ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รักตั้งแต่แรกเห็นและตลอดไป!

รักตั้งแต่แรกเห็นและตลอดไป!

รัก​ตั้ง​แต่​แรก​เห็น​และ​ตลอด​ไป!

ดร. ซีซิลเลีย แม็คคาร์ตัน​แห่ง​วิทยาลัย​แพทย์​อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ ใน​นคร​นิวยอร์ก ให้​ความ​เห็น​ว่า “ถ้า​คุณ​เฝ้า​ดู​ทารก​แรก​เกิด เขา​ตื่น​ตัว​และ​รับ​รู้​สิ่ง​ที่​อยู่​รอบ​ตัว​ได้​อย่าง​ยอด​เยี่ยม. เขา​สนอง​ตอบ​มารดา​ของ​เขา. เขา​หัน​เข้า​หา​เสียง. และ​เขา​จ้อง​ดู​หน้า​แม่.” และ​แม่​สบ​ตา​กับ​ลูก​ของ​เธอ. นั่น​ละ เป็น​ความ​รัก​ตั้ง​แต่​แรก​เห็น—สำหรับ​ทั้ง​สอง​ฝ่าย!

ชั่ว​ขณะ​แห่ง​การ​เชื่อม​สัมพันธ์​ระหว่าง​แม่​กับ​ทารกเกิด​ขึ้น​ตาม​ธรรมชาติ ถ้า​การ​คลอด​เป็น​ไป​ตาม​ธรรมชาติ โดย​ไม่​ใช้​ยา​เพื่อ​ระงับ​ความ​รู้สึก​ของ​มารดา​และ​ทารก. การ​ร้องไห้​ของ​เขา​กระตุ้น​การ​ผลิต​น้ำ​นม​ของ​มารดา. การ​สัมผัส​ผิวหนัง​ของ​ทารก​กระตุ้น​การ​ปล่อย​ฮอร์โมน​ซึ่ง​ลด​การ​ตก​เลือด​หลัง​คลอด. ทารก​คลอด​ออก​มา​พร้อม​ด้วย​โปรแกรม​ทาง​สมอง​เพื่อ​ให้​ได้​ความ​มั่น​ใจ​ใน​ความ​ผูก​พัน​รักใคร่—การ​ร้องไห้ การ​ดูด​นม การ​พูด​อ้อ​แอ้ และ​หัวเราะ​กิ๊กกั๊ก ยิ้ม และ​ขยับ​แขน​ขา​อย่าง​ลิงโลด​เพื่อ​ดึงดูด​ความ​สนใจ​ของ​มารดา. การ​ผูก​พัน โดย​เฉพาะ​กับ​มารดา ทำ​ให้​ทารก​สามารถ​พัฒนา​ความ​รู้สึก​ใน​เรื่อง​ความ​รัก​และ​ห่วงใย​และ​ไว้​วางใจ. ไม่​ช้า​พ่อ​ก็​เข้า​มา​มี​บทบาท​สำคัญ​ฐานะ​ผู้​สาน​สร้าง​ความ​ผูก​พัน​ต่อ​ไป. สัมพันธภาพ​ของ​เขา​กับ​ลูก ขาด​ความ​สนิท​ใกล้​ชิด​อย่าง​ของ​แม่ แต่​ก็​เสริม​มิติ​สำคัญ​อีก​ด้าน​หนึ่ง ได้​แก่ เย้าแหย่ จี้​ให้​หัวเราะ หยอก​ล้อ​กัน​เบา ๆ ซึ่ง​ทารก​ตอบรับ​ด้วย​การ​หัวเราะ​ตื่นเต้น​และ​ดิ้น​พลิก​ตาม​ไป.

ดร. ริชาร์ด เรสแท็ค​รายงาน​ว่า สำหรับ​ทารก​แรก​เกิด​การ​อุ้ม​และ​กอด​เขา​ไว้​เหมือน​กับ​การ​ให้​อาหาร​บำรุง. เขา​บอก​ว่า “การ​สัมผัส” เป็น​สิ่ง​จำเป็น​แก่​การ​เติบโต​ตาม​ปกติ​ของ​ทารก​ไม่​แพ้​อาหาร​และ​ออกซิเจน. แม่​อ้า​แขน​ออก​โอบ​กอด​ทารก​ไว้ ช่วง​นั้น​ขบวนการ​ชีวภาพ​ทาง​จิตใจ​หลาย​รูป​แบบ​ถูก​ทำ​ให้​ประสาน​กัน.” ภาย​ใต้​การ​ปฏิบัติ​เช่น​นี้ แม้​กระทั่ง​สมอง​ก็​พัฒนา​รูป​ลักษณะ “ส่วน​นูน​และ​ส่วน​ร่อง​ต่าง​ไป​จาก​เดิม.”

ระวัง​อย่า​แยก​จาก​กัน

บาง​คน​ชี้​ให้​เห็น​ว่า​ถ้า​การ​ผูก​พัน​กัน​ระหว่าง​มารดา​กับ​ทารก​ไม่​มี​ขึ้น​ตอน​คลอด​แล้ว โศกนาฏกรรม​จะ​เกิด​ขึ้น​ใน​วัน​หน้า. ไม่​ถึง​ขนาด​นั้น​หรอก. ด้วย​ความ​เป็น​แม่​ที่​เปี่ยม​ความ​รัก​มี​อีก​ตั้ง​หลาย​ร้อย​โอกาส​ที่​จะ​อยู่​ใกล้​ชิด​กัน​ใน​สัปดาห์​ต่อ ๆ ไป​ซึ่ง​ทำ​ให้​การ​เชื่อม​สัมพันธ์​นั้น​แน่นแฟ้น​ขึ้น. อย่าง​ไร​ก็​ดี การ​ไม่​มี​ความ​สนิท​ชิด​ใกล้​ใน​ลักษณะ​นั้น​เป็น​เวลา​นาน​อาจ​นำ​ไป​สู่​ผล​อัน​น่า​สพึง​กลัว​ได้. ดร. เรสแท็ค​บอก​เรา​ว่า “แม้​ว่า​พวก​เรา​ทุก​คน​มี​ความ​ต้องการ​กัน​และ​กัน​ชั่ว​ชีวิต ความ​จำเป็น​เช่น​นั้น​มี​สูง​มาก​ใน​ขวบ​แรก. ลอง​เอา​สิ่ง​เหล่า​นี้​ออก​ไป​จาก​ทารก การ​เห็น​แสง​สว่าง, โอกาส​จ้อง​หน้า​คน, รับ​ความ​ยินดี​ที่​เกิด​จาก​การ​ถูก​อุ้ม, ถูก​กอด​รัด, ถูก​กระซิบ​กล่อม​ข้าง​หู, เอา​อก​เอา​ใจ, ถูก​สัมผัส,—ทารก​จะ​ไม่​อาจ​ทาน​ทน​กับ​การ​ขาด​สิ่ง​เหล่า​นั้น.”

ทารก​ร้อง​ด้วย​หลาย​สาเหตุ. ปกติ​แล้ว​เขา​เรียก​ร้อง​ความ​สนใจ. ถ้า​เสียง​ร้อง​ไม่​มี​การ​สนอง​รับ​สัก​พัก​หนึ่ง เขา​อาจ​หยุด​ร้อง. เขา​รู้สึก​ว่า​ผู้​เลี้ยง​ดู​ไม่​ตอบ. เขา​ก็​ร้อง​อีก. ถ้า​ยัง​ไม่​มี​การ​สนอง เขา​รู้สึก​ถูก​ทอดทิ้ง รู้สึก​ไม่​ปลอด​ภัย. เขา​จะ​พยายาม​หนัก​ขึ้น​อีก. ถ้า​เป็น​อย่าง​นี้​นาน​เข้า​และ​ถ้า​เกิด​ขึ้น​ซ้ำ​หลาย​ครั้ง​หลาย​หน ทารก​รู้สึก​ว่า​ถูก​ทอดทิ้ง. ตอน​แรก​เขา​จะ​โกรธ ถึง​กับ​โกรธ​แค้น​ด้วย​ซ้ำ และ​ใน​ที่​สุด​ก็​ยอม​แพ้. การ​แยก​ตัว​ก็​เกิด​ขึ้น. ไม่​ได้​รับ​ความ​รัก เขา​ไม่​เรียน​รู้​การ​แสดง​ความ​รัก. สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ด้อย​พัฒนา. ไม่​ไว้​ใจ​ใคร ไม่​ห่วงใย​ใคร. กลาย​เป็น​เด็ก​เจ้า​ปัญหา และ​ใน​กรณี​ร้ายแรง​สุด​ขีด มี​บุคลิก​แบบ​จิต​วิปริต ไม่​สามารถ​รู้สึก​เสียใจ​ต่อ​การ​ประกอบ​อาชญากรรม.

ความ​รัก​เมื่อ​แรก​เห็น​ยัง​ไม่​ยุติ​แค่​นั้น. ต้อง​ดำเนิน​ตลอด​ไป​หลัง​จาก​นั้น. มิ​ใช่​เพียง​คำ​พูด​แต่​การ​กระทำ​ด้วย. “อย่า​ให้​เรา​รัก​เพียง​แต่​ถ้อย​คำ​และ​ลิ้น​เท่า​นั้น แต่​ให้​เรา​รัก​ด้วย​การ​ประพฤติ​และ​ด้วย​ความ​จริง.” (1 โยฮัน 3:18) กอด​และ​จูบ​ให้​มาก. ตั้ง​แต่​วัย​ทารก​เป็น​ต้น​ไป ก่อน​ที่​จะ​สาย​เกิน​ไป สั่ง​สอน​อบรม​ใน​ค่า​นิยม​อัน​แท้​จริง​แห่ง​พระ​วจนะ​ของ​พระเจ้า​คือ​คัมภีร์​ไบเบิล. และ​แล้ว​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น​กับ​ลูก​ของ​ท่าน​เหมือน​ได้​เป็น​กับ​ติโมเธียว: “ตั้ง​แต่​เป็น​เด็ก ๆ [ทารก, ล.ม.] มา ท่าน​ได้​รู้​จัก​คำ​จารึก​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ซึ่ง​มี​ฤทธิ์​อาจ​ให้​ท่าน​ได้​ปัญญา.” (2 ติโมเธียว 3:15) ใช้​เวลา​กับ​ทารก​ทุก​วัน​ตลอด​ช่วง​วัย​เด็ก​จน​ถึง​วัยรุ่น. “ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​ซึ่ง​เรา​สั่ง​ไว้​แก่​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ใน​วัน​นี้ ก็​ให้​ตั้ง​อยู่​ใน​ใจ​ของ​เจ้า​ทั้ง​หลาย และ​จง​อุตส่าห์​สั่ง​สอน​บุตร​ทั้ง​หลาย​ของ​เจ้า​ด้วย​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้ และ​เมื่อ​เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​นั่ง​อยู่​ใน​เรือน หรือ​เดิน​ใน​หน​ทาง หรือ​นอน​ลง และ​ตื่น​ขึ้น.”—พระ​บัญญัติ 6:6, 7.

‘เรา​อาจ​ร้องไห้ แต่​แม่​ทำ​เพื่อ​ประโยชน์​ดี​ที่​สุด’

การ​ตี​สอน​เป็น​เรื่อง​ไม่​ค่อย​น่า​พอ​ใจ​สำหรับ​หลายคน. อย่าง​ไร​ก็​ดี เมื่อ​ใช้​อย่าง​ถูก​ต้อง นับ​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ยิ่ง​แห่ง​ความ​รัก​ของ​บิดา​มารดา. เด็ก​หญิง​เล็ก ๆ คน​หนึ่ง​ตระหนัก​เรื่อง​นี้. เธอ​ทำ​การ์ด​เพื่อ​มารดา​ของ​เธอ​มี​จ่า​หน้า​ดัง​นี้ “แด่​คุณ​แม่ สุภาพสตรี​ผู้​ประเสริฐ.” การ์ด​ใบ​นี้​ระบาย​ด้วย​ดินสอ​สี ภาพ​ดวง​อาทิตย์​สี​ทอง นก​โผ​บิน และ​ดอกไม้​แดง. ข้อ​ความ​มี​ว่า “เพื่อ​คุณ​แม่​เพราะ​พวก​หนู​ทุก​คน​รัก​แม่. หนู​ต้องการ​แสดง​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​โดย​ทำ​การ์ด​นี้​ขึ้น​มา. เมื่อ​หนู​ได้​คะแนน​สอบ​ไม่​ดี คุณ​แม่​เซ็น​ชื่อ​รับ​ทราบ. เมื่อ​หนู​ทำ​ตัว​ไม่​ดี คุณ​แม่​ตี​หนู. หนู​อาจ​ร้องไห้ แต่​หนู​ทราบ​ว่า​คุณ​แม่​ทำ​เพื่อ​ประโยชน์​ดี​ที่​สุด. . . . หนู​อยาก​บอก​เพียง​ว่า​หนู​รัก​แม่​มาก ๆ. ขอบคุณ​สำหรับ​ทุก​สิ่ง​ที่​แม่​ทำ​สำหรับ​หนู. ขอ​ส่ง​ความ​รัก​และ​ส่ง​จูบ [ลง​ชื่อ] มิเชล.”

มิเชล​เห็น​พ้อง​กับ​พระ​ธรรม​สุภาษิต 13:24 ที่​ว่า “บุคคล​ผู้​ไม่​ยอม​ใช้​ไม้เรียว​ก็​เป็น​ผู้​ที่​ชัง​บุตร​ของ​ตน แต่​บุคคล​ผู้​รัก​บุตร​ย่อม​เฆี่ยน​ตี​สั่ง​สอน.” การ​ใช้​ไม้เรียว หมาย​ถึง​อำนาจ อาจ​รวม​ถึง​การ​ตี แต่​บ่อย​ครั้ง​ไม่​ใช่. เด็ก​ต่าง​คน​ก็​ต่าง​การ​ประพฤติ​ที่​ไม่​ดี จึง​ต้อง​ใช้​การ​ลง​โทษ​ต่าง​กัน. การ​ดุ​ว่า​ด้วย​ใจ​กรุณา​อาจ​เพียง​พอ การ​ดื้อ​รั้น​อาจ​ต้อง​ใช้​ยา​ขนาน​แรง​กว่า: “คน​ที่​เข้าใจ​เมื่อ​ถูก​ว่า​กล่าว​แต่​เพียง​ครั้ง​เดียว​ก็​ซึมซาบ​ยิ่ง​กว่า​คน​โฉด​เขลา​ที่​ถูก​โบย​สัก​ร้อย​ราย [ครั้ง ล.ม.].” (สุภาษิต 17:10) อีก​ข้อ​หนึ่ง​ก็​ใช้​ได้​คือ “ที่​จะ​ใช้​วาจา​ว่า​กล่าว​ทาส [หรือ​เด็ก] ย่อม​ไม่​เป็น​ผล ด้วย​ว่า​ถึง​เขา​จะ​เข้าใจ​คำ​ของ​เจ้า​แล้ว เขา​ก็​จะ​ไม่​ทำ​ตาม.”—สุภาษิต 29:19.

ใน​คัมภีร์​ไบเบิล คำ​ว่า “ว่า​กล่าว​ตักเตือน” หมาย​ถึง แนะ​นำ​สั่ง​สอน อบรม ลง​โทษ—รวม​ทั้ง​เฆี่ยน​ตี ถ้า​จำเป็น​เพื่อ​แก้​พฤติกรรม. เฮ็บราย 12:11 แสดง​จุด​มุ่ง​หมาย​ไว้​ว่า “การ​ตี​สอน​ทุก​อย่าง​เมื่อ​กำลัง​ถูก​อยู่​นั้น​ไม่​เป็น​การ​ชื่น​ใจ​เลย แต่​เป็น​การ​เศร้า​ใจ แต่​ภาย​หลัง​ก็​กระทำ​ให้​เกิด​ผล​เป็น​ความ​สุข​สำราญ​แก่​บรรดา​คน​ที่​ต้อง​ทน​อยู่​นั้น คือ​ความ​ชอบธรรม​นั่น​เอง.” บิดา​มารดา​ต้อง​ไม่​รุนแรง​เกิน​ไป​ใน​การ​ว่า​กล่าว​ตักเตือน. “ฝ่าย​บิดา ก็​อย่า​ยั่ว​บุตร​ของ​ตน​ให้​ขัด​เคือง​ใจ เกรง​ว่า​เขา​จะ​ท้อ​ใจ.” (โกโลซาย 3:21) ทั้ง​ไม่​ปล่อย​หละหลวม​มาก​เกิน​ไป: “ไม้เรียว​ที่​ตี​สอน​ทำ​ให้​เกิด​ปัญญา แต่​เด็ก​ที่​ถูก​ละเลย​นั้น​เป็น​เหตุ​กระทำ​ให้​มารดา​ของ​ตน​ได้​ความ​ละอาย.” (สุภาษิต 29:15) การ​ปล่อย​ตาม​ใจ​ก็​เหมือน​จะ​พูด​ว่า ‘จะ​ทำ​อะไร​ก็​ทำ​ไป​เถอะ อย่า​มา​กวน​ฉัน.’ แต่​การ​ว่ากล่าว​ตักเตือน ส่ง​เสียง​ว่า ‘ทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง ฉัน​ห่วง​เธอ.’

ยู. เอส. นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ท วัน​ที่ 7 สิงหาคม 1989 พูด​อย่าง​ถูก​ต้อง​ว่า “บิดา​มารดา​ซึ่ง​มิ​ได้​ลง​โทษ​บุตร​รุนแรง แต่​ตั้ง​ขอบ​เขต​ไว้​อย่าง​มั่นคง​และ​ยึด​อยู่​กับ​สิ่ง​เหล่า​นั้น มี​ทาง​เป็น​ไป​ได้​มาก​กว่า​ที่​จะ​สร้าง​เด็ก​ซึ่ง​ประสบ​ความ​สำเร็จ​สูง​และ​เข้า​กัน​ได้​ดี​กับ​คน​อื่น ๆ.” บทความ​ได้​สรุป​ไว้​ว่า “บาง​ที​สาระ​สำคัญ​ที่​เด่น​ชัด​ที่​สุด​จาก​ข้อมูล​ทาง​วิทยาศาสตร์​ทั้ง​สิ้น​คือ การ​จัด​ให้​มี​รูป​แบบ​ของ​ความ​รัก​และ​ความ​ไว้​วางใจ และ​ขอบ​เขต​ที่​ยอม​รับ​ได้​ภาย​ใน​แต่​ละ​ครอบครัว​นั้น​แหละ​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​จริง ๆ หา​ใช่​ราย​ละเอียด​ทาง​วิชาการ​มาก​มาย​ไม่. เป้าหมาย​ที่​แท้​จริง​ของ​การ​ว่า​กล่าว​ตักเตือน (discipline เป็น​คำ​ที่​มา​จาก​รากศัพท์​เดียว​กัน​กับ​คำ disciple ใน​ภาษา​ลาติน) มิ​ใช่​การ​ลง​โทษ​เด็ก​ดื้อด้าน​แต่​สั่ง​สอน​และ​แนะ​แนว​ทาง​แล้ว​ช่วย​ปลูกฝัง​การ​ควบคุม​จาก​ภาย​ใน.”

เขา​ได้​ยิน​สิ่ง​ที่​คุณ​พูด เขา​เลียน​แบบ​สิ่ง​ที่​คุณ​ทำ

บทความ​เรื่อง​การ​ว่า​กล่าว​ตักเตือน​ใน​หนังสือ เดอะ แอตแลนติก มันธ์ลี เริ่ม​เรื่อง​ดัง​นี้ “จะ​คาด​หมาย​ให้​เด็ก​ประพฤติ​ดี​ก็​ต่อ​เมื่อ​พ่อ​แม่​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​ค่า​นิยม​ที่​ตน​สอน.” บทความ​แสดง​ให้​เห็น​ต่อ​ไป​ถึง​ค่า​นิยม​ของ​การ​ควบคุม​ที่​ฝัง​ลึก​ภาย​ใน​ดัง​นี้: “วัยรุ่น​ซึ่ง​มี​ความ​ประพฤติ​ดี​มัก​จะ​มี​บิดา​มารดา​ซึ่ง​มี​ความ​รับผิดชอบ มี​คุณธรรม และ​มี​วินัย​ใน​ตัว​เอง—ซึ่ง​ดำรง​ชีวิต​สอดคล้อง​กับ​ค่า​นิยม​ที่​พวก​เขา​เชื่อ และ​สนับสนุน​ลูก​ให้​ดำเนิน​ตาม. ฐานะ​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​การ​วิเคราะห์ เมื่อ​ให้​วัยรุ่น​ที่​ดี​คบ​ค้า​กับ​วัยรุ่น​มี​ปัญหา พฤติกรรม​ของ​เด็ก​ดี​ไม่​ได้​รับ​ผล​กระทบ​อย่าง​ถาวร. พวก​เขา​ได้​ทำ​ให้​ค่า​นิยม​ของ​พ่อ​แม่​เป็น​ลักษณะ​ภาย​ใน​อย่าง​เหนียวแน่น.” ปรากฏ​เป็น​จริง​ดัง​ที่​พระ​ธรรม​สุภาษิต​บอก​ไว้​ว่า “จง​ฝึก​สอน​เด็ก​ให้​ประพฤติ​ตาม​ทาง​ที่​ควร​จะ​ประพฤติ​นั้น และ​เมื่อ​แก่​ชรา​แล้ว เขา​จะ​ไม่​เดิน​ห่าง​จาก​ทาง​นั้น.”—สุภาษิต 22:6.

บิดา​มารดา​ซึ่ง​พยายาม​จะ​ปลูกฝัง​ค่า​นิยม​แท้​จริง​ใน​บุตร​ของ​ตน แต่​พวก​เขา​เอง​ไม่​ดำเนิน​ตาม​นั้น ก็​ไม่​ประสบ​ผล​สำเร็จ. ลูก​ของ​เขา “ไม่​สามารถ​รับ​ค่า​นิยม​นั้นเข้า​ไว้​เป็น​ลักษณะ​ภาย​ใน​ได้.” การ​ศึกษา​วิจัย​พิสูจน์​ว่า “สิ่ง​ที่​ก่อ​ผล​แตกต่าง​กัน​คือ​บิดา​มารดา​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​ค่า​นิยม​ซึ่ง​เขา​พยายาม​สอน​ลูก​ของ​ตน​อย่าง​ใกล้​ชิด​จริง ๆ.”

ปรากฏ​เป็น​จริง​อย่าง​ที่ เจมส์ บอลด์วิน นัก​ประพันธ์​พูด​ไว้​ว่า “เด็ก ๆ ไม่​ค่อย​จะ​ฟัง​ดี ๆ เมื่อ​ผู้​ใหญ่​พูด แต่​เลียน​แบบ​ผู้​ใหญ่​อย่าง​ไม่​ผิด​พลาด.” ถ้า​คุณ​รัก​ลูก และ​อยาก​จะ​สอน​ค่า​นิยม​อัน​แท้​จริง​แก่​เขา จง​ใช้​วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด คุณ​เป็น​ตัว​อย่าง​ใน​การ​ทำ​ตาม​คำ​สอน​ของ​ตน​เอง. อย่า​เป็น​เหมือน​อาลักษณ์​และ​ฟาริซาย​ซึ่ง​พระ​เยซู​ตำหนิ​ว่า​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด​ที่​ว่า “เหตุ​ฉะนั้น ทุก​สิ่ง​ซึ่ง​เขา​สั่ง​สอน​พวก​ท่าน จง​ถือ​ประพฤติ​ตาม เว้น​แต่​การ​ประพฤติ​ของ​เขา​อย่า​ได้​ทำ​ตาม​เลย. เพราะ​เขา​เป็น​แต่​ผู้​สั่ง​สอน แต่​เขา​เอง​หา​ทำ​ตาม​ไม่.” (มัดธาย 23:3) หรือ​เป็น​เช่น​ผู้​ที่​อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​โทษ​ด้วย​คำ​ถาม​ว่า “เหตุ​ฉะนั้น ท่าน​ผู้​สอน​คน​อื่น​ไม่​สอน​ตัว​เอง​หรือ? ท่าน​ผู้​ประกาศ​ว่า ‘ไม่​ควร​ลัก​ทรัพย์’ ตัว​ท่าน​เอง​ยัง​ลัก​หรือ?”—โรม 2:21.

ปัจจุบัน​นี้ หลาย​คน​ถือ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ล้า​สมัย​และ​ข้อ​แนะ​แนว​ใช้​การ​ไม่​ได้. พระ​เยซู​ท้าทาย​ทัศนะ​นั้น​ด้วย​คำ​ตรัส​ว่า “อย่าง​ไร​ก็​ตาม สติ​ปัญญา​ถูก​พิสูจน์​ว่า​ชอบธรรม​ก็​โดย​ลูก ๆ ของ​สติ​ปัญญา​นั้น.” (ลูกา 7:35, ล.ม.) เรื่อง​ราว​ของ​ครอบครัว​ต่อ​ไป​นี้​จาก​หลาย​ประเทศ พิสูจน์​ว่า​คำ​ตรัส​นั้น​จริง.

[รูป​ภาพ​หน้า 7]

ความ​ผูก​พัน​ใกล้​ชิด​กับ​มารดา​ช่วย​ให้​ทารก​พัฒนา​ความ​สามารถ​ทาง​อารมณ์​ความ​รู้สึก

[รูป​ภาพ​หน้า 8]

เวลา​ที่​บิดา​ให้​กับ​ลูก​น้อย​ของ​ตน​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​มาก​เช่น​กัน