พบกับดิงโกแห่งออสเตรเลียซึ่งมักเป็นข้อโต้แย้ง
พบกับดิงโกแห่งออสเตรเลียซึ่งมักเป็นข้อโต้แย้ง
โดยผู้เขียนตื่นเถิดในออสเตรเลีย
ในออสเตรเลียมีการโต้แย้งเรื่องเจ้าดิงโกมานานแล้ว. สัตว์ชนิดนี้มีสิทธิ์ที่จะอยู่ในป่าออสเตรเลียไหม? หรือว่ามันเป็นเพชรฆาตที่ต้องล้อมรั้วไว้และค่อย ๆ กำจัดออกไป?
ดิงโกเป็นหมาป่า. มีรูปร่างกำยำ ขนสั้นนุ่มและตั้ง และมีหูแหลม. เมื่อโตเต็มที่ จะสูงประมาณ 60 เซนติเมตรวัดตรงบ่า และความยาวประมาณ 120 เซนติเมตรวัดจากจมูกถึงปลายหางที่เป็นพุ่มและยาว 30 เซนติเมตร. มันมีกะโหลกใหญ่และฟันยาวกว่าเมื่อเทียบกับสุนัขเลี้ยงที่มีขนาดเดียวกันแต่ก็สามารถผสมพันธุ์กันได้. ชาวเผ่าพื้นเมืองซึ่งอาศัยอยู่รอบ ๆ ซิดนีย์เรียกมันว่าดิงโกและชื่อนี้ปรากฏในภาษาเขียนประมาณปี 1790.
จะพบดิงโกได้ตลอดทวีปออสเตรเลีย ยกเว้นรัฐแทสเมเนียซึ่งเป็นเกาะ. ขนของมันมีสีสันสวยงามซึ่งมีทั้งสีครีม สีเหลืองนวล สีขาว สีน้ำตาลไหม้ สีสนิม สีน้ำตาลปนเหลือง และสีดำ. ดิงโกพันธุ์แท้ที่โตเต็มที่แล้วจะมีสีขาวตรงปลายหาง และมักจะมีเท้าสีขาว ไม่ว่าทั้งตัวจะมีสีอะไรก็ตาม.
สัตว์พวกนี้มาจากที่ไหน
ถิ่นกำเนิดของดิงโกไม่ได้อยู่ในดินแดนอันกว้างใหญ่ที่ร้อนระอุแห่งนี้แต่คงมีการพาสัตว์นี้มาโดยทางเรือ. เริ่มนำเข้ามาเมื่อไรและโดยใครไม่เป็นที่แจ้งชัด. พยานหลักฐานอันหนักแน่นที่สุดเรื่องแหล่งกำเนิดของดิงโกดูเหมือนว่าสืบเชื้อสายมาจากหมาป่าอินเดีย. หลักฐานทางฟอสซิสแสดงถึงความคล้ายคลึงมากกับสุนัขตามลุ่มแม่น้ำสินธุซึ่งสุนัขพันธุ์นี้มาจากการผสมสุนัขเลี้ยงกับหมาป่าอินเดีย.
อีกอย่างหนึ่งที่คล้ายคลึงกันของหมาป่าชนิดนั้นกับดิงโกก็คือมันจะล่าเหยื่ออย่างเงียบ ๆ และข้อเท็จจริงอีกที่ว่ามันไม่เห่าแต่จะลากเสียงหอนโหยหวน. ทฤษฎีหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมกล่าวว่านักเดินทางจากอินเดียซึ่งมีเรือที่สามารถข้ามทะเลได้ ได้พาเจ้าดิงโกมาที่ติมอร์ก่อนและจากนั้นก็ล่องใต้ไปถึงออสเตรเลีย.
จะทำให้มันเชื่องได้ไหม?
ลูกเล็ก ๆ ของเจ้าดิงโกเป็นเจ้าตัวน้อยที่น่ากอด. นับแต่ยุคแรกชาวเผ่าพื้นเมืองเอาดิงโกเป็นสัตว์เลี้ยง. แต่พอลูกสุนัขเหล่านี้โตขึ้น มันกลับไปอยู่ที่ป่าเสมอ.
ศาสตราจารย์ เอ็น. ดับบึลยู. จี. แมคอินทอชประจำมหาวิทยาลัยซิดนีย์ไม่ประทับใจกับความพยายามที่จะเลี้ยงดิงโกให้เชื่อง. เขาอ้างว่าแม้แต่ผู้ฝึกสุนัขตำรวจซึ่งมีประสบการณ์และความอดทนสูง รวมทั้งมีความรักต่อสัตว์ ก็ยังไม่สามารถฝึกดิงโกให้ทำตามคำสั่งได้.
อีกด้านหนึ่ง จอร์จ บิงแฮม ซึ่งคลุกคลีกับดิงโกมาราว ๆ ยี่สิบปีบอกว่าบรรดาดิงโกที่เขาได้ดูแลเป็นสัตว์ที่วางใจอย่างยิ่งอีกทั้งขี้เล่นและไม่เคยแสดงกิริยาก้าวร้าวออกมาเลย. แต่เขายอมรับว่าหากไม่เข้าใจนิสัยตามธรรมชาติของมัน ดิงโกอาจกลายเป็นสัตว์ที่ควบคุมไม่ได้และทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินส่วนตัว แม้ไม่ถึงขนาดดุร้าย. เขายังยอมรับอีกว่าสัตว์เหล่านี้ต้องการกลับไปอยู่ป่าและเตือนว่าถ้าปล่อยดิงโกที่ถูกเลี้ยงออกจากโซ่ล่าม ไม่ช้ามันก็จะกลายเป็นแขกที่มาเยือนแทนที่จะเป็นสุนัขที่เป็นมิตร.
คุกคามชาวนา
แม้เต็มใจที่จะให้มนุษย์ลูบไล้ ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือเจ้าดิงโกที่เดินท่องอยู่ตามป่าเป็นนักล่าที่ไม่รู้จักอิ่มและสามารถก่อความเสียหายแก่ฝูงแกะกับฝูงปศุสัตว์. น้อยครั้งที่มันจะล่าเหยื่อเป็นฝูง. ตามธรรมชาติแล้วมันไม่อยู่เป็นกลุ่ม แต่บางโอกาสมันก็ล่าเหยื่อด้วยกันเป็นคู่. มันจะทำเช่นนี้โดยเฉพาะเมื่อมันจู่โจมสัตว์ขนาดใหญ่อย่างเช่นจิงโจ้ ขณะที่ดิงโกตัวหนึ่งจับหางหรือขาไว้อีกตัวหนึ่งก็มุ่งโจมตีตรงลำคอ.
ความหลักแหลมยิ่งของดิงโกแสดงออกในหลายวิธี. มันมักจะติดตามคนต้อนฝูงแกะนับเป็นสัปดาห์ แล้วก็ฆ่าสัตว์ที่พลัดจากฝูง. หรือบางทีดิงโกก็ทำให้วัวเคยชินกับมันโดยปรากฏตัวให้เห็นนานหลายวันด้วยท่าทีที่สงบ และแล้วทันใดนั้นก็ปรี่เข้าจับลูกวัวขณะที่แม่ไม่ทันรู้ตัว.
เจ้าของฟาร์มแกะบางคนรายงานการสูญเสียลูกแกะหรือลูกวัวให้เจ้าดิงโกถึงร้อยละ 50. รายหนึ่งที่มีฝูงแกะจำนวน 5,500 ตัวสูญเสียไป 900 ตัวภายในเวลาเพียงสี่เดือน. ดิงโกมักจะฆ่าแกะแล้วก็กินซากของมันเพียงเล็กน้อยเป็นเหตุให้เจ้าของฟาร์มแกะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ.
ดังนั้น จึงง่ายที่จะเข้าใจว่าเหตุใดเจ้าดิงโกจึงได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็นสัตว์ที่มักเป็นข้อโต้แย้งมากที่สุดในออสเตรเลีย. เจ้าของฝูงสัตว์ส่วนมากให้ฉายามันว่านักฆ่าที่โหดเหี้ยมและหลักแหลม. นักอนุรักษ์สัตว์เรียกร้องให้พิทักษ์เจ้าดิงโกพร้อมกับสัตว์ป่าออสเตรเลียอื่น ๆ และชี้ถึงประโยชน์ของสัตว์เหล่านี้ในด้านการทำความสะอาดโดยกินซากสัตว์ที่ตายแล้ว.
มาตรการควบคุมซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูง
ความพยายามที่จะควบคุมจำนวนของดิงโกที่เพิ่มขึ้นครอบคลุมไปถึงการกั้นรั้วสูง 2.5 เมตรซึ่งมีความยาวกว่า 8,000 กม. เชื่อกันว่า “รั้วกั้นดิงโกขนาดหมึมา” นี้มีความยาวกว่ากำแพงเมืองจีนและสิ้นค่าใช้จ่ายในการสร้างมหาศาล ทั้งนี้ก็ด้วยความมุ่งมาดปรารถนาที่จะกันดิงโกไว้ให้อยู่ทางตอนเหนือเพื่อจะได้ห่างจากถิ่นเลี้ยงแกะซึ่งอยู่ทางใต้ของประเทศ. วิธีอื่นที่ใช้ได้ผลต่าง ๆ กันก็มีอาทิเช่น ใช้กับดัก และยิงโดยนักล่ามืออาชีพ หรือโดยนักดักดิงโก และการวางเหยื่อล่อที่มียาพิษ รวมทั้งการโปรยเหยื่อทางอากาศด้วย. น่าเสียดายที่สัตว์ป่าชนิดอื่นมักจะรับความเสียหายแทน.
ดิงโกกินคนไหม?
จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานที่น่าเชื่อถือว่าดิงโกโจมตีมนุษย์ ไม่ว่าจะลำพังตัวเดียวหรือเป็นฝูง. เมื่อดิงโกอยู่ใกล้ชุมชนที่เจริญ มันกลายเป็นสัตว์ที่กินของเน่าโดยจะกินอาหารที่พบในถังขยะ. เมื่ออยู่ในป่าที่ยังไม่มีการบุกเบิกของออสเตรเลีย เจ้าดิงโกก็มักจะล่าและกินสัตว์อื่นที่มีขนาดเล็กกว่าตัวมันซึ่งมีทั้งกระต่าย หนูโอพอสซัม ตัววอมบัท สัตว์ประเภทใช้ฟันแทะ และวอลลาบี (สัตว์ตัวเล็กในตระกูลจิงโจ้).
จะจัดดิงโกให้เข้าอยู่ในประเภท—“สัตว์ป่า” หรือ “สัตว์ใช้” ตามที่คัมภีร์ไบเบิลนิยามไว้—ยังคงเป็นปริศนาอยู่. (เยเนซิศ 1:25) แต่ไม่ว่าบทบาทที่แท้จริงของมันจะเป็นอะไรก็ตาม ดิงโกแห่งออสเตรเลียสัตว์ที่มักจะเป็นข้อโต้แย้งพร้อมทั้งลูกน้อยที่น่าโอบกอดของมันอาจจะอยู่ในอุทยานบนแผ่นดินโลก คราวเมื่อสัตว์ทุกชนิดที่ถูกสร้างขึ้นจะนำความเพลิดเพลินยินดีมาสู่มนุษย์ และเกียรติยศแด่พระผู้สร้างที่เอาพระทัยใส่และเปี่ยมด้วยจินตนาการ.—ยะซายา 11:6-9.