บทความศึกษา 13
เพลง 127 ฉันควรเป็นคนแบบไหน
อะไรจะช่วยให้คุณมั่นใจว่าพระยะโฮวาพอใจในตัวคุณ?
“พ่อพอใจในตัวลูกมาก”—ลก. 3:22
จุดสำคัญ
คุณอาจสงสัยว่าพระยะโฮวาพอใจในตัวคุณหรือเปล่า อะไรจะช่วยให้คุณมั่นใจในเรื่องนี้ได้
1. ผู้รับใช้พระยะโฮวาบางคนอาจสงสัยอะไร?
เราได้กำลังใจจริง ๆ ที่รู้ว่า “พระยะโฮวาพอใจประชาชนของพระองค์” (สด. 149:4) แต่บางคนก็รู้สึกไม่มั่นใจและอาจสงสัยว่า ‘พระยะโฮวาพอใจในตัวฉันจริง ๆ ไหม?’ ผู้รับใช้พระองค์ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลบางคนก็เคยรู้สึกแบบนี้—1 ซม. 1:6-10; โยบ 29:2, 4; สด. 51:11
2. พระยะโฮวาพอใจในตัวใคร?
2 คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่ามนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบก็ทำให้พระยะโฮวาพอใจได้ เป็นไปได้ยังไง? เป็นไปได้เมื่อคนนั้นแสดงความเชื่อในพระเยซูและรับบัพติศมา (ยน. 3:16) ดังนั้น เราต้องทำให้คนอื่นเห็นว่าเรากลับใจจากบาปจริง ๆ และได้อุทิศตัวเพื่อจะทำทุกอย่างที่พระยะโฮวาต้องการ (กจ. 2:38; 3:19) พระยะโฮวาดีใจที่เราทำสิ่งเหล่านี้เพื่อจะสนิทกับพระองค์ เมื่อเราใช้ชีวิตสมกับการอุทิศตัวต่อ ๆ ไป พระยะโฮวาจะพอใจในตัวเราและถือว่าเราเป็นเพื่อนสนิทของพระองค์—สด. 25:14
3. เราจะคุยเรื่องอะไรบ้างในบทความนี้?
3 แต่ทำไมบางคนถึงคิดว่าพระยะโฮวาไม่พอใจในตัวพวกเขา? มีวิธีอะไรบ้างที่พระยะโฮวาแสดงให้เห็นว่าพระองค์พอใจในตัวพวกเขา? และเราจะมั่นใจมากขึ้นได้ยังไงว่าพระยะโฮวาพอใจในตัวเรา?
ทำไมบางคนรู้สึกว่าพระยะโฮวาไม่พอใจในตัวเขา?
4-5. เรามั่นใจอะไรได้แม้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า?
4 หลายคนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่ามาตั้งแต่เด็ก ๆ (สด. 88:15) พี่น้องคนหนึ่งที่ชื่อเอเดรียนบอกว่า “ผมคิดมาตลอดว่าผมไม่มีค่าอะไรเลย ตอน เด็ก ๆ ผมจำได้ว่าผมอธิษฐานขอให้ครอบครัวได้อยู่ในโลกใหม่ แต่ผมคิดว่าตัวเองคงไม่ได้อยู่หรอกเพราะผมไม่ดีพอ” ส่วนโทนี่ที่พ่อแม่ไม่ได้เป็นพยานฯ เล่าว่า “พ่อแม่ไม่เคยบอกว่ารักผมหรือภูมิใจในตัวผมเลย ไม่ว่าผมจะทำมากเท่าไหร่ มันก็ไม่ดีพอสำหรับพวกเขา”
5 ถ้าบางครั้งเรารู้สึกไร้ค่า ให้จำไว้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ชักนำเราให้เข้ามาหาพระองค์ (ยน. 6:44) พระองค์มองที่หัวใจและเห็นส่วนดีในตัวเรา แม้บางครั้งเราอาจไม่ได้คิดว่าเรามีดีอะไร (1 ซม. 16:7; 2 พศ. 6:30) ดังนั้น เราเลยมั่นใจได้จริง ๆ เมื่อพระยะโฮวาบอกว่าเรามีค่าสำหรับพระองค์—1 ยน. 3:19, 20
6. อัครสาวกเปาโลรู้สึกยังไงกับบาปที่เคยทำในอดีต?
6 ก่อนจะเรียนความจริง พวกเราบางคนอาจเคยทำไม่ดีและรู้สึกผิดมาก (1 ปต. 4:3) แม้แต่ผู้รับใช้พระเจ้าที่ซื่อสัตย์ก็ต้องสู้กับความต้องการผิด ๆ ด้วย แล้วคุณล่ะ? บางครั้งคุณรู้สึกไหมว่าพระยะโฮวาให้อภัยคุณไม่ได้? ถ้าคุณรู้สึกแบบนั้นก็ไม่ต้องกังวล ผู้รับใช้พระยะโฮวาที่ซื่อสัตย์หลายคนก็เคยรู้สึกแบบนี้ เช่น อัครสาวกเปาโลรู้สึกแย่เมื่อเขาคิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ (รม. 7:24) แม้เปาโลจะกลับใจและรับบัพติศมาแล้ว แต่เขาก็ยังพูดถึงตัวเองว่าเป็นคนที่ “ต่ำต้อยที่สุดในพวกอัครสาวก” และยังบอกอีกว่า “ในคนบาปพวกนั้น ผมเลวที่สุด”—1 คร. 15:9; 1 ทธ. 1:15
7. เราต้องจำอะไรไว้เสมอถ้าเราเคยทำผิด?
7 พระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ของเราสัญญาว่าจะให้อภัยเราถ้าเรากลับใจ (สด. 86:5) ดังนั้น ถ้าเราเสียใจจริง ๆ ที่เราเคยทำผิด เราก็มั่นใจในคำสัญญาของพระยะโฮวาได้ว่าพระองค์จะให้อภัยเราจริง ๆ—คส. 2:13
8-9. อะไรจะช่วยเราเอาชนะความรู้สึกที่ว่าทำให้พระยะโฮวาเท่าไหร่ก็ไม่พอ?
8 เราทุกคนอยากรับใช้พระยะโฮวาให้เต็มที่เท่าที่เราทำได้ แต่บางคนอาจรู้สึกว่ารับใช้เท่าไหร่ก็ไม่พอที่จะทำให้พระยะโฮวาพอใจได้ พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่ชื่ออะแมนด้ารู้สึกแบบนั้น เธอบอกว่า “ฉันมักจะคิดว่าการให้สิ่งดีที่สุดกับพระยะโฮวาหมายถึงฉันต้องทำให้มากขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ฉันเลยคาดหมายกับตัวเองมากกว่าที่ฉันทำได้จริง ๆ แล้วพอฉันทำอย่างที่ตั้งเป้าไว้ไม่ได้ ฉันก็คิดว่าพระยะโฮวาต้องผิดหวังในตัวฉันแน่ ๆ เพราะฉันก็ผิดหวังกับตัวเองเหมือนกัน”
9 อะไรจะช่วยเราเอาชนะความรู้สึกที่ว่าทำให้พระยะโฮวาเท่าไหร่ก็ไม่พอ? ให้จำไว้ว่าพระยะโฮวาไม่ใช่พระเจ้าที่ไม่มีเหตุผล พระองค์ไม่เคยเรียกร้องให้เราทำมากกว่าที่เราจะให้ได้ พระองค์เห็นค่าทุกอย่างที่เราทำเพื่อพระองค์สุดความสามารถ นอกจากนั้น ให้คิดถึงตัวอย่างของคนในคัมภีร์ไบเบิลที่รับใช้พระยะโฮวาสุดหัวใจ เช่น ตัวอย่างของอัครสาวกเปาโล เปาโลรับใช้พระยะโฮวาเต็มที่นานหลายปี เดินทางหลายพันกิโลเมตร และตั้งหลายประชาคม แต่พอเขาอยู่ในสภาพที่รับใช้ไม่ได้มากเหมือนเดิม เขาคิดว่าพระยะโฮวาไม่พอใจในตัวเขาไหม? ไม่เลย เพราะเขาพยายามทำทุกสิ่งที่ทำได้ต่อไปและพระยะโฮวาก็อวยพรเขาจริง ๆ (กจ. 28:30, 31) เหมือนกัน สิ่งที่เราทำให้พระยะโฮวาได้อาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่สิ่งสำคัญสำหรับพระยะโฮวาก็คือเหตุผลที่เรารับใช้พระองค์ ต่อไป เราจะมาดูกันว่ามีวิธีไหนบ้างที่พระยะโฮวาทำให้เห็นว่าพระองค์พอใจในตัวเรา
วิธีที่พระยะโฮวาทำให้เห็นว่าพระองค์พอใจในตัวเรา
10. เราจะ “ได้ยิน” เสียงของพระยะโฮวาที่บอกว่าพอใจในตัวเราได้ยังไง? (ยอห์น 16:27)
10 โดยคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาชอบแสดงออกว่าพระองค์รักและพอใจในตัวผู้รับใช้ของพระองค์ ใน คัมภีร์ไบเบิลมีบันทึก 2 เหตุการณ์ที่พระยะโฮวาบอกว่าพระเยซูเป็นลูกที่รักของพระองค์และพระองค์พอใจในตัวท่านมาก (มธ. 3:17; 17:5) คุณอยากได้ยินพระยะโฮวาพูดอย่างนั้นกับคุณไหม? ถึงพระองค์ไม่ได้พูดกับเราแบบนั้นโดยตรง แต่พระองค์พูดกับเราผ่านทางคัมภีร์ไบเบิล และเราจะ “ได้ยิน” เสียงพระยะโฮวาบอกว่าพอใจในตัวเราได้เมื่อเราอ่านคำพูดของพระเยซูในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม (อ่านยอห์น 16:27) พระเยซูเลียนแบบพระยะโฮวาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้น เมื่อเราอ่านเรื่องราวของพระเยซูตอนที่ท่านชมเชยพวกสาวกและแสดงออกว่าท่านพอใจในตัวพวกเขา เราก็นึกภาพออกเลยว่าพระยะโฮวาก็รู้สึกแบบนี้กับเราเหมือนกัน—ยน. 15:9, 15
11. ทำไมการที่เราเจอปัญหาไม่ได้หมายความว่าพระยะโฮวาไม่พอใจในตัวเราแล้ว? (ยากอบ 1:12)
11 โดยการกระทำ พระยะโฮวาพร้อมจะช่วยเราเสมอ เช่น พระองค์ช่วยให้เรามีสิ่งจำเป็นในชีวิต แต่บางครั้งพระยะโฮวาก็ยอมให้เราเจอปัญหาเหมือนกับที่พระองค์ปล่อยให้โยบเจอ (โยบ 1:8-11) แต่การที่เราเจอปัญหาไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าไม่พอใจเราแล้ว ที่จริง มันเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้พิสูจน์ว่าเรารักและวางใจพระองค์จริง ๆ (อ่านยากอบ 1:12) เมื่อเราเจอความยากลำบาก เราจะได้เห็นว่าพระยะโฮวาดูแลและช่วยเราให้อดทนต่อไปได้ยังไง
12. เราเรียนอะไรได้จากประสบการณ์ของดิมิทรี?
12 ให้เรามาดูประสบการณ์ของพี่น้องชายคนหนึ่งจากเอเชียที่ชื่อดิมิทรี เขาตกงานและหางานทำไม่ได้อยู่หลายเดือน เขาเลยตัดสินใจว่าจะทำงานรับใช้มากขึ้นเพื่อแสดงว่าเขาวางใจในพระยะโฮวา แต่หลายเดือนผ่านไปเขาก็ยังหางานไม่ได้สักที ต่อมาเขามีปัญหาสุขภาพหนักจนถึงขั้นลุกจากเตียงไม่ได้ เขาเริ่มสงสัยว่าเขายังเป็นสามีและเป็นพ่อที่ดีอยู่ไหม และสงสัยว่าพระยะโฮวาไม่พอใจในตัวเขาหรือเปล่า เย็นวันหนึ่งลูกสาวของเขาถือกระดาษที่พิมพ์ข้อคัมภีร์จากอิสยาห์ 30:15 มาให้เขาที่เตียงนอน ข้อนั้นบอกว่า “ถ้าพวกเจ้ามีใจที่สงบและวางใจเรา พวกเจ้าก็จะมีความเข้มแข็ง” ลูกสาวของเขาบอกว่า “พ่อคะ ถ้าเมื่อไหร่ที่พ่อรู้สึกไม่ดี คิดถึงข้อคัมภีร์นี้ไว้นะคะ” นี่เลยทำให้ดิมิทรีคิดได้ว่าเขาต้องขอบคุณพระยะโฮวาที่ครอบครัวของเขายังมีอาหารกิน มีเสื้อผ้าใส่ แล้วก็มีบ้านให้อยู่ เขา บอกว่า “ผมแค่ต้องมีใจสงบแล้วก็วางใจพระยะโฮวา” ถ้าคุณกำลังเจอปัญหาคล้าย ๆ กันนี้ คุณมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาห่วงใยคุณและจะช่วยคุณให้อดทนได้แน่นอน
13. พระยะโฮวาอาจใช้ใครเพื่อช่วยให้เรามั่นใจว่าพระองค์พอใจในตัวเรา?
13 โดยพี่น้อง พระยะโฮวาใช้พี่น้องเพื่อช่วยให้เรามั่นใจว่าพระองค์พอใจในตัวเรา เช่น พระองค์อาจกระตุ้นให้พี่น้องพูดให้กำลังใจเราตอนที่เราต้องการพอดี มีพี่น้องหญิงคนหนึ่งในเอเชียได้เจอเรื่องนี้กับตัวเอง ตอนนั้นเธอเจอเรื่องที่ทำให้เครียดมาก เธอเพิ่งตกงานแถมยังมาป่วยหนัก แล้วสามีของเธอก็ทำผิดร้ายแรงและถูกถอดจากการเป็นผู้ดูแล เธอบอกว่า “ฉันไม่เข้าใจเลยว่าทำไมต้องเจอกับเรื่องแบบนี้ ฉันคิดว่าฉันอาจจะทำอะไรผิดหรือเปล่าและทำให้พระยะโฮวาไม่พอใจ” เธอเลยอธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยให้เธอมั่นใจว่าพระองค์ยังพอใจในตัวเธออยู่ แล้วพระองค์ทำยังไง? เธอบอกว่า “ผู้ดูแลในประชาคมมาคุยกับฉันและช่วยให้ฉันมั่นใจว่าพระยะโฮวารักฉันเสมอ” แต่หลังจากนั้นพี่น้องหญิงคนนี้ก็อธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยรับรองกับเธออีกว่าพระองค์ยังรักเธออยู่ เธอเล่าต่อว่า “ในวันเดียวกันนั้นเอง ฉันได้จดหมายจากพี่น้องในประชาคม พอฉันได้อ่านจดหมายนั้น ฉันก็รู้สึกเลยว่าพระยะโฮวาฟังคำอธิษฐานของฉันจริง ๆ” จากเรื่องนี้เราเห็นชัดเลยว่าพระยะโฮวาจะใช้พี่น้องมาให้กำลังใจเราเพื่อทำให้เรามั่นใจว่าพระองค์ยังพอใจในตัวเราอยู่—สด. 10:17
14. อีกวิธีที่พระยะโฮวาแสดงว่าพระองค์พอใจในตัวเราคืออะไร?
14 อีกวิธีที่พระยะโฮวาทำให้เห็นว่าพระองค์พอใจในตัวเราคือ พระองค์ใช้พี่น้องมาให้คำแนะนำกับเราตอนที่เราจำเป็นต้องได้รับ ตัวอย่างเช่น ในสมัยศตวรรษแรก พระยะโฮวาใช้อัครสาวกเปาโลให้เขียนจดหมาย 14 ฉบับถึงพี่น้องคริสเตียน จดหมายเหล่านั้นมีคำแนะนำที่ตรงไปตรงมาแต่ก็แสดงให้เห็นถึงความรักด้วย ทำไมพระยะโฮวาถึงดลใจให้เปาโลเขียนจดหมายเหล่านั้น? เพราะพระยะโฮวาเป็นพ่อที่ดี และพระองค์เต็มใจสั่งสอนลูกของพระองค์ “เหมือนพ่อทำกับลูกที่เขารัก” (สภษ. 3:11, 12) ดังนั้น ถ้าเราได้รับคำแนะนำที่มาจากคัมภีร์ไบเบิล นี่ไม่ได้หมายความว่าพระยะโฮวาไม่พอใจในตัวเรา แต่นี่เป็นหลักฐานที่แสดงว่าพระองค์รักเรา (ฮบ. 12:6) แล้วยังมีอะไรอีกที่แสดงว่าพระยะโฮวาพอใจในตัวเรา?
หลักฐานอื่นที่แสดงว่าพระยะโฮวาพอใจในตัวเรา
15. พระยะโฮวาให้พลังบริสุทธิ์กับใคร? และนี่ทำให้เรามั่นใจในเรื่องอะไร?
15 พระยะโฮวาให้พลังบริสุทธิ์กับคนที่พระองค์พอใจ (มธ. 12:18) เราอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันได้แสดงคุณลักษณะบางอย่างที่เกิดจากพลังของพระเจ้าในชีวิตไหม?’ คุณสังเกตไหมว่าคุณอดทนกับคนอื่นได้มากกว่าตอนที่คุณยังไม่รู้จักพระยะโฮวา? ที่จริง ยิ่งคุณแสดงผลที่เกิดจากพลังของพระเจ้ามากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาพอใจในตัวคุณ—ดูกรอบ “ ผลที่เกิดจากพลังของพระเจ้า คือ . . . ”
16. พระยะโฮวาใช้ใครให้ประกาศข่าวดี? และเรื่องนี้ทำให้คุณรู้สึกยังไง? (1 เธสะโลนิกา 2:4)
16 พระยะโฮวาให้คนที่พระองค์พอใจได้ประกาศข่าวดี (อ่าน 1 เธสะโลนิกา 2:4) ลองดูว่าพี่น้องโจเซลินได้ประโยชน์ยังไงจากการประกาศข่าวดีกับคนอื่น มีอยู่วันหนึ่งโจเซลินตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกเศร้ามาก เธอบอกว่า “ฉันรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะให้พระยะโฮวาได้เลย แต่ฉันก็มาคิดว่าฉันเป็นไพโอเนียร์นะแล้ววันนี้เป็นวันที่ฉันต้องออกประกาศ ฉันเลยอธิษฐานแล้วก็ออกไปทำงานรับใช้” เช้าวันนั้นโจเซลินได้เจอกับผู้หญิงคนหนึ่งชื่อแมรี่ เธอเป็นคนใจดีมาก เธอตกลงศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับโจเซลิน หลายเดือนต่อมาแมรี่เล่าให้โจเซลินฟังว่าก่อนหน้านี้เธอได้อธิษฐานขอให้พระเจ้าช่วย แล้วโจเซลินก็มาเคาะประตูพอดี เมื่อคิดถึงประสบการณ์นี้ โจเซลินบอกว่า “ฉันรู้สึกเหมือนพระยะโฮวากำลังบอกฉันว่า ‘เราพอใจในตัวเจ้า’” ก็จริงที่ไม่ใช่ทุกคนจะสนใจเมื่อเราชวนเขาศึกษาคัมภีร์ไบเบิล แต่เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาพอใจในตัวเราเมื่อ เราพยายามสุดความสามารถที่จะประกาศข่าวดีให้คนอื่นฟัง
17. คุณได้เรียนอะไรจากคำพูดของวิกกี้เกี่ยวกับเรื่องค่าไถ่? (สดุดี 5:12)
17 พระยะโฮวาใช้คุณค่าของค่าไถ่กับคนที่พระองค์พอใจ (1 ทธ. 2:5, 6) แต่ถ้าใจเรายังไม่เชื่อว่าพระองค์พอใจเราล่ะทั้ง ๆ ที่เรามีความเชื่อในค่าไถ่และรับบัพติศมาแล้ว? จำไว้ว่าเราไว้ใจความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ แต่เราไว้ใจพระยะโฮวาได้ สำหรับพระองค์แล้วคนที่มีความเชื่อในค่าไถ่เป็นคนดีและพระองค์สัญญาว่าจะอวยพรพวกเขา (อ่านสดุดี 5:12; โรม 3:26) การคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับค่าไถ่ก็ช่วยวิกกี้ด้วย วันหนึ่งหลังจากที่วิกกี้คิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องค่าไถ่ เธอบอกว่า “พระยะโฮวาได้อดทนกับฉันมาตลอด . . . แต่สิ่งที่ฉันทำมันเหมือนฉันกำลังบอกพระองค์ว่า ‘ความรักที่พระองค์ให้ฉันมันยังไม่มากพอ ค่าไถ่ที่ลูกของพระองค์ให้ฉันก็ไม่มากพอที่จะลบล้างบาปที่ฉันทำ’” การคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับค่าไถ่ช่วยวิกกี้ให้รู้สึกว่าพระยะโฮวารักเธอ เราก็เหมือนกัน เราจะมั่นใจว่าพระยะโฮวารักและพอใจในตัวเราได้เมื่อเราคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับค่าไถ่
18. ถ้าเรารักพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป เรามั่นใจได้ในเรื่องอะไร?
18 ถึงแม้เราพยายามมากที่จะทำตามคำแนะนำที่ได้เรียนไปในบทความนี้ แต่บางครั้งเราก็อาจรู้สึกท้อใจอยู่ดีและสงสัยว่าพระยะโฮวาพอใจในตัวเราไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นขอให้จำไว้ว่าพระยะโฮวาพอใจ “คนที่รักพระองค์” เสมอ (ยก. 1:12) ดังนั้น ขอให้คุณพยายามที่จะสนิทกับพระยะโฮวาเสมอและสังเกตว่าพระองค์แสดงยังไงว่าพระองค์พอใจในตัวคุณ จำไว้ว่าพระยะโฮวา “ไม่ได้อยู่ไกลจากเราแต่ละคนเลย”—กจ. 17:27
คุณจะตอบอย่างไร?
-
ทำไมบางคนถึงรู้สึกว่าพระยะโฮวาไม่พอใจในตัวเขา?
-
มีวิธีอะไรบ้างที่พระยะโฮวาแสดงว่าพระองค์พอใจในตัวเรา?
-
อะไรทำให้เรามั่นใจว่าพระยะโฮวาพอใจในตัวเรา?
เพลง 88 โปรดสอนให้รู้จักแนวทางของพระองค์