การดูแลครอบครัวจากทั่วโลกการอบรมบุตรด้วยความรัก, การว่ากล่าวตักเตือน, วางตัวอย่าง, และการปลูกฝัง คุณค่าฝ่ายวิญญาณ
การดูแลครอบครัวจากทั่วโลกการอบรมบุตรด้วยความรัก, การว่ากล่าวตักเตือน, วางตัวอย่าง, และการปลูกฝัง คุณค่าฝ่ายวิญญาณ
บิดามารดาจากหลายประเทศ ได้ส่งรายงานความสำเร็จในการเลี้ยงดูลูกตั้งแต่วัยทารกจนตลอดวัยรุ่นของเขา. ทั้งหมดเป็นพยานพระยะโฮวา และฉะนั้นรายงานของเขาจึงเน้นถึงความจำเป็นที่ต้องเอาใจใส่สี่ด้านที่ระบุไว้ในหัวข้อเรื่อง. ข้อความที่คัดมาลงที่นี้สะท้อนเพียงแง่มุมต่างกันไม่กี่อย่างของการอบรมที่ปฏิบัติในครอบครัว.
จากฮาวาย
“ดังที่คัมภีร์ไบเบิลบอกเรา ความรักคือคุณลักษณะ ‘ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด.’ ความรักอันมีค่าในทุกมุมมองนั้นต้องแสดงออกทั้งบ้านและครอบครัวของเรา. แครอลและผมร่วมสำแดงคุณลักษณะของพระเจ้านี้ในชีวิตสมรสของเรา. เราใกล้ชิดกัน. เราชอบอยู่ด้วยกัน. ผมย้ำความเชื่อนี้ได้ทุกเมื่อว่า เคล็ดลับอันสำคัญต่อความสำเร็จในการเลี้ยงเด็กคือ คู่สมรสที่มีความสุข.
“ผมจำได้จนถึงวันนี้ถึงความรู้สึกอันทรงอานุภาพซึ่งตื้นตันใจนับวันนับสัปดาห์หลังจากลูกคนแรกคลอด. น่าอัศจรรย์ใจที่ชีวิตใหม่ก่อกำเนิดขึ้น. ผมจำได้ว่าเห็นแครอลมีความสุขและอิ่มใจมากขณะที่ให้ลูกเรเซลกินนม. ผมรู้สึกยินดีกับเธอ แต่ก็รู้สึกเคืองนิด ๆ อิจฉาหน่อย ๆ. แครอลกำลังผูกพันกับเรเซล แล้วผมล่ะ? ผมรู้สึกเหมือนกับถูกผลักออกไป—แม้จะด้วยความนิ่มนวล แต่ก็ถูกผลัก—ออกนอกศูนย์กลางของครอบครัว. ด้วยความช่วยเหลือของพระยะโฮวา ผมสามารถแสดงความรู้สึกและความห่วงใยต่อแครอลได้และเธอก็แสดงความเห็นใจและให้ความสนับสนุน.
“หลังจากนั้น ผมสามารถเข้ามาใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับทารกคนใหม่ของเราโดยช่วยงานจิปาถะเกี่ยวกับทารก รวมทั้งสิ่งที่ไม่น่ารื่นรมย์เท่าไร—การซักผ้าอ้อมที่เปื้อนอย่างน้อยพูดได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำแบบ! เรามีลูกอีกห้าคนต่อจากเรเซล รีเบคกาเป็นคนสุดท้อง ขณะนี้อายุ 8 ขวบแล้ว. เราได้นำการศึกษาพระคัมภีร์เป็นรายบุคคลกับลูกของเราแต่ละคน.
“อีกอย่างในเรื่องการเลี้ยงลูกตอนเล็ก ๆ. แครอลและผมสนุกกับการคุยกับทารกของเราตั้งแต่คลอดออกมา. เราพูดสารพัด. บางครั้งก็เรื่องของพระยะโฮวาและหัตถกิจอันงดงามชวนพิศวงของพระองค์. บางครั้งเราก็คุยเรื่องไร้สาระล้อเล่นสนุก ๆ. แน่ละ เราพยายามจะสอนอะไรบางอย่างแก่เขา แต่ยิ่งกว่านั้นเรามีเวลาหย่อนใจสนุกสนานเพลิดเพลินแบบไม่เป็นพิษเป็นภัยร่วมกัน. ผมเชื่อว่าการพูดคุยเช่นนั้นมีส่วนอย่างมากต่อความผูกพันระหว่างพ่อแม่กับลูก. ไม่ต้องสงสัยนั้นช่วยสร้างการพูดจาติดต่อที่ดีซึ่งมีในครอบครัวของเรา.
“พระยะโฮวาทรงสอนเราถึงค่านิยมฝ่ายวิญญาณที่ยิ่งใหญ่กว่า ได้แก่การให้ตัวของเราเอง. แครอลและผมไม่เคยมีข้าวของอะไรมาก แต่อันที่จริงเราก็ไม่ได้แสวงหาหรือคิดถึงมันเท่าไรนัก. ถ้าเราได้ใช้เวลาแสวงหาความร่ำรวย เราก็คงมีเวลาไม่พอเพื่ออุทิศให้พระยะโฮวาและครอบครัวของเรา. เราเลือกได้ถูกต้องแล้ว.” (ต่อไปเป็นความเห็นของแครอล.)
“ดิฉันคิดว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดาช่วยได้มากในความผูกพันระหว่างทารกกับแม่. คุณต้องใช้เวลามากเพื่ออุ้มและกอดลูกแนบไว้กับตัว ซึ่งก็ย่อมต้องใกล้ชิดกัน. แม่ไม่อาจปล่อยลูกไว้เกินกว่าสองถึงสี่ชั่วโมง. เอ็ดและดิฉันเข้มงวดมากในเรื่องปล่อยลูกไว้กับพี่เลี้ยง. ตั้งแต่ไหนแต่ไรดิฉันต้องการจะสอนทารกและดูเขาเติบโตขึ้น. ฉะนั้นในช่วงเวลาที่ยังเล็กอยู่ ดิฉันไม่ทำงานนอกบ้าน. ดิฉันคิดว่านั้นช่วยให้ลูก ๆ รู้ว่าพวกเขาสำคัญแค่ไหนสำหรับเรา. วิธีหลักในการใกล้ชิดกับลูกของคุณคือการใช้เวลาอยู่กับเขา. ไม่มีอะไรมาแทนที่การอยู่กับเขาด้วยตัวคุณเอง. ไม่มีวัตถุสิ่งของใด ๆ จะแทนตัวคุณได้.
“ช่วงวัยรุ่นจะยากก็เพียงแต่เพราะดิฉันต้องปรับตัวเข้ากับลูกที่กำลังโตขึ้น. ยากที่จะยอมรับความรู้สึกว่าลูกไม่ต้องการเรามากเหมือนเมื่อก่อนและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น. เป็นช่วงเวลาที่น่าตระหนกและเป็นการทดสอบงานสั่งสอน การว่ากล่าวตักเตือน และการนวดปั้นที่เราได้ทำไป. สายเกินไปแน่ถ้าคุณเริ่มเมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยรุ่น. ตอนนั้นจะสายเกินไปหากพยายามจะสอนหลักศีลธรรม สอนความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และเฉพาะอย่างยิ่งความรักต่อพระยะโฮวา. สิ่งเหล่านี้ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่คลอดออกมา.
“คุณมีเวลา 12 ปีที่จะทำงานให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่วัยรุ่นอันเป็นช่วงวิกฤติ. แต่ถ้าคุณได้บากบั่นใช้หลักการจากพระคัมภีร์ ก็เป็นเวลาที่คุณเกี่ยวเก็บความยินดีและสุขสงบเมื่อพวกเขาตัดสินใจว่าต้องการรับใช้พระยะโฮวาจากหัวใจ.”—เอ็ดเวิร์ดและแครอล ออเวนส์.
จากซิมบับเว
“ลูก ๆ คือ ‘มรดกจากพระยะโฮวา.’ คัมภีร์ไบเบิลว่าไว้อย่างนั้นในบทเพลงสรรเสริญ 127:3. การคำนึงถึงข้อนี้ในจิตใจ ได้ช่วยเราฐานะพ่อแม่ให้ทำทุกอย่างเท่า ที่ทำได้ในการดูแลมรดกนี้. ความเพียรพยายามที่สำคัญประการหนึ่งในครอบครัวของเรา คือทำอะไรร่วมกัน—อธิษฐานร่วมกัน ศึกษาพระคัมภีร์ร่วมกัน นมัสการร่วมกัน ทำงานร่วมกัน เยี่ยมเพื่อนฝูงร่วมกัน เล่นร่วมกัน.
“บางครั้งก็ต้องตีสอน. คราวหนึ่งลูกชายของเราในวัยแรกรุ่นกลับบ้านสาย. เราก็เป็นห่วง. เขาพูดแก้ตัวหลบเลี่ยง. เรารู้สึกว่าต้องมีอะไรผิดปกติแน่ แต่ก็พักเรื่องเอาไว้วันรุ่งขึ้น. ราว ๆ เที่ยงคืน เราได้ยินเสียงเคาะประตูห้องนอน. เป็นลูกชายของเรา เขามาด้วยน้ำตา.
“‘คุณพ่อ คุณแม่ครับ ผมนอนไม่หลับเลยตลอดสี่ชั่วโมง เพราะผมไม่ฟังเมื่อพ่อแนะนำจากพระคัมภีร์เรื่องการคบหาสมาคมที่ไม่ดี. หลังโรงเรียนเลิก เพื่อนบางคนเซ้าซี้ให้ผมไปว่ายน้ำด้วย และเด็กคนหนึ่งดันผมลงใต้น้ำ. ถ้าอีกคนไม่ช่วยไว้ ผมคงจมน้ำตาย. พวกเขาหัวเราะเยาะผมและเรียกผมว่าคนขี้ขลาด. ผมกลับบ้านโดยไม่แวะที่ไหน แต่อยู่นอกบ้านเพราะรู้สึกว่าทำผิด. ผมเสียใจที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่เมื่อเตือนถึงการคบหา1 โกรินโธ 15:33.
สมาคมที่ไม่ดี ดังที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล.’”—“เขาร้องไห้และเราก็ร้องไห้ด้วย. เราพอใจที่เขาได้บทเรียน แต่เราก็ต้องตีสอนเขาเพื่อให้ติดตรึงใจยิ่งขึ้น. เอ็กโซโด 34:6, 7 แสดงว่าพระยะโฮวาทรงไว้ซึ่งความเมตตาและให้อภัยความผิด แต่กระนั้น ‘พระองค์ไม่ละการลงโทษเป็นแน่.’”—เดวิดและเบ็ตติ มุปฟูรุรีร์วา.
จากบราซิล
“ดิฉันเป็นหญิงม่ายและต้องเลี้ยงลูกชายเอง. ในขณะเดียวกันก็ทำงานเป็นครูไปด้วย. ไม่ง่ายที่จะอบรมและตีสอนเด็ก. สิ่งจำเป็นคือ การอบรมสั่งสอนที่ทำปะติดปะต่อกัน การตีสอนที่สมดุล และตัวอย่างที่ดีในส่วนของพ่อแม่. ยากที่ดิฉันจะหนักแน่นและเห็นอกเห็นใจควบคู่กันไป. ดิฉันต้องพัฒนาศิลปะในการฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟังด้วยหัวใจ. สิ่งสำคัญคือการติดต่อสื่อความหมาย มิใช่แค่พูดจา แต่ทำให้ลูกเข้ามามีส่วนด้วย ทำให้เขาตอบรับด้วยความรู้สึก. ดิฉันพยายามทำให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนของครอบครัว โดยให้เขามีส่วนร่วมในการดูแลรายรับรายจ่ายของครอบครัว. เมื่อบิลค่าไฟค่าน้ำมาถึง หรือราคาเสื้อผ้าและรองเท้าสูงขึ้น เราหารือร่วมกันในเรื่องเหล่านี้.
“สำคัญที่จะชมเชยด้วยใจจริงสำหรับสิ่งที่ลูกทำได้ดี. เมื่อมีโอกาส ดิฉันจะแสดงให้เขาเห็นถึงคุณค่าของการปฏิบัติตามหลักการ และกฎหมายของพระเจ้า. คราวหนึ่ง หลังจากให้คำแนะนำเขาหลายครั้ง ดิฉันต้องใช้ไม้เรียวจริง ๆ. มันยากเย็นสำหรับดิฉัน แต่ผลที่ได้น่ายินดีเพียงไร! ในช่วงวัยเติบโต เราก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่เราก็ได้เห็นคุณค่าของการอบรมและการตีสอน. เขาบอกปัญหาส่วนตัวกับดิฉันและแสดงความรู้สึกในใจออกมา.
“ดิฉันต้องตื่นตัวเพื่อรักษาการสื่อความหมายอย่างต่อเนื่องกัน. ฉะนั้นดิฉันพยายามไม่ทุ่มเทกับงานอาชีพมากเกินไป เพื่อจะมีเวลาให้ลูกชายอยู่เสมอ. เมื่อเรามีปัญหาดิฉันพยายามฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ และอาศัยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา เราก็เอาชนะได้. ดิฉันบอกลูกว่าฉันก็ทำผิดเช่นกัน. คราวหนึ่ง ดิฉันโกรธมาก และบอกเขาให้ ‘หุบปาก.’ เขาบอกดิฉันว่าการบอกให้ใครคนหนึ่ง ‘หุบปาก’ แสดงการขาดความรัก. เขาพูดถูก. บ่ายวันนั้น เราพูดกันนานจริง ๆ.”—โญลันดา โมเรส.
จากเกาหลีใต้
“ผมใช้หลักการจากพระคัมภีร์ในชีวิตครอบครัวอย่างกระตือรือร้น. โดยเฉพาะพระบัญญัติ 6:6-9 ฝังลึกในหัวใจผม. ดังนั้น จึงพยายามอยู่กับลูกมากที่สุดเท่าที่ทำได้ พยายามใกล้ชิดลูก เพื่อปลูกฝังหลักการจากพระวจนะของพระเจ้าในจิตใจและหัวใจลูก. ผมเชิญมิชชันนารีเต็มเวลาและสมาชิกครอบครัวเบเธลมาบ้านของเรา เพื่อให้ลูกเกิดความรู้สึกรักงานรับใช้เต็มเวลา.
“สิ่งแรกที่บิดามารดาควรทำเมื่อเด็กสร้างปัญหาคือ แสดงผลของพระวิญญาณ. ง่ายที่จะเกิดความไม่สบายใจกับลูก ๆ และอารมณ์เสีย. อย่างไรก็ตาม เราฐานะบิดามารดาต้องอดทนและแสดงความประพฤติให้เห็นเป็นตัวอย่าง. นับว่าสำคัญที่จะให้ความนับถือลูก ๆ และให้เขามีโอกาสอธิบายสถานการณ์. ถ้าไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าทำผิด ก็จงวางใจเขาและเสริมสร้างเขาอยู่เสมอ. เมื่อคุณต้องตีสอนลูก ก่อนอื่นหาเหตุผลกับเขา แสดงให้เห็นว่าเขาทำผิดอะไร และชี้ว่าการกระทำนั้นพระยะโฮวาไม่พอพระทัยเพียงไร และพ่อแม่ก็เช่นกัน. แล้วจึงตีสอน. บ่อยครั้งลูกชายจะพูดหลังจากถูกตีสอนดังนี้: ‘พ่อครับ ผมไม่เข้าใจตัวเองว่า ทำไมจึงเป็นคนแข็งข้อ. ผมโง่มากนะครับ.’ พวกเขาหยั่งรู้ค่าพ่อแม่ที่ใส่ใจถึงขนาดตีสอนเขา.
“บิดามารดาต้องตื่นตัวต่อการเริ่มส่อเค้าของความประพฤติไม่ดี. เมื่อลูกชายคนโตอยู่ชั้นมัธยมปีที่สาม. ผมได้ยินเสียงดนตรีร็อคกระหึ่มมาจากห้องของเขา. ผมจึงได้รู้ว่าเขาเข้าร่วมกลุ่มสารวัตรนักเรียน (นักเรียนรุ่นพี่ที่วางตัวเป็นแบบอย่างซึ่งให้คำแนะนำนักเรียนคนอื่น) และเปิดช่องให้เขารับอิทธิพลของโลก. ผมมาทราบว่าภายใต้แรงกดดันต่อเนื่องจากสมาชิกในกลุ่มและจากความอยากรู้อยากเห็น เขาได้สูบบุหรี่. เราหาเหตุผลด้วยกันถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ และลูกชาย
ได้ลงความเห็นเองว่าเขาควรลาออกจากกลุ่ม ซึ่งเขาก็ทำจริง. เพื่อใช้เวลาว่างจากกิจกรรมอันรับไม่ได้ของโรงเรียนให้เป็นประโยชน์ เราก็ได้จัดนันทนาการที่ดีกับครอบครัวและสมาชิกในประชาคม.“ในที่สุด ผมอยากจะบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ พ่อแม่วางตัวอย่างอันดี. ผมเคยบอกลูกชายสองคนเสมอว่า ผมอยากรับใช้พระเจ้าเป็นผู้ประกาศข่าวดีเต็มเวลา. เมื่อลูกชายคนที่สองจบโรงเรียน ผมก็สามารถลาออกจากงานในโรงงานผ้าไหมและมาเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา. ลูกชายสองคนเห็นความตั้งใจแน่วแน่ของผมจึงทำตาม. หลังจากถูกคุมขังเนื่องจากประเด็นความเป็นกลางแล้ว ทั้งสองคนเข้าสู่งานเต็มเวลาและยังคงทำอยู่จนถึงทุกวันนี้.”—ซิม ยู กี.
จากสวีเดน
“เราเลี้ยงลูกมาเจ็ดคน ลูกชายห้าลูกสาวสองคน. ขณะนี้เป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว ทุกคนเอาจริงเอาจังในงานประกาศข่าวดี เรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. ตั้งแต่วัยทารก ลูก ๆ เข้าร่วมประชุมประชาคมและออกไปประกาศกับเรา. ที่ละขั้น ๆ ไป พวกเขาเรียนรู้การทำงานประกาศ—กดกริ่งประตู กล่าวคำทักทาย บอกชื่อ และเสนอใบปลิว, แผ่นพับ หรือวารสาร. เมื่ออายุยังน้อย พวกเขาขึ้นบรรยายในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบการของพระเจ้า.
“บางครั้งปัญหาร้ายแรงต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ. การแสดงความรักและความอดทนนับว่าสำคัญในตอนนั้น—ไม่ตะเบ็งเสียงหรือทะเลาะ. ปัญหาแก้ด้วยการหาเหตุผลและเน้นทัศนะของพระยะโฮวา. เราฝึกลูก ๆ เรื่องเงิน. เมื่อโตขึ้น พวกเขาทำงานส่งหนังสือพิมพ์ เก็บถ่านเลน ทำสวนและอื่น ๆ. การเยี่ยมปู่ย่าตายายซึ่งอยู่ไกลจากบ้าน ทำให้พวกลูก ๆ รู้ถึงปัญหาคนแก่ และแสดงความเห็นใจพวกเขา.
“ในวันแต่งงานครบรอบ 30 ปี เราได้รับจดหมายดังต่อไปนี้:
“‘แด่คุณพ่อคุณแม่อันเป็นที่รักของพวกเรา:
“‘ขอบคุณสำหรับทุกอย่าง! ความรักอันอบอุ่นที่ให้แก่พวกเราอย่างไม่อั้น ความเชื่ออันแท้จริงที่ปลูกฝังในตัวพวกเรา ความหวังอันน่าพิศวงที่คุณพ่อคุณแม่ให้พวกเรา—สิ่งเหล่านี้ไม่อาจตีค่าเป็นคำพูดหรือเงินได้. อย่างไรก็ดี เราหวังว่าโดยของที่ระลึกเล็ก ๆ นี้ ท่านทั้งสองจะเข้าใจว่าพวกเรารู้สึกเช่นนั้นต่อท่านมากแค่ไหน คุณพ่อคุณแม่ที่รักของเรา. [ลงชื่อ] ลูก ๆ ของท่าน.’
“มองย้อนไปยัง ‘โครงการ 20 ปี’ เหล่านี้ เรารู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา ผู้ซึ่งมีพระทัยเมตตาต่อเรา.”—เบอร์ทิลกับบริทตา เอิสท์เบิร์ก.
เกร็ดย่อยอันล้ำค่าจากบิดามารดา
“แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมมารดาเป็นวิธีการของพระยะโฮวาที่จะนำทารกให้ติดต่อทางกายอย่างใกล้ชิดกับแม่ แต่พ่อก็เสริมสิ่งนั้นได้โดยจัดเก้าอี้โยกให้. แทบทุกคืนดิฉันรู้สึกปีติยินดีในการโอบกอดเด็ก และโยกไปมาเพื่อให้ลูกหลับ.”
“ฐานะพ่อของลูก ผมไม่อาจเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง แต่ผมก็สัมผัสร่างกายลูกโดยอาบน้ำให้เป็นประจำตอนเย็น. ทั้งเขาและผมสนุกสนานมาก!”
“เป็นครั้งคราว ผมพาลูกทีละคนไปรับประทานอาหารกับผมตามลำพัง. พวกเขาชอบที่จะอยู่กับพ่อสองต่อสองแบบนี้.”
“ขณะที่เวลาผ่านไป ทีละเล็กทีละน้อย เราให้เขามีอิสระและความรับผิดชอบมากขึ้น. เหมือนกับสปริงที่กำไว้ในมือ ต้องค่อย ๆ คลาย เพื่อป้องกันไม่ให้กระเด็นออกโดยปราศจากการรั้งไว้.”
“แสดงความรักใคร่ให้มาก ๆ. เด็กไม่ตายเพราะกอดรัดและจูบหรอก—แต่ความรู้สึกเขาอาจจะตายหากไม่ได้รับสิ่งนั้น.”
“จงอดทน อย่าทำร้ายจิตใจเด็ก. อย่าบ่นว่าเขาอยู่ตลอดเวลา. ให้เขาเกิดความนับถือตัวเอง. เมื่อตำหนิหนึ่งครั้ง ชมเชยสี่ครั้ง!”
“ให้สิ่งดีที่สุดของคุณแก่เขา เพื่อทำให้เขาเป็นคนดีที่สุดเท่าที่เป็นได้.”
[รูปภาพหน้า 10]
เด็ก ๆ ที่อ่อนเยาว์เช่น รีเบคกา ต้องการความรักชอบที่แท้จริง
[รูปภาพหน้า 11]
การจัดเวลาทำสิ่งต่าง ๆ ร่วมกันจะช่วยเสริมสร้างความผูกพันของครอบครัวให้แน่นแฟ้น