คุณยอมให้ช่างปั้นหม้อองค์ยิ่งใหญ่นวดปั้นคุณไหม?
“พวกเจ้าอยู่ในมือเราเหมือนดินเหนียวที่อยู่ในมือช่างปั้นหม้อ”—ยรม. 18:6
1, 2. ทำไมพระเจ้าจึงถือว่าดาเนียลเป็นคนที่ “มีค่ามาก”? และเราจะเชื่อฟังเหมือนดาเนียลได้อย่างไร?
ตอนที่ชาวยิวถูกพาตัวไปบาบิโลน พวกเขาเข้าไปในเมืองที่มีรูปเคารพเต็มไปหมด และผู้คนที่นั่นก็กราบไหว้ปีศาจที่ชั่วร้าย แต่ชาวยิวที่ซื่อสัตย์อย่างดาเนียลกับเพื่อนอีก 3 คนไม่ยอมให้ผู้คนในบาบิโลนมีอิทธิพลต่อพวกเขา (ดนล. 1:6, 8, 12; 3:16-18) ดาเนียลกับเพื่อน ๆ ยอมให้พระยะโฮวานวดปั้นพวกเขา และนมัสการพระองค์ผู้เดียว แม้ดาเนียลอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายเกือบตลอดชีวิต แต่ทูตสวรรค์ของพระเจ้าบอกว่า เขาเป็น “คนที่พระเจ้าถือว่ามีค่ามาก”—ดนล. 10:11, 19
2 ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ช่างปั้นอาจกดดินเหนียวลงในพิมพ์เพื่อขึ้นรูปตามที่ต้องการ ทุกวันนี้ ผู้นมัสการแท้รู้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ปกครองเอกภพ พระองค์จึงมีสิทธิ์ที่จะให้ชาติต่าง ๆ เป็นอะไรก็ได้ตามที่พระองค์ต้องการ (อ่านเยเรมีย์ 18:6) พระองค์ยังมีสิทธิ์ที่จะนวดปั้นเราแต่ละคนให้เป็นอะไรก็ได้ แต่พระยะโฮวาไม่ได้บังคับใคร พระองค์อยากให้เราเต็มใจให้พระองค์นวดปั้น ในบทความนี้ เราจะ ได้รู้ว่า เราจะเป็นเหมือนดินเหนียวที่อ่อนนุ่มพร้อมให้พระเจ้านวดปั้นอยู่เสมอได้อย่างไร เราจะได้รู้คำตอบของ 3 คำถามต่อไปนี้ (1) มีนิสัยที่ไม่ดีบางอย่างซึ่งอาจทำให้เราไม่สนใจคำแนะนำของพระเจ้า และกลายเป็นเหมือนดินที่แข็ง เราจะไม่เป็นคนแบบนั้นได้อย่างไร? (2) เราจะพัฒนาคุณลักษณะที่ช่วยเราให้เป็นเหมือนดินเหนียวที่อ่อนนุ่มและเป็นคนเชื่อฟังเสมอได้อย่างไร? (3) พ่อแม่คริสเตียนจะร่วมมือกับพระเจ้าได้อย่างไรเมื่ออบรมสั่งสอนลูก?
ระวังนิสัยไม่ดีที่อาจทำให้เราเป็นเหมือนดินแข็ง
3. นิสัยหรือการกระทำที่ไม่ดีอะไรบ้างที่อาจทำให้เราเป็นเหมือนดินแข็ง? ขอยกตัวอย่าง
3 สุภาษิต 4:23 บอกว่า “ให้ปกป้องหัวใจของลูกยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เพราะชีวิตขึ้นอยู่กับหัวใจ” และเพื่อเราจะไม่เป็นเหมือนดินแข็ง เราต้องระวังนิสัยหรือการกระทำที่ไม่ดี เช่น เป็นคนหยิ่งยโส ทำบาปอยู่เรื่อย ๆ และขาดความเชื่อ ถ้าเราไม่ระวัง สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เรากลายเป็นคนไม่เชื่อฟังและไม่ยอมใคร (ดนล. 5:1, 20; ฮบ. 3:13, 18, 19) เรื่องนี้เกิดขึ้นกับกษัตริย์อุสซียาห์ของอาณาจักรยูดาห์ (อ่าน 2 พงศาวดาร 26:3-5, 16-21) ตอนแรก อุสซียาห์เชื่อฟังและมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า พระเจ้าจึงช่วยให้เขาแข็งแกร่ง แต่ “เมื่อเขาแข็งแกร่งแล้ว เขาก็กลายเป็นคนหยิ่ง” จนถึงขั้นจะเผาเครื่องหอมที่วิหารทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่ของปุโรหิตเท่านั้น เมื่อปุโรหิตบอกว่าเขาทำอย่างนั้นไม่ได้ อุสซียาห์ก็โกรธมาก พระยะโฮวาทำให้กษัตริย์ผู้หยิ่งยโสต้องรับความอับอาย เขาเป็นโรคเรื้อนจนถึงวันที่เขาตาย—สภษ. 16:18
4, 5. อาจเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ระวังและปล่อยตัวเองให้กลายเป็นคนหยิ่ง? ขอยกตัวอย่าง
4 ถ้าเราไม่ระวังและกลายเป็นคนหยิ่ง เราอาจเริ่มคิดว่าเราดีกว่าคนอื่นและอาจไม่ฟังคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิล (สภษ. 29:1; รม. 12:3) นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ดูแลที่ชื่อจิม เขาไม่เห็นด้วยกับผู้ดูแลคนอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องหนึ่งในประชาคม จิมพูดว่า “ผมบอกว่าพวกเขาไม่ได้แสดงความรัก แล้วผมก็เดินออกจากที่ประชุมไปเลย” ประมาณ 6 เดือนต่อมา เขาก็ย้ายไปประชาคมอื่นแต่ไม่ถูกแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลที่นั่น เขารู้สึกผิดหวังมาก แต่ก็ยังมั่นใจว่าเขาเป็นฝ่ายถูก จนในที่สุดเขาเลิกรับใช้พระยะโฮวาและเลิกออกประกาศถึง 10 ปี เขาบอกว่าในตอนนั้นเขาคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น และเริ่มตำหนิพระยะโฮวาที่ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น พี่น้องไปหาเขาและพยายามจะช่วยเขาอยู่หลายปี แต่จิมไม่ยอมรับความช่วยเหลือ
5 จิมบอกว่า “ผมอดไม่ได้ที่จะมองว่าคนอื่นเป็นฝ่ายผิด” ตัวอย่างนี้ช่วยให้เราเห็นว่า ความหยิ่งอาจทำให้เราหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง และถ้าเราเป็นอย่างนี้ เราก็ไม่ได้เป็นดินเหนียวที่อ่อนนุ่ม (ยรม. 17:9) คุณเคยโกรธพี่น้องไหม? คุณเคยเสียใจไหมที่สูญเสียสิทธิพิเศษอะไรบางอย่างไป? เมื่อเกิดเรื่องอย่างนี้คุณทำอย่างไร? คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก หรือคุณเห็นว่าการมีสันติสุขกับพี่น้องและการรักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด?—อ่านสดุดี 119:165; โคโลสี 3:13
6. จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราทำบาปอยู่เรื่อย ๆ?
6 การทำบาปอยู่เรื่อย ๆ และถึงกับปกปิดไว้จะทำให้เรายอมรับคำแนะนำที่มาจากพระเจ้ายากขึ้น และอาจทำให้เราทำบาปอย่างอื่นได้ง่ายขึ้นด้วย พี่น้องคนหนึ่งบอกว่า เมื่อเขาทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมอยู่เรื่อย ๆ ในที่สุด ความรู้สึกผิดก็ไม่รบกวนใจเขามากเหมือนเมื่อก่อน (ปญจ. 8:11) พี่น้องอีกคนหนึ่งเคยชอบดูภาพลามก เขายอมรับว่า “ผมเริ่มวิพากษ์วิจารณ์พวกผู้ดูแล” การทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องทำให้สายสัมพันธ์ของเขากับพระยะโฮวาเสียไป และในที่สุด พอคนอื่นรู้เรื่องที่เขาทำ เขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ดูแล จริงอยู่ เราทุกคนเป็นคนบาป ถ้าเราไม่ขอให้พระเจ้าให้อภัยเราและช่วยเรา แต่กลับเป็นคนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนที่มาให้คำแนะนำเรา หรือเรามักหาข้อแก้ตัวเมื่อทำผิด เราก็อาจกลายเป็นเหมือนดินแข็ง
7, 8. (ก) ชาวอิสราเอลในสมัยโบราณแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขาขาดความเชื่อ? (ข) เราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
7 ตอนที่พระยะโฮวาปลดปล่อยชาวอิสราเอลจากอียิปต์ พวกเขาเห็นพระองค์ทำการอัศจรรย์ที่น่าทึ่งหลายอย่าง ถึงอย่างนั้น เมื่อพวกเขาใกล้จะถึงแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาว่าจะยกให้พวกเขา พวกเขาก็มีใจแข็งกระด้าง ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? พวกเขาไม่ได้มีความเชื่อในพระเจ้า ไม่ได้วางใจในพระยะโฮวา แต่กลับกลัวและบ่นต่อว่าโมเสส พวกเขาถึงกับอยากกลับไปอียิปต์ ที่ที่พวกเขาเคยเป็นทาส พระยะโฮวาเสียใจมากและพูดว่า “ประชาชนพวกนี้จะลบหลู่เราอีกนานแค่ไหน?” (กดว. 14:1-4, 11; สด. 78:40, 41) ชาวอิสราเอลเหล่านี้ตายในที่กันดารก็เพราะพวกเขามีใจแข็งกระด้างและขาดความเชื่อ
8 ตอนนี้ เราก็ใกล้จะถึงโลกใหม่แล้ว นี่เป็นเวลาที่ต้องพิสูจน์ความเชื่อของเรา เราจึงต้องตรวจสอบว่าเรามีความเชื่อแค่ไหน แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรล่ะว่าเรามีความเชื่อที่เข้มแข็ง? ให้เราดูคำพูดของพระเยซูที่มัทธิว 6:33 แล้วถามตัวเองว่า ‘เป้าหมายและการตัดสินใจของฉันแสดงให้เห็นไหมว่า ฉันเชื่อคำพูดของพระเยซูจริง ๆ? ฉันจะยอมขาดการประชุมหรือไม่ออกประกาศเพื่อจะหาเงินมากขึ้นไหม? ฉันจะทำอย่างไรถ้าต้องทำงานหนักขึ้นและใช้เวลามากขึ้น? ฉันจะปล่อยให้โลกนี้หล่อหลอมฉันและอาจถึงกับทำให้ฉันเลิกรับใช้พระยะโฮวาไหม?’
9. ทำไมเราต้อง “คอยตรวจสอบ” ความเชื่อของเรา? และเราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?
9 ถ้าเราไม่ทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องการคบหาที่ไม่ดี เรื่องการตัดสัมพันธ์ หรือความบันเทิง เราอาจกลายเป็นคนใจแข็งกระด้าง คุณควรทำอย่างไรถ้าคุณเริ่มเป็นอย่างนี้? คุณต้องรีบตรวจสอบความเชื่อของคุณ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ให้พวกคุณคอยตรวจสอบตัวเองว่ายังใช้ชีวิตตามความเชื่อของคริสเตียนอยู่ไหม ทดสอบตัวเองอยู่เรื่อย ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าพวกคุณเป็นคนอย่างไรจริง ๆ” (2 คร. 13:5) ขอให้ซื่อสัตย์กับตัวเองโดยใช้คัมภีร์ไบเบิลเสมอเพื่อแก้ไขความคิดของคุณ
ให้เป็นเหมือนดินเหนียวที่อ่อนนุ่มอยู่เสมอ
10. อะไรจะช่วยเราให้เป็นเหมือนดินที่อ่อนนุ่มในมือของพระยะโฮวา?
10 เพื่อช่วยเราให้เป็นเหมือนดินที่อ่อนนุ่มอยู่เสมอ พระเจ้าให้เรามีคัมภีร์ไบเบิล มีประชาคม และให้ทำงานรับใช้ การอ่านคัมภีร์ไบเบิลแล้วคิดใคร่ครวญทุกวันจะช่วยเราให้เป็นเหมือนดินเหนียวที่อ่อนนุ่มในมือของพระยะโฮวาที่พร้อมจะให้พระองค์นวดปั้น พระยะโฮวาสั่งให้กษัตริย์ของอิสราเอลคัดลอกกฎหมายของพระองค์และอ่านทุกวัน (ฉธบ. 17:18, 19) พวกอัครสาวกรู้ว่า การอ่านพระคัมภีร์แล้วคิดใคร่ครวญเป็นเรื่องสำคัญมากในงานรับใช้ พวกเขาใช้ข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูหลายร้อยครั้งในงานเขียนของพวกเขา และตอนที่ไปประกาศ พวกเขาก็สนับสนุนให้ประชาชนใช้พระคัมภีร์ด้วย (กจ. 17:11) คล้ายกัน เราก็เห็นว่าการอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวันแล้วคิดใคร่ครวญเป็นเรื่องสำคัญ (1 ทธ. 4:15) การทำอย่างนี้จะช่วยเราให้ถ่อมตัวอยู่เสมอ แล้วพระยะโฮวาก็จะนวดปั้นเราได้
11, 12. พระยะโฮวาใช้ประชาคมคริสเตียนเพื่อช่วยเหลือเราแต่ละคนอย่างไร? ขอยกตัวอย่าง
11 พระยะโฮวารู้ว่า เราแต่ละคนต้องได้รับความช่วยเหลือในเรื่องอะไรบ้าง และพระองค์ใช้ประชาคมคริสเตียนเพื่อช่วยเรา จิมที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้เริ่มเปลี่ยนแง่ความผิดไม่ได้อยู่ที่พระยะโฮวา” และ “จงรับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดี” ในวารสารหอสังเกตการณ์ 15 พฤศจิกายน 1992
คิดเมื่อผู้ดูแลคนหนึ่งพยายามช่วยเขา จิมบอกว่า “พี่น้องคนนี้ไม่เคยตำหนิที่ผมเป็นอย่างนี้ เขาไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ผมเลยสักครั้ง เขามองในแง่บวกเสมอ และแสดงความจริงใจอยากจะช่วย” หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน ผู้ดูแลคนนี้ก็เชิญจิมมาประชุม จิมบอกว่าประชาคมต้อนรับเขาอย่างอบอุ่น และความรักของพี่น้องช่วยให้เขาเปลี่ยนความคิด เขาเริ่มเห็นว่าเขาไม่ควรเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นใหญ่ ผู้ดูแลในประชาคมและภรรยาของจิมให้กำลังใจเขา ความเชื่อของเขาค่อย ๆ เข้มแข็งขึ้น แล้วเขาก็กลับมารับใช้พระยะโฮวา จิมยังได้ประโยชน์จากการอ่านบทความเรื่อง “12 ในที่สุด จิมได้เป็นผู้ดูแลอีกครั้งหนึ่ง และตั้งแต่นั้นมา เขาได้ช่วยพี่น้องหลายคนที่มีปัญหาคล้ายกัน และช่วยให้ความเชื่อของพวกเขาเข้มแข็งขึ้น เขาบอกว่า เขาเคยคิดว่าเขามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เขาเสียใจที่ปล่อยให้ความหยิ่งมาบังตาจนทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่สำคัญกว่า แต่กลับเพ่งเล็งไปที่ความผิดของคนอื่น—1 คร. 10:12
13. งานรับใช้ช่วยเราให้มีลักษณะนิสัยอะไร? และมีประโยชน์อย่างไร?
13 งานรับใช้ยังช่วยนวดปั้นเราให้เป็นคนที่ดีขึ้นได้ด้วย เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร? เมื่อเราประกาศข่าวดี เราต้องแสดงลักษณะนิสัยหลายอย่าง เช่น ความถ่อมตัวและคุณลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากพลังของพระเจ้า กท. 5:22, 23) ขอให้คิดถึงลักษณะนิสัยดี ๆ ที่เกิดจากการออกไปรับใช้ เมื่อเราเลียนแบบพระคริสต์ ผู้คนก็สนใจข่าวสารของเราและอาจเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อเรา ตัวอย่างเช่น พยานฯสองคนในออสเตรเลียพยายามประกาศกับเจ้าของบ้านคนหนึ่ง เจ้าของบ้านคนนั้นโกรธมากแล้วก็พูดจาไม่สุภาพ แต่พยานฯสองคนนี้ก็ฟังและไม่ได้ตอบโต้อะไร ต่อมา ผู้หญิงคนนี้รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เธอทำไป จึงเขียนจดหมายไปที่สำนักงานสาขา ขอโทษที่เธอแสดงกิริยาไม่ดี เธอบอกว่า “ฉันโง่จริง ๆ ที่พยายามไล่คน 2 คนที่มาเผยแพร่ข่าวสารของพระเจ้า” จากประสบการณ์นี้ เราเห็นได้ว่าการเป็นคนสุภาพเมื่อเราประกาศก็มีประโยชน์ งานรับใช้ของเรานอกจากจะช่วยคนอื่นแล้ว ยังช่วยปรับปรุงนิสัยของเราเองให้ดีขึ้นด้วย
(ร่วมมือกับพระเจ้าเมื่ออบรมสั่งสอนลูก
14. พ่อแม่ต้องทำอะไรก่อนถ้าอยากอบรมสั่งสอนลูกให้ได้ผล?
14 ตามปกติแล้ว เด็ก ๆ จะถ่อมตัวและอยากเรียนรู้ (มธ. 18:1-4) พ่อแม่จึงน่าจะใช้ช่วงเวลานี้เพื่อช่วยลูกให้เรียนความจริงและรักความจริง (2 ทธ. 3:14, 15) และเพื่อจะทำได้ พ่อแม่เองต้องรักความจริงก่อน และเอาคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้ในชีวิตพวกเขา เมื่อพ่อแม่ทำอย่างนี้ ก็ง่ายขึ้นที่ลูกจะรักความจริง และลูกจะเข้าใจว่า ที่พ่อแม่อบรมสั่งสอนก็เพราะพ่อแม่รักพวกเขา และพระยะโฮวาก็รักพวกเขาด้วย
15, 16. พ่อแม่จะวางใจพระเจ้าอย่างไรถ้าลูกถูกตัดสัมพันธ์?
15 ถึงแม้พ่อแม่จะสอนความจริงให้ลูก แต่ลูกบางคนก็ทิ้งพระยะโฮวาหรือถูกตัดสัมพันธ์ ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ คนในครอบครัวคงต้องเสียใจมาก พี่น้องหญิงคนหนึ่งในแอฟริกาใต้บอกว่า “ตอนที่พี่ชายฉันถูกตัดสัมพันธ์ มันเหมือนกับว่าเขาได้ตายจากไปแล้ว ฉันเสียใจมาก” แต่เธอกับพ่อแม่ทำอย่างไร? พวกเขาทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล (อ่าน 1 โครินธ์ 5:11, 13) พ่อแม่รู้ว่าการเชื่อฟังคำแนะนำของพระเจ้าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน และพวกเขารู้ว่าการตัดสัมพันธ์เป็นการอบรมสั่งสอนด้วยความรักจากพระยะโฮวา พวกเขาจึงติดต่อกับลูกชายคนนี้เฉพาะเมื่อมีธุระจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
16 ลูกชายที่ถูกตัดสัมพันธ์รู้สึกอย่างไร? ต่อมาเขาบอกว่า “ผมรู้ว่าครอบครัวไม่ได้เกลียดผม แต่พวกเขาเชื่อฟังพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์” เขายังบอกอีกว่า “เมื่อคุณตกอยู่ในสภาพที่มีพระยะโฮวาเพียงผู้เดียวที่สามารถช่วยคุณและให้อภัยคุณได้ คุณจะเห็นว่าพระองค์มีความสำคัญกับคุณมากขนาดไหน” ลองนึกดูว่าครอบครัวนี้จะมีความสุขแค่ไหนเมื่อลูกชายคนนี้กลับมาหาพระยะโฮวา แน่นอน เราก็จะมีความสุขและประสบความสำเร็จเมื่อเราเชื่อฟังพระเจ้าเสมอ—สภษ. 3:5, 6; 28:26
17. ทำไมเราควรถ่อมตัวและเชื่อฟังพระยะโฮวาเสมอ? และการทำอย่างนี้จะเป็นประโยชน์กับเราอย่างไร?
17 ผู้พยากรณ์อิสยาห์บอกล่วงหน้าว่า ชาวยิวในบาบิโลนจะกลับใจและพูดว่า “พระยะโฮวา . . . พระองค์ก็ยังเป็นพ่อของเรา พวกเราเป็นดินเหนียว ส่วนพระองค์เป็นช่างปั้นหม้อ เราเป็นผลงานของพระองค์” พวกเขาจะขอพระยะโฮวาว่า “ขออย่าจดจำความผิดของเราตลอดไป ได้โปรดอย่าลืมว่าพวกเราเป็นประชาชนของพระองค์” (อสย. 64:8, 9) เมื่อเราถ่อมตัวและเชื่อฟังพระยะโฮวาเสมอ เราจะมีค่าในสายตาของพระองค์เหมือนดาเนียล พระยะโฮวาจะยังคงนวดปั้นเราโดยใช้คัมภีร์ไบเบิล พลังบริสุทธิ์ และองค์การของพระองค์ เพื่อว่าในอนาคตเราจะได้เป็น “ลูกของพระเจ้า” เป็นลูกที่สมบูรณ์พร้อม—รม. 8:21