คุณ “รักษาสติปัญญา” เอาไว้ไหม?
มีเรื่องเล่าอยู่ว่า เด็กผู้ชายจน ๆ คนหนึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกล มีแต่คนคิดว่าเด็กคนนี้หัวช้า เขาเลยถูกหัวเราะเยาะอยู่บ่อย ๆ พอมีคนจากที่อื่นมาที่หมู่บ้าน คนในหมู่บ้านก็จะชอบแกล้งเขาต่อหน้าคนพวกนั้น พวกเขาจะเอาเหรียญมา 2 เหรียญ เป็นเหรียญเงินเหรียญใหญ่กับเหรียญทองที่เล็กกว่า แต่เหรียญทองมีค่ามากกว่าเหรียญเงินสองเท่า แล้วพวกเขาก็จะบอกกับเด็กคนนี้ว่า “แกชอบอันไหน เลือกซิ” เด็กผู้ชายก็เลือกเหรียญเงินแล้ววิ่งหนีไป เป็นแบบนี้ทุกครั้ง
วันหนึ่ง มีคนมาถามเด็กคนนี้ว่า “เธอไม่รู้เหรอว่าเหรียญทองมีค่ามากกว่าเหรียญเงินถึงสองเท่า?” เด็กคนนี้ยิ้มแล้วบอกว่า “รู้ครับ” คนนั้นเลยถามว่า “แล้วทำไมถึงเลือกเหรียญเงินล่ะ?” เด็กผู้ชายตอบว่า “ก็ถ้าผมเลือกเหรียญทอง ก็จะไม่มีใครเล่นเกมนี้กับผมอีกแล้วสิครับ พี่รู้ไหมว่าตอนนี้ผมได้เหรียญเงินมากี่เหรียญแล้ว?” เด็กผู้ชายในเรื่องนี้มีคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่ผู้ใหญ่ก็น่าจะมีด้วยคือ ความเฉลียวฉลาด หรือในคัมภีร์ไบเบิลเรียกว่า สติปัญญา
คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “รักษาสติปัญญากับความสุขุมรอบคอบเอาไว้ แล้วลูกจะเดินไปอย่างปลอดภัย และไม่สะดุดเลย” (สภษ. 3:21, 23) ดังนั้น เราต้องรู้ว่า “สติปัญญา” หมายถึงอะไรจริง ๆ และรู้วิธีที่จะใช้สติปัญญานั้น แล้วเราก็จะปลอดภัยและได้รับการปกป้อง ถ้าเรามีสติปัญญาเราจะไม่สะดุดออกไปจากทางของพระเจ้า
สติปัญญาหมายถึงอะไร?
สติปัญญาไม่เหมือนกับความรู้และความเข้าใจ ในคัมภีร์ไบเบิลคนที่มีความรู้เป็นคนที่รวบรวมข้อมูลหรือข้อเท็จจริง ส่วนคนที่มีความเข้าใจจะเอาเรื่องหนึ่งมาโยงกับอีกเรื่องหนึ่งได้ เขาสามารถคิดได้ว่าข้อมูลที่ได้รับเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องที่เขารู้อยู่แล้ว แต่คนที่มีสติปัญญาเป็นคนที่มีทั้งความรู้กับความเข้าใจ และเอาทั้งสองสิ่งนี้ไปใช้ในชีวิตจริง ๆ
ยกตัวอย่าง นักศึกษาคนหนึ่งอาจจะใช้เวลาไม่นานที่จะอ่านและเข้าใจหนังสือเรียนคัมภีร์ไบเบิลแล้วได้อะไร? ตอนที่ศึกษากัน เขาตอบคำถามได้ทุกข้อ เขาอาจจะเริ่มมาประชุมและออกความเห็นได้ดีด้วยซ้ำ เราเห็นว่าเขากำลังก้าวหน้า แต่นี่หมายความว่า เขาเป็นคนที่มีสติปัญญาแล้วไหม? อาจจะไม่ใช่ก็ได้ เขาอาจจะเป็นแค่คนหัวไว เรียนรู้อะไรได้เร็ว แต่เมื่อไรก็ตามที่เขาเอาความจริงที่ได้เรียนและสิ่งที่เขาเข้าใจไปใช้ในชีวิต เขาก็กำลังฝึกใช้สติปัญญา แล้วพอเขาคิดก่อนตัดสินใจและตัดสินใจได้ถูกต้อง เขาก็เป็นคนที่มีสติปัญญาจริง ๆ
ในมัทธิว 7:24-27 พระเยซูยกตัวอย่างผู้ชายสองคนที่สร้างบ้าน “คนฉลาด” คิดล่วงหน้าว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เขาเลยสร้างบ้านบนพื้นหิน เขาเป็นคนมองการณ์ไกลและคิดเป็น เขาไม่ได้คิดว่าถ้าสร้างบ้านบนทรายก็จะเสร็จไวกว่าและเสียเงินน้อยกว่า แต่เขามองที่ผลระยะยาว พอพายุมา บ้านของเขาก็ปลอดภัย ตอนนี้เรารู้แล้วว่าคนที่มีสติปัญญาเป็นอย่างไร ให้เรามาดูว่าเพื่อเราจะมีสติปัญญา เราต้องทำอะไรและเราจะ “รักษาสติปัญญา” ไว้ได้อย่างไร
ฉันจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้สติปัญญา?
อย่างแรกให้เราสังเกตสุภาษิต 9:10 ที่บอกว่า “ความเกรงกลัวพระยะโฮวาเป็นจุดเริ่มต้นของสติปัญญา” ความเกรงกลัวพระยะโฮวาหมายถึงการนับถือพระองค์และนับถือ มาตรฐานของพระองค์ด้วย เมื่อคุณนับถือใครบางคน คุณรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ คุณไว้ใจการตัดสินใจของเขาและอยากจะเรียนจากเขา แล้วพอคุณทำตามเขา คุณก็จะได้ผลสำเร็จอย่างที่เขาเคยได้ผลสำเร็จมาแล้ว เหมือนกันกับการนับถือพระยะโฮวา ก่อนที่เราจะตัดสินใจทำอะไร เราควรคิดถึงมาตรฐานของพระยะโฮวาเสมอ คิดดูว่าพระองค์รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้น และคิดว่าถ้าเราตัดสินใจแบบนั้นจะมีผลกระทบกับสายสัมพันธ์ที่เรามีกับพระยะโฮวาอย่างไรในระยะยาว การทำอย่างนี้จะทำให้เราเป็นคนที่มีสติปัญญา
อย่างที่สองให้เราดูที่สุภาษิต 18:1 ที่นั่นบอกว่า “คนที่ปลีกตัวอยู่คนเดียวก็คิดทำตามใจตัวเอง เขาไม่สนใจสติปัญญาเลย” ถ้าเราไม่ระวัง เราอาจจะแยกตัวออกห่างจากพระยะโฮวาและคนของพระองค์ ดังนั้น เพื่อเราจะไม่เป็นคนที่ชอบปลีกตัวอยู่คนเดียว เราต้องใช้เวลากับคนที่เกรงกลัวพระยะโฮวาและนับถือมาตรฐานของพระองค์ เราต้องพยายามไปที่หอประชุมและคบกับพี่น้อง ตอนประชุม เราก็ต้องเปิดใจ ยอมฟังและคิดว่าเรื่องนั้นมีผลกับตัวเราอย่างไรบ้าง
อีกอย่างหนึ่งที่ช่วยเราก็คือ การอธิษฐานระบายความในใจของเรากับพระยะโฮวา การทำอย่างนี้จะช่วยเราให้สนิทกับพระองค์มากขึ้น (สภษ. 3:5, 6) นอกจากนั้น ถ้าเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลและหนังสือต่าง ๆ ขององค์การ และยอมเปิดใจ เปิดความคิด พอถึงเวลาที่เราต้องตัดสินใจ เราจะมองออกว่าการตัดสินใจแบบนี้หรือแบบนั้นจะมีผลกระทบระยะยาวอย่างไร ซึ่งจะช่วยเราให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญด้วยก็คือ เราต้องเปิดใจรับฟังคำแนะนำจาก ผู้ดูแล (สภษ. 19:20) ถ้าเราทำทั้งหมดนี้ เราจะไม่เป็นคนที่ ‘ไม่สนใจสติปัญญา’ แต่จะเป็นคนที่มีสติปัญญามากขึ้น
ฉันจะใช้สติปัญญาในครอบครัวของฉันอย่างไร?
สติปัญญาจะช่วยปกป้องครอบครัวเราได้ ยกตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลบอกให้ ‘ภรรยานับถือสามีจากใจ’ (อฟ. 5:33) สามีควรทำอะไรเพื่อภรรยาจะนับถือเขาจากใจ? ถ้าสามีพยายามบังคับหรือเรียกร้องให้ภรรยานับถือเขา เขาก็อาจจะได้รับความนับถือจากภรรยาแต่คงจะเป็นแค่ช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ภรรยาอาจจะทำเป็นว่านับถือเขาต่อหน้าเพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหา แล้วตอนลับหลังล่ะ ภรรยาจะยังแสดงความนับถือเขาอยู่ไหม? ส่วนใหญ่คงไม่เป็นอย่างนั้น ดังนั้น สามีไม่ควรคิดอะไรแค่สั้น ๆ แต่คิดถึงผลระยะยาว ถ้าเขาเป็นคนอ่อนโยน แสดงความรัก และแสดงผลจากพลังของพระเจ้า ภรรยาก็จะนับถือเขาจากใจ แต่สำหรับภรรยาที่เป็นคริสเตียน ไม่ว่าสามีจะทำตัวอย่างไร เธอก็ยังต้องนับถือสามีของเธอ—กท. 5:22, 23
คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าสามีควรรักภรรยา (อฟ. 5:28, 33) ถ้ามีข้อมูลหรืออะไรบางอย่างที่อาจจะไม่ค่อยดีซึ่งจริง ๆ แล้วสามีควรจะรู้ แต่ถ้าเขารู้เขาอาจจะไม่พอใจ ภรรยาบางคนอาจคิดว่าไม่ต้องบอกสามีดีกว่า เพราะถ้าสามีรู้แล้วจะไม่รัก แต่ภรรยาที่ทำอย่างนั้นเป็นภรรยาที่มีสติปัญญาไหม? ถ้าตอนหลังสามีจับได้ จะเกิดอะไรขึ้น? เขาจะรักเธอมากขึ้นไหม? คงจะยากที่สามีจะรักภรรยาที่มีนิสัยแบบนั้น แต่ถ้าภรรยาหาเวลาเหมาะ ๆ ใจเย็น ๆ คุยกับสามีเกี่ยวกับเรื่องนั้น สามีจะรู้สึกดีที่ภรรยาของเขาเป็นคนซื่อสัตย์ บอกความจริง และเขาจะรักเธอมากขึ้น
ลูก ๆ ควรเชื่อฟังพ่อแม่ และพ่อแม่ก็ควรอบรมสั่งสอนลูกเรื่องพระยะโฮวา (อฟ. 6:1, 4) นั่นหมายความว่าพ่อแม่ควรจะทำรายการยาวเหยียดว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำไหม? การอบรมสั่งสอนเป็นอะไรที่มากกว่าการบอกว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร และก็ไม่ใช่แค่การทำโทษ พ่อแม่ที่ใช้สติปัญญาจะช่วยให้ลูกเข้าใจเหตุผลด้วยว่าทำไมเขาถึงต้องเชื่อฟังสิ่งที่พ่อแม่บอก
ยกตัวอย่าง สมมุติว่าถ้าลูกพูดไม่ดีหรือเถียงพ่อแม่ พ่อแม่ควรจะทำอย่างไร? ถ้าพ่อแม่ด่าหรือทำโทษเขาแรง ๆ โดยใช้อารมณ์ เขาอาจจะทำให้ลูกรู้สึกอายและหยุดพูดได้ แต่ในใจของลูกคงจะยังโกรธและไม่พอใจอยู่ ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เขาไม่อยากสนิทกับพ่อแม่
แต่พ่อแม่ที่ใช้สติปัญญาจะคิดถึงวิธีที่เขาจะใช้อบรมสั่งสอนลูก เขาจะคิดถึงผลที่จะเกิดกับลูกในอนาคต พ่อแม่ไม่ควรจะลงโทษลูกตอนนั้นทันทีเพราะพวกเขารู้สึกเสียหน้า แต่เขาควรรอให้อยู่กับลูกสองต่อสองก่อนแล้วค่อยสอนลูกอย่างใจเย็น พูดกับลูกโดยใช้เหตุผล อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าพระยะโฮวาอยากให้ลูกนับถือพ่อแม่เพราะตัวลูกเองจะได้ประโยชน์ตลอดไป และพอหลังจากนี้ ถ้าลูกแสดงความนับถือพ่อแม่ เขาจะรู้สึกว่าเขากำลังนับถือพระยะโฮวาด้วย (อฟ. 6:2, 3) การสอนแบบนี้จะเข้าถึงใจลูก ลูกจะรู้สึกได้ว่าพ่อแม่รักและเป็นห่วงเขาจริง ๆ และเขาก็จะรู้สึกนับถือพ่อแม่มากขึ้น และถ้าอนาคตลูกมีปัญหาหนัก ๆ อะไร เขาก็จะอยากมาหาพ่อแม่
พ่อแม่บางคนอาจจะไม่อยากลงโทษลูก เพราะกลัวว่าลูกจะเสียใจ แต่ถ้าพ่อแม่ทำอย่างนี้ พอลูกโตขึ้น เขาจะเป็นอย่างไร? เขาจะเกรงกลัวพระยะโฮวาและเห็นว่าการทำตามมาตรฐานของพระองค์เป็นสิ่งที่ฉลาดไหม? เขาจะยอมเปิดใจ และยอมฟังพระยะโฮวาไหม หรือเขาจะ “ปลีกตัว” และไม่สนใจพระยะโฮวา—สภษ. 13:1; 29:21
ช่างแกะสลักหินจะไม่แค่ใช้สิ่วสกัดหิน และคิดแค่ว่าทำ ๆ ไปเดี๋ยวก็ได้หินสวย ๆ ออกมาเอง แต่เขาจะคิดและวางแผนอย่างดีว่าเขาต้องทำอะไรตรงไหนบ้างเพื่อให้หินออกมาสวย เหมือนกันกับพ่อแม่ เพื่อพวกเขาจะมีสติปัญญา เขาต้องเกรงกลัวพระเจ้า ต้องใช้เวลาที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและเอาหลักการเกี่ยวกับมาตรฐานของพระองค์ไปใช้ เขาต้องไม่ปลีกตัวหรือแยกตัวออกห่างจากพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์ และเมื่อเขามีสติปัญญาแล้ว เขาก็ใช้สติปัญญานั้นช่วยให้ครอบครัวของเขาประสบผลสำเร็จมากขึ้นได้
ในทุก ๆ วันเราต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างที่อาจมีผลกับชีวิตในวันข้างหน้า แทนที่จะรีบตัดสินใจปุ๊บปั๊บ เราน่าจะหยุดคิด คิดถึงผลในระยะยาว คิดถึงคำแนะนำจากพระยะโฮวา และทำตามสติปัญญาของพระองค์ ถ้าเราทำอย่างนั้น เราก็จะ ‘รักษาสติปัญญาเอาไว้’ และจะได้ชีวิต—สภษ. 3:21, 22