การพูดเหน็บแนมก่อความเสียหายอย่างไร?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
การพูดเหน็บแนมก่อความเสียหายอย่างไร?
‘เธอเก่งไม่เบาเชียว . . .ขนาดหัวทื่ออย่างนี้นะ!’
‘กระโปรงชุดนี้สวยจริง. แต่น่าเสียดาย ที่ไม่มีขนาดของคุณ!’
‘คราวที่แล้วผมเห็นการแต่งหน้าแบบนี้ ก็ที่ละครสัตว์ไง.’
ถ้อยคำที่เจ็บแสบเหล่านี้ ไม่ว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างไรก็ตาม อาจบาดลึกลงไปในความรู้สึกนับถือตนเอง. แม้แต่เมื่อพูดแบบล้อเล่น คำพูดเหน็บแนมสามารถก่อผลในทางเป็นศัตรู ทำให้รู้สึกเจ็บใจ และทำลายมิตรภาพ.
อาจเป็นได้ที่คุณ “เก่ง” ในทางพูดเสียดสี. เพื่อน ๆ หัวเราะลั่นกับคำพูดเหน็บแนมของคุณที่จี้ตรงจุดและเหยียดผู้อื่นลง. พวกเขาเชียร์คุณและหนุนคุณให้คิดประดิษฐ์คำคม ๆ มากขึ้น. หรืออาจจะเป็นว่าการพูดเหน็บแนมเป็นวิธีป้องกันตัวที่สำคัญของคุณ. โดยมีคำพูดดุจอาวุธอยู่พร้อม คุณทำให้ใครก็ตามที่คุกคามสวัสดิภาพ—หรือทิฐิของคุณ—รับบาดแผลและพิการไปเลย. บางครั้งบางคราวคุณอาจจะใช้ถ้อยคำรุนแรงเมื่อพูดกับบิดามารดาหรือพี่น้องของคุณด้วยซ้ำ.
มีเวลาและโอกาสในการใช้คำเหน็บแนม. ลักษณะคำพูดเหน็บแนมแบบนิ่มนวลอาจเป็นเรื่องน่าขัน. และบางครั้งคำพูดเหน็บแนมสามารถบรรยายความรู้สึกลึก ๆ. ก็คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าอัครสาวกเปาโล โยบ และแม้แต่พระเจ้าพระองค์เองเคยใช้คำเหน็บแนมเพื่อพรรณนาความแค้นเคืองอย่างชอบธรรม. (โยบ 12:2; ซะคาระยา 11:13; 2 โกรินโธ 12:13) อย่างไรก็ตาม คำเหน็บแนมที่ขาดความกรุณาก็ไม่เป็นอะไรนอกจากพฤติกรรมที่รุนแรงและก้าวร้าว. ดังที่นักเขียนแมรี ซูซัน มิลเลอร์ ได้ชี้แจงในหนังสือ ไชล์ดสเตรส! ของเธอว่า คำเหน็บแนมเป็นรูปแบบของ “การแทงและชิงทรัพย์” เพียงแต่โดยใช้ “อาวุธที่สังคมยอมรับมากกว่า” การใช้ปืนหรือมีด.
กระนั้น หลายคนมองการพูดเหน็บแนมว่าเป็นเพียงอีกวิธีหนึ่งของการแสดงอารมณ์ขัน. ดังนั้น การทำดังกล่าวก่อความเสียหายอะไร?
เพียงความสนุกที่ไม่มีพิษมีภัยไหม?
เอริคกล่าวว่า “ที่ทำงานของผม ทุก ๆ คนใช้คำเหน็บแนม. ส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องตลก.” น่าสนใจที่ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า “นักจิตวิทยาบอกบ่อย ๆ ว่า . . . พวกผู้ชายมักมีปฏิกิริยากระตือรือร้นต่อคำพูดตลกที่ ‘ก้าวร้าว’ มากกว่าพวกผู้หญิง.” ดังนั้น ชายหนุ่มอาจจะชื่นชอบเป็นพิเศษในการหยอกล้อ ทำให้รำคาญ และก่อกวนคนอื่นด้วยวาจา.
จริงอยู่ คำเหน็บแนมแบบเบา ๆ อาจเป็นเรื่องน่าขัน. แต่เมื่อคำเหน็บแนมแฝงเจตนาร้าย ความเจ็บปวดจากคำเหน็บแนมอาจจะยังคงอยู่ต่อไปเป็นเวลานานหลังจากเสียงหัวเราะหายไป. (เปรียบเทียบสุภาษิต 14:13) บ่อยครั้งการปะทะคารมแบบเล่น ๆ กลายเป็นการโต้เถียง อย่างเผ็ดร้อน. ดังที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อคุณได้รับความเจ็บปวดมากโดยคำพูดของคนใดคนหนึ่ง คุณอาจจะโต้ตอบด้วยสิ่งที่เจ็บปวดมากที่สุดเท่าที่คุณคิดได้. แล้วก็ไม่ได้เป็นแค่การพูดตลกอีกต่อไป คุณมุ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บแสบ. และคำเหน็บแนมอาจเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ.”
ที่จริง คำในภาษาอังกฤษ “ซาแคซัม” มาจากคำกริยาในภาษากรีก ซึ่งตามตัวอักษรหมายถึง “การฉีกเนื้อเหมือนสุนัข.” (เปรียบเทียบฆะลาเตีย 5:15) เช่นเดียวกับสุนัขจะใช้ฟันหน้าที่คมกริบของมันฉีกเนื้อออกจากกระดูก คนที่พูดคำเหน็บแนมสามารถฉีกเกียรติภูมิของคนอื่น. ดังที่ เดอะ เจอร์นัล ออฟ คอนเทมโพรารี เอ็ธโนกราฟี กล่าวว่า “แก่นแท้ของคำเหน็บแนม . . . คือการเป็นปฏิปักษ์หรือการดูหมิ่นอย่างโจ่งแจ้ง.” ไม่สำคัญว่าจะเป็นการโจมตีซึ่ง ๆ หน้า, การดูหมิ่นอย่างแอบแฝง, หรือการพูดที่มิได้เจตนาจะพูด. คำพูดเหน็บแนมที่ขาดความกรุณา ทำให้ใครคนหนึ่งเป็นเป้าของการเยาะเย้ย—ตกเป็นเหยื่อ.
พร้อมด้วยผลกระทบอะไร? ดังที่โจช์ วัย 19 ปีกล่าวว่า “การพูดเหน็บแนมทำให้คุณ “ดูโง่เขลาจริง ๆ.” แต่ความเสียหายอาจจะคงอยู่นานกว่านั้น. ในหนังสือ ท็อกซิค แพเรนทส์ ของดร. ซูซาน ฟอร์วาร์ด เธอให้ข้อสังเกตถึงผลกระทบของการพูดโจมตีโดยบิดามารดาว่า “ดิฉันเคยเห็นคนไข้หลายพันรายที่ได้รับความทุกข์เนื่องจากความรู้สึกที่ว่าตนมีคุณค่าถูกทำลายเพราะบิดามารดาได้ . . . พูดตลกว่าเขางี่เง่า น่าเกลียด หรือไม่เป็นที่ต้องการเพียงใด.” ดังนั้นแล้ว ลองมโนภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากการพูดเหน็บแนมอย่างรุนแรงกับเพื่อน ผู้ที่รู้จักคุ้นเคย หรือพี่ ๆ น้อง ๆ. ดร. ฟอร์วาร์ด สรุปว่า “คำพูดตลกที่ดูหมิ่นสามารถก่อความเสียหายได้อย่างยิ่ง.”—เปรียบเทียบสุภาษิต 26:18,19.
ไม่แปลกที่หนังสือเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กได้สรุปว่า “คำพูดเหน็บแนม . . . ควรจะตัดทิ้งไปเลยจากคำพูดจาของมนุษย์. ตามปกติมันก่อให้เกิดความคั่งแค้น บ่อยครั้งบาดลึก และเกือบจะไม่เคยนำไปสู่การสนทนาเชิงสร้างสรรค์.”
หลีกเลี่ยงการพูดโดยไม่ยั้งคิด
แล้วจะทำอย่างไร ถ้าการพูดเสียดสีได้กลายเป็นนิสัยที่หยั่งรากลึก? ถ้าเช่นนั้นคงได้เวลาแล้วเพื่อเรียนรู้ที่จะคิดก่อนพูด. กษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาด กล่าวว่า “ท่านได้เห็นคนปากไวใจเร็วหรือ? ถึงจะหวังใจในคนโฉดก็ยังดีกว่าหวังใจในคนเช่นนั้น.”—สุภาษิต 29:20.
การพูดไม่ยั้งคิดอาจก่อความเสียหายโดยเฉพาะเมื่อใช้กับสมาชิกในครอบครัว. ทำไมล่ะ? เพนนีวัย 16 ปีอธิบายว่า “เพราะคำพูดของสมาชิกในครอบครัวมีความหมายมากที่สุดสำหรับคุณ.” กระนั้น หนังสือ เรซิง กูด ชิลเดน อ้างถึงคำพูดของนักการศึกษา จอห์น โฮล์ท ว่า “บ่อยครั้งที่สมาชิกในครอบครัวแสดงออกถึงความเจ็บปวดและ
ความล้มเหลวในชีวิตของพวกเขา ซึ่งเขาไม่กล้าแสดงออกกับคนอื่น.” สมาชิกในครอบครัวสนิทกันดีถึงกับพวกเขามักไม่อดทนกับข้อผิดพลาดของอีกฝ่ายหนึ่ง อารมณ์พลุ่งขึ้นอย่างง่ายดาย และแล้วก็ปล่อยคำเหน็บแนมออกมา.คัมภีร์ไบเบิลเตือนด้วยเหตุผลที่ดีว่า “การพูดมากมักมีความผิด แต่ผู้ที่ยับยั้งริมฝีปากของตนย่อมประพฤติเป็นคนมีปัญญา.” (สุภาษิต 10:19) ดัง โจแอน วัย 18 ปี ได้เรียนรู้ว่า “คุณควรจะคิดว่าคุณกำลังพูดกับใครและจะพูดอะไรก่อนจะเอ่ยปาก.” ถ้าคุณรู้ตัวว่าอารมณ์ว้าวุ่น อย่าเพิ่งพูดความรู้สึกออกมาทันที. แทนที่จะทำเช่นนั้น จงหยุดสักครู่และถามตัวเองว่า ‘คำพูดที่ฉันอยากจะพูดออกไปมีความกรุณาไหม? จำเป็นไหม? ภายหลังฉันจะเสียใจกับสิ่งที่ฉันพูดไหม?’
โดยวิเคราะห์คำพูดของคุณด้วยความระมัดระวัง คุณสามารถหลีกเลี่ยงการทำลายความรู้สึกของคนอื่น ๆ และคุณจะไม่ต้องรับความละอายใจ และความขวยเขินโดยไม่จำเป็น.
เมื่อคุณเป็นเหยื่อ
แต่จะว่าอย่างไร ถ้าคุณเป็นฝ่ายรับคำเหน็บแนม บางทีจากเพื่อนหรือเพื่อนในชั้นเรียน? ก่อนจำนนต่อความปรารถนาจะแก้แค้น ขอให้เข้าใจว่าเรามีชีวิตอยู่ในสมัย “วิกฤติกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) หนุ่มสาวเผชิญกับความกดดันมากมาย. หนังสือ เดอะ โลนลีเนส ออฟ ชิลเดร็น ให้ข้อสังเกตว่า “เด็ก ๆ. . . นำเอา อคติ, ความเกลียด, ความก้าวร้าว, ความมุ่งร้ายที่สะสมไว้มาที่โรงเรียนของตน ซึ่งพวกเขาได้รับการสอนที่บ้าน.” ความมุ่งร้ายเช่นนี้ บ่อยครั้งถูกปล่อยออกไปในลักษณะคำพูดที่รุนแรง.
การเรียนรู้สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยคุณให้หลีกเลี่ยงนิสัยการแก้แค้นเมื่อคุณตกเป็นเหยื่อ. (เปรียบเทียบสุภาษิต 19:11) ช่วยได้เช่นกัน ถ้าจะจำถ้อยคำของเปาโลที่ว่า “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย.” (โรม 12:17) ‘การหันแก้มอีกข้างหนึ่ง’ ให้กับใครสักคนผู้ซึ่งได้ตบคุณด้วยวาจาต้องใช้การควบคุมตนเองอย่างแท้จริง. (มัดธาย 5:39) แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ต้องโต้ตอบประการใดเมื่อการพูดเหน็บแนมกลายเป็นการพูดสบประมาท—หรือเป็นการคุกคาม. หนังสือ ไวโอเลนซ์ โดย เออร์วิน คูทาส ผู้ประพันธ์ร่วมคนหนึ่ง ให้ข้อสังเกตว่า “การสบประมาทซึ่งไม่มีการโต้ตอบอย่างเป็นผลสำเร็จ อาจมีผลกระทบกว้างไกลต่อผู้ตกเป็นเหยื่อ . . . ผู้เป็นเหยื่อเหล่านี้กลายเป็นเป้าหมายง่าย ๆ สำหรับก้าวต่อไปของการตกเป็นเหยื่อ.”
ดังนั้น บางครั้งอาจมีเหตุผลตามสถานการณ์เพื่อคุณจะโต้ตอบการโจมตีทางวาจา ไม่ใช่โดยการประณามกลับด้วยถ้อยคำที่มุ่งร้าย แต่ด้วยใจสงบและมีสันติพูดกับคนที่ทำร้ายคุณเป็นส่วนตัว. * (สุภาษิต 15:1) โจแอน ลองดูสิ่งนี้โดยบอกเพื่อนร่วมชั้นว่า “ฉันไม่ชอบคำวิจารณ์ที่คุณพูดหน้าชั้นเรียน. มันทำให้เจ็บจริง ๆ.” ผลหรือ? โจแอนกล่าวว่า “ตั้งแต่นั้นเขาเคารพฉัน และไม่เคยพูดอะไรอีกเลย.”
อย่างไรก็ตาม เดวิด วัย 20 ปี ชี้ถึงแหล่งที่มาอีกแหล่งหนึ่งของคำพูดที่ก่อความเสียหาย โดยกล่าวว่า “พ่อแม่ของคุณควรจะให้ความรักกับคุณมากที่สุด กระนั้น บางครั้งท่านอาจออกความเห็นที่เจ็บแสบที่สุด.” แน่นอน บ่อยครั้งทำไปโดยไม่เจตนา โดยพยายามจะแก้ไขคุณ พวกท่านทำให้คุณเจ็บปวดโดยไม่ตั้งใจ. ทำไมไม่พยายามพูดกับคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ บอกท่านว่าคุณรู้สึกอย่างไร? บางที ท่านจะไวมากขึ้นต่อความรู้สึกของคุณในครั้งต่อไป.
ท้ายสุด อาจช่วยได้ถ้าคุณไม่คำนึงถึงความรู้สึกของตนเองจนเกินไป. นักเขียน โดแนลด์ ดับบึลยู. บอลล์ ให้ข้อสังเกตว่า “พิษสงของคำพูดเหน็บแนม . . . อยู่ที่ผลลัพธ์ซึ่งมโนภาพไว้ในใจ.” ใช่แล้ว ไม่ควรขยายเหตุการณ์ให้ผิดขนาดไป โดยมโนภาพว่าคุณได้รับความเสียหายที่แก้ไขไม่ได้ เพราะคำพูดที่ขาดความกรุณาเพียงครั้งเดียว. จงมีอารมณ์ขัน!
กระนั้น วิธีดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของคำเหน็บแนม คือเลี่ยงการใช้คำพูดเหน็บแนมด้วยตนเอง. กฎทองบอกว่า “เหตุฉะนั้นสิ่งสารพัดซึ่งท่านปรารถนาให้มนุษย์ทำแก่ท่าน จงกระทำอย่างนั้นแก่เขาเหมือนกัน.” (มัดธาย 7:12) เมื่อคุณนำกฎนี้ไปประยุกต์ใช้ คุณสามารถหลีกเลี่ยงการเป็นฝ่ายพูด—และบางทีการตกเป็นเหยื่อ—ของการพูดเหน็บแนม ที่ก่อความเจ็บปวด.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 24 ดูบทความ “หนุ่มสาวถามว่า . . . ฉันสามารถทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับนักเรียนอันธพาล?” ในตื่นเถิด (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 8 สิงหาคม 1989.
[รูปภาพหน้า 24]
คำเหน็บแนมสามารถก่อความเจ็บปวดได้