องความเจียมตัวมาคุยกันในการนมัสการประจำครอบครัว และถามภรรยาว่าเธอคิดยังไง คิดว่าผมเป็นคนเจียมตัวไหม ผมยังดูวีดีโอในเว็บไซต์ jw.org ด้วยที่ชื่อว่าเลียนแบบพระเยซูโดยฝึกสอน ไว้วางใจ และมอบอำนาจให้ผู้อื่น” โทนี่เริ่มขอให้พี่น้องคนอื่นช่วยงานของเขา ผลเป็นยังไง? เขาบอกว่า “งานในประชาคมก็มีคนทำจนเสร็จ และผมก็มีเวลามากขึ้นที่จะเสริมความเชื่อตัวเองให้เข้มแข็ง”
7. ถ้ามีคนมาว่าผู้ดูแล พวกเขาจะเลียนแบบกิเดโอนยังไง? (ยากอบ 3:13)
7 อย่าโมโหถ้ามีคนมาว่า อีกอย่างหนึ่งที่ผู้ดูแลอาจรู้สึกว่ายากที่จะเป็นคนถ่อมและเจียมตัวก็คือตอนที่พวกเขาถูกว่า ตัวอย่างของกิเดโอนช่วยในเรื่องนี้ได้ด้วย กิเดโอนรู้ดีว่าเขาเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบและทำผิดพลาดได้ ตอนที่คนในตระกูลเอฟราอิมมาว่าเขา เขาก็เลยไม่โกรธ เขาพูดดี ๆ กับคนเหล่านั้นด้วย (วนฉ. 8:1-3) กิเดโอนแสดงความถ่อมโดยตั้งใจฟังว่าคนเหล่านั้นโมโหเรื่องอะไร และเขาก็รู้วิธีพูดเพื่อทำให้คนในตระกูลเอฟราอิมรู้สึกดีขึ้น ผู้ดูแลที่ฉลาดจะเลียนแบบกิเดโอน แม้พี่น้องจะมาว่าพวกเขา แต่พวกเขาก็จะไม่โมโห พวกเขาจะตั้งใจฟังว่าพี่น้องรู้สึกยังไงและจะตอบพี่น้องดี ๆ ด้วย (อ่านยากอบ 3:13) ถ้าผู้ดูแลทำแบบนั้นก็จะทำให้ประชาคมสงบสุข
8. ถ้ามีคนมาชมผู้ดูแล พวกเขาควรทำยังไง? ขอยกตัวอย่าง
8 ให้ยกย่องพระยะโฮวา ตอนที่ชาวอิสราเอลยกย่องกิเดโอนที่เอาชนะชาวมีเดียนได้ เขาไม่อยากให้คนอื่นมายกย่องเขา แต่เขาบอกว่าพระยะโฮวาต่างหากที่ทำให้อิสราเอลชนะ (วนฉ. 8:22, 23) และผู้ดูแลจะเลียนแบบกิเดโอนได้ยังไง? เมื่อพวกเขาทำงานรับใช้ได้สำเร็จ พวกเขาควรยกย่องพระยะโฮวา (1 คร. 4:6, 7) ตัวอย่างเช่น ถ้ามีพี่น้องชมผู้ดูแลคนหนึ่งว่าสอนได้ดีสอนได้เก่ง เขาควรบอกว่าเรื่องที่เขาสอนมาจากคัมภีร์ไบเบิล หรือเขาอาจบอกว่าองค์การของพระยะโฮวาฝึกสอนเราทุกคนดีมาก บางครั้งผู้ดูแลอาจต้องคิดว่าเขากำลังทำให้คนอื่นยกย่องพระยะโฮวาหรือทำให้คนอื่นประทับใจในตัวเขา ให้เรามาดูตัวอย่างของผู้ดูแลที่ชื่อทิโมที ตอนที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลใหม่ ๆ เขาชอบบรรยายสาธารณะมาก เขาบอกว่า “ผมชอบใช้คำนำและตัวอย่างยาว ๆ ที่มีรายละเอียดเยอะ พี่น้องหลายคนเลยประทับใจและชอบมาชม แต่มันก็ทำให้พี่น้องสนใจที่ตัวผม แทนที่จะเป็นคัมภีร์ไบเบิลหรือสนใจที่พระยะโฮวา” ต่อมาทิโมทีรู้ว่าเขาต้องเปลี่ยนสไตล์การสอนเพื่อจะไม่ทำให้คนอื่นสนใจที่ตัวเขามากเกินไป (สภษ. 27:21) ผลเป็นยังไง? เขาบอกว่า “ตอนนี้พี่น้องหลายคนมาบอกว่าคำบรรยายของผมช่วยให้พวกเขาเอาชนะปัญหาได้ ช่วยให้พวกเขาอดทนความยากลำบาก หรือได้ใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้น มันเลยทำให้ผมมีความสุขมากกว่าเมื่อหลายปีก่อนตอนที่พวกเขามาชมเพราะประทับใจในตัวผม”
ตอนที่คุณรู้สึกว่ายากที่จะเชื่อฟังหรือกล้าหาญ
9. ทำไมถึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่กิเดโอนจะเชื่อฟังและกล้าหาญ? (ดูภาพหน้าปก)
9 หลังจากที่กิเดโอนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้วินิจฉัยนำหน้าชาวอิสราเอล เขาต้องเชื่อฟังและกล้าหาญ กิเดโอนได้รับงานมอบหมายที่อันตรายมาก นั่นคือให้ทำลายแท่นบูชาพระบาอัลซึ่งเป็นของพ่อเขา (วนฉ. 6:25, 26) นอกจากนั้น หลังจากกิเดโอนรวบรวมทหารได้ พระยะโฮวาก็สั่งให้เขาลดจำนวนทหารลงถึง 2 รอบ (วนฉ. 7:2-7) ในที่สุดพระองค์ก็สั่งให้เขาโจมตีศัตรูตอนกลางดึก—วนฉ. 7:9-11
10. ทำไมถึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ดูแลจะเชื่อฟัง?
10 ผู้ดูแลควร “พร้อมจะเชื่อฟัง” (ยก. 3:17) ผู้ดูแลที่เชื่อฟังจะพร้อมเสมอที่จะทำตามคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลและองค์การของพระยะโฮวา เขาเลยเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพี่น้องคนอื่น แต่บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำอย่างนั้น เช่น องค์การอาจมีคำแนะนำหลายอย่างและมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เขาเลยอาจรู้สึกว่ายากที่จะตามให้ทัน นอกจากนั้น เขาอาจสงสัยว่าคำแนะนำบางอย่างมันใช้ได้จริงไหมหรือเป็นคำแนะนำที่ฉลาดจริง ๆ ไหม หรือเขาอาจได้รับมอบหมายให้ทำงานที่อาจทำให้เขาต้องถูกจับ แล้วผู้ดูแลจะเลียนแบบการเชื่อฟังของกิเดโอนได้ยังไงเมื่อเจอสถานการณ์เหล่านี้?
11. ผู้ดูแลจะแสดงยังไงว่าเขาเชื่อฟัง?
11 ตั้งใจฟังการชี้นำและทำตาม พระยะโฮวาบอกวิธีที่กิเดโอนจะทำลายแท่นบูชาของพ่อเขา พระองค์ยังบอกว่าจะสร้างแท่นบูชาของพระองค์ที่ไหน และจะถวายสัตว์อะไรบ้างเป็นเครื่องบูชา กิเดโอนไม่ได้สงสัยคำแนะนำของพระยะโฮวา เขาทำตามทันที ทุกวันนี้ผู้ดูแลก็ได้รับคำแนะนำจากองค์การของพระยะโฮวาทางจดหมาย คำประกาศ และคู่มือต่าง ๆ ที่ช่วยให้พี่น้องทุกคนปลอดภัยและสนิทกับพระองค์มากขึ้น เรารักผู้ดูแลที่ทำตามคำแนะนำขององค์การอย่างซื่อสัตย์ เมื่อพวกเขาทำแบบนั้น พี่น้องทั้งประชาคมก็ได้ประโยชน์—สด. 119:112
12. ผู้ดูแลจะเอาคำแนะนำที่ฮีบรู 13:17 มาใช้ยังไงถ้าองค์การมีคำแนะนำให้เปลี่ยนแปลงวิธีทำงานบางอย่าง?
12 เต็มใจปรับเปลี่ยน ขอให้นึกถึงตอนที่พระยะโฮวาบอกให้กิเดโอนลดจำนวนทหารลงมากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ (วนฉ. 7:8) กิเดโอนอาจจะคิดว่า ‘ต้องทำถึงขนาดนี้เลยไหม? แล้วมันจะได้ผลเหรอ?’ ถึงจะเป็นอย่างนั้น เขาก็เชื่อฟังพระยะโฮวา ทุกวันนี้ผู้ดูแลก็เลียนแบบกิเดโอนได้โดยเชื่อฟังแม้ตอนที่องค์การจะบอกให้พวกเขาทำบางอย่างที่ต่างไปจากเดิม (อ่านฮีบรู 13:17) ตัวอย่างเช่น ในปี 2014 คณะกรรมการปกครองได้ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เงินสำหรับสร้างหอประชุมประชาคมและหอประชุมใหญ่ (2 คร. 8:12-14) เมื่อก่อนถ้าประชาคมไหนอยากสร้างหอประชุม ประชาคมนั้นก็กู้เงินจากองค์การมาสร้าง และหลังจากนั้นก็ต้องจ่ายเงินกู้คืน แต่ตอนนี้ถ้าประชาคมไหนมีความจำเป็นที่ต้องสร้างหอประชุมแม้จะไม่ค่อยมีเงินบริจาค องค์การก็จะให้เงินมาสร้างหอประชุมซึ่งมาจากเงินบริจาคของพี่น้องทุกประชาคมทั่วโลก ตอนที่โฮเซได้ยินการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ ตอนแรกเขาสงสัยว่าที่องค์การตัดสินใจแบบนี้มันจะดีจริง ๆ เหรอ เขาคิดว่า ‘ถ้าทำแบบนี้คงไม่มีโอกาสได้สร้างหอประชุมใหม่แม้แต่หลังเดียว และที่ประเทศเรา เขาไม่ทำกันแบบนี้หรอก’ แต่อะไรช่วยโฮเซให้สนับสนุนการตัดสินใจขององค์การในเรื่องนี้? เขาบอกว่า “สุภาษิต 3:5, 6 เตือนผมให้วางใจพระยะโฮวา และองค์การก็คิดถูกจริง ๆ เพราะทุกอย่างมันออกมาดีมาก ตอนนี้ไม่ใช่แค่สามารถสร้าง หอประชุมได้เยอะขึ้น แต่วิธีใหม่ที่องค์การใช้ทำให้ทุกคนทั่วโลกได้ประโยชน์ เพราะมันเป็น ‘การเฉลี่ยกัน’ อย่างที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้”
13. (ก) กิเดโอนมั่นใจในเรื่องอะไร? (ข) ผู้ดูแลจะเลียนแบบกิเดโอนได้ยังไง? (ดูภาพด้วย)
13 ทำตามความต้องการของพระยะโฮวาอย่างกล้าหาญ กิเดโอนเชื่อฟังพระยะโฮวาแม้เขาจะกลัวและต้องเสี่ยงอันตราย (วนฉ. 9:17) หลังจากที่พระยะโฮวาทำให้กิเดโอนมั่นใจแล้ว เขาก็รู้ว่าพระองค์จะช่วยเขาแน่ ๆ ให้ปกป้องคนของพระองค์ได้ ผู้ดูแลที่อยู่ในประเทศที่งานของเราถูกสั่งห้ามก็เลียนแบบกิเดโอน พวกเขานำหน้าในการประชุมและการประกาศอย่างกล้าหาญแม้จะถูกขู่ว่าจะโดนจับ โดนสอบสวน ตกงาน หรือโดนทำร้ายร่างกาย c ในช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ผู้ดูแลก็ต้องกล้าหาญมากกว่านั้นอีกเพื่อจะเชื่อฟังคำสั่งที่อาจทำให้เขาต้องเสี่ยงอันตราย คำแนะนำเหล่านั้นอาจเกี่ยวข้องกับการประกาศข่าวสารที่เป็นเหมือนลูกเห็บ และอาจเป็นคำแนะนำที่ช่วยให้เรารอดชีวิตตอนที่โกกแห่งมาโกกมาโจมตีคนของพระยะโฮวา—อสค. 38:18; วว. 16:21
ตอนที่คุณรู้สึกว่ายากที่จะอดทน
14. ทำไมถึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่กิเดโอนจะอดทน?
14 กิเดโอนเป็นผู้วินิจฉัย เขาเลยต้องทำงานหนักมาก ตอนที่เขาทำสงครามกับชาวมีเดียนตอนกลางคืนจนพวกนั้นหนีไป กิเดโอนก็ไล่ตามไปตั้งแต่หุบเขายิสเรเอลไปจนถึงแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งระหว่างทางอาจมีต้นไม้และพุ่มไม้หนาแน่นด้วย (วนฉ. 7:22) พอไปถึงแม่น้ำจอร์แดน กิเดโอนหยุดแค่นั้นไหม? ไม่เลย ถึงเขากับทหารอีก 300 คนจะเหนื่อยมากแต่ก็ยังข้ามแม่น้ำจอร์แดนและไล่ตามไป ในที่สุดพวกเขาก็ไล่ตามชาวมีเดียนทันและเอาชนะพวกนั้นได้—วนฉ. 8:4-12
15. ทำไมบางครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ดูแลจะอดทน?
15 บางครั้งผู้ดูแลอาจรู้สึกหมดแรง เหนื่อยทั้งกายและใจเพราะดูแลประชาคมและครอบครัวของตัวเอง ถ้าเป็นอย่างนั้น ผู้ดูแลจะเลียนแบบกิเดโอนได้ยังไง?
16-17. (ก) อะไรช่วยกิเดโอนให้อดทนได้? (ข) ผู้ดูแลมั่นใจได้ในเรื่องอะไร? (อิสยาห์ 40:28-31) (ดูภาพด้วย)
16 มั่นใจว่าพระยะโฮวาจะให้กำลังกับคุณ กิเดโอนมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะให้กำลังกับเขาและช่วยเขาให้เข้มแข็ง และเขาก็ไม่ผิดหวังจริง ๆ (วนฉ. 6:14, 34) ครั้งหนึ่งกิเดโอนกับทหารของเขาวิ่งไล่ตามกษัตริย์มีเดียน 2 คนที่อาจขี่อูฐหนีไป และพระยะโฮวาก็ช่วยให้พวกเขาจับกษัตริย์ 2 องค์นั้นได้และชนะในการสู้รบ (วนฉ. 8:12, 21) ผู้ดูแลก็พึ่งพระยะโฮวาแบบกิเดโอนได้เพราะ “พระองค์ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยหรือหมดแรง” พระองค์จะให้กำลังกับผู้ดูแลเพื่อช่วยพวกเขาให้ทำงานมอบหมายได้ต่อ ๆ ไป—อ่านอิสยาห์ 40:28-31
17 ให้เรามาดูตัวอย่างของแมทธิวซึ่งเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการประสานงานกับโรงพยาบาล อะไรช่วยเขาให้อดทนได้? แมทธิวบอกว่า “ผมมีกำลังทนได้ทุกอย่างจริง ๆ เหมือนที่บอกไว้ในฟีลิปปี 4:13 หลายครั้งตอนที่ผมเหนื่อยทั้งกายและใจจนรู้สึกว่าทำต่อไม่ไหวแล้ว ผมจะอธิษฐานอย่างจริงจังขอพระยะโฮวาช่วยผมให้มีแรงและกลับมาเข้มแข็งได้อีกเพื่อผมจะช่วยพี่น้องต่อไปได้ ทุกครั้งที่อธิษฐานเสร็จ ผมรู้สึกเลยว่าพระยะโฮวาให้พลังของพระองค์กับผม ทำให้ผมมีเรี่ยวแรงอีกครั้งและทำให้ผมอดทนได้” ผู้ดูแลที่ทุ่มเทตัวเองก็เป็นเหมือนกับกิเดโอน พวกเขาอาจจะเจออุปสรรคหลายอย่างตอนที่เสียสละตัวเองเพื่อเอาใจใส่ฝูงแกะของพระเจ้า ก็จริงที่ผู้ดูแลต้องเจียมตัวและไม่ทำเกินขีดจำกัดของตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ แต่พวกเขาก็มั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาฟังคำอธิษฐานขอความช่วยเหลือของพวกเขา และพระองค์จะช่วยให้พวกเขามีกำลังที่จะอดทนได้—สด. 116:1; ฟป. 2:13
18. ผู้ดูแลจะเลียนแบบกิเดโอนได้ยังไงบ้าง?
18 ตัวอย่างของกิเดโอนให้บทเรียนที่ใช้ได้จริงและเหมาะกับเวลาสำหรับผู้ดูแลทุกคน ผู้ดูแลต้องแสดงความเจียมตัวและความถ่อมทั้งในเรื่องของการรับงานมอบหมายและตอนที่พวกเขาได้รับคำชมหรือถูกว่า พวกเขาต้องเชื่อฟังและกล้าหาญโดยเฉพาะเมื่อจุดจบของโลกใกล้จะมาถึงมากขึ้น นอกจากนั้น พวกเขาต้องมั่นใจว่าไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไร พระยะโฮวาจะให้กำลังกับพวกเขาและช่วยพวกเขาให้เข้มแข็ง เราทุกคนเห็นค่าผู้ดูแลที่ทำงานหนัก และเรารู้สึก “รักและนับถือคนอย่างนั้น”—ฟป. 2:29
เพลง 120 เลียนแบบความอ่อนโยนของพระคริสต์
a กิเดโอนได้รับการแต่งตั้งจากพระยะโฮวาให้นำหน้าและปกป้องชาวอิสราเอลในช่วงที่พวกเขาเจอความยากลำบากมาก เขาทำงานนี้อย่างซื่อสัตย์ตลอด 40 ปี แต่เขาก็เจอปัญหาหลายอย่างด้วย เราจะมาดูกันว่าตัวอย่างของเขาช่วยผู้ดูแลในทุกวันนี้ยังไงตอนที่ต้องรับมือกับเรื่องที่ไม่ง่าย
b ความถ่อมและความเจียมตัวคล้ายกันมาก ถ้าเราเป็นคนเจียมตัว เราจะไม่มองว่าตัวเองสำคัญเกินไป เราจะรู้ขีดจำกัดของตัวเองว่าเราทำอะไรไม่ได้บ้าง และถ้าเราเป็นคนถ่อม เราจะมองว่าคนอื่นดีกว่าตัวเอง (ฟป. 2:3) ปกติแล้ว คนที่เจียมตัวจะเป็นคนถ่อมด้วย
c ดูบทความ “นมัสการพระยะโฮวาต่อไปแม้ถูกสั่งห้าม” ในหอสังเกตการณ์ กรกฎาคม 2019 หน้า 10-11 ข้อ 10-13