บทความศึกษา 26
เตรียมพร้อมสำหรับวันของพระยะโฮวาเสมอ
“วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนขโมยที่มาตอนกลางคืน”—1 ธส. 5:2
เพลง 143 ให้ขยันทำงาน เฝ้าระวัง และรอคอยต่อไป
ใจความสำคัญ a
1. เราต้องทำอะไรเพื่อจะรอดในวันของพระยะโฮวา?
คำว่า “วันของพระยะโฮวา” ในคัมภีร์ไบเบิลหมายถึงตอนที่พระยะโฮวาทำลายศัตรูของพระองค์และช่วยคนของพระองค์ให้รอด ในอดีตพระยะโฮวาทำลายบางชาติในวันของพระองค์ (อสย. 13:1, 6; อสค. 13:5; ศฟย. 1:8) แต่ในสมัยของเรา “วันของพระยะโฮวา” เริ่มต้นด้วยการเมืองทำลายบาบิโลนใหญ่และจบที่สงครามอาร์มาเกดโดน เพื่อที่เราจะรอดใน “วัน” ของพระยะโฮวาได้ เราต้องเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ พระเยซูสอนว่าเราต้อง “เตรียมพร้อม” สำหรับ “ความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่” ซึ่งหมายความว่าเราต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอด—มธ. 24:21; ลก. 12:40
2. ทำไมหนังสือ 1 เธสะโลนิกาถึงเป็นประโยชน์สำหรับเราในทุกวันนี้?
2 ตอนที่เปาโลได้รับการดลใจให้เขียนจดหมายฉบับแรกถึงพี่น้องคริสเตียนในเมืองเธสะโลนิกา เขาใช้ภาพเปรียบเทียบหลายอย่างเพื่อช่วยพี่น้องที่นั่นให้เตรียมพร้อมสำหรับวันของพระยะโฮวาเสมอ ถึงเปาโลรู้ว่าวันของพระยะโฮวายังไม่มาในตอนนั้น แต่เขาก็ยังอยากให้พี่น้องที่นั่นเตรียมตัวให้พร้อมเหมือนกับว่ามันจะมาถึงพรุ่งนี้ (2 ธส. 2:1-3) เราเองก็เอาคำแนะนำของเปาโลมาใช้ได้ด้วย ให้เรามาดูด้วยกันว่าเปาโลพูดถึงเรื่องต่อไปนี้ยังไง (1) วันของพระยะโฮวาจะมาถึงยังไง? (2) ใครจะไม่รอดในวันนั้น? และ (3) เราจะเตรียมตัวยังไงเพื่อจะรอดในวันนั้น?
วันของพระยะโฮวาจะมาถึงยังไง?
3. วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนขโมยที่มาตอนกลางคืนยังไง? (ดูภาพด้วย)
3 “เหมือนขโมยที่มาตอนกลางคืน” (1 ธส. 5:2) นี่เป็นภาพเปรียบเทียบอย่างแรกในภาพเปรียบเทียบ 3 อย่างที่เปาโลใช้เพื่อช่วยให้รู้ว่าวันของพระยะโฮวาจะมาถึงยังไง ขโมยมักจะชอบมาตอนกลางคืนและมาอย่างกะทันหันโดยที่เหยื่อไม่ทันรู้ตัว และพวกขโมยก็ชอบทำอะไรอย่าง รวดเร็ว วันของพระยะโฮวาก็จะมาอย่างกะทันหันเหมือนกันซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ตกใจ แม้แต่คริสเตียนแท้ก็อาจตกใจว่าทำไมสิ่งต่าง ๆ ถึงเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ แต่พวกเราไม่เหมือนกับคนชั่ว พวกเราจะไม่ถูกทำลาย
4. วันของพระยะโฮวาเป็นเหมือนการเจ็บท้องใกล้คลอดยังไง?
4 “เหมือนความทุกข์ปวดร้าวของผู้หญิงตอนเจ็บท้องใกล้คลอด” (1 ธส. 5:3) ปกติแล้วผู้หญิงท้องไม่รู้เวลาแน่นอนว่าเธอจะคลอดลูกเมื่อไหร่ แต่เธอรู้ว่าลูกของเธอจะต้องคลอดออกมาแน่ ๆ เมื่อถึงตอนนั้นมันจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้เจ็บปวด และอะไรก็หยุดไม่ได้ เหมือนกันเราไม่รู้ว่าวันของพระยะโฮวาจะเริ่มต้นเมื่อไหร่ แต่เรารู้ว่าวันนั้นจะมาแน่ ๆ และพระเจ้าจะจัดการคนชั่วโดยที่พวกเขาไม่ทันรู้ตัว มันจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและไม่มีใครหนีพ้นได้
5. ความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่เป็นเหมือนตอนเช้าตรู่ยังไง?
5 เหมือนตอนเช้าตรู่ ในภาพเปรียบเทียบที่ 3 ของเปาโลเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เขาใช้ตัวอย่างของขโมยที่มาตอนกลางคืน แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าเปาโลเปรียบวันของพระยะโฮวาเป็นเหมือนกับตอนเช้าตรู่ (1 ธส. 5:4) ขโมยที่มาตอนกลางคืนจะเอาแต่สนใจกับการขโมยของจนไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปเร็วขนาดไหน แล้วตอนที่เขาไม่ทันระวังตัว แสงของดวงอาทิตย์ก็ส่องมาและทำให้เห็นว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ เหมือนกันความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่จะทำให้เห็นว่าใครยังอยู่ในความมืดและยังคงทำสิ่งที่พระเจ้าไม่ชอบ แต่เราไม่เหมือนกับคนชั่วเหล่านั้น เราเตรียมพร้อมเสมอโดยไม่ทำสิ่งที่พระยะโฮวาไม่ชอบและพยายามทำ “ความดีทุกอย่าง ความถูกต้อง และความซื่อตรง” (อฟ. 5:8-12) ตอนนี้ให้เรามาดูภาพเปรียบเทียบอีก 2 อย่าง ที่เปาโลใช้เมื่อพูดถึงว่าใครบ้างที่จะไม่รอดผ่านวันของพระยะโฮวา
ใครจะไม่รอดในวันของพระยะโฮวา?
6. คนส่วนใหญ่เป็นเหมือนคนที่หลับยังไง? (1 เธสะโลนิกา 5:6, 7)
6 “คนที่หลับ” (อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:6, 7) เปาโลเปรียบคนที่จะไม่รอดในวันของพระยะโฮวาเป็นเหมือนคนที่หลับ คนที่หลับไม่รู้ว่ารอบตัวเกิดอะไรขึ้นและไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปนานขนาดไหน เขาก็เลยไม่รู้ว่ามีอะไรสำคัญเกิดขึ้นบ้างและเขาก็ไม่ได้ลงมือทำอะไร คนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ก็เป็นเหมือนคนที่หลับ (รม. 11:8) พวกเขาไม่เชื่อว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกเป็นหลักฐานว่าเรากำลังอยู่ในสมัยสุดท้าย และความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่กำลังใกล้เข้ามาแล้ว ตอนที่มีเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เกิดขึ้นในโลก บางคนก็ตื่นตัวขึ้นมานิดหน่อยและสนใจข่าวสารเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าอยู่บ้าง แต่ก็กลับไปหลับเหมือนเดิมแทนที่จะตื่นตัวเสมอ และแม้บางคนจะเชื่อเรื่องวันพิพากษา แต่ก็รู้สึกว่าวันนั้นคงอีกนานกว่าจะมาถึง (2 ปต. 3:3, 4) ไม่ว่าผู้คนจะเป็นยังไง เรารู้ว่ายิ่งเวลาผ่านไปในแต่ละวันก็ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องตื่นตัว
7. คนที่พระเจ้าจะทำลายเป็นเหมือนคนที่เมายังไง?
7 “คนที่เมา” อัครสาวกเปาโลเปรียบคนที่จะถูกพระเจ้าทำลายเป็นเหมือนกับคนที่เมา คนที่เมาจะมีอาการตอบสนองช้าลงต่อสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว เขาตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ไม่ดีและลงมือทำอะไร ๆ ได้ช้า คล้ายกันเมื่อคนชั่วได้ยินคำเตือนของพระเจ้า พวกเขาไม่ยอมลงมือทำอะไร พวกเขาเลือกใช้ชีวิตในแบบที่จะทำให้ตัวเองถูกทำลาย แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกให้คริสเตียนมีสติเสมอ (1 ธส. 5:6) นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งบอกว่า “คนที่มีสติเป็นคนที่มีใจสงบ หนักแน่นมั่นคง และไม่ตื่นตระหนก เขาคิดเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนเลยทำให้เขาตัดสินใจได้ถูกต้อง” ทำไมเราต้องมีใจสงบและหนักแน่นมั่นคง? ก็เพื่อที่เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและปัญหาทางสังคมในทุกวันนี้ ยิ่งวันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา เราก็ยิ่งถูกกดดันให้เลือกข้างในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น แต่เราไม่ต้องกังวลว่าเราควรทำยังไง เพราะพลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาจะช่วยให้เรามีใจสงบและหนักแน่นมั่นคง และสามารถตัดสินใจได้อย่างฉลาด—ลก. 12:11, 12
เราต้องทำอะไรเพื่อจะพร้อมสำหรับวันของพระยะโฮวา?
8. ที่ 1 เธสะโลนิกา 5:8 ใช้ภาพเปรียบเทียบอะไรเกี่ยวกับเรื่องคุณลักษณะที่จะช่วยให้เราตื่นตัวและมีสติเสมอ? (ดูภาพด้วย)
8 ‘ใส่เสื้อเกราะป้องกันอก และสวมหมวกเกราะ’ เปาโลเปรียบเราเหมือนทหารที่ตื่นตัวและใส่ชุดเกราะพร้อมจะเข้าสู่สนามรบ (อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:8) ในช่วงสงคราม ทหารต้องเตรียมพร้อมเสมอที่จะสู้กับศัตรู เหมือนกันเราต้องเตรียมพร้อมสำหรับวันของพระยะโฮวาเสมอ โดยเอาความเชื่อและความรักใส่เป็นเสื้อเกราะป้องกันอกและเอาความหวังมาสวมเป็นหมวกเกราะ คุณลักษณะเหล่านี้ช่วยเราได้มากจริง ๆ
9. ความเชื่อช่วยปกป้องเรายังไง?
9 เสื้อเกราะช่วยป้องกันหัวใจของทหาร ความเชื่อและความรักก็ช่วยปกป้องหัวใจของเรา มันจะช่วยให้เรายังคงรับใช้พระยะโฮวาและติดตามพระเยซูได้ต่อ ๆ ไป ความเชื่อจะทำให้เรามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะให้รางวัลที่เราเสาะหาพระองค์สุดหัวใจ (ฮบ. 11:6) นอกจากนั้น ความเชื่อจะช่วยให้เรายังคงซื่อสัตย์ต่อพระเยซูผู้นำของเราแม้จะเจอความยากลำบาก เราสามารถมีความเชื่อมากขึ้นเพื่อจะรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้ โดย คิดใคร่ครวญตัวอย่างของพี่น้องในปัจจุบันที่รักษาความซื่อสัตย์แม้จะเจอการข่มเหงหรือมีปัญหาเศรษฐกิจ และถ้าเราเลียนแบบคนที่ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายและให้รัฐบาลของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เราก็จะไม่ต้องเจอกับผลเสียของการเป็นคนรักเงิน b
10. การรักพระเจ้าและรักผู้คนจะช่วยให้เราอดทนได้ยังไง?
10 ความรักช่วยให้เราตื่นตัวและมีสติเสมอ (มธ. 22:37-39) การรักพระเจ้าจะช่วยให้เราอดทนและยังคงประกาศต่อ ๆ ไป แม้การทำอย่างนั้นอาจทำให้เราต้องเจอปัญหา (2 ทธ. 1:7, 8) และเนื่องจากเรารักคนอื่นที่ไม่ได้เป็นพยานฯ เราก็เลยประกาศและทำงานสอนต่อไปในเขตของเรา และถึงกับประกาศทางโทรศัพท์หรือเขียนจดหมายด้วย เรายังคงหวังว่าสักวันหนึ่งคนที่เราประกาศจะเปลี่ยนใจและเริ่มทำสิ่งที่ถูกต้อง—อสค. 18:27, 28
11. การรักพี่น้องจะช่วยเรายังไง? (1 เธสะโลนิกา 5:11)
11 นอกจากนั้น เราต้องรักพี่น้องของเราด้วย เราแสดงความรักต่อพวกเขาได้โดย “ให้กำลังใจกันและเสริมสร้างกันให้เข้มแข็ง” (อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:11) เหมือนกับทหารที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่กัน เราก็จะคอยให้กำลังใจกันเสมอ บางครั้งอาจเป็นไปได้ที่ทหารจะทำให้เพื่อนทหารด้วยกันได้รับบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ แต่พวกเขาจะไม่จงใจทำร้ายกันแน่ ๆ เหมือนกันเราจะไม่ตั้งใจทำให้พี่น้องเจ็บ และถึงพี่น้องทำให้เราเจ็บ เราก็จะไม่เอาคืน (1 ธส. 5:13, 15) นอกจากนั้น เราจะแสดงความรักโดยนับถือพี่น้องที่นำหน้าในประชาคม (1 ธส. 5:12) ตอนที่เปาโลเขียนจดหมายถึงพี่น้องในเมืองเธสะโลนิกา ประชาคมที่นั่นเพิ่งตั้งมาได้ไม่ถึงปี ผู้ดูแลก็อาจยังขาดประสบการณ์และอาจทำผิดพลาด ถึงจะเป็นอย่างนั้น พวกเขาก็สมควรได้รับความนับถือจากพี่น้องคริสเตียน เมื่อความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่มาถึง เรายิ่งต้องพึ่งผู้ดูแลในประชาคมเพื่อชี้นำเรามากกว่าตอนนี้อีก ในช่วงเวลานั้นเราอาจติดต่อสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาไม่ได้ ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเรียนรู้ที่จะรักและนับถือผู้ดูแลในประชาคมตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นให้เรามี สติอยู่เสมอ ไม่เอาแต่มองข้อผิดพลาดของพวกเขา แต่ให้สนใจว่าพระยะโฮวากำลังชี้นำพวกเขาผ่านทางพระเยซู
12. ความหวังช่วยปกป้องความคิดของเรายังไง?
12 เหมือนกับที่หมวกเกราะป้องกันหัวของทหาร ความหวังเรื่องความรอดก็ปกป้องความคิดของเรา ถ้าความหวังของเราชัดเจนเราก็จะรู้ว่าสิ่งที่โลกนี้เสนอให้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย (ฟป. 3:8) ความหวังจะช่วยให้เรายังคงสงบใจและหนักแน่นมั่นคง ให้เรามาดูตัวอย่างของวอลเลซและลอรินดาซึ่งรับใช้ที่เบเธลในแอฟริกา พ่อของวอลเลซตาย แล้ว 3 อาทิตย์ต่อมาแม่ของลอรินดาก็ตาย แต่เพราะมีการระบาดของโควิด ทั้งสองคนเลยกลับไปหาครอบครัวที่บ้านไม่ได้ วอลเลซเขียนว่า “ความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายทำให้ผมนึกภาพช่วงที่พวกเขาเพิ่งฟื้นขึ้นมาในโลกใหม่ ไม่ใช่ช่วงสุดท้ายที่พวกเขามีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ความหวังนี้ทำให้ผมสงบใจได้ แม้ยังต้องทำใจที่เสียพวกเขาไปและยังรู้สึกเสียใจมาก”
13. เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้พลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวา?
13 “อย่าดับไฟในตัวคุณที่เกิดจากพลังของพระเจ้า” (1 ธส. 5:19) เปาโลเปรียบพลังบริสุทธิ์เป็นเหมือนไฟที่อยู่ในตัวเรา ถ้าเรามีพลังบริสุทธิ์จากพระเจ้า เราก็จะกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องและขยันทำงานรับใช้ (รม. 12:11) แล้วเราต้องทำยังไงเพื่อจะได้พลังบริสุทธิ์นี้? เราต้องอธิษฐานขอพลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวา อ่านและค้นคว้าคัมภีร์ไบเบิล และใกล้ชิดกับองค์การของพระยะโฮวาที่ได้รับการชี้นำจากพลังบริสุทธิ์ การทำแบบนี้จะช่วยให้เรามี “ผลที่เกิดจากพลังของพระเจ้า” ด้วย—กท. 5:22, 23
14. เพื่อที่เราจะได้พลังบริสุทธิ์จากพระเจ้าต่อ ๆ ไป เราต้องระวังที่จะไม่ทำอะไร? (ดูภาพด้วย)
14 เมื่อพระยะโฮวาให้พลังบริสุทธิ์กับเราแล้ว เราต้องไม่ “ดับไฟในตัว [เรา] ที่เกิดจากพลังของพระเจ้า” พระเจ้าให้พลังบริสุทธิ์ของพระองค์เฉพาะกับคนที่คิดและทำในสิ่งที่สะอาดในสายตาของพระองค์ ดังนั้น พระองค์จะไม่ให้พลังบริสุทธิ์กับเราถ้าเราคิดและทำ สิ่งที่ไม่สะอาดอยู่เรื่อย ๆ (1 ธส. 4:7, 8) นอกจากนั้น เพื่อที่เราจะได้พลังบริสุทธิ์จากพระเจ้าต่อ ๆ ไป เราต้องไม่ “ดูหมิ่นคำพยากรณ์” (1 ธส. 5:20) คำว่า “คำพยากรณ์” ในข้อคัมภีร์นี้หมายถึงข่าวสารที่ได้รับการดลใจจากพลังของพระเจ้า ซึ่งรวมถึงเรื่องวันของพระยะโฮวาและเรื่องที่ว่าสมัยของเราเป็นสมัยที่เร่งด่วน ดังนั้น เราต้องไม่คิดว่าอีกนานกว่าที่วันของพระยะโฮวาจะมาถึงและอาร์มาเกดโดนคงไม่มาในช่วงชีวิตของเรา แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราต้องคิดถึงวันของพระยะโฮวาเสมอและคิดว่าวันนั้นใกล้เข้ามามากแล้ว โดยทำสิ่งที่พระองค์ต้องการและ “ทำสิ่งที่แสดงว่า [เรา] เลื่อมใสพระเจ้า” ทุกวัน—2 ปต. 3:11, 12
“ตรวจดูทุกสิ่งให้แน่ใจ”
15. เราต้องทำยังไงเพื่อจะไม่หลงเชื่อข้อมูลเท็จที่มาจากพวกปีศาจ? (1 เธสะโลนิกา 5:21)
15 อีกไม่นาน พวกผู้ต่อต้านพระยะโฮวาจะประกาศว่า “สงบสุขและปลอดภัยแล้ว!” (1 ธส. 5:3) ตอนนั้นข้อมูลเท็จที่มาจากพวกปีศาจจะมีมากมายบนโลก และคนส่วนใหญ่ก็จะหลงเชื่อด้วย (วว. 16:13, 14) แต่สำหรับพวกเรา เราจะไม่ถูกหลอกถ้าเรา “ตรวจดูทุกสิ่งให้แน่ใจ” (อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:21) คำภาษากรีกที่แปลว่า “ตรวจดู . . . ให้แน่ใจ” เป็นคำที่เกี่ยวกับวิธีเช็กให้แน่ใจว่าโลหะราคาแพง เช่น ทองคำหรือเงินเป็นของแท้หรือเปล่า ดังนั้น เราต้องเช็กให้แน่ใจว่าเรื่องที่เราได้ยินและเรื่องที่เราอ่านเป็นเรื่องจริงไหม นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคริสเตียนในเมืองเธสะโลนิกา และก็ยิ่งสำคัญมากกว่านั้นอีกสำหรับเราในทุกวันนี้ที่ใกล้จะถึงช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่แล้ว แทนที่เราจะเชื่อทุกอย่างที่คนอื่นพูด ให้เราพยายามคิดและเปรียบเทียบเรื่องที่เราอ่านและได้ยินกับสิ่งที่เราได้เรียนจากคัมภีร์ไบเบิลและองค์การของพระยะโฮวา นี่จะทำให้เราไม่หลงเชื่อข้อมูลเท็จของพวกปีศาจไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม—สภษ. 14:15; 1 ทธ. 4:1
16. เรามีความหวังที่แน่นอนในเรื่องอะไร? และนั่นทำให้เราอยากทำอะไร?
16 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะผ่านความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่แน่ ๆ แต่สำหรับเราแต่ละคนเราไม่รู้จริง ๆ ว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง (ยก. 4:14) ไม่ว่าเราจะผ่านความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่หรือจะต้องตายก่อน เราก็จะได้รางวัลคือชีวิตตลอดไปแน่นอนถ้าเราซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาเสมอ ผู้ถูกเจิมจะได้ไปอยู่กับพระเยซูในสวรรค์ ส่วนแกะอื่นจะได้อยู่ในโลกที่เป็นสวนอุทยาน ให้เราทุกคนสนใจที่ความหวังที่ยอดเยี่ยมของเราและเตรียมพร้อมสำหรับวันของพระยะโฮวาเสมอ
เพลง 150 ขอให้มาหาพระเจ้าเพื่อจะรอด
a ที่ 1 เธสะโลนิกาบท 5 เราได้เห็นภาพเปรียบเทียบหลายอย่างที่สอนเราเกี่ยวกับวันของพระยะโฮวาที่จะมาถึงในอนาคต “วัน” นั้นคืออะไร? มันจะมาถึงยังไง? ใครจะรอดและใครจะไม่รอด? แล้วเราจะเตรียมตัวให้พร้อมได้ยังไง? ให้เรามาดูคำพูดของอัครสาวกเปาโลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเราจะมาดูคำตอบเกี่ยวกับคำถามทั้งหมดนี้ด้วยกัน
b ดูบทความชุดที่ชื่อว่า “พวกเขาเต็มใจไปรับใช้”