ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

น้ำหอมราคาแพง

น้ำหอมราคาแพง

น้ำหอม​ราคา​แพง

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด ใน​ฝรั่งเศส

แสง​ทอง​ใน​ยาม​อรุณ​รุ่ง​เป็น​สัญญาณ​แห่ง​วัน​อัน​สดใส​ใน​ฤดู​ร้อน. คน​เก็บ​ดอกไม้​รีบ​เร่ง​ออก​ไป​ยัง​ทุ่ง​ดอก​จัสมิน (อยู่​ใน​จำพวก​เดียว​กับ​ดอก​มะลิ). ดอกไม้​สี​ขาว​บอบบาง​พร้อม​ที่​จะ​เก็บ และ​อากาศ​ก็​อบ​อวล​ไป​ด้วย​กลิ่น​หอม​ของ​ดอกไม้​เหล่า​นี้.

พวก​คน​งาน​เริ่ม​งาน​หนัก​ของ​เขา​ด้วย​ความ​ชำนาญ​โดย​ใช้​มือ​ทั้ง​สอง. ไม่​นาน​นัก กระเป๋า​ขนาด​ใหญ่​ซึ่ง​ทำ​ไว้​ที่​ผ้า​กัน​เปื้อน​ของ​พวก​เขา​ก็​เต็ม​ปรี่​ด้วย​ดอกไม้. พวก​เขา​ทำ​งาน​อย่าง​ไม่​รู้​จัก​เหน็ด​เหนื่อย ก้ม​ตัว​อยู่​ใต้​แสง​อาทิตย์​ร้อน​จ้า. คน​งาน​ที่​ชำนาญ​สามารถ​เก็บ​ดอกไม้​ได้​ถึง​สี่​กิโลกรัม (40,000 ดอก) ใน​เช้า​วัน​เดียว. จาก​นั้น ดอกไม้​ที่​พวก​เขา​เก็บ​มา​จะ​ถูก​ใส่​ลง​ใน​ถัง​และ​รีบ​ส่ง​ไป​ยัง​โรง​งาน​ก่อน​ที่​กลิ่น​หอม​จะ​จาง​หาย​ไป.

เมือง​กราสส์ ซึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​ของ​ฝรั่งเศส ใกล้​กับ​เมือง​นีซ มี​ชื่อเสียง​ใน​เรื่อง​น้ำหอม. เป็น​เวลา​ยาว​นาน​ที​เดียว​ที่​ดอก​จัสมิน​เป็น​ราชินี​แห่ง​ดอกไม้​ของ​เมือง​นี้. อย่าง​ไร​ก็​ดี เมื่อ​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้​ใน​อียิปต์​กลับ​มี​การ​ปลูก​ดอก​จัสมิน​ปริมาณ​มาก​กว่า.

ต้อง​ใช้​ดอก​จัสมิน​ประมาณ 650 ถึง 750 กิโลกรัม (ประมาณ​เจ็ด​ล้าน​ดอก) เพื่อ​จะ​ได้​มา​ซึ่ง​สิ่ง​ที่​เรียก​กัน​ว่า​หัว​น้ำหอม​บริสุทธิ์ เข้มข้น​หนึ่ง​กิโลกรัม ซึ่ง​มี​ราคา​ราว ๆ 500,000 บาท​ต่อ​หนึ่ง​กิโลกรัม ใน​ฝรั่งเศส. แต่​หัว​น้ำหอม​บริสุทธิ์​นี้​ผลิต​กัน​อย่าง​ไร?

กรรมวิธี​สกัด​กลิ่น​ดอกไม้​และ​พันธุ์​ไม้

น้ำมัน​ระเหย​หรือ​ตัว​ทำ​ละลาย เช่น เบนซิน มัก​ใช้​กัน​เพื่อ​สกัด​หัว​น้ำหอม​ต่าง ๆ และ​ใช้​เป็น​น้ำ​ยา​ใน​กรรมวิธี​สกัด. ตะกร้า​โลหะ​ที่​เจาะ​เป็น​รู​ซึ่ง​บรรจุ​ดอกไม้​ถูก​จุ่ม​ลง​ใน​ตัว​ทำ​ละลาย. ตัว​ทำ​ละลาย​นี้​จะ​ซึม​ผ่าน​ดอกไม้​แล้ว​ก็​ถูก​กลั่น​ออก​ไป. จะ​มี​การ​ดำเนิน​กรรมวิธี​นี้​ซ้ำ​อีก​จน​กระทั่ง​น้ำมัน​หอม​ถูก​สกัด​จาก​ดอกไม้​จน​หมด​พร้อม​กับ​ไข​ที่​ไม่​ละลาย.

ด้วย​วิธี​นี้ ก็​ได้​ผลิตผล​ที่​เหนียว​และ​เข้มข้น​ซึ่ง​เรียก​ว่า​คอน​ครีต (น้ำมัน​ปน​ไข) ออก​มา. หัว​น้ำหอม​จะ​ได้​จาก​การ​แยก​น้ำมัน​หอม​ออก​จาก​ไข. มี​การ​ใช้​กรรมวิธี​ทำ​ละลาย​ส่วน​ใหญ่​สำหรับ​ดอกไม้​หลาก​พันธุ์​ที่​ค่อนข้าง​บอบบาง​เช่น จัสมิน, กุหลาบ, มิโมซา, ไวโอเลต, และ​ทิวเบอโรส.

มี​การ​ใช้​ตัว​ทำ​ละลาย​ที่​ระเหย​ได้​นี้​ด้วย​ใน​การ​สกัด​เอา​หัว​น้ำหอม​จาก​พันธุ์​ไม้​ที่​ถูก​ทำ​ให้​แห้ง เช่น วานิลลา​และ​อบเชย ใช้​เพื่อ​ทำ​ให้​ยาง​ไม้​ละลาย เช่น ยาง​ของ​ต้น​เมอร์​และ​ยาง​เปอร์เซีย และ​ยัง​ใช้​แปรรูป​สาร​ต่าง ๆ จาก​ตัว​สัตว์​เพื่อ​นำ​มา​เป็น​สาร​ตรึง​กลิ่น. สาร​ชนิด​นี้​ทำ​ให้​การ​ระเหย​ของ​หัว​น้ำหอม​ช้า​ลง​ดัง​นั้น​จึง​ทำ​ให้​กลิ่น​หอม​คงทน​อยู่​นาน.

ใน​จำพวก​สาร​ที่​ได้​จาก​สัตว์​เพื่อ​นำ​มา​เป็น​ตัว​ยา​ตรึง​กลิ่น​ก็​คือ ไข​ปลา​วาฬ​จาก​ปลา​วาฬ​หัว​ยักษ์, น้ำมัน​จาก​ตัว​บีเวอร์, สาร​มี​กลิ่น​จาก​กวาง​ชะมด​ตัว​ผู้, และ​น้ำมัน​จาก​ชะมด​เอธิโอเปีย. แต่​สาร​ตรึง​กลิ่น​ที่​หา​ได้​ยาก​และ​มี​ราคา​แพง​เหล่า​นี้​กำลัง​มี​แนว​โน้ม​จะ​ขาด​ตลาด.

อีก​กรรมวิธี​หนึ่ง​ที่​ใช้​กัน​ทั่ว​ไป​ก็​คือ​การ​กลั่น​ด้วย​ไอ​น้ำ. กรรมวิธี​นี้​ต้อง​ใช้​เครื่อง​ต้ม​กลั่น​และ​ท่อ​ที่​ขด​เป็น​วง ซึ่ง​ก็​คือ​ท่อ​ควบ​แน่น​ที่​ขด​เป็น​วง​เพื่อ​จะ​สกัด​หัว​น้ำหอม​ซึ่ง​จำเป็น​อย่าง​ยิ่ง​ต่อ​ผู้​ผลิต​น้ำหอม. การ​กลั่น​เป็น​วิธี​ที่​เหมาะ​กับ​พวก​พันธุ์​ไม้​อย่าง​เช่น ลาเวนเดอร์​และ​ซิทรอเนลลา ซึ่ง​ไอ​น้ำ​ไม่​ทำ​ให้​กลิ่น​เสื่อม​คุณภาพ.

ดอกไม้​ถูก​ใส่​ไว้​ใน​เครื่อง​ต้ม​กลั่น จม​อยู่​ใน​น้ำ และ​ต้ม​ให้​เดือด​อย่าง​ช้า ๆ. ไอ​น้ำ​ซึ่ง​นำ​เอา​น้ำมัน​หอม​ไป​ด้วย​จะ​กลาย​เป็น​ของ​เหลว​อีก​ครั้ง​เมื่อ​ผ่าน​ท่อ​เครื่อง​ควบ​แน่น. กรรมวิธี​นี้​ผลิต​ทั้ง​หัว​น้ำหอม​และ​น้ำหอม​จาก​ดอกไม้ เช่น​น้ำหอม​ดอก​กุหลาบ, น้ำ​ดอก​ส้ม. โอเดอโคโลญจ์ * คุณภาพดี ประกอบ​ด้วย มะนาว, ส้ม, หรือ น้ำมัน​มะกรูด. น้ำมัน​เหล่า​นี้​ได้​มา​โดย​การ​คั้น​เปลือก​ผลไม้​เหล่า​นั้น​นั่น​เอง.

อุตสาหกรรม​น้ำหอม ยัง​คง​ใช้​ผลิตภัณฑ์​จาก​ธรรมชาติ​เช่น​นี้​หลาย​ร้อย​ชนิด. แต่​ปัจจุบัน​มี​การ​ใช้​สาร​สังเคราะห์​กัน​อย่าง​กว้างขวาง​หลาย​พัน​ชนิด.

สาร​สังเคราะห์

ใน​ช่วง​สอง​ร้อย​ปี​ที่​ผ่าน​มา​นี้ การ​ค้น​พบ​เกี่ยว​กับ​ส่วน​ประกอบ​ทาง​เคมี​ของ​สาร​ต่าง ๆ ที่​มี​กลิ่น​หอม​ได้​เพิ่ม​ความ​รู้​มาก​มาย​แก่​ศิลปะ​แห่ง​การ​ผลิต​น้ำหอม. จน​ถึง​บัด​นี้​มี​การ​ทำ​รายการ​กลิ่น​หอม​ทาง​เคมี​ประมาณ 10,000 กลิ่น.

น้ำหอม​ของ​ดอกไม้​ชนิด​หนึ่ง​เป็น​การ​ผสม​อย่าง​มหัศจรรย์​ของ​องค์​ประกอบ​ทาง​เคมี​มาก​มาย​หลาย​อย่าง. ตัว​อย่าง​เช่น พวก​นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​แยก​ส่วน​ผสม​ถึง 200 ชนิด​ซึ่ง​ประกอบ​เป็น​กลิ่น​หอม​จัสมิน​ตาม​ธรรมชาติ. กระนั้น ใน​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่​ยี่​สิบ​นี้ มี​องค์​ประกอบ​เพียง​หก​ชนิด​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน.

จาก​นั้น พวก​นัก​วิทยาศาสตร์​จึง​ได้​พยายาม​ผลิต​ซ้ำ​องค์​ประกอบ​ที่​แยกแยะ​ออก​ใหม่ ๆ แต่​ละ​อย่าง​ขึ้น​มา. บาง​ครั้ง พวก​เขา​ได้​คิด​ค้น​สร้าง​สาร​ต่าง ๆ ซึ่ง​ให้​กลิ่น​ชนิด​ที่​ไม่​เคย​มี​มา​ก่อน​เลย และ​ไม่​มี​กลิ่น​อะไร​ใน​ธรรมชาติ​ที่​เหมือน. สาร​ให้​กลิ่น​หอม​บาง​อย่าง​ได้​ถูก​ใช้​สร้าง​น้ำหอม​อัน​มี​ชื่อ​ที่​สุด​ใน​โลก​ขึ้น​มา​บาง​ชนิด.

มัก​จะ​ต้อง​ค้นคว้า​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​เพื่อ​สร้าง​สาร​สังเคราะห์​ทาง​เคมี​ขึ้น​มา และ​ก็​เป็น​ขบวนการ​ที่​มี​ค่า​ใช้​จ่าย​สูง. ใน​บาง​กรณี กรรมวิธี​เหล่า​นี้​ได้​ผลิต​ซ้ำ​กลิ่น​ซึ่ง​เป็น​กลิ่น​แท้ ๆ ของ​ดอกไม้​ที่​ยัง​สด​อยู่​บน​ต้น แต่​น้ำมัน​ธรรมชาติ​ซึ่ง​ได้​มา​จาก​ดอกไม้​ที่​เก็บ​มา ได้​เสื่อม​คุณภาพ​ไป​บ้าง​แล้ว.

นาย ฌอง เดอ ลาสตรานส์ ผู้​อำนวย​การ​แห่ง​พาร์​ฟูม​เมอรี ฟราโกนารด์​ใน​ฝรั่งเศส ชี้​แจง​ว่า “อุตสาหกรรม​น้ำหอม​ใน​ปัจจุบัน​ไม่​สามารถ​ดำเนิน​การ​ได้​โดย​ไม่​มี​สาร​สังเคราะห์​ต่าง ๆ ทาง​เคมี. หัว​น้ำหอม​ธรรมชาติ​ทั้ง​หมด​ใน​โลก​ไม่​อาจ​สนอง​ความ​ต้องการ​ของ​ตลาด​นานา​ชาติ​ได้​เลย.” แต่​ไม่​ใช่​ดอกไม้​ทุก​ชนิด​ที่​ได้​เผย​ความ​ลับออก​มา​ให้​เรา. อย่าง​เช่น ยัง​ไม่​มี​ใคร​เลย​ที่​ค้น​พบ​สาร​สังเคราะห์​สำหรับ​กลิ่น​แท้ ๆ ของ​ดอก​ลิลี ออฟ เดอะ แวลลี.

นัก​ปรุง​แต่ง​น้ำหอม

น้ำหอม​ชนิด​เดียว​มี​ส่วน​ผสม​ต่าง ๆ ถึง 30 หรือ 50 หรือ​กระทั่ง​ถึง 100 ชนิด ไม่​ว่า​จะ​เป็น​น้ำหอม​บริสุทธิ์, หัว​เชื้อ, หรือ สาร​สังเคราะห์. แต่​เรื่อง​ยัง​ไม่​หมด​เพียง​เท่า​นี้.

นัก​ปรุง​น้ำหอม​มือ​เอก​ไม่​เพียง​แต่​ต้อง​สามารถ​แยกแยะ​ส่วน​ผสม​ทั้ง​หมด​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ต้อง​ทราบ​วิธี​ผสม​ตาม​ลักษณะ​ที่​สัมพันธ์​กัน​ด้วย. เขา​ต้อง​ระมัดระวัง​อย่าง​ยิ่ง​กับ​อัตรา​ส่วน​ต่าง ๆ และ​คำนึง​ด้วย​ว่า​ส่วน​ประกอบ​บาง​อย่าง​ทน​นาน​หรือ​ไม่. เขา​ต้อง​มี​ดุลยพินิจ​พิเศษ ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​เขา​สามารถ​แยกแยะ​กลิ่น​ที่​ต่าง​กัน​ถึง 3,500 กลิ่น​ที่​ใช้​ใน​การ​ผสม​เป็น​น้ำหอม​ซึ่ง​มี​กลิ่น​ต่าง ๆ หลาย​หลาก​ไม่​รู้​จบ​สิ้น.

แน่นอน นัก​ปรุง​น้ำหอม​มือ​เอก​จำ​ต้อง​ได้​ผ่าน​การ​ฝึก​หัด. ไม่​ยาก​ที่​จะ​เข้าใจ​ถึง​เหตุ​ผล​เมื่อ​เรา​คิด​ดู​ว่า​อวัยวะ​การ​ดม​กลิ่น​อัน​ซับซ้อน​ของ​มนุษย์​นั้น​ประกอบ​ไป​ด้วย​เส้นใย​ประสาท​หลาย​สิบ​ล้าน​เส้น​ที​เดียว. แต่​ละ​เส้นใย​สามารถ​ส่ง​ผ่าน​ข้อมูล​อย่าง​อิสระ​ต่าง​หาก​จาก​เส้น​อื่น ๆ. ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ เลอ พาร์ฟูม เอ็ดมันด์ รุดนีทสกา ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “จำนวน​กลุ่ม​ของ​เส้นใย​ประสาท​ถ่ายทอด​สัญญาณ​หลาย​ล้าน​เส้น​ที่​เชื่อม​โยง​กัน​ซึ่ง​อาจ​เป็น​ได้​ว่า​มี​จำนวน​มหาศาล​นั้น . . . สามารถ​รับ​ข้อมูล​ของ​กลิ่น​ซึ่ง​เป็น​ข้อมูล​ที่​ละเอียด​ยิบ​ไม่​จำกัด​จาก​ฆานประสาท ซึ่ง​ทำ​ให้​เป็น​ไป​ได้ . . . ที่​จะ​แยกแยะ​ความ​แตกต่าง​ที่​ละเอียด​ที่​สุด.”

อาจ​เปรียบ​นัก​ปรุง​น้ำหอม​มือ​เอก​ได้​กับ​นัก​ดนตรี​ที่​คิด​รำพึง​ถึง​ท่วง​ทำนอง​หลัก​ของ​เพลง ฟัง​เสียง​โน้ต​เพลง​หลัก​นั้น​ใน​ใจ​ก่อน​จะ​เขียน​ลง​บน​กระดาษ​เพื่อ​เล่น​โดย​เครื่อง​ดนตรี. นัก​ปรุง​น้ำหอม​ก็​ทำ​ใน​ทำนอง​เดียว​กัน “โน้ต” หรือ​ตัว​กำหนด​กลิ่น​อยู่​ใน​ใจ​ของ​เขา ตอน​นี้​ก็​มา​เขียน​สูตร​ของ​เขา ซึ่ง​พร้อม​จะ​ทำ​การ​ทดสอบ​ใน​ห้อง​ปฏิบัติการ.

ที่ “ออร์แกน” พิเศษ​ของ​นัก​ปรุง​น้ำหอม เรียก​อีก​อย่าง​ว่า​ถาด​ผสม​กลิ่น​หรือ​แท่น​คีย์ มี​การ​เก็บ​ขวด​หัว​น้ำหอม​ขนาด​เล็ก​จำนวน​มาก เขา​หยด​หัว​น้ำหอม​ที่​เลือก​ไว้​เป็น​ส่วน​ผสม​ไม่​กี่​มิลลิกรัม​ลง​บน​แถบ​กระดาษ​ซับ​แคบ ๆ. ใน​ฐานะ “นัก​ปรุง​แต่ง​น้ำหอม” เขา​เลือก “โน้ต” เหล่า​นี้​เพื่อ​ประกอบ​เป็น “คอร์ด” ที่​ต่อ​เนื่อง​กัน ราว​กับ​ว่า​เขา​กำลัง​แต่ง​ดนตรี​ประสาน​เสียง​อยู่.

ส่วน​ประกอบ​ต่าง ๆ มี​ระดับ​การ​ขจร​ขจาย​ที่​ต่าง​กัน และ​เมื่อ​เปิด​ขวด​น้ำหอม กลิ่น​ที่​จมูก​สัมผัส​ได้​เป็น​อันดับ​แรก ฟุ้ง​ขจร​ง่าย​ที่​สุด หรือ​เรียก​ว่า​โน้ต​สูง​สุด​นั้น​ฟุ้ง​ออก​เป็น​อันดับ​แรก. กลิ่น​นี้​ตรึง​ใจ แต่​ก็​จาง​เร็ว โน้ต​ที่​เด่น ๆ เหล่า​นี้​อาจ​เป็น​กลิ่น​จำพวก​ส้ม เช่น มะนาว​หรือ​บิกาเรด (ส้ม​เปรี้ยว). ฌอง เดอ ลาสตรานส์​อธิบาย​ต่อ​ไป​ว่า “นี่​เป็น​ขั้น​ตอน​สำคัญ​ที่​สุด​และ​ละเอียดอ่อน​ที่​สุด​ใน​การ​ผสม​น้ำหอม. ที่​จริง ถ้า​โน้ต​สูง​ไม่​ประสบ​ผล​สำเร็จ น้ำหอม​นั้น​จะ​ล้มเหลว. กลิ่น​น้ำหอม​จะ​ต้อง​มี​ความ​ดึงดูด​ใจ​ใน​ทันที​ที่​ได้​กลิ่น.”

ภาย​หลัง​ต่อ​มา​เท่า​นั้น​ที่​โน้ต​กลาง ๆ ซึ่ง​คง​อยู่​นาน​กว่า​จะ​ปรากฏ​ขึ้น​มา คือ​กลิ่น​หอม​เช่น กุหลาบ​และ​จัสมิน. สุด​ท้าย​ก็​จะ​ได้​กลิ่น​โน้ต​ที่​อยู่​ส่วน​ล่าง​ซึ่ง​คงทน​ทั้ง​วัน. เหล่า​นี้​ทำ​ให้​กลิ่น​หอม​คงทน และ​แม้​ว่า​ใน​สมัย​ก่อน สาร​ตรึง​กลิ่น​เหล่า​นี้​ได้​มา​จาก​สัตว์ แต่​เดี๋ยว​นี้​ส่วน​มาก​เป็น​สาร​สังเคราะห์.

เมื่อ​คัดเลือก​ส่วน​ผสม​ต่าง ๆ เสร็จ​แล้ว ต้อง​มี​การ​ทดสอบ​หลาย​ร้อย​ครั้ง​เพื่อ​จะ​ได้​ส่วน​ผสม​ดี​ที่​สุด โดย​ชั่ง​และ​ผสม​ส่วน​ประกอบ​ต่าง ๆ ตาม​สัดส่วน​ที่​นัก​ปรุง​น้ำหอม​มือ​เอก​กำหนด​ไว้. หัว​น้ำหอม​ที่​ได้​มา​ก็​อาจ​นำ​ไป​ละลาย​ใน​แอลกอฮอล์​เพื่อ​ผลิต​น้ำหอม​ชนิด​กลิ่น​เบา.

หลัง​จาก​การ​กรอง, การ​ติด​ฉลาก, และ​สุด​ท้าย​บรรจุ​หีบ​ห่อ สินค้า​ก็​พร้อม​จะ​ออก​จำหน่าย. ขั้น​ตอน​การ​ผลิต​ที่​ซับซ้อน​ทั้ง​หมด​นี้​อธิบาย​ได้​บ้าง​ว่า​ทำไม​น้ำหอม​จึง​แพง​มาก. ที่​ว่า “ได้​บ้าง” ก็​เพราะ​ใน​หลาย​ประเทศ​มี​การ​เก็บ​ภาษี​น้ำหอม​สูง​มาก ซึ่ง​เพิ่ม​ราคา​น้ำหอม​นั้น​สูง​ขึ้น​ไป​อีก.

ใน​อนาคต​อัน​ใกล้​นี้ จะ​มี​การ​นำ​ระบบ​คอมพิวเตอร์​ช่วย​ใน​การ​ผลิต​น้ำหอม ผนวก​กับ​ผล​งาน​ทาง​วิชา​เทคนิค​ชีววิทยา ก็​อาจ​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​เร่ง​การ​เติบโต​ของ​เซลล์​ที่​ให้​กลิ่น​หอม​ของ​พืช​โดย​ไม่​ต้อง​รอ​ให้​ดอกไม้​เจริญ​เติบโต​เต็ม​ที่. นี่​จะ​ทำ​ให้​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ใน​อุตสาหกรรม​การ​ผลิต​น้ำหอม​อย่าง​แน่นอน.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ผลิต​น้ำหอม​ที่​ยอด​เยี่ยม​ยัง​คง​เป็น​งาน​ศิลปะ​ซึ่ง​ความ​สามารถ​พิเศษ​ของ​นัก​ปรุง​มือ​เอก​เป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​อาจ​ขาด​ไป​ได้​เลย. เพียง​แต่​มอง​ย้อน​ไป​ใน​ช่วง​ร้อย​ปี​แห่ง​การ​เจริญ​ก้าว​หน้า​ของ​อุตสาหกรรม​น้ำหอม​ก็​พอ​ที่​จะ​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​ความ​สามารถ​พิเศษ​อย่าง​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​อธิบาย​ได้​ถึง​สาเหตุ​ที่​น้ำหอม​บาง​อย่าง​ซึ่ง​มี​การ​ผลิต​ขึ้น​เมื่อ​กว่า 50 ปี​มา​แล้ว​นั้น​ยัง​คง​เป็น​ที่​นิยม​กัน​อยู่​ใน​ทุก​วัน​นี้!

น้ำหอม​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล

พระ​ธรรม​เยเนซิศ​กล่าว​ถึง​เรื่อง​ราว​ของ​โยเซฟ​ที่​ถูก​ขาย​ให้​ขบวน​พ่อค้า​ชาว​ยิศมาเอล​ซึ่ง​กำลัง​เดิน​ทาง​ไป​อียิปต์​พร้อม​ด้วย​บรรทุก “ยาง​ไม้​และ​เครื่อง​หอม​ต่าง ๆ” สาร​ซึ่ง​ใช้​สำหรับ​ทำ​น้ำหอม.—เยเนซิศ 37:25.

ต่อ​มา​พระเจ้า​ทรง​เผย​ให้​โมเซ​ทราบ​ถึง​ส่วน​ผสม​ต่าง ๆ ของ​น้ำมัน​หอม​สำหรับ​ชโลม​ซึ่ง​ใช้​เพื่อ​เจิม​ปุโรหิต​และ​ภาชนะ​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​สำหรับ​การ​นมัสการ. โมเซ​ยัง​ได้​รับ​สูตร​สำหรับ​เครื่อง​หอม​ที่​จะ​เผา​ตอน​เช้า​และ​ค่ำ ณ วิหาร​ด้วย.—เอ็กโซโด 30:7, 8,22–30,34–36.

ใน​สมัย​ของ​กษัตริย์​องค์​ต่าง ๆ แห่ง​ยิศราเอล คน​ที่​ร่ำรวย​ทำ​ให้​บ้าน, เสื้อ​ผ้า, และ​ที่​นอน​ของ​เขา​มี​กลิ่น​หอม. พวก​นัก​ทำ​น้ำหอม​ใน​สมัย​โบราณ​ถึง​ขนาด​จัด​ตั้ง​เป็น​กลุ่ม​การ​ค้า​ขึ้น​มา​ด้วย​ซ้ำ. (นะเฮมยา 3:8; บทเพลง​สรรเสริญ 45:8; เพลง​ไพเราะ​ของ​กษัตริย์​ซะโลโม 3:6, 7) น้ำมัน​นาระดา​บริสุทธิ์​ที่​มาเรีย​พี่​สาว​ของ​ลาซะโร​ใช้​ชโลม​พระ​บาท​ของ​พระ​เยซู​นั้น​มี​ค่า​เกือบ​เท่า​กับ​ค่า​จ้าง​ของ​คน​งาน​ตลอด​ทั้ง​ปี​ที​เดียว. (โยฮัน 12:3–5) ถูก​แล้ว​น้ำหอม​ราคา​แพง​มี​การ​นำ​มา​ใช้​ตั้ง​แต่​สมัย​โบราณ!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 13 เป็น​คำ​ใน​ภาษา​ฝรั่งเศส​สำหรับ​คำ​ว่า ‘น้ำ​แห่ง​โคโลญจ์’ ประเทศ​เยอรมนี ที่​ซึ่ง​มี​การ​คิด​ค้น​น้ำหอม​นั้น​ขึ้น.

[กรอบ​หน้า 19]

วิธี​เลือก​กลิ่น​น้ำหอม​ที่​ถูก​ใจ​คุณ

ฉีด​น้ำหอม​เล็ก​น้อย​ลง​บน​หลัง​มือ​ของ​คุณ​โดย​ไม่​ต้อง​ลูบ​ไล้​ให้​ซึม​เข้า​ไป.

ให้​แอลกอฮอล์​ระเหย​สัก​สอง​สาม​วินาที.

สูด​ดม. ด้วย​วิธี​นี้​คุณ​ก็​จะ​สามารถ​รู้ก​ลิ่น​ที่​ขจร​เป็น​อันดับ​แรก​ได้.

คุณ​จะ​ต้อง​รอ​อีก​สัก​ประเดี๋ยว​เพื่อ​จะ​ได้​กลิ่น​หลัก​ที่​ติด​นาน.

หาก​คุณ​รู้สึก​ว่า​น้ำหอม​นี้​ไม่​เหมาะ​กับ​คุณ จง​รอ​สัก​ครู่​ก่อน​จะ​ลอง​น้ำหอม​อีก​กลิ่น​หนึ่ง. อย่า​ลืม​ว่า​น้ำหอม​เป็น​เหมือน “ดนตรี​ประสาน​เสียง.” ใคร​บ้าง​คิด​ที่​จะ​ฟัง​ดนตรี​ประสาน​เสียง​สอง​อย่าง​พร้อม ๆ กัน?

[รูป​ภาพ​หน้า 17]

‘แท่น​คีย์’ หัว​น้ำหอม​ชนิด​ต่าง ๆ ของ​นัก​ปรุง​น้ำหอม​มือ​เอก​ที่​ใช้​ใน​การ​ผสม​น้ำหอม​หลาย​หลาก​ชนิด

เครื่อง​ต้ม​กลั่น​โบราณ​ซึ่ง​เคย​ใช้​สำหรับ​การ​กลั่น

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Photos: Courtesy of Musée de la Parfumerie Fragonard, Paris

[รูป​ภาพ​หน้า 18]

ดอกไม้​บาง​ชนิด​ที่​ใช้​ใน​การ​ผลิต​น้ำหอม

ลาเวนเดอร์

จัสมิน

มิโมซา